ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2110/2564
แดง อ.3582/2565

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ บก.ปอท. (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2110/2564
แดง อ.3582/2565
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ บก.ปอท.

ความสำคัญของคดี

“ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ถูกตำรวจ ปอท. จับกุมตามหมายจับของศาลอาญา และดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊กชื่อ “John New World” ในช่วงปี 63 และ 64 พาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี รวม 5 โพสต์

คดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการออกหมายเรียกก่อนที่จะออกหมายจับ อีกทั้งไม่ให้ก้องติดต่อทนายความ ญาติ หรือผู้ไว้วางใจอยู่ร่วมในขณะถูกจับกุมและสอบปากคำ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สะอาด น้อยจันทึก พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายคำฟ้องใจความโดยสรุปว่า

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นประมุขดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และมีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นองค์ราชินี

จำเลยได้พิมพ์และโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กชื่อ “John New World” ในลักษณะดูหมิ่นและหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และพระราชินี รวมทั้งหมด 5 ข้อความ ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการทอดทิ้งแม่ไว้ในโรงพยาบาล พร้อมโพสต์รูปประกอบเป็นพระบรมฉายาลักษณ์

2. เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความว่า “วันที่ 6 กันยายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่น และนี่คือบุคคลคอร์รัปชั่นประจําปีนี้นะครับ” พร้อมโพสต์รูปประกอบเป็นรูปภาพบุคคลยกมือปฏิเสธการไม่รับธนบัตร และมีมือหยิบธนบัตรยื่นให้ และด้านล่างรูปภาพดังกล่าวมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 อยู่ด้วย

3. เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 จำเลยได้โพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับอาการพระประชวรของรัชกาลที่ 10 ด้วยโรคทางเดินหายใจ

4. เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 จำเลยได้โพสต์ข้อความว่าเกี่ยวกับ การประชวรด้วยโรคโควิด-19 ของพระราชินีฯ สุทิดา และการรับสั่งเตรียมวัคซีนสําหรับข้าราชบริพารในพระองค์ และครอบครัวของข้าราชบริพาร

5. เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 จําเลยได้โพสต์ข้อความทำนองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ประชวรด้วยอาการพระวักกะวาย (ไตวาย)

ข้อความข้างต้นมีความหมายเป็นการเป็นการดูหมิ่นไม่เคารพเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นการแสดงความไม่เคารพสักการะที่ไม่สมควรกระทําเป็นอย่างยิ่ง โดยมีเจตนาเพื่อให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และแสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์, เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2110/2564 ลงวันที่ 31 ส.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือ “ก้อง” อายุ 23 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และยังเป็นสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมจากห้องพักในกรุงเทพฯ ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 874/2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5)

    การจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปอท. โดยมีชุดจับกุมทั้งหมด 7 นาย นำโดย พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์ รอง ผกก.3 บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ยังมีการนำหมายค้นออกโดยศาลอาญา เข้าตรวจค้นห้องพักของอุกฤษฏ์ ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ สมุดบัญชีธนาคาร และสมุดโน้ต ก่อนจัดทำบันทึกการตรวจยึดและให้อุกฤษฏ์ลงลายมือชื่อ

    จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวอุกฤษฏ์ไปยัง บก.ปอท. เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม ก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวในช่วงบ่าย โดยเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อุกฤษฏ์ติดต่อใคร จึงไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจอยู่ร่วมด้วย

    พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาอุกฤษฏ์ว่า มาจากการโพสต์และทวิตข้อความในโลกออนไลน์ ซึ่งอุกฤษฏ์ได้ให้การรับสารภาพ โดยอุกฤษฏ์ให้ข้อมูลกับทนายความในเวลาต่อมาว่า ตนถูกพนักงานสอบสวนกล่าวกดดันและโน้มน้าวให้รับสารภาพ

    ก่อนที่ในช่วงเย็นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวอุกฤษฏ์ไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยมีทนายความที่เพิ่งได้รับแจ้งเดินทางติดตามไป รวมทั้งนักกิจกรรมจากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งพบว่าอุกฤษฏ์หายตัวไปและไม่สามารถติดต่อได้ ก็ได้เดินทางติดตามไปยังสถานีตำรวจเช่นกัน

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30645)
  • ช่วงเช้าพนักงานสอบสวนได้นำตัวอุกฤษฏ์จาก สน.ทุ่งสองห้อง กลับไปที่ บก.ปอท. เพื่อจะขอฝากขังทั้งสองคนต่อศาลอาญา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

    ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ตรีนิคม และ พ.ต.ท.พชร แสนชัยสกุลกิจ พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังอุกฤษฏ์เป็นระยะเวลา 12 วัน โดยอ้างเหตุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง ผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา

    คำร้องฝากขังยังระบุถึงพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่า อุกฤษฏ์ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่ได้ใช้ชื่อนามสกุลจริงของเขา โพสต์ภาพและข้อความเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 รวมจำนวน 2 โพสต์ ในลักษณะใส่ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงพระประชวรด้วยโรคต่างๆ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เสื่อมเสียชื่อ และถูกด้อยค่าต่อประชาชน

    คำร้องยังระบุด้วยว่าในการสอบสวน ผู้ต้องหา “ไม่มีและไม่ต้องการ” ให้มีทนายความและผู้ไว้วางใจร่วมฟังการสอบปากคำ

    ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และจะเป็นการยากในการติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง

    ต่อมาเวลา 12.00 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวน โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน

    จนเวลา 15.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตามที่ขอ พร้อมกำหนดให้มารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 29 ก.ค. 2564

    แต่ในเวลาประมาณ 17.00 น. ระหว่างที่อุกฤษฏ์ได้รับการปล่อยตัวจาก บก.ปอท. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สภ.บางแก้ว เข้าแสดงหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ และได้นำตัวขึ้นรถเดินทางไปยัง สภ.บางแก้ว

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30645)
  • อุกฤษฏ์พร้อมทนายความเดินทางไปที่ บก.ปอท.เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดย พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ พนักงานสอบสวน ได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความเพิ่มเติมอีก 3 โพสต์ ระบุว่า ข้อความดังกล่าวน่าจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ได้แก่

    1. เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2563 เวลา 11.49 น. โพสต์ข้อความว่า “วันที่ 6 กันยายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านการคอร์รัปชั่นและนี่คือบุคคลคอร์รัปชั่นประจำปีนี้นะครับ” พร้อมภาพปฏิเสธการรับธนบัตรและพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10

    2. เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2563 เวลา 11.26 น. โพสต์ข้อความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวเนื่องในวันแม่ โดยมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9, พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง และรัชกาลที่ 10 ขณะทรงพระเยาว์

    3. เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 เวลา 16.52 น. โพสต์ข้อความเกี่ยวกับอาการประชวรด้วยโรคโควิด-19 ของพระราชินีสุทิดา ประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์

    อุกฤษฏ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป โดยพนักงานสอบสวนได้พิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนปล่อยตัวกลับ

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 23 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32591)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่นฟ้องอุกฤษฏ์ต่อศาลอาญา ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ "นำเข้า, เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) (5)

    พนักงานอัยการบรรยายคำฟ้องโดยสรุปว่า อุกฤษฏ์ได้พิมพ์และโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กชื่อ “John New World” ในลักษณะดูหมิ่นและหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และพระราชินี รวมทั้งหมด 5 ข้อความ ในช่วงปี 2563- 2564 เป็นการแสดงความไม่เคารพสักการะที่ไม่สมควรกระทําเป็นอย่างยิ่ง โดยมีเจตนาเพื่อให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และแสดงความอาฆาตมาดร้าย

    สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้าน ระบุว่า ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล แต่ได้ขอให้ศาลสั่งริบของกลาง คือโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดจำนวน 1 เครื่อง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2110/2564 ลงวันที่ 31 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34454)
  • อุกฤษฏ์เดินทางมารายงานตัวต่อศาลอาญาตามนัด หลังเข้าพบเจ้าหน้าที่ศาล เจ้าหน้าที่แจ้งว่าพนักงานอัยการ สำนักงานฝ่ายคดีอาญา 8 ได้ยื่นฟ้องคดีแล้ว

    ต่อมาทนายความได้ยื่นประกันตัวอุกฤษฎ์ และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 ต.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/34454)
  • หลังศาลอ่านฟ้องให้ฟังและถามคำให้การ อุกฤษฏ์ให้การปฏิเสธตามคำให้การเป็นเอกสารลงวันที่วันนี้ โจทก์แถลงนำพยานเข้าสืบ 10 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัดครึ่ง ทนายจำเลยแถลงสืบพยานบุคคล 2 ปาก ใช้เวลา 1 นัด นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 18-20 ต.ค. 2565 สืบพยานจำเลยวันที่ 21 ต.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2110/2564 ลงวันที่ 11 ต.ค. 2565)
  • ก่อนเริ่มสืบพยาน อุกฤษฏ์ขอถอนคำให้การเดิม และให้การรับสารภาพ ศาลจึงสั่งให้สืบเสาะและพินิจ นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 21 ธ.ค. 2565 เวลา 09.30 น.
  • ในช่วงเช้าก่อนเริ่มการพิจารณา ได้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร, นักกิจกรรม, ญาติ และผู้มาให้กำลังใจอุกฎษฎ์ ส่วนหนึ่งทยอยมานั่งรอเต็มห้องพิจารณาคดี 712 เพื่อร่วมฟังคำพิพากษา

    เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาสั้นๆ โดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2),(3),(5) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 5 กระทง เป็นโทษจำคุก 5 ปี 30 เดือน (หรือประมาณ 7 ปี 6 เดือน)

    พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว แม้จำเลยจะไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่การกระทำของจำเลยถือเป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

    หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมืออุกฤษฏ์ และพาเขาลงไปรอที่ห้องเวรชี้ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ต่อไป

    อย่างไรก็ตาม เวลา 16.24 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งออกมาในอีก 2-3 วันข้างหน้า ในระหว่างนี้ อุกฤษฏ์จะถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อน

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2110/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3582/2565 ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51694)
  • ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว โดยระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี 30 เดือน ลักษณะการกระทำของจำเลยส่งพลกระทบต่อความสงบสุขมั่นคงของรัฐ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายในลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.2110/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3582/2565 ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/52386)
  • ทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ต่อมา วันที่ 30 ธ.ค. 2565 ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกมีกำหนด 5 ปี 30 เดือน หากปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ อ.3582/2565 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/52386)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอุกฤษฏ์ระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 โดยศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ต่อมา ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งลงวันที่ 11 ม.ค. 2566 ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ อ.3582/2565 ลงวันที่ 11 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52386)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอุกฤษฏ์ระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 3 พร้อมกับผู้ต้องขังคดีทางการเมืองคนอื่นๆ หลังจากตะวัน – แบม อดอาหารและน้ำประท้วงล่วงเข้าวันที่ 7 โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวและปล่อยผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด

    ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งลงวันที่ 26 ม.ค. 2566 ไม่ให้ประกันเช่นเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี 30 เดือน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ อ.3582/2565 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2566)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอุกฤษฏ์ระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 4 โดยศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งลงวันที่ 31 ม.ค. 2566 ไม่ให้ประกันเช่นเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำของจำเลยส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความมั่นคงของรัฐ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ อ.3582/2565 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2566)
  • ทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเป็นครั้งที่ 2
  • ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลฎีกาวันที่ 3 ก.พ. 2566 อนุญาตปล่อยชั่วคราวอุกฤษฏ์ระหว่างอุทธรณ์ ระบุว่า "พิเคราะห์แล้วจำเลยเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ประกอบกับจำเลยกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยคำแหง ซึ่งคาดว่าจะจบการศึกษาในภาคการเรียนนี้ จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ตีราคาประกัน 300,000 บาท ร่วมกับใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันและดำเนินการต่อไป"

    เนื่องจากเป็นวันเสาร์ เจ้าหน้าที่จะให้เบิกตัวอุกฤษฏ์มาติด em วันจันทร์ แต่ทนายได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัววันนี้ และให้นัดมาติด em วันจันทร์แทน โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตตามที่ขอ ทำให้อุกฤษฏ์ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำ หลังถูกคุมขังรวมทั้งสิ้น 46 วัน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ อ.3582/2565 ลงวันที่ 3 ก.พ. 2566)
  • อุกฤษฏ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้พิพากษาลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษจำเลย
  • ที่ศาลอาญาในช่วงเช้าก่อนเริ่มการพิจารณา ได้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน, นักกิจกรรม, ญาติ และผู้มาให้กำลังใจอุกฤษฏ์ส่วนหนึ่ง ทยอยมานั่งรอเต็มห้องพิจารณาคดี 712 เพื่อร่วมฟังคำพิพากษา

    เวลาประมาณ 09.45 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีเนื้อหาโดยสรุปว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุก 5 ปี 30 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ จำเลยยื่นอุทธรณ์ คดีมีปัญหาต้องวินิฉัยว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดโทษสมควรแล้ว และเป็นการลงโทษตามกฎหมายขั้นต่ำ จึงไม่สมควรต้องกำหนดโทษใหม่

    ในส่วนประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสำนึกผิดแล้ว และได้มีการไปขอขมาต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ศาลเห็นว่า จำเลยมีอายุ 23 ปีแล้ว ย่อมมีวิจารณญาณ รู้ว่าสิ่งไหนควรไม่ควร อีกทั้งจำเลยยังเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ย่อมมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายมากกว่าคนทั่วไป

    แม้จำเลยจะไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่พิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลยถือเป็นเรื่องร้ายแรง การสำนึกผิดของจำเลยยังไม่สามารถบรรเทาผลเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คำอุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

    หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมืออุกฤษฏ์ และพาเขาลงไปรอที่ห้องเวรชี้ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างฎีกาต่อไป

    อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 16.30 น. ศาลอาญาให้ส่งคำร้องขอประกันอุกฤษฏ์ ไปให้ศาลฎีกาพิจารณา ทำให้อุกฤษฏ์ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอผลประกันตัว คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วัน

    ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีมาตรา 112 อีกคดีของอุกฤษฏ์ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 2 ปี แต่วันเดียวกันนั้นศาลจังหวัดสมุทรปราการก็อนุญาตให้ประกันระหว่างฎีกา

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/64743)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วิดาภา สุจรรยาทวี
  2. เดชชยันต์ จึงนิจนิรันดร์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 21-12-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 13-02-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์