สรุปความสำคัญ

ไวรัส (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยวัย 33 ปี ถูกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ แจ้งความดำเนินคดี โดยกล่าวหาว่า เขาโพสต์ข้อความและภาพลงในเฟซบุ๊กและติ๊กต่อกช่วง เม.ย.-พ.ค. 2564 เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ รวม 5 โพสต์ ก่อนตำรวจเรียกให้เขาไปพูดคุยที่ สน.โชคชัย แต่กลับมีการแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยไม่ได้มีหมายเรียกมาก่อน ทั้งที่โพสต์ที่ถูกกล่าวหา 2 โพสต์ เป็นเพียงการวิจารณ์การลงขันสร้างศาลาที่รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จไป

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความขยายความคุ้มครองไปถึงอดีตกษัตริย์ ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ไวรัส (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

9 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น. ที่ สน.โชคชัย ไวรัส (นามสมมติ) อายุ 33 ปี อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของธนาคารแห่งหนึ่ง เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังวันก่อนหน้านี้ (8 ก.ค. 2564) ได้มีตำรวจติดต่อมาทางโทรศัพท์ แจ้งให้เขาไปพบที่ สน.โชคชัย โดยนายตำรวจที่โทรมา เพียงแต่บอกว่าได้รับคำสั่งให้ติดต่อนัดหมายเขาไปพูดคุยให้ข้อมูลกับทางตำรวจ ไม่ได้มีอะไรมาก ขณะเดียวกัน ไวรัสก็ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกใดๆ มาก่อน แต่เนื่องจากเขาอยากให้เรื่องจบโดยเร็ว หากพูดคุยกันได้ จึงตัดสินใจเดินทางไปตามนัดหมายกับตำรวจ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 ได้มีกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ประมาณ 6-7 คน ทั้งกลุ่มใส่เสื้อสีเหลืองบุกมาที่ทำงานของไวรัส โดยเขาไม่รู้จักผู้ใดในกลุ่มเลย กล่าวหาว่า เขาแชร์โพสต์หมิ่นประมาทกษัตริย์ ทั้งพยายามข่มขู่ถามว่าทำไมไม่รักในหลวง และพยายามให้เขาขอโทษ ทำให้เกิดการถกเถียงกันขึ้น

ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูเหตุการณ์ และเชิญทั้งหมดไปพูดคุยที่ สน.โชคชัย แต่เมื่อถึงสถานีตำรวจแล้ว กลุ่มคนดังกล่าวได้แจ้งความกล่าวหาว่าเขากระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยมีการนำภาพโพสต์ต่างๆ ยื่นต่อตำรวจ จากนั้นตำรวจได้ขอตรวจยึดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ของไวรัส แจ้งว่าจะขอนำไปตรวจสอบ ถ้าไม่มีอะไรก็จะคืนให้ โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกการตรวจยึดให้เขาลงชื่อ ก่อนปล่อยตัวเขากลับ พร้อมแจ้งว่าจะติดต่อเขามาอีกครั้ง

ในวันนี้เมื่อไปถึง สน.โชคชัย ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการพูดคุยตามที่โทรบอก แต่ได้แจ้งว่า จะแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้ไวรัสประสานงานมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย

พ.ต.ท.ไตรพงษ์ วงศ์อมรอัครพันธ์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.โชคชัย แจ้งข้อกล่าวหาไวรัสใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5)

พนักงานสอบสวนได้ระบุโพสต์ที่ไวรัสถูกกล่าวหา รวมทั้งหมด 5 โพสต์ ซึ่งโพสต์ระหว่างวันที่ 30 เม.ย. - 7 พ.ค. 2564 เป็นกรณีที่แชร์และโพสต์เกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 9 จำนวน 2 ข้อความ แชร์และโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 10 จำนวน 3 ข้อความ

หลังรับทราบข้อกล่าวหา ไวรัสได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่าจะนำตัวไวรัสไปขอฝากขัง ที่ศาลอาญา รัชดาฯ แม้เขาจะเดินทางมาพบตำรวจด้วยตนเองก็ตาม

ต่อมาศาลได้อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นระยะเวลา 12 วัน ก่อนอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์ 200,000 บาท

ไวรัสเปิดเผยว่า เหตุที่เกิดขึ้นสร้างความลำบากต่ออาชีพของเขา ธนาคารที่เขาทำงานอยู่ได้ให้เขาเขียนใบลาออก โดยไม่ได้มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ จากนั้นเขาไปทำงานขายของในบูธ แต่ยอดขายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งโควิดระบาด ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้า และมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย จึงอาจจะต้องหางานใหม่ในช่วงต่อไป นอกจากนั้น อุปกรณ์ที่ถูกยึดไป ยังไม่รู้ว่าจะได้คืนเมื่อไรอีกด้วย

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.โชคชัย ลงวันที่ 9 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31974)

ภูมิหลัง

  • ไวรัส (นามสมมติ)
    เริ่มติดตามสถานการณ์การเมืองหลังเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งในเวลาว่างระหว่างการทำงานเขามักใส่หูฟังและเข้าไปฟังข่าวสารและเรื่องราวต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้นไวรัสจึงเริ่มโพสต์และแชร์เรื่องราวของสถาบันกษัตริย์บนเฟซบุ๊กและติ๊กต่อก

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/55395)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • ไวรัส (นามสมมติ)
    ถูกหลายบริษัทปฏิเสธที่จะรับเข้าทำงาน เมื่อรู้ว่าเขาถูกดำเนินคดี 112 ทำให้เขาตกงานและเป็นหนี้อยู่ช่วงหนึ่ง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/55395)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์