สรุปความสำคัญ

จักรพรรดิ (สงวนนามสกุล) ชายชาวจังหวัดภูเก็ตวัย 31 ปี ถูกจับกุมที่บ้านพักตามหมายจับของศาลจังหวัดภูเก็ต ก่อนถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ บก.ปอท. ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกกล่าวหาว่า แชร์และโพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ระหว่างวันที่ 6 มี.ค. – 10 มิ.ย. 2564 มีเนื้อหาบิดเบือนและให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ ต่อมา อัยการยื่นฟ้องจักรพรรดิต่อศาลอาญา อ้างว่าเขากระทำความผิดใน 2 ข้อหาดังกล่าว รวม 14 กรรม จักรพรรดิได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นฝากขังและชั้นพิจารณาของศาล โดยใช้เงินส่วนตัว 200,000 บาท วางเป็นหลักทรัพย์ประกัน

ความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง และนำมาบังคับใช้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลในเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ด้วย นอกจากนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังถูกนำมาใช้ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมีขึ้นเพื่อรับมือ “อาชญากรรม” ทางเทคโนโลยี แต่กลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • จักรพรรดิ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 มิ.ย. 2564 เวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 2 คันรถ ซึ่งสนธิกำลังกันระหว่าง บก.ปอท., สันติบาล และตำรวจ สภ.เมืองภูเก็ต เข้าจับกุมจักรพรรดิ (สงวนนามสกุล) ที่บ้านพักในจังหวัดภูเก็ต ยึดโทรศัพท์ 2 เครื่อง และคอมพิวเตอร์ พร้อมกับยึดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมไปด้วย

ต่อมา เขาถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สภ.เมืองภูเก็ต บันทึกจับกุมระบุว่า เป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอันน่าจะเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ, เผยแพร่และส่งต่อซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จที่น่าจะเสียหายต่อความมั่นคง

หลังทำบันทึกจับกุม จักรพรรดิถูกคุมขังที่ สภ.เมืองภูเก็ต 1 คืน ก่อนถูกส่งตัวต่อไปที่ บก.ปอท. ที่กรุงเทพฯ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ ในชั้นนี้ เขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่รับว่า เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่โพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการสอบสวน จักรพรรดิไม่ได้มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมด้วยแต่อย่างใด

หลังเสร็จการสอบปากคำ จักรพรรดิถูกนำตัวไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง อีก 1 คืน โดยพนักงานสอบสวนจะดำเนินการขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันถัดไป

24 มิ.ย. 2564 พนักงานสอบสวนนำตัวจักรพรรดิจาก สน.ทุ่งสองห้อง มาที่ บก.ปอท.ก่อนจะดำเนินการขออำนาจศาลอาญา ฝากขังผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ครอบครัวจึงได้ยื่นประกัน โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 200,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัว

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สภ.เมืองภูเก็ต ลงวันที่ 22 มิ.ย. 64 และ https://tlhr2014.com/archives/35757)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์