ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2223/2564

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สันติบาล (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2223/2564
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สันติบาล

ความสำคัญของคดี

จักรพรรดิ (สงวนนามสกุล) ชายชาวจังหวัดภูเก็ตวัย 31 ปี ถูกจับกุมที่บ้านพักตามหมายจับของศาลจังหวัดภูเก็ต ก่อนถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ บก.ปอท. ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกกล่าวหาว่า แชร์และโพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ระหว่างวันที่ 6 มี.ค. – 10 มิ.ย. 2564 มีเนื้อหาบิดเบือนและให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ ต่อมา อัยการยื่นฟ้องจักรพรรดิต่อศาลอาญา อ้างว่าเขากระทำความผิดใน 2 ข้อหาดังกล่าว รวม 14 กรรม จักรพรรดิได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นฝากขังและชั้นพิจารณาของศาล โดยใช้เงินส่วนตัว 200,000 บาท วางเป็นหลักทรัพย์ประกัน

ความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง และนำมาบังคับใช้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลในเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ด้วย นอกจากนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังถูกนำมาใช้ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมีขึ้นเพื่อรับมือ “อาชญากรรม” ทางเทคโนโลยี แต่กลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ธีรารัตน์ บุตรโพธิ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 บรรยายคฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ประเทศไทยมีการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมาตรา 6 ระบุว่า พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือฟ้องร้องไม่ได้

จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง รวม 14 กรรม ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 จำเลยได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว บัญชีชื่อเป็นนามแฝงภาษาอังกฤษ โดยการโพสต์รูปของรัชกาลที่ 10 และราชินีที่ถูกเผาทำลาย และภาพธนบัตรซึ่งมีรูปของรัชกาลที่ 10 ถูกเผาทำลาย พร้อมทั้งโพสต์ข้อความโดยติดแฮชแท็ก #ขยะในพระปรมาภิไธย รวม 2 โพสต์ ในเวลาใกล้เคียงกัน

2. วันที่ 9 เมษายน 2564 จำเลยได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงในเฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าว มีเนื้อหาเป็นการกล่าวหาและทำให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 9 ปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน

3. วันที่ 30 เมษายน 2564 จำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าว เป็นภาพแม่เพนกวินกำลังกอดเพนกวิน พร้อมข้อความประกอบว่า “วันแม่แห่งชาติ ชั้นขอสรรเสริญแม่สุเป็นแม่แห่งชาติค่ะ……..” โดยพาดพิงถึงพระราชินีในรัชกาลที่ 9 การกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่า พระราชินีสิริกิติ์ไม่สมควรได้รับการสรรเสริญว่าเป็นแม่แห่งชาติ หรือแม่ของแผ่นดิน ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน

4. วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าว เป็นรูปสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พร้อมข้อความว่า “ทรงพระเจรียม ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” และเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี “พ่อของแผ่นดิน” อันเป็นการล้อเลียน เสียดสี และจาบจ้วง ล่วงเกิน รัชกาลที่ 10 ด้วยการใช้คำราชาศัพท์และเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งใช้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น

5. วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์ บัญชีชื่อเป็นนามแฝง เป็นรูปรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรด้วยโรคทางเดินหายใจของรัชกาลที่ 10 และข้อความแสดงความเห็น ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงกระทำในสิ่งไม่ดีมาทั้งชีวิต อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10

6. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นภาพพร้อมข้อความระบุถึงข่าวลือว่า พระราชินีสุทิดาทรงพระประชวรจากไวรัสโควิด-19 และแสดงความยินดีต่อข่าวดังกล่าว ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าพระราชินีทรงประชวรหนัก ถือเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้ายพระราชินี

7. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 วันเดียวกันนั้น จำเลยยังได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าวอีกโพสต์ เป็นรูปรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความระบุข่าวลือว่า ทรงพระประชวรหนัก มีอาการไตวาย อยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ ทำให้คนทั่วไปที่พบเห็นโพสต์เข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 กำลังประชวรหนักและเป็นคนไม่ดี

8. วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นรูปของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความทำนองว่า พระองค์กำลังประชวรหนักจนต้องเข้า ICU พร้อมทั้งแชร์ลิงค์ข่าว และติดแฮชแท็กว่า #ข่าวลือ #ข่าวดี อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน และแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10

9. วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นข้อความใจความว่า รัชกาลที่ 10 กำลังจะสวรรคต และจะเป็นกษัตริย์ที่ประชาชนเกลียดและสาปแช่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 กำลังจะสวรรคตในไม่ช้า ทั้งยังเป็นผู้สั่งจับกุมและฟ้องร้องคดีกับประชาชน อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน

10. วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นข้อความโดยสรุปว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ได้เสด็จออกเยี่ยมประชาชนเกือบครึ่งเดือน จำเลยสงสัยว่ายังทรงมีพระชนม์อยู่หรือไม่ ถือเป็นการทำให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ทรงประชวรหรือทรงสวรรคตแล้วตามข่าวลือ อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน

11. วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นรูปรัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความ “1 ลายเซ็นต์จาก…. พาชิฟหายกันทั้งประเทศ …” ซึ่งพาดพิงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้คนเข้าใจว่ารัชกาลที่ 9 ทรงสนับสนุนให้มีการรัฐประหาร อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน

12. วันที่ 2 มิถุนายน 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นรูปรัชกาลที่ 10 และพระราชินี พร้อมแชร์ลิงค์ข่าว BBC Thai และข้อความว่า “ซุ้มเยอะ โครงการเยอะ หากินง่ายดีเนอะ ขอยืมชื่อเจ้ามาหากิน เบียดเบียนเงินประเทศอะ #งบสถาบัน #ยกเลิก112 #ยกเลิกเกณฑ์ทหาร #ผนงรจตกม #รัฐบาลส้นตีนคนเชียร์ก็ส้นตีน” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ได้ใช้เงินของประชาชนในการทำโครงการพระราชดำริมากมาย และเป็นผู้นำที่จะทำให้ประชาชนตายกันหมด อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน

13. วันที่ 3 มิถุนายน 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นรูปของพระราชินีสุทิดา พร้อม 2 ข้อความกล่าวถึงบรรยากาศในวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระราชินี เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นวันพระราชพิธีศพของพระราชินี อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน

14. วันที่ 10 มิถุนายน 2564 จำเลยได้โพสต์ทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าว เป็นรูปรัชกาลที่ 8 พร้อมข้อความ 2 ข้อความ โดยจำเลยต้องการให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่า กษัตริย์รัชกาลที่ 9 ทรงสนับสนุนให้เกิดการก่อรัฐประหาร หรือปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2333/2564 ลงวันที่ 14 ก.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 2 คันรถ ซึ่งสนธิกำลังกันระหว่าง บก.ปอท., สันติบาล และตำรวจ สภ.เมืองภูเก็ต เข้าจับกุมจักรพรรดิ (สงวนนามสกุล) ที่บ้านพักในจังหวัดภูเก็ต ยึดโทรศัพท์ 2 เครื่อง และคอมพิวเตอร์ พร้อมกับยึดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมไปด้วย

    ต่อมา เขาถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สภ.เมืองภูเก็ต บันทึกจับกุมระบุว่า เป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอันน่าจะเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ, เผยแพร่และส่งต่อซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จที่น่าจะเสียหายต่อความมั่นคง

    หลังทำบันทึกจับกุม จักรพรรดิถูกคุมขังที่ สภ.เมืองภูเก็ต 1 คืน

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.เมืองภูเก็ต ลงวันที่ 22 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35757)
  • จักรพรรดิถูกนำตัวเดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กรุงเทพฯ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ ในชั้นนี้ เขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่รับว่า เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่โพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการสอบสวน จักรพรรดิไม่ได้มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมด้วยแต่อย่างใด

    หลังเสร็จการสอบปากคำ จักรพรรดิถูกนำตัวไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง อีก 1 คืน โดยพนักงานสอบสวนจะดำเนินการขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันถัดไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/35757)
  • พนักงานสอบสวนนำตัวจักรพรรดิจาก สน.ทุ่งสองห้อง มาที่ บก.ปอท.ก่อนจะดำเนินการขออำนาจศาลอาญา ฝากขังผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ครอบครัวจึงได้ยื่นประกัน โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 200,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัว และนัดเขามารายงานตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/35757)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญา ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 กล่าวหาว่า จักรพรรดิแชร์และโพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ระหว่างวันที่ 6 มี.ค. – 10 มิ.ย. 2564 มีเนื้อหาหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ร.9, อดีตพระราชินีสิริกิติ์, ร.10 และพระราชินีสุทิดา จำนวนทั้งหมด 17 โพสต์ เป็นความผิดรวม 14 กรรม

    อัยการระบุในตอนท้ายของคำฟ้องด้วยว่า หากจำเลยขอยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา อัยการขอคัดค้าน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2333/2564 ลงวันที่ 14 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35757)
  • จักรพรรดิเดินทางมาตามนัดหมายรายงานตัวต่อศาลอาญา หลังครบกำหนดฝากขังผัดสุดท้าย โดยนัดก่อนหน้านี้เขาได้ขอเลื่อนการรายงานตัวเนื่องจากไม่สามารถเดินทางมาจากภูเก็ตในช่วงสถานการณ์โควิดได้

    หลังทนายความยื่นประกันตัวในชั้นพิจารณา ศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นฝากขังจำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของเขา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 ต.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/35757)
  • ทนายจำเลยติดว่าความที่ศาลอื่น จึงขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน โจทก์ไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 พ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยซึ่งมีทนายความฟัง จําเลยให้การปฏิเสธตามคําให้การจําเลยที่ยื่นต่อศาล

    โจทก์แถลงว่าประสงค์จะสืบพยานบุคคลรวม 8 ปาก ตามบัญชีระบุพยานฉบับลงวันที่ 15 ต.ค. 2564 อันดับที่ 1 เป็นผู้กล่าวหา อันดับที่ 2, 3 และ 4 เป็นพยานที่ให้ความเห็นว่าข้อความที่จําเลยโพสต์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันดับที่ 5 เป็นตํารวจผู้จับกุมและตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจําเลย อันดับที่ 6 เป็นตํารวจผู้ตรวจพิสูจน์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจําเลย อันดับที่ 7 และ 8 เป็นพนักงานสอบสวน ขอใช้เวลาสืบพยาน 2 นัด

    จําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จําเลยไม่ใช่ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ และไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ตํารวจยึดจากจําเลยนั้นจะเป็นของจําเลยหรือไม่ จําเลยไม่ขอให้การ และประสงค์จะสืบพยานบุคคลรวม 1 ปาก โดยจําเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ขอใช้เวลาสืบพยานครึ่งนัด

    ศาลเห็นว่า พยานโจทก์อันดับที่ 2, 3 และ 4 เป็นพยานที่ให้ความเห็นว่าข้อความที่จําเลยโพสต์ลงในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ตามฟ้อง เป็นการดูหมิ่น และหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แม้จะให้โจทก์นําเข้าสืบทั้งหมด ก็ไม่ทําให้การรับฟังพยานหลักฐานเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควร อาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลจึงให้นําสืบพยานโจทก์ทั้งสามปากนี้เพียง 1 ปาก คงเหลือพยานโจทก์ที่ศาลอนุญาตให้นำเข้าสืบ 6 ปาก โดยให้นัดสืบพยานโจทก์ 1 นัดครึ่ง และนัดสืบพยานจําเลยครึ่งนัด รวมนัดสืบพยานโจทก์และจําเลย 2 นัด คือในวันที่ 17-18 ม.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2333/2564 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2564)
  • จักรพรรดิไม่ได้เดินทางมาศาล ผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยแถลงว่าไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ศาลเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลย แต่เนื่องจากจำเลยมีทนายความแล้ว หากไม่ได้ตัวจำเลยมาภายใน 3 เดือน ให้พิจารณาลับหลังจำเลย และให้เลื่อนสืบพยานไปเป็นวันที่ 9-10 พ.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2333/2564 ลงวันที่ 17 ม.ค. 2566)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลย เนื่องจากรับราชการ ศาลอนุญาตให้ถอนทนายจำเลย ทำให้ไม่สามารถสืบพยานลับหลังจำเลยได้ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2333/2564 ลงวันที่ 9 พ.ค. 2566)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
จักรพรรดิ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
จักรพรรดิ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์