สรุปความสำคัญ

"จ่อย" (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมและตรวจค้นที่พัก โดยไม่มีหมายจับและหมายค้น ก่อนถูกพาตัวไปที่ห้องปฏิบัติการฝ่ายสืบสวน สน.ดินแดง เพื่อสอบถามและควบคุมตัวไว้ 1 คืน จึงได้ไปขอศาลอาญาออกหมายจับจ่อยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม โดยกล่าวหาว่า จ่อยเกี่ยวข้องกับการวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงช่วงเดือน ก.ย. 2564

กรณีนี้สะท้อนถึงปัญหาการตีความข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับตีความอย่างกว้างขวางครอบคลุมถึงการกระทำต่อวัตถุสิ่งของ อีกทั้งศาลยังรับรองการตีความดังกล่าวด้วยการออกหมายจับโดยเชื่อเพียงคำกล่าวอ้างฝ่ายเดียวของตำรวจ การกระทำดังกล่าวขององคาพยพกระบวนการยุติธรรมละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง และอาจส่งผลในแง่ลบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • มริษา (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

8 ก.ย. 2564 เวลา 17.00 น. "จ่อย" (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และ เค (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง เข้าจับกุมที่บ้านย่านลาดพร้าว โดยไม่มีหมายจับ ก่อนเข้าตรวจค้นที่พักโดยไม่มีหมายค้น และตรวจยึดโทรศัพท์เสื้อผ้า รถจักรยานยนต์ และสิ่งของอีกหลายอย่างของทั้งสอง จากนั้นทั้งสองคนถูกพาตัวไปที่ห้องปฏิบัติการฝ่ายสืบสวน สน.ดินแดง เพื่อสอบถามรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการเผาสิ่งของในที่ชุมนุมสามเหลี่ยมดินแดง

จ่อยและเคถูกควบคุมตัวที่ สน.ดินแดง แม้ว่า ตำรวจจะไม่มีหมายจับ

9 ก.ย. 2564 เวลา 13.00 น. หลังทนายความได้รับแจ้งว่าจ่อยและเคถูกจับกุมตั้งแต่เมื่อวาน (8 ก.ย. 2564) จึงเดินทางไปที่ห้องปฏิบัติการฝ่ายสืบสวน สน.ดินแดง ก่อนพบว่า พนักงานสอบสวนเพิ่งนําหมายจับจ่อยของศาลอาญา ที่ 1473/2564 และหมายจับเคของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่ 29/2564 ลงวันที่ 9 ก.ย. 2564 มาแสดง และทำบันทึกการจับกุม หลังควบคุมตัวทั้งสองมาแล้วราว 20 ชม.

บันทึกจับกุมระบุข้อกล่าวหาจ่อยตามหมายจับหลายข้อหา ได้แก่ ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่า 5 คนในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

อย่างไรก็ตาม บันทึกการจับกุมไม่ได้ระบุวันเวลาที่เกิดเหตุ รวมถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดที่เป็นสาเหตุให้จ่อยถูกออกหมายจับและถูกจับกุมในครั้งนี้

หลังทำบันทึกจับกุมและบันทึกตรวจยึดสิ่งของหลายรายการที่ยึดมาจากที่พักของทั้งสองเสร็จสิ้น โดยจ่อยให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำจ่อย ซึ่งให้การปฏิเสธเช่นกัน

จ่อยและเคถูกควบคุมตัวที่ สน.ดินแดง อีกเป็นคืนที่ 2 เนื่องจากเคซึ่งเป็นเยาวชนไม่มีผู้ปกครองมารับ พนักงานสอบสวนจึงควบคุมตัวไว้เพื่อนำตัวไปตรวจสอบการจับที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในวันที่ 10 ก.ย. 2564 ส่วนจ่อยจะถูกส่งตัวไปขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันเดียวกัน

จากนั้นวันที่ 10 ก.ย. 2564 พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลอาญาฝากขังผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไม่ได้พาไปศาลอาญาตามที่แจ้งไว้ โดยมีทนายและครอบครัวไปยื่นประกันตัวที่ศาล ใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว กำหนดเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ทั้งยังห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00 - 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.ดินแดง ลงวันที่ 9 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34871)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์