สรุปความสำคัญ

กัลยา (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ถูกพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ประชาชนทั่วไปเข้าแจ้งความดําเนินคดี ฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยกล่าวหาว่า กัลยาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กพาดพิงถึงกษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2566 ทำให้กัลยาต้องเดินทางไกลกว่า 1,000 กม. เพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา และไปศาลอีกหลายครั้ง จนกว่าคดีจะสิ้นสุด โดยกัลยาได้รับการประกันตัวตลอดกระบวนการพิจารณาคดี

นับเป็นอีกกรณีที่สะท้อนปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้ มาตรา 112 ซึ่งผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นใครก็ได้ และสามารถแจ้งความที่ไหนก็ได้ นอกจากสร้างภาระทางคดีแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยทางการเมืองยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • กัลยา (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 มิ.ย. 2564 ที่สถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กัลยา เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องมาจากพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีต่อกัลยา กล่าวหาว่า คอมเมนต์ในเฟซบุ๊กพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์

ก่อนหน้านี้กัลยา ได้รับหมายเรียกออกโดย ว่าที่ พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก ลงวันที่ 17 พ.ค. 2564 ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 แต่เนื่องจากหมายเรียกเพิ่งถูกส่งมาถึงบ้านตามภูมิลำเนาของกัลยาที่จังหวัดพะเยาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2564 อีกทั้ง ปัจจุบันกัลยาทำงานประจำอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี จึงไม่สะดวกเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ตามกำหนดในหมายเรียก จึงขอเลื่อนนัดหมายมาเป็นวันนี้

ว่าที่ พ.ต.ต.นที บรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ผู้กล่าวหา ได้เปิดเฟซบุ๊กพบบัญชีเฟซบุ๊กหนึ่งโพสต์รูปภาพและข้อความพาดพิงถึงกษัตริย์จำนวน 4 ข้อความ โดยมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกษัตริย์ต่อการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งข้อความที่โพสต์ใต้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “ธนวัฒน์ วงค์ไชย – Tanawat Wongchai” ว่า “แน่จริงยกเลิกม.112#แล้วจะเล่าให้ฟัง!!!”

ผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความเป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ของไทย และเป็นการกล่าวร้ายต่อพระองค์ จึงมาแจ้งความร้องทุกข์

ก่อนแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อกัลยา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กัลยาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป

จากนั้นเวลา 14.00 น. ทางตำรวจแจ้งว่าจะนำตัวกัลยาไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ทั้งที่เธอเดินทางมาตามหมายเรียก

พนักงานสอบสวนอ้างในคำร้องขอฝากขังว่ายังต้องทำการสอบสวนปากคำพยานอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมผู้ต้องหา จึงขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน แต่ไม่คัดค้านหากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยพนักงานสอบสวนทำเรื่องขอฝากขังต่อศาลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 2019

ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาสอนุญาตให้ฝากขัง และทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท ไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ และให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้ง ในวันที่ 9 ส.ค. 2564

หลังได้รับการประกันตัวโดยใช้เงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์ กัลยาเปิดเผยว่ารู้สึกกังวลและลำบากใจเป็นอย่างมากที่จะต้องเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาไกลถึง จ.นราธิวาส โดยต้องโดยสารเครื่องบินมาถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในช่วงเย็นของเมื่อวาน และได้ขับรถเพื่อเดินทางไป สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ตั้งแต่เช้ามืด เวลาประมาณ 04.00 น. ของวันนี้ ก่อนจะถึงที่หมายในเวลา 08.00 น.

การเดินทางมารับทราบข้อกล่าวในครั้งนี้ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากถึง 15,000 บาท อีกทั้งยังรู้สึกกลัวว่าการเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้จะกระทบต่อการทำงานในปัจจุบันที่ จ.นนทบุรีอีกด้วย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังระบุว่านายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เป็นผู้กล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกอย่างน้อย 5 ราย ไว้ที่สถานีตำรวจนี้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการทยอยออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.สุไหงโก-ลก ลงวันที่ 22 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31122)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • กัลยา (นามสมมติ)
    ถูกดำเนินคดีที่จังหวัดนราธิวาส ขณะที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ทำให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายอย่างมากในการเดินทางไปในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะค่าเดินทางสูงราว 15,000 บาทต่อครั้ง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์