สรุปความสำคัญ

พัชรพล (สงวนนามสกุล) โฟร์แมนวัย 25 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญาตลิ่งชัน ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่า ใช้เฟซบุ๊กคอมเมนท์พาดพิงถึงรัฐบาลและกษัตริย์ใต้โพสต์ในเพจของกรมประชาสัมพันธ์ที่เปิดให้ถวายพระพรรัชกาลที่ 10 หลังถูกจับกุม แม้ศาลจะให้ประกันตัวระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดี แต่ต้องใช้เงินประกันถึง 100,000 บาท และพัชรพลต้องติด EM ซึ่งเป็นอุปสรรคต่ออาชีพที่ต้องอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างและทำงานร่วมกับคนจำนวนมากทุกวัน

คดีนี้มีกวิน ชาตะวนิช ประชาชนทั่วไปซึ่งอ้างตนว่าเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการศรีสุริโยไทปกป้องสถาบัน เป็นผู้แจ้งความ จึงเป็นอีก 1 กรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษ จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พัชรพล (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จำกัดเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

28 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 06.05 น. เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดสืบสวน สน.บางพลัด, สน.บางขุนเทียน และกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 นําหมายค้นของศาลอาญาธนบุรี ที่ 425/2554 ลงวันที่ 27 ก.ย. 2564 ไปที่บ้านหลังหนึ่งในเขตบางบอน ซึ่งสืบทราบว่าพัชรพล บุคคลตามหมายจับศาลอาญาตลิ่งชันที่ จ.328/2564 ลงวันที่ 20 ก.ย. 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) พักอาศัยอยู่

หลังแสดงหมายค้นและหมายจับ พัชรพลยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง ตำรวจจึงได้ควบคุมตัวไป สน.บางพลัด และทำบันทึกการจับกุมโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม ชั้นจับกุมพัชรพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 กวิน ชาตะวนิช พบว่ามีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาลและกษัตริย์ ใต้โพสต์เกี่ยวกับการลงนามถวายพระพร ของเพจกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเขาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่น ประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 จากการสืบสวนทราบว่า เป็นเฟซบุ๊กของพัชรพล

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยพัชรพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำตัวพัชรพลไปขอฝากขังต่อศาลอาญาตลิ่งชัน หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวพัชรพลระหว่างสอบสวนตามที่ทนายความยื่นคำร้อง โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสดมูลค่า 100,000 บาท พร้อมทั้งให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)

หลังพัชรพลได้รับการปล่อยตัว เขาได้กล่าวว่า ก่อนหน้าจะถูกจับกุมในวันนี้ เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้มาบอกกับตนว่ามีชายชุดดำ 2-3 คน ไม่แสดงตัวว่าเป็นใคร มาสอบถามเพื่อนบ้านแถวนั้นว่ารู้จักพัชรพลหรือไม่ รวมถึงเช็คตำแหน่งที่ตั้งบ้านของพัชรพลด้วย

ทั้งนี้พบว่า กวิน ชาตะวนิช ผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีกับพัชรพล อ้างตัวว่าเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการศรีสุริโยไทปกป้องสถาบัน ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 ชุดปฏิบัติการศรีสุริโยทัยได้เคยร่วมกับกลุ่ม ศชอ. และกลุ่มเครือข่ายอื่นๆ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อคัดค้านการย้ายตัว 2 แกนนำราษฎร ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และสิริชัย นาถึง จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ออกไปรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.ธรรมศาสตร์

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.บางพลัด, คำร้องขอฝากขัง ศาลอาญาตลิ่งชัน ลงวันที่ 28 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35776)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์