สรุปความสำคัญ

“บีม” อรรฆพล (สงวนนามสกุล) กราฟิกดีไซเนอร์อิสระ วัย 25 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 หลังแน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือ “ศชอ.” เข้าแจ้งความต่อ บก.ปอท.

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความขยายความคุ้มครองไปถึงอดีตกษัตริย์ ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีโทษทางอาญาซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อรรฆพล (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

31 ส.ค. 2564 เวลา 11.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) อรรฆพล (สงวนนามสกุล) หรือ “บีม” กราฟิกดีไซเนอร์อิสระ วัย 25 ปี พร้อมทนายความและบุคคลผู้ไว้วางใจ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

พ.ต.ต.หญิงสุธัญดา เอกเอก สารวัตร (สอบสวน) กก.7 บก.ปอท. และ ร.ต.ท.นัฐพล ทะเลน้อย รองสารวัตร (สอบสวน) ปรก.กก.7 บก.ปอท. แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์คดีแก่อรรฆพล เนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 แน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้กล่าวหา ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 เวลา 22.42 น. บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความว่า “พิมรี่พายขึ้นดอยครั้งเดียวเด็กมีไฟฟ้าใช้ แต่บางคนขึ้นดอยมา 70 ปี…//ไม่พูดดีกว่า” รวมถึงได้มีการแสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวอีกด้วยว่า “สงสัยจะมองไม่เห็น มีตาเดียว”

ผู้กล่าวหาอ้างว่า โพสต์และข้อความดังกล่าว เป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ซึ่งผู้กล่าวหาได้อนุมานว่าโพสต์กับข้อความดังกล่าวหมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ได้ครองราชย์มาจนครบ 70 ปี

พนักงานสอบสวนระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวน น่าเชื่อว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว คือ อรรฆพล จึงแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ด้านอรรฆพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้พนักงานสอบสวนเรียกแน่งน้อย ผู้กล่าวหามาให้การเพิ่มเติมว่า ข้อความตามที่มากล่าวโทษนั้น มีความหมายอย่างไร และมีข้อความตรงไหนและอย่างไรที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ และขอให้พนักงานสอบสวนสอบคำให้การแน่งน้อยว่า ข้อความดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) อย่างไร

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ อรรฆพลได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ถูกควบคุมตัวไว้

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา บก.ปอท. ลงวันที่ 31 ส.ค. 64 และ https://tlhr2014.com/archives/34333)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์