สรุปความสำคัญ

“ฮ่องเต้" ธนาธร วิทยเบญจางค์ อายุ 22 ปี รองนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแกนนำพรรควิฬาร์ ถูกดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการอ่านแถลงการณ์และปราศรัยในระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5 และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 โดยถูกกล่าวหาว่า เนื้อหาแถลงการณ์และคำปราศรัยทำให้คนฟังเข้าใจได้ว่า กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และมีลักษณะใส่ความ จาบจ้วง ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ

ธนาธรได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ศาลกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก รวมทั้งให้รายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งศาลตั้งเป็นผู้กำกับดูแล ทุก 15 วัน ซึ่งสร้างภาระต่อธนาธรที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่เป็นอย่างมาก

ในคดีที่มีแจ้งการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และต้องประกันตัวต่อศาล ศาลมักกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัวที่อาจเป็นการกระทบต่อเสรีภาพของผู้ถูกดำเนินการเกินสมควร

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธนาธร วิทยเบญจางค์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธนาธร วิทยเบญจางค์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

15 ส.ค. 2564 พรรควิฬาร์ร่วมกับประชาคมมอชอ และกลุ่มลำพูนปลดแอก ชวนชาวเชียงใหม่และชาวลำพูนจัดคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยื่นหนังสือและข้อเรียกร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ข้างประชาชน หลังเกิดเหตุการณ์ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมม็อบในกรุงเทพหลายต่อหลายครั้ง ทำให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดเชียงใหม่ยังมีได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับนักศึกษาที่มาเรียกร้องประชาธิปไตย ผู้จัดงานจึงต้องการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดทำร้ายประชาชนและยืนอยู่ข้างประชาชนที่ออกมาชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพของตนเอง

เวลา 15.40 น. ขบวนรถยนต์ รถจักรยานยนต์กว่า 500 คัน เคลื่อนไปที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงเหล็กมากั้นปิดทางเข้า-ออก และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นายประจำการ แกนนำของผู้ชุมนุมจากพรรควิฬาร์ได้อ่านข้อความในหนังสือที่นำมายื่นต่อผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ข้างประชาชน โดยพันตำรวจโทสุรชัย ท่างาม รองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธร ภาค 5 ออกมาเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือจากแกนนำ

จากนั้นผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนมุ่งหน้ากลับเข้าเมืองไปยังลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ก่อนเปิดเวทีปราศรัยบนรถเครื่องเสียง (https://www.mobdatathailand.org/case-file/1629046990569/)

27 ส.ค. 2564 ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ธนาธร วิทยเบญจางค์ หรือ “ฮ่องเต้” แกนนำพรรควิฬาร์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามหมายเรียก เหตุจากการปราศรัยในระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

บรรยากาศก่อนการเข้ารับทราบข้อหา ที่ด้านหน้าสถานีตำรวจมีการวางแผงเหล็กกั้นรอบสถานีหลายชั้น พร้อมตั้งจุดตรวจกระเป๋าของผู้ที่จะผ่านเข้าออกทุกคน ทั้งยังมีการติดป้ายห้ามทำกิจกรรมหรือชุมนุมภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

เวลา 10.40 น. หลังนายธนาธรเดินทางมาถึง ได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และองค์กรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกมาดูแลปกป้องนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง หลังมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ราย โดยมีเพื่อนนักศึกษาชูป้ายข้อความ “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว” “ตัวหญิงเองก็ลำบาก” อยู่ด้านหลังอีกด้วย

ต่อมา ธนาธรพร้อมทนายความ เพื่อน และอาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าพบพนักงานสอบสวน พ.ต.ท.เกริกชัย กิตติ สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้แจ้งพฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 มีกิจกรรม “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ขบวนรถของผู้ชุมนุมได้เคลื่อนไปยังลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และธนาธรได้ขึ้นปราศรัย โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และปัญหาของการใช้มาตรา 112 โดยการปราศรัยดังกล่าวได้มีการเผยแพร่สดผ่านเพจเฟซบุ๊กพรรควิฬาร์ด้วย

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ขอศาลจังหวัดเชียงใหม่ฝากขังธนาธรทางออนไลน์ แม้เขาจะมาพบตามหมายเรียกก็ตาม ก่อนศาลอนุญาตให้ฝากขัง โดยไม่มีการไต่สวนพนักงานสอบสวนตามที่ทนายผู้ต้องหายื่นคำร้อง จากนั้นอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวธนาธร โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และให้แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้กำกับดูแล

ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้รายงานตัวต่อผู้กำกับดูแล คือผู้ใหญ่บ้าน ตามกำหนดนัด และให้มารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 22 พ.ย. 2564 ต่อไป

ในการปล่อยตัว ตำรวจได้นำตัวธนาธรขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังจากสถานีตำรวจ ไปปล่อยตัวที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ในเวลาประมาณ 17.00 น.

26 ต.ค. 2564 ขณะธนาธรไปรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ได้มีพนักงานสอบาวนมารอพบและแจ้งกับธนาธรว่าจะแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาเพิ่มเติม แม้ธนาธรจะปฏิเสธ เนื่องจากเขาต้องการพบและปรึกษากับทนายความก่อน แต่พนักงานสอบสวนได้มอบบันทึกการแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาเพิ่มเติม และใบต่อคำให้การ ซึ่งมีการพิมพ์บันทึกข้อความคำให้การมาก่อนแล้วทั้งหมด โดยพนักงานสอบสวนได้ลงลายมือชื่อ มีผู้ใหญ่บ้านเซ็นเป็นพยาน พร้อมระบุว่า “ผู้ต้องหาไม่ยอมลงลายมือชื่อ”

คำให้การยังระบุว่า ผู้ต้องหาไม่มีทนายความและไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความหรือบุคคลที่เขาไว้วางใจหรือผู้หนึ่งผู้ใดร่วมฟังการสอบสวน และยังระบุว่าเขาไม่มีถ้อยคำอื่นที่จะให้การเพิ่มเติมอีก ซึ่งไม่เป็นความจริง

กล่าวได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่เป็นไปกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและมีความเร่งรัดอย่างผิดวิสัยหลายประการ

ทั้งนี้ ในเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ได้ระบุถึงพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาได้อ่านแถลงการณ์ และยื่นหนังสือเรียกร้องไว้ให้กับนายตำรวจเวรรักษาการณ์ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 โดยเอกสารข้อเรียกร้องดังกล่าวมีข้อความ “เป็นความผิดของสถาบันกษัตริย์ ที่เห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ของตนเองสำคัญกว่าชีวิตและเสรีภาพของประชาชนในประเทศ” ในบรรทัดที่ 15 ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

นอกจากแจ้งพฤติการณ์เพิ่มแล้ว ตำรวจยังระบุข้อกล่าวหาอื่นๆ เพิ่มเติมอีก คือ ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งในการแจ้งข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ยังไม่ได้ระบุข้อหานี้ไว้ด้วย

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 27 ส.ค. 2564, https://tlhr2014.com/archives/34145 และ https://tlhr2014.com/archives/37008)

ภูมิหลัง

  • ธนาธร วิทยเบญจางค์
    นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาชิกพรรควิฬาร์

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์