สรุปความสำคัญ

ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ศิลปินอิสระวัย 35 ปี ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องจากมีประชาชนเข้าแจ้งความกล่าวหาว่า ลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จากนั้นนำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด ในช่วงเวลา 03.30 น. ของวันที่ 8 ส.ค. 2564 หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหา ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และฝ่าฝืนเคอร์ฟิวตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศิระพัทธ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อ้างว่า การปลดรูปและลากไปตามถนนเป็นการกระทำอันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามกษัตริย์ นอกจากนี้ กนกวรรณ ฉิมนอก เพื่อนที่รู้จักจากการชุมนุมซึ่งศิระพัทธ์ฝากพระบรมฉายาลักษณ์ที่ปลดออกจากกรอบไว้ก็ถูกดำเนินคดีฐาน รับของโจรด้วย

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ออกไปอย่างกว้างขวางซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาซึ่งต้องตีความอย่างเคร่งครัด เนื่องจากกฎหมายอาญามีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • กนกวรรณ ฉิมนอก
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

10 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 13.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ และตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีรวม 13 นาย เดินทางไปที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรีของศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ รับงานวาดรูปกับเล่นดนตรี ก่อนจะขอเข้าตรวจค้นภายในบ้าน โดยไม่ได้มีการแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ แจ้งยศ แสดงหมายค้น หรือหมายจับแต่อย่างใด อ้างว่าเขามีความผิด ศิระพัทธ์จึงยอมให้เข้าค้น

ระหว่างตรวจค้น เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ศิระพัทธ์แตะต้องสิ่งของในห้อง จากนั้นก็ทำการยึดโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ไป ก่อนจะแจ้งข้อหาลักทรัพย์ จากกรณีลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 นําไปทิ้งที่คลอง โดยไม่อนุญาตให้เขาใช้โทรศัพท์โทรหาทนายหรือติดต่อญาติ จากนั้นได้ควบคุมตัวศิระพัทธ์ขึ้นรถกระบะไปที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ แต่ไม่ได้ใส่กุญแจมือหรือนั่งประกบแต่อย่างใด

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้จัดทําบันทึกการจับกุม ระบุว่า พ.ต.อ.เขมพัทธ์ โพธิพักษ์ และ พ.ต.อ.สุวัฒน์ ตันติมาสน์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.รัตนาธิเบศร์ ทั้งหมด 7 นาย และตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีรวม 6 นาย เข้าจับกุมศิระพัทธ์

โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 เวลา 09.41 น. ทรงศักดิ์ จันทโชติ อายุ 77 ปี ประธานกรรมการชุมชนหมู่บ้านประชาชื่น จังหวัดนนทบุรี ได้มาแจ้งความร้องทุกข์เนื่องจากพบว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 03.30 น. ได้มีคนร้ายไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด มาลักเอารูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปลายกนกสีทองไป

จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดโดยรอบบริเวณสถานที่เกิดเหตุ พบว่า ศิระพัทธ์มีตําหนิรูปพรรณเหมือนชายในกล้องวงจรปิดที่ปีนขึ้นไปเอาพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปลงมา และได้เดินลากกรอบรูปออกไป จึงติดตามมาที่ห้องพัก พร้อมกับแสดงภาพผู้ต้องหาที่กล้องวงจรปิดบันทึกได้ ศิระพัทธ์ยืนยันว่าเป็นบุคคลในภาพดังกล่าว โดยบอกว่านำกรอบภาพไปทิ้งที่คลองบางตลาด

ต่อมาเจ้าพนักงานตํารวจจึงได้ลงไปงมหาและพบกรอบรูปลายกนกสีทอง ซึ่งมีตําหนิรูปพรรณตรงกับกรอบรูป ที่ติดอยู่บริเวณหน้าป้อมยามหมู่บ้าน แต่ไม่พบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ จึงได้สอบถามผู้ถูกจับกุม ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่ได้ลักเอาภาพพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปแล้วได้ปลดภาพออก จากนั้นได้มอบให้กับเพื่อนที่รู้จักกันจากการไปร่วมชุมนุมทางการเมืองผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

เจ้าพนักงานตํารวจจึงได้ยึดกรอบรูปลายกนกสีทองข้างต้นไว้เป็นของกลาง และอาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (3) ประกอบ 66 (2) เนื่องจากมีพยานหลักฐานตามสมควร ว่าผู้ถูกจับน่าจะได้กระทําผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น แต่มีความจําเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้

เจ้าหน้าที่ตํารวจได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา ได้แก่ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และฝ่าฝืนข้อกําหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น.

ช่วงสายของวันที่ 11 ส.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้นำตัวศิระพัทธ์ไปยังศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขัง โดยคัดค้านการให้ประกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

ภายหลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมา ศาลจังหวัดนนทบุรีได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 100,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดตามที่ถูกฝากขังอีก

24 ส.ค. 2564 กนกวรรณ ฉิมนอก ชาวจังหวัดนครราชสีมา อายุ 24 ปี พรัอมทนายความ เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ หลังทราบว่าตนถูกออกหมายจับ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีศิระพัทธ์ที่กล่าวหาว่าลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น และนำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด

พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์คดีว่า จากการสอบสวนศิระพัทธ์ทราบว่า ศิระพัทธ์ได้มอบพระบรมฉายาลักษณ์ที่ปลดจากกรอบรูปให้กับกนกวรรณ จึงแจ้งข้อกล่าวหากนกวรรณว่า ลักทรัพย์หรือรับของโจร โดยกนกวรรณให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นกัน

ช่วงบ่าย พนักงานสอบสวนได้นำตัวกนกวรรณไปยังศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขัง และคัดค้านการให้ประกัน ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา แต่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 90,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

30 ส.ค. 2564 ศิระพัทธ์พร้อมทนายความเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.รัตนาธิเบศร์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในฐานความผิด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังพนักงานสอบสวนออกหมายเรียก

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สภ.นนทบุรี ลงวันที่ 10 ส.ค. 2564, https://tlhr2014.com/archives/33460 และ https://tlhr2014.com/archives/33943)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์