สรุปความสำคัญ

"รีฟ" วีรภาพ วงษ์สมาน นักกิจกรรมวัย 18 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1517/2564 ลงวันที่ 15 ก.ย. 2564 ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม รวมทั้งต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน รวม 5 ข้อหา โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้พ่นสีสเปรย์ข้อความเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ภายหลังถูกจับกุมศาลอาญาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางเงินสด 100,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือร่วมกิจกรรมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง รวมทั้งให้ติด EM และห้ามออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา 18.00 – 05.00 น.

คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยมีการออกหมายเรียกมาก่อน ทำให้หลังถูกจับกุมทนายความต้องยื่นประกันตัว นอกจากต้องวางหลักทรัพย์ที่สูงแล้ว การที่ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกดำเนินคดีซึ่งต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ กรณีวีรภาพซึ่งมีอาชีพขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด ยิ่งส่งผลกระทบอย่างหนัก อีกทั้งเงื่อนไขห้ามร่วมการชุมนุมก็เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย

คดีนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาการตีความและบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ที่จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับตีความอย่างกว้างขวาง กระทบถึงเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • วีรภาพ วงษ์สมาน
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

15 ก.ย. 2564 เวลา 20.40 น. วีรภาพ วงษ์สมาน ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1517/2564 ลงวันที่ 15 ก.ย. 2564 ในข้อหาหลักหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะรับประทานก๋วยเตี๋ยวอยู่บริเวณตำบลคลองข่อย จังหวัดนนทบุรี ก่อนถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.ชัยพฤกษ์ เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม และนำตัวไปที่ สน.พหลโยธิน เพื่อให้พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนคดีรับตัวไปสอบปากคำ

เมื่อวีรภาพถูกนำตัวมาที่ สน.พหลโยธิน โดยมีทนายความเดินทางติดตามไป พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ยังได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ1กันยา ที่หน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊ส และราษฎรตาลีบัน อีกคดีหนึ่งซึ่งไม่ใช่คดีที่มีการออกหมายจับ

จากนั้น พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้เข้ามาแจ้งข้อหาวีรภาพ ที่ สน.พหลโยธิน โดยระบุพฤติการณ์คดีที่กล่าวหาว่า วีรภาพได้พ่นสเปรย์ข้อความเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 5 ข้อหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกชุมนุมมั่วสุม แต่ไม่เลิก และร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธ

วีรภาพได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.พหลโยธิน เป็นเวลา 1 คืน พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญาฝากขังผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมือง ให้ติด EM และให้ผู้ต้องหาอยู่ในเคหะสถานตั้งแต่เวลา 18.00 – 05.00 น.

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.พหลโยธิน ลงวันที่ 15 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35166)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์