ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
ดำ อ.676/2565

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ยุทธการ เมธา รอง ผกก.สส.สภ.แม่แตง (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.676/2565
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ยุทธการ เมธา รอง ผกก.สส.สภ.แม่แตง

ความสำคัญของคดี

กรรณิกา (นามสมมติ) วัยรุ่นชาวเชียงใหม่อายุ 19 ปี ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่า พ่นสีเป็นรูป “III” บนรูปภาพรัชกาลที่ 10 และราชินี หน้า บก.ตชด. ภาค 3 รวมทั้งที่กรอบและฐานรูปรัชกาลที่ 10 หน้าเทศบาลตำบลอินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ กรรณิกายังถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ กรณีที่มีการพ่นสีข้อความบนกำแพงและถนนหน้าเทศบาลตำบลอินทขิล อย่างไรก็ตาม ในชั้นสอบสวนตำรวจไม่ได้ควบคุมตัวหรือขอฝากขังกรรณิกา และศาลให้ประกันตัวในชั้นพิจารณา

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ออกไปอย่างกว้างขวางซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาซึ่งต้องตีความอย่างเคร่งครัด ทำให้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในทางต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในสังคม

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ปิยาพร นครไทยภูมิ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ บรรยายพฤติการณ์คดีในคำฟ้อง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2564 จำเลยกระทำความผิดหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. จำเลยใช้สีสเปรย์สีแดงพ่นเป็นเส้นตรง จำนวน 3 ขีด (III) ขนานเป็นแนวบนล่าง ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และราชินี ซึ่งติดตั้งไว้ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 3 ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประชาชนทั่วไปพบเห็นเข้าใจว่าเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อต้านรัฐบาล

2. จำเลยใช้สีสเปรย์สีแดงพ่นเป็นเส้นตรงจำนวน 3 ขีด เป็นแนวบนล่าง บนครุฑซึ่งเป็นกรอบพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพ่นข้อความว่า “ประควย” ด้านล่าง พ่นข้อความว่า “ประเทศควย” และ “ยสตน” บนแท่นของพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งติดตั้งไว้หน้าเทศบาลตำบลอินทขิล โดยคำว่า “ประเทศควย” ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการต่อต้านการปกครองของประเทศไทย และเข้าใจว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นเรื่องไม่ดี

การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ถวายพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์ ขัดกับเจตนารมณ์ในการเผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งต้องการเฉลิมพระเกียรติและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อความและสัญลักษณ์ที่จำเลยพ่นสีเป็นการจาบจ้าง ล่วงเกิน ดูหมิ่น เป็นการแสดงความไม่เคารพสักการะที่ไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง โดยมีเจตนาเพื่อให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และราชินี ทำให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

โดยจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยกและเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองฯ และออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เพื่อก่อความไม่สงบในบ้านเมือง การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และทำให้ประเทศชาติไม่เป็นปึกแผ่น อันกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

3. จำเลยใช้สีสเปรย์สีแดงพ่นลงบนป้ายกำแพงเทศบาลตำบลอินทขิล ซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าเทศบาลตำบลอินทขิล ด้วยข้อความว่า “ปล่อยเพื่อนกู III” อันเป็นการพ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความหรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนน

4. จำเลยใช้สีสเปรย์สีแดงพ่นลงบนถนนสายเชียงใหม่-ฝาง บริเวณหน้าเทศบาลตำบลอินทขิล ด้วยข้อความว่า “ขี้ข้าเผ” อันเป็นการพ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความหรือรูปรอยใดๆ บนถนน

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.676/2565 ลงวันที่ 26 พ.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • “กรรณิกา” (นามสมมติ) เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ตามหมายเรียกผู้ต้องหา ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พ.ต.ท.อุทัย คาดชะดาคำ รอง สว.(สอบสวน) แจ้งพฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 22.30 น. ผู้ต้องหาพ่นสีสเปรย์สีแดงลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 และราชินี ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า บก.ตชด. ภาค 3 เป็นรูป “III” และที่ป้ายชื่อเทศบาลตำบลอินทขิลว่า “ปล่อยเพื่อนกู” และที่ฐานตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 หน้าเทศบาลตำบลอินทขิล บนกำแพงและถนนหน้าเทศบาล ในอำเภอแม่แตง

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพง ที่ติดกับถนนฯ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

    กรรณิกาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง พนักงานสอบสวนพิมพ์ลายนิ้วมือก่อนให้ปล่อยตัวกรรณิกา เนื่องจากมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

    ก่อนหน้าถูกออกหมายเรียก เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 กรรณิกาพร้อมครอบครัว ได้เดินทางไปพบตำรวจ สภ.แม่แตง หลังมีตำรวจไปที่บ้านและแจ้งให้ไปที่สถานีตำรวจ ตำรวจได้สอบปากคำทุกคนโดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่มีทนายความอยู่ด้วย ก่อนเดินทางไปที่บ้านของกรรณิกาและตรวจยึดสีสเปร์ยสีแดง 1 กระป๋อง

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.แม่แตง ลงวันที่ 7 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/44153)
  • พนักงานสอบสวนนัดกรรณิกาส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ หลังพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี โดยหลังรับตัวแล้วอัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 24 ก.พ. 2565
  • กรรณิกาเดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ตามนัด เจ้าหน้าที่แจ้งว่าสำนวนถูกส่งไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดยังไม่กลับมา ให้เลื่อนฟังคำสั่งไปวันที่ 24 มี.ค. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปวันที่ 26 เม.ย. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปวันที่ 26 พ.ค. 2565
  • เวลา 13.00 น. กรรณิกาพร้อมผู้ปกครอง และทนายความเข้ารายงานตัวที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ หลังได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องในวันนี้

    เมื่อไปพบเจ้าหน้าที่ศาล กรรณิกาก็ถูกนำตัวเข้าไปควบคุมไว้ภายในห้องควบคุมตัวของศาลจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นผู้พิพากษาได้สอบถามกรรณิกาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องเวรชี้ว่า มีทนายความแล้วหรือไม่

    ระหว่างที่กรรณิกาถูกควบคุมตัวอยู่ ทนายความและผู้ปกครองได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.30 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ส่วนตัวของญาติ ทำให้กรรณิกาได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวไว้กว่า 4 ชั่วโมง โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 มิ.ย. และ 4 ก.ค. 2565 ตามลำดับ

    ทั้งนี้ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องกรรณิกาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวม 2 กรรม และตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 อีก 2 กรรม

    ท้ายคำฟ้องอัยการไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา ระบุขอให้อยู่ในดุลยพินิจศาล

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.676/2565 ลงวันที่ 26 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44153)
  • กรรณิกา และทนายจำเลยเดินทางมาศาลในนัดคุ้มครองสิทธิ ก่อนเริ่มพิจารณา ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอโอนย้ายคดีไปพิจารณายังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างเหตุว่าขณะเกิดเหตุนั้นจำเลยยังมีอายุเพียง 19 ปี อีกทั้งหากพิจารณาถึงสภาพร่างกายและนิสัยของจำเลย ประกอบกับอาการป่วยทางสภาพจิตใจที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยพบความผิดปกติ ระบุการวินิจฉัยเบื้องต้นเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar affective disorder) ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของจำเลย จนถึงขนาดจำเป็นต้องลาออกจากการศึกษาเนื่องจากอาการป่วยดังกล่าว จำเลยจึงมีสภาพจิตใจและลักษณะนิสัยเทียบเท่าเยาวชน หากมีการดำเนินคดีในศาลอาญาเยี่ยงผู้ใหญ่ อาจสร้างหวาดกลัวให้จำเลยจดจำเป็นตราบาปในใจ ทั้งยังเป็นการตีตราว่าเคยต้องหาเป็นจำเลยในคดีอาญามาก่อน

    หลังจากได้รับคำร้องแล้ว ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณานัดคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้พูดคุยสอบถามจำเลย ถึงประวัติที่อยู่อาศัย และประวัติการศึกษา รวมทั้งสอบถามญาติที่เดินทางมาฟังการพิจารณาคดีที่มีน้าสาวและยายที่จำเลยอาศัยอยู่ด้วย จนในที่สุดผู้พิพากษาระบุว่า เห็นด้วยกับคำร้องของทนายความเรื่องที่จะส่งคดีของจำเลยไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ

    หลังจากนั้นศาลได้มีคำสั่งในคดี โดยเห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอายุยังไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ มีประวัติการบำบัดรักษาอาการทางจิตมาเป็นระยะ เมื่อจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาล พบว่าจำเลยมีสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ สภาพสติปัญญา เช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน การดำเนินคดีกับจำเลยในศาลเยาวชนและครอบครัวน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงสั่งให้โอนย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลจังหวัดเชียงใหม่

    ส่งผลให้คดีนี้ในขั้นต่อไป จะรอกระบวนการในการโอนย้ายสำนวนคดีไปตามคำสั่งศาล และรอการนัดหมายทางคดีจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป

    ทั้งนี้ การโอนย้ายคดีดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.​ 2553 มาตรา 97 ที่ระบุว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลใดอายุยังไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ กระทำความผิดและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ถ้าศาลนั้นพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าบุคคลนั้นยังมีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน ให้มีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจ และให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นเด็กหรือเยาวชน”

    ก่อนหน้านี้ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง มีคดีที่ฝ่ายจำเลยซึ่งอายุไม่เกิน 20 ปี ได้ยื่นคำร้องขอโอนย้ายคดีไปยังศาลเยาวชนฯ ในลักษณะนี้จำนวนอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่ คดีของ “ปูน” ธนพัฒน์ ที่ศาลอาญา, คดีของธีรวัช ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ และคดีของเอกจีรวัฒน์ ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ โดยทั้งสามคดี ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โอนย้ายคดี

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.676/2565 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44550)
  • ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่นัดพร้อมสอบคําให้การ กรรณิกาและผู้ปกครองจําเลย พร้อมด้วยที่ปรึกษากฎหมายเดินทางมาศาล ศาลอ่านรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ให้กรรณิกาและอัยการฟัง ไม่มีผู้ใดคัดค้าน

    ศาลเห็นว่า กรรณิกามีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลสวนปรุงมาก่อน จึงมีคำสั่งให้สถานพินิจฯ ทํารายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดสภาพร่างกาย จิตใจ ประวัติการรักษา พร้อมทั้งรายงานความเห็นของแพทย์ผู้ให้การรักษาภายใน 15 วัน

    จากนั้นศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้ว กรรณิกาให้การรับสารภาพ ศาลเห็นว่า ควรรอรายงานข้อเท็จจริงเพิ่มเติมของสถานพินิจฯ ก่อน จึงเลื่อนไปนัดฟังคําพิพากษาในวันที่ 7 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตราการฟื้นฟูแทนการพิพากษา ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 132 วรรคหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยรับสารภาพ และกระทำความผิดครั้งแรก ประกอบกับมีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตใจ โดยให้นักจิตวิทยากำหนดแผนฟื้นฟูให้จำเลยปฏิบัติ จำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว นัดฟังผลการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 ก.ย. 2566

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
กรรณิกา (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
กรรณิกา (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์