ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ดำ อ.1304/2564

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ตรีเพชร ป่าหวาย สว.สส.สภ.เมืองเชียงใหม่ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1304/2564
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ตรีเพชร ป่าหวาย สว.สส.สภ.เมืองเชียงใหม่

ความสำคัญของคดี

“ฮ่องเต้" ธนาธร วิทยเบญจางค์ อายุ 22 ปี รองนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแกนนำกลุ่มพรรควิฬาร์ ถูกดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการอ่านแถลงการณ์และปราศรัยในระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5 และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 โดยถูกกล่าวหาว่า เนื้อหาแถลงการณ์และคำปราศรัยทำให้คนฟังเข้าใจได้ว่า กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และมีลักษณะใส่ความ จาบจ้วง ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ

ธนาธรได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ศาลกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก รวมทั้งให้รายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งศาลตั้งเป็นผู้กำกับดูแล ทุก 15 วัน ซึ่งสร้างภาระต่อธนาธรที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่เป็นอย่างม่าก

ในคดีที่มีแจ้งการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และต้องประกันตัวต่อศาล ศาลมักกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัวที่อาจเป็นการกระทบต่อเสรีภาพของผู้ถูกดำเนินการเกินสมควร

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

เลิศศักดิ์ เลิศสิทธิ์สมบูรณ์ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

1. จำเลยกับพวกร่วมกันจัดการชุมนุมรวมกลุ่มกันเกิน 20 คน อันเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจำเลยกับพวกเป็นแกนนำ หรือผู้จัด หรือผู้รับผิดชอบให้มีการจัดการชุมนุมทางการเมือง ได้โพสต์เชิญชวนทางเฟซบุ๊กให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมการชุมนุม “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์ คาร์ม็อบเชียงใหม่ ยกระดับการชุมนุม เรียกร้องให้ตำรวจเป็นผู้พิทักษ์ของประชาชน ในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ที่หน้าสำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 เพื่อยื่นข้อเสนอแก่ผู้บัญชาการและไปบันเทิงต่อที่ลานประตูท่าแพ”

กระทั่งวันที่ 15 สิงหา มีการรวมกลุ่มของบุคคลเกินกว่า 20 คน และจัดกิจกรรมชุมนุมบริเวณด้านหน้าตำรวจภูธรภาค 5 และใช้ยานพาหนะเคลื่อนขบวนไปตามท้องถนนจนมาสิ้นสุดด้านหน้าลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

2. จำเลยยังได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยการอ่านแถลงการณ์ประกาศข้อเรียกร้องต่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ประจำการอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ที่ 1 บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5 ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากที่มาร่วมกันชุมนุมทางการเมือง โดยมีสาระสำคัญโจมตีรัฐบาลและเรียกร้องให้ตำรวจเป็นผู้พิทักษ์ของประชาชน โดยมีตอนหนึ่งของแถลงการณ์มีข้อความที่กล่าวถึง "สถาบันกษัตริย์" ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าข้อความที่จำเลยอ่านดังกล่าวสื่อถึงกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน โดยทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในการบริหารประเทศ และทรงเห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนพระองค์ยิ่งกว่าชีวิตและเสรีภาพของประชาชน

3. หลังจากนั้น จำเลยยังได้กล่าวคำปราศรัยที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากที่มาร่วมชุมนุม โดยได้กล่าวคำด่าและเปรียบเทียบ และทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจทันทีว่าข้อความที่จำเลยกล่าวสื่อถึงกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน

การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.1304/2564 ลงวันที่ 18 พ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ธนาธร วิทยเบญจางค์ หรือ “ฮ่องเต้” อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแกนนำพรรควิฬาร์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามหมายเรียก เหตุจากการปราศรัยในระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

    ก่อนหน้านี้ ธนาธรได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 18 ส.ค. 2564 คดีที่มี พ.ต.ท.ตรีเพชร ป่าหวาย สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา ในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ธนาธรจึงได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามวันนัดในหมายเรียกผู้ต้องหา

    บรรยากาศก่อนการเข้ารับทราบข้อหา ที่ด้านหน้าสถานีตำรวจมีการวางแผงเหล็กกั้นรอบสถานีหลายชั้น พร้อมตั้งจุดตรวจกระเป๋าของผู้ที่จะผ่านเข้าออกทุกคน ทั้งยังมีการติดป้ายห้ามทำกิจกรรมหรือชุมนุมภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

    ขณะเดียวกันมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 20 นาย ยืนเฝ้าระวังอยู่โดยรอบสถานี บางส่วนเป็นเจ้าหน้าที่ในชุดสีเขียวจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ต​ำ​ร​วจ​ภูธร​จังหวัด​เชียงใหม่ และมีเพื่อนนักศึกษา นักกิจกรรม และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดินทางมาติดตามการเข้ารับทราบข้อหาราว 20 คนด้วย

    เวลา 10.40 น. หลังนายธนาธรเดินทางมาถึง ได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และองค์กรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกมาดูแลปกป้องนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง หลังมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ราย โดยมีเพื่อนนักศึกษาชูป้ายข้อความ “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว” “ตัวหญิงเองก็ลำบาก” อยู่ด้านหลังอีกด้วย

    ต่อมา ธนาธรพร้อมทนายความ เพื่อน และอาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าพบพนักงานสอบสวน พ.ต.ท.เกริกชัย กิตติ สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้แจ้งพฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ทางกลุ่มพรรควิฬาร์, ประชาคมมอชอ และกลุ่มลำพูนปลดแอก ได้นัดหมายทำกิจกรรมใช้ชื่อว่า “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” โดยรวมตัวบริเวณแยกดอนจั่น ไปยังตำรวจภูธรภาค 5 โดยมีการเรียกร้องผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 รับข้อเสนอให้ตำรวจอยู่ข้างประชาชน ก่อนเคลื่อนไปยังลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน เป็นรถยนต์ประมาณ 100 คัน และจักรยานยนต์ประมาณ 100 คัน

    ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. ได้มีบุคคลที่เป็นแกนนำเริ่มกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล สลับกับการแสดงดนตรี จนเวลาประมาณ 18.23 น. ธนาธรได้ขึ้นปราศรัย โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และปัญหาของการใช้มาตรา 112 โดยการปราศรัยดังกล่าวได้มีการเผยแพร่สดผ่านเพจเฟซบุ๊กพรรควิฬาร์ด้วย

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อธนาธรข้อหาเดียว เขาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

    จากนั้นเวลา 11.25 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่าจะยื่นขอศาลฝากขังธนาธรในช่วงบ่าย แม้เขาจะมาพบตามหมายเรียกก็ตาม โดยพนักงานสอบสวนให้ธนาธรลงชื่อในเอกสารคำร้องขอฝากขังต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุการอนุญาตประกันตัวให้ “ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล” และเนื่องด้วยสถานการณ์โรคแพร่ระบาดโคโรนา 2019 พนักงานสอบสวนจึงยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์

    ในขณะรอการพิจารณาของศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวธนาธรไว้ในพื้นที่ด้านในสถานีตำรวจและไม่อนุญาตให้ออกไปด้านนอกสถานี โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบยืนเฝ้าอยู่บริเวณทางเข้าออกตลอดเวลา

    ขณะเดียวกันทางทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ขอคัดค้านการฝากขังและขอให้มีการไต่สวนพนักงานสอบสวน

    เวลา 13.40 น. พนักงานสอบสวนเชิญตัวธนาธรไปยังห้องสำหรับคอนเฟอเรนซ์กับศาล โดยการพิจารณาออนไลน์ ผู้พิพากษาสอบถามธนาธรว่าเป็นนักศึกษาหรือไม่ และเข้าพบพนักงานสอบสวนเองหรือไม่ พร้อมแจ้งกับทนายความว่าให้ยื่นคำร้องขอประกันเข้ามา และให้งดการไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขัง

    จนเวลา 16.39 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา และมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และให้แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้กำกับดูแล

    ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้รายงานตัวต่อผู้กำกับดูแล คือผู้ใหญ่บ้าน ตามกำหนดนัด และให้มารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 22 พ.ย. 2564 ต่อไป

    ในการปล่อยตัว ตำรวจได้นำตัวธนาธรขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังจากสถานีตำรวจ ไปปล่อยตัวที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ในเวลาประมาณ 17.00 น.

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 27 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34145)
  • เวลา 08.30 น. ขณะธนาธรไปรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้านในอำเภอสันทราย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลตามคำสั่งของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย จาก สภ.เมืองเชียงใหม่ นั่งรออยู่ คือ พ.ต.ท.เกริกชัย กิตติ และ พ.ต.ท.สันติ คำใส รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงใหม่ ทั้งสองแจ้งกับธนาธรว่าจะแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

    จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยื่นเอกสาร 2 ฉบับ มาให้ธนาธร คือบันทึกการแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาเพิ่มเติม และใบต่อคำให้การ ซึ่งมีการพิมพ์บันทึกข้อความคำให้การมาก่อนแล้วทั้งหมด แม้ว่าเขาจะไม่เคยให้การใดๆ มาก่อน

    ธนาธรเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ถูกต้อง ผิดวิสัยจากปกติ จึงไม่ยอมลงลายมือชื่อและไม่ยอมรับเอกสารไว้ พร้อมแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองว่าเขามีสิทธิจะต้องพบและปรึกษากับทนายความก่อน และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกมาให้ถูกต้องตามกระบวนการ

    ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งได้ยื่นหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 2 ฉบับลงวันที่ 26 ต.ค. 2564 ให้ไปรายงานตัวต่อ พ.ต.ท.เกริกชัย กิตติ ในวันที่ 27 ต.ค. 2564 เวลา 10.00 น. แม้ว่าธนาธรจะไม่เคยได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 มาก่อนก็ตาม เขาก็รับหมายเรียกผู้ต้องหาไว้และขับรถออกมาจากบ้านผู้ใหญ่บ้าน

    หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ใหญ่บ้านได้โทรหาธนาธร แจ้งว่าเขาลืมเอกสารไว้และให้กลับเข้ามารับ เขาไม่ทราบว่าคือเอกสารอะไร เมื่อกลับเข้าไป จึงได้รับเอกสาร 2 ฉบับเดิม เพิ่มเติมคือมีการลงลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ใหญ่บ้านได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในเอกสารดังกล่าว พร้อมระบุในช่องลายมือชื่อของเขาว่า “ผู้ต้องหาไม่ยอมลงลายมือชื่อ” เอง โดยเขาไม่ยินยอม ไม่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ได้รับการแจ้งสิทธิ และไม่เคยให้การใดๆ ต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

    เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นเอกสารดังกล่าว ให้ธนาธรพร้อมแจ้งว่า วันพรุ่งนี้ไม่ต้องไปรายงานตัวตามหมายเรียกแล้ว เนื่องจากมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว

    นอกจากนี้บันทึกคำให้การดังกล่าว ระบุคำให้การของเขาว่า เขาไม่มีทนายความและไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความหรือบุคคลที่เขาไว้วางใจหรือผู้หนึ่งผู้ใดร่วมฟังการสอบสวน และยังระบุว่าเขาไม่มีถ้อยคำอื่นที่จะให้การเพิ่มเติมอีก ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากเขามีทนายความและต้องการพบและปรึกษากับทนายความก่อนเข้ารับทราบข้อหา

    กล่าวได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่เป็นไปกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและมีความเร่งรัดอย่างผิดวิสัยหลายประการ เมื่อทนายความสอบถามขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าว ได้คำตอบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการ โดยวันที่ 27 ต.ค. 2564 ผู้ต้องหาจะมาตามหมายเรียกหรือไม่ก็ได้ และผู้ต้องหามีสิทธิจะมีทนายความหรือไม่ก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหา

    ทั้งนี้ ในเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาที่ธนาธรได้รับมา ระบุว่าคณะทำงานคดีความมั่นคง ภาค 5 ได้ร่วมประชุมพิจารณาเห็นว่าเข้าข่ายเป็นความผิด มีมติให้จัดให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้ต้องหา จากพฤติการณ์การชุมนุมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 ต่อเนื่องอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ หลังจากการรับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ มีการแจ้งพฤติการณ์เฉพาะกรณีกิจกรรมที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์

    ในข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ได้ระบุถึงพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาได้อ่านแถลงการณ์ และยื่นหนังสือเรียกร้องไว้ให้กับนายตำรวจเวรรักษาการณ์ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 โดยเอกสารข้อเรียกร้องดังกล่าวมีข้อความ “เป็นความผิดของสถาบันกษัตริย์ ที่เห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ของตนเองสำคัญกว่าชีวิตและเสรีภาพของประชาชนในประเทศ” ในบรรทัดที่ 15 ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    นอกจากแจ้งพฤติการณ์เพิ่มแล้ว ตำรวจยังระบุข้อกล่าวหาอื่นๆ เพิ่มเติมอีก คือ ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งในการแจ้งข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ยังไม่ได้ระบุข้อหานี้ไว้ด้วย

    ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำขึ้นเอง ยังระบุว่าเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้บังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือกระทำการมิชอบด้วยประการใดๆ แต่อย่างใด

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/37008)
  • พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ยื่นฟ้องธนาธรต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุมที่มีการรวมตัวกันมากกว่า 20 คน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนข้อกำหนดและคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34

    ทั้งนี้ อัยการกล่าวหาว่า ธนาธรหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการอ่านแถลงการณ์ประกาศหน้าตำรวจภูธรภาค 5 มีข้อความกล่าวถึง "สถาบันกษัตริย์" และปราศรัยหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีข้อความที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าสื่อถึงรัชกาลที่ 10 โดยประการที่น่าจะทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ

    ท้ายฟ้อง อัยการคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว และขอให้ศาลนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของศาลจังหวัดลำพูนด้วย

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.1304/2564 ลงวันที่ 18 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38049)
  • เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ธนาธรเดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ หลังเจ้าหน้าที่ศาลติดต่อให้เข้ารายงานตัว เนื่องจากพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องคดีแล้ว

    กระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. มีเจ้าหน้าที่ศาลเรียกธนาธรให้เข้าไปอยู่ในห้องขังเพื่อควบคุมตัวใต้ถุนศาล หลังจากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาโดยใช้สัญญาประกันเดิมในชั้นสอบสวน

    ต่อมา ผู้พิพากษาได้อ่านฟ้องให้ธนาธรฟัง และถามคำให้การจำเลยผ่านจอภาพซึ่งคอนเฟอเรนซ์มาจากห้องพิจารณา เขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    ระหว่างการรอปล่อยตัวชั่วคราวมีเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนจากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มารอให้กำลังใจ และรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลด้วย

    จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวธนาธร โดยใช้หลักประกันเดิม คือใช้ตำแหน่งอาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมแล้วธนาธรถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังนาน 5 ชั่วโมง

    ศาลยังกำหนดให้จำเลยเข้ารายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้าน ที่ถูกตั้งเป็นผู้กำกับดูแลทุกๆ 15 วัน หรือเดือนละ 2 ครั้งอีกด้วย และกำหนดวันนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 21 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง:คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.1304/2564 ลงวันที่ 18 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38049)
  • นัดพร้อมเพื่อสอบคําให้การและตรวจพยานหลักฐาน นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายจําเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ระบุเหตุผลว่า เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความ ทําให้ยังไม่มีโอกาสได้สอบข้อเท็จจริงและปรึกษาหารือกับจําเลยเกี่ยวกับแนวทางคดี ประกอบกับทนายจําเลยติดนัดพิจารณาคดีอื่นที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทําให้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ศาลอนุญาตเลื่อนนัดสอบคําให้การและตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 6 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น.
  • โจทก์แถลงขอสืบพยานบุคคล 9 ปาก ด้านทนายจำเลยขอสืบพยานบุคคล 10 ปาก แต่ศาลสั่งตัดพยานรวม 5 ปาก ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์, กรรมการบริษัทสยามไบโอไซน์, เลขาธิการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และ รมต.กระทรวงสาธารณสุข กำหนดนัดสืบพยานฝ่ายละ 2 นัด ในวันที่ 16-19 พ.ค. 2566

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนาธร วิทยเบญจางค์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนาธร วิทยเบญจางค์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์