ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
ดำ อ.1204/2564
แดง อ.562/2566

ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) (ประชาชน)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
ดำ อ.1204/2564
แดง อ.562/2566

ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1204/2564
แดง อ.562/2566
ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ข้อหา

  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1204/2564
แดง อ.562/2566
ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ความสำคัญของคดี

ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ศิลปินอิสระวัย 35 ปี ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องจากมีประชาชนเข้าแจ้งความกล่าวหาว่า ลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จากนั้นนำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด ในช่วงเวลา 03.30 น. ของวันที่ 8 ส.ค. 2564 หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหา ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และฝ่าฝืนเคอร์ฟิวตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศิระพัทธ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อ้างว่า การปลดรูปและลากไปตามถนนเป็นการกระทำอันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามกษัตริย์ นอกจากนี้ กนกวรรณ ฉิมนอก เพื่อนที่รู้จักจากการชุมนุมซึ่งศิระพัทธ์ฝากพระบรมฉายาลักษณ์ที่ปลดออกจากกรอบไว้ก็ถูกดำเนินคดีฐาน รับของโจรด้วย

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ออกไปอย่างกว้างขวางซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาซึ่งต้องตีความอย่างเคร่งครัด เนื่องจากกฎหมายอาญามีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

วัฒนา ออประเสริฐ พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

1. นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้บังคับใช้ต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และยังได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยในข้อ 2 กำหนดให้มาตราการห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่าง 21.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2564

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยเวลาประมาณ 03.03 น. จําเลยได้ออกนอกเคหสถาน และเดินไปที่หน้าป้อมยามทางเข้าออกหมู่บ้านประชาชื่น อําเภอเมืองนนทบุรี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

2. จําเลยได้ลักทรัพย์โดยการปีนขึ้นไปเอาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จํานวน 1 ใบ ราคา 500 บาท ซึ่งอยู่ในกรอบรูปลายกนกสีทอง จํานวน 1 กรอบ ราคา 2,500 บาท รวมราคา 3,000 บาท ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณเหนือป้อมรักษาความปลอดภัยทางเข้าออกหมู่บ้านชุมชนประชาชื่น เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ของนายทรงศักดิ์ จันทโชติ ประธานกรรมการชุมชนประชาชื่น ผู้เสียหาย ไปโดยทุจริต

3. จําเลยได้ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์โดยการนําพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งอยู่ในกรอบรูปคว่ำหน้าลงที่พื้นถนน แล้วลากไปตั้งแต่ที่เกิดเหตุไปถึงตลาดสุขสมบูรณ์เป็นระยะทางประมาณ 190 เมตร อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ไม่แสดงความเคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1204/2564 ลงวันที่ 2 พ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 13.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ และตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีรวม 13 นาย เดินทางไปที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรีของศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ รับงานวาดรูปกับเล่นดนตรี ก่อนจะขอเข้าตรวจค้นภายในบ้าน โดยไม่ได้มีการแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ แจ้งยศ แสดงหมายค้น หรือหมายจับแต่อย่างใด อ้างว่าเขามีความผิด ศิระพัทธ์จึงยอมให้เข้าค้น

    ระหว่างตรวจค้น เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ศิระพัทธ์แตะต้องสิ่งของในห้อง จากนั้นก็ทำการยึดโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ไป ก่อนจะแจ้งข้อหาลักทรัพย์ จากกรณีลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 นําไปทิ้งที่คลอง โดยไม่อนุญาตให้เขาใช้โทรศัพท์โทรหาทนายหรือติดต่อญาติ จากนั้นได้ควบคุมตัวศิระพัทธ์ขึ้นรถกระบะไปที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ แต่ไม่ได้ใส่กุญแจมือหรือนั่งประกบแต่อย่างใด

    จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้จัดทําบันทึกการจับกุม ระบุว่า พ.ต.อ.เขมพัทธ์ โพธิพักษ์ และ พ.ต.อ.สุวัฒน์ ตันติมาสน์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.รัตนาธิเบศร์ ทั้งหมด 7 นาย และตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีรวม 6 นาย เข้าจับกุมศิระพัทธ์

    โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 เวลา 09.41 น. ทรงศักดิ์ จันทโชติ อายุ 77 ปี ประธานกรรมการชุมชนหมู่บ้านประชาชื่น จังหวัดนนทบุรี ได้มาแจ้งความร้องทุกข์เนื่องจากพบว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 03.30 น. ได้มีคนร้ายไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด มาลักเอารูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปลายกนกสีทองไป โดยมีกล้องวงจรปิดสามารถจับภาพขณะคนร้ายก่อเหตุไว้

    เจ้าพนักงานตํารวจจึงได้เริ่มสืบสวน โดยการตรวจสอบกล้องวงจรปิดโดยรอบบริเวณสถานที่เกิดเหตุ พบว่าเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 03.03 น. ได้มีชาย 1 คน เดินทางเข้ามาที่บริเวณหน้าป้อมยามรักษาความปลอดภัยหน้าหมู่บ้านประชาชื่น ซึ่งด้านหน้าเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นผู้ต้องหาได้ปีนขึ้นไปเอาพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปดังกล่าวลงมา และได้เดินลากกรอบรูปออกไป

    จากการสอบถามผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น เจ้าพนักงานตํารวจจึงพบศิระพัทธ์ ซึ่งมีตําหนิรูปพรรณตามภาพในกล้องวงจรปิดยืนอยู่บริเวณหน้าห้องพัก เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเป็นว่าเป็นพนักงานตํารวจมาสืบสวนคดีลักทรัพย์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ฯ พร้อมกับนําภาพผู้ต้องหาที่กล้องวงจรปิดบันทึกได้ ให้ผู้ถูกจับตรวจสอบ แล้วยืนยันว่าตนเองคือบุคคลที่ปรากฏในภาพดังกล่าว โดยบอกว่านำกรอบภาพไปทิ้งที่คลองบางตลาด

    ต่อมาเจ้าพนักงานตํารวจจึงได้ลงไปงมหาและพบกรอบรูปลายกนกสีทอง ซึ่งมีตําหนิรูปพรรณตรงกับกรอบรูป ที่ติดอยู่บริเวณหน้าป้อมยามหมู่บ้าน แต่ไม่พบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ฯ จึงได้สอบถามผู้ถูกจับกุม ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่ได้ลักเอาภาพพระบรมฉายาลักษณ์ฯ พร้อมกรอบรูปแล้วได้ปลดภาพออก จากนั้นได้มอบให้กับเพื่อนที่รู้จักกันจากการไปร่วมชุมนุมทางการเมืองผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

    เจ้าพนักงานตํารวจจึงได้ยึดกรอบรูปลายกนกสีทองข้างต้นไว้เป็นของกลาง และอาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (3) ประกอบ 66 (2) เนื่องจากมีพยานหลักฐานตามสมควร ว่าผู้ถูกจับน่าจะได้กระทําผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น แต่มีความจําเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้

    ตํารวจได้แจ้งข้อกล่าวหา ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และนําตัวศิระพัทธ์พร้อมกรอบรูปของกลางส่งพนักงานสอบสวน โดยเขาถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจ 1 คืน พนักงานสอบสวนแจ้งทนายว่า จะสอบปากคำและส่งฝากขังในวันรุ่งขึ้น

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.รัตนาธิเบศร์ ลงวันที่ 10 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33460)
  • พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำศิระพัทธ์ โดยมีทนายความเข้าร่วม และมีการแจ้งข้อกล่าวหา ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน พร้อมทั้งข้อหาฝ่าเคอร์ฟิว หรือฝ่าฝืนข้อกําหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น. ศิระพัทธ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    จากนั้นในช่วงสาย พนักงานสอบสวนได้นำตัวศิระพัทธ์ไปยังศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขัง โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะต้องสอบพยานอีก 5 ปาก พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการให้ประกัน อ้างว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

    ภายหลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยเหตุผลระบุว่า

    1. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตํารวจจับกุมผู้ต้องหา ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตํารวจในการจับกุมแต่โดยดี มิได้ต่อสู้ขัดขวาง จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนีใด อีกทั้งผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทําความผิดอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆ มาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้

    2. ผู้ต้องหาประกอบสัมมาชีพสุจริต หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมจะทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ต้องหาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีหน้าที่ในการหาเลี้ยงครอบครัว

    3. ขณะนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเรือนจําต่างๆ หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะต้องถูกคุมขังในเรือนจําด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ต้องหาเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการถูกคุมขังในสถานที่แออัดซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรค

    ต่อมาในช่วงเวลาราว 15.30 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 100,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดตามที่ถูกผัดฟ้องฝากขังอีก และนัดรายงานตัวครั้งในวันที่ 28 ก.ย. 2564 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 11 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33460)
  • กนกวรรณ ฉิมนอก ชาวจังหวัดนครราชสีมา อายุ 24 ปี พรัอมทนายความ เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ หลังทราบว่าตนถูกออกหมายจับ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีศิระพัทธ์ที่กล่าวหาว่าลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น และนำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด

    เจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกการจับกุม ระบุว่า กนกวรรณพร้อมทนายความ ได้เดินทางมาพบเจ้าพนักงานตํารวจฝ่ายสืบสวน สภ.รัตนาธิเบศร์ พร้อมแจ้งว่าเป็นบุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 381/2564 ลงวันที่ 10 ส.ค. 2564 ในข้อหา “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยเอาไปเสีย หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จึงได้เดินทางมามอบตัว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์

    เจ้าพนักงานตํารวจจึงได้แจ้งข้อกล่าวหากนกวรรณตามหมายจับ กนกวรรณให้การปฏิเสธ จากนั้นฝ่ายสืบสวนได้ส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์คดีระบุถึงเหตุการณ์ตามที่กล่าวหาศิระพัทธ์ว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 ศิระพัทธ์ได้ลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จากนั้นนำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กลับไม่พบพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว จึงได้สอบสวนศิระพัทธ์เพิ่มเติมและทราบว่า ศิระพัทธ์ได้มอบพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวให้กับกนกวรรณ จึงแจ้งข้อกล่าวหากนกวรรณว่า ลักทรัพย์หรือรับของโจร โดยกนกวรรณให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นกัน

    ช่วงบ่าย พนักงานสอบสวนได้นำตัวกนกวรรณไปยังศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขัง โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะต้องสอบพยานอีก 3 ปาก และผลตรวจพิมพ์มือผู้ต้องหา รวมถึงพนักงานสอบสวนยังคัดค้านการให้ประกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

    ราว 15.16 น. ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา แต่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 90,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลนัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 11 ต.ค. 2564 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.รัตนาธิเบศร์, คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 24 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33943)
  • ศิระพัทธ์พร้อมทนายความเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.รัตนาธิเบศร์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในฐานความผิด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน

    ร.ต.อ.ฐิติปกรณ์ คุ้มปานอินทร์ รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.รัตนาธิเบศร์ ได้แจ้งให้ศิระพัทธ์ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําที่ถูกกล่าวหา โดยมีเนื้อหาเช่นเดียวกับที่แจ้งในครั้งก่อน และได้แจ้งเพิ่มเติมว่า สภ.รัตนาธิเบศร์ ได้ดําเนินการสืบสวนเพิ่มเติมโดยตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุพบว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ผู้ต้องหาได้เดินเข้ามาที่จุดที่พระบรมฉายาลักษณ์ติดตั้งอยู่ จากนั้นได้ปีนขึ้นไปแกะพระบรมฉายาลักษณ์และกรอบรูปจนหลุดออก แล้วลากไปกับพื้นถนนตั้งแต่ที่เกิดเหตุไปถึงตลาดสุขสมบูรณ์เป็นระยะทางประมาณ 190 เมตร โดยหันด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ลงพื้น ก่อนจะแกะพระบรมฉายาลักษณ์ออกจากกรอบและมอบให้กนกวรรณไป ส่วนกรอบรูปได้นําไปทิ้งที่คลองบางตลาดซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 100 เมตร

    พนักงานสอบสวนระบุว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหาถือว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ เนื่องจากโดยปกติภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ประชาชนโดยทั่วไปจะให้ความเคารพ เทิดทูน และจะประดิษฐานไว้ในสถานที่เหมาะสม เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ท่าน และจะระมัดระวังไม่ให้วางอยู่ในสถานที่ที่มิบังควร อันจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ เป็นการกระทำที่แสดงออกถึงการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แก่องค์พระมหากษัตริย์

    จึงแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติมแก่ศิระพัทธ์ ทำให้ศิระพัทธ์ถูกแจ้งข้อหาจากเหตุนี้รวมทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”

    ด้านศิระพัทธ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้แต่อย่างใด

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สภ.รัตนาธิเบศร์ ลงวันที่ 30 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34216)
  • พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรียื่นฟ้องศิระพัทธ์ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน บรรยายคำฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 03.03 น. ศิระพัทธ์ได้ออกนอกเคหสถานในเวลาที่ห้าม ไปที่หน้าป้อมยามทางเข้าออกหมู่บ้านประชาชื่น อําเภอเมืองนนทบุรี จากนั้นได้ลักทรัพย์โดยการปีนขึ้นไปเอาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จํานวน 1 ใบ ราคา 500 บาท ซึ่งอยู่ในกรอบรูปลายกนกสีทอง จํานวน 1 กรอบ ราคา 2,500 บาท รวมราคา 3,000 บาท ของนายทรงศักดิ์ จันทโชติ ประธานกรรมการชุมชนประชาชื่น ผู้เสียหาย

    ต่อมา ศิรพัทธ์ได้นําพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งอยู่ในกรอบรูปคว่ำลงแล้วลากไปตามพื้นถนน เป็นระยะทางประมาณ 190 เมตร อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ไม่แสดงความเคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์

    พนักงานอัยการยังระบุในคำฟ้องด้วยว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ เพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์จึงขอให้ศาลพิจารณาเป็นการลับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177

    ในท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี แต่ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ได้ลักไป ซึ่งยังไม่ได้คืน ราคา 500 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1204/2564 ลงวันที่ 2 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37411)
  • ศิระพัทธ์เดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามนัด หลังพบเจ้าหน้าที่ศาลได้รับแจ้งว่า พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ก่อนถูกควบคุมตัวไว้ โดยทนายความได้ยื่นประกันระหว่างพิจารณาคดี และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิ ในวันที่ 2 ธ.ค. 2564

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/37411)
  • พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรียื่นฟ้องกนกวรรณต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในข้อหา รับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 กนกวรรณได้รับของโจร โดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย พาเอาไปเสีย ซึ่งพระบรม
    ฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จํานวน 1 ใบ ราคา 500 บาท ซึ่งอยู่ในกรอบรูปลายกนก ของนายทรงศักดิ์ จันทโชติ ประธานกรรมการชุมชนประชาชื่นสามัคคี 63 ผู้เสียหาย ที่ถูกศิระพัทธ์ลักเอาไป โดยจําเลยรู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ดังกล่าวได้มาจากการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์

    ในท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ได้ลักไป ซึ่งยังไม่ได้คืน ราคา 500 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย

    วันเดียวกันนี้ กนนกวรรณได้เดินทางมารายงานตัวต่อศาลด้วย จึงได้รับทราบฟ้องและยื่นประกันในชั้นพิจารณา โดยศาลอนุญาตให้ประกันโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง ศาลนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 2 ธ.ค. 2564

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1208/2564 ลงวันที่ 4 พ.ย. 2564)
  • นัดคุ้มครองสิทธิซึ่งศาลนัดศิระพัทธ์และกนกวรรณมาพร้อมกัน ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากมีอาการไม่สบายจากการฉีดวัคซีน ศาลเลื่อนไปสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานพร้อมกันทั้งสองคดีในวันที่ 21 ก.พ. 2565
  • โจทก์ จำเลย ทนายจำเลย และนายประกันมาศาล โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 อัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรวมพิจารณาคดีของศิระพัทธ์กับคดีของกนกวรรณเข้าด้วยกัน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สะดวกต่อการดำเนินกระบวนการพิจารณา

    ในนัดนี้ ศาลจึงมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดี เพื่อสะดวกต่อคู่ความทุกฝ่าย โดยให้คดีของศิระพัทธ์เป็นคดีหลัก ทั้งยังได้มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาโดยลับตามคำร้องขอของอัยการ โดยอนุญาตให้เฉพาะคู่ความในคดีทั้งสองเข้าร่วม

    จากนั้นศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟัง โดยจำเลยทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธตามคำให้การที่ได้ยื่นต่อศาล

    อัยการโจทก์ได้ส่งพยานเอกสารจำนวน 17 ฉบับ และแถลงประสงค์สืบพยานบุคคลรวม 6 ปาก ใช้เวลาสืบ 1 นัดครึ่ง ด้านจำเลยส่งพยานเอกสาร รวม 4 ฉบับ และแถลงประสงค์สืบพยานจำเลย รวม 4 ปาก ใช้เวลาสืบ 1 นัด นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 9-10 พ.ย. 2565 และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 10-11 พ.ย. 2565

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40648)
  • โจทก์ ศิระพัทธ์ และทนายจําเลยทั้งสองมาศาล ส่วนกนกวรรณป่วยเป็นโควิด ไม่สามารถมาศาลได้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยแนบใบรับรองแพทย์มาด้วย

    ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ศิระพัทธ์ฟังอีกครั้งหนึ่ง ศิระพัทธ์แถลงขอถอนคําให้การเดิม เป็นให้การใหม่รับสารภาพความผิดฐาน ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยังคงให้การปฏิเสธฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

    ศาลเห็นว่า คดีนี้มีจําเลยหลายคน การพิจารณาและสืบพยานเกี่ยวข้องกันระหว่างจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล จึงไม่สามารถสืบพยานได้ ให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปวันที่ 4 และ 5 เม.ย. 2566 และสืบพยานจําเลยทั้งสองในวันที่ 5 และ 7 เม.ย. 2566

  • ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก โดยโจทก์ไม่สามารถติดตามพยานปาก ทรงศักดิ์ จันทโชติ ประธานกรรมการชุมชนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาและผู้เสียหายในคดีนี้ มาเบิกความได้ ทำให้ตัดพยานปากนี้ออกไป

    การพิจารณาคดีนี้ ศาลได้สั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ตามคำร้องของอัยการ ทำให้ในการพิจารณาอนุญาตให้เฉพาะคู่ความในคดีทั้งสองเข้าร่วม หากแต่ในนัดสืบพยานที่มีสมาชิกกลุ่ม ศปปส. มาเบิกความในฐานะพยานโจทก์ พบว่าได้มีบุคคลภายนอกเข้ามาฟังการพิจารณาด้วย โดยไม่ได้ถูกศาลสั่งให้ออกจากห้องพิจารณาแต่อย่างใด

    พยานโจทก์ที่เข้าเบิกความ แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งชุดสืบสวนจับกุมและพนักงานสอบสวนจาก สภ.รัตนาธิเบศร์ รวมจำนวน 4 ปาก และสมาชิกจากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) อีก 1 ปาก ซึ่งมาแจ้งความกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 โดยเฉพาะ หลังพบเห็นข่าวคดีนี้

    สำหรับพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนและชุดจับกุม ต่างเบิกความในลักษณะเดียวกัน โดยสรุปถึงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดี ตั้งแต่การได้รับแจ้งความจากประธานกรรมการชุมชนหมู่บ้านประชาชื่น กรณีมีผู้มาลักพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมกรอบรูปลายกนก ซึ่งอยู่ที่ป้อมรักษาความปลอดภัยจากหน้าหมู่บ้านไป

    ตำรวจฝ่ายสืบสวนจึงได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด เห็นภาพในช่วงเวลา 03.03 น. ของวันที่ 8 ส.ค. 2564 มีผู้ขึ้นไปแกะพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปลงมา ก่อนคว่ำหน้าภาพลง และลากถูกับพื้นไปยังเต็นท์ขายของบริเวณตลาด

    จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำภาพจากกล้องไปให้สายลับสืบสวน จึงทราบตัวบุคคลว่าคือ จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ตำรวจจึงได้ติดตามไปที่พักของจำเลย และจำเลยยอมรับว่าเป็นบุคคลตามภาพในกล้องวงจรปิดจริง โดยได้นำภาพไปวางที่เต็นท์ในตลาด ก่อนจะแกะภาพพระบรมฉายาลักษณ์ไปมอบให้จำเลยที่ 2 และได้นำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด ตำรวจจึงได้ไปงมหากรอบรูปในคลอง และพบกรอบรูปดังกล่าว

    พนักงานสอบสวนรับว่า ในตอนจับกุมจำเลยที่ 1 และแจ้งข้อหาเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 นั้น ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 มีแต่เพียงการแจ้งข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและฝ่าฝืนเคอร์ฟิว จนมีการเรียกมาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในภายหลังเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564

    การเข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีหมายค้นและหมายจับ โดยตำรวจอ้างว่า หลังจากการสอบสวนและตรวจค้น พบว่ามีพยานหลักฐานตามสมควร ว่าผู้ถูกจับน่าจะได้กระทําผิดอาญา และมีความจําเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้

    ก่อนต่อมาหลังจากสอบสวนจำเลยที่ 1 ตำรวจจึงมีการไปขอออกหมายจับจำเลยที่ 2 จากศาลจังหวัดนนทบุรี โดยไม่ได้ออกหมายเรียกมาก่อน และจำเลยที่ 2 ได้เข้ามอบตัวกับทางตำรวจ

    ทั้งนี้ ทั้งในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม รายงานการสืบสวนของตำรวจ บันทึกการให้ปากคำของประธานกรรมการชุมชน รวมทั้งปากคำของสมาชิกจากกลุ่ม ศปปส. ซึ่งเข้าแจ้งความเพิ่มเติมในคดีนี้ ต่างระบุถึงพฤติการณ์ในคดีที่เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112 ด้วยถ้อยคำเดียวกันทุกตัวอักษร กล่าวคือ การที่จำเลยเดินลากพระบรมฉายาลักษณ์คว่ำหน้าภาพไปบนพื้นถนนนั้น “เป็นพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม เพราะโดยปกติพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชาชนทั่วไปต้องให้ความเคารพเทิดทูน และจะประดิษฐานไว้ในสถานที่เหมาะสม เปรียบเหมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ท่านและสถาบันพระมหากษัตริย์ จักต้องระมัดระวังไม่ให้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์วางอยู่ในที่ที่มิบังควร อันจะเป็นการเสื่อมพระเกียรติยศเกียรติภูมิ แห่งองค์พระมหากษัตริย์”

    ++สมาชิก ศปปส. เข้าขอให้แจ้งข้อหา 112 เพิ่มเองหลังเห็นข่าว อ้างถึงคดีเผารูปกรณีอื่นๆ

    ขณะที่พยานปาก ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ จากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นพยานประชาชนเพียงคนเดียวที่เข้าเบิกความ ระบุว่า หลังได้เห็นข่าวสารว่ามีผู้ลักพระบรมฉายาลักษณ์ในกรณีนี้ จึงได้เดินทางไปที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ และได้ทำหนังสือร้องเรียนให้ดำเนินคดีมาตรา 112 ในกรณีนี้ยื่นต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564

    ก่อนตำรวจจะได้เรียกระพีพงษ์มาสอบปากคำในฐานะพยาน โดยเขาอ้างถึงกรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเผาพระบรมฉายาลักษณ์แล้วถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในคดีอื่นๆ และเห็นว่าพฤติการณ์ในคดีนี้ก็ไม่ต่างจากคดีเหล่านั้น ซึ่งคาดว่า “มาจากจิตใจที่ตามอาฆาตมาดร้ายหรือไม่ประสงค์ดีต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และยังอ้างว่า ศิระพัทธ์ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทผู้ป่วยจิตเวชแต่อย่างใด

    ระพีพงษ์ยังเบิกความด้วยว่า ตนมีตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานของกลุ่ม ศปปส. เคยไปแจ้งความเกี่ยวกับมาตรา 112 เกือบร้อยคดี และได้มาเป็นพยานเบิกความในศาลประมาณ 10 คดี แต่รับว่าไม่ได้เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ในคดีนี้ ไม่ทราบผลคำพิพากษาในคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์คดีต่างๆ ที่อ้างถึงไว้ และรับว่าไม่ทราบว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะเคยมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 ในกรณีเกี่ยวกับการเผาพระบรมฉายาลักษณ์

    โดยสรุป ประเด็นสำคัญในคดีนี้ คือพฤติการณ์การปลดพระบรมฉายาลักษณ์และลากภาพโดยคว่ำหน้าไปกับพื้น แต่ไม่ได้มีการแสดงออกอื่นใดอีกในระหว่างเกิดเหตุนั้น จะเข้าข่ายเป็นความผิดในข้อหาตามมาตรา 112 ที่ระบุถึงการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่

    หลังสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น ฝ่ายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน และขอยื่นคำแถลงปิดคดีภาย.นวันที่ 10 พ.ค. 2566 ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. โดยศาลต้องส่งร่างคำพิพากษาไปให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ตรวจก่อน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณาและคำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1208/2564 ลงวันที่ 4 และ 5 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56430)
  • เวลา 09.51 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยในวันนี้จำเลยได้มาพร้อมกับเพื่อนและครอบครัว ซึ่งศาลได้เรียกให้จำเลยทั้งสองลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงตัว ก่อนจะเริ่มอ่านข้อกล่าวหาและคำเบิกความในการสืบพยาน ก่อนจะอ่านในส่วนการพิพากษาแยกเป็น 2 ส่วน มีใจความสำคัญระบุว่า พิเคราะห์แล้วในส่วนความผิดของจำเลยที่ 1 ปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และมาตรา 112 หรือไม่

    ในส่วนของฐานความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลพิเคราะห์จากคำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสืบสวนและชุดจับกุมต่างเบิกความไปในทำนองเดียวกัน พร้อมทั้งพยานหลักฐานที่เป็นกล้อง CCTV พบว่าจำเลยที่ 1 ได้ปลดรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พร้อมทั้งกรอบรูปลายกนก ที่บริเวณหน้าหมู่บ้านประชาชื่น และพบว่าจำเลยที่ 1 ได้ลากถูกรอบและภาพดังกล่าวไปกับพื้นในยามวิกาล

    จึงพิเคราะห์แล้วเห็นว่าศิระพัทธ์ ได้กระทำผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริง เนื่องจากในกล้องวงจรปิด ที่ถูกใช้เป็นพยานหลักฐานของคดีนี้มีเวลาที่ระบุในการกระทำผิดชัดเจนว่าคือช่วงเวลา 03.00 น. ซึ่งเป็นยามวิกาล อันเป็นการฝ่าฝืนออกนอกเคหสถานในเวลาเคอร์ฟิว

    ในส่วนข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จากพฤติการณ์ที่จำเลยได้โยนกรอบรูปลงคูน้ำ จนทำให้กรอบรูปลายกนกเสียหาย จำเลยได้วางเงินบรรเทาความเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์ซึ่งเป็นประธานชุมชนไปแล้ว เป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท

    และตามหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ที่พยานโจทก์ คือระพีพงศ์ ชัยยารัตน์ ประชาชนกลุ่ม ศปปส. เบิกความว่าการที่จำเลยลากรูปไปตามทางเดิน และคว่ำพระบรมฉายาลักษณ์ไปกับพื้นนั้น เป็นการไม่ประสงค์ดีต่อรัชกาลที่ 10 เป็นการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น

    ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงเจตนาที่ต้องการลักขโมยของยามวิกาลเท่านั้น เนื่องจากภาพในกล้องวงจรปิด จำเลยได้กระทำการเพียงลำพัง และกรอบรูปดังกล่าวมีความหนัก คงไม่สามารถจะเดินถือด้วยวิธีการปกติได้ การที่จำเลยต้องลากรูปไปกับพื้นจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จงใจลักทรัพย์ และฟังมิได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษที่ดูหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไร

    ส่วนจำเลยที่ 2 หรือ กนกวรรณ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยรับของโจรจริงหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 โดยจากคำเบิกความของพยานโจทก์มีเพียงบันทึกการจับกุม ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าที่น้ำหนักเบา ประกอบกับไม่พบของกลางอยู่กับจำเลยที่ 2 จึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

    ทั้งนี้ ศิระพัทธ์ ยังมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ศาลเห็นว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษตัวบทกฎหมายที่หนักที่สุด โดยลงโทษในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 6 เดือน ปรับ 40,000 บาท และลงโทษในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่จำเลยได้ให้การรับสารภาพ มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 20,000 บาท และความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ลดโทษเหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท รวมโทษจำคุก 9 เดือน ปรับ 30,000 บาท

    อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน สมควรให้ปรับปรุงตัว มีเหตุให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี และทำงานบริการสังคม 36 ชั่วโมง ส่วนในข้อหามาตรา 112 ให้ยกฟ้อง

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1208/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.562/2566 ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56464)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
กนกวรรณ ฉิมนอก

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 01-06-2023
ผู้ถูกดำเนินคดี :
กนกวรรณ ฉิมนอก

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 01-06-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์