สรุปความสำคัญ

“ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) เป็นคดีที่ 2 หลังได้รับการประกันตัวจากศาลอาญาในชั้นฝากขังคดีมาตรา 112 คดีแรก โดยคดีนี้มีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ประชาชนชาวสมุทรปราการเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ กล่าวหาว่า อุกฤษฏ์ใส่ความรัชกาลที่ 10 โดยการแชร์ข้อความและรูปเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงรัชกาลที่ 10 ในประเทศเยอรมนีจากเฟซบุ๊กหนึ่ง พร้อมโพสต์ข้อความประกอบ

เช่นเดียวกับคดีแรก อุกฤษฏ์ถูกออกหมายจับโดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน

การเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งยังสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจแห่งใดก็ได้ทำให้ข้อหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น ส่งผลเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์เอง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

9 มิ.ย. 2564 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.​) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว เข้าอายัดตัวอุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือ “ก้อง” อายุ 23 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเพิ่งได้รับการประกันตัวจากศาลอาญาในคดีมาตรา 112 ก่อนนำตัวไปยัง สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 อุกฤษฏ์ถูกจับกุมตัวตามหมายจับในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” จากการโพสต์ข้อความ หลัง พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ สังกัด บก.ปอท.เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ

เมื่ออุกฤษฏ์ถูกควบคุมตัวไปถึง สภ.บางแก้ว ได้มีทนายความและนักกิจกรรมจากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ติดตามไปที่สถานีตำรวจด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกการจับกุม ระบุว่า เป็นการจับกุมตามหมายจับที่ 257/2564 ออกโดยศาลจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5) โดยอุกฤษฏ์ปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม

จากนั้น พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้แจ้งถึงพฤติการณ์ที่กล่าวหาให้อุกฤษฏ์ทราบว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหา ได้นั่งดูเฟซบุ๊กในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของตนเอง พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้แชร์ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงกษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมในประเทศเยอรมนี และได้เขียนข้อความประกอบการแชร์ว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย”

ผู้กล่าวหาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต่อประชาชนทั่วไปที่ได้เข้ามาเห็นและอ่านข้อความ โดยประการที่น่าจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา

อุกฤษฏ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวเขาไว้ที่สถานีตำรวจเพื่อส่งขอฝากขังต่อศาลในเช้าวันต่อไป

ในช่วงเช้าวันที่ 10 มิ.ย. 2564 พนักงานสอบสวนนำตัวอุกฤษฏ์ไปยื่นขอฝากขังที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลการคัดค้านเอาไว้

ศาลอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ก่อนอนุญาตให้ประกันโดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักทรัพย์ประกัน

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30690)

ภูมิหลัง

  • อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล
    นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกับ "เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย" โดยจับไมค์ขึ้นปราศรัยบนเวทีอยู่หลายครั้ง รวมไปถึงแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยไม่ได้คาดคิด ถึง 2 คดี ใน 2 สถานีตำรวจ และถูกฟ้องใน 2 ศาล

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์