สรุปความสำคัญ

พิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทวัย 26 ปี ถูกดำเนินคดีในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หลังสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งโพสต์ข้อความในทำนองวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์และรัฐบาล โดยพาดพิงถึงความประพฤติของรัชกาลที่ 10 ในวันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาด้วยแก๊สน้ำตา และมีผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนจริง

กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวกลับถูกนำมาบังคับใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจส่งผลในทางลบต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย

นอกจากนั้น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งเดิมที พ.ร.บ.ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือ “อาชญากรรมโดยแท้” ที่พัฒนาไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แต่กลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการใช้ทรัพยากรจากภาษีประชาชนที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • พิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

11 มี.ค. 6564 เวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจาก บก.ปอท. จำนวนราว 12 นาย ได้เข้าแสดงหมายค้นของศาลอาญา เพื่อเข้าค้นบ้านพักของพิทักษ์พงษ์ โดยได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ และซีพียูคอมพิวเตอร์ และให้พิทักษ์พงษ์บอกรหัสผ่านสำหรับเข้าถึงโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก โดยเจ้าหน้าที่บอกเพียงแค่ว่าเป็นความผิดตาม “มาตรา 14” เท่านั้น

จากนั้น จึงควบคุมตัวพิทักษ์พงษ์ขึ้นรถตู้ตำรวจ พร้อมมีเจ้าหน้าที่ 2 นาย นั่งประกบ เพื่อเดินทางไปที่ บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ได้ให้ลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารต่างๆ เช่น รูปภาพข้อความในเฟซบุ๊ก บันทึกตรวจค้น และรูปถ่ายส่วนตัว โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใด และไม่ได้ให้ติดต่อทนายความ มีเพียงแค่เพื่อน 1 คน นั่งอยู่ในห้องสอบสวนด้วยเท่านั้น

หลังลงลายมือชื่อในเอกสาร เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวพิทักษ์พงษ์ไป และแจ้งว่าจะส่งหมายเรียกผู้ต้องหาให้มารับทราบข้อหาต่อไป

ในวันดังกล่าวพิทักษ์พงษ์ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุว่าเขากระทำความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น และถ้าหากให้ความร่วมมือเดินทางไปที่ บก.ปอท. จะเผยชื่อผู้กล่าวหาให้พิทักษ์พงษ์ทราบ

แต่ต่อมาเขาได้รับหมายเรียกลงวันที่ 10 มี.ค. 2564 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา 2 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) มี สุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา โดยวันที่ออกหมายเรียกนั้นเป็นวันที่ก่อนตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของเขา

2 เม.ย. 2564 พิทักษ์พงษ์ พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 บก.ปอท. ซึ่งแจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์คดีให้พิทักษ์พงษ์ทราบ ใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทราบว่า มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้ปกป้องรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ โดยมีการกล่าวสั้นๆ ถึงความประพฤติของกษัตริย์และรัฐบาลด้วย​ จึงได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อพิทักษ์พงษ์ ได้แก่ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามมาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

พิทักษ์พงษ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังจากการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวไป เนื่องจากมาปรากฏตัวต่อพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และจะนัดหมายเพื่อส่งตัวอัยการในภายหลัง

ในวันนี้ พนักงานสอบสวนบก.ปอท. ได้คืนซีพียูคอมพิวเตอร์ ที่ถูกยึดจากการตรวจค้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ให้พิทักษ์พงษ์ ส่วนโทรศัพท์มือถือ พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่าต้องยึดไว้เป็นของกลางก่อน

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา บก.ปอท. ลงวันที่ 2 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27904)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์