ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1132/2564

ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.อ.สุระเดช ก้านสัญชัย กับพวก (ตำรวจ)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1132/2564

ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.อ.สุระเดช ก้านสัญชัย กับพวก (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1132/2564
ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.อ.สุระเดช ก้านสัญชัย กับพวก

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1132/2564
ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.อ.สุระเดช ก้านสัญชัย กับพวก

ความสำคัญของคดี

ต้นไม้ (นามสมมุติ) และพิชญ (สงวนนามสกุล) ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" จากกรณีจำหน่ายปฏิทินตั้งโต๊ะรูปเป็ดสีเหลืองในเพจดังกล่าวเมื่อช่วงสิ้นปี 2563 โดยถูกกล่าวหาว่า ภาพและข้อความในปฏิทินเป็นการล้อเลียน และหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10

ต้นไม้ถูกจับกุมที่บ้านพักโดยไม่มีหมายจับ ไม่แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับ และไม่ใช่กรณีการกระทำความผิดซึ่งหน้า จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อัยการยังบรรยายฟ้องถึงข้อความที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งไม่ได้มีการแจ้งมาก่อนในชั้นสอบสวน

กรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการตีตวามและบังคับใช้มาตรา 112 ในปัจจุบัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมมีการขยายการตีความไปจนเกินกว่าบทบัญญัติหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย จนกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบสันติของประชาชน และถือเป็นการใช้กฎหมายในการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

วาที เพ็ชรวงษ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 บรรยายฟ้องว่า

เมื่อวันที่ 23-31 ธ.ค. 2563 ต้นไม้และพิชญได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นกษัตริย์ ด้วยการร่วมกันจำหน่ายปฏิทินที่มีข้อความและภาพที่หมิ่นประมาทและดูหมิ่นกษัตริย์ โดยปฏิทินนั้นมีข้อความว่า “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษ รวมทุกคำสอนของเรา” แต่ละเดือนมีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลือง และมีข้อความดังต่อไปนี้

- เดือนมกราคม 2564 มีข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และ OK1 ห้อยที่คอรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลือง และมีภาพการ์ตูนบนรูปสุนัขว่า “ทรงพระเจริญ”
- เดือนมีนาคม 2564 มีภาพการ์ตูนเป็ดสีเหลืองสวมถุงยางอนามัยที่หัว
- เดือนเมษายน 2564 มีข้อความว่า “รักคุณเท่าฟ้า” และรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองขับเครื่องบิน โดยบนปีกเครื่องบินทั้งสองข้างมีข้อความว่า “SUPER VIP”
- เดือนพฤษภาคม 2564 มีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองและตัวเลข 10 บนตัว พร้อมข้อความ “ไอโอนะ ยูโอไหม?”
- เดือนตุลาคม 2564 มีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองบนคอปรากฏข้อความ NO10 และ Fordad และ “พ่อบอกให้ทุกคนพอเพียง” ​”ทรงนำเศรษฐกิจพอเพียงหล่อเลี้ยงชีวา”

ภาพและข้อความดังกล่าวเป็นการล้อเลียนพระมหากษัตริย์ อันเป็นการล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยที่จำเลยทั้งสองมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2564 ลงวันที่ 2 ก.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 17.30 น. ต้นไม้ (นามสมมุติ) ถูกเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านพัก ยึดโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับปฏิทินตั้งโต๊ะรูปเป็ดและเหรียญที่ระลึก ก่อนถูกควบคุมตัวไปที่ สน.หนองแขม และถูกแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” หรือมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

    เมื่อทนายความเดินทางไปถึง สน.หนองแขม ต้นไม้เปิดเผยกับทนายความว่า ระหว่างการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมไม่ได้แสดงหมายจับหรือแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้แสดงคำสั่งศาลที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ในการตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ แสดงเพียงหมายค้นของศาลอาญาตลิ่งชัน ทนายความจึงได้ทักท้วงประเด็นดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงคืนโทรศัพท์ให้ต้นไม้ และยึดเพียงปฏิทินตั้งโต๊ะจำนวน 174 อัน ไปเป็นของกลางเท่านั้น

    จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำบันทึกจับกุม และอ่านพฤติการณ์ รวมทั้งข้อกล่าวหาให้ต้นไม้ทราบดังนี้

    “ก่อนการจับกุมผู้ต้องหาในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตํารวจสันติบาล ได้ทําการสืบสวนติดตาม เพจเฟซบุ๊ก “คณะราษฎร” (URL : https://www.facebook.com/WEARETHEPEOPLE2563) ว่ามีการประกาศขายปฏิทินประจําปี 2564 ซึ่งมีข้อความ “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษ รวมทุกคําสอนของเรา” จึงได้ทําการสืบสวนติดตาม โดยสั่งซื้อสินค้า จํานวน 3 ครั้ง ในครั้งแรกได้ติดต่อเข้าไปซื้อทาง Inbox เพจดังกล่าว จํานวน 2 ชุด”

    “หลังจากนั้น ได้มีการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและตรวจสอบข้อความเนื้อหาในปฏิทินพบว่า มีเนื้อหาความผิดตามมาตรา 112 จากนั้นในครั้งที่ 2 จึงได้ติดต่อขอซื้อปฏิทินเพิ่มเติม โดยการขอนัดรับ ทางเพจดังกล่าวบอกว่าไม่มีแบบนัดรับ แต่สามารถส่งทางแมสเซนเจอร์ได้ จึงทําการสั่งซื้อเข้าไปอีกครั้ง จํานวน 4 ชุด และตรวจสอบพิกัดสถานที่ที่ส่งมาจนพบบ้านของผู้ต้องหา”

    “ต่อมา วันที่ 31 ธ.ค. 2563 ให้สายข่าวสั่งซื้อปฏิทินดังกล่าวอีกครั้งโดยให้จัดส่งแบบแมสเซนเจอร์เช่นเดิม และได้วางกําลังเฝ้าคอยตามพิกัดดังกล่าว ในเวลา 11.50 น. มีแมสเซนเจอร์ Grab เข้ามาจอดบริเวณดังกล่าว จากนั้นพบผู้ต้องหาเดินถือลังพัสดุออกมาจากบ้านฝั่งตรงข้ามพิกัดและส่งของให้พนักงาน Grab จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายค้น ซึ่งศาลอาญาตลิ่งชันได้อนุมัติหมายค้น 295/2563 ลงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ให้เข้าค้นบ้านหลังดังกล่าว จึงได้ประสานมายังเจ้าหน้าที่ตํารวจ สน.หนองแขม ร่วมกันเดินทางไปยังสถานที่ตรวจค้นในเวลา 17.30 น.”

    “เมื่อถึงสถานที่ตรวจค้นพบผู้ต้องหาที่บ้านหลังดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจ ได้แสดงและอ่านข้อความในหมายค้นให้ผู้ต้องหาฟัง ผลจากการตรวจค้นพบปฏิทินพระราชทานแบบตั้งโต๊ะจำนวน 174 อัน จึงนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางมาที่ สน.หนองแขม”

    “หลังจากได้ตรวจสอบข้อความในปฏิทินดังกล่าว พบว่ามีข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้จับกุมตัวผู้ต้องหาและควบคุมตัวพร้อมของกลางมาส่งพนักงานสอบสวน สน.หนองแขมเพื่อดำเนินคดีต่อไป”

    ทนายความผู้ต้องหาได้ทักท้วงว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์คดีดังกล่าว พนักงานสอบสวนไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ข้อความใดในปฏิทินที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 จึงขอให้ระบุให้ชัดเจนด้วย

    พ.ต.ท.วิชิต สวัสดีรอง ผกก.(สอบสวน) และ ร.ต.ท.พนัสพร ลิ่มพานิช รอง สว. (สอบสวน) พนักงานสอบสวนจึงระบุว่า มีภาพเป็ดพร้อมข้อความบนปฏิทินรวม 3 ภาพ ที่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 ดังนี้

    1. ภาพเป็ดใส่เครื่องแบบพร้อมเกราะกำบังและข้อความว่า “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษรวมทุกคำสอนของเรา” ซึ่งสามารถสื่อความหมายได้ว่าปฏิทินนี้เป็นปฏิทินที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน

    2. ภาพเป็ดสีเหลืองบนปฏิทินเดือนมกราคมพร้อมข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งเป็นข้อความที่รัชกาลที่ 10 เคยตรัสไว้กับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ ทั้งในรูปยังมีคำราชาศัพท์บนสุนัข 2 ตัวว่า “ทรงพระเจริญ”

    3. ภาพเป็ดสีเหลืองใส่แว่นบนปฏิทินเดือนกรกฎาคมพร้อมข้อความว่า “เหงื่อเราจะเทไปให้ต้นไม้ของพ่อยังงดงาม” โดยภาพดังกล่าวทำให้เห็นว่าสื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 9

    เวลา 04.15 น. พนักงานสอบสวนสอบคำให้การเสร็จสิ้น ต้นไม้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 28 ม.ค. 2564 ต้นไม้และทนายความได้เสนอวางเงินประกัน 300,000 บาท เพื่อขอยื่นประกันในชั้นพนักงานสอบสวน แต่ ผกก.สน.หนองแขม ไม่อนุญาต โดยระบุว่า ให้ไปยื่นประกันต่อศาลอาญาตลิ่งชันในชั้นฝากขัง โดยต้องรอส่งฝากขังเมื่อศาลเปิดทำการในวันที่ 2 ม.ค. 2564

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.หนองแขม ลงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24655)
  • หลังต้นไม้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.หนองแขม รวม 2 คืน พนักงานสอบสวน สน.หนองแขม ได้นำตัวต้นไม้ไปขออำนาจศาลในการฝากขัง โดยมีรายงานด้วยว่าในตอนแรกเจ้าหน้าที่ศาลอาญาตลิ่งชันไม่อนุญาตให้ญาติผู้ต้องหาเข้าฟังการพิจารณา โดยอ้างเรื่องมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนต่อมาจะอนุญาตให้ญาติและผู้สังเกตการณ์บางส่วนเข้าฟังได้

    พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาล โดยขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน และยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างว่าเกรงผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและเกรงว่าจะหลบหนี

    ทนายความได้คัดค้านการฝากขังผู้ต้องหา โดยระบุว่ากระบวนการจับกุมที่เกิดขึ้นในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และกรณีดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่การจับกุมจากการกระทำความผิดซึ่งหน้า ผู้ต้องหาย่อมไม่ถือว่าเป็นผู้ถูกจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ตำรวจจึงไม่มีอำนาจควบคุมตัวหรือขอฝากขัง อีกทั้งระหว่างถูกจับกุม ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วยดี ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนีแต่อย่างใด

    เวลา 12.00 น. ศาลได้ทำการไต่สวนคำร้องขอฝากขังของตำรวจ สน.หนองแขม เสร็จสิ้น

    ต่อมาเวลา 13.25 น. ศาลอาญาตลิ่งชันมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ เนื่องจากเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีร้ายแรง และผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน

    ทางทนายความจึงได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหา โดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล จากพรรคก้าวไกล เป็นนายประกัน

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา ให้ใช้ ตำแหน่ง ส.ส. แทนหลักทรัพย์ประกันตัว ในวงเงิน 300,000 บาท โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ ต้นไม้จึงได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังของศาลตลิ่งชันในเวลาประมาณ 15.00 น.

    (อัางอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญาตลิ่งชัน ลงวันที่ 2 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/24685)
  • ทนายความได้เข้ายื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารของต้นไม้ มีเนื้อความโดยสรุปว่า การกระทําของผู้ต้องหาไม่ถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากข้อความและรูปภาพในปฏิทินกล่าวถึงตัวละครที่สมมติขึ้นเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลใดในโลกชีวิตจริง ตัวละครดังกล่าวมีชื่อว่า “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” ซึ่งเป็นเป็ดยางสีเหลืองที่กลุ่มผู้ชุมนุมสมมติชื่อขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกําลังใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม เนื่องจากเป็ดยางคือสิ่งที่ผู้ชุมนุมได้ใช้ป้องกันตัวเองจากการสลายการชุมนุมโดยการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตํารวจในการชุมนุมที่สงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และถ้อยคําหรือข้อความที่ปรากฏในปฏิทินก็เป็นสิ่งที่วิญญชนพึงใช้ได้โดยทั่วไป ไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคําที่เป็นการเหยียดหยาม สบประมาท กระทําให้อับอาย ขู่ อาฆาต ใส่ความ หรือกล่าวพาดพิง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

    นอกจากนี้ การจับกุมผู้ต้องหาเป็นการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 77 หรือมาตรา 78 เนื่องจากไม่มีหมายจับของศาลมาแสดง อีกทั้งไม่มีการแจ้งสิทธิหรือข้อกล่าวหาใดให้แก่ผู้ต้องหาทราบขณะพาตัวมาที่สถานีตํารวจ และไม่ใช่การจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่ต้องมีหมายจับตามมาตรา 78 เนื่องจากไม่ปรากฏการกระทําอันเป็นความผิดซึ่งหน้า หรือเป็นความผิดอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีแต่อย่างใด เพราะปฏิทินซึ่งเป็นของกลางที่พนักงานสอบสวนใช้กล่าวหา ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    (อ้างอิง: คำให้การเพิ่มเติม สน.หนองแขม ลงวันที่ 28 ม.ค. 2564)
  • พิชญ (สงวนนามสกุล) เดินทางไปที่ สน. หนองแขม พร้อมทนายความ เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตามหมายเรียกข้อหา มาตรา 112 จากการขายปฏิทินเป็ดในเฟซบุ๊กเพจ “คณะราษฎร” โดยเป็นผู้ต้องหารายที่ 2 ในคดีนี้

    พนักงานสอบสวน สน.หนองแขม บรรยายพฤติการณ์เช่นเดียวกับที่แจ้งต้นไม้ แต่ระบุภาพปฏิทินที่อ้างว่า เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ เพิ่มเติมอีก 1 ภาพ คือปฏิทินเดือนธันวาคม 2564 เป็นการสื่อความหมายว่าพระมหากษัตริย์มิได้อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองแต่อยู่เหนือระบอบการปกครองและกระบวนการยุติธรรม เปรียบเสมือนยอดพีระมิดและเป็นการใช้สัญลักษณ์รูปสัตว์แทนพระมหากษัตริย์

    พนักงานสอบสวนระบุอีกว่า หลังการจับกุมต้นไม้ ตำรวจสันติบาลได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีพิชญ์ ในข้อหาร่วมกับต้นไม้กระทำผิดตามมาตรา 112 เนื่องมาจากเว็บเพจที่เข้าไปสั่งซื้อปฏิทิน ในขั้นตอนการชำระเงินมีชื่อพิชญ เป็นเจ้าของบัญชีแรก และ “ต้นไม้” เป็นเจ้าของบัญชีที่สอง รวมทั้งมีชื่อพิชญเป็นผู้จัดส่งสินค้าในครั้งแรก ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 เป็นชื่อต้นไม้ จึงคาดว่าทั้งคู่ร่วมกันกระทำผิด

    อย่างไรก็ดีหลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้วพิชญ ได้ให้การปฏิเสธ และขอให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 5 มี.ค. 2564 โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.หนองแขม ลงวันที่ 15 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25953)
  • ต้นไม้เดินทางเข้ารับทราบข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามหมายเรียก โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเช่นเดียวกับที่แจ้งพิชญ หลังรับทราบข้อกล่าวหาต้นไม้ไม่ลงชื่อในบักทึกการแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาเพิ่มเติม จากนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมไว้

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.หนองแขม ลงวันที่ 23 ก.พ. 2564)
  • พนักงานสอบสวน สน.หนองแขม นัดส่งตัวต้นไม้และพิชญพร้อมสำนวนคดีต่อพนักงานอัยการจังหวัดตลิ่งชัน ขณะที่ต้นไม้และพิชญได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมขอให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ด้วยเหตุผลว่า พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหานั้นไม่เข้าองค์ประกอบของความผิดมาตรา 112 เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายนี้ได้ระบุว่า การกระทำต้องแสดงถึงการใช้ถ้อยคำดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท และต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาหมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่ตามพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาไม่ปรากฎว่าผู้ต้องหามีเจตนาหมิ่นประมาทแต่อย่างใด

    นอกจากนี้ หนังสือร้องขอความเป็นธรรมยังระบุว่า ความผิดตามมาตรา 112 นั้นเป็นความผิดอาญาที่มีโทษสูง หากเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้กล่าวโทษตีความโดยอาศัยประสบการณ์ของตัวเอง โดยเกินขอบเขตของถ้อยคำและเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนด และไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของกฎหมาย ย่อมเป็นการใช้กฎหมายที่ขัดต่อหลักกฎหมายอาญา ซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัด จะตีความโดยเทียบเคียง หรือขยายความจนเกินกว่าตัวบทบัญญัติหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้

    อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 26 มี.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: หนังสือขอความเป็นธรรม ลงวันที่ 15 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34422)
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง นัดอีกครั้งวันที่ 27 เม.ย. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 2 มิ.ย. 2564 เวลา 09.30 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง กำหนดนัดฟังคำสั่งครั้งถัดไปวันที่ 7 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง กำหนดนัดฟังคำสั่งครั้งถัดไปวันที่ 10 ส.ค. 2564 เวลา 09.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง กำหนดนัดฟังคำสั่งครั้งถัดไปวันที่ 2 ก.ย. 2564 เวลา 09.30 น.
  • หลังเลื่อนนัดฟังคำสั่งมา 5 ครั้ง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 จึงได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ และยื่นฟ้องต้นไม้และพิชญต่อศาลอาญาตลิ่งชัน เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2564 ในฐานความผิด ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุว่า ทั้งสองร่วมกันจำหน่ายปฏิทินตั้งโต๊ะรูปเป็ดสีเหลือง ซึ่งมีภาพและข้อความที่เป็นการล้อเลียน หมิ่นประมาท และดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 โดยทั้งสองมีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์

    ทั้งนี้ พนักงานอัยการได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยมาในท้ายคำฟ้อง อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเกี่ยวข้องกับความมั่นคง พร้อมทั้งขอให้ศาลสั่งริบปฏิทินของกลางจำนวน 180 อันด้วย

    หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต้นไม้และพิชญในระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

    เวลา 15.30 น. จรีรัตน์ ตันติเวชกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชัน มีคำสั่งให้ประกันจำเลยทั้งสอง โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 210,000 บาท รวมเป็นจำนวน 420,000 บาท และไม่กำหนดเงื่อนไขประกันตัว คดีมีนัดพร้อมในวันที่ 14 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2564 ลงวันที่ 2 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34422)
  • ต้นไม้และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล แต่พิชญไม่ได้เดินทางมา อัยการแถลงว่าต้องการให้การพิจารณาคดีจำเลยทั้งสองดำเนินไปพร้อมกัน ศาลจึงให้นายประกันติดตามตัวพิชญมาในนัดหน้า โดยให้เลื่อนนัดพร้อมไปเป็นวันที่ 29 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ต้นไม้, ทนายจำเลย และนายประกันจําเลยที่ 2 (พิชญ) มาศาล นายประกันจําเลยที่ 2 แถลงว่า ยังไม่สามารถติดต่อจําเลยที่ 2 ได้ ศาลจึงให้จําหน่ายคดีในส่วนจําเลยที่ 2 ชั่วคราว หากได้ตัวจําเลยที่ 2 มาเมื่อใดให้ยกคดีขึ้นพิจารณาในส่วนจําเลยที่ 2 ต่อไป

    ศาลอ่านอธิบายฟ้องให้ต้นไม้ จำเลยที่ 1 ฟังอีกครั้ง ต้นไม้ยืนยันให้การปฏิเสธ โจทก์แถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคลรวม 18 ปาก ได้แก่ ชุดสืบสวน, พนักงานขับรถส่งปฏิทิน, มารดาของจําเลยและเป็นเจ้าของบ้านที่ตำรวจตรวจค้นพบปฏิทิน, นักวิชาการที่จะให้ความเห็น, เจ้าหน้าที่สํานักราชบัณฑิตผู้ตีความปฏิทิน, ชุดจับกุม และพนักงานสอบสวน โจทก์ขอใช้เวลาสืบ 4 นัดครึ่ง

    ทนายจําเลยแถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคลรวม 6 ปาก ได้แก่ จำเลยที่ 1, นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ซึ่งเคยให้การในชั้นสอบสวน, นักสิทธิมนุษย์ชน, ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา และผู้ให้ความเห็น ขอใช้เวลาสืบพยาน 1 นัดครึ่ง

    นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18-21 ต.ค. และ 2 พ.ย. 2565 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 2-3 พ.ย. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2564 ลงวันที่ 29 มี.ค. 2565)
  • ++ชุดสืบสวน ชี้ตัวจำเลยเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้จากการส่งสายลับล่อซื้อ

    พ.ต.ต.เจษฎา จันทศรี สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล มีหน้าที่สืบสวนติดตามจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองและผู้เห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และรับผิดชอบในคดีความอาญาทั่วไป พยานได้รับมอบหมายให้ติดตามกลุ่มคณะราษฎร จึงไปพบว่ามีการขายปฏิทินเป็ด ประจำปี 2564 บนเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มดังกล่าว และเชื่อว่าปฏิทินเป็ดไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำมาจำหน่ายได้

    พยานจึงส่งสายลับไปล่อซื้อในวันที่ 23 ธ.ค. 2563 โดยสั่งซื้อปฏิทินแขวน 2 ฉบับ และตั้งโต๊ะ 2 ฉบับ รวมค่าส่งเป็นจำนวนเงิน 747 บาท ซึ่งปฏิทินได้มาส่งให้สายลับในวันที่ 28 ธ.ค. 2563 จากนั้นปฏิทินก็มาถึงพยานในวันเดียวกัน จึงได้นำส่งผู้บังคับบัญชาตรวจสอบ ก่อนที่ผู้บังคับบัญชาจะลงความเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เนื่องจากในปฏิทินดังกล่าว มีภาพเป็ดเหลืองในปฏิทิน และบางภาพสื่อความหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และ 10

    พยานได้ดูภาพปฏิทินในเดือนที่มีการสั่งฟ้องจำเลย พยานมีความเห็นต่อภาพปฏิทินเดือนมกราคมว่า เป็นการหมิ่นประมาทในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากมีการใช้ถ้อยคำว่า ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ’ ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่กล่าวกับประชาชนที่ไปเข้ารับเสด็จ

    จากการตรวจสอบเรื่องผู้ส่งปฏิทิน ในวันที่ 23 ธ.ค. 2563 พยานทราบได้จากชื่อผู้ส่งบนกล่องพัสดุซึ่งคือจำเลยที่ 2 แต่ไม่ทราบว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งด้วยตนเองจริงหรือไม่ จึงให้สายลับไปล่อซื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 ธ.ค. 2563 โดยให้สายลับขอเจอกับผู้ส่งด้วยตนเอง แต่ว่าแอดมินปฏิเสธและได้ส่งปฏิทินให้ทางแกร๊บ

    พยานได้รับปฏิทินก่อนติดต่อไปที่บริษัทแกร๊บเพื่อขอที่อยู่ของผู้ส่ง จนได้รับทราบที่อยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นที่อยู่ของจำเลยที่ 2 หรือไม่ จึงให้สายลับทำการล่อซื้อครั้งที่ 3 แต่ยังไม่ทำการโอนเงิน เพราะพยานได้วางแผนให้ตำรวจไปซุ่มอยู่ที่บริเวณบ้านดังกล่าว โดยมีพยาน และ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ กับพวกรวม 4 คน ทำการซุ่มดูอยู่ในรถยนต์ ในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 เมื่อพยานกับพวกได้ซุ่มอยู่หน้าบ้านแล้ว ก็ได้โทรศัพท์ให้สายลับโอนเงินไปเพื่อที่จะได้เห็นว่าคนที่ออกมาจากบ้านหลังดังกล่าวเป็นจำเลยที่ 2 หรือไม่ แต่ปรากฏว่าคนที่ออกมาจากบ้านแล้วส่งสินค้าให้กับแกร๊บ คือจำเลยที่ 1 หรือ “นายต้นไม้”

    จากนั้นพยานได้ขอศาลออกหมายค้นบ้านของต้นไม้ และระบุว่า พยานมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเพียงเท่านี้ เนื่องจากในชั้นตรวจค้นเป็นหน้าที่ของตำรวจนายอื่น

    ต่อมา เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานยอมรับว่า จำเลยไม่ได้เป็นแกนนำของกลุ่มราษฎร และในเพจดังกล่าวก็ไม่ได้ขายเฉพาะปฏิทิน แต่มีสินค้าชนิดอื่นหลายประเภท โดยหากมีคนสั่งสินค้าจากเพจของคณะราษฎรก็จัดส่งให้ทางไปรษณีย์เท่านั้น

    นอกจากนี้ พยานทราบว่ามีการใช้เป็ดเหลืองมาเป็นโล่ในการป้องกันแก๊สน้ำตาจากการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ซึ่งทำให้นับจากนั้นเป็ดเหลืองก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มคณะราษฎรเรื่อยมา

    ส่วนคำว่า ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ’ พยานยอมรับตามที่ทนายถามว่าเป็นคำที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้พูดคุยกันได้ ส่วนคำว่า ‘พระราชทาน’ ที่อยู่บนหน้าปกปฏิทินเป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้ตั้งแต่ชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นไป และพยานก็ทราบว่าเป็ดเหลืองที่ประกอบปฏิทินดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเป็ดที่แสดงบทบาทของรัชกาลที่ 10 แต่เป็นเป็ดที่มีชื่อว่า “พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์ (เป็ดยาง)"

    ++ชุดสืบสวนผู้วางแผนการล่อซื้อปฏิทินเป็ดเหลือง

    ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ อังกนะ สารวัตรประจำกองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกับ พ.ต.ต.เจษฎา โดยพยานเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ดำเนินการวางแผนล่อซื้อปฏิทินดังกล่าว และในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 พยานก็ได้ไปซุ่มอยู่ที่บริเวณบ้านของจำเลยที่ 1 หรือต้นไม้ พร้อมกับ พ.ต.ต.เจษฎา และพวกรวม 4 คน

    เมื่อแน่ใจแล้วว่าปฏิทินถูกจำหน่ายมาจากบ้านของจำเลยที่ 1 จึงได้ทำการขอออกหมายค้น โดยพยานได้เข้าไปทำการตรวจค้นในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 จากการตรวจค้นบ้าน พยานได้พบต้นไม้และครอบครัวอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว และพบปฏิทินในกล่องกระดาษลังอีกจำนวน 174 ชิ้น ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับที่พยานให้สายลับไปล่อซื้อมา ก่อนจะนำตัวจำเลยที่ 1 และปฏิทินของกลางไปสอบสวนที่ สน.หนองแขม โดยพยานได้ลงชื่อเป็นหนึ่งในชุดจับกุมจำเลยด้วยตนเอง

    ทั้งนี้ อัยการโจทก์ได้ให้พยานดูภาพวิดีโอบางส่วน แต่ทนายจำเลยคัดค้านหลักฐานชิ้นนี้ เนื่องจากไม่ได้ถูกอ้างส่งมาในชั้นตรวจพยานหลักฐานตั้งแต่แรก

    จากนั้นทนายจำเลยได้ถามค้านพยานปากนี้ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ตอบว่า พยานทราบจากรายงานข่าวว่า กลุ่มคณะราษฎรมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และทราบว่าในเพจคณะราษฎรมีการขายสินค้าหลายรูปแบบไม่ได้มีเฉพาะปฏิทินเป็ดฉบับเดียว

    ทุกครั้งที่ให้สายลับล่อซื้อปฏิทิน พยานยอมรับว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ต้นไม้ พยานยังรับว่า ปฏิทินเป็ดเหลืองที่ทำการตรวจยึดได้จากบ้านของจำเลยที่ 1 นั้น ทุกอันปิดผนึกไว้ สามารถมองเห็นได้แค่เพียงหน้าปกปฏิทินเท่านั้น

    ++สารวัตรสืบสวน สน.หนองแขม ผู้ร่วมตรวจค้น-จับกุมจำเลยที่บ้านพักพร้อมปฏิทินเป็ดเหลือง ก่อนร้องทุกข์กล่าวโทษ

    พ.ต.ต.สุระเดช ก้านสัญชัย สารวัตรสืบสวน สน.หนองแขม มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด โดยร่วมเป็นหนึ่งในผู้จับกุมจำเลย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 พยานได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลว่ามีการสืบสวนเพจของคณะราษฎร และตำรวจได้มีการล่อซื้อปฏิทินที่มีข้อความว่า ‘ปฏิทินพระราชทาน’

    จากนั้นพยานได้ทำการออกตรวจค้นที่บ้านของต้นไม้ ตามหมายค้นของศาลที่ตำรวจสันติบาลได้รวบรวมหลักฐานแล้วไปขออนุญาตมา โดยพบว่าจำเลยพักอาศัยอยู่กับแม่ พบมีปฏิทินเป็ดอยู่กลางห้องโถงของบ้านในชั้นที่ 1 เป็นจำนวน 174 อัน แต่พยานไมไ่ด้ตรวจสอบว่ามีใบสั่งซื้อจากใครบ้าง เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของพยาน

    พ.ต.ต.สุระเดช อธิบายว่าบ้านของจำเลยมี 2 ชั้น และจำเลยได้ให้การยืนยันว่า ปฏิทินเป็ดเป็นของจำเลยจริง และจำเลยได้อธิบายว่าเป็นเพียงผู้จัดส่งสินค้าเท่านั้น ไม่ใช่ผู้จำหน่าย และเมื่อทำการตรวจค้นเสร็จ พยานได้นำตัวต้นไม้ไป สน.หนองแขม พร้อมกับปฏิทินเป็ด

    พยานให้ความเห็นต่อปฏิทินฉบับดังกล่าวว่า เป็นปฏิทินที่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากมีการล้อเลียนรัชกาลที่ 10 และไม่ใช่ปฏิทินที่ได้รับพระราชทานจริงๆ ตามที่กล่าวอ้างบนหน้าปกปฏิทิน

    พ.ต.ต.สุระเดช ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบว่า ในช่วงการชุมนุมปี 2563 ที่มีกลุ่มนักศึกษาได้ร่วมกับประชาชนเป็นกลุ่มคณะราษฎร โดยประกาศข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ประการ ได้แก่ รัฐบาลต้องลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ปฏิรูปให้สถาบันกษัตริย์ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

    เมื่อทนายจำเลยถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ที่ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรที่บริเวณหน้ารัฐสภา เนื่องจากในขณะนั้นสภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมวิสามัญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ซึ่งมีกลุ่มประชาชนที่ได้ใช้เป็ดยางสีเหลืองมาเพื่อเป็นเกราะป้องกันแก๊สน้ำตาด้วย พยานได้ตอบทนายว่า ทราบตามที่ปรากฏในหน้าข่าวต่างๆ

    ทนายถามต่อไปว่า หลังจากที่มีการใช้เป็ดเหลืองเข้ามาเป็นเกราะกันบังแก๊สน้ำตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มคณะราษฎรก็ได้ใช้ตุ๊กตาเป็ดเหลืองเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุม และตั้งชื่อให้ว่า “พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” พยานตอบว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เนื่องจากตนเองมีหน้าที่ตรวจค้นจับกุม ส่วนเรื่องการสืบสวนเป็นหน้าที่ของสันติบาล

    พ.ต.ต.สุระเดช รับกับทนายจำเลยว่า ที่พยานเบิกความว่าแม่ของจำเลยและตัวจำเลยได้ยอมรับว่าปฏิทินเป็ดเป็นของตนเองจริง ขณะพยานกับพวกเข้าไปตรวจค้นบ้าน แต่พยานไม่ได้ถ่ายคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน และพยานเคยให้การกับพนักงานสอบสวน โดยระบุว่าข้อความที่พยานมีความเห็นว่า หมิ่นประมาทตามมาตรา 112 คือภาพปฏิทินเดือนมกราคม กรกฏาคม และเมษายน

    ทนายจำเลยได้ถามกับพยานว่า ประโยค “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้สื่อสารทั่วไปได้ พยานตอบว่าใช้ได้ แต่ในปฏิทินเดือนมกราคม เป็นการสื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 10 ส่วนที่ทนายถามว่า ประโยค “รักคุณเท่าฟ้า” เป็นคำโฆษณาของบริษัทการบินไทย พยานได้ยอมรับตามที่ทนายถาม และพยานได้ยอมรับตามที่ทนายจำเลยถามว่า ในปฏิทินฉบับนี้ไม่มีหน้าใดเลยที่มีการเขียนพระนาม หรือตัวย่อที่สื่อถึงรัชกาลที่ 10

    ต่อมา พ.ต.ต.สุระเดช ตอบอัยการถามติงว่า ชั้นจับกุมที่พยานแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยตามมาตรา 112 เนื่องจากตรวจสอบภาพในปฏิทินเป็ด ซึ่งยึดได้เป็นของกลาง แล้วพบว่าเป็นความผิดฐานดังกล่าว โดยพยานยังไม่ได้จับกุมจำเลยทันที แต่ได้เชิญตัวมาสอบปากคำ ก่อนจะมีการจัดทำบันทึกจับกุมในภายหลัง

    ++เจ้าหน้าที่ Flash Express ผู้ทำการรับสินค้าคีย์ข้อมูลเข้าระบบ

    เปรมณพิชญ์ วิเศษประไพ ขณะที่เกิดเหตุเป็นพนักงานของบริษัท Flash Express ตำแหน่งเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ ประจำสาขา Victoria Garden

    พยานเบิกความอธิบายว่า บริการของบริษัทจะแบ่งประเภทลูกค้าเป็น 2 ประเภท คือ ลูกค้าทั่วไป กับสมาชิก แต่ในกรณีของจำเลยในคดีนี้เป็นลูกค้าที่เป็นสมาชิก และต้องมีการลงทะเบียนโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน เพื่อยืนยันตัวตน ป้องกันการขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย กับแจ้งความประสงค์ว่าจะใช้บริการใดบ้าง และการเป็นสมาชิกกับบริษัทแล้ว ลูกค้าไม่จำเป็นต้องนำของมาส่งด้วยตนเอง เพียงแค่แจ้งเลขสมาชิก จะเป็นใครมาหรือจ้างคนมาส่งสินค้าก็ย่อมได้ เพราะพนักงานจะตรวจสอบกับบัญชีสมาชิกเอง

    ช่วงเดือนธันวาคม 2563 พยานเป็นคนคีย์ข้อมูลในสาขาดังกล่าว และได้รับแจ้งจากเพื่อนพนักงานที่อยู่สาขาภาษีเจริญว่า มีลูกค้าต้องการขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมากถึง 900 ชิ้น จึงได้ติดต่อพยานมาเพื่อให้ช่วยคีย์ข้อมูลสินค้า เนื่องจากสาขาภาษีเจริญไม่สามารถทำได้ทันเวลา พยานจึงได้แบ่งยอดสินค้าดังกล่าวมาคีย์ข้อมูลเป็นจำนวนกว่า 400 ชิ้น

    เมื่อพยานสอบถามข้อมูลของลูกค้าเบื้องต้น พบว่าลูกค้าเป็นสมาชิกอยู่แล้วในระบบ โดยสินค้าที่ต้องการขนส่งมีน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม ส่วนผู้ส่งสินค้าดังกล่าว คือเพื่อนของจำเลยตามที่อัยการเปิดภาพและชื่อให้ดู ทั้งนี้ พยานได้เบิกความต่อว่า ตนเองไม่ได้เห็นพัสดุด้านในว่าเป็นสินค้าชนิดใด รับรู้เพียงว่ามีลักษณะเป็นซองพลาสติก ระบุชื่อ-นามสกุลของผู้ส่งและผู้รับเท่านั้น

    อัยการถามพยานต่อว่า เคยเห็นจำเลยในคดีนี้หรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่าไม่เคยพบกับจำเลยในคดีนี้มาก่อน

    ด้านทนายจำเลยถามพยานว่า การเป็นลูกค้าแบบสมาชิกของบริษัท ต้องทำสัญญาใดๆ หรือไม่ ซึ่งพยานอธิบายว่าในการสมัครสมาชิกกับบริษัทไม่ได้ทำสัญญาใดๆ โดยทนายได้ยื่นเอกสารสัญญาฉบับหนึ่งให้พยานดู และพยานได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาขอส่วนลดจากบริษัท ซึ่งเพื่อนของจำเลยที่เป็นสมาชิกได้ทำสัญญาฉบับนี้ด้วย

    เมื่อทนายจำเลยถามต่อพยานว่ารู้จักธุรกิจ Fullfillment ซึ่งเป็นการบริการให้เช่าคลังสินค้า พร้อมบริการจัดส่งหรือไม่ ซึ่งพยานก็ได้ตอบว่าตนเองรู้จักและเข้าใจว่าธุรกิจ Fullfillment คืออะไร

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54047)
  • ++นักวิชาการผู้ให้ความเห็นคนที่ 1 ระบุตีความรูปภาพตามทฤษฎีสัญวิทยา เห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10

    กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนในสาขากฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายสิทธิขั้นพื้นฐาน กฎหมายศาลปกครอง พยานมีประสบการณ์เขียนหนังสือเกี่ยวกับการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญและมาตรา 112 และเขียนบทความถึงการไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

    พยานกล่าวว่า ตนเองทราบถึงการเคลื่อนไหวในการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรและแนวร่วมฯ มีวัตถุประสงค์การเคลื่อนไหวที่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และกล่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการโจมตีสถาบันฯ ตลอดจนมีการเผยแพร่เรื่องราวความประพฤติของรัชกาลที่ 10 และเผยแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสมตามเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงตุ๊กตาเป็ดเหลือง ที่มีการแต่งกายการล้อเลียนเสียดสีรัชกาลที่ 10

    แต่ไม่เคยเห็นปฏิทินเป็ดมาก่อน จนกระทั่งพนักงานสอบสวนเรียกมาสอบคำให้การ จึงได้ทราบว่ามีการจำหน่ายปฏิทินดังกล่าวในเพจคณะราษฎร โดยจากการดูภาพปกของปฏิทิน พยานเห็นว่ามีตราสัญลักษณ์สามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มคณะราษฎร และมีข้อความบนปกว่า ‘ปฏิทินพระราชทานรุ่นพิเศษรวมทุกคำสอนของเรา’ ซึ่งพยานมีความเห็นว่า ภาพปกพร้อมข้อความเป็นการสื่อสารที่ล้อเลียนคำราชาศัพท์

    กิตติพงศ์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ปฏิทินพระราชทานมีการจัดทำขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 9 มาจนถึงรัชกาลที่ 10 ก็ยังจัดทำพระราชทานให้ประชาชนอยู่ โดยพยานได้หยิบตัวอย่างปฏิทินพระราชทานรัชกาลที่ 10 ออกมาให้ศาลดูเป็นตัวอย่างว่า หน้าปกปฏิทินพระราชทานของจริงจะเป็นสีเหลืองเท่านั้น ไม่มีสีอื่น จึงทำให้พยานเชื่อได้ว่า ปฏิทินเป็ดเหลืองเป็นปฏิทินพระราชทานของปลอม

    พยานให้ความเห็นถึงข้อความ ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ’ ในภาพปฏิทินเดือนมกราคมว่า เป็นการล้อเลียนคำพูดของรัชกาลที่ 10 ซึ่งมีต่อประชาชนที่ไปรับเสด็จ และให้ความเห็นถึงภาพการ์ตูนสุนัขสีขาวพร้อมข้อความ ‘ทรงพระเจริญ’ ว่า มีลักษณะคล้ายกับสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 10 ตลอดจนพยานเชื่อว่าเป็ดสีเหลืองที่ใส่สายสะพายมีเครื่องราชฯ ห้อยเหรียญที่มีข้อความว่า ‘OK 1’ ซึ่งพยานเข้าใจว่าหมายถึงบุคคลที่เป็นอันดับ 1 หรือประมุขของประเทศ ดังนั้นเมื่อดูภาพรวมของปฏิทินเดือนมกราคมแล้ว เป็ดสีเหลืองจึงเป็นการเปรียบเทียบถึงรัชกาลที่ 10

    แต่โดยภาพรวม กิตติพงศ์ให้ความเห็นว่าในเดือนมกราคมนี้ ยังไม่เป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 แต่เป็นเพียงการเสียดสีว่ารัชกาลที่ 10 ทรงแต่งยศให้กับสุนัขทรงเลี้ยงเท่านั้น ซึ่งทำให้คนทั่วไปมองได้ว่า มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทั้งๆ ที่ผู้รับราชการมาตั้งนานก็ยังไม่ได้ประดับยศ

    พยานให้ความเห็นต่อภาพปฏิทินเดือนมีนาคมว่า เป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เนื่องจากมีภาพเป็ดเหลือง ซึ่งพยานเชื่อว่าเป็นตัวแทนของรัชกาลที่ 10 อยู่บนซองถุงยางอนามัยที่ฉีกแล้ว และตัวเป็ดแต่งกายด้วยเสื้อครอปท็อป สวมแว่นตาดำ ซึ่งเป็นภาพที่มีการเผยแพร่ลงบนโลกอินเตอร์เน็ตว่า รัชกาลที่ 10 เคยแต่งกายเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีเป็ดอีก 2 ตัวที่พยานเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพระราชินีสุทิดา และเจ้าคุณพระฯ ที่พยานจำชื่อไม่ได้

    เมื่อวิเคราะห์จากจากปฏิทินเป็ดในเดือนดังกล่าว พยานเชื่อว่ามีการพยายามจะสื่อในลักษณะกล่าวหารัชกาลที่ 10 ว่าทรงเป็นคนที่มีพฤติกรรมในทางเพศที่ไม่เหมาะสม มีภรรยาหลายคน และการใช้ภาพประกอบถุงยางร่วมด้วยเป็นการสื่อว่าชอบมีเพศสัมพันธ์หรือสำส่อนทางเพศ

    ดังนั้น ภาพปฏิทินในเดือนมีนาคม จึงเป็นภาพที่มีลักษณะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากภาพดังกล่าวทำให้ประชาชนเสื่อมเสียความเคารพศรัทธาในพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10

    ต่อมา กิตติพงศ์ได้ให้ความเห็นต่อภาพปฏิทินเดือนพฤษภาคมระบุว่า พยานดูภาพดังกล่าวพบว่า เป็นภาพเป็ดสวมชุดลายพราง และมีข้อความภาษาอังกฤษว่า ‘Army’ ซึ่งหมายถึงทหาร และข้อความว่า ‘IO’ พยานเชื่อว่ามีความหมายมาจาก Information Operation ซึ่งมีความหมายว่าการใช้ข้อมูลเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความนิยม

    เมื่อพยานได้ตรวจดูภาพแล้ว มีความเห็นเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ใช้ทหารในการเผยแพร่ข่าวสารสร้างความนิยมให้แก่ประชาชน และยังมีข้อความปรากฏว่า ‘ไอโอนะ ยูโอไหม’ ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายถึงประชาชนยอมรับได้ไหมเกี่ยวกับการที่มีการสร้างค่านิยมปลูกฝังให้ทำความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์

    ทั้งนี้ กิตติพงศ์ลงความเห็นว่า ภาพในปฏิทินดังกล่าวยังไม่เข้าข่ายดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เป็นเพียงการเสียดสีสถาบันฯ เท่านั้น

    ส่วนภาพปฏิทินเดือนตุลาคม กิตติพงศ์มีความเห็นว่า เข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 เนื่องจากพยานเข้าใจได้ว่าเป็นภาพที่มีการกล่าวหาว่ารัชกาลที่ 10 ทรงใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และไม่ปฏิบัติตามพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงของกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเคยตรัสเอาไว้

    กิตติพงศ์สรุปความเห็นตนเองต่อปฏิทินเป็ดเหลืองว่า ในปฏิทินหน้าสุดท้ายที่มีข้อความว่า ‘จนตรอกจนต้องใช้ ม.112’ สามารถสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ได้ว่าพระองค์ทรงใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลั่นแกล้งประชาชน ซึ่งพยานคิดว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากมาตรา 112 เป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยชอบแล้ว

    อีกทั้งการจำหน่ายปฏิทินเป็ดเหลืองบนเพจคณะราษฎร พยานเห็นว่าเป็นการเผยแพร่ปฏิทินที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท รัชกาลที่ 10 จึงเป็นความผิดตามมาตรา 112

    ต่อมา กิตตพงศ์ตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ตนเองไม่ได้สอนวิชากฎหมายอาญา แต่มีประวัติการเข้าเป็นพยานโจทก์เบิกความเอาผิดกับผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มาแล้วกว่า 30 คดี

    พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นแกนนำกลุ่มคณะราษฎรหรือไม่ แต่ทราบจุดประสงค์ของกลุ่มว่าเป็นการรวมตัวกันของเยาวชนและนักศึกษามีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ประการ คือ นายกรัฐมนตรีลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันฯ พยานเข้าใจว่าข้อ 1-2 เป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาล ส่วนข้อสุดท้ายเรื่องปฏิรูปเป็นการเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์โดยตรง

    กิตติพงศ์รับว่า ทราบว่ามีการชุมนุมในวันที่ 17 – 18 พ.ย. 2563 และทราบว่ามีการใช้เป็ดยางสีเหลืองมาเป็นเกราะป้องกันการสลายชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. และทราบว่าผู้ชุมนุมได้ตั้งชื่อเป็ดเหลืองว่า ‘กรมบรมวงศ์เธอกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์’

    แต่พยานไม่ยอมรับตามที่ทนายถามค้านว่าเป็ดเหลืองดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุม ต้องเป็นเป็ดเหลืองที่ไม่ได้แต่งตัวเท่านั้นถึงจะเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุม และพยานยอมรับว่าทุกครั้งที่การชุมนุมในช่วงปี 2563 จะมีการนำเป็ดเหลืองมาจำหน่ายให้แก่ผู้ชุมนุม

    ทนายถามว่า ในปฏิทินที่จำหน่ายทั่วไป มีการนำถ้อยคำต่างๆ ที่มีความนิยมมาใส่ไว้บนหน้าปฏิทิน ซึ่งพยานได้ยอมรับว่า ใช่

    นอกจากนี้ กิตติพงศ์ได้ยอมรับว่าปฏิทินเป็ดเหลือง ไม่ได้มีตราสัญลักษณ์ วปร. ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 10 จึงสรุปได้ว่าปฏิทินเป็ดดังกล่าวไม่ได้เป็นปฏิทินพระราชทานของปลอม อีกทั้งคำว่าพระราชทาน ก็เป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้ตั้งแต่ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป ซึ่งรวมถึงกษัตริย์ และรูปเป็ดที่มีการแต่งกายด้วยชุดตำรวจที่หน้าปกปฏิทินก็คือเจ้าหน้าที่ คฝ. ไม่ได้มีความหมายถึงกษัตริย์

    กิตติพงศ์ยอมรับว่า ข้อความ ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ’ เป็นคำที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สื่อสารกันได้ ส่วนปฏิทินในเดือนมกราคม ที่มีเป็ดคาดสายสะพายสีแดง แต่ในความเป็นจริงกษัตริย์ไม่ได้คาดสายสะพายแดง

    พยานอธิบายว่ารัชกาลที่ 10 เคยใส่สายสะพายแดง แต่พยานจำไม่ได้ว่าบุคคลที่จะใส่สายสะพายดังกล่าวต้องได้รับชั้นยศอะไร

    คำว่า ‘ทรงพระเจริญ’ เป็นถ้อยคำที่ประชาชนใช้สรรเสริญต่อสถาบันกษัตริย์ และยอมรับว่าในละครทีวีก็มีการใช้คำดังกล่าวด้วย แต่พยานไม่รู้ว่า ‘OK 1’ เป็นคำพูดของใคร นอกจากนี้พยานอธิบายว่า ปกติกษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งยศทหาร แต่ไม่ทราบว่ากฎหมายใดรับรองไว้

    ทนายถามพยานต่อว่า ภาพเป็ดสีเหลืองที่มีถุงยางครอบอยู่บนหัวมีความหมายถึงใคร พยานตอบว่า ไม่ทราบ แต่ทราบว่าในทางการแพทย์ถุงยางใช้ป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์

    นอกจากนี้ กิตติพงศ์ยังได้ยอมรับกับทนายว่า ในสังคมไทย บางครอบครัวก็มีการอยู่ร่วมกันของสามีภรรยามากกว่า 1 คน และที่พยานบอกว่าเป็ดเหลืองในหน้าปฏิทินเดือนมีนาคมมีการแต่งกายคล้ายรัชกาลที่ 10 พยานก็ไม่ได้ส่งหลักฐานภาพว่ามีลักษณะคล้ายอย่างไรต่อพนักงานสอบสวนในคดีนี้ รวมทั้งพยานตอบว่าไม่ทราบว่า ข้อความ ‘ทรงนำเศรษฐกิจพอเพียงหล่อเลี้ยงชีวา’ เป็นถ้อยคำในเนื้อเพลงที่แต่งถวายรัชกาลที่ 9

    ส่วนข้อความว่า ‘พ่อบอกให้ทุกคนพอเพียง’ เป็นถ้อยคำทั่วไป ไม่รู้ว่ามีต้นฉบับมาจากที่ใด โดยกิตติพงศ์ได้อธิบายว่า การตีความปฏิทินฉบับนี้ เป็นการตีความตามทฤษฎีสัญวิทยา ซึ่งตีความจากสิ่งของ ภาพ และข้อความเพื่อสื่อความหมาย พยานจึงเชื่อได้ว่าปฏิทินเป็ดเหลืองฉบับนี้ เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ชุมนุมและบุคคลที่มีความคิดเห็นคล้ายกับกลุ่มคณะราษฎร

    แต่พยานยืนยันกับทนายว่า ปฏิทินฉบับนี้มีหลายความหมายขึ้นอยู่กับชุดของเป็ดและการตกแต่งภาพ นอกจากนี้การตีความตามทฤษฎีดังกล่าว พยานยอมรับว่าบุคคลอื่นก็สามารถตีความแตกต่างจากพยานได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเข้าใจหรือเห็นว่ามีความหมายตามที่พยานได้ตีความไป

    ทั้งนี้ พยานเบิกความตอบอัยการถามติงว่า เหตุที่มาให้การในฐานะพยานโจทก์ เนื่องจากเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งพยานก็เป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

    ส่วนการตีความตามทฤษฎีสัญวิทยา อาจจะมีการตีความไม่เหมือนกัน แต่การตีความของพยาน ได้ใช้ข่าวลือจากกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ดังนั้นการตีความของพยานเป็นการตีความที่สื่อความหมายให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้

    ++นักวิชาการรัฐศาสตร์ให้ความเห็นคนที่ 2 ชี้ดูภาพรวมของปฏิทินแล้ว ทำให้เห็นได้ว่ารัชกาลที่ 10 ใช้ภาษีของประชาชน เพื่อตอบสนองความสุขส่วนตัวในทางกามารมณ์

    ไชยันต์ ไชยพร ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาปรัชญาทางการเมือง วิชาประชาธิปไตยเปรียบเทียบ และวิชาสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองสมัยใหม่

    นอกจากนี้พยานยังเขียนหนังสือชื่อ ประเพณีการปกครองประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หนังสือว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่การปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก และหนังสือเรื่องความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง

    เกี่ยวกับคดีนี้ ไชยันต์เบิกความว่า ตนเองติดตามกลุ่มคณะราษฎรผ่านสื่อต่างๆ ช่วงประมาณหลังจากวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีแกนนำนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้นำเสนอข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ หลังจากนั้นวันที่ 12 ส.ค. ปีเดียวกัน พยานได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อประชาไท ว่าการเรียกร้องทั้ง 10 ข้อดังกล่าว เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงกระทำได้

    ต่อมา พนักงานสอบสวนได้เรียกพยานไปให้การในฐานะพยานเกี่ยวกับปฏิทินเป็ด อัยการได้ให้พยานดูภาพปกปฏิทิน พยานดูแล้วตอบว่า ภาพปกปฏิทินดังกล่าว มีข้อความว่า “ปฏิทินพระราชทาน” ทำให้เข้าใจว่า ปฏิทินดังกล่าวได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบต้องไปตรวจสอบว่าปฏิทินดังกล่าวได้รับพระราชทานจริงหรือไม่

    นอกจากนี้ยังมีถ้อยคำว่า “รุ่นพิเศษรวมทุกคำสอนของเรา” เมื่อเชื่อมโยงกับคำว่าปฏิทินพระราชทานทำให้พยาน เข้าใจว่าปฏิทินดังกล่าวรวมคำสอนของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์

    อัยการให้ไชยันต์ดูปฏิทินเดือนมกราคม พยานพบว่า รูปเป็ดประดับสายสะพายมีความข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 10 ที่กล่าวต่อประชาชนที่มาเข้าเฝ้า และยังมีรูปสุนัขต่างๆ พร้อมข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” อยู่บนตัวสุนัข ทำให้พยานเข้าใจว่า รูปเป็ดสีเหลืองหมายถึงรัชกาลที่ 10 และรูปสุนัขคล้ายสุนัขทรงเลี้ยงชื่อ “ฟูฟู”

    เมื่อพยานดูภาพและข้อความโดยรวมในภาพปฏิทินเดือนมกราคมแล้วเห็นว่า มีความหมายสื่อเป็นการล้อเลียนพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทำให้เกิดความรู้สึกตลกขบขัน แต่ภาพดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112

    อัยการให้พยานดูปฏิทินเดือนมีนาคม พยานดูแล้ว เป็นภาพเป็ดสีเหลืองตัวใหญ่ ซึ่งมีถุงยางอนามัยยังไม่ได้ใช้ครอบอยู่บนศีรษะ เมื่อเปรียบเทียบเป็ดในเดือนมกราคม สื่อให้เห็นว่าเป็ดในเดือนมีนาคม ที่มีถุงยางอนามัยอยู่บนหัวนั้น คือรัชกาลที่ 10 พยานอธิบายเพิ่มเติมว่า ปฏิทินในเดือนมีนาคมยังมีภาพซองถุงอนามัยที่มีรูปเป็ด และมีการฉีกถุงยางโดยมีถุงยางโผล่ออกมาบางส่วน ซึ่งหากมองถุงยางอนามัยที่อยู่บนหัวเป็ดตามที่เบิกความข้างต้นจะเหมือนจุกยางของขวดนม

    แต่เมื่อเปรียบเทียบกับถุงอนามัยที่โพล่ออกมาจากซองถุงยางซึ่งถูกฉีกแล้วเป็นชนิดเดียวกัน จึงทำให้เห็นว่าสิ่งที่อยู่บนหัวเป็ดดังกล่าวเป็นถุงยางอนามัย และการที่เป็ดซึ่งหมายถึงรัชกาลที่ 10 มีถุงยางอนามัยอยู่บนศีรษะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้ที่หมกมุ่นในกาม หรือมองว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้รณรงค์ในการใช้ถุงยางอนามัยก็ได้

    แต่จากประสบการณ์การทำงานและติดตามข่าวและสื่อต่างๆ ของพยาน ไม่พบว่ารัชกาลที่ 10 มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย จึงเหลือความหมายเดียวของปฏิทินเดือนมีนาคมว่า เป็นผู้หมกมุ่นในกาม ถือเป็นการล้อเลียนและดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 อันเป็นความผิดตามมาตรา 112

    พยานอธิบายเปรียบเทียบกับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ แม้มีรูปประชาชนทั่วไปที่มีถุงยางอนามัยสวมอยู่บนศีรษะ หากไม่ได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยแล้ว ก็เป็นความผิดฐานดูหมิ่นประชาชนผู้นั้น เพราะทำให้เห็นว่าประชาชนผู้นั้นหมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์

    ต่อมา อัยการโจทก์ให้พยานดูปฏิทินเดือนเมษายน มีข้อความว่า “รักคุณเท่าฟ้า” ไชยันต์เบิกความว่า ทำให้เข้าใจว่าน่าจะสื่อถึงบริษัทการบินไทย ส่วนรูปเป็ดขับเครื่องบินนั้น พยานเห็นว่าน่าจะสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ทรงขับเครื่องบิน ส่วนข้อความภาษาอังกฤษ “SUPER VIP” ซึ่งอยู่บนเครื่องบิน และพยานไม่เคยได้ยินว่ามีที่นั่ง SUPER VIP ดังนั้นภาพข้อความ SUPER VIP ประกอบกับภาพเป็ดสื่อถึงความมีอภิสิทธิ์หรือความสำคัญมากกว่าประชาชนที่ได้รับสิทธิวีไอพี และภาพเป็ดซึ่งสื่อถึงรัชกาลที่ 10 มีรูปหัวใจ หมายถึงทรงมีความรัก

    ทั้งมีภาพเป็ด 2 ตัว ข้ามทางม้าลาย เป็ดที่สวมหมวกและผ้าพันคอสีม่วง ยังมีแถบบริเวณหน้าอกสีม่วงและลากกระเป๋าเดินทางสีม่วง ทำให้เข้าใจได้ว่า เป็ดดังกล่าวเป็นพนักงานต้อนรับของการบินไทย ทำให้สื่อความหมายว่าเป็ดดังกล่าวหมายถึงสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 10

    ส่วนเป็ดที่สวมหมวกสีดำ ทำให้เข้าใจว่าเป็นภาพเจ้าคุณพระ แต่จำชื่อเต็มไม่ได้ ซึ่งเป็นภรรยาของรัชกาลที่ 10 อีกองค์หนึ่ง ทรงขับเครื่องบินและมีความรักโดยเชื่อมโยงกับพนักงานต้อนรับบนเครื่อง ซึ่งเป็นที่มาของพระราชินีในรัชกาลที่ 10 และที่มาของเจ้าคุณพระ

    เมื่อตรวจดูภาพและข้อความในเดือนเมษายนเชื่อมโยงกับภาพและข้อความในเดือนมีนาคม ทำให้เข้าใจได้ว่าซองถุงยางอนามัยที่มีภาพเป็ด 2 ตัว สื่อความหมายถึงเป็ดที่สวมหมวกสีม่วงคือพระราชินี ส่วนเป็ดหมวกสีดำคือเจ้าคุณพระ แต่เมื่อดูโดยรวมเฉพาะภาพและข้อความในเดือนเมษายนแล้ว ไม่เป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10

    ไชยันต์เบิกความให้ความเห็นต่อภาพปฏิทินเดือนพฤษภาคมว่า มีภาพเป็ดสวมชุดลายพราง ซึ่งสื่อถึงทหารถือไม้กำกับในวงออร์เคสตรา ซึ่งเป็ดที่อยู่ตัวบนสุดและสวมชุดลายพรางถือไม้กำกับดนตรีนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับปฏิทินเดือนที่ผ่านมาข้างต้นที่อธิบายไปแล้ว มีรูปเป็ดลักษณะเหมือนกัน ทำให้เข้าใจว่าเป็ดดังกล่าวนั้น หมายถึงรัชกาลที่ 10 ทรงสวมชุดทหาร

    นอกจากนี้ยังมีความว่า “ไอโอนะ ยูโอไหม” ซึ่งคำว่าไอโอนั้น มีความหมายถึงการปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้เป็ดที่สวมชุดทหารนั้น ยังอยู่บนเครื่องที่มีสายพาน และมีข้อความประกอบว่า “How to Use” ซึ่งแปลได้ว่าใช้อย่างไร และมีข้อความอื่นอีกว่า “Army 10” ซึ่งสื่อความหมายได้ว่ากองทัพของรัชกาลที่ 10

    เมื่อดูองค์ประกอบโดยรวมแล้ว จะพบว่าภาพนี้สื่อความหมายได้ว่า เป็ดของรัชกาลที่ 10 มีการผ่านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารแล้วก็ได้ และภาพดังกล่าวสื่อได้ว่ารัชกาลที่ 10 มีอิทธิพลโดยตรงกับการควบคุมกองทัพ และอยู่เหนือกองทัพ มีการเปลี่ยนแปลงทหารตามที่ต้องการ

    ข้อความโดยรวมในภาพเดือนพฤษภาคม ทำให้เห็นว่าตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2475 ได้มีรัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ภาพนี้ กำลังสื่อว่ารัชกาลที่ 10 ไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และใช้อำนาจแทรกแซงกิจการต่างๆ ภายในประเทศ และควบคุมกองทัพทหารได้

    พยานได้ดูภาพปฏิทินเดือนตุลาคแล้วเบิกความต่อไปว่า ภาพเป็ดสื่อถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากมีกล่องคำพูดว่า “พ่อบอกว่าให้ทุกคนพอเพียง” และทรงพูดว่า “ทรงนำเศรษฐกิจพอเพียงหล่อเลี้ยงชีวา” นอกจากนี้เป็ดเหลืองยังสวมใส่เหรียญที่คอว่า “NO.10” ยิ่งทำให้เห็นว่าสื่อว่าเป็ดตัวนั้นเป็นรัชกาลที่ 10

    และในภาพนี้ยังมีข้อความว่า “For dad” สื่อถึงความหมายกิจกรรมปั่นจักรยานของรัชกาลที่ 10 พยานเห็นว่าเมื่อดูภาพรวมแล้วมีการหมิ่นประมาทในหลวงรัชกาลที่ 10 หมายถึงว่ารัชกาลที่ 10 ไม่ได้ทำตามคำพูดของพ่อหรือรัชกาลที่ 9 ที่บอกให้พอเพียง

    พยานอธิบายว่า เมื่อดูภาพรวมทั้งหมดของทุกเดือนตามโจทก์ฟ้อง ทำให้เห็นได้ว่ารัชกาลที่ 10 ใช้ภาษีของประชาชน เพื่อตอบสนองความสุขส่วนตัวในทางกามารมณ์ มีการควบคุมระบบราชการทหาร อยู่เหนืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

    เมื่อทนายจำเลยถามค้าน ไชยันต์รับว่า เกี่ยวกับคดีความมาตรา 112 พยานได้มาเบิกความเป็นครั้งแรก และยอมรับว่า เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวมติชน ที่เผยแพร่เมื่อปี 2554 ว่าพยานเห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เนื่องจากพยานเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ สามารถทำได้ด้วยข้อมูลที่อยู่บนเหตุผล และมีข้อมูลสนับสนุนว่า ไม่ควรใช้มาตรา 112 มาปิดปากประชาชน แต่ทั้งนี้ต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน

    ทนายถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่า กลุ่มคณะราษฎรมีจุดประสงค์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร ซึ่งพยานได้ตอบว่า ทราบถึงการเป็นปฏิปักษ์กับคณะรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร

    พยานเห็นด้วยตามที่ทนายถามว่าเป็ดยางสีเหลืองสามารถนำมาใช้ได้ทั่วไป เช่น การวางเป็ดในอ่างอาบน้ำให้เด็กได้เล่น และเมื่อได้ดูภาพปกปฏิทินอีกครั้งจากทนายจำเลย พยานก็ได้ยอมรับว่าเป็ดหลายตัวในหน้าดังกล่าว มีการสวมบทบาทของกลุ่มตำรวจ คฝ.

    ทั้งนี้ ไชยันต์ ยอมรับว่าเป็ดหลายตัวในปฏิทินฉบับนี้ มีหลายภาพที่เป็ดสวมบทบาทแตกต่างกัน และในปฏิทินเดือนเมษายน คำว่า “VIP” ก็มีความหมายเพียงแค่ว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุด และเห็นด้วยตามที่ทนายจำเลยถามค้านว่า หากมองแค่ภาพและข้อความในเดือนเมษายนตามปฏิทิน ไม่สามารถสื่อความหมายได้ ต้องดูภาพประกอบกับเดือนมีนาคมด้วย

    ส่วนความเห็นของพยานในเรื่องระบบการปกครอง พยานเบิกความว่า การปกครองโดยมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อประชาชนได้เห็นภาพในปฏิทิน จะทำให้ประชาชนเคลือบแคลงและรังเกียจกษัตริย์ได้

    ทั้งนี้พยานเคยให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนแค่ภาพปฏิทินหน้าปก, เดือนกุมภาพันธ์, เมษายน และธันวาคมเท่านั้น โดยไม่ทราบที่มาของการพิมพ์ปฏิทินเป็ดฉบับนี้

    จากนั้นอัยการโจทก์ถามติงว่า ที่พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เป็ดเหลืองสามารถนำมาใช้ได้ทั่วไปนั้น ต้องไม่ใช่เป็ดที่อยู่ในปฏิทินฉบับนี้ ใช่หรือไม่ พยานได้ตอบอัยการว่า ใช่ เนื่องจากปฏิทินได้ปรากฏภาพเป็ดสวมสายสะพาย มีการใช้คำราชาศัพท์ และมีภาพสุนัขของรัชกาลที่ 10 ทำให้ภาพเป็ดบนปฏิทินนี้หมายถึงพระมหากษัตริย์

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54047)
  • ++พยานความเห็นคนที่ 3 อดีตรองผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง ชี้ภาพรวมปฏิทินด้อยค่า และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในตัวกษัตริย์

    นันทเดช เมฆสวัสดิ์ รับราชการเป็นทหารตั้งแต่ปี 2514 จนถึง 2557 ก่อนเกษียณอายุในตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ และยังได้รับหน้าที่ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลทหาร และตำแหน่งราชองครักษ์เวร ตลอดจนประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในวุฒิสภา

    ในฐานะที่ทำงานเรื่องข่าวกรองแห่งชาติ พยานต้องคอยติดตามข่าวสารต่างๆ รวมถึงพยานเองก็ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎร เมื่อปี 2563 และพบว่ามีการเคลื่อนไหวที่พาดพิงสถาบันกษัตริย์ จำนวนหลายครั้ง ตลอดจน พยานทราบว่ามีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าว

    จากการรณรงค์ทำกิจกรรมให้ยกเลิกมาตรา 112 พบว่ามีการแต่งกายเลียนแบบพระราชินีในรัชกาลที่ 10 และแต่งกายเลียนแบบรัชกาลที่ 10 โดยใส่เสื้อยืดรัดรูป ไม่มีแขน เอวลอย ซึ่งพยานเคยเห็นตามโซเชียลว่า รัชกาลที่ 10 ทรงเคยแต่งกายในลักษณะดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่าเป็นภาพจริงหรือไม่

    พยานทราบตามที่อัยการโจทก์ถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร ได้มีการนำเป็ดเหลืองมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว และทราบว่าเป็ดเหลืองมีการใช้กันทั่วโลก พยานให้ความเห็นว่าเป็ดดังกล่าวใช้ในการสื่อสารที่มีความสดชื่นเป็นส่วนใหญ่

    นอกจากนี้ พยานทราบว่ากลุ่มคณะราษฎรมีการประกาศขายปฏิทินดังกล่าวทางสื่อออนไลน์ให้กับบุคคลทั่วไป โดยพยานได้ให้ความเห็นต่อหน้าปกปฏิทินว่า ถ้าประชาชนได้เห็นก็อาจเข้าใจได้ว่าเป็นปฏิทินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

    นันทเดชดูภาพปฏิทินเดือนมกราคมแล้วเบิกความว่า เป็นภาพเป็ดเหลืองมีสายสะพาย และมีรูปสุนัขหลายตัว หนึ่งในนั้นมีสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 10 ชื่อว่า ‘ฟูฟู’ เป็นสุนัขสีขาว มีข้อความบนภาพว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” เป็นพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 10 ซึ่งมีต่อประชาชนที่ไปเข้าเฝ้า สามารถทราบได้โดยทั่วกันจากสื่อต่างๆ

    พยานให้ความเห็นว่า ภาพดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการสื่อให้เห็นว่า รัชกาลที่ 10 ด้อยค่า ดูถูกประชาชนว่าต่ำกว่าสุนัขทรงเลี้ยง ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความขบขัน ไม่เคารพต่อสถาบันกษัตริย์ได้

    ส่วนภาพปฏิทินเดือนมีนาคม พยานให้ความเห็นว่า เป็ดที่สวมหมวกสีม่วง ผ้าพันคอสีม่วง บนซองถุงยางอนามัย สื่อถึงพระราชินีสุทิดา เนื่องจากแต่งกายคล้ายพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งพระราชินีเคยทำงานตำแหน่งดังกล่าวมาก่อน

    เมื่อดูปฏิทินเดือนนี้โดยรวมแล้ว นันทเดชได้เบิกความต่อศาลว่า มีการสื่อถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ว่า เป็นคนเจ้าชู้ ไม่น่าเคารพและมักมากในกาม ซึ่งเข้าข่ายการดูหมิ่นตามมาตรา 112 เช่นเดียวกัน

    นันทเดชดูภาพปฏิทินเดือนเมษายนแล้วเบิกความว่า มีข้อความว่า “รักคุณเท่าฟ้า” ซึ่งสื่อถึงการประชาสัมพันธ์ของบริษัทการบินไทย มีภาพเป็ดเหลืองใส่แว่นตาดำที่สื่อถึงรัชกาลที่ 10 กำลังขับเครื่องบิน ส่วนเป็ดที่สวมหมวกสีม่วง ผ้าพันคอสีม่วง สื่อถึงพระราชินีสุทิดา และเป็ดที่สวมหมวกดำ พยานไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นผู้ใด

    พยานลงความเห็นว่า จำเลยต้องการสื่อให้เห็นถึงความขบขันของรัชกาลที่ 10 กับพระราชินีสุทิดาว่า กษัตริย์ทรงนำพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมาเป็นภรรยา แต่หากดูเพียงภาพนี้ภาพเดียว พยานไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 อย่างไร ซึ่งต้องดูภาพรวมทุกเดือนแล้วมาตีความถึงจะมีความชัดเจน

    นันทเดชให้ความเห็นต่อภาพปฏิทินเดือนพฤษภาคมว่า ข้อความ “ไอโอนะ ยูโอไหม” มีคำว่า “โอ” เป็นชื่อที่ประชาชนทั่วไปทราบว่าเป็นการย่อชื่อ “พระบรมโอรสาธิราชฯ” ซึ่งเป็นพระนามเดิมของรัชกาลที่ 10 และยังเป็นที่มาของฉายาว่า “เสี่ยโอ”

    นอกจากนี้ ในภาพยังปรากฏข้อความว่า “Army 10” ซึ่งสื่อความหมายได้ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีกองทัพทหาร โดยภาพเป็ดที่สวมชุดลายพลางและถือไม้ก็สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ได้ แต่ในความเห็นของพยาน ยังไม่ถือว่าภาพนี้เป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ส่วนภาพปฏิทินเดือนตุลาคม พยานเห็นว่า ภาพเป็ดและข้อความ “พ่อบอกว่าให้ทุกคนพอเพียง” สื่อถึงรัชกาลที่ 10 และยังมีข้อความว่า “Fordad” สื่อถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสวรรคตในเดือนนี้

    เมื่อดูโดยภาพรวมแล้ว พยานให้ความเห็นว่า เป็นการนำรัชกาลที่ 10 มาล้อเลียน แต่ในความเห็นของพยาน ภาพดังกล่าวยังไม่เป็นการหมิ่นรัชกาลที่ 10 เนื่องจากต้องดูภาพรวมของทุกเดือน ถึงจะทราบได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112

    นอกจากนี้ นันทเดชยังได้อธิบายต่อไปว่า การที่บุคคลนำปฏิทินมาจำหน่าย ต้องดูเจตนาว่าทราบหรือไม่ว่ามีการทำผิดกฎหมายมาตรา 112 หากไม่ทราบก็ย่อมไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่การที่มีโพสต์จำหน่ายสินค้าในสื่อออนไลน์ของกลุ่มคณะราษฎร จำเลยต้องรู้จักกับสมาชิกกลุ่มดังกล่าว และย่อมรู้ว่าการจำหน่ายปฏิทินเป็ดจะมีผลกระทบที่สร้างความเสื่อมเสีย และด้อยค่าต่อรัชกาลที่ 10

    ต่อมา นันทเดชตอบทนายจำเลยถามค้านโดยรับว่า พยานมาเบิกความเป็นพยานโจทก์คดีมาตรา 112 ในคดีนี้เป็นครั้งแรก และพยานไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่มคณะราษฎรจะทำการปฏิรูปสถาบันฯ แต่ทราบว่ากลุ่มดังกล่าวมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

    พยานทราบด้วยว่า คำว่า “พระราชทาน” เป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นไป และเมื่อดูภาพเป็ดเหลืองที่สวมแว่นดำบนซองถุงยางอนามัยอีกครั้ง พยานก็กล่าวว่าไม่สามารถสรุปได้ว่าหมายถึงใคร

    ในส่วนภาพปฏิทินเดือนพฤษภาคม คำว่า “IO” ทางการทหาร หมายถึงการปฏิบัติการทางข่าว ซึ่งทางกองทัพเคยออกมาชี้แจงเกี่ยวกับปฏิบัติการทางการข่าว และการที่มีรูปเป็ดใส่ชุดลายพรางถือไม้ ก็หมายความได้ว่าเป็ดตัวนั้นเป็นผู้บังคับบัญชา

    ทนายจำเลยถามว่า กษัตริย์ทรงอยู่เหนือทางการเมืองใช่หรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กษัตริย์ทรงอยู่เหนือทางการเมือง ดังนั้น รัชกาลที่ 10 จะไม่เข้ามาแทรกแซงหรือเกี่ยวข้องในการสั่งการทหาร ยกเว้นหน่วยทหารที่อยู่ในความรับผิดชอบของพระองค์เอง

    ทนายได้ถามกับนันทเดชต่อไปว่า เมื่อดูภาพปฏิทินตามฟ้องแล้ว พยานยังคงศรัทธาและเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์อยู่หรือไม่ ซึ่งพยานก็ได้ยืนยันว่าตนเองยังคงศรัทธาและเชื่อมั่นในสถาบันฯ อยู่เช่นเดิม

    อย่างไรก็ตาม นันทเดชตอบอัยการถามติงว่า ภาพเป็ดในปฏิทินเดือนพฤษภาคมต้องดูโดยภาพรวม ซึ่งรัชกาลที่ 10 เป็นจอมทัพไทย และยังเป็นผู้บังคับบัญชาทหารหน่วยรักษาพระองค์ ภาพเป็ดเหลืองตัวนั้นจึงหมายถึงรัชกาลที่ 10

    พยานเข้าใจว่า ปฏิทินฉบับนี้ได้มุ่งเผยแพร่และจำหน่ายกับประชาชนที่เกิดในช่วงปลายยุครัชกาลที่ 9 ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักศึกษา ทำให้นักศึกษาเมื่อดูภาพนี้อาจเสื่อมศรัทธา และไม่เคารพต่อรัชกาลที่ 10 แต่สำหรับพยานเองนั้น ยังคงมีความเชื่อมั่นและเคารพศรัทธาในตัวสถาบันฯ

    ++นักวิชาการการละครให้ความเห็นคนที่ 4 ชี้การดูปฏิทินเป็ดเหลืองต้องดูโดยภาพรวมทั้งปฏิทิน เพื่อเข้าใจเรื่องราว ไม่สามารถดูแค่โจทก์ฟ้องได้

    ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์พิเศษสาขาศิลปกรรมการแสดง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และนักบำบัดจิตอาสา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทั้งยังเคยประกอบอาชีพนักข่าวที่ช่องทีวี Blue Sky

    พยานทราบการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎร ผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้เข้าใจว่ากลุ่มดังกล่าวมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และมีอีก 10 ข้อ แต่จำรายละเอียดไม่ได้

    เกี่ยวกับคดีนี้ พยานถูกเรียกมาให้การ และออกความเห็นในฐานะผู้เรียนศิลปะการละคร ซึ่งย่อมมีความเข้าใจศิลปะและการสื่อสารเช่นเดียวกัน แต่ตัวพยานเองไม่เคยเห็นปฏิทินในคดีนี้มาก่อน

    เมื่ออัยการโจทก์เอาหน้าปกปฏิทินให้ตรีดาวดู พยานได้เบิกความว่าเป็นปฏิทินที่มีการทำล้อเลียน เนื่องจากมีคำว่า “พระราชทาน” และคำว่า “รวมทุกคำสอนของเรา” และประดับตราสามนิ้วของกลุ่มคณะราษฎร

    ส่วนภาพปฏิทินเดือนมกราคม พยานดูแล้วเบิกความว่า เข้าใจว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” เป็นคำพูดของรัชกาลที่ 10 และมีภาพที่คล้ายกับสุนัขทรงโปรด จึงทำให้เข้าใจได้ว่าเป็ดเหลืองตัวนี้ สื่อถึงรัชกาลที่ 10

    ในความเห็นของพยานคิดว่า เป็นการหมิ่นประมาท เนื่องจากเป็นภาพที่มีการล้อเลียน ทำให้ประชาชนทั่วไปมีความคิดเห็นในทางที่ไม่ดีกับกษัตริย์ หรือรู้สึกสะใจขำขันที่ได้เห็นภาพล้อเลียน และในทางตรงกันข้ามอาจทำให้ผู้มีความเคารพศรัทธา รู้สึกไม่สบายใจ

    พยานให้ความเห็นต่อภาพปฏิทินเดือนมีนาคมว่า เข้าใจได้ว่าเป็ดเหลืองที่มีถุงยางอนามัยครอบศีรษะอยู่คือรัชกาลที่ 10 ตัวละครเป็ดที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินก็มีลักษณะล้อเลียนพระราชินีสุทิดา และภาพเป็ดสวมแว่นตาดำที่อยู่บนซองถุงยางอนามัย ใส่เสื้อครอปท็อป คือ รัชกาลที่ 10 ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ที่พระองค์ใส่เสื้อลักษณะดังกล่าว

    ในภาพนี้จึงมีความหมายว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้ฝักใฝ่ทางเพศ ผู้จัดทำต้องการให้เป็นผู้มีความมักมากในกาม ทำให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นอาจเสื่อมศรัทธาได้

    ตรีดาวให้ความเห็นต่อภาพปฏิทินเดือนเมษายนอีกว่า เมื่อดูประกอบกับภาพปฏิทินเดือนมีนาคมพบว่า เป็ดที่สวมหมวกสีดำ เข้าใจได้ว่าเป็นเจ้าคุณพระสินีนาฏ และข้อความว่า “Super VIP” มีหัวใจคั่นข้างบนภาพ มีเป็ดเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็ดสวมหมวกดำ และเป็ดที่ทำหน้าที่ขับเครื่องบิน ทำให้เข้าใจได้ว่า ภาพนี้มีการล้อเลียนเรื่องส่วนพระองค์ ทำให้เห็นว่ารัชกาลที่ 10 ทรงมีความรักต่อพระราชินีสุทิดา และเจ้าคุณพระสินีนาฎ รวมถึงเสียดสีว่าทรงมีอำนาจเหนือประชาชน จากคำว่า Super VIP

    ส่วนภาพปฏิทินเดือนพฤษภาคม พยานให้ความเห็นว่า เป็นภาพที่ต้องการสื่อถึงเครื่องผลิตทหารให้กลายเป็น IO หรือหน่วยปฏิบัติการทางการข่าว และคำว่า “โอ” ในภาพนี้ สามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึง 10 ได้ด้วย ซึ่งเมื่อดูภาพรวมแล้ว จะทำให้เข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีความสามารถใช้อำนาจทางข้อมูลข่าวสาร หรือทำให้รัชกาลที่ 10 ทรงมีอำนาจอยู่เหนือกองทัพทหาร

    และภาพปฏิทินเดือนตุลาคม พยานดูแล้วเบิกความต่อศาลว่า พื้นหลังภาพสีดำ มีข้อความว่า “Fordad” ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการล้อเลียนนิตยสาร Forbes ที่เชิดชูให้รัชกาลที่ 9 เป็นบุคคลน่ายกย่องระดับโลก เป็ดใส่สายสะพายสีแดง และกล่องข้อความว่า “พ่อบอกว่าให้ทุกคนพอเพียง”

    พยานมีความเห็นว่าภาพนี้ ไม่มีความเชื่อมโยงกับภาพในเดือนอื่นๆ ข้อความนี้ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการรำลึกถึงรัชกาลที่ 9 เท่านั้น แต่หากดูภาพอื่นที่ไม่ได้ฟ้องมา อย่างเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน จะมีการเสียดสีคำสอนของรัชกาลที่ 9 ว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ได้ปฏิบัติตนตามคำสอนของพ่อ และจะให้ประชาชนเชื่อฟังคำสอนดังกล่าวได้อย่างไร ซึ่งเมื่อดูโดยรวมจะได้ความหมายว่า รัชกาลที่ 10 เป็นลูกอกตัญญู ผู้ผลิตมีเจตนาสร้างความเชื่อที่ผิดๆ และความเกลียดชังให้กษัตริย์

    แต่เมื่ออัยการขอให้พยานได้ดูภาพรวมของภาพที่ถูกฟ้องมาทั้งหมด พยานก็อธิบายว่า ในฐานะที่เรียนอักษรศาสตร์ พยานเข้าใจว่าคนที่จำหน่ายสิ่งที่เป็นของปลอม ต้องการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและด้อยค่าสถาบันฯ มีเจตนาทำให้รัชกาลที่ 10 ไม่เป็นที่เคารพของประชาชน

    จากนั้นตรีดาวได้ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้เรียนจบด้านกฎหมาย และเคยเป็นพิธีกรในช่องทีวี Blue Sky ซึ่งเป็นสถานีที่สนับสนุนกลุ่ม กปปส. แต่พยานไม่ทราบว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ส่งผลให้เกิดการรัฐประหารขึ้นหรือไม่ และ กปปส. กับคณะราษฎรมีแนวคิดทางการเมืองไปในทางเดียวกันหรือไม่

    ทนายจำเลยจึงถามต่อไปว่า พยานทราบหรือไม่ว่ามีการนำเป็ดเหลืองมาใช้เป็นเกราะป้องกันแก๊สน้ำตาในการชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภา และเป็ดตัวนี้มีชื่อว่า “พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” พยานตอบว่าไม่ทราบถึงจุดประสงค์ดังกล่าวของเป็ดเหลือง และไม่รู้รายละเอียดของตัวเป็ดในคดีนี้

    แต่เมื่อให้พยานอธิบายสัญลักษณ์ของเป็ดเหลืองที่เป็นของกลุ่มคณะราษฎรว่าควรเป็นอย่างไร พยานตอบว่าควรเป็นเป็ดสีเหลืองเรียบๆ ไม่ตกแต่งประดับยศใดๆ

    ทนายจำเลยถามต่อว่า ปฏิทินที่ผลิตออกมาจำหน่ายทั่วไป มีการใช้คำยอดฮิตต่างๆ มาประกอบภาพศิลปะใช่หรือไม่ ตรีดาวตอบว่า ไม่เสมอไป แต่ยอมรับว่า “พระราชทาน” เป็นคำศัพท์ทีใ่ช้ในชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไปเท่านั้น และยอมรับว่าเป็ดในปฏิทินนี้มีการสื่อสารถึงบุคคลหลายความหมาย แล้วแต่เสื้อผ้าที่สวมใส่

    ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ให้พยานดูภาพปฏิทินเดือนมกราคมอีกครั้ง บนเหรียญที่มีข้อความว่า “OK1” และถามพยานว่าทราบหรือไม่ว่า เป็นประโยคคำพูดย่อยมาจากป้าคนหนึ่งที่เห็นม็อบเยาวชนและก็พูดเชิงสนับสนุนว่า “โอเค นัมเบอร์วัน” พยานตอบไม่ทราบเรื่องดังกล่าว

    อย่างไรก็ตาม พยานยังได้ยอมรับกับทนายจำเลยว่า เป็ดเหลืองทั้งหมดในปฏิทินนี้ไม่มีหน้าใดระบุชื่อของรัชกาลที่ 10 และทั้งหมดก็ไม่มีการกำหนดชื่อตัวละครแบบชัดเจน ต้องใช้การตีความทางสัญวิทยา และจะส่อถึงความหมายใดบ้างก็ต้องดูองค์ประกอบของภาพนั้นๆ เพราะการดูภาพศิลปะ ไม่สามารถดูเพียงภาพเดียวได้ ต้องดูโดยรวมทั้งหมดที่มี ซึ่งคนอื่นจะตีความแตกต่างจากพยานก็ย่อมทำได้ และทนายจำเลยได้ถามต่อทันทีว่า ปฏิทินฉบับดังกล่าวนี้ เป็ดเหลืองทั้งหมดอาจเป็นกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์ก็ย่อมได้ใช่หรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่า ใช่

    เมื่ออัยการถามติงถึงข้อความในภาพปฏิทินเดือนมกราคม ที่พยานตอบทนายจำเลยไปว่า ไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวมีความหมายถึงใคร แต่ทั้งภาพและองค์ประกอบภาพ สามารถตีความได้ว่าผู้ผลิตต้องการทำให้ตัวละครเป็ดสื่อถึงใคร หรือเสียดสีใครบ้าง และจากการตีความของพยานเชื่อว่าเป็ดที่ห้อยเหรียญในภาพเดือนมกราคมนั้น สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54047)
  • ++ประชาชนทั่วไปให้ความเห็น ชี้โดยรวมปฏิทิน ไม่เห็นว่าสื่อสารหมิ่นรัชกาลที่ 10 และถึงแม้จะได้เห็นปฏิทินแล้ว ก็ยังคงเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์อยู่

    ธนาวุฒิ รัศมีฉาย ประชาชนทั่วไป ประกอบอาชีพขายประกัน และเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ประจำศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเขตบางแค สังกัดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยทำงานเป็นผู้ไกล่เกลี่ยมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

    ในคดีนี้ พยานได้รับการประสานจากตำรวจ สน.หนองแขม มาให้การเกี่ยวกับปฏิทินเป็ด ซึ่งจากการดูภาพหน้าปก พยานทราบว่าปฏิทินนี้ไม่ได้ถูกพระราชทานจากรัชกาลที่ 10 แต่เป็นการทำขึ้นเพื่อล้อเลียนสถาบันฯ นอกจากนี้พยานทราบว่ามีกลุ่มที่พยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พยานได้ดูปฏิทินเดือนมกราคม พบว่าเป็นภาพที่มีข้อความไม่เหมาะสม ไม่ควรทำเนื่องจากอาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนที่ไม่เข้าใจสถาบันกษัตริย์

    ส่วนในภาพปฏิทินเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม พยานมีความเห็นว่ายังไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ไม่สามารถสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ได้ ตลอดจนภาพในเดือนตุลาคมก็ยังคงไม่เห็นความเชื่อมโยงที่จะสื่อถึงรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด

    ธนาวุฒิตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่า ที่มาของปฏิทินเป็ดเป็นอย่างไร หรือเป็ดเหลืองถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ใดของกลุ่มผู้ชุมนุม ตลอดจนไม่เข้าใจคำว่า “IO” มีความหมายถึงสิ่งใด และถึงแม้จะดูข้อความในปฏิทินทั้งหมดแล้ว พยานก็ไม่ได้เสื่อมศรัทธาในตัวสถาบันกษัตริย์

    แต่เมื่ออัยการถามติง ธนาวุฒิระบุว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวของพยาน ปฏิทินฉบับนี้ก็ยังมีการหมิ่นประมาทกษัตริย์อยู่ และไม่ควรจัดทำขึ้น

    ++พนักงานสอบสวน สน.หนองแขม ผู้สอบปากคำพยานทุกคน ยอมรับว่าในบันทึกจับกุมไม่ได้ระบุว่าปฏิทินเป็ดเหลืองผิด ม.112 หรือไม่

    พ.ต.ท.วิชิต สวัสดี ในขณะเกิดเหตุของคดีนี้ เป็นรองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.หนองแขม เบิกความว่า เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 พ.ต.ต.สุระเดช กับพวก ได้จับกุมตัวจำเลยมาที่ สน.หนองแขม พร้อมกับปฏิทินของกลาง 174 อัน พยานได้ทำการสอบสวนและเป็นผู้สอบคำให้การของพยานบุคคลทุกปากในคดีนี้

    จากการสอบปากคำ พยานได้ทราบว่า เพจคณะราษฎรได้จำหน่ายปฏิทินเป็ด ซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 และได้ทำการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ก่อนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีต่อมา

    พ.ต.ท.วิชิต ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่า มีการควบคุมตัวจำเลยไป สน.หนองแขม ในเวลาใด และไม่ได้เป็นคนเก็บโทรศัพท์ของจำเลยไว้ การสอบสวนในคดีนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงประมาณ 22.00 – 04.00 น. ของเช้าอีกวันหนึ่ง

    ในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 พยานได้แจ้งข้อกล่าวหากับจำเลย โดยระบุข้อความที่เข้าข่ายเป็นความผิดรวม 3 ข้อความ ในปฏิทินหน้าปก, เดือนมกราคม และเดือนกรกฏาคม และวันที่ 23 ก.พ. 2564 แจ้งเพิ่มอีก 1 ข้อความ คือ ปฏิทินเดือนธันวาคม ทั้งนี้พยานไม่ทราบว่าจำเลยเป็นแอดมินกลุ่มคณะราษฎร หรือจำหน่ายปฏิทินบนเพจด้วยตนเองหรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบตัวตนของแอดมินเพจดังกล่าวได้

    ทั้งพยานไม่ได้ตรวจสอบว่า ในเพจคณะราษฎรมีการจำหน่ายสินค้นหลากหลายประเภท ไม่เพียงแต่ปฏิทินเป็ดเหลืองเท่านั้น และไม่ทราบที่มาของเป็ดเหลืองว่า มีการแต่งบทบาทสมมติให้หรือไม่อย่างไร

    อย่างไรก็ตาม พยานยอมรับว่า ในบันทึกการจับกุมจำเลยในคดีนี้ ไม่ได้มีการลงรายละเอียดว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานความผิดใด

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54047)
  • ก่อนเริ่มสืบพยานจำเลย ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2519 ข้อ 1 อันมีการกำหนดเพิ่มโทษในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิมโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งจะบังคับใช้ลงโทษจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 หรือไม่

    ++พยานจำเลยปากที่ 1 ต้นไม้ ยืนยันเป็ดเหลืองในปฏิทิน เป็นบทบาทสมมติ และมีชื่อว่ากรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์

    จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยานเข้าเบิกความ ปัจจุบันมีอาชีพเป็นนิติกร ในบริษัทเอกชน ตั้งแต่ปี 2563 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 ปีการศึกษา 2561 และกำลังศึกษาเนติบัณฑิต

    ในคดีนี้ พยานเป็นผู้จัดส่งสินค้า ได้พบกับเพื่อนซึ่งเป็นผู้จำหน่ายในสมัยที่เรียนอยู่ที่คณะเดียวกัน แต่ได้มารู้จักกันจริงๆ ในช่วงการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ในตอนนั้นพยานไปเปิดบูธขายสินค้าเสื้อยืดในพื้นที่ชุมนุม จึงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน และตกลงว่าจะนำสินค้าไปขายในกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งมีหลากหลายประเภท เช่น เสื้อยืด พวงกุญแจ ถุงผ้า และสติ๊กเกอร์ แบ่งกำไรคนละ 20 – 25 เปอร์เซ็นต์

    พยานไม่ได้เป็นแอดมินเพจคณะราษฎร และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ผลิต โดยในวันที่ 20 ธ.ค. 2563 มีการติดต่อมาจากเพื่อนของจำเลยว่าต้องการพื้นที่คลังสินค้า และคนแพ็คปฏิทิน พยานจึงได้รับจ้างทำให้ และได้บอกกับเพื่อนว่าจะให้ใช้พื้นที่บ้านตัวเองเป็นคลังสินค้าแค่เฉพาะช่วงสิ้นปี 2563 เท่านั้น

    พยานอธิบายว่า การรับจ้างดังกล่าวของตัวพยานเองเป็นการทำเหมือนธุรกิจ Fullfillment เนื่องจากพยานได้ทำการเก็บค่าออเดอร์ ชิ้นละ 35 บาท และในการตกลงจัดส่งปฏิทิน ก็ไม่ใช่หน้าที่ของพยาน เป็นหน้าที่ของเพื่อนที่จะมีการนำรถกระบะขนส่งมาที่บ้านของพยาน ซึ่งพยานก็ทำหน้าที่เพียงนำสินค้าออกไปให้รถขนส่งจัดส่งสินค้าไปตามคำสั่งซื้อของผู้ซื้อเท่านั้น

    และปฏิทินดังกล่าว ก็ได้มีการส่งมาที่บ้านเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ได้รับแจ้งจากเพื่อนว่ามีออเดอร์ราว 800 – 900 ชิ้น ที่จะต้องทำการส่งให้ทันในวันที่ 26 ธ.ค. 2563 แต่ในการแพ็คสินค้าจำนวนมาก พยานก็ได้ขอเงินมัดจำค่าจ้างจากเพื่อน เป็นจำนวนเงิน 9,000 บาท ซึ่งเมื่อทำการแพ็คสินค้าส่งเรียบร้อยแล้วในวันที่ 27 ธ.ค. 2563 เพื่อนก็ได้โอนเงินค่าจ้างให้กับพยานเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท

    ในช่วงวันที่ 29 – 31 ธ.ค. 2563 แอดมินเพจคณะราษฎร ได้แจ้งว่าขอให้ส่งสินค้าผ่านแกร๊บ เพราะลูกค้าต้องการปฏิทินด่วน และขอให้มีการเก็บเงินที่ปลายทางแทน และพยานก็เป็นคนทำการเรียกแกร๊บมารับสินค้าด้วยตนเอง

    ทั้งนี้ ในเอกสารหลักฐานที่ปรากฏว่ามีชื่อพยานเป็นผู้รับโอนเงิน ในเว็บไซต์ Page365 ซึ่งเป็นช่องทางการค้าขายออนไลน์ พยานอธิบายว่าที่มีชื่อบัญชีของพยานอยู่ด้วย เนื่องจาก Page365 เป็นระบบที่ให้แจ้งเวลาการชำระเงิน และมีการให้แนบสลิปโอนเงินเข้าระบบ เพื่อตรวจสอบว่ามีการทำรายการจริง ไม่ใช่ไว้สำหรับการโอนเงินแต่อย่างใด

    ในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ตอนที่ตำรวจเข้ามาค้นบ้านของพยาน มีปฏิทินเหลือเพียงสองกล่องใหญ่เท่านั้น ในขณะที่ถูกจับกุม ทั้งพยานได้ถูกควบคุมตัวไว้โดยถูกยึดโทรศัพท์ไปดูข้อมูลในแอปพลิเคชั่นต่างๆ แต่ตำรวจไม่พบอะไรจึงทำการส่งคืนให้กับพยาน จนช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ทนายก็ได้เดินทางมาถึงตัวพยานแล้ว

    สำหรับภาพเป็ดเหลืองในปฏิทิน พยานยืนยันว่า เป็นบทบาทสมมติ มีชื่อว่า “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” และพยานเข้าใจว่าการทำปฏิทินก็เป็นความน่ารักของเป็ด ไม่ได้มีการสื่อไปแบบอื่น และพยานไม่ใช่ผู้จำหน่าย เป็นเพียงผู้ส่งของเท่านั้น

    ต่อมา ต้นไม้ตอบอัยการถามค้านว่า โพสต์ที่ประกาศจำหน่ายปฏิทินบนเพจคณะราษฎร ไม่มีหลักฐานว่ามีการโพสต์เมื่อไหร่ และในสลิปโอนเงินที่ส่งเข้าบัญชีของพยานก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นการโอนเงินค่าอะไร ต้นไม้อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่บัญชีของพยานไปอยู่บน Page365 ก็เพราะเพื่อนที่เป็นผู้จำหน่ายนำไปใส่ในระบบให้พยาน เพื่อดูว่ามีการแจ้งโอนเงินเข้ามาแล้ว

    ทั้งนี้ ต้นไม้ได้ตอบทนายจำเลยถามติงว่า ที่ตนเบิกความตอบอัยการโจทก์ไป เรื่องหลักฐานการโพสต์ขายปฏิทินในเพจคณะราษฎรที่ไม่ได้มีมาแสดงต่อศาล เนื่องจากว่าพยานไม่ใช่แอดมินเพจดังกล่าว

    ++นักวิชาการกฎหมายอาญาให้ความเห็นชี้ ‘ล้อเลียนไม่เท่ากับหมิ่นประมาท’ และปฏิทินนี้เชื่อมโยงกับรัชกาลที่ 10 ไม่ได้

    สาวตรี สุขศรี รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันรับผิดชอบสอนวิชากฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญา อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังเป็นอนุกรรมการของรัฐสภา เพื่อศึกษาการบังคับใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112
    สาวตรีได้เปิดดูปฏิทินหน้าปก เห็นว่ามีคำที่เชื่อมโยงถึงสถาบันกษัตริย์ได้ แต่ไม่ได้เห็นว่ามีตราสัญลักษณ์ของสำนักงานพระราชวังแต่อย่างใด ส่วนข้อความว่า “พระราชทาน” ก็มีการนำมาใช้แบบสามัญทั่วไป เช่น วัดพระราชทาน หรือแม้แต่ในละครเรื่องต่างๆ ก็ได้มีการหยิบยืมคำไปใช้เพื่อสวมบทบาทของกษัตริย์

    พยานเปิดดูภาพปฏิทินเดือนมกราคมแล้ว เบิกความว่า คำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” เข้าใจว่าเป็นคำธรรมดาที่คนทั่วไปก็ใช้กันได้ แต่พอรัชกาลที่ 10 ใช้คำพูดนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นถ้อยคำที่ทรงตรัสของรัชกาลที่ 10 แต่จริงๆ แล้วคนทั่วไปก็ย่อมพูดคำนี้ได้

    พยานอธิบายต่อไปว่า ตัวอย่างเช่นประโยค “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” ของรัชกาลที่ 9 ก็มีการเอามาเผยแพร่ในหลายช่องทาง ซึ่งหากมองภาพนี้โดยรวมแล้ว พยานไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์อย่างไร

    สำหรับภาพปฏิทินเดือนมีนาคม พยานไม่เข้าใจว่าภาพดังกล่าวสื่อถึงอะไรได้ เนื่องจากไม่เห็นความเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ ไม่มีสัญลักษณ์ใดที่เกี่ยวพันถึงสถาบันฯ

    ข้อความว่า “รักคุณเท่าฟ้า” ในภาพปฏิทินเดือนเมษายน ซึ่งเป็นสโลแกนของการบินไทย พยานไม่คิดว่าเป็นการหมิ่นประมาทอย่างไร เพราะใช้ในโฆษณาทั่วไปอยู่แล้ว ส่วนตัวเป็ดเหลือง 3 ตัว ไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ กับสถาบันฯ อาจเข้าใจได้ว่าเป็นเป็ดนักบิน เป็ดพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และผู้โดยสารอีก 1 ตัว จากภาพนี้ดูไม่ออกว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลใด

    สาวตรียังให้ความเห็นต่อภาพปฏิทินเดือนพฤษภาคมที่มีเป็ดเหลืองใส่ชุดทหารระดับบัญชาการ มีข้อความต่างๆ ปรากฎเกี่ยวกับปฏิบัติการทางการข่าว IO ว่า เมื่อดูภาพรวมแล้ว ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลใด

    และภาพปฏิทินเดือนตุลาคมที่มีคำว่า “พ่อบอกให้ทุกคนพอเพียง” พยานเบิกความว่า รู้จักคำว่าพอเพียงว่า เป็นคำตรัสของรัชกาลที่ 9 แต่ก็มองว่าเป็นคำกลางๆ เนื่องจากประชาชนแทนกษัตริย์ว่าเป็นพ่ออยู่แล้ว และการบอกให้ประชาชนพอเพียงก็คือการสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้คิดว่าเป็นหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย

    ทั้งนี้ทนายจำเลยถามพยานว่า การล้อเลียนจะถือว่าผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ พยานบอกว่า ไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรา 112 เพราะมีการใช้คำที่ชัดเจนในมาตรานี้ กล่าวคือ ต้องเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย แต่การล้อเลียน ในภาษาอังกฤษคือ Parody มันคือการพูดให้ดูขบขัน สนุกสนานเสียมากกว่า

    สาวตรีอธิบายต่อไปว่า “หมิ่นประมาท” ต้องเป็นการทำให้บุคคลถูกเกลียดชังโดยบุคคลที่ 3 และคำว่า “ดูหมิ่น” หรือสบประมาท ต้องเป็นการดูถูกความเป็นมนุษย์ โดยพยานได้เคยให้การในชั้นสอบสวนแล้วว่าคดีนี้ไม่เป็นการหมิ่นประมาทตามมาตรา 112

    ต่อมา สาวตรีตอบอัยการถามค้านว่า พยานมาเบิกความให้ความเห็นส่วนตัว โดยในชั้นสอบสวน พยานก็ไม่ได้ยืนยันว่า ปฏิทินเป็ดนี้มีการหมิ่นกษัตริย์ การตีความแล้วแต่บุคคลจะออกความเห็น และภาพที่ได้ดูในวันนี้ก็มีความแตกต่างกับที่ตำรวจให้ดูในชั้นสอบสวน หากจะเอาคำให้การในชั้นสอบสวนมาใช้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลจะใช้ไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่การให้ความเห็นต่อภาพเดียวกัน

    อย่างไรก็ตาม พยานยืนยันกัยทนายจำเลยด้วยว่า ในการมาให้ความเห็นในคดีนี้เป็นการให้ความเห็นทางวิชาการกฎหมายด้วย

    ++บก.ลายจุด ชี้เป็ดเหลืองเป็นสัญลักษณ์เทพพิทักษ์ของกลุ่มคณะราษฎร ไม่ใช่สวมบทบาทรัชกาลที่ 10

    สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เบิกความว่า พยานเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม และด้านประชาธิปไตย นอกจากนี้ พยานยังเคยทำละคร มีประสบการณ์มากว่า 10 ปี โดยมีบทบาทเป็นผู้เขียนบทละครและกำกับการแสดง มีผลงานละครสะท้อนปัญหาสังคม เคยได้รับการยกย่องจากสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ ว่าละครของพยานเป็นละครที่ดีที่สุดแห่งปี

    พยานทราบการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎร และเยาวชนปลดแอกตั้งแต่ปี 2563 ว่ามีการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ มีการใช้สัญลักษณ์ 3 นิ้วที่มีอิทธิพลมาจากหนังเรื่อง The Hunger Games ซึ่งหมายถึงการต่อต้านผู้ปกครองรัฐเผด็จการ และมีสัญลักษณ์เป็ดเหลือง เนื่องมาจากการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา มีการนำเป็ดยางมาใช้ป้องกันภัย และใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเทพผู้พิทักษ์ และเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    เกี่ยวกับปฏิทินเป็ดฉบับนี้ พยานเห็นว่าเป็นการทำขึ้นเพื่อยกย่องเป็ดเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ชุมนุมโดยในหน้าสุดท้ายก็ได้มีการประทับชื่อไว้อย่างชัดเจนว่าเป็ดเหลืองมีชื่อว่าอะไร

    พยานเบิกความต่อศาลว่า ในการดูงานศิลปะชิ้นหนึ่ง จะต้องเข้าใจ Concept ของงานชิ้นนั้นก่อน เริ่มด้วยตัวละครในเรื่องซึ่งต้องมีสถานะต่างๆ ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้เรื่องดำเนินต่อไปได้ เป็ดเหลืองตัวนี้ก็เช่นกัน ซึ่งชัดเจนว่ามีสถานะเป็นเทพผู้พิทักษ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ต่างกันกับตัวละครลิเก หรือตัวละครในหนังต่างๆ ที่มีการกำหนดสถานะของตัวละครไว้

    ในส่วนหน้าปก พยานอธิบายว่า มีการใช้คำราชาศัพท์ แต่คำดังกล่าวก็สามารถนำมาใช้และแสดงออกในละครทั่วไปอยู่เช่นเดียวกัน โดยในบางละครมีการนำมาพูดโดยอิงจากสถานะของตัวละครนั้นๆ ส่วนที่มีตราสามนิ้วก็มีความเชื่อมโยงกับเป็ดเหลืองเทพผู้พิทักษ์ กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎร ไม่ได้มีความเชื่อมโยงถึงสถาบันกษัตริย์

    สมบัติให้ความเห็นต่อภาพปฏิทินเดือนมกราคมว่า มีถ้อยคำที่เป็นคำชื่นชม ซึ่งเป็นคำสามัญที่นำมาใช้ได้ ดูจากองค์ประกอบภาพแล้ว คือการชื่นชมตัวละครอื่นๆ ในภาพเดียวกัน ไม่ได้ดูเกี่ยวกับกษัตริย์ เพราะเป็นคำที่ใช้ได้ทั่วไป

    ส่วนภาพปฏิทินเดือนมีนาคม พยานเห็นแล้วไม่เข้าใจว่า สื่อสารถึงสิ่งใด

    ภาพปฏิทินเดือนเมษายนที่มีคำว่า “รักคุณเท่าฟ้า” พยานเข้าใจได้ว่า เป็นสโลแกนของการบินไทย ซึ่งมองว่าเป็นการยืมข้อความมาชื่นชมผู้อ่านปฏิทินก็ย่อมได้

    สมบัติยังเบิกความถึงภาพปฏิทินเดือนพฤษภาคมว่า มีภาพเครื่องจักร คล้ายสายพานที่อยู่ในสนามบิน และมีเป็ดที่แต่งตัวเป็นทหาร มีข้อความว่า “IO” เป็นเครื่องมือทางการเมืองของทหารที่ใช้ทำการข่าว พยานไม่คิดว่าสื่ออะไรเป็นพิเศษ

    และพยานไม่เห็นความหมายอะไรจากภาพในปฏิทินเดือนตุลาคม เห็นเพียงว่าเป็นการใช้ประโยคบอกเล่าถึงแนวทางการดำเนินชีวิต

    จากนั้นสมบัติตอบอัยการถามค้านว่า รับรู้ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร แต่ไม่ทราบว่าปฏิทินฉบับนี้ผลิตโดยกลุ่มคณะราษฎรหรือไม่ รู้เพียงว่ามีแนวคิดร่วมกัน

    ส่วนข้อความในเดือนมกราคม พยานเคยเห็นว่ารัชกาลที่ 10 เคยมีการตรัสผ่านสื่ออยู่บ้าง แต่ข้อความในเดือนตุลาคม “ทรงนำเศรษฐกิจพอเพียง หล่อเลี้ยงชีวา” เป็นข้อความในบทเพลงหนึ่ง แต่จำชื่อบทเพลงไม่ได้ และภาพรวมของปฏิทินฉบับนี้ มีการหยิบยกข้อความที่มีการใช้พูดหรือคนได้ยินบ่อยๆ ล้วนแล้วแต่เป็นคำชื่นชมไม่มีส่วนใดในข้อความปฏิทินนี้ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10

    .
    หลังพยานจำเลยเบิกความเสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษาและคำสั่งต่อคำร้องที่ขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันที่ 30 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54047)
  • ทนายจําเลยที่ 1 แถลงว่า ปัญหาตามคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยที่จำเลยยื่น ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยวินิจฉัย และทราบว่า ชูเกียรติ แสงวงค์ จำเลยในคดีมาตรา 112 ตามคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.1366/2564 ของศาลอาญา ได้ขอให้ศาลอาญาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นเดียวกัน ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

    ศาลแจ้งว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่เนื่องจากศาลยังไม่ได้ตรวจดูคําร้องของชูเกียรติว่ามีข้อเท็จจริงเหมือนกับคําร้องของจําเลยในคดีนี้ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ และยังไม่ได้ตรวจสอบว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยดังกล่าวจริงหรือไม่ จึงให้เลื่อนไปนัดฟังคําพิพากษาและนัดฟังคำสั่งต่อคําร้องขอให้ศาลส่งคําร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันที่ 7 มี.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2564 ลงวันที่ 30 ม.ค. 2566)
  • เวลา 09.30 น. จำเลยเดินทางมาเพียงคนเดียว ก่อนที่ศาลจะเรียกให้จำเลยเดินมาที่บริเวณคอกพยาน เพื่อฟังคำพิพากษา โดยมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า ในคดีนี้มีการกล่าวหาถึงพฤติการณ์ของจำเลย ซึ่งร่วมกับพวกจำหน่ายปฏิทิน ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าปฏิทินดังกล่าวต้องการสื่อสารถึงสิ่งใด

    ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปากพนักงานสืบสวน ซึ่งนำสืบทราบว่าปฏิทินดังกล่าวได้ถูกจำหน่ายบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีเป้าหมายทางการเมือง 3 ประการ ได้แก่ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    อีกทั้ง ในการโพสต์ข้อความจำหน่ายปฏิทินบนหน้าเพจยังปรากฏข้อความเชิญชวนให้ซื้อสินค้าว่า ร่วมกันเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กลุ่มผู้ชุมนุม ดังนั้นปฏิทินดังกล่าว ผู้ผลิตจึงมีเจตนาขายให้กับกลุ่มผู้ติดตามคณะราษฎร ซึ่งผู้ซื้อสินค้าย่อมเข้าใจความหมายของปฏิทินได้

    และตามที่พยานโจทก์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ เบิกความกล่าวถึงปฏิทินฉบับนี้ว่า ไม่ใช่ปฏิทินพระราชทานตามที่หน้าปกของปฏิทินได้ระบุไว้ เนื่องจากปฏิทินพระราชทานของจริงต้องเป็นสีเหลืองและมีสัญลักษณ์ วปร. ของในหลวงรัชกาลที่ 10

    ตลอดจนเมื่อมองปฏิทินโดยรวมในแต่ละเดือน ตั้งแต่มีนาคม เมษายน และกันยายน จากคำเบิกความของพยานโจทก์มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด โดยเฉพาะในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นรูปภาพเป็ดใส่ครอปท็อป สวมแว่นตาดำ ที่พยานโจทก์ได้กล่าวว่าเป็นการสื่อสารถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเคยมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่งกายในลักษณะดังกล่าวออกมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งการผลิตและจำหน่ายปฏิทินฉบับนี้ จึงเป็นการตั้งใจสื่อสารว่าเป็ดตัวดังกล่าวเป็นรัชกาลที่ 10

    และจากการเบิกความเชื่อมโยงจากเดือนมกราคม มีนาคม ตุลาคม ตลอดเดือนธันวาคม ที่มีปรากฏข้อความว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทำให้เชื่อได้ว่าเป็ดเหลืองในปฏิทินฉบับนี้ก็คือรัชกาลที่ 10

    นอกจากนี้ การที่พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันในปฏิทินเดือนมีนาคมว่า การนำเป็ดสวมถุงยางอนามัยบนศีรษะ เป็นการด้อยค่า หมิ่นประมาท สร้างความเสื่อมเสียศรัทธาต่อรัชกาลที่ 10 การที่พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันเช่นนี้ จึงพิเคราะห์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความในมาตรา 2 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความในมาตรา 6 องค์กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

    ตลอดจนในมาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คำเบิกความของพยานโจทก์ที่กล่าวว่าจำเลยสร้างความเสื่อมเสีย หมิ่นประมาท ล้อเลียนรัชกาลที่ 10 จึงเป็นคำที่มีน้ำหนักและรับฟังได้

    อย่างไรก็ตาม จากคำเบิกความของพยานจำเลย โดยจำเลยจบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ เบิกความว่าตนเองเป็นผู้จัดส่งสินค้า ไม่ใช่ผู้จำหน่ายโดยตรง และไม่ได้เห็นเนื้อหาในปฏิทินดังกล่าว ศาลเห็นว่า คำเบิกความของจำเลยรับฟังไม่ได้ เนื่องจากการที่จำเลยกับพวกร่วมกันจำหน่ายและจัดส่งปฏิทิน ก็ถือว่าจำเลยได้มีส่วนในการกระทำความผิดร่วมกัน จำเลยย่อมรู้กฎหมาย และหากไม่เห็นเนื้อหาในปฏิทินก็ต้องเห็นหน้าปกที่มีข้อความว่า ‘ปฏิทินพระราชทาน’ ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนจากพยานโจทก์แล้วว่าปฏิทินฉบับนี้ ไม่ใช่ของจริงและทำขึ้นมาเพื่อล้อเลียน หมิ่นประมาท รัชกาลที่ 10

    ส่วนคำเบิกความของพยานจำเลยคือสมบัติ และสาวตรี ซึ่งมีการเบิกความสนับสนุนจำเลยนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของพยานเท่านั้น

    เมื่อพิเคราะห์แล้ว ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เห็นว่าในการเบิกความ จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

    ทั้งนี้ เมื่อศาลได้อ่านคำพิพากษาจบ จึงได้อ่านคำสั่งต่อคำร้องที่จำเลยขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยศาลพิจารณาเห็นว่า คำร้องฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาเดียวกับคำร้องของชูเกียรติ แสงวงค์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว จึงให้ยกคำร้องของจำเลย

    จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวต้นไม้ไปรอการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ต่อมาเวลา 14.30 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับที่ได้ประกันในศาลชั้นต้น โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเพิ่ม 70,000 บาท จากที่เคยวางหลักทรัพย์ในศาลชั้นต้นมา 210,000 บาท รวมวางหลักทรัพย์เป็นจำนวน 280,000 บาท

    เป็นที่น่าสังเกตว่า ในคดีนี้ อัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงปฏิทิน 6 หน้าเท่านั้น ได้แก่ หน้าปก, มกราคม, มีนาคม, เมษายน, พฤษภาคม และตุลาคม โดยไม่ได้กล่าวถึงปฏิทินหน้าเดือนกันยายนและธันวาคม แต่ในวันนี้ศาลได้วินิจฉัยความผิดของจำเลยจากในหน้าปฏิทินเดือนดังกล่าวร่วมด้วย โดยพิเคราะห์จากการตีความของพยานโจทก์ที่กล่าวว่าต้องเชื่อมโยงปฏิทินในหน้าเดือนอื่นๆ เพื่อเข้าใจความหมายของปฏิทินเป็ดฉบับนี้

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2564 ลงวันที่ 7 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/54047)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"ต้นไม้" (นามสมมุติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
พิชญ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"ต้นไม้" (นามสมมุติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. พรเทพ พิศาลเมธี
  2. ถาวร เบ้าเงิน

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 07-03-2023
ผู้ถูกดำเนินคดี :
พิชญ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"ต้นไม้" (นามสมมุติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์