ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ. 1578/2564
แดง อ.2146/2566

ผู้กล่าวหา
  • กวิน ชาตะวนิช หัวหน้าชุดปฏิบัติการศรีสุริโยไทปกป้องสถาบัน (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ. 1578/2564
แดง อ.2146/2566
ผู้กล่าวหา
  • กวิน ชาตะวนิช หัวหน้าชุดปฏิบัติการศรีสุริโยไทปกป้องสถาบัน

ความสำคัญของคดี

พัชรพล (สงวนนามสกุล) โฟร์แมนวัย 25 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญาตลิ่งชัน ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่า ใช้เฟซบุ๊กคอมเมนท์พาดพิงถึงรัฐบาลและกษัตริย์ใต้โพสต์ในเพจของกรมประชาสัมพันธ์ที่เปิดให้ถวายพระพรรัชกาลที่ 10 หลังถูกจับกุม แม้ศาลจะให้ประกันตัวระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดี แต่ต้องใช้เงินประกันถึง 100,000 บาท และพัชรพลต้องติด EM ซึ่งเป็นอุปสรรคต่ออาชีพที่ต้องอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างและทำงานร่วมกับคนจำนวนมากทุกวัน

คดีนี้มีกวิน ชาตะวนิช ประชาชนทั่วไปซึ่งอ้างตนว่าเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการศรีสุริโยไทปกป้องสถาบัน เป็นผู้แจ้งความ จึงเป็นอีก 1 กรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษ จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นเป็นจำนวนมาก

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ศักดิพงศ์ หมวดมณี พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 บรรยายคำฟ้องโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 จําเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของตนเองพิมพ์ข้อความแสดงความเห็นถึงรัฐบาลและพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ลงใต้โพสต์ที่จัดให้มีการถวายพระพรสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ของเพจเฟซบุ๊ก ‘กรมประชาสัมพันธ์’

พนักงานอัยการระบุว่า การคอมเมนต์ข้อความดังกล่าวเป็นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่เปิดเป็นสาธารณะ โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และในขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งตามรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ กล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้”

ข้อความดังกล่าวทําให้ประชาชนทั่วไปพบเห็นแล้วทราบว่าเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และมีลักษณะกล่าวหารัชกาลที่ 10 ว่าเป็นผู้ที่มักมากในกามคุณ เป็นคนไม่ดี และเป็นถ้อยคําหยาบคาย อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1578/2564 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 06.05 น. เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดสืบสวน สน.บางพลัด, สน.บางขุนเทียน และกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 นําหมายค้นของศาลอาญาธนบุรี ที่ 425/2554 ลงวันที่ 27 ก.ย. 2564 ไปที่บ้านหลังหนึ่งในเขตบางบอน ซึ่งสืบทราบว่าพัชรพล บุคคลตามหมายจับศาลอาญาตลิ่งชันที่ จ.328/2564 ลงวันที่ 20 ก.ย. 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) พักอาศัยอยู่

    เจ้าหน้าที่ได้พบกับแฟนสาวของพัชรพล จึงได้แสดงหมายค้นและหมายจับ แฟนของพัชรพลจึงไปตามพัชรพลให้ออกมาพบตำรวจ พัชรพลยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง ตำรวจได้ทำการตรวจค้นบ้านพักของพัชรพลเสร็จสิ้นในเวลา 07.00 น. โดยได้ยึดโทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง ด้วย ก่อนควบคุมตัวไป สน.บางพลัด และทำบันทึกการจับกุมโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม

    ในชั้นจับกุมพัชรพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยทนายความที่เดินทางมาถึงได้เข้าร่วมด้วย พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.00 น.ขณะที่กวิน ชาตะวนิช อยู่ที่ร้านอาหารข้างห้างเมเจอร์ปิ่นเกล้า ได้เปิดอ่านเพจเฟซบุ๊กของ ‘กรมประชาสัมพันธ์’ พบว่ามีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาลและกษัตริย์ ใต้โพสต์เกี่ยวกับการลงนามถวายพระพร

    ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่น ประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ผู้กล่าวหาจึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว

    ดังนั้นกองบังคับการตำรวจนครบาล 7 จึงได้มีคำสั่งให้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งที่ 168/2564 ลงวันที่ 18 ส.ค. 2564 รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนและติดตามผู้ต้องหาในคดีนี้มาดำเนินคดีตามกฎหมาย

    ต่อมาตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.บางพลัด ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่มีผู้มาร้องทุกข์ไว้ดังกล่าว คือ พัชรพล พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาตลิ่งชันออกหมายจับ และศาลได้อนุญาตให้ออกหมายจับดังกล่าว

    พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยพัชรพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 28 ต.ค. 2564

    ต่อมา พนักงานสอบสวนได้นำตัวพัชรพลไปขอฝากขังต่อศาลอาญาตลิ่งชัน เป็นระยะเวลา 12 วัน โดยอ้างเหตุผลว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องทำการสอบสวนพยานอีก 2 ปาก และยังได้คัดค้านการให้ประกันตัวอีกด้วย อ้างว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวไปเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น

    ด้านทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพัชรพล โดยวางประกันเป็นเงินสดมูลค่า 90,000 บาท โดยได้ระบุเหตุผลหลักๆ ในเรื่องไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฝากขัง และสถานการณ์โควิดในเรือนจำที่รุนแรง รวมถึงเหตุผลที่ว่าการถูกฝากขังจะกระทบต่อการทำงานเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างของพัชรพล

    ต่อมา เวลา 15.40 น. ศาลอาญาตลิ่งชันมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวพัชรพลระหว่างสอบสวน โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสดมูลค่า 100,000 บาท พร้อมทั้งให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) โดยนัดหมายให้รายงานตัวต่อศาลทางโทรศัพท์ในวันที่ 11 ต.ค. 2564 เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ ทนายความได้ใช้เงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน

    หลังพัชรพลได้รับการปล่อยตัว เขากล่าวว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.บางพลัด และถูกควบคุมตัวไปศาลเพื่อขอฝากขัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เกลี้ยกล่อมให้ตนให้การยอมรับสารภาพตลอดเวลา โดยอ้างว่าหากรับสารภาพแล้ว ศาลถึงจะให้ประกันตัว อีกทั้งยังได้ยกตัวอย่างผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ ว่าหากตนไม่ให้การรับสารภาพก็จะถูกฝากขังเช่นเดียวกับพวกเขาเหล่านั้น

    พัชรพลยังกล่าวอีกว่า การที่ตนใส่ EM เช่นนี้ สร้างความกังวลในการใช้ชีวิตและการทำงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากตนทำอาชีพเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง (โฟร์แมน) ซึ่งต้องลงพื้นที่ก่อสร้างและทำงานร่วมกับคนจำนวนมากตลอดเวลาทุกวัน อีกทั้งยังรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนเอง ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันและการใช้งานสื่อโซเซียลบนอินเทอร์เน็ตต่างๆ ด้วย

    ทั้งนี้พบว่า กวิน ชาตะวนิช ผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีกับพัชรพล อ้างตัวว่าเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการศรีสุริโยไทปกป้องสถาบัน ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 ชุดปฏิบัติการศรีสุริโยทัยได้เคยร่วมกับกลุ่ม ศชอ. และกลุ่มเครือข่ายอื่นๆ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อคัดค้านการย้ายตัว 2 แกนนำราษฎร ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และสิริชัย นาถึง จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ออกไปรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.ธรรมศาสตร์

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.บางพลัด, คำร้องขอฝากขัง ศาลอาญาตลิ่งชัน ลงวันที่ 28 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35776)
  • ที่ศาลอาญาตลิ่งชัน พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 ยื่นฟ้องพัชรพล ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ศาลรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1578/2564

    ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี

    ท้ายคำฟ้องนอกจากพนักงานอัยการจะขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพัชรพลแล้ว ยังขอศาลให้สั่งริบของกลางคือโทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1578/2564 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/39083)
  • พัชรพลเดินทางไปรายงานตัวตามสัญญาประกันที่ศาลอาญาตลิ่งชัน โดยเป็นนัดหลังครบฝากขังครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วในวันดังกล่าว จากนั้นทนายความได้ยื่นประกันโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน ซึ่งเป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และให้ติด EM ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 ม.ค. 2565 เวลา 9.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/39083)
  • โจทก์ จําเลย และผู้รับมอบฉันทะทนายจําเลย มาศาล ทนายจําเลยยื่นคําร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดว่าความที่ศาลอื่น ตามคําร้องลงวันที่วันนี้ โจทก์แถลงไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 22 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1578/2564 ลงวันที่ 24 ม.ค. 2565)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้อง ก่อนถามคำให้การ พัชรพลยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา นัดสืบพยานในวันที่ 3, 4, 8-10 ส.ค. 2566
  • ก่อนเริ่มการสืบพยานในนัดแรก จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลอนุญาตให้ทนายจำเลยยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 60 วัน และให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะรายงานต่อศาลภายใน 30 วัน นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ต.ค.2566 เวลา 09.00 น.
  • เวลา 09.20 น. จำเลยได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัว โดยศาลเรียกให้จำเลยลุกขึ้นแสดงตัวเพื่อฟังรายงานการสืบเสาะจากเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ มีใจความกล่าวว่า พิเคราะห์จากรายงานคุมประพฤติแล้ว พบว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติก่ออาชญากรรมมาก่อน ปัจจุบันพักอาศัยอยู่กับครอบครัว และประกอบกับในชั้นพิจารณาคดี จำเลยได้ให้การรับสารภาพ ตลอดจนได้เห็นว่าจำเลยมีความสำนึกจากการกระทำในครั้งนี้ โดยการสมัครเข้าร่วมทำงานอาสาสมัคร

    พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นว่า สมควรให้โอกาสแก่จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ขอให้ศาลรอการลงโทษจำเลย โดยเสนอเงื่อนไขให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 8 ครั้ง ภายใน 2 ปี และให้ทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 1 ปี

    จากนั้นศาลได้อ่านคำพิพากษามีใจความสำคัญระบุว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

    พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการโพสต์ข้อความด้วยถ้อยคำหยาบคาย นับเป็นเรื่องร้ายแรง สร้างความเสื่อมเสียต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นเพราะจำเลยขาดความยับยั้งชั่งใจ กระทำการไปด้วยความโง่เขลา เบาปัญญา แต่เมื่อจำเลยได้ให้การรับสารภาพ จึงเห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลย โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นจำนวน 8 ครั้ง ภายใน 2 ปี และทำงานบริการสังคมเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 1 ปี

    ภายหลังการฟังคำพิพากษา ศาลได้พูดกับจำเลยว่าการรอลงอาญาไม่ใช่เรื่องง่าย ขออย่าให้ไปกระทำผิดซ้ำอีก ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม และการรอลงอาญาถือว่าเป็นความเมตตาแล้ว

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1578/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2146/2566 ลงวันที่ 25 ต.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60883)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พัชรพล (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พัชรพล (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ธาริน ปัญญาโพธิคุณ
  2. พลพิพัฒน์ วรชินาคมน์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 25-10-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์