สรุปความสำคัญ

วัชระและวิรชัช 2 นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาวัย 19 ปี ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์โดยการโฆษณา" จากการแขวนป้าย “ผู้นำส้นตีน … ก็ส้นตีน” วิจารณ์รัฐบาลและกษัตริย์ที่หอระเบียงหอพัก เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 โดยศาลจังหวัดชลบุรีออกหมายจับนักศึกษาทั้งสอง อย่างไรก็ตาม หลังวัชระถูกจับกุมตามห,ายจับ และวิรชัชเข้ามอบตัว ทั้งสองได้รับการประกันตัว โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามการกระทำใดในลักษณะตามที่ถูกกล่าวหาอีก

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ออกไปอย่างกว้างขวางซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาซึ่งต้องตีความอย่างเคร่งครัด เนื่องจากกฎหมายอาญามีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • วัชระ (สงวนนามสกุล)
    • วิรชัช (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • วัชระ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • วิรชัช (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

13 ก.ค. 2564 วัชระ, วิรชัช พร้อมเพื่อนอีก 1 ราย ถูกตำรวจ สภ.แสนสุข จ.ชลบุรี ควบคุมไปสอบปากคำที่ สภ.แสนสุข โดยไม่มีหมายจับ และไม่มีการแจ้งถึงสาเหตุที่ควบคุมตัว เบื้องต้นคาดว่า เหตุมาจากการติดป้ายประท้วงรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ที่ระเบียงหอพัก

ก่อนหน้าควบคุมตัวไป เจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์และเข้าตรวจค้นห้อง ก่อนยึดป้ายที่ติดอยู่บนระเบียงไป ทั้งยังให้บอกรหัสเข้าถึงโทรศัพท์ โดย 2 ใน 3 คน ยินยอมให้รหัสกับเจ้าหน้าที่

โดยในการสอบปากคำ ตำรวจไม่ยินยอมให้ทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้าร่วมด้วย โดยอ้างว่ายังไม่ใช่เป็นผู้ถูกจับกุม และยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา แต่เป็นการสอบถามข้อมูล และแยกนิสิตทั้งสามคนไปซักถามคนละห้อง มีการสอบปากคำถึง 2 รอบ โดยรอบแรกสอบโดยฝ่ายสืบสวน และรอบที่ 2 เป็นพนักงานสอบสวน ภายหลัง ทนายความและผู้ช่วย ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ติดตามไป ยืนยันขอเข้าร่วมกระบวนการ เนื่องจาก 1 ใน 3 กังวลใจจนร้องไห้

ในที่สุดตำรวจได้ปล่อยตัวนิสิตทั้งสาม โดยไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ทนายความได้ให้ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้ เนื่องจากการควบคุมตัวไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่มีหมาย อีกทั้งตำรวจยังไม่ให้สำเนาบันทึกการซักถามด้วย

(อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2021/07/93951)

23 ต.ค. 2564 วัชระถูกจับกุมจากที่พักในกรุงเทพฯ ตามหมายจับศาลจังหวัดชลบุรี ในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์โดยการโฆษณา" จากนั้นจึงถูกนำตัวไปยัง สน.แสมดำ เพื่อทำบันทึกจับกุม และถูกควบคุมตัวต่อไปยัง สภ.แสนสุข ซึ่งเป็นสถานีตำรวจเจ้าของคดี และถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจในคืนนั้น

บ่ายวันที่ 24 ต.ค. 2564 วิรชัช เพื่อนนิสิตจากมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งทราบว่าถูกออกหมายจับเช่นเดียวกันได้เข้ามอบตัวที่ สภ.แสนสุข พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนในข้อหาตามมาตรา 112 ระบุว่า นำป้ายผ้ามี “ข้อความมิบังควร” ไปแขวนไว้ที่ระเบียงหอพักเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564

นิสิตทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยพนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นตำรวจนี้ ก่อนศาลจังหวัดชลบุรีให้ประกันในชั้นฝากขัง โดยตีหลักประกันเป็นวงเงินคนละ 150,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามการกระทำใดในลักษณะตามที่ถูกกล่าวหาอีก

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.แสมดำ ลงวันที่ 23 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36949)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์