ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
- หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1017/2564
แดง อ.200/2566
ผู้กล่าวหา
- ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
- หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
หมายเลขคดี
ดำ อ.1017/2564
แดง อ.200/2566
ผู้กล่าวหา
- ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล
ความสำคัญของคดี
“ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) เป็นคดีที่ 2 หลังได้รับการประกันตัวจากศาลอาญาในชั้นฝากขังคดีมาตรา 112 คดีแรก โดยคดีนี้มีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ประชาชนชาวสมุทรปราการเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ กล่าวหาว่า อุกฤษฏ์ใส่ความรัชกาลที่ 10 โดยการแชร์ข้อความและรูปเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงรัชกาลที่ 10 ในประเทศเยอรมนีจากเฟซบุ๊กหนึ่ง พร้อมโพสต์ข้อความประกอบ
เช่นเดียวกับคดีแรก อุกฤษฏ์ถูกออกหมายจับโดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน
การเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งยังสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจแห่งใดก็ได้ทำให้ข้อหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น ส่งผลเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์เอง
เช่นเดียวกับคดีแรก อุกฤษฏ์ถูกออกหมายจับโดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน
การเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งยังสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจแห่งใดก็ได้ทำให้ข้อหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น ส่งผลเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์เอง
พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี
ร.ต.อ.ชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์ พนักงานอัยการ จังหวัดสมุทรปราการ ได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ
คำฟ้องโดยสรุประบุว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นประมุขดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และมีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นองค์ราชินี
ระหว่างวันที่ 7-26 พ.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยมีใจความว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย” ประกอบกับข้อความที่แชร์มาจากโพสต์เฟซบุ๊กมีใจความว่า “นักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวไทยและชาวเยอรมัน ได้มีการชุมนุมประท้วงหน้าโรงแรมใหญ่ ซอนเนนบิคล์…” และมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10
ข้อความดังกล่าวถือเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นไปตามที่ใส่ความแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 โดยมีเจตนาทำให้ประชาชนที่อ่านข้อความมีความรู้สึกเกลียดชังรัชกาลที่ 10
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.1017/2564 ลงวันที่ 1 ก.ย. 2564)
คำฟ้องโดยสรุประบุว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นประมุขดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และมีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นองค์ราชินี
ระหว่างวันที่ 7-26 พ.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยมีใจความว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย” ประกอบกับข้อความที่แชร์มาจากโพสต์เฟซบุ๊กมีใจความว่า “นักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวไทยและชาวเยอรมัน ได้มีการชุมนุมประท้วงหน้าโรงแรมใหญ่ ซอนเนนบิคล์…” และมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10
ข้อความดังกล่าวถือเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นไปตามที่ใส่ความแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 โดยมีเจตนาทำให้ประชาชนที่อ่านข้อความมีความรู้สึกเกลียดชังรัชกาลที่ 10
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.1017/2564 ลงวันที่ 1 ก.ย. 2564)
ความคืบหน้าของคดี
-
วันที่: 09-06-2021นัด: จับกุมตามหมายจับที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว เข้าอายัดตัวอุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือ “ก้อง” อายุ 23 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเพิ่งได้รับการประกันตัวจากศาลอาญาในคดีมาตรา 112 ก่อนนำตัวไปยัง สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 อุกฤษฏ์ถูกจับกุมตัวตามหมายจับในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” จากการโพสต์ข้อความ หลัง พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ สังกัด บก.ปอท.เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ
เมื่ออุกฤษฏ์ถูกควบคุมตัวไปถึง สภ.บางแก้ว ได้มีทนายความและนักกิจกรรมจากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ติดตามไปที่สถานีตำรวจด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกการจับกุม ระบุว่า เป็นการจับกุมตามหมายจับที่ 257/2564 ออกโดยศาลจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5)
การจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ จงรักษ์ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.บางแก้ว โดยมีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.บางแก้ว 3 นาย นำโดย ร.ต.อ.สุนทร ทองพงษ์เนียม รองสารวัตรสืบสวน สภ.บางแก้ว โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ทราบว่า อุกฤษฏ์ถูกจับกุมตัวอยู่ที่ บก.ปอท. จึงได้เดินทางไปยังที่ดังกล่าว และได้เข้าจับกุมในเวลาประมาณ 17.00 น. ระหว่างอุกฤษฏ์เดินอยู่หน้าประตูลิฟท์ทางขึ้นลงอาคารบี ชั้นที่ 4 ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ทั้งนี้ อุกฤษฏ์ปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม
จากนั้น พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้แจ้งถึงพฤติการณ์ที่กล่าวหาให้อุกฤษฏ์ทราบว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหา ได้นั่งดูเฟซบุ๊กในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของตนเอง พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้แชร์ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงกษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมในประเทศเยอรมนี และได้เขียนข้อความประกอบการแชร์ว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย”
ต่อมาศิวพันธุ์ได้ให้เพื่อนที่รู้จัก นำชื่อบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ และอ่านเป็นภาษาไทยได้เป็นชื่อสกุลของอุกฤษฏ์ ไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร พบว่ามีชื่อดังกล่าว และมีใบหน้าตรงกับภาพโปรไฟล์ของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จึงเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ผู้กล่าวหาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สาม คือประชาชนทั่วไปที่ได้เข้ามาเห็นและอ่านข้อความ โดยประการที่น่าจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา
อุกฤษฏ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป โดยพนักงานสอบสวนได้พิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พร้อมควบคุมตัวเขาไว้ที่สถานีตำรวจเพื่อส่งขอฝากขังต่อศาลในเช้าวันต่อไป
(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30690) -
วันที่: 10-06-2021นัด: ฝากขังและประกันตัวร.ต.อ.ชนธัญ พรหมรักษา พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว นำตัวอุกฤษฏ์ไปยื่นขอฝากขังที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยระบุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือของผู้ต้องหา จึงมีความจำเป็นต้องขอฝากขังเป็นระยะเวลา 12 วัน และยังคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลการคัดค้านเอาไว้
ต่อมา ศาลได้อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักทรัพย์ประกัน
เวลา 14.30 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวอุกฤษฏ์ ก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 อุกฤษฏ์เคยได้รับหมายเรียกพยานจาก สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 ระบุว่าให้เขาไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นพยานประกอบคดี ซึ่งศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ได้กล่าวหาว่ามีผู้โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีหมายเรียกผู้ต้องหามาแต่อย่างใด จนอุกฤษฏ์ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการในคดีนี้
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในคดีมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ สภ.บางแก้ว มีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้จำนวนอย่างน้อย 7 คดีแล้ว โดยทั้งหมดเป็นการไปแจ้งความไว้ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2563 ผู้ถูกดำเนินคดีหลายรายเคยได้รับหมายเรียกพยานมาก่อนแล้ว ก่อนตำรวจจะเริ่มมีการดำเนินคดีในปี 2564 นี้ ทั้งในรูปแบบการออกหมายเรียก หรือไปขอศาลออกหมายจับ อย่างในกรณีของอุกฤษฏ์
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ยังมีแนวทางการนำตัวผู้ต้องหาที่มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไปขอศาลฝากขัง ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกควบคุมตัวและใช้หลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกด้วย
(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30690) -
วันที่: 01-09-2021นัด: ยื่นฟ้องพนักงานอัยการ จังหวัดสมุทรปราการ ยื่นฟ้องอุกฤษฏ์ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ "นำเข้า, เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5)
คำฟ้องโดยสรุประบุว่า ระหว่างวันที่ 7 - 26 พ.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยมีใจความว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย” ประกอบกับข้อความที่แชร์มาจากโพสต์เฟซบุ๊กมีใจความว่า “นักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวไทยและชาวเยอรมัน ได้มีการชุมนุมประท้วงหน้าโรงแรมใหญ่ ซอนเนนบิคล์…” และมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10
อัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวถือเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นไปตามที่ใส่ความแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 โดยมีเจตนาทำให้ประชาชนที่อ่านข้อความมีความรู้สึกเกลียดชังรัชกาลที่ 10
ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี และไม่ได้ขอให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีอื่น
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.1017/2564 ลงวันที่ 1 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/53531) -
วันที่: 02-09-2021นัด: รายงานตัวต่อศาลอุกฤษฏ์เดินทางมารายงานตัวต่อศาลอาญาตามนัด หลังเข้าพบเจ้าหน้าที่ศาล เจ้าหน้าที่แจ้งว่าพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการได้ยื่นฟ้องคดีแล้ว
ต่อมาทนายความได้ยื่นประกันตัวอุกฤษฎ์ และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 25 ม.ค. 2565 เวลา 13.30 น. -
วันที่: 25-01-2022นัด: คุ้มครองสิทธิอุกฤษฏ์พร้อมทนายความเดินทางไปศาลในนัดคุ้มครองสิทธิ ศาลอ่านและอธิบายฟ้อง รวมทั้งสิทธิของจำเลย อุกฤษฏ์ยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 ก.พ. 2565 เวลา 13.30 น.
(อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.1017/2564 ลงวันที่ 25 ม.ค. 2565) -
วันที่: 14-02-2022นัด: ตรวจพยานหลักฐานโจทก์แถลงนำพยานเข้าสืบ 8 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด อุกฤษฏ์และทนายจำเลยแถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โดยประสงค์สืบพยานบุคคล 4 ปาก ใช้เวลา 1 นัด นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23-24 พ.ย. 2565 สืบพยานจำเลยวันที่ 25 พ.ย. 2565
(อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.1017/2564 ลงวันที่ 14 ก.พ. 2565) -
วันที่: 23-11-2022นัด: สืบพยานโจทก์ที่ห้องพิจารณา 19 เวลา 09.30 น. คณะผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนเริ่มการพิจารณา ศาลได้ถามจำเลยว่าตามข้อหาอัยการสั่งฟ้องนั้น จำเลยจะให้การรับสารภาพใช่หรือไม่ พร้อมกับแจ้งว่าหากมีอะไรจะแถลงให้แถลงต่อศาลได้เลย ศาลอนุญาต
เบื้องต้นศาลได้อธิบายกระบวนการพินิจสืบเสาะให้จำเลยฟัง พร้อมกับแนะนำให้ในระหว่างนี้จำเลยไปทำจิตอาสา หรืออะไรที่เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินเพื่อบรรเทาโทษลง แล้วส่งให้พนักงานคุมประพฤติดู ทั้งนี้ศาลได้กำชับว่า การพิจารณาทั้งหมดจะอยู่ในดุลยพินิจ ไม่ได้มีการตั้งธงในการพิจารณาคดีแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จากที่ศาลตรวจดูหลักฐานเอกสารก็พบว่าข้อความเป็นของจำเลยจริง จำเลยเป็นผู้โพสต์จริง หากรับสารภาพอย่างน้อยก็จะได้รับการลดโทษ
หลังการปรึกษาหารือ ฝ่ายจำเลยได้แถลงขอถอนคำให้การเดิม และกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ รวมถึงจำเลยได้เขียนคำแถลงประกอบคำรับสารภาพยื่นเข้าไปในคดี และศาลได้สั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาด้วย ก่อนกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น.
(อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.1017/2564 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/53531)
-
วันที่: 16-02-2023นัด: ฟังคำพิพากษาเวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 19 ศาลได้อ่านพิพากษาโดยสรุปแต่เพียงสั้นๆ ว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในคดีนี้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี โดยไม่มีเหตุให้รอลงอาญา
เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ อุกฤษฏ์จึงถูกควบคุมตัวไปไว้ยังห้องขังใต้ถุนศาลทันทีระหว่างรอการยื่นประกันตัว
ต่อมาเวลาประมาณ 12.00 น. ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอุกฤษฏ์ระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นพิจารณาคดี เป็นหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยไม่มีเงื่อนไขในการให้ปล่อยตัวชั่วคราว
คดีนี้นับเป็นคดีที่มีข้อหาหลักเป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีที่ 2 ของอุกฤษฏ์ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 คดีแรก รวมเวลาถูกคุมขัง 46 วัน คดีดังกล่าวเขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊ก 5 ข้อความเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และศาลอาญาพิพากษาจำคุกรวมทั้งสิ้น 5 ปี 30 เดือน โดยไม่รอลงอาญา คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาเช่นกัน
(อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.1017/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.200/2566 ลงวันที่ 16 ก.พ. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/53637) -
วันที่: 30-01-2024นัด: ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1ที่ห้องพิจารณาคดี 20 อุกฤษฏ์เดินทางมาพร้อมบิดา และมีประชาชนราว 5 คน ได้เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
เวลา 10.00 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยเรียกให้ก้องลุกขึ้นยืนรายงานตัวและอ่านคำพิพากษา ใจความโดยสรุปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
ต่อมา 10.15 น. ตำรวจศาลได้นำตัวก้องไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล ซึ่งนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ได้ยื่นขอประกันตัวโดยทันที
และศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันในระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์เพิ่มจากเดิมอีกจำนวน 100,000 บาท รวมหลักทรัพย์ประกันตัว 250,000 บาท
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/64233)
สถานะ การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ผลการพิพากษา
ชั้นสอบสวน
ผู้ถูกดำเนินคดี :
อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ศาลชั้นต้น
ผู้ถูกดำเนินคดี :
อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล
ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
- เวทย์ พัฒนชัยวงษ์คูณ
- ผุสนา อิศราธรรม
- ล้ำค่า ณ นครพนม
ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ :
16-02-2023
ศาลอุทธรณ์
ผู้ถูกดำเนินคดี :
อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล
ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
- สังคม สุภาผล
- สัมพันธ์ พิทักษ์แท้
- ทวี ศรุตานนท์
ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ :
30-01-2024
ศาลฎีกา
ผู้ถูกดำเนินคดี :
อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล
ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์