สรุปความสำคัญ

“สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชน ถูกศาลเยาวชนออกหมายจับข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยสายน้ำถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษข้อความ “CANCLE LAW 112” และพ่นสีสเปรย์บนรูปรัชกาลที่ 10 รวมทั้งจุดไฟเผาผ้าประดับรูป ระหว่างการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทําเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ต่อมา อัยการคดีเยาวชนมีคำสั่งฟ้องคดี

ในวัยเพียง 17 ปี สายน้ำถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 2 แล้ว ก่อนหน้านี้เขาถูกกล่าวหาในข้อหานี้ จากการเข้าร่วมการชุมนุม “ศิลปะราษฎร” ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 โดยแต่งกายด้วยเสื้อเสื้อครอปท็อป และเขียนข้อความบนตัว

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความเอาผิดประชาชนอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อีกทั้งการออกหมายจับเยาวชนโดยไม่เคยมีการออกมหมายเรียกมาก่อนเป็นการปฏิบัติต่อเยาวชนเยี่ยงอาชญากร ละเมิดสิทธิเด็กและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการสั่งฟ้องคดีซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะยังสะท้อนให้เห็นว่าอัยการไม่มีบทบาทในการกลั่นกรองคดีอาญาขึ้นสู่ศาล

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สายน้ำ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

18 ก.ค. 2564 มีการจัดชุมนุมในโอกาสครบรอบ 1 ปีของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ภายใต้ชื่อ #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต หรือ #ม็อบ18กรกฎา โดยยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ ประยุทธ์ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข, ปรับลดงบสถาบัน-กองทัพ และเรียกร้องขอวัคซีน MRNA โดยนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อที่จะเคลื่อนตัวไปยังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564

อย่างไรก็ตาม พบเหตุการณ์คุกคามอย่างกว้างขวางทั้งก่อนและขณะการชุมนุม กล่าวคือ ตั้งแต่ก่อนเริ่มการชุมนุม ราว 11.45 น. พบเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเจ้าของหอพักไปสอบปากคำ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมด้วย พร้อมกับยึดอุปกรณ์ประกอบการชุมนุม เช่น หุ่นล้อเลียน หุ่นฟาง จากห้องพักดังกล่าว ทั้งยังมีการฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม แม้เพิ่งประกาศเดินขบวนเพียง 20 นาทีเท่านั้น รวมทั้งใช้กระสุนยาง และแก๊สน้ำตาผลักดันผู้ชุมนุม ทั้งสองจุด ในบริเวณแยกนางเลิ้ง และบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเคลื่อนตัวไปยังทำเนียบรัฐบาล และมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายราย รวมถึงมีช่างภาพและผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง จำนวน 3 ราย ก่อนจะยุติการชุมนุม ในเวลา 18.30 น.

(อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2021/07/94027)

24 ก.ค. 2564 ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง “สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชนวัย 17 ปี พร้อมผู้ปกครองและผู้ไว้วางใจ เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน หลังทราบว่าถูกดำเนินคดีจากกรณีชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทําเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ก่อนพนักงานสอบสวนแสดงหมายจับออกโดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่ 21/2564 ลงวันที่ 22 ก.ค. 2564

เจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้ผู้ปกครอง ผู้ไว้วางใจ และที่ปรึกษากฎหมาย รวมถึงผู้สังเกตการณ์จาก Amnesty International ประเทศไทย เข้าร่วมกระบวนการในห้องสอบสวนได้ โดยตำรวจจัดหานักจิตวิทยาเข้าร่วมด้วย

พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งการดำเนินคดีว่า หลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth พบพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีการแปะข้อความว่า “CANCEL LAW 112” ทับที่บริเวณพระพักตร์ และข้อความว่า “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” มีสีสเปรย์สีดําพ่นทับพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยคําด่า และพบร่องรอยไฟไหม้ผ้าสีเหลืองที่ใช้ประดับ จากการสืบสวนมีพยานหลักฐานเชื่อว่า สายน้ำเป็นผู้กระทําความผิดดังกล่าว

จากนั้นจึงแจ้งข้อกล่าวหาสายน้ำรวม 4 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์”, มาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์”, มาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์”, ฝ่าฝืนข้อกําหนดและประกาศออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

สายน้ำให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวสายน้ำไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อตรวจสอบการจับ และขออำนาจควบคุมตัว โดยศาลมีคำสั่งว่า การจับกุมสายน้ำเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และอนุญาตให้ควบคุมตัว ก่อนให้ประกันในวงเงินประกัน 20,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.นางเลิ้ง ลงวันที่ 24 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32688)

ภูมิหลัง

  • สายน้ำ (นามสมมติ)
    ทำกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อวิพากษ์ระบบการศึกษาไทย โดยยืนเคารพธงชาติพร้อมชู 3 นิ้ว ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เช้าจนมืด ก่อนที่จะลาออกจากโรงเรียน เพราะรู้สึกว่าการเรียนในโรงเรียน ในระบบการศึกษาไทย ไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับตน และเริ่มต้นเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว พร้อมกับการเตรียมตัวอ่านหนังสือเพื่อสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัย

    อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/27591

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์