สรุปความสำคัญ

“หนุ่ม” พิทยุตม์ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี อายุ 23 ปี ลูกจ้างบริษัทเอกชนชาวอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับก่อนนำตัวไปดำเนินคดีในข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น จากเหตุการณ์ที่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 หน้าเทศบาลแห่งหนึ่งถูกไฟไหม้ในคืนวันที่ 28 ก.ค. 2564 พิทยุตม์ให้การรับสารภาพ และได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนโดยต้องติด EM จากนั้นพิทยุตม์ได้กลับไปซ่อมแซมป้ายพระบรมฉายาลักษณ์จนมีสภาพดังเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการ อัยการมีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติม

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างรวมไปถึงการกระทำต่อภาพ ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พิทยุตม์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.หนองหาน, ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี และตำรวจภูธรภาค 4 หลายนาย ยกกำลังไปที่บ้านของพิทยุตม์ในอำเภอหนองหาน หลังจากเข้าค้นหอพักแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองอุดรธานี โดยไม่มีหมายค้นและตรวจยึดรถมอเตอร์ไซค์ของพิทยุตม์ที่จอดอยู่ที่หอพัก

เมื่อพิทยุตม์กลับถึงบ้านในราว 18.00 น. ตำรวจจึงได้แสดงตัวเข้าจับกุม โดยไม่มีหมายจับมาแสดง เพียงแต่นำภาพจากกล้องวงจรปิดมาให้ดู เป็นภาพชายกำลังจุดไฟเผารูป ร. 10 ที่ตั้งอยู่ริมถนน พร้อมกับสอบถาม พิทยุตม์รับว่าเป็นภาพตนเอง และรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุวางเพลิงในคืนวันที่ 28 ก.ค. 2564 เวลา 23.30 น.

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้นำตัวพิทยุตม์ไปที่ สภ.หนองหาน ในช่วงกลางดึก และทำบันทึกการตรวจยึดประกอบคำรับสารภาพ หลังจากเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพิทยุตม์ และให้เขาพาไปยึดเสื้อผ้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ รวมทั้งยึดโทรศัพท์ ทั้งยังขอรหัสผ่านเข้าโทรศัพท์และเฟซบุ๊กด้วย ซึ่งพิทยุตม์ยินยอมให้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยกระบวนการทั้งหมดมีเพียงพี่ชายเป็นพยาน ไม่มีทนายความเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม บันทึกการตรวจยึดประกอบคำรับสารภาพระบุว่า พิทยุตม์ยินยอมให้ถอดข้อมูลในเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยก่อนถอดข้อมูล เจ้าหน้าที่ตํารวจแจ้งให้ทราบแล้วว่าจะนําข้อมูลที่ได้ใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการสืบสวน ไม่ใช่อย่างที่พิทยุตม์เข้าใจว่า ให้รหัสเข้าเครื่องและเฟซบุ๊กเท่านั้น

ก่อนเที่ยง วันที่ 2 ส.ค. 2564 พ.ต.ต.ณัฐพงษ์ ส่องโสม พนักงานสอบสวนได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาพิทยุตม์ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม แม้ว่าพิตยุตม์ได้ขอใช้โทรศัพท์และแจ้งให้ทนายความเข้าร่วมด้วย แต่พนักงานสอบสวนได้พูดคุยกับพี่ชายให้ใช้ทนายความที่ตำรวจจัดหาไว้ให้ แต่ในที่สุดมีเพียงพี่ชายและแม่ร่วมฟังในฐานะผู้ไว้วางใจเท่านั้น

พ.ต.ต.ณัฐพงษ์ แจ้งข้อกล่าวหา “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” โดยบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า การกระทำของพิทยุตม์ ทำให้ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่หน้าสำนักงานเทศบาล และเป็นทรัพย์สินของเทศบาล ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 95,000 บาท พิทยุตม์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ระบุว่า ทำไปด้วยความคึกคะนอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน พนักงานสอบสวนได้นำตัวพิทยุตม์ไปขออำนาจศาลจังหวัดอุดรธานีฝากขังในระหว่างสอบสวน โดยครอบครัวได้ใช้โฉนดที่ดินยื่นประกัน ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง และอนุญาตให้ประกัน ตีราคาประกัน 70,000 บาท พร้อมทั้งให้ติดกำไลอิเลกทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) โดยนัดพิทยุตม์ให้มารายงานตัววันที่ 26 ต.ค. 2564

(อ้างอิง: บันทึกการตรวจยึดประกอบคำรับสารภาพ, บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.หนองหาน ลงวันที่ 2 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35722)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์