ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.260/2565
แดง อ.636/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง รอง ผกก.สส.สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.260/2565
แดง อ.636/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง รอง ผกก.สส.สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์

ความสำคัญของคดี

วิธญา คลังนิล หรือศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน artn’t ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” จากการแสดง Performance Art ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 โดยรอง ผกก.สส.สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ผู้กล่าวหาอ้างว่า การแสดงดังกล่าว ซึ่งในตอนหนึ่งวิธยาได้นอนหงายใช้เท้าขวาชี้ไปบนฟ้านั้น เป็นการชี้ไปที่รูป ร.10 ซึ่งอยู่ด้านบนป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันเป็นการแสดงกริยาสบประมาท ดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์ และเป็นความผิดตามมาตรา 112

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความและนำไปใช้เอาผิดประชาชนอย่างกว้างขวาง จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ณัฐเมธส์ สิริไตรรัตนกุล พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ บรรยายคำฟ้อง ระบุเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. จำเลยเจตนาเลือกสถานที่ที่มีป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” และที่มีรูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ทำการแสดงสัญลักษณ์ด้วยป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” และด้วยการปีนขึ้นไปบนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำสีแดงเทราดใส่เนื้อตัว โดยมุ่งประสงค์ให้น้ำสีแดงได้กระเด็นไปเลอะเทอะเปรอะเปื้อนพระบรมฉายาลักษณ์ และป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” ซึ่งประดิษฐานอยู่เหนือป้ายชื่อมหาวิทยาลัย

จากนั้นจำเลยได้แสดงกิริยาท่าทางเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ ด้วยการนั่งห้อยขา นั่งยองๆ แสดงท่าครุฑ ยืนเอาถังสีสวมครอบศีรษะ และนอนหงายโดยใช้เท้าขวา ซึ่งเป็นอวัยวะเบื้องต่ำชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ อันเป็นการแสดงพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการแสดงออกทางกิริยาท่าทางจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยการไม่ถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย โดยประการที่น่าจะทำให้พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

และโดยสัญลักษณ์ป้ายผ้าข้อความ “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” นั้น เมื่อประชาชนทั่วไปได้พบเห็นทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้สนับสนุนผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน ให้กระทำการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เพื่อก่อความไม่สงบในบ้านเมือง อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นการทำด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชม หรือแสดงกิริยาทั่วไปที่วิญญูชนพึงกระทำโดยสุจริต

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.260/2565 ลงวันที่ 28 ก.พ. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ วิธญา คลังนิล นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน artn’t ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดีที่มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง เป็นผู้กล่าวหา ในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดง Performance Art หรือ ศิลปะการแสดงสด ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564

    ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม วิธญาได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ แต่เนื่องจากในช่วงดังกล่าว เขาเดินทางไปทำโครงการศิลปะที่จังหวัดนราธิวาส บ้านเกิดของเขา และได้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 จนเกิดการล็อคดาวน์ระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัด ทำให้วิธญาไม่สามารถเดินทางกลับมาจังหวัดเชียงใหม่ได้ จึงได้ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อหาออกมาก่อน

    บรรยากาศก่อนการรับทราบข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดเตรียมกำลังทั้งในเครื่องแบบ, ชุดปฏิบัติการพิเศษและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ รวมไม่น้อยกว่า 60 นาย กระจายตัวโดยรอบ อีกทั้งมีการตั้งแผงเหล็กกั้นรอบสถานี ให้มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว และมีการตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้ที่จะเข้าไปภายใน ตำรวจยังพยายามป้องกันไม่ให้ประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจวิธญา ราว 10 คน เข้าไปในพื้นที่บริเวณ สภ. ได้ โดยมีการติดตามบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอประชาชนไว้โดยตลอด อีกทั้งยังมีการประกาศห้ามการชุมนุมมั่วสุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นระยะ

    ส่วนวิธญาได้เดินทางมายังสถานีตำรวจโดยการแต่งชุดคอสเพลย์เป็นตัวละคร “ลูฟี่” ในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง "วันพีซ" โดยมีการแสดงขนาดสั้นก่อนเดินทางเข้ารับทราบข้อหา

    พ.ต.ท.อดุลย์ สวยสม รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ได้แจ้งข้อกล่าวหากับวิธญา โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 วิธญากับพวกราว 7 คน ได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บริเวณประตูทางเข้า-ออก หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้ต้องหาได้สวมใส่ชุดสีขาว และปืนขึ้นไปบนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเหนือถัดขึ้นไปเป็นป้ายอักษรข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” และมีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อยู่

    ผู้ต้องหาได้สาดเทน้ำสีแดงราดเนื้อตัวตนเองจนเปียกโชกทั้งตัว เป็นที่อุจาดตาแก่ผู้คนที่สัญจรไปมาที่พบเห็น นอกจากนั้นทําให้สีกระเด็นและเปรอะเปื้อนตั้งแต่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ป้ายข้อความทรงพระเจริญ ลงมายังป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนแสดงการเคลื่อนไหวร่างกายอันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น นั่งห้อยขา, นั่งยองๆ, ยืนเอาถังสีสวมครอบศีรษะ, แสดงท่าครุฑ ซึ่งเป็นของสูง เนื่องจากครุฑเป็นตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ เทพพาหนะของพระนารายณ์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอํานาจแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติ

    ผู้ต้องหายังแสดงท่านอนหงายโดยใช้เท้าขวาชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งตามประเพณีวัฒนธรรมของไทยย่อมทราบกันดีว่า เท้าเป็นของต่ำ การกระทําตลอดจนการแสดงทั้งหมดที่กล่าวมา มีลักษณะเป็นการหยาบคาย อันเป็นการไม่ถวายพระเกียรติต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแสดงกริยาสบประมาท ดูถูกเหยียดหยาม ต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงดํารงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนคนไทย เป็นการประทุษร้ายต่อความรู้สึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และความรู้สึกของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ

    ผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ”

    ด้านวิธญาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น จะขอให้การเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนภายใน 20 วัน ต่อไป

    หลังการรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว วิธญาได้ถูกนำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ก่อนตำรวจปล่อยตัวเขากลับไปโดยไม่มีการควบคุมตัว เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ทั้งเข้ามาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ลงวันที่ 5 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36072)
  • พนักงานสอบสวนนัดส่งตัววิธญาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 20 ธ.ค. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนฟังคำสั่งไปวันที่ 18 ม.ค. 2565 เวลา 10.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนฟังคำสั่งไปวันที่ 21 ก.พ. 2565 เวลา 10.00 น.
  • พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งฟ้องวิธญา แต่เนื่องจากวิธญายังไม่ได้เตรียมเรื่องหลักทรัพย์ประกันตัว จึงขอเลื่อนนัดฟ้องคดีไปในวันที่ 28 ก.พ. 2565
  • พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งฟ้องวิธญา หรือศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังวิธญาเข้ารายงานตัวกับพนักงานอัยการในช่วงสาย อัยการได้แจ้งว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงบ่าย ทำให้ตั้งแต่เวลาราว 13.15 น. เขาถูกนำตัวไปควบคุมที่ห้องขังใต้ถุนศาลจังหวัดเชียงใหม่

    ด้านทนายความได้ยื่นขอประกันตัว โดยขอใช้ตำแหน่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นนายประกัน ต่อมาเวลาประมาณ 17.40 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย พร้อมกำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 19 เม.ย. 2565 และนัดพร้อมวันที่ 25 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น. รวมเวลาที่จำเลยถูกคุมขังใต้ถุนศาลราว 4 ชั่วโมงเศษ

    คำฟ้องณัฐเมธส์ สิริไตรรัตนกุล พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวหาว่า การแสดง Performance Art ของวิธญา ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 วิธญามีเจตนาเลือกสถานที่ที่มีป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” และที่มีรูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ก่อนแสดงกิริยาท่าทางเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ โดยช่วงหนึ่งได้นอนหงายโดยใช้เท้าขวา ซึ่งเป็นอวัยวะเบื้องต่ำชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ อันเป็นการแสดงพฤติกรรมที่มีลักษณะจาบจ้วง ล่วงเกิน ไม่ถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ อีกทั้งป้ายผ้าข้อความ “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” ทำให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจได้ว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลให้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    อัยการยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เกรงว่าจำเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก

    คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ของศิวัญชลี ที่ถูกอัยการฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้เขากับเพื่อนกลุ่ม Artn’t ได้ถูกฟ้องกรณีแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงินมาแล้วคดีหนึ่ง

    ขณะที่หากนับคดีจากการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด ศิวัญชลีถูกกล่าวหามาแล้วรวม 9 คดี โดยนอกจากในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 7 คดี มีคดีที่เขาถูกกล่าวหาจากกิจกรรมคาร์ม็อบที่นราธิวาส บ้านเกิดของเขา และคดีจากการชุมนุม #ม็อบ12ธันวา64 #ราษฎรพิพากษามาตรา112 ที่สี่แยกราชประสงค์ ในกรุงเทพมหานคร โดยที่เขาเพียงแต่ไปอ่านบทกวีสั้นๆ ในงานดังกล่าวเท่านั้น ทำให้เขาถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.260/2565 ลงวันที่ 28 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40846)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องอีกครั้ง จําเลยให้การปฏิเสธ แถลงว่า ประสงค์จะต่อสู้คดี ศาลเห็นว่า นัดพร้อมเพื่อสอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน ตามนัดเดิมนั้น นัดนานเกินไป จึงให้เลื่อนเป็นวันที่ 9 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • โจทก์แถลงสืบพยานบุคคล 14 ปาก ใช้เวลา 3 นัด ด้านทนายจำเลยแถลงสืบพยาน 4 ปาก ใช้เวลา 2 นัด กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18 - 20 ม.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยวันที่ 25 - 26 ม.ค. 2566
  • โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบ 12 ปาก โดยพยายามนำสืบว่าจำเลยจงใจเลือกสถานที่ที่มีป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” และมีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 อยู่ พร้อมใช้น้ำสีแดงเทราดตัวไปจนเปรอะเปื้อนรูปและป้ายข้อความ ขณะที่การแสดงกิริยาเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ ด้วยการนั่งห้อยขา นั่งยอง ๆ แสดงท่าครุฑ ยืนเอาถังสีสวมครอบศีรษะ และนอนหงายโดยใช้เท้าขวา ซึ่งเป็นอวัยวะเบื้องต่ำ ชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งฝ่ายโจทก์อ้างว่าเป็นการแสดงพฤติกรรมที่มีลักษณะจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    ส่วนฝ่ายจำเลยปฏิเสธและต่อสู้คดี โดยยืนยันว่าตนไปทำศิลปะการแสดงสด Performance Art ที่บริเวณบนป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากต้องการแสดงออกเรียกร้องความเป็นธรรมต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะที่ผ่านมาตนมีปัญหาขัดแย้งกับคณบดี ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์มาก่อน ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษา ไม่มีเจตนากระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์

    ++ผู้กล่าวหา – พนักงานตำรวจผู้เห็นเหตุการณ์ เห็นจำเลยร่ายรำ ทำท่าครุฑและใช้เท้าชี้รูป แต่ไม่มีใครเข้าจับกุม

    พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง รองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ผู้กล่าวหา, ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ จินะธรรม ผบ.หมู่ป้องกันและปราบปราม และ ร.ต.อ.โสภณ ตามา รองสารวัตรสืบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ตำรวจผู้เห็นเหตุการณ์ เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 1 พ.ค. 2564 เวลา 18.00 น. ที่บริเวณประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    เหตุการณ์เริ่มจากมีกลุ่มบุคคลประมาณ 6-8 คน กำลังทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “ยืน หยุด ขัง” และถือป้าย “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” ระหว่างที่ผู้เห็นเหตุการณ์ทั้งสองมาถึง ก็พบจำเลยยืนอยู่บนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีสีแดงราดตัว และแสดงกริยาท่าทางต่างๆ ในลักษณะเป็นการร่ายรำ ยกมือ เท้าเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และหยุดเป็นพัก ๆ เพื่อให้มีบุคคลอื่นมาถ่ายภาพ โดยรวมใช้เวลาแสดงประมาณ 40 นาที

    โดยสภาพพื้นที่ ฐานของป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สูงจากพื้นดินประมาณ 2.30 เมตร ส่วนบนสุดของป้ายมหาวิทยาลัยอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 4 เมตร ส่วนรูปพระบรมฉายาลักษณ์ และป้าย “ทรงพระเจริญ” อยู่สูงจากป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกประมาณ 90 เซนติเมตร โดยลักษณะของพระบรมฉายาลักษณ์จะอยู่บริเวณตรงกลางด้านบนของป้าย เป็นจุดเด่น ประชาชนทั่วไปสามารถพบเห็นได้

    ในการแสดงร่ายรำของจำเลย มีจังหวะที่นอนลงและใช้เท้าชี้ขึ้นไปด้านบน ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ตั้งอยู่ ห่างออกไป 90 เซนติเมตร และจำเลยยังแสดงทำท่าครุฑ ซึ่งจากความเห็นของของผู้เชี่ยวชาญในทางนาฏศิลป์นั้น เป็นการสื่อถึงพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการแสดงท่าครุฑนั้นเป็นของสูง จึงไม่มีการนำมาแสดงกันเป็นการทั่วไป

    นอกจากนี้พยานโจทก์ยังกล่าวถึงการแสดงออกทางการเมืองครั้งอื่น ๆ ของจำเลยที่อ้างว่าเชื่อมโยงกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ โดยมี พ.ต.ท.นรากร ปิ่นประยูร สารวัตรสืบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นผู้จัดทำรายงานสืบสวนการทำกิจกรรมทางการเมืองครั้งอื่น ๆ ของจำเลย เพื่อพยายามแสดงว่าจำเลยมีพฤติกรรมต่อต้านกษัตริย์

    อาทิ คดีความที่จำเลยทำผืนผ้าลักษณะคล้ายธงที่มีสีแดง ขาว แต่ไม่มีสีน้ำเงิน และเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปมาเขียนข้อความลงผืนผ้าดังกล่าว ซึ่งคดีนี้มี อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมทั้งนำธงดังกล่าวมามอบให้พนักงานสอบสวน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสืบพยาน และกิจกรรมการแสดง Performance art ครั้งอื่น ๆ ของจำเลยที่เป็นการแสดงออกทางการเมืองและสุ่มเสี่ยงต่อการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ นอกจากนี้เอกสารโจทก์ยังปรากฏแผนผังอ้างความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับกลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอื่น ๆ ด้วย

    จากการเห็นภาพของจำเลยที่กำลังแสดงดังกล่าว พ.ต.ท.อานนท์ ผู้กล่าวหา และพยานโจทก์ต่างเชื่อว่า จำเลยจงใจเตรียมการไปแสดงศิลปะเคลื่อนไหวที่ป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และเป็นสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปพบเห็นได้ การใช้สีราดใส่ตัว ย่อมคาดหมายได้ว่าสีจะไปเปรอะเปื้อนพระบรมฉายาลักษณ์ และการแสดงการต่อต้านผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็สามารถไปแสดงที่อื่นได้

    พ.ต.ท.อานนท์ ตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้กล่าวหาคดีผืนผ้าแถบสีลักษณะคล้ายธงชาติที่จำเลยถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งด้วย และในคดีนั้นจำเลยก็ไม่ใช่ผู้เขียนข้อความที่ไม่เหมาะสมลงบนผืนผ้าแต่อย่างใด

    ในวันเกิดเหตุคดีนี้ พ.ต.ท.อานนท์ ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง แต่ได้รับรายงานสถานการณ์เป็นระยะจาก ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ และ ร.ต.อ.โสภณ ผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ และมีการถ่ายวิดีโอภาพเคลื่อนไหวการแสดงดังกล่าวไว้ แต่โจทก์ไม่ได้ส่งเป็นหลักฐานต่อศาลแต่อย่างใด ทั้งนี้การแสดงท่าทางต่าง ๆ ของจำเลยไม่ได้มีความหมายชัดเจน แต่ พ.ต.ท.อานนท์ เข้าใจว่า เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งเป็นความคิดเห็นของพยานเอง

    ส่วน ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ ตอบทนายความว่า สภาพพื้นที่บนป้ายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีพื้นที่แคบพอจะยืนอยู่ได้เท่านั้น และตนถ่ายภาพรายงานผู้บังคับบัญชาโดยเลือกถ่ายภาพนิ่งเฉพาะบางท่าทางตามที่คิดว่าควรจะถ่าย ไม่ได้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวเป็นวิดีโอรายงาน และตนเห็นว่าการยกเท้าของจำเลยตามภาพถ่ายมีลักษณะยกขึ้นไปตรง ๆ ไม่ได้เอียงชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์ เพียงแต่ทำท่าทางดังกล่าวใกล้กับพระบรมฉายาลักษณ์ และเมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นภาพดังกล่าวก็ไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์เข้าไปทำการจับกุมจำเลยทันทีหรือสั่งการให้เข้าไปหยุดจำเลยการกระทำดังกล่าว

    นอกจากนี้ ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ และ ร.ต.อ.โสภณ รับว่า ทั้งสองไปพบจำเลยในพื้นที่เกิดเหตุหลังจากกิจกรรมเริ่มไปสักพัก หลังจากที่จำเลยปีนขึ้นไปบนป้ายมหาวิทยาลัยและเทสีแดงราดตัวแล้ว จึงไม่เห็นเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ โดยทั้งสองยืนอยู่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อฝั่งตรงข้าม ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากจุดที่จำเลยทำกิจกรรมประมาณ 20-30 เมตร นอกจากนี้ ร.ต.อ.โสภณ และ พ.ต.ท.นรากร ยังให้การต่อไปว่า เห็นจำเลยแสดงท่าทางต่าง ๆ ยกมือยกเท้าไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา 40-50 นาที แต่โดยรวมแล้วตนเองก็ไม่เข้าใจว่าการแสดงท่าทางดังกล่าวของจำเลยต้องการสื่อถึงอะไร

    พนักงานอัยการถามติง พ.ต.ท.อานนท์, ร.ต.อ.โสภณ และ ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ ยืนยันคล้ายกันว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงออกทางร่างกาย มีการสาดสี แสดงท่าทางครุฑซึ่งเป็นของสูง และท่าทางอื่น ๆ ใกล้กลับพระบรมฉายาลักษณ์ จึงเชื่อว่าจำเลยมีเจตนา เพราะบุคคลทั่วไปจะไม่แสดงท่าทางอย่างที่จำเลยทำ และยังเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เสียดสีสถาบันกษัตริย์ แต่เหตุที่ พ.ต.ท.อานนท์ ไม่ได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปจับกุมจำเลยทันทีเนื่องจากไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า โดยต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานและประชุมหารือกันเสียก่อน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/55771)
  • ++พนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – เห็นภาพนิ่งที่ตำรวจนำมาให้ดู จึงเห็นว่าเป็นการแสดงความไม่เคารพรัชกาลที่ 10

    อุดม สุภาษี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 1 พ.ค. 2564 ซึ่งอุดมเข้าเวรอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเห็นเหตุการณ์ในวันดังกล่าวว่า มีบุคคลขึ้นไปนั่งอยู่บนป้ายของมหาวิทยาลัยที่ด้านบนมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ตามเนื้อตัวเปื้อนสีแดงและเหยียดเท้า เหยียดมือขึ้นไปด้านบน แต่ไม่แน่ใจและไม่ทันเห็นว่าบุคคลดังกล่าวชูเท้าขึ้นหรือไม่ จากนั้นจึงโทรแจ้งศูนย์วิทยุของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเข้าไปตักเตือนว่าไม่เหมาะสม แต่กลุ่มบุคคลดังกล่าวยังทำกิจกรรมต่อไป โดยใช้เวลารวมประมาณครึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วจึงมีบุคคลอื่นมารับตัวจำเลยไป เมื่อเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว อุดมจึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยนั้นไม่สมควร ไม่เคารพพระมหากษัตริย์

    ขวัญชัย ตันแจ้ เจ้าหน้าที่จัดการงานเอกสารของงานรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความถึงวันเกิดเหตุว่า ช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ได้รับแจ้งจากหัวหน้างานให้เข้าไปตรวจสอบเหตุการณ์แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในพื้นที่บริเวณประตูมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เมื่อไปถึงก็ไม่พบกิจกรรมดังกล่าวแล้ว และเห็นว่า มีกลุ่มบุคคลกำลังทำความสะอาดป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ พบว่า ทั้งป้ายและรูปมีการทำความสะอาดแล้ว แต่บ่อน้ำพุหน้าป้ายมหาวิทยาลัยมีน้ำเป็นสีแดง เมื่อเห็นแล้วพยานเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความไม่เคารพรัชกาลที่ 10

    รัตนะ แสนเพ็ญ เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความว่า ตนเป็นผู้เข้าร่วมประชุมกับรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อเหตุการณ์ที่มีกลุ่มวัยรุ่นมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้ามหาวิทยาลัย ซึ่งตนได้มีความเห็นทางกฎหมายและได้รับคำสั่งให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ว่ามีกลุ่มบุคคลไปล้างสีจนทำให้บ่อน้ำพุบริเวณหน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เต็มไปด้วยสีแดง และใช้น้ำของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ตามความเห็นของพยาน กิจกรรมนี้ทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับความเสียหายจากที่บริเวณดังกล่าวมีสีเปื้อน ส่วนที่มีคนใช้เท้าชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ตามความเห็นของพยาน เป็นการกระทำที่ดูหมิ่น แต่ไม่ถึงกับอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์

    อย่างไรก็ตาม อุดมตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ตนเองให้การในชั้นพนักงานสอบสวนว่าไม่แน่ใจว่าเห็นเหตุการณ์ที่จำเลยเหยียดเท้าขึ้นด้านบนหรือไม่ และขวัญชัยรับว่า ตนเองไม่เห็นเหตุการณ์เลย แต่ได้ดูเพียงภาพที่ตำรวจนำมาให้ดูเท่านั้น ซึ่งเมื่อดูภาพนิ่งและวิดีโอภาพเคลื่อนไหว อาจจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันก็ได้

    ส่วนรัตนะรับว่า เมื่อเห็นภาพเหตุการณ์ที่จำเลยชี้เท้าขึ้นด้านบนแล้วรู้สึกว่าไม่เหมาะสมนั้นเป็นความรู้สึกส่วนตัวของพยานเอง และหากจำเลยไม่มีเจตนาทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ถือว่าไม่มีความผิดมาตรา 112 ส่วนความเสียหายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเพียงน้ำในบ่อน้ำกลายเป็นสีแดง ซึ่งสามารถเปลี่ยนน้ำได้

    ++พยานด้านนาฏศิลป์ เห็นว่าจำเลยทำท่าเลียนแบบครุฑ ซึ่งเป็นของสูงจงใจหมิ่นกษัตริย์ การแสดงนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมอันดีงาม

    พรพิมล ยี่ตันสี รองผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ เบิกความว่า ตนได้รับหมายเรียกให้เข้ามาเป็นพยานในคดีนี้เนื่องจากตนมีความรู้ด้านการแสดง โดยพนักงานสอบสวนให้พยานแปลภาษากายจากรูปภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ปรากฏมีภาพที่จำเลยทำท่าทางคล้ายครุฑ เนื่องจากท่าทางลักษณะกางปีกเหมือนพญาครุฑ ซึ่งเป็นยานพาหนะของเทพ โดยพระมหากษัตริย์เป็นตัวแทนของพระนารายณ์ เปรียบเสมือนสมมุติเทพเป็นสัตว์สูงสุด ทั้งตราครุฑยังเป็นตราแผ่นดิน ดังนั้นตราครุฑคือตัวแทนของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

    ตามความเห็นของพรพิมลแล้ว การแสดงนั้นจะต้องเป็นการแสดงที่สื่อออกมาถึงสุนทรียะ แต่จากที่พยานดูภาพที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู ภาพที่ออกมานั้นดูไม่งดงาม รู้สึกไม่ดี พร้อมการแสดงยังทำต่อหน้ารูปพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่บังควร ไม่เหมาะสมอีกด้วย แม้ตนเองก็ไม่เข้าใจว่าการแสดงของจำเลยจะสื่อถึงอะไร แต่เห็นว่าเป็นการไม่ถวายพระเกียรติต่อพระมหากษัตริย์โดยการยกเท้าขึ้นไปด้านบน ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในทางศิลปะของไทย

    ส่วน พิชิตชัย เกลอดู ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เบิกความต่อศาลว่า วัฒนธรรมคือสิ่งดีงามโดยมาจากการที่ทุกคนเห็นด้วยกันว่าเป็นสิ่งที่ดี และควรปฏิบัติสืบต่อกันมา ต้องเป็นที่ยอมรับและยึดถือร่วมกัน แต่เห็นว่าการแสดงของจำเลยถือว่าเป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมที่ได้กระทำกับสิ่งอันเป็นที่รักและเคารพของบุคคลอื่น เพราะสถานที่เกิดเหตุเป็นป้ายหลักของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งเป็นตัวแทนของรัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ดีและไม่ควรทำ

    ต่อมา พรพิมลตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ที่พยานเบิกความว่าจำเลยทำท่าครุฑนั้นเป็นเพียงการเลียนแบบครุฑ เพราะการแสดงท่าทางไม่ถูกต้องตามหลักการแสดงท่าครุฑ และพยานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ซึ่งเป็นเพียงสาขาหนึ่งของศิลปะการแสดงซึ่งมีหลากหลายแขนง

    ทั้งนี้ พยานรู้ว่ามีตัวละครครุฑอยู่ในวรรณคดีไทย เช่น “กากี” แต่ครุฑในเรื่องดังกล่าวไม่ได้สื่อถึงพระมหากษัตริย์ ส่วนพิชิตชัยเบิกความรับว่า ในแต่ละพื้นที่และแต่ละบุคคลก็มีศิลปะและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปได้ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล

    อย่างไรก็ดี พรพิมลตอบอัยการถามติงต่อไปว่า พยานไม่แน่ใจว่าบุคคลทั่วไปจะเข้าใจท่าทางจำเลยว่าแสดงเป็นครุฑหรือไม่ และจากการแสดงของจำเลยไม่ทำให้เกิดสุนทรีย์และไม่ใช่ศิลปะด้วย ซึ่งหากจำเลยลงมาแสดงบนถนนด้านล่างจะทำให้เป็นศิลปะนามธรรมทันที

    ส่วนพิชิตชัยเบิกความในประเด็นวัฒนธรรมและศิลปะต่อไปว่า การกระทำที่ไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปพยานเห็นว่าไม่เป็นวัฒนธรรม โดยการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม คนทั่วไปไม่อาจยอมรับได้

    ++พยานด้านกฎหมาย – เห็นรูปภาพจำเลยใช้เท้าชี้ไปทางรูป เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์

    ผศ.ดร.พันธ์ุทิพย์ นวานุช คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ เบิกความว่า ที่มาเป็นพยานในคดีนี้เนื่องจากพนักงานสอบสวนเป็นลูกศิษย์ของตน เมื่อเห็นรูปภาพที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูเพียงภาพเดียว ซึ่งเป็นภาพมีคนกำลังนอนและเปื้อนไปด้วยสีแดงตามร่างกายและยกเท้าขวาไปทางรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พยานรู้สึกว่าเป็นการไม่สุภาพ บ่งบอกถึงการดูหมิ่นเหยียดหยามและในทางกฎหมายก็ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112

    ต่อมาพันธ์ทิพย์ตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ตนเองได้มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีมาตรา 112 ในจังหวัดเชียงใหม่หลายคดี และในคดีนี้พนักงานสอบสวนให้ตนดูภาพเหตุการณ์ในวันดังกล่าวเพียงภาพเดียวพร้อมกับเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง โดยเป็นภาพนิ่งซึ่งตนไม่ทราบรายละเอียดของเหตุการณ์ก่อนและหลังว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ถึงแม้ตนจะไม่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดและเห็นภาพนิ่งเพียงภาพเดียวที่เป็นการกระทำไม่เหมาะสม มีสีเลอะเทอะ และใช้เท้าชี้ ก็ถือเป็นการดูหมิ่นแล้ว

    อย่างไรก็ตาม บริเวณที่เกิดเหตุมีทั้งป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และรูปพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งบุคคลในภาพจะสื่อถึงป้ายมหาวิทยาลัยหรือรูป พยานไม่อาจทราบเจตนาของบุคคลดังกล่าวได้

    พันธ์ทิพย์ตอบพนักงานอัยการถามติงถึงองค์ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เห็นว่าไม่สามารถนำหลักการ “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” ตามมาตรา 393 มาใช้กับมาตรา 112 ได้ และหลักทางกฎหมายอาญา “การกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนา” พฤติการณ์ที่จำเลยใช้เท้าชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ก็ถือให้เห็นเจตนาของจำเลยแล้ว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/55771)
  • ++พยานความเห็นของบุคคลทั่วไป – เข้าไปเป็นพยานที่ สภ.ด้วยตนเอง เพราะรู้สึกโกรธแค้น เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมกระทบจิตใจคนไทย

    สุกิจ เดชกุล ประธานกลุ่มไทยภักดี เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีคนไปยืนบนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีพระบรมฉายาลักษณ์ตั้งอยู่ แล้วคนนั้นก็เอาสีแดงราดตัวเอง มันดูเหมือนเลือด และเอาเท้าชี้ขึ้นฟ้าต่อหน้ารูป ในฐานะประชาชนไทยเห็นว่า เป็นการกระทำที่รับไม่ได้ ต่อมา พยานจึงไปปรึกษากลุ่ม “ไทยภักดี” ทางกลุ่มเห็นว่าจะต้องดำเนินการด้านกฎหมายจึงนัดกันไปที่สถานีตำรวจ โดยตนเองได้รวบรวมรูปภาพเกี่ยวกับคดีนี้และข้อความจากสื่อต่างๆ ไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ

    สุกิจยังเบิกความต่อไปว่า เมื่อเห็นภาพเหตุการณ์วันดังกล่าวแล้วทำให้รู้สึกโกรธแค้น เพราะความรักที่ตนมีต่อพระมหากษัตริย์และตนสำนึกต่อพระมหากรุณาธิคุณ โดยเหตุการณ์นี้ทำร้ายความรู้สึกของปวงชนชาวไทย ลบหลู่ดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์

    ต่อมา สุกิจตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ตนอยู่ในกลุ่มไทยภักดีโดยในช่วงเกิดเหตุ ตนมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษาในช่วงนั้นด้วย โดยกลุ่มไทยภักดีปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการบิดเบือนเรื่องจริง-ใส่ร้ายป้ายสีพระมหากษัตริย์ และในกลุ่มมีการแบ่งปันข้อมูลของผู้กระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ นอกจากคดีนี้ตนยังเคยแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับนักศึกษาอีกคดีด้วย

    ส่วน มนตรี วงศ์เกษม ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปก็เห็นภาพที่เผยแพร่บนสื่อโซเชียลมีเดีย เห็นบุคคลกระทำการอันไม่บังควรโดยสาดสีไปที่พระบรมฉายาลักษณ์และแสดงท่าทางต่าง ๆ จึงเดินทางไปที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อขอเป็นพยานในฐานะประชาชนทั่วไป โดยรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการดูถูก ดูหมิ่น โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ แค่ทำการชี้เท้าไปที่ใครก็ถือว่าเป็นการดูหมิ่นได้

    มนตรีตอบทนายความถามค้านรับว่า ตนเองรู้จักกับสุกิจ แต่ตนไม่ได้อยู่ในกลุ่มไทยภักดี โดยตนได้บันทึกทั้งภาพและวิดีโอส่งให้กับพนักงานสอบสวนแล้ว ในฐานะประชาชนก็เห็นว่าแต่ละคนมีความเห็นที่แตกต่างกันได้

    ++พนักงานสอบสวน – ไม่เคยมีวิดีโอวันเกิดเหตุในสำนวน มีแต่รูปภาพที่ฝ่ายสืบส่งมาให้

    ในคดีนี้มี พ.ต.ท.อดุลย์ สวยสม เป็นพนักงานสอบสวน ผู้รวบรวมพยานหลักฐาน สอบสวนพยานทั้งหมดในคดี จัดทำสำนวนและมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องจำเลยส่งต่ออัยการ โดยพยานยืนยันว่าไม่มีคลิปวิดีโอเหตุการณ์วันเกิดเหตุในคดีนี้ เนื่องจากชุดสืบสวนไม่ได้ส่งคลิปวิดีโอให้พนักงานสอบสวน

    พ.ต.ท.อดุลย์ ตอบทนายจำเลยถามค้านถึงที่มาของพยานความเห็น สุกิจและมนตรี เนื่องจากทั้งสองเดินทางมาให้การด้วยตนเองที่สถานีตำรวจ แต่ไม่ใช่ผู้แจ้งความ โดยทั้งสองไม่ได้มอบหลักฐานอะไรไว้ให้ตน และตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทำให้เห็นแต่เพียงรูปภาพที่ฝ่ายสืบสวนส่งมาให้เท่านั้น การถ่ายภาพจากมุมใดแตกต่างกันออกไป แต่ในบางครั้งไม่ว่าถ่ายจากมุมใดก็ให้ความหมายอย่างเดียวกัน ซึ่งการสร้างรูปภาพถูกจัดองค์ประกอบโดยผู้ถ่ายภาพ และความรู้สึกในการดูภาพนิ่งของแต่ละคนก็สามารถมีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปได้

    นอกจากนี้จำเลยให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนว่าไม่มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์ เพียงแต่ต้องการต่อต้านการลิดรอนสิทธิเสรีภาพโดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้น และเห็นว่าจำเลยไม่ได้ทำท่าครุฑแต่เพียงขยับเคลื่อนไหวร่างกายไปมาเท่านั้น

    ต่อมา พนักงานอัยการถามติงถึงพฤติการณ์ของจำเลยในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งจำเลยเคยทำผืนผ้าแถบสีคล้ายธงชาติ มีลักษณะดูหมิ่นหรือแอบแฝงการดูหมิ่นกษัตริย์มาก่อน และคณะทำงานของพยานเป็นผู้มีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง โดยจะต้องเข้าที่ประชุมหารือกันก่อนและคณะทำงานจะเป็นผู้มีความเห็นฟ้องหรือไม่ฟ้องไปตามลำดับชั้น แต่ในความเห็นพยานก็เห็นว่าควรสั่งฟ้อง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/55771)
  • ++จำเลย – การแสดงตั้งใจสื่อถึง มช. เนื่องด้วยเหตุขัดแย้งกับผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ ถึงความรู้สึกถูกกดขี่

    ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือวิธญา คลังนิล จำเลยในคดีนี้ เบิกความต่อศาลถึงเหตุการณ์วันที่ 1 พ.ค. 2564 ว่า ตนเห็นโพสต์ในโซเชียลมีเดียเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้า-ออกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงคิดว่าจะไปเข้าร่วมแสดง Performance Art

    จากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. ตนได้ไปซื้อถังและน้ำสีแดง แล้วจึงเกิดทางมาที่จุดเกิดเหตุเวลาประมาณ 17.30 น. ซึ่งมีกลุ่มบุคคลทำกิจกรรม ยืน หยุด ขัง อยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้นัดกันมา จากนั้นตนจึงขึ้นไปบนป้ายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    จำเลยย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ช่วงเดือน มี.ค. 2564 ที่กลุ่มนักศึกษารวมทั้งตน มีเหตุขัดแย้งกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณบดี อัศวิณีย์ หวานจริง และคณะผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ได้นำเอางานศิลปะของนักศึกษาไปจากอาคารเรียนของคณะที่มีชิ้นงานหลายชิ้นที่เอาไว้ส่งธีสิส (Thesis) เพื่อเรียนจบ รวมไปถึงผลงานที่กำลังพัฒนาของนักศึกษาคนอื่น ๆ โดยเอาไปใส่ในถุงดำ เพราะกลัวว่าผลงานเหล่านี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงเกิดความไม่พอใจจากนักศึกษา

    กลุ่มนักศึกษารวมทั้งตนจึงเดินทางไปสอบถามเหล่าผู้บริหารถึงคำตอบของเหตุการณ์ดังกล่าว แต่สุดท้าย ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมา หลายวันต่อมากลุ่มนักศึกษาจึงเดินทางไปสอบถามที่กองพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสอบถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยตอบกลับมาโดยใช้คำเรียกนักศึกษาว่าเป็น “กลุ่มบุคคล” ดูเหมือนว่ามหาวิทยาลัยจะไม่ได้มองว่าตนและกลุ่มนักศึกษาเป็นนักศึกษาเลย และตอบมาในประเด็นการลิดรอนสิทธิต่าง ๆ ว่าฝ่ายผู้บริหารได้ทำถูกต้องแล้ว ทำให้ตนรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพการแสดงออกของนักศึกษาเลย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วศิลปินจะสร้างสรรค์ผลงานย่อมขึ้นอยู่ว่าผู้สร้างผลงานจะสื่อความหมายออกมาในเรื่องใด หากศิลปินมีความสนใจทางด้านสังคมก็จะผลิตงานศิลปะทางสังคมออกมา

    นอกจากนี้ก่อนเหตุการณ์วันดังกล่าวหนึ่งวัน มีเหตุการณ์ที่คุณแม่ของเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ซึ่งขณะนั้นถูกคุมขังระหว่างพิจารณามาหลายวันแล้ว ส่งผลให้แม่ของเพนกวินไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คือการโกนหัวตนเองที่ศาลอาญา พยานจึงเกิดความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมและสร้างความสะเทือนใจกับตนเป็นอย่างมาก

    ทั้งสองเหตุการณ์เป็นสาเหตุให้ตนเลือกจะไปแสดงศิลปะการแสดงสดตรงป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสื่อสารถึงมหาวิทยาลัย ถึงการกดขี่ผู้ไม่มีอำนาจอย่างนักศึกษา

    เมื่อตนมาถึงที่เกิดเหตุ ก็ขึ้นไปบนป้ายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทันที ตรงบริเวณฐานของป้ายจะมีส่วนที่ยื่นออกมาเล็กน้อย พื้นที่จากป้ายมหาวิทยาลัยจนถึงฐานของป้าย ประมาณ 30 – 40 ซม. ยาวตลอดป้าย จากนั้นตนจึงได้ทำการแสดง Performance Art ซึ่งเป็นกลุ่มการแสดงประเภท Body Movement ซึ่งหากจะเข้าใจความหมายของการแสดงประเภทนี้จะต้องดูการแสดงทั้งหมดเพื่อทราบความหมายของมัน เพราะการแสดงมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

    ต่อมาตนเอาสีราดตัวพร้อมกับแสดง แต่สีที่ราดไปนั้นทำให้พื้นที่ยืนอยู่เกิดความลื่น อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวมีพื้นที่จำกัดตนจึงใช้ได้เพียงร่างกายในท่ายืน นั่ง นอน และยกแขนขาได้เพียงเล็กน้อย เพราะจำเป็นจะต้องรักษาสมดุลร่างกาย จึงทำให้การเคลื่อนไหวต้องมีจังหวะที่ช้า โดยรวมแล้วการแสดงดังกล่าวตนต้องการจะสื่อถึงความเจ็บปวดของมนุษย์ผ่านที่แคบ เพื่อเรียกร้องหรือสื่อถึงบรรยากาศทางการเมืองที่มีความอึดอัดในตอนนั้น โดยการแสดงท่าทางตนเองไม่ได้คิดไว้ว่าภาพที่ได้ถูกผู้อื่นถ่ายจะออกมาอย่างไร คิดเพียงอย่างเดียวคือแสดงเคลื่อนไหวโดยไม่ให้ตกลงไป

    นอกจากนี้พยานยังเคยแสดง Body Movement มาบ่อยครั้งหลายสถานที่ โดยมักจะเลือกสถานที่เพื่อสื่อถึงกลุ่มคนที่อยู่ที่นั่นและมีความเกี่ยวข้องกับสถานที่นั้น ๆ รวมทั้งคดีนี้ที่ตนเลือกสถานที่เป็นป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อสื่อถึงกลุ่มนักศึกษาและผู้บริหารของมหาวิทยาลัย

    ป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังเป็นสถานที่ที่นักศึกษาใช้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มาโดยตลอด และในการแสดงตนสามารถควบคุมเพียงท่าทางเท่านั้น ไม่สามารถควบคุมมุมกล้องที่บุคคลอื่นถ่ายมาได้ ซึ่งภาพที่ปรากฏในมุมที่แตกต่างกันจะสื่อถึงความหมายที่แตกต่างออกไป โดยในระหว่างการสืบพยานทนายความได้นำวิดีโอคลิปในวันเกิดเหตุเปิดให้ศาลดู

    ต่อมา จำเลยตอบพนักงานอัยการถามค้านว่า การแสดง Body Movement ของตนไม่มีชื่อเรียก ซึ่งแสดงถึงความอึดอัดใจ ไม่ได้สื่อถึงพระบรมฉายาลักษณ์แต่อย่างใด โดยตนขึ้นไปแสดงบนป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้น และที่ผ่านมาตนเองก็ไม่เคยจัดกิจกรรมหรือแสดงออกถึงการต่อต้านพระมหากษัตริย์มาก่อน

    อย่างไรก็ตาม ตนไม่ขอตอบคำถามพนักงานอัยการว่า รักสถาบันกษัตริย์หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าไม่เกี่ยวกับคดีนี้ เพราะการแสดงดังกล่าวไม่ได้สื่อถึงสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่ต้น

    ++พยานผู้เชี่ยวชาญด้านการละคอน ตีความหมาย Performance Art จะต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่สามารถตีความเพียงรูปภาพเดียว การตีความหมายของแต่ละคนแตกต่างกันได้ แต่จะต้องไม่ใช้ความเห็นตัวเองเหนือกว่าความเห็นอื่น

    ภาสกร อินทุมาร หัวหน้าสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความต่อศาลว่า คำว่า Performance Art คือ “ศิลปะการแสดงสด” เป็นการแสดงแขนงใหม่ โดยการแสดงปกติจะมีบทมาให้นักแสดงเพื่อให้ทำการแสดงตาม

    ในการแสดง Performance Art นั้น เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการละครและการแสดง สรุปคือ เป็นการแสดงด้วยร่างกายซึ่งไม่มีโครงสร้างการเล่าเรื่อง หรือบทที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นไปที่การเคลื่อนไหวทางร่างกายเพื่อสื่อความหมายหรือประเด็นบางอย่างออกมาแก่ผู้ชม

    อย่างไรก็ดี นอกจากการเคลื่อนไหวตอนทำการแสดงแล้ว พื้นที่ที่ใช้แสดงก็เป็นปัจจัยต่อผู้แสดงด้วย รวมไปถึงสภาวะภายในของผู้แสดงด้วย สิ่งสำคัญของการแสดง Performance Art นั้นเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้มีการตีความได้อย่างเต็มที่แล้วแต่ผู้ดูจะตีความ ซึ่งต่างจากการแสดงปกติที่มีการวางบทบาทไว้อย่างชัดเจนให้ตีความได้ตามที่ผู้แสดงจะถ่ายทอดออกมาเท่านั้น ทั้งนี้ในมหาวิทยาลัยที่ตนสอนอยู่ก็มีการเรียนการสอนวิชาศิลปะการแสดง Performance Art นี้ด้วย

    พยานเห็นว่า การตีความ ดูความหมายของการแสดงไหนก็ตาม จะต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่สามารถดูแค่ภาพเพียงภาพเดียวและตีความออกมาได้เลย ตามภาพนิ่งที่โจทก์อ้างในคดีนี้ เมื่อพยานดูแล้วเห็นว่ายากต่อการตีความ เพราะไม่เห็นการแสดงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเห็นคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวร่างกายก็สามารถตีความออกมาได้อีกแบบหนึ่ง

    หลังจากนั้นทนายความเปิดคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ดังกล่าวให้ดู พยานให้ความเห็นว่า ผู้แสดงพยายามเล่นกับสีแดงที่สื่อถึงเลือด และร่างกายบิดเบี้ยวสื่อถึงความเจ็บปวดของคนๆ หนึ่ง และที่แคบสื่อถึงพื้นที่ของเสรีภาพที่ถูกจำกัดเสรีภาพจากผู้บริหารหรือผู้นำที่มีอำนาจในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การนำป้ายพระบรมฉายาลักษณ์เข้ามาตีความนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้แสดงไม่ได้แสดงกิริยาต่อรูปแต่อย่างใด

    ต่อมา ภาสกรตอบพนักงานอัยการถามค้านว่า ตนเคยเคลื่อนไหวเรียกร้องกรณีนักศึกษาถูกจับกุมด้วย ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่รู้จัก Performance art และอาจตีความแตกต่างออกไปจากความคิดของพยานก็ได้ เพราะผู้ชมแต่ละคนมีภูมิหลัง มุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งหลักการของการตีความนั้นจะต้องไม่ให้ความหมายใดความหมายหนึ่งไปมีอำนาจมากกว่าหรือเหนือกว่าอีกความหมายหนึ่งได้ มีแต่เพียงความหลากหลายทางความคิดเท่านั้น เพราะไม่มีการตีความใดถูกต้องที่สุด

    ภาสกรตอบทนายจำเลยถามติงว่า เหตุที่ตนออกไปเรียกร้องกรณีนักศึกษาถูกจับกุมนั้นเนื่องจากตนมองว่านักศึกษามีสิทธิจะแสดงออกทางความคิดเห็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/55771)
  • ++อาจารย์วิจิตรศิลป์ – ศิลปะไม่จำเป็นต้องเท่ากับความงาม ศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายถ้าดูเพียงภาพถ่าย ไม่อาจสื่อความหมายทั้งการแสดงได้

    ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความต่อศาลถึงความหมายของศิลปะในภาพกว้างว่า คือ การแสดงออกทางความคิด ความใฝ่ฝัน จินตนาการ ต่อตนเองและสังคม จึงมีการแสดงออกซึ่งศิลปะที่มีความหลากหลาย ศิลปะย่อมสอดคล้องกับสังคม ศิลปะและสังคมเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กันมาตลอด

    จากประสบการณ์ของตนในงานศิลปะที่ดีและมีความหมาย คือศิลปะที่มีการสื่อหรือบ่งบอกสังคมให้รับรู้ถึงปัญหา ในการแสดงศิลปะที่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่กระทำออกมาได้ดีกว่า เนื่องจากการกระทำในรูปแบบธรรมดาให้หรือสื่อออกมาไม่ได้โดยตรงในชีวิตประจำวันของเรา ๆ ศิลปะจึงต้องอาศัยสื่อต่าง ๆ เช่น ร่างกาย การเคลื่อนไหว กล้อง ต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือสิ่งที่จะสร้างศิลปะขึ้นมาได้ หากเมื่อผู้คนไม่สามารถแสดงหรือสื่ออะไรออกมาได้ ศิลปะจึงเข้ามามีบทบาทแทน

    ในความหมายของคำว่า “ความงาม” นั้นเป็นเพียงความหมายหนึ่งและเป็นความหมายเล็กของสิ่งที่เรียกว่า “สุนทรียศาสตร์” เพราะโดยภาพรวมของสุนทรียศาสตร์นั้นคือ เป็นการแสดงออกทางความรู้สึกต่าง ๆ ซึ่งโดยมากแล้วศิลปะบางครั้งอาจเป็นสิ่งตรงข้ามกับความงามก็ได้

    Performance Art คือศิลปะที่อาศัยการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งหากจะดูเพียงภาพนิ่งแล้วทำการตีความไม่ได้ เพราะการถ่ายภาพนิ่งแต่ละมุมจะสื่อความหมายใหม่เสมอ ซึ่งอาจผิดไปจากความหมายหรือเจตนารมณ์เดิม อย่างเช่น เหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์แต่ถูกถ่ายจากกล้องคนละตัว เช่นนี้ภาพที่ออกมาจะสื่อความหมายคนละแบบ และความหมายเปลี่ยนไปด้วย โดยหากดูภาพในแต่ละมุมกล้องจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความหมายที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันได้

    นอกจากนี้การถ่ายทอดเพียงภาพถ่ายไม่อาจสื่อความหมายทั้งการแสดงได้ และความหมายของการแสดงจะไปขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายภาพนิ่งแทน เนื่องจาก Performance Art เป็นศิลปะเคลื่อนไหว หากมีการถ่ายภาพนิ่งก็เปรียบเสมือนกับการดึงคำพูดออกมาจากประโยคเพียง 1 คำ ยกตัวอย่าง ประโยคว่า “ฉันอยากกินข้าวขาหมู” แต่การถ่ายภาพคือการดึงคำว่า “หมู” มาตีความเพียงคำนี้คำเดียว ซึ่งการตีความจากการดูภาพนิ่งเพียงภาพเดียวนั้นไม่สามารถทำได้

    เมื่อได้เห็นรูปภาพนิ่งในคดีนี้ ศรยุทธเบิกความต่อไปว่า การตีความจากภาพดังกล่าวในฐานะผู้เชี่ยวชาญจะสามารถตีความได้เพียงแค่มีบุคคล มีถัง และสีแดง นอกจากนี้เห็นว่ามีการจัดร่างกายทรงตัวบนป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดี เพราะเป็นพื้นที่แคบ อีกส่วนหนึ่งคือสีหน้าของบุคคลในภาพที่จะสื่อความหมายถึงความเจ็บปวดทรมานให้กับผู้ชม โดยคู่กับการใช้สีแดงเพื่อสื่อให้สังคมรับรู้ร่วมกัน ไม่ใช่ความหมายจากผู้แสดง

    ต่อมาทนายจำเลยเปิดคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวให้พยานดูแล้วถามถึงความเห็น พยานเบิกความถึงการตีความของตนว่า ผู้แสดงคงมีความทุกข์ใจ ดูจากสีแดงที่ผู้แสดงเลือกใช้ จุดที่เด่นที่สุดคือสีหน้า มันดูมีการบีบคั้น มีการแสดงตบหน้าตัวเอง ทำร้ายร่างกาย โดยบุคคลดังกล่าวกำลังจะสื่ออะไรบางอย่างให้ผู้ชมอยู่ ซึ่งผู้แสดงและผู้ชมมีร่วมกันทั้งสองฝ่าย

    ถ้าหากต้องการจะรู้ความหมายแท้จริงนั้นต้องไปสัมภาษณ์ผู้แสดง แต่ในฐานะผู้ชมหากมีหัวใจเป็นธรรมจะเข้าใจความหมายได้ ถึงแม้จะไม่สามารถอธิบายออกมาคำพูดได้ก็ตาม ในงานศิลปะคือการรับรู้ได้ด้วยหัวใจ การแสดงนี้ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่เรียกว่า Performance Art เมื่อมาดูภาพเคลื่อนไหวแล้วจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันสิ้นเชิง เพราะภาพเคลื่อนไหวจะเห็นการแสดงท่าทาง การเคลื่อนไหว แต่หากกลับไปดูภาพนิ่งจะไม่เห็นถึงสิ่งเหล่านี้ได้

    ต่อมา ศรยุทธตอบพนักงานอัยการถามค้านว่า ไม่รู้จักกับบุคคลในภาพเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่ทราบว่าเป็นประธานสภานักศึกษา และการตีความของตนพยายามให้ความเห็นอย่างระมัดระวังและอยู่บนกรอบของวิชาการ เนื่องจากไม่ได้ถามความหมายมาจากผู้แสดงก่อน ทั้งนี้ นักวิชาการคนอื่น ๆ อาจมีความเห็นที่แตกต่างออกไป ซึ่งต้องเคารพซึ่งความคิดเห็นของกันและกันด้วย

    ++อาจารย์นิติศาสตร์ – การกระทำของจำเลยคลุมเครือเกินกว่าจะเป็นความผิดมาตรา 112

    กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความต่อศาลว่า องค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สิ่งที่จำเป็นต้องตีความคือ การกระทำต้องเป็นการดูหมิ่น ซึ่งสอดคล้องกับการลดทอนศักดิ์ศรี โดยการให้ความหมายของการดูหมิ่นนั้นจำเป็นต้องใช้หลักการ “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” ตามหลักการของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 โดยความหมายที่เป็นการดูหมิ่นนั้นต้องชัดเจน

    เมื่อเห็นภาพในคดีนี้ตนเห็นว่า กิริยาของจำเลยเป็นการใช้เท้าชี้ฟ้า ซึ่งเป็นกิริยาของการแสดงของศิลปินต่าง ๆ เช่น ฮิปฮอป บัลเลต์ ซึ่งไม่สามารถตีความได้ชัดเจน อย่างมากสุดคงเป็นความไม่เรียบร้อย และคงไม่สามารถตีความเจตนาของผู้กระทำได้เพียงการดูภาพเพียงภาพเดียว เมื่อดูคลิปแล้วยิ่งทำให้การกระทำของจำเลยยิ่งไม่ชัดเจนมากกว่าการดูภาพนิ่ง เนื่องจากการแสดงของจำเลยมีท่าทางที่หลากหลายและมากมายความหมาย ส่วนการทำท่าครุฑก็ไม่มีกฎหมายคุ้มครองครุฑบัญญัติไว้ และครุฑก็ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ จึงไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112

    กฤษณ์พชรเห็นว่า การกระทำหรือการแสดงของจำเลยไม่มีความหมายชัดเจน เมื่อไม่ทราบความหมายที่ชัดเจนแล้วก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าจำเลยกำลังดูหมิ่นใคร หรือว่าทำอะไร เช่นนี้การลดทอนคุณค่าจึงไม่เกิดขึ้น การดูหมิ่นอาจจะแสดงออกผ่านทางร่างกาย เช่น การชูนิ้วกลาง เช่นนี้จะเป็นการแสดงที่สื่อออกมาได้อย่างชัดเจน

    ต่อมา กฤษพชรตอบพนักงานอัยการถามค้านว่า การตีความของตนก็อาจแตกต่างกับประชาชนคนอื่น ๆ ได้ ทั้งมาตรา 112 และมาตรา 393 การจะรู้ว่าการกระทำใดเป็นการดูหมิ่นหรือไม่นั้น ต้องใช้ความเห็นจากวิญญูชนด้วย

    หลังสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/55771)
  • เวลาประมาณ 09.15 น. จำเลยพร้อมด้วยทนายความได้เข้าฟังคำพิพากษา โดยมีเพื่อนของจำเลยที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มศิลปิน และอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมกว่า 20 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษา แต่เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็กจึงมีเพียงบางส่วนได้เข้าฟังคำพิพากษาพร้อมจำเลยและทนายความ ส่วนที่เหลือรอฟังผลคำพิพากษาอยู่ด้านนอกห้อง นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ศาลยังให้คดีอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฟังคำพิพากษารออยู่นอกห้องพิจารณาก่อนด้วย

    ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีที่อ่านคำพิพากษาในวันนี้ ได้แก่ ณิชนารา ลิ่มสุวรรณ ก่อนเริ่มการอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งว่าจะอ่านในส่วนการพิเคราะห์ของศาลเลยโดยไม่อ่านทวนรายละเอียดการต่อสู้ของโจทก์และจำเลย

    คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยในคดี ได้ข้อเท็จจริงโดยยุติว่า จำเลยได้กระทำการแสดงท่าทางและทำการราดสีใส่ตนเองบริเวณป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทราบการจัดกิจกรรมเข้าติดตามสังเกตการณ์มีการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐาน พยานโจทก์ยืนยันว่า การที่จำเลยกระทำการดังกล่าวย่อมเล็งเห็นว่าน้ำสีแดงของจำเลยจะถูกพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความ “ทรงพระเจริญ” ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว

    อีกทั้งฝ่ายโจทก์ยังได้นำสืบว่า จำเลยเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่จัดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอด อาทิ การชุมนุมบริเวณสนามรักบี้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีการนำธงชาติมาถือแสดง และการชุมนุมบริเวณประตูท่าแพ เป็นต้น จากกิจกรรมดังกล่าวฝ่ายโจทก์เห็นว่า จำเลยมีพฤติการณ์ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งยังมีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และนักวิชาการด้านกฎหมายที่เข้ามาให้ความเห็นต่อการกระทำของจำเลย

    ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ไม่มีปากใดที่ชี้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้าย ส่วนการหมิ่นประมาทนั้นจะต้องมีการใส่ความด้วยการชี้ยืนยันข้อเท็จจริงบางประการ ส่วนการดูหมิ่นก็ต้องระบุตัวบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร

    พยานหลักฐานโจทก์จึงยังชี้ไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท อีกทั้งการแสดงของจำเลยไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล ประกอบกับป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ชุมนุมอยู่เป็นประจำ การแสดงกิจกรรมดังกล่าวก็เรียกร้องเรื่องสิทธิการประกันตัว

    เมื่อไม่มีพยานโจทก์ที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยจงใจกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความ “ทรงพระเจริญ” ส่วนการเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ อีกทั้งพยานโจทก์ได้เบิกความถึงคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการนำส่งเข้ามาในการพิจารณาคดีนี้ จึงทำให้พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัย พิพากษายกฟ้อง

    หลังฟังคำพิพากษาแล้ว “รามิล” เปิดเผยความรู้สึกว่า คำพิพากษาวันนี้ก็ออกมาตามเนื้อหาข้อมูลตั้งแต่วันสืบพยาน ที่ทางโจทก์กล่าวหาว่าหมิ่นฯ จากการไปทำการแสดงที่ป้ายหน้ามหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นพยานโจทก์เองที่สืบไม่ได้ว่าเป็นการหมิ่นฯ ยังไง

    “หลังได้ยินว่ายกฟ้อง ก็ยกฟ้องอะครับ คือจริง ๆ มีคนถามมาเยอะเหมือนกันว่าคดี 112 ที่โดนจะเป็นยังไง ผมก็สงสัยว่าถามทำไม ถามผมทำไม คือมันเป็นอำนาจหน้าที่ของประชาชนเหรอที่จะสามารถบอกได้ ถามทนาย ทนายก็ไม่รู้ ถามเรา เราก็ไม่รู้ เพราะยังไงชีวิตเราอยู่บนเส้นด้ายของอำนาจศาล ตุลาการ และรัฐนี้อยู่แล้ว เขาจะกำหนดให้เราเป็นยังไง ก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะถามผมว่ารู้สึกยังไงกับการยกฟ้อง ก็บอกได้ว่ามันไม่ใช่ชะตาชีวิตของเรา”

    ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษาในศาลชั้นต้นแล้ว ยังต้องติดตามการอุทธรณ์คดีของฝ่ายอัยการโจทก์ต่อไป หากไม่มีการอุทธรณ์ คดีจึงจะสิ้นสุดลง

    สำหรับ “รามิล” นอกจากคดีนี้แล้ว เขายังถูกศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวหาในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง กรณีแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงิน

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.260/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.636/2566 ลงวันที่ 8 พ.ค 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55786)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วิธญา คลังนิล

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วิธญา คลังนิล

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ณิชนารา ลิ่มสุวรรณ
  2. สมพงษ์ จิวะวิทูรกิจ

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 08-05-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์