ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.863/2564
แดง อ.1254/2565

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.863/2564
แดง อ.1254/2565
ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

“หนุ่ม” พิทยุตม์ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี อายุ 23 ปี อดีตลูกจ้างบริษัทเอกชนชาวอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับก่อนนำตัวไปดำเนินคดีในข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น จากเหตุการณ์ที่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 หน้าเทศบาลแห่งหนึ่งถูกไฟไหม้ในคืนวันที่ 28 ก.ค. 2564 พิทยุตม์ให้การรับสารภาพ และได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนโดยต้องติด EM จากนั้นพิทยุตม์ได้กลับไปซ่อมแซมป้ายพระบรมฉายาลักษณ์จนมีสภาพดังเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการ อัยการมีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติม

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างรวมไปถึงการกระทำต่อภาพ ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อาทิตย์ คําซองเมือง พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี บรรยายฟ้องใจความว่า

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้วางเพลิง โดยใช้น้ำมันราดและจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งประดิษฐานตั้งไว้ที่บริเวณหน้าเทศบาลตำบลแห่งหนึ่งในอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี จนไฟลุกลามไหม้พระบรมฉายาลักษณ์พร้อมโครงสร้างไม้และเหล็ก และอุปกรณ์ที่ประดับจนได้รับความเสียหาย รวมเป็นความเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 95,000 บาท ซึ่งเทศบาลตำบลดังกล่าว อันเป็นหน่วยงานราชการได้จัดทำขึ้นไว้เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี เป็นการเฉลิมพระเกียรติ เชิดชูเกียรติ เทิดทูนพระมหากษัตริย์คือรัชกาลที่ 10

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้" ดังนั้น การกระทำของจำเลยข้างต้น จึงเป็นการกระทำอันไม่สมควร ล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกมาด้วยประการใดว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ อันมิใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม นับเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียเกียรติ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.863/2564 ลงวันที่ 20 ต.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.หนองหาน, ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี และตำรวจภูธรภาค 4 หลายนาย ยกกำลังไปที่บ้านของ “หนุ่ม” พิทยุตม์ในอำเภอหนองหาน หลังจากเข้าค้นหอพักแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองอุดรธานี โดยไม่มีหมายค้นและตรวจยึดรถมอเตอร์ไซค์ของพิทยุตม์ที่จอดอยู่ที่หอพัก

    เมื่อพิทยุตม์กลับถึงบ้านในราว 18.00 น. ตำรวจจึงได้แสดงตัวเข้าจับกุม โดยไม่มีหมายจับมาแสดง เพียงแต่นำภาพจากกล้องวงจรปิดมาให้ดู เป็นภาพชายกำลังจุดไฟเผารูป ร. 10 ที่ตั้งอยู่ริมถนนหน้าเทศบาลแห่งหนึ่ง พร้อมกับสอบถาม พิทยุตม์รับว่าเป็นภาพตนเอง และรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุวางเพลิงในคืนวันที่ 28 ก.ค. 2564 เวลา 23.30 น.

    หลังจากเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพิทยุตม์ และให้เขาพาไปยึดเสื้อผ้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ รวมทั้งยึดโทรศัพท์ ทั้งยังขอรหัสผ่านเข้าโทรศัพท์และเฟซบุ๊กด้วย ซึ่งพิทยุตม์ยินยอมให้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้นำตัวพิทยุตม์ไปที่ สภ.หนองหาน ในช่วงกลางดึก และทำบันทึกการตรวจยึดประกอบคำรับสารภาพ โดยกระบวนการทั้งหมดมีเพียงพี่ชายเป็นพยาน ไม่มีทนายความเข้าร่วม

    อย่างไรก็ตาม บันทึกการตรวจยึดประกอบคำรับสารภาพระบุว่า พิทยุตม์ยินยอมให้ถอดข้อมูลในเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยก่อนถอดข้อมูล เจ้าหน้าที่ตํารวจแจ้งให้ทราบแล้วว่าจะนําข้อมูลที่ได้ใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการสืบสวน ไม่ใช่อย่างที่พิทยุตม์เข้าใจว่า ให้รหัสเข้าเครื่องและเฟซบุ๊กเท่านั้น

    หลังได้รับการประกันตัว เขาได้ไปทำการซ่อมแซมป้ายพระบรมฉายาลักษณ์จนมีสภาพดังเดิม เขายังเปิดเผยด้วยว่า ในช่วงที่เขาถูกจับกุมและควบคุมตัวมาที่ สภ.หนองหาน ตำรวจก็พยายามพูดกับเขาให้ยอมให้ความร่วมมือตลอดกระบวนการ รวมถึงการตรวจดีเอ็นเอ และให้พาสเวิร์ดเข้าโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก แม้กระทั่งการแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่รอให้ทนายมาถึงก่อน ตลอดจนถึงการไม่ให้เรื่องนี้เป็นข่าวออกไป โดยกล่าวว่าทางตำรวจจะไม่แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ครอบครัวและตัวเขาจึงยอมให้ความร่วมมือ แต่เมื่อมีการแจ้งข้อหา 112 เขาก็รู้ว่าเขาไม่สามารถเชื่อถืออะไรได้ จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำให้เรื่องนี้เงียบอีกต่อไปแล้ว

    (อ้างอิง: บันทึกการตรวจยึดประกอบคำรับสารภาพ สภ.หนองหาน ลงวันที่ 2 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35722)
  • ก่อนเที่ยง พ.ต.ต.ณัฐพงษ์ ส่องโสม พนักงานสอบสวนได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาพิทยุตม์ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม แม้ว่าพิทยุตม์ได้ขอใช้โทรศัพท์และแจ้งให้ทนายความเข้าร่วมด้วย แต่พนักงานสอบสวนได้พูดคุยกับพี่ชายให้ใช้ทนายความที่ตำรวจจัดหาไว้ให้ แต่ในที่สุดมีเพียงพี่ชายและแม่ร่วมฟังในฐานะผู้ไว้วางใจเท่านั้น

    พ.ต.ต.ณัฐพงษ์ แจ้งข้อกล่าวหา “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” โดยบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า การกระทำของพิทยุตม์ ทำให้ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่หน้าสำนักงานเทศบาล และเป็นทรัพย์สินของเทศบาล ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 95,000 บาท พิทยุตม์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ระบุว่า ทำไปด้วยความคึกคะนอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์

    ช่วงบ่ายวันเดียวกัน พนักงานสอบสวนได้นำตัวพิทยุตม์ไปขออำนาจศาลจังหวัดอุดรธานีฝากขังในระหว่างสอบสวน โดยครอบครัวได้ใช้โฉนดที่ดินยื่นประกัน ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง และอนุญาตให้ประกัน ตีราคาประกัน 70,000 บาท พร้อมทั้งให้ติดกำไลอิเลกทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) โดยนัดพิทยุตม์ให้มารายงานตัววันที่ 26 ต.ค. 2564

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.หนองหาน ลงวันที่ 2 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35722)
  • พิทยุตม์ใส่เสื้อยืดสีขาว มีข้อความ 112 เขียนด้วยปากกาเมจิกสีแดงที่บริเวณหน้าอกเสื้อ เดินทางไปที่ สภ.หนองหาน พร้อมทนายความ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นเพียงข้อหาเดียว แต่เมื่อส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ อัยการมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม

    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 พนักงานสอบสวนได้โทรศัพท์แจ้งทางครอบครัวให้พาพิทยุตม์ไปพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากอัยการมีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม จากนั้นอัยการคงจะส่งฟ้องเลย แต่เมื่อพิทยุตม์ติดต่อทนายความ ทนายความแจ้งว่า ในวันที่ 17 ก.ย. 2564 ติดคดีอื่น ไม่สามารถเข้าร่วมการรับทราบข้อกล่าวหาได้ อีกทั้งพนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งต้องออกเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม พิทยุตม์จึงยืนยันกับพนักงานสอบสวนให้ออกเป็นหมายเรียกมาและขอไปรับทราบข้อกล่าวหาในสัปดาห์ถัดไป เพื่อให้มีทนายที่ไว้ใจเข้าร่วม

    แต่ในวันถัดมา ตำรวจยังคงโทรหาพิทยุตม์ขณะที่เขากำลังทำงานในตัวเมืองอุดรฯ อีกหลายครั้ง พยายามให้เขาไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันนั้นให้ได้ อ้างว่าถ้าไปจะเป็นผลดี อาจจะมีแค่โทษปรับบ้าง สุดท้ายบอกว่าให้การปฏิเสธก็ได้ พิทยุตม์รับปาก แต่เขาไม่ได้ไปพบพนักงานสอบสวน เนื่องจากต้องการให้ทนายเข้าร่วมด้วย

    ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 7 ปี ซึ่งพนักงานสอบสวนและอัยการขอศาลฝากขังผู้ต้องหาได้ไม่เกิน 48 วัน หากนับตั้งแต่ศาลอนุญาตให้ฝากขังเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 ก็จะครบ 48 วัน ในวันที่ 18 ก.ย. 2548 ซึ่งเป็นวันเสาร์ ถ้าอัยการไม่ยื่นฟ้องหรือแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมที่มีอัตราโทษอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ในวันศุกร์ที่ 17 ก.ย. 2564 ก็จะขอฝากขังพิทยุตม์ต่อไปไม่ได้ คาดว่าเป็นสาเหตุให้อัยการเร่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม จนตำรวจต้องกดดันให้พิทยุตม์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าวภายในวันที่ 17 ก.ย. 2564

    เมื่อพิทยุตม์พร้อมทนายความเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม พ.ต.ต.ณัฐพงษ์ สว.(สอบสวน) แจ้งให้ทราบอีกครั้งว่า พนักงานอัยการจังหวัดอุดรฯ มีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติม ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมให้พิทยุตม์ทราบว่า การกระทำของพิทยุตม์ที่วางเพลิงเผาป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 เป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ด้วย

    พนักงานสอบสวนถามคำให้การ พิทยุตม์กล่าวว่า ให้การรับสารภาพในข้อหาวางเพลิง แต่ขอให้การปฏิเสธในข้อหาตามมาตรา 112 โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 12 ต.ค. 2564 พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจแค่แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามที่อัยการมีคำสั่งมาเท่านั้น เมื่อแจ้งแล้วจะส่งสำนวนให้อัยการเลย ทนายจึงแย้งว่า เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การในข้อหาที่แจ้งเพิ่มเติม หลังการโต้แย้งเหตุผลกันซักพัก พนักงานสอบสวนจึงยอมบันทึกถ้อยคำของพิทยุตม์ลงในคำให้การ โดยตลอดเวลาที่แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ ได้ทำการบันทึกวีดิโอด้วย ระบุว่า เป็นคำสั่ง เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ

    หนุ่มเล่าว่า หลังได้รับการประกันตัว เขาได้ไปทำการซ่อมแซมป้ายพระบรมฉายาลักษณ์จนมีสภาพดังเดิม เขายังเปิดเผยด้วยว่า ในช่วงที่เขาถูกจับกุมและควบคุมตัวมาที่ สภ.หนองหาน ตำรวจก็พยายามพูดกับเขาให้ยอมให้ความร่วมมือตลอดกระบวนการ รวมถึงการตรวจดีเอ็นเอ และให้พาสเวิร์ดเข้าโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก แม้กระทั่งการแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่รอให้ทนายมาถึงก่อน ตลอดจนถึงการไม่ให้เรื่องนี้เป็นข่าวออกไป โดยกล่าวว่าทางตำรวจจะไม่แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ครอบครัวและตัวเขาจึงยอมให้ความร่วมมือ แต่เมื่อมีการแจ้งข้อหา 112 เขาก็รู้ว่าเขาไม่สามารถเชื่อถืออะไรได้ จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำให้เรื่องนี้เงียบอีกต่อไปแล้ว

    (อ้างอิง: รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี สภ.หนองหาน ลงวันที่ 22 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35722)
  • พิทยุตม์พร้อมทนายความเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง หลังพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกมาถึง ระบุว่า อัยการมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม

    พนักงานสอบสวนอ่านพฤติการณ์คดีทั้งหมดให้พิทยุตม์ฟังอีกครั้งและแจ้งข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และวางเพลิงเผาทรัพย์" รวม 2 ข้อหา เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 พนักงานสอบสวนแจ้งเฉพาะข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม ไม่ได้ย้อนแจ้งข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์ด้วย เป็นเหตุให้อัยการคืนสำนวนให้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การอีกครั้ง

    พิทยุตม์ให้การปฏิเสธข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่รับสารภาพข้อหาวางเพลิง ส่วนที่ได้ให้การไว้ว่าจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 12 ต.ค. 2564 นั้น พิทยุตม์แจ้งว่า ไม่ประสงค์ยื่นคำให้การแล้ว
  • พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานียื่นฟ้องพิทยุตม์ต่อศาลในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 อ้างว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่สมควร ล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกว่าจะทำให้เสียหายไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ อันมิใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม นับเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียเกียรติ

    อย่างไรก็ตาม อัยการระบุในคำฟ้องว่า ภายหลังเกิดเหตุจําเลยได้จัดทําป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ชดใช้คืนให้แก่เทศบาลตําบลจนเป็นที่พอใจแล้ว และไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดจากจําเลยอีก

    ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แต่นอกจากขอให้ลงโทษจำเลย ได้ขอให้ศาลริบของกลางในคดี คือ ขวดพลาสติกที่จําเลยใช้บรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง จํานวน 1 ขวด

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.863/2564 ลงวันที่ 20 ต.ค. 2564)
  • เวลา 10.00 น. พิทยุตม์เข้ารายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน โดยคดีครบฝากขังผัดที่ 7 ในวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่รับรายงานตัว แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบว่า พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีหรือยัง ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวพิทยุตม์ไปขังที่ห้องขังด้านหลังศาล โดยตำรวจได้ใส่กุญแจมือพิทยุตม์เข้ากับผู้ต้องหาในคดีอื่นอีกราย

    ทนายจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยใช้โฉนดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน และขอถอด EM ระบุเหตุผลว่า จำเลยทำงานรับจ้างในห้างร้านขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความคล่องตัวสูง ต้องข้องเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องมือโลหะหลายชนิด การติด EM ทำให้จำเลยไม่สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว ต้องคอยพะวงว่าเครื่องมือช่างจะไปทำให้ EM ชำรุด ซึ่งจำเลยจำต้องลาออกจากการทำงานดังกล่าวเพราะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ สร้างความลำบากในการดำรงชีพ และต้องเป็นภาระของครอบครัวจำเลยเป็นอย่างมาก

    พิทยุตม์ถูกขังอยู่กระทั่งประมาณ 15.00 น. ศาลจึงคอนเฟอเรนซ์มาที่ห้องขังและสอบถามเพื่อยืนยันตัวบุคคล ก่อนนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 1 ก.พ. 2565 เวลา 13.30 น.

    ราว 16.00 น. ศาลจึงอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักประกันวงเงิน 150,000 บาท พร้อมทั้งอนุญาตให้ถอด EM โดยครอบครัวได้ใช้โฉนดที่ดินวางเป็นหลักประกันเช่นเดิม
  • เวลา 13.50 น. พิทยุตม์และทนายจำเลยมาศาลตามนัด ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยซึ่งมีทนายความฟัง รวมทั้งแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบ พิทยุตม์ให้การรับสารภาพข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น แต่ให้การปฏิเสธข้อหาแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ตามคำให้การจำเลยลงวันที่วันนี้ที่ยื่นต่อศาล ศาลให้เลื่อนไปนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดอุดรฯ คดีหมายเลขดำที่ อ.863/2564 ลงวันที่ 1 ก.พ. 2565)
  • นัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์อ้างส่งพยานเอกสาร 32 รายการ แถลงนำบุคคลเข้าสืบ 11 ปาก มีพยานที่ฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงตามคำให้การพยานในชั้นสอบสวนได้ 4 ปาก เหลือพยานบุคคลที่โจทก์จะนำเข้าสืบ 7 ปาก ทนายจำเลยแถลงจะนำพยานบุคคลเข้าสืบ 3 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 27-28 ก.ย. 2565 ศาลเปิดทางว่า คดีนี้ให้จำเลยสู้คดีให้เต็มที่ ถ้ามีประวัติหรือคำพิพากษาคดีอื่นที่มีพฤติการณ์ลักษณะเดียวกันที่เป็นประโยชน์กับจำเลยก็ยื่นเข้ามาเลย
  • ก่อนเริ่มสืบพยานผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพูดกับพิทยุตม์ว่า ศาลมองว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ให้จำเลยไปปรึกษาทนายจำเลยและครอบครัวอีกรอบว่าจะยืนยันให้การปฏิเสธในข้อหาดังกล่าวหรือไม่ พิทยุตม์ ครอบครัว และทนายจำเลยออกมาปรึกษากันนอกห้องพิจารณาแล้วกลับเข้าไปแถลงยืนยันต่อสู้คดี แต่ศาลบอกให้ทนายจำเลยออกจากห้องไปก่อน ขอคุยกับจำเลยและครอบครัวเป็นการส่วนตัว

    หลังการพูดคุยโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย จำเลยตัดสินใจให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 พ.ย. 2565 โดยมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะประวัติและรายงานต่อศาล และให้จำเลยทำพิธีขออภัยต่อพระบรมฉายาลักษณ์ประกอบคำรับสารภาพ ศาลระบุด้วยว่า ร่างคำพิพากษาจะต้องส่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ตรวจก่อนอ่าน
  • พิทยุตม์เข้ายื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ โดยแนบหนังสือรับรองของนายกเทศมนตรี ซึ่งรับรองว่า พิทยุตม์ได้ทำพิธีขอขมาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 อย่างเป็นทางการต่อหน้าข้าราชการพนักงานเทศบาลแล้ว พร้อมทั้งแนบรูปถ่ายในขณะทำพิธี รวมถึงหนังสือรับรองความประพฤติจากกำนันที่รับรองว่า ที่ผ่านมาพิทยุตม์มีความประพฤติที่เรียบร้อย เชื่อฟังผู้ใหญ่ ช่วยเหลืองานเกษตรที่บ้าน ไม่เคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือการพนัน ไม่เคยทะเลาะวิวาท ไม่เคยมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรืออันธพาล และไม่เคยต้องโทษคดีอาญาใด ๆ มาก่อน

    (อ้างอิง: คำแถลงประกอบคำรับสารภาพ ศาลจังหวัดอุดรฯ คดีหมายเลขดำที่ อ.863/2564 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2565)
  • พิทยุตม์พร้อมพ่อและแม่เดินทางมาถึงศาลก่อน ขณะนั่งรอทนายซึ่งต้องเดินทางมาจากจังหวัดอื่นอยู่หน้าห้องพิจารณา พิทยุตม์เล่าด้วยสีหน้าที่ไม่ได้แสดงความกังวลว่า เมื่อคืนนอนหลับสบายดี ส่วนผู้เป็นแม่นั้นเปรยว่า นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ถึงอย่างไรความกังวลต่อชะตากรรมของบุตรชายก็ยังรบกวนจิตใจเธอ

    เจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาเรียกพิทยุตม์ให้เข้าไปในห้อง แม้ว่าทนายจำเลยจะยังเดินทางมาไม่ถึงและศาลยังไม่ออกพิจารณาคดี ก่อนยื่นรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติให้อ่านและตรวจสอบว่า ข้อเท็จจริงตรงกับที่เขาให้ข้อมูลไปหรือไม่ พิทยุตม์ใช้เวลาอ่านซักพัก จากนั้นเขาส่งให้แม่ได้อ่านด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกคืน พิทยุตม์ก็แจ้งว่าไม่มีอะไรต้องแก้ไข

    ราว 10.15 น. หลังผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดีตามลำดับมาถึงคดีของพิทยุตม์ ได้กล่าวถึงเนื้อหาคำพิพากษาสั้น ๆ ว่า จากรายงานการสืบเสาะ จำเลยมีประวัติดี กระทำความผิดครั้งแรก ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง ก่อนกล่าวกับพิทยุตม์ในตอนท้ายว่า ศาลให้โอกาสแล้วอย่าทำอีก ซึ่งพิทยุตม์ก็ได้กล่าวขอบคุณ

    หลังยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันซึ่งเป็นโฉนดที่ดินของแม่ที่วางไว้กับศาลตั้งแต่ชั้นฝากขังคืนแล้ว ในช่วงบ่ายพิทยุตม์ได้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเพื่อรับทราบวันนัดรายงานตัวตามเงื่อนไขคุมประพฤติของศาล และวิธีทำงานบริการสังคม ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ให้ไปทำงานบริการให้กับวัดที่กำหนดรวม 4 วัน วันละ 6 ชั่วโมง

    เมื่อภารกิจทางคดีในวันนี้เสร็จสิ้นลง แม้ยังไม่ใช่การที่คดีสิ้นสุด หากว่าอัยการยื่นอุทธรณ์ คดีก็จะต้องไปอยู่ในการพิจารณาของศาลที่สูงกว่าต่อไปนี้ แต่อย่างน้อยวันนี้หนุ่มยังมีอิสรภาพอยู่ เขาเปิดเผยความรู้สึกว่า

    “เอิ่มม… จะดีใจมั้ยก็ไม่ จะเสียใจมั้ยก็ไม่ มันอยู่กลางๆ อะครับ แต่เห็นพ่อแม่รู้สึกโล่งใจแล้ว ผมก็โอเคอยู่ครับ ถ้ามองในมุมผมจริง ๆ ผมยังรู้สึกเซ็งๆ ในตัวกฎหมาย ม.112 อยู่มาก ถึงผมจะได้รอลงอาญา แต่ยังมีคนที่ไม่ได้รับอิสรภาพเฉกเช่นเดียวกันกับผม และมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า ศาลจะพิพากษาให้พวกเขาได้รับอิสรภาพมั้ย ผมจึงอยากเป็น 1 เสียงที่พูดว่า #ปล่อยเพื่อนเรา #อย่าลืมเพื่อนเรา”

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดอุดรฯ คดีหมายเลขดำที่ อ.863/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1254/2565 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51170)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พิทยุตม์ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พิทยุตม์ (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สงกรานต์ เข็มศิริ
  2. ณัฐกฤษฎ์ จินาศรีพูล

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 29-11-2022

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์