ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2389/2564
แดง อ.3252/2565

ผู้กล่าวหา
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2389/2564
แดง อ.3252/2565
ผู้กล่าวหา
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ความสำคัญของคดี

พิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทวัย 26 ปี ถูกดำเนินคดีในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หลังสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งโพสต์ข้อความในทำนองวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์และรัฐบาล โดยพาดพิงถึงความประพฤติของรัชกาลที่ 10 ในวันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาด้วยแก๊สน้ำตา และมีผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนจริง

กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวกลับถูกนำมาบังคับใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจส่งผลในทางลบต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สมพร รวิวรรณพงษ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายคำฟ้อง ใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 พิทักษ์พงษ์ได้โพสต์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊ก ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นข้อความวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์และรัฐบาล โดยพาดพิงถึงความประพฤติของรัชกาลที่ 10 พร้อมแนบถาพถ่ายแสดงภาพโดยเป็นภาพบุคคลยืนชูมือ ข้างซ้ายชูสามนิ้ว และข้างขวาชูนิ้วกลางหนึ่งนิ้ว ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ข้อความและภาพดังกล่าวทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ไม่ทรงรักประชาชนและข้าราชบริพาร ทรงหมกหมุ่นในกามารมณ์ ทำให้เกิดการดูหมิ่น ไม่เคารพเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์

การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความไม่เคารพสักการะที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง โดยมีเจตนาทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศและแสดงความอาฆาตมาดร้าย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2389/2564 ลงวันที่ 27 ก.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจาก บก.ปอท. จำนวนราว 12 นาย ได้เข้าแสดงหมายค้นของศาลอาญา เพื่อเข้าค้นบ้านพักของพิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล) โดยได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ และซีพียูคอมพิวเตอร์ และให้พิทักษ์พงษ์บอกรหัสผ่านสำหรับเข้าถึงโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก โดยเจ้าหน้าที่บอกเพียงแค่ว่าเป็นความผิดตาม “มาตรา 14” เท่านั้น

    จากนั้น จึงควบคุมตัวพิทักษ์พงษ์ขึ้นรถตู้ตำรวจ พร้อมมีเจ้าหน้าที่ 2 นาย นั่งประกบ เพื่อเดินทางไปที่ บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ได้ให้ลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารต่างๆ เช่น รูปภาพข้อความในเฟซบุ๊ก บันทึกตรวจค้น และรูปถ่ายส่วนตัว โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใด และไม่ได้ให้ติดต่อทนายความ มีเพียงแค่เพื่อน 1 คน นั่งอยู่ในห้องสอบสวนด้วยเท่านั้น

    หลังลงลายมือชื่อในเอกสาร เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวพิทักษ์พงษ์ไป และแจ้งว่าจะส่งหมายเรียกผู้ต้องหาให้มารับทราบข้อหาต่อไป

    พิทักษ์พงษ์เล่าว่า เขาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุว่าเขากระทำความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น และถ้าหากเขาให้ความร่วมมือเดินทางไปที่ บก.ปอท. จะเผยชื่อผู้กล่าวหาให้ทราบ

    แต่ต่อมาเขาได้รับหมายเรียกลงวันที่ 10 มีนาคม 2564 ออกโดย พ.ต.ท.หญิงอัมพร จันทะวงศ์ ระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา 2 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) มี สุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา โดยวันที่ออกหมายเรียกนั้นเป็นวันที่ก่อนตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของเขา

    (อ้างอิง: บันทึกการตรวจค้น/ตรวจยึด บก.ปอท. ลงวันที่ 11 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27904)
  • พิทักษ์พงษ์พร้อมทนายความเดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.หญิง อัมพร จันทะวงศ์ พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 บก.ปอท. ซึ่งแจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์คดีให้พิทักษ์พงษ์ทราบ ใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทราบว่า มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้ปกป้องรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ โดยมีการกล่าวสั้นๆ ถึงความประพฤติของกษัตริย์และรัฐบาลด้วย​ จึงได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว

    พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อพิทักษ์พงษ์ ได้แก่ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามมาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พิทักษ์พงษ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมและเอกสารประกอบคำให้การภายในวันที่ 16 เม.ย. 2564

    หลังจากการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวัน ก่อนปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฏตัวต่อพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และจะนัดหมายเพื่อส่งตัวอัยการในภายหลัง

    ในวันนี้ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้คืนซีพียูคอมพิวเตอร์ ที่ถูกยึดจากการตรวจค้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ให้พิทักษ์พงษ์ ส่วนโทรศัพท์มือถือ พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่าต้องยึดไว้เป็นของกลางก่อน

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา บก.ปอท. ลงวันที่ 2 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27904)
  • พนักงานสอบสวน บก.ปอท. นัดพิทักษ์พงษ์เพื่อส่งสำนวนการสอบสวนและตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการ อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 22 ก.ย. 2564 ซึ่งในวันดังกล่าว
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 27 ก.ย. 2564
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพิทักษ์พงษ์ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กล่าวหาว่า พิทักษ์พงษ์ได้โพสต์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ไม่ทรงรักประชาชนและข้าราชบริพาร ทรงหมกหมุ่นในกามารมณ์ ทำให้เกิดการดูหมิ่น ไม่เคารพเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ โดยมีเจตนาทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศและแสดงความอาฆาตมาดร้าย

    สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานอัยการได้ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

    ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ต่อมา เวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว โดยวางเงินสดจำนวน 90,000 บาท เป็นหลักประกัน พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดตามที่ถูกฟ้องอีก นายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์จึงได้วางเงินสดจำนวนดังกล่าวเป็นหลักประกันต่อศาล นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 พ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2389/2564 ลงวันที่ 27 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35820)
  • นัดตรวจพยานหลักฐานที่เลื่อนมาจากวันที่ 8 พ.ย. 2564 เนื่องจากทนายจำเลยติดว่าความในคดีอื่น หลังเสร็จการตรวจพยานหลักฐาน คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานในวันที่ 2 ส.ค. 2565
  • ก่อนเริ่มสืบพยาน พิทักษ์พงษ์ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยรายงานต่อศาล และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ต.ค. 2565 เวลา 13.30 น.
  • จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดโควิด ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 21 พ.ย. 2565 เวลา 13.30 น.
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 814 พิทักษ์พงษ์เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัวและเพื่อนรวมเกือบ 10 คน ซึ่งมาร่วมให้กำลังใจ

    ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี เขาเปิดเผยว่าเหตุที่เขาตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เนื่องจากได้ปรึกษาหาทางออกในเรื่องนี้ร่วมกับทนายความ และหากคดียืดเยื้อต่อไป เขาก็ต้องใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย วางแผนอนาคตอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าตนจะต้องเข้าเรือนจำหรือไม่ จึงได้ข้อสรุปว่าการรับสารภาพอาจจะเป็นทางที่ดีที่สุดในขณะนั้น โดยความคาดหวังสูงสุดของเขาคือการได้รับโอกาสให้รอลงอาญาไว้ก่อน

    เวลา 13.41 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี และอ่านคำฟ้องของพนักงานอัยการให้ฟังโดยสรุป ระบุว่าจำเลยถอนคำให้การเดิม เปลี่ยนเป็นรับสารภาพตามฟ้องในระหว่างพิจารณา ในรายงานสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติมีถ้อยคำบางส่วนที่จำเลยให้กับพนักงานคุมประพฤติเป็นลักษณะปฏิเสธ แต่ศาลเห็นว่าเมื่อให้การรับสารภาพ ก็ถือว่าเป็นการรับสารภาพทั้งหมด

    คำพิพากษาโดยสรุป ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในฐานความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน

    พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานการสืบเสาะ จำเลยกระทำการโดยไม่สมควรต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและเคารพศรัทธาของประชาชนชาวไทย จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ ริบโทรศัพท์ของกลาง

    หลังจากฟังคำพิพากษา ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปคุมขังไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญา พิทักษ์พงษ์กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า “นึกคำพูดอะไรไม่ออก คำพิพากษาไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ โทษค่อนข้างสูง แต่ก็นั่นแหละครับประเทศไทย หวังว่าจะประกันตัวได้”

    ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดี เวลา 17.50 น. ได้รับแจ้งว่าศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพิทักษ์พงษ์ ด้วยหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

    พิทักษ์พงษ์เป็นประชาชนธรรมดา ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือนักกิจกรรม ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัททั่วไป จุดเริ่มต้นของการออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์จนถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ ก็มาจากการเห็นข่าวสลายการชุมนุมบริเวณรัฐสภา แยกเกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งผู้ชุมนุมถูกกระทำด้วยความรุนแรง จึงโพสต์ถึงตำรวจควบคุมฝูงชน ตำรวจ และบุคคลผู้ไม่หวังดี ที่ปาหินและใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม และพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความโกรธ

    การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ส่งผลกระทบต่อการวางแผนอนาคตของพิทักษ์พงษ์อย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าตนจะถูกพิพากษาจำคุกหรือไม่ การต้องต่อสู้คดีทำให้เขาเสียทั้งเงิน เวลา และสุขภาพจิต และหากต้องโทษจำคุกเขาก็คิดว่าตนจะต้องหมดอนาคต เสียงานที่ทำในปัจจุบันไป และในอนาคต หากสมัครงานบริษัทเอกชนทั่วไป แล้วบริษัทตรวจพบว่ามีประวัติอาชญากรรมอยู่ ก็คงจะไม่สามารถหางานทำได้

    เมื่อถูกถามว่าพิทักษ์พงษ์มีความเห็นอย่างไรต่อมาตรา 112 เขากล่าวว่า “ถ้าว่าด้วยเรื่องกฎหมาย เราอาจผิดจริง แต่ถ้าถามเรื่องสิทธิมนุษยชนทั่วไป เราไม่น่าผิดขนาดนั้น ระวางโทษของมาตรา 112 เทียบเท่าการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา แต่เราแค่โพสต์เฟซบุ๊ก 1 โพสต์”

    “กฎหมายมาตรานี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างยิ่ง ไม่ต้องเอาออกไปก็ได้ แต่ควรทำให้เหมาะสมกว่านี้ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าแบบไหนคือเหมาะสม แต่ไม่ใช่แบบที่โทษหนักเท่าการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาแน่นอน”

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2389/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3252/2565 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/50809)
  • เวลา 09.10 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 814 ศาลอาญา พิทักษ์พงษ์เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์พร้อมกับครอบครัวและเพื่อนรวม 8 คน ศาลเรียกชื่อของจำเลย โดยให้เขาเข้าไปนั่งฟังคำพิพากษาที่คอกพยานเบิกความ

    ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ใจความว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 14 และให้ริบของกลางเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 1 เครื่อง จำเลยให้การรับสารภาพ

    ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุดคือ มาตรา 112 จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง

    จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

    ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยได้สำนึกในการกระทำผิดแล้ว โดยให้การรับสารภาพ จำเลยกระทำผิดไปโดยเข้าใจข้อมูลข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ผิดไป จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ทั้งภายหลังหรือก่อนหน้าในคดีนี้

    เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2566 จำเลยได้เดินทางไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อถวายพระพรให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ และได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพถ่ายของตัวเองบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเป็นโพสต์สาธารณะ

    นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2566 จำเลยได้แสดงความจงรักภักดี และขอขมาต่อรัชกาลที่ 10 โดยแสดงต่อพระบรมฉายาลักษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุข และได้โพสต์ข้อความและภาพถ่ายลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยเช่นกัน

    ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มาตรา 112 บัญญัติว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย กษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าแม้การกระทำผิดต่อกษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาท การกระทำความผิดดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์มาตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

    จนถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน และปกครองโดยประชาชนก็ตาม แต่ว่ากษัตริย์ยังคงได้รับความเคารพสักการะให้ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นจอมทัพไทย กฎหมายที่ผ่านรัฐสภาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี หรือผู้แทนราษฎรก็ตาม พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง

    ทั้งการสืบราชสมบัติยังเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบราชสมบัติทางสายพระโลหิตต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ก็ทรงสืบสันตติวงศ์มาจนถึงปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงมีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ที่เป็นที่เคารพสักการะ

    ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงได้บัญญัติไว้ให้กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการระ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 112 เพราะการกระทำของจำเลยย่อมกระทบต่อความรู้สึกของชาวไทยที่ผูกพันกับสถาบันกษัตริย์

    นอกจากนี้ ยังหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อาจนำไปสู่ความไม่พอใจต่อประชาชนที่จงรักภักดี และอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงของราชอาณาจักรได้ จึงไม่มีเหตุให้ลงโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษา

    ส่วนที่จำเลยขอให้รอการลงโทษเห็นว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพแล้วว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด ทั้งได้เดินทางไปถวายพระพรต่อองค์ภาฯ และขอขมาต่อรัชกาลที่ 10 แม้ว่าการกระทำผิดของจำเลยตามฟ้องจะมีพฤติการณ์ร้ายแรง แต่จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จำเลยมีอาชีพมั่นคง ยังพอแก้ไขให้เป็นพลเมืองดีได้ จากข้อเท็จจริงนี้ยังพอสมควรให้รอการลงโทษจำเลยได้

    ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วนพิพากษาแก้ให้โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 3 ปี กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ในเวลา 1 ปี ให้จำเลยทำงานบริการสังคมเป็นระยะเวลา 84 ชั่วโมง รวมถึงห้ามกระทำการใด ๆ ที่มีส่วนล่วงเกินให้สถาบันกษัตริย์เสียหายอีก
    .
    ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ พิทักษ์พงษ์ที่นั่งอยู่บริเวณคอกพยานเบิกความได้ร้องไห้ออกมาเงียบ ๆ ส่วนครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่นั่งรอให้กำลังใจต่างแสดงความรู้สึกโล่งใจที่ทั้งหมดจะได้กลับบ้านพร้อมหน้าพร้อมตากันในวันนี้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/63205)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. อำนาจ อาดำ
  2. วรวัลคุ์ ชาญสตบุตร บัวกันต์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 21-11-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 16-01-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์