ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.855/2564
แดง อ.853/2565

ผู้กล่าวหา
  • พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.855/2564
แดง อ.853/2565
ผู้กล่าวหา
  • พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน

ความสำคัญของคดี

กัลยา (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ถูกพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ประชาชนทั่วไปเข้าแจ้งความดําเนินคดี ฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยกล่าวหาว่า กัลยาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กพาดพิงถึงกษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 ทำให้กัลยาต้องเดินทางไกลกว่า 1,000 กม. เพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา และไปศาลอีกหลายครั้ง จนกว่าคดีจะสิ้นสุด โดยกัลยาได้รับการประกันตัวตลอดกระบวนการพิจารณาคดี

นับเป็นอีกกรณีที่สะท้อนปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้ มาตรา 112 ซึ่งผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นใครก็ได้ และสามารถแจ้งความที่ไหนก็ได้ นอกจากสร้างภาระทางคดีแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยทางการเมืองยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สินทวิชญ์ มโนภาส พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งครองราชย์อยู่ปัจจุบัน ตามรัฐธรรมนูญไทย 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้”

1. เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 จำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยใช้รูปโปรไฟล์เป็นรูปจำเลยใส่เสื้อสีดำ สวมหมวกยืนอยู่หน้ารถยนต์ และรูปจำเลยใส่เสื้อและกางเกงสีขาวอยู่ในวงกลมทับซ้อนอีกครั้งหนึ่ง และมีตัวหนังสือดำ เป็นชื่อจริงในภาษาอังกฤษของจำเลยอยู่ใต้รูป บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นบัญชีที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ พร้อมโพสต์ข้อความที่มีผู้มากดถูกใจ 550 คน

จำเลยยังได้มีการเขียนข้อความต่อจากความเห็นของบุคคลว่า “วอร์มปากรอแล้วเนี่ย” และจำเลยได้เขียนโพสต์ข้อความต่อจากเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “ธนวัตน์ วงศ์ไชย – Tanawat Wongchai” ว่า “แน่จริงก็ยกเลิก ม. 112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง!!!”

ข้อความดังกล่าวประสงค์ให้บุคคลที่เข้ามาอ่าน เข้าใจว่า พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เป็นคนยังไม่ได้ จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม เป็นการดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอ สบประมาทพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เป็นที่เคารพสักการะ

2. เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 จำเลยยังได้เข้าไปแสดงความเห็นด้วยการคอมเมนต์บนโพสต์ของ “Somsak Jeamteerasakul” ซึ่งลงข้อความว่า “มีการ์ดโดนยิงเข้าช่องท้องอาการสาหัส อยู่ ICU” โดยจำเลยได้คอมเมนต์ภาพและข้อความที่เกี่ยวกับกษัตริย์ลงท้ายโพสต์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ด่าทอ สบประมาทพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เป็นที่เคารพสักการะ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.855/2564 ลงวันที่ 13 ก.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่สถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กัลยาเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องมาจากพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีต่อกัลยา กล่าวหาว่า คอมเมนต์ในเฟซบุ๊กพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์

    ก่อนหน้านี้กัลยาได้รับหมายเรียกออกโดย ว่าที่ พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก ลงวันที่ 17 พ.ค. 2564 ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 แต่เนื่องจากหมายเรียกเพิ่งถูกส่งมาถึงบ้านตามภูมิลำเนาของกัลยาที่จังหวัดพะเยาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2564 อีกทั้ง ปัจจุบันกัลยาทำงานประจำอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี จึงไม่สะดวกเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ตามกำหนดในหมายเรียก จึงขอเลื่อนนัดหมายมาเป็นวันนี้

    ว่าที่ พ.ต.ต.นที บรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ผู้กล่าวหา ได้เปิดเฟซบุ๊กพบบัญชีเฟซบุ๊กหนึ่งโพสต์รูปภาพและข้อความพาดพิงถึงกษัตริย์จำนวน 4 ข้อความ โดยมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกษัตริย์ต่อการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งข้อความที่โพสต์ใต้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “ธนวัฒน์ วงค์ไชย – Tanawat Wongchai” ว่า “แน่จริงยกเลิกม.112#แล้วจะเล่าให้ฟัง!!!” ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความเป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ของไทย และเป็นการกล่าวร้ายต่อพระองค์ จึงมาแจ้งความร้องทุกข์

    ก่อนแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อกัลยา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กัลยาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป

    จากนั้นเวลา 14.00 น. ทางตำรวจแจ้งว่าจะนำตัวกัลยาไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ทั้งที่เธอเดินทางมาตามหมายเรียก

    พนักงานสอบสวนอ้างในคำร้องขอฝากขังว่ายังต้องทำการสอบสวนปากคำพยานอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมผู้ต้องหา จึงขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน แต่ไม่คัดค้านหากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยพนักงานสอบสวนทำเรื่องขอฝากขังต่อศาลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 2019

    ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาสอนุญาตให้ฝากขัง และทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท ไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ และให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้ง ในวันที่ 9 ส.ค. 2564

    หลังได้รับการประกันตัวโดยใช้เงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์ กัลยาเปิดเผยว่ารู้สึกกังวลและลำบากใจเป็นอย่างมากที่จะต้องเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาไกลถึง จ.นราธิวาส โดยต้องโดยสารเครื่องบินมาถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในช่วงเย็นของเมื่อวาน และได้ขับรถเพื่อเดินทางไป สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ตั้งแต่เช้ามืด เวลาประมาณ 04.00 น. ของวันนี้ ก่อนจะถึงที่หมายในเวลา 08.00 น.

    การเดินทางมารับทราบข้อกล่าวในครั้งนี้ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากถึง 15,000 บาท อีกทั้งยังรู้สึกกลัวว่าการเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้จะกระทบต่อการทำงานในปัจจุบันที่ จ.นนทบุรีอีกด้วย

    ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังระบุว่า พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เป็นผู้กล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกอย่างน้อย 5 ราย ไว้ที่สถานีตำรวจนี้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการทยอยออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.สุไหงโก-ลก, คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจังหวัดนราธิวาส ลงวันที่ 22 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31122)
  • ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลขอรายงานตัวโดยวิธีการอื่น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ไปรายงานตัวที่ศาลจังหวัดนนทบุรี

    (อ้างอิง: คำร้องขอรายงานตัวโดยวิธีการอื่น ศาลจังหวัดนราธิวาส ลงวันที่ 3 ส.ค. 2564)
  • กัลยาเข้ารายงานตัวตามสัญญาประกันที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลนัดรายงานตัวครั้งต่อไปในวันที่ 14 ก.ย. 2564
  • นับจากฝากขังครั้งแรกในวันที่ 22 มิ.ย. 2564 วันนี้ครบฝากขัง 84 วัน พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ได้ยื่นฟ้องกัลยาต่อศาลจังหวัดนราธิวาส กล่าวหาว่า กัลยาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊ก เป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 รวม 2 กรรม โดยระบุว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    อย่างไรก็ตาม ในคำฟ้อง พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกันตัวจำเลย

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.855/2564 ลงวันที่ 13 ก.ย. 2564)
  • กัลยาทราบว่าอัยการยื่นฟ้องแล้ว แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่ควบคุมเข้มข้น จำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 14 ต.ค. 2564 เวลา 09.00น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง
  • หลังศาลอ่านและอธิบายคำฟ้อง และถามคำให้การเบื้องต้น โดยจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ธ.ค. 2564 เวลา 13.00 น.

    จากนั้นทนายความได้ยื่นประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมเป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งได้วางไว้ตั้งแต่ชั้นสอบสวน ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา โดยใช้หลักประกันเดิม

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/36708)
  • นัดพร้อมเพื่อคุ้มครองสิทธิ สอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยาน ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยให้การปฏิเสธ ตามคําให้การที่ยื่นต่อศาลฉบับลงวันที่ 9 ธ.ค. 2564

    จําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จําเลยรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่ไม่ได้กระทําความผิดตามที่โจทก์กล่าวหา

    โจทก์แถลงว่า มีเอกสารและภาพถ่ายที่จะอ้างส่งเป็นพยานรวม 11 ฉบับ ได้แก่ รายงานประจําวันเกี่ยวกับคดี (จ.1), หนังสือคําร้องทุกข์กล่าวโทษและภาพประกอบ (จ.2), ข้อมูลทะเบียนราษฎรของจําเลย (จ.3), หนังสือขอตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (จ.4), หนังสือเรื่องแจ้งผลดําเนินการตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (จ.5), หนังสือเรื่องขอตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (จ.6), บันทึกข้อความเรื่องรายงานผลการตรวจสอบ (จ.7), คําสั่งตํารวจภูธรจังหวัดนราธิวาสที่ 327/2564 (จ.8), บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาและรายงานประจําวัน (จ.9), บันทึกคําให้การชั้นสอบสวนของจําเลย (จ.10) และบันทึกคําให้การของนายวันเฉลิม (จ.11)

    ทนายจําเลยแถลงว่า มีเอกสารและภาพถ่ายที่จะอ้างส่งเป็นพยานรวม 5 ฉบับ ได้แก่ ภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กเพจ In Front Film ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2563 (ล.1), ภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กเพจ คอหนังโหด ลงวันที่ 9 ก.พ. 2563 (ล.2), ภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กเพจ คอหนังโหด ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2564 (ล.3), ภาพถ่ายข้อความที่แชร์โพสต์ของธนวัฒน์ วงค์ไชย (ล.4) และภาพถ่ายคําสารภาพ “ธาริต” เคารพ “สุเทพ” อุ้ม “จตุพร” (ล.5)

    อัยการและทนายจำเลยแถลงว่า ประเด็นที่รับกันได้มีรวม 5 ปาก โจทก์จึงไม่ติดใจสืบพยานโจทก์ทั้งห้าปากดังกล่าว แต่ขออ้างเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพยานโจทก์ดังกล่าวแทนการสืบพยาน

    โจทก์แถลงว่า ประสงค์ที่จะนําพยานเข้าสืบรวม 8 ปาก ได้แก่ นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ผู้กล่าวหา, พยานแวดล้อม 6 ปาก และว่าที่ พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวน ใช้เวลาสืบไม่เกิน 2 นัด

    ทนายจําเลยแถลงว่า ประสงค์ที่จะนําพยานเข้าสืบรวม 3 ปาก ได้แก่ จําเลย, ดร.อิสระ ชูศรี นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ เบิกความเกี่ยวกับการตีความข้อความตามฟ้อง และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เบิกความเกี่ยวกับบริบทความเห็นที่อาจเป็นประโยชน์กับการใช้และการตีความ รวมถึงความหมายตามการกระทําของจําเลยว่าเป็นความผิดหรือไม่ ใช้เวลาสืบครึ่งนัด

    นัดสืบพยานในวันที่ 10-12 พ.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.855/2564 ลงวันที่ 9 ธ.ค. 2564)
  • คดีของกัลยาเป็นคดี 112 หนึ่งในหลายคดีของศาลจังหวัดนราธิวาส อันมีพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยในระหว่างพิจารณาคดี พสิษฐ์ระบุว่าได้เข้าแจ้งความไว้ประมาณ 15 คดี โดยมีผู้ถูกกล่าวหาที่อายุต่ำกว่า 18 ปี รวมอยู่ด้วย

    ข้อความที่กัลยาถูกกล่าวหาเป็นการคอมเมนต์ในเพจแนะนำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลี โดยเธอแสดงความคิดเห็นไปว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม ในเมื่อเป็นคนยังไม่ได้เลย”, จากข้อความที่โพสต์ภาพถ่ายจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563, จากการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยเขียนข้อความประกอบว่า “กระสุนพระราชทานเข้าหนึ่ง” และการแชร์โพสต์จากธนวัฒน์ วงค์ไชย แล้วเขียนประกอบว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง”

    ในการสืบพยานโจทก์นำพยานโจทก์เข้าเบิกความรวมทั้งหมด 8 ปาก นอกจากผู้กล่าวหาแล้วยังประกอบด้วยพยานความเห็นทั่วไป พยานความเห็นจากกลุ่มวิชาชีพ และพยานความเห็นที่เป็นนักวิชาการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญมาเป็นพยานในคดี ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำสืบพยาน 1 ปาก

    ฝ่ายจำเลยได้ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องมีผู้สามารถเข้าใช้ได้มากกว่าหนึ่งคน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็เป็นเพียงการแคปหน้าจอข้อความมา ไม่ได้มี URL และวันเวลาของการโพสต์ จึงอาจมีการตัดต่อแก้ไขภาพได้โดยง่าย ทั้งข้อความแต่ละโพสต์เมื่อนำมาเรียงต่อกัน อาจตีความได้แบบหนึ่ง แต่เมื่ออ่านแยกจากกัน ก็อาจตีความได้หลากหลาย โดยแต่ละโพสต์ก็ไม่ได้ระบุชื่อถึงบุคคลใด

    ในระหว่างพิจารณาคดี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย สลับกันเข้ามานั่งอยู่ภายในห้องตลอดการพิจารณา

    ++ผู้กล่าวหาคดี ม.112 แห่งสุไหงโก-ลก ยืนยันไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ยอมรับว่าแต่ละข้อความอาจเป็นการโพสต์คนละวัน คนละเหตุการณ์

    พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษที่ อ.สุไหงโก-ลก ผู้กล่าวหา เบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 เขาเล่นเฟซบุ๊กตามปกติและได้พบเห็นบัญชีของกัลยา แสดงความคิดเห็นไว้ในเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ จากนั้นจึงเข้าไปดูที่หน้าเฟซบุ๊กของจำเลย และเห็นว่ามีการแชร์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา, ธนวัฒน์ วงค์ไชย – Tanawat Wongchai และ Somsak Jeamteerasakul พร้อมกับเขียนคำอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วย

    พสิษฐ์เบิกความว่า เขาไล่ดูข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลยหลายๆ ข้อความแล้ว เห็นว่าจำเลยกล่าวอ้างถึงรัชกาลที่ 10 ทั้งยังเขียนข้อความที่แสดงความโกรธแค้น จึงใช้วิธีการแคปภาพหน้าจอแต่ละข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลย ไม่ได้เป็นการสั่งพิมพ์โดยตรงจากหน้าเว็บไซต์ แล้วรวบรวมเข้าแจ้งความโดยอาศัยแบบฟอร์มแจ้งความจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) ที่พสิษฐ์ยืนยันว่าตนเองไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว ไม่ได้มีหน้าที่จับตาดูโพสต์ต่างๆ ที่เข้าข่าย 112 ในสื่อออนไลน์ เพียงแต่ได้ความช่วยเหลือเรื่องแบบฟอร์มนั้นมาจากรุ่นพี่ในกลุ่มดังกล่าว

    จากวันที่พสิษฐ์พบข้อความของจำเลยในเฟซบุ๊กจนถึงวันที่เข้าแจ้งความ คือตั้งแต่ 28 ม.ค. ถึง 21 เม.ย. 2564 นับเป็นเวลาห่างกันนานกว่า 3 เดือน พสิษฐ์ระบุว่าเหตุที่ใช้เวลานานเป็นเพราะเขาทำการสืบทราบตัวตนของจำเลยด้วยตนเอง ประกอบกับศึกษาข้อมูลกฎหมายเพิ่มเติม

    สำหรับการสืบทราบตัวตน พสิษฐ์กล่าวว่า เขาไล่ดูโพสต์เก่าๆ ในเฟซบุ๊กดังกล่าว ไปจนกระทั่งพบว่าจำเลยเคยถ่ายภาพการส่งสินค้าที่ระบุชื่อ-นามสกุล รวมถึงที่อยู่ไว้ชัดเจน จากนั้นก็ได้นำเอาชื่อที่พบมาเทียบเคียงกับชื่อเฟซบุ๊กของจำเลยซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ และเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนก็ได้นำข้อมูลทั้งหมดเข้าแจ้งความ

    อย่างไรก็ดี พสิษฐ์ยังระบุด้วยว่า นอกจากคดีนี้แล้วเขาได้เข้าแจ้งความในคดีมาตรา 112 ไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก อีกหลายคดี โดยผู้ที่ถูกกล่าวส่วนใหญ่เป็นคนในภูมิภาคอื่น ไม่ใช่คนในภาคใต้

    ในส่วนการตอบทนายจำเลยถามค้าน พสิษฐ์ยืนยันว่าตนเองไม่ใช่สมาชิกของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) ไม่ทราบกลุ่มเครือข่ายฯ มีสมาชิกกี่คน ทราบเพียงแต่ว่ามีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งยืนยันด้วยว่าตนเองได้รับอนุญาตให้นำแบบฟอร์มเอกสารแจ้งความมาใช้ โดยผู้ที่อนุญาตนั้นมีความสัมพันธ์กับตนเองในฐานะรุ่นพี่

    พสิษฐ์กล่าวด้วยว่าทางกลุ่มเครือข่ายฯ ดังกล่าว มีการจับตาดูโพสต์ที่เข้าข่าย 112 แล้วนำมาแจ้งความจริง แต่ตนเองไม่ได้ทำหน้าที่นั้น และที่เข้ามาแจ้งความนี้ก็เพียงแค่ว่างจากงานแล้ว เล่นเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ กระทั่งเจอข้อความจากเฟซบุ๊กของจำเลย โดยในการจัดทำเอกสารแจ้งความ ไม่ได้มีสมาชิกคนใดของกลุ่มเครือข่ายฯ เข้ามาช่วยเหลือ

    ตลอดการถามค้าน พสิษฐ์ยอมรับว่าแต่ละข้อความที่เขาใช้วิธีการแคปภาพหน้าจอ หรือแคปมาจากเฟซบุ๊กของจำเลยนั้นอาจเป็นการโพสต์คนละวัน คนละเหตุการณ์ ซึ่งเมื่อนำมาอ่านรวมกันแล้วอาจทำให้ตีความได้หลายความหมาย เขายอมรับด้วยว่า คำว่าพระมหากษัตริย์เป็นคำนาม และยังมีประเทศอื่นๆ อีกที่มีพระมหากษัตริย์ และเคยมีการปกครองด้วยกษัตริย์ หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยยอมรับว่า ข้อความทั้งหมดที่รวมรวบมาแจ้งความนั้น ไม่ได้มีชื่อหรือภาพของบุคคลใดๆ ปรากฏอยู่ พร้อมกับยอมรับว่า ข้อความหนึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งที่มีผู้แสดงความคิดเห็นอีกหลายคน หากแต่เขาไม่ได้นำส่งข้อความที่เป็นการแสดงความคิดเห็นของคนอื่นๆ ให้แก่ตำรวจ

    แต่ถึงกระนั้น พสิษฐ์เบิกความว่า การแจ้งความให้ดำเนินคดีมาตรา 112 ผู้อื่น ไม่ได้ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียเพราะเป็นการมาทำตามหน้าที่ของผู้จงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์

    ในการตอบคำถามติงของอัยการ พสิษฐ์กล่าวว่า ข้อความทั้งหมดจากเฟซบุ๊กของจำเลยที่ได้รวบรวมนำมาแจ้งความนั้น แม้จะไม่ได้ถูกโพสต์ในวันและเหตุการณ์เดียวกัน แต่ต้องการให้ดูที่เจตนาของจำเลย จึงได้รวบรวมนำมาแจ้งความ

    ++ตร.เชิญพยานโจทก์หลากหลายสาขาอาชีพมาให้ความเห็น ระบุเป็นกระบวนการสำหรับการทำคดี 112 ทุกคดี

    นอกจากผู้กล่าวหาและพนักงานสอนสวนแล้ว พยานโจทก์อื่นๆ เป็นผู้ที่มาจากสาขาวิชาชีพต่างๆ ซึ่งได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาเป็นพยานความเห็นในคดีมาตรา 112 โดยพบว่าหลายคนได้เป็นพยานในคดี 112 หลายคดีของ สภ.สุไหงโก-ลก

    - พยานโจทก์ปากที่ 2 ประทุม พัฒนวงษ์ ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป พยานปากนี้เคยเป็นผู้แจ้งความในคดี 112 ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ทำให้ได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนมาให้ความเห็นในคดีนี้ ประทุมได้สวมเสื้อยืดสีเหลืองสกรีนข้อความ “ทรงพระเจริญ ร.10” มาด้วย โดยระบุว่าเป็นเสื้อที่ขอมาจากกลุ่มเครือข่ายฯ

    พยานเบิกความว่าหลังจากดูทุกข้อความของจำเลยแล้วมีความเห็นว่าเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยตีความได้ว่าเป็นการใส่ร้าย โดยระบุว่าหลังจากได้ดูทุกๆ ข้อความแล้วรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ควรกล่าวร้าย เพราะพระมหากษัตริย์ทำอะไรให้ประเทศเยอะมาก ทั้งยังกล่าวด้วยว่า “ถือว่าสิ่งที่เด็กคนนี้แชร์เป็นสิ่งผิด” และ “แผ่นดินนี้ท่านมีแต่ให้”

    อย่างไรก็ตาม ประทุมตอบคำถามค้านของทนายจำเลยโดยยอมรับว่า ข้อความทั้งหมดเป็นข้อความที่โพสต์กันคนละวัน คนละเหตุการณ์ แต่เมื่อเห็นอยู่รวมกันแล้ว อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวหรือมีความหมายเดียวกัน

    นอกจากนี้ ประทุมยังเบิกความตอบทนายจำเลยเพิ่มเติมด้วยว่าตนเองไม่ได้มีกลุ่มก้อนทางการเมืองใดๆ อยู่คนเดียว เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูป โดยมองว่าคำว่าปฏิรูปไม่ได้มีความหมายว่าการทำให้ดีขึ้น โดยระบุว่า ณ ตอนนี้ดีอยู่แล้ว

    - พยานโจทก์ปากที่ 3 ประสิทธิ์ ศรีสืบ ทนายความ เบิกความว่า ตนเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีเพราะเป็นประธานสภาทนายความจังหวัดนราธิวาส และได้รับการเชิญจากเจ้าพนักงานตำรวจให้เข้ามาเป็นพยานในคดี โดยสำหรับคดี 112 นี้พยานได้ดูข้อความแล้วและได้ลงนามรับรองในเอกสารของพนักงานสอบสวนแล้ว และระบุด้วยว่า นอกจากคดีนี้แล้วยังเป็นพยานในคดีอื่นๆ ด้วย แต่เป็นไม่ถึง 10 คดี

    ทั้งนี้ เมื่อพนักงานอัยการถามถึงข้อความในคดี พยานเบิกความว่าไม่ขอตอบ อัยการจึงถามใหม่ แต่พยานก็ยืนยันว่าไม่ขอออกความเห็นดังเดิม พร้อมกับยืนยันว่าขอเบิกความตามที่พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนเข้ามา

    ประสิทธิ์ตอบทนายจำเลยถามค้านโดยยอมรับว่า ข้อมูลที่พสิษฐ์นำส่งให้แก่ตำรวจนั้น ได้มาด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอ ขณะเดียวกันก็ยืนยันที่จะไม่ขอออกความเห็นต่อข้อความทั้งหมด และไม่มีความเห็นว่าการแจ้งความมาตรา 112 จำนวนมาก จะสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่

    - พยานโจทก์ปากที่ 4 ทัศนีย์ อกนิษฐ์กุล แม่ยายของพสิษฐ์ เบิกความว่า ลูกเขยของตนไม่ชอบให้ใครดูหมิ่นสถาบันฯ เมื่อเกิดเหตุแบบนี้จะต้องเข้าช่วยเหลือสถาบันฯ ในวันที่ 28 ม.ค. 2564 พสิษฐ์ได้นำข้อความต่างๆ จากเฟซบุ๊กของจำเลยมาให้ดู เมื่อดูแล้วเธอรู้สึกว่าข้อความทั้งหมดเป็นการดูหมิ่นว่าร้ายให้แก่พระมหากษัตริย์ เป็นการมุ่งร้ายต่อรัชกาลที่ 10 แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อได้อ่านข้อความแล้วทัศนีย์ระบุว่าเธอไม่ได้เชื่อตามข้อความเหล่านั้นแต่อย่างใด

    ทัศนีย์ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน โดยระบุว่าพสิษฐ์รวบรวมข้อมูลเพื่อทำเอกสารร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอ จากนั้นนำเข้าไปปรับแต่งในโปรแกรม Microsoft Word โดยไม่มีการระบุวันที่ของแต่ละข้อความ ซึ่งตัวเธอเองก็ไม่ทราบว่าแต่ละข้อความนั้นถูกโพสต์ขึ้นวันใด และเนื่องในเหตุการณ์ใด รวมทั้งยอมรับด้วยว่าในทุกโพสต์ของจำเลยไม่มีการระบุชื่อ หรือภาพของรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.855/2564 ลงวันที่ 10 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46715)
  • - พยานโจทก์ปากที่ 5 อภินันท์ ชาจิตตะ ปลัดอำเภอ เบิกความว่า เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับการประสานจากตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ให้มาเป็นพยาน โดยในตอนนั้นตำรวจได้บอกแก่พยานว่า จำเลยกระทำความผิดด้วยการโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก พร้อมกับนำเอกสารซึ่งเป็นข้อความตามที่ปรากฏในสำนวนฟ้องมาให้ดู เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้วเข้าใจว่าจำเลยด้อยค่าพระมหากษัตริย์ไทย แต่ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใด ส่วนในแง่ของบริบทนั้น เข้าใจว่าจำเลยพูดถึงประเทศไทย พูดถึงสถาบันกษัตริย์ไทย แต่จะสื่อความหมายอย่างไรนั้น ไม่อาจทราบได้

    อภินันท์ตอบทนายจำเลยถามค้านโดยยอมรับว่า เอกสารที่พสิษฐ์จัดทำขึ้น ไม่มีการระบุวันที่ที่ชัดเจน ทำให้เขาไม่ทราบว่าจำเลยได้โพสต์หรือแชร์ข้อความนี้ไว้เมื่อใด รวมทั้งระบุด้วยว่าการอ่านข้อความที่จำเลยโพสต์นั้นต้องอาศัยการตีความ ซึ่งตนเองไม่ขอออกความเห็น

    - พยานโจทก์ปากที่ 6 กิตติศักดิ์ กังวานโยธากุล รองนายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดี เพราะทางตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ต้องการความเห็นเกี่ยวกับ “คดีหมิ่นเบื้องสูง” ที่หลากหลาย จึงประสานมาขอความร่วมมือให้มาเป็นพยานในคดี

    กิตติศักดิ์เบิกความว่า หลังจากอ่านข้อความตามฟ้องแล้ว เขามีความเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไทย หากแต่เมื่อให้ระบุชี้ชัดว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใด กิตติศักดิ์ก็ลังเลในคำตอบระหว่างรัชกาลที่ 9 และ 10

    ทนายจำเลยพยายามถามค้านว่า ในฐานะนักการเมืองท้องถิ่น เฟซบุ๊กของกิตติศักดิ์เป็นลักษณะแฟนเพจสาธารณะที่มีผู้ดูแล หรือที่เรียกว่าแอดมินใช่หรือไม่ แต่คำถามดังกล่าวถูกศาลติง เนื่องจากสร้างความไม่เข้าใจให้แก่พยาน ก่อนที่ทนายจำเลยจะเปลี่ยนคำถามใหม่ แล้วได้คำตอบว่ากิตติศักดิ์เป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กของตนเองแต่เพียงผู้เดียว

    อย่างไรก็ตาม กิตติศักดิ์ยอมรับว่าเอกสารของพสิษฐ์ทำขึ้นด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอและไม่มีการระบุวันที่ที่ชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่าแต่ละข้อความคือเหตุการณ์ใด ที่ใด และวันเวลาใด ทั้งยังยอมรับด้วยว่าในทุกข้อความไม่มีภาพหรือชื่อของบุคคลใดๆ ปรากฏอยู่ นอกจากนี้แล้ว ยังระบุด้วยว่าหากอ่านข้อความจากเฟซบุ๊กของจำเลยแยกกัน ก็อาจทำให้มีความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งก็เป็นได้

    - พยานโจทก์ปากที่ 7 กีรติกานต์ บุญฤทธิ์ อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เบิกความว่า พยานได้รับการติดต่อประสานจากพนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก ให้มาเป็นพยาน ผ่านการส่งหนังสือเชิญไปยังต้นสังกัด ก่อนที่ทางตำรวจจะเข้าไปหาถึงที่ทำงาน พร้อมนำเอกสารที่เป็นข้อความจากเฟซบุ๊กในคดีไปให้ดูด้วย โดยทางตำรวจไม่ได้แจ้งว่าใครเป็นจำเลยในคดีนี้

    กีรติกานต์เบิกความว่า สำหรับข้อความว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม เป็นคนธรรมดายังเป็นไม่ได้” พยานตีความตามหลักภาษาไทยได้ว่า กษัตริย์หมายถึงผู้ปกครอง นักรบ และพยานได้วิเคราะห์ว่า คน หมายถึงมนุษย์ ซึ่งตามพจนานุกรมมีความหมายว่า เป็นสัตว์ที่มีความคิด มีเหตุผล และเมื่ออ่านข้อความแล้ว ก็ตีความได้ว่า จะเป็นผู้ปกครองไปทำไม หากยังมีความคิดหรือเหตุผลไม่ได้เลย พยานมีความเห็นว่าอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นคำถามที่สะกิดให้คิดต่อ และตีความได้ว่าหมายถึงการเป็นผู้บกพร่องในหน้าที่

    ส่วนข้อความว่า “วอร์มปากรอแล้วเนี่ย” พยานไม่ได้เห็นข้อความนี้ในวันที่ตำรวจไปหาที่ทำงาน และพยานเบิกความว่า หมายถึงการเตรียมพร้อม หรือการรอที่จะตอบโต้ ส่วนจะเป็นการรออะไรนั้น พยานตอบว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับข้อความก่อนหน้า

    พยานเบิกความว่าสำหรับข้อความที่จำเลยเขียนกำกับไว้ในการแชร์โพสต์จากเพจธนวัฒน์ วงค์ไชย ที่ว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง” นั้นพยานมองว่าข้อความที่อยู่ในต้นโพสต์แสดงความหดหู่ ส่วนประโยคของจำเลยแสดงความท้าทายว่า ให้ยกเลิก 112 ก่อนแล้วมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง

    เมื่อพนักงานอัยการให้พยานดูคำให้การของตนในชั้นสอบสวน ว่าเป็นเรื่องของการ์ดที่โดนยิง พยานก็เบิกความว่า ข้อความยกเลิก 112 เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การชุมนุม หรือการจับกุม โดยพยานไม่ทราบว่าเป็นเหตุการณ์ใด เกิดขึ้นเมื่อใด และจากข้อความถือเป็นการบอกเล่า แจ้งให้ทราบโดยทั่วไป

    ในข้อความที่ “กระสุนพระราชทานเข้า 1” พยานเบิกความว่า คำว่า พระราชทาน มีนัยตามหลักภาษาไทยว่าเป็นคำราชาศัพท์ โดยคำนี้จะใช้ได้ 2 ลำดับ คือ กษัตริย์และราชินี แต่ในบริบทปัจจุบันสามารถใช้กับสมเด็จพระเทพฯ ด้วยก็ได้ ซึ่งเมื่ออ่านข้อความแล้วเข้าใจว่าหมายถึงทั้ง 3 พะองค์ แต่หากตอบตามสามัญสำนึกก็จะเหลือเพียงองค์เดียว คือรัชกาลที่ 10

    พยานเบิกความว่า จากทั้ง 4 ข้อความ พยานตีความได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ คือรัชกาลที่ 10 เพราะดูจากบริบททางการเมืองในปัจจุบันที่รัชกาลที่ 10 กำลังครองราชย์อยู่

    ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พยานเบิกความว่า หลักการตีความในวิชาภาษาไทยจะต้องประกอบด้วย ความเข้าใจในถ้อยคำ และบริบทของข้อความ ซึ่งหมายถึงวันและเวลาที่ข้อความถูกสร้างขึ้น รวมถึงเจตนาของผู้สื่อสาร พยานยอมรับว่า เอกสารตามฟ้องทำขึ้นด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอ และข้อความที่ 1 ถึง 3 ไม่ได้มีการระบุวัน-เวลาที่ชัดเจนว่าโพสต์เมื่อไหร่

    พยานยอมรับว่า เมื่อดูข้อความที่ถูกวางรวมเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมดแล้ว ทำให้เกิดความเข้าใจเดียวกัน และเข้าใจว่าเป็นไปในบริบทเดียวกัน แต่ขณะเดียวกัน หากอ่านแต่ละข้อความในวันเวลาที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้มีความเข้าใจที่ต่างออกไปได้ แต่กระนั้น พยานยืนยันว่าความหมายหรือการสื่อถึงใครยังคงเดิม เพราะข้อความทั้งหมดเป็นเรื่องซ้ำๆ กัน ในส่วนนี้ศาลได้บันทึกว่า การอ่านข้อความในวันเวลาที่ต่างกัน ทำให้เกิดความเข้าใจที่ต่างกันออกไปเพียงเล็กน้อย

    ทนายจำเลยถามว่าข้อความว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม เป็นคนธรรมดายังเป็นไม่ได้” เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือการตั้งคำถาม พยานเบิกความว่าเนื่องจากไม่ทราบข้อความในต้นโพสต์ ทำให้ไม่อาจตีความได้ โดยยอมรับว่าการจะตีความได้นั้นจำเป็นต้องทราบข้อความในต้นโพสต์ด้วย

    เช่นเดียวกับข้อความที่จำเลยเขียนกำกับไว้ในการแชร์โพสต์จากเพจธนวัฒน์ วงค์ไชย ซึ่งพยานก็เบิกความยอมรับว่าข้อความต้นโพสต์ไม่ครบถ้วนทำให้ตีความไม่ได้ ถ้าจะตีความได้ ก็ทำได้เพียงแค่ข้อความของจำเลยว่า ถ้ายกเลิก 112 ก็คือจะมีเรื่องเล่าให้ฟัง เช่นเดียวกันการแชร์โพสต์จากเพจสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่พยานเบิกความว่า ไม่ทราบข้อความต้นโพสต์

    ทั้งนี้ พยานทราบว่ามีการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 และยอมรับว่าประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชื่อกันเพื่อยกเลิกข้อกฎหมายได้

    อย่างไรก็ตาม กีรติกานต์ยืนยันว่าทั้ง 4 ข้อความ เป็นข้อความที่ต้องมีการตีความประกอบการอ่าน และไม่ถือว่าข้อความทั้งหมดเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง การตีความนั้นจะต้องเกิดจากการเข้าใจพื้นฐานของบุคคลนั้นๆ ที่สร้างข้อความขึ้น เว้นแต่ว่าจะเป็นข้อความธรรมดาสามัญทั่วไป

    ++พนักงานสอบสวนรับผู้กล่าวหาแคปภาพหน้าจอมาให้เอง ไม่ได้เข้าตรวจสอบเฟซบุ๊ก ไม่ทราบใครโพสต์

    พยานโจทก์ปากที่ 8 พ.ต.ท.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความถึงวิธีการสอบสวนที่มีการเชิญพยานโจทก์จากหลายสาขาวิชาชีพว่า เป็นข้อกำหนดของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่มีมติว่า จะเชิญพยานจากที่ต่างๆ มาสอบสวน เช่น นักวิชาการ (ในคดีนี้คือนักวิชาการด้านภาษาไทย) นักการเมืองท้องถิ่น บุคคลทั่วไป และข้าราชการฝ่ายปกครอง รวมถึงทนายความ ซึ่งกระบวนเช่นนี้จะใช้กับทุกคดี 112 ที่ส่งฟ้องในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยเหตุผลที่ต้องเชิญจากหลายภาคส่วน ก็เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย

    พยานเบิกความว่า จากข้อความทั้ง 4 โพสต์ในคดีนี้ อ่านแล้วเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ และเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยพยานได้สอบสวนจำเลยในวันที่ 22 มิ.ย. 2564 โดยในวันนั้นจำเลยได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาและให้ความร่วมมือแต่โดยดี จำเลยได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนนำเข้าข้อความในเฟซบุ๊ก และระบุว่าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยมีผู้เข้าใช้มากกว่าหนึ่งคน คือ แฟนหนุ่มที่ได้เลิกรากับจำเลยแล้ว และต่อมาจำเลยก็ได้เปลี่ยนรหัสเข้าใช้งานเฟซบุ๊กของตนเอง

    ทั้งนี้ พ.ต.ท.นที เบิกความว่า คณะพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยในข้อหา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยเหตุว่ามีภาพโปรไฟล์ ทะเบียนราษฎร และมีพยานบุคคล ประกอบกับมีข้อความที่เข้าข่ายตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะข้อความเหล่านั้นเป็นเท็จ

    พยานยังเบิกความว่า นอกจากคดีนี้ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ยังได้แจ้งความในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 อีกหลายคดี โดยแจ้งที่ สภ.สุไหงโก-ลก ทั้งหมด

    ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พยานเบิกความว่าเฉพาะคดี 112 ที่แจ้งโดยพสิษฐ์ ที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ มีประมาณ 10 คดี โดยพยานระบุว่า พสิษฐ์เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน และมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่อยู่ของจำเลยมาให้ตำรวจ

    พยานยอมรับว่า พสิษฐ์ได้ทำเอกสารแจ้งความร้องทุกข์ขึ้นด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอมา ทำให้ไม่ปรากฏ URL นอกจากนี้แล้วพยานยังยอมรับด้วยว่า ตนเองในฐานะพนักงานสอบสวนไม่ได้เข้าไปตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย แล้วยังได้เบิกความต่อด้วยว่า ตนไม่ทราบว่าข้อความทั้งหมดนั้นถูกโพสต์โดยจำเลยจริงหรือไม่

    ในส่วนของวันเวลาที่โพสต์ข้อความนั้น พยานยอมรับว่าไม่ได้ระบุไว้ในเอกสาร ทั้งยอมรับด้วยว่าไม่มีชื่อหรือภาพของบุคคลใดๆ ปรากฏอยู่ในโพสต์

    จากการสอบสวน พยานพบว่าข้อความทั้งหมดต้องการการตีความ และสามารถตีความได้หลายทาง โดยแต่ละความหมายจะขึ้นอยู่กับความรู้และความเข้าใจของผู้ตีความ โดยพยานเองก็ไม่ได้ทำการสอบสวนพสิษฐ์ เกี่ยวกับข้อความต้นโพสต์ที่จำเลยได้แชร์มาทั้ง 2 โพสต์

    ทั้งนี้ ศาลได้ถามพยานว่าเมื่อตอนแจ้งความ พสิษฐ์ได้ระบุหรือไม่ว่า เขาพบเห็นข้อความทั้งหมดในวันเดียวกัน แล้วเหตุใดตำรวจจึงมีความเห็นสั่งฟ้องเป็น 2 กรรม ซึ่งพยานก็เบิกความต่อศาลว่านับ 1 ข้อความ เป็น 1 กรรม แต่ถึงอย่างนั้น พยานก็ยืนยันว่าจำเลยให้ความร่วมมือในการดำเนินคดีเป็นอย่างดี แต่ก็ยอมรับด้วยว่าเมื่อตอนสอบคำให้การจำเลย ตนเองไม่ได้ถามว่า จำเลยประกอบอาชีพอะไร

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.855/2564 ลงวันที่ 11 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46715)
  • ทนายจำเลยนำพยานจำเลยขึ้นเบิกความจำนวน 1 ปาก คือ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นผู้ร่วมทำวิจัยว่าด้วยเรื่องผลกระทบของการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2555 และยังเคยจัดอบรมความรู้ว่าด้วยการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับทนายความและนักกฎหมาย

    โดยภาพรวม ยิ่งชีพเบิกความชี้ให้เห็นว่า การรวบรวมพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ในคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย จำต้องทำให้ศาลสิ้นสงสัย โดยหลักการของการยืนยันตัวตนฯ ประกอบด้วยหลักฐานอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

    1. หลักฐานว่ามีข้อความอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้

    2. วิธีการจับภาพหน้าจอเป็นวิธีการที่มีปัญหา เพราะไฟล์ที่ได้นั้นเป็นไฟล์ภาพ และไฟล์ดังกล่าวสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้

    3. หมายเลข IP Address ของผู้โพสต์ข้อความ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 ในการขอหมายเลข IP Address ซึ่งเมื่อได้หมายเลขมา จึงจะสามารถดำเนินการตรวจสอบตัวตนได้

    4. เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบประวัติการเข้าใช้งานเว็บไซต์ การล็อกอิน หรือการโพสต์ ซึ่งการกระทำแต่ละอย่างจะทิ้งร่องรอยไว้อยู่ภายในคอมพิวเตอร์แม้ว่าจะลบไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถตรวจสอบได้

    จากนั้นทนายจำเลยให้พยานดูเอกสารที่พสิษฐ์จัดทำขึ้น พยานให้ความเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการแคปภาพหน้าจอที่ผ่านการตัดแต่งมาแล้ว ดังจะสังเกตได้จาก

    1. ภาพถ่ายหน้าจอปกติจะต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เวลา วันที่ และปริมาณแบตเตอรี่ปรากฏอยู่ที่ด้านบนของภาพ แต่ในเอกสารไม่มีสิ่งเหล่านี้

    2. ขนาดของภาพควรที่จะต้องเป็นภาพที่มีขนาดและมาตราส่วนเท่ากันทุกภาพ แต่ในเอกสารจะเห็นได้ว่าภาพมีอัตราส่วนที่ไม่เท่ากัน แสดงให้เห็นว่ามีการตัดต่อภาพไปแล้วบางส่วน

    3. ภาพจากการจับภาพหน้าจอจะไม่มีกรอบ แต่ภาพที่ปรากฏในเอกสารนั้นมีกรอบ แสดงว่ามีการทำอะไรบางอย่างกับภาพมาก่อนหน้านี้แล้ว

    ทั้งนี้ พยานยังยืนยันด้วยว่าการตัดต่อภาพนั้นทำได้โดยง่าย เพียงแค่ใช้โปรแกรมธรรมดาก็สามารถตัดต่อได้

    ในระหว่างที่มีการถามค้าน พนักงานอัยการพยายามถามว่าพยานไม่ได้เป็นผู้ที่เข้าเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยมีเอกสารทางวิชาการ หรือใบรับรองจากสถานศึกษาใดๆ

    หากแต่ในการตอบคำถามติงของทนายจำเลย พยานได้เบิกความว่าตนเองไม่เคยเข้าเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในสถาบันการศึกษา แต่ก็มีข้อเท็จจริงว่าได้รับการอบรมโดยบุคคลที่สำเร็จการศึกษาในด้านดังกล่าวโดยตรง ประกอบกับมีประสบการณ์จากการทำงานที่ทำให้สรุปได้ว่าพยานมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้

    นอกจากนี้ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่พยานหลักฐานของโจทก์ต้องสามารถทำให้ศาลสิ้นสงสัยได้
    .
    การสืบพยานสิ้นสุดลงเมื่อเวลาประมาณ 11.50 น. ทนายจำเลยขอส่งคำแถลงปิดคดีภายในระยะเวลา 30 วัน ซึ่งศาลอนุญาต พร้อมกับกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยานจำเลย ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.855/2564 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46715)
  • ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา

    คำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุปว่า แม้ผลการตรวจสอบจะไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่โจทก์มีพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน มาเบิกความถึงเหตุการณ์ที่รู้เห็นมาเป็นลำดับขั้นตอน ประกอบกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ที่ให้การว่าจำเลยเปิดบัญชีเฟซบุ๊กโดยมีบุคคลอื่น คือแฟนของจำเลยเข้าไปใช้ได้ หากแต่เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ทั้งคู่ได้เลิกกันและได้มีการเปลี่ยนรหัสเฟซบุ๊ก ศาลจึงเห็นว่าจำเลยเป็นคนใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความตามฟ้องดังกล่าว

    ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อความตามฟ้อง ประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า ข้อความทั้งหมดของจำเลยหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ข้อความมีลักษณะเจตนามุ่งหมายให้คนอ่านข้อความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ศาลจึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

    หลังศาลอ่านคำพิพากษา กัลยาถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องขังของศาล ขณะเดียวกันทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์

    ต่อมาเวลา 11.15 น. โดยประมาณ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม นอกจากต้องวางหลักทรัพย์เพิ่มเติมอีก 50,000 บาท จากเดิมที่วางไว้ 150,000 บาท รวมเป็นวางหลักทรัพย์ในการประกันตัว 200,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.855/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.853/2565 ลงวันที่ 2 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46764)
  • กัลยาได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

    1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็น ความผิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศมีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ประชาชนที่อ้างว่ามีจงรักภักดีได้มีการนํามาเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ซึ่งได้กระทำในนามกลุ่มประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) จึงเป็นพยานที่มีอคติและเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนอีกฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง

    ในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลจึงจําต้องพิจารณาคดีโดยใช้ดุลพินิจอย่างละเอียดรอบคอบ และการจะลงโทษจําเลยนั้นต้องมีพยานหลักฐานที่แน่นหนา มั่นคง ชัดเจน ได้รับการพิสูจน์อย่างสิ้นสงสัยว่า จําเลยเป็นผู้กระทําผิดจริงหรือไม่ มิฉะนั้น ผลกระทบจะก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยง และอาจส่งผลตรงกันข้ามเป็นการบั่นทอนความเคารพศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดถึงระบบยุติธรรมทางอาญาและหลักนิติรัฐได้

    2. คดีนี้ ผู้กล่าวหาได้ใช้วิธีการถ่ายรูปจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือแคปข้อความ และนํามาใส่ในโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด โดยนําข้อความและภาพของคนละวันเวลา คนละเหตุการณ์ มาจัดวางเรียงกันประกอบกันและสั่งพิมพ์ออกมา โดยไม่ได้สั่งพิมพ์โดยตรงมาจากเฟซบุ๊ก ทำให้ไม่ปรากฏ URL แหล่งที่มาของภาพและข้อความ เป็นพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจถูกตัดต่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

    ทั้งโพสต์ข้อความที่ผู้กล่าวหาอ้างว่ามีการแชร์มาจากโพสต์ของธนวัฒน์ วงค์ไชย โดยได้ตรวจพบและแคปหน้าจอมาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 นั้น เป็นข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 แสดงให้เห็นว่าการแคปหน้าจอและข้อความของผู้กล่าวหามีข้อพิรุธน่าสงสัยเกี่ยวกับวันเวลาที่พบเห็น และมีผู้กล่าวหาเป็นพยานโจทก์ปากเดียวที่อ้างว่าพบเห็นข้อความดังกล่าว โดยพนักงานสอบสวนก็รับว่า ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบในบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวว่ามีข้อความจริงหรือไม่ พยานหลักฐานดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้

    ทั้งโพสต์แคปชั่นการแชร์ดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ซึ่งประชาชนทั่วไปมีสิทธิจะเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายได้ หากศาลนำประเด็นการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ไปประกอบว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 จะส่งผลประหลาดในทางกฎหมายได้

    ส่วนภาพที่มีข้อความว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม…” เป็นข้อความแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ข้อความต้นโพสต์ โดยไม่ทราบว่าต้นโพสต์เป็นเรื่องอะไร และมีลักษณะเป็นการตัดต่อข้อความบางส่วนออก และตัดเอาบางส่วนของข้อความคอมเมนต์มาประกอบกัน โดยที่คำว่า “ตอบกลับ” และ “ถูกใจ” ในฟังก์ชั่นของเฟซบุ๊ก ไม่ได้อยู่ในบรรทัดเดียวกัน ตามลักษณะปกติของแพลตฟอร์ม พยานหลักฐานดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อถือและเป็นที่น่าสงสัย

    พยานหลักฐานที่ผู้กล่าวหาจัดทำมา ยังมีลักษณะเป็นการนำข้อความซึ่งมีบริบทเหตุการณ์ วันเวลาแตกต่างกัน แต่นำมาวางประกอบกัน เพื่อมุ่งให้อ่านข้อความทั้งหมดในคราวเดียว แล้วเกิดความเห็นสื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อภาพและข้อความแต่ละโพสต์ไม่ระบุวันเวลาชัดเจน ศาลไม่อาจนำมาวินิจฉัยความหมายแต่ละข้อความว่า เป็นเหตุการณ์วันเวลาและสื่อความหมายในบริบทเดียวกันได้

    ขณะที่ข้อความที่มาจากการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่า เกี่ยวกับเหตุการณ์ใด ไม่ปรากฏชื่อบุคคลใด ๆ ไม่ปรากฏภาพบุคคลใด เป็นข้อความที่ต้องตีความ ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง การตีความขึ้นอยู่กับทัศนคติความเชื่อของแต่ละคนซึ่งอาจแตกต่างกัน การที่ศาลชั้นต้นนำภาพและข้อความมาเชื่อมโยง และตีความเพื่อให้หมายถึงรัชกาลที่ 10 จึงขัดต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏ ทั้งองค์ประกอบความผิด ดูหมิ่น หมิ่นประมาทนั้น การใส่ความจะต้องระบุตัวบุคคลแน่นอนว่าเป็นใครหรือต้องได้ความหมายถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ ข้อความที่ต้องอาศัยการตีความจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

    เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจําเลยได้กระทําความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จําเลย โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่ามีการกระทําความผิดเกิดขึ้นจริงและจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันมาตรา 112 ถูก นํามาใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมและส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน ศาลอุทธรณ์จึงมีความจําเป็นที่ต้องพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งปวงอย่างถี่ถ้วนยิ่งกว่าเพื่อวางมาตรฐานความยุติธรรมไม่ให้ครหาได้

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.855/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.853/2565 ลงวันที่ 30 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60721)
  • กัลยาเดินทางไปที่จังหวัดนราธิวาสตามที่ศาลจังหวัดนราธิวาสกำหนดนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 แต่ศาลได้แจ้งเลื่อนนัดออกไป เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยังอยู่ระหว่างจัดทำคำพิพากษา โดยนัดฟังคำพิพากษาครั้งใหม่ในวันที่ 20 ต.ค. 2566
  • กัลยาเดินทางไปฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีใจความโดยสรุปเห็นว่า ข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง พยานโจทก์ต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่ออ่านแล้วเห็นว่าเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 ได้รับความเสียหาย

    พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ภายหลังได้รับคำร้องทุกข์ ได้ขอตรวจสอบหาบุคคลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าวจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วได้รับแจ้งว่าไม่พบ เนื่องจากผู้ใช้งานอาจลบข้อมูลหรือผู้ให้บริการปิดบัญชีไม่ให้ใช้งาน จึงสืบสวนจากรูปภาพเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและข้อมูลทะเบียนราษฎร แล้วได้อดีตคนรักของจำเลยมาให้การว่า ในขณะที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้งคู่ได้เลิกกันแล้ว และอดีตคนรักไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กของจำเลยได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านไปแล้ว

    แม้จำเลยจะเบิกความว่า ตนเองไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง แต่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้รับในชั้นสอบสวนว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความ แต่การโพสต์ข้อความเกิดในช่วงเวลาที่จำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กของตนได้เพียงลำพัง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กรณีไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

    ภายหลังฟังคำพิพากษา ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท แต่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ทำให้ในวันนี้กัลยาจะต้องเข้าไปถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อรอฟังคำสั่งประกันตัวต่อไป

    คดีของกัลยานับเป็นคดี 112 คดีที่ 2 ซึ่งมีพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้แจ้งความไว้ และมีคำพิพากษาในระดับศาลอุทธรณ์ออกมา โดยก่อนหน้านี้มีคดีของอุดม ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็ได้มีคำพิพากษายืนจำคุก 4 ปี โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวสู้คดีในชั้นฎีกา ทำให้ในตอนนี้ เขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสเช่นเดียวกัน

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีหมายเลขดำที่ อ.855/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.853/2565 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60779)
  • ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันกัลยาระหว่างฎีกา ระบุว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี หากปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลฎีกา ลงวันที่ 22 ต.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60779)
  • ทนายความยื่นประกันกัลยาระหว่างฎีกาเป็นครั้งที่ 2 โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 500,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพของจำเลย ซึ่งป่วยเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขา จำเป็นต้องกินยาสลายลิ่มเลือดและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เพราะหากอาการกำเริบจะทำให้เกิดอาการชาบริเวณแขนและขาอย่างรุนแรง และทำให้จำเลยไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวได้ การขังจำเลยไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของจำเลย

    นอกจากนี้ พฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้ไม่ปรากฏเหตุที่ศาลจะไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 108/1 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29

    ต่อมา ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ก่อนที่ในวันที่ 2 พ.ย. 2566 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันกัลยา ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่อ้างตามคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกามิใช่เหตุเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม และเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบขอปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างฎีกา ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.855/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.853/2565 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2566 และคำสั่งศาลฎีกา ลงวันที่ 2 พ.ย. 2566)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
กัลยา (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
กัลยา (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. อธิรัตน์ ยงคะอักษร
  2. ภาธิณี บูรณะกิจไพบูลย์
  3. อธิคม จำปา

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 02-08-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
กัลยา (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นภดล ลัญฉเวโรจน์
  2. อมฤตา ไพรภิมุข
  3. เลิศชัย ภักดีฉนวน

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 20-10-2023

ศาลฎีกา

ผู้ถูกดำเนินคดี :
กัลยา (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์