ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
- ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
- อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
- หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
- การชุมนุม
- พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
ดำ ยชอ.238/2564
ผู้กล่าวหา
- ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
- การชุมนุม
- พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
- หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
- ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
- อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
หมายเลขคดี
ดำ ยชอ.238/2564
ผู้กล่าวหา
- ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ความสำคัญของคดี
“สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชน ถูกศาลเยาวชนออกหมายจับข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยสายน้ำถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษข้อความ “CANCLE LAW 112” และพ่นสีสเปรย์บนรูปรัชกาลที่ 10 รวมทั้งจุดไฟเผาผ้าประดับรูป ระหว่างการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทําเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ต่อมา อัยการคดีเยาวชนมีคำสั่งฟ้องคดี
ในวัยเพียง 17 ปี สายน้ำถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 2 แล้ว ก่อนหน้านี้เขาถูกกล่าวหาในข้อหานี้ จากการเข้าร่วมการชุมนุม “ศิลปะราษฎร” ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 โดยแต่งกายด้วยเสื้อเสื้อครอปท็อป และเขียนข้อความบนตัว
กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความเอาผิดประชาชนอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อีกทั้งการออกหมายจับเยาวชนโดยไม่เคยมีการออกมหมายเรียกมาก่อนเป็นการปฏิบัติต่อเยาวชนเยี่ยงอาชญากร ละเมิดสิทธิเด็กและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการสั่งฟ้องคดีซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะยังสะท้อนให้เห็นว่าอัยการไม่มีบทบาทในการกลั่นกรองคดีอาญาขึ้นสู่ศาล
ในวัยเพียง 17 ปี สายน้ำถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 2 แล้ว ก่อนหน้านี้เขาถูกกล่าวหาในข้อหานี้ จากการเข้าร่วมการชุมนุม “ศิลปะราษฎร” ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 โดยแต่งกายด้วยเสื้อเสื้อครอปท็อป และเขียนข้อความบนตัว
กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความเอาผิดประชาชนอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อีกทั้งการออกหมายจับเยาวชนโดยไม่เคยมีการออกมหมายเรียกมาก่อนเป็นการปฏิบัติต่อเยาวชนเยี่ยงอาชญากร ละเมิดสิทธิเด็กและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการสั่งฟ้องคดีซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะยังสะท้อนให้เห็นว่าอัยการไม่มีบทบาทในการกลั่นกรองคดีอาญาขึ้นสู่ศาล
พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุป กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงวันและเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินยังมีผลใช้บังคับอยู่ โดยจําเลยได้กระทําความผิดหลายกรรม กล่าวคือ
1. จำเลยได้จัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันมากกว่า 5 คน ในกิจกรรมที่ชื่อว่า “ทวงคืนประเทศ ขับไล่ปรสิต” ที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 800-900 คน เพื่อเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถนนนครสวรรค์ โดยเป็นการชุมนุมและทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุม โดยไม่มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 และไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ฝ่าฝืนต่อประกาศและข้อกำหนด
2. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบุในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมาตรา 6 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ตามวันและเวลาที่เกิดเหตุ จําเลยได้หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และวางเพลิงเผาทรัพย์ของมหาวิทยาลัย โดยจำเลยได้ใช้กระดาษที่มีข้อความว่า “CANCLE LAW 112” จำนวน 1 แผ่น ข้อความ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” จำนวน 1 แผ่น โดยกระดาษทั้งหมดปิดทับบนรูปพระมหากษัตริย์ และจำเลยยังใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” ด้วยคำหยาบบนรูปดังกล่าว
อีกทั้ง จำเลยจุดไฟเผา จนมีไฟลุกไหม้ที่ผ้าประดับสีเหลืองและสีขาว พานพุ่ม พร้อมกรวยธูปเทียนถวายพระพรที่ใช้ประดับรูป และรวมถึงรูปที่ติดตั้งบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร รวมราคาทั้งหมด 2,950 บาท ทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
พระบรมฉายาลักษณ์หรือรูปนี้หน่วยงานราชการจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี และเฉลิมพระเกียรติเชิดชูเทิดทูนพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการไม่สมควร เป็นการแสดงออกที่เป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณที่ไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม ถือเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.238/2564 ลงวันที่ 20 ต.ค. 2564)
1. จำเลยได้จัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันมากกว่า 5 คน ในกิจกรรมที่ชื่อว่า “ทวงคืนประเทศ ขับไล่ปรสิต” ที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 800-900 คน เพื่อเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถนนนครสวรรค์ โดยเป็นการชุมนุมและทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุม โดยไม่มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 และไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ฝ่าฝืนต่อประกาศและข้อกำหนด
2. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบุในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมาตรา 6 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ตามวันและเวลาที่เกิดเหตุ จําเลยได้หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และวางเพลิงเผาทรัพย์ของมหาวิทยาลัย โดยจำเลยได้ใช้กระดาษที่มีข้อความว่า “CANCLE LAW 112” จำนวน 1 แผ่น ข้อความ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” จำนวน 1 แผ่น โดยกระดาษทั้งหมดปิดทับบนรูปพระมหากษัตริย์ และจำเลยยังใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” ด้วยคำหยาบบนรูปดังกล่าว
อีกทั้ง จำเลยจุดไฟเผา จนมีไฟลุกไหม้ที่ผ้าประดับสีเหลืองและสีขาว พานพุ่ม พร้อมกรวยธูปเทียนถวายพระพรที่ใช้ประดับรูป และรวมถึงรูปที่ติดตั้งบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร รวมราคาทั้งหมด 2,950 บาท ทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
พระบรมฉายาลักษณ์หรือรูปนี้หน่วยงานราชการจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี และเฉลิมพระเกียรติเชิดชูเทิดทูนพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการไม่สมควร เป็นการแสดงออกที่เป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณที่ไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม ถือเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.238/2564 ลงวันที่ 20 ต.ค. 2564)
ความคืบหน้าของคดี
-
วันที่: 24-07-2021นัด: เข้ามอบตัว“สายน้ำ” พร้อมผู้ปกครองและผู้ไว้วางใจ เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน ก่อนพนักงานสอบสวนแสดงหมายจับออกโดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่ 21/2564 ลงวันที่ 22 ก.ค. 2564 จากกรณีชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทําเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564
บริเวณทางเข้า สน. นางเลิ้ง มีการกั้นแผงเหล็ก ตั้งจุดคัดกรอง โดยให้ลงชื่อและตรวจวัดอุณหภูมิ อนุญาตให้เพียงผู้ที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนที่มีบัตรนักข่าวเข้าในเขต สน. โดยมีสื่อมวลชนมารอทำข่าวเป็นจำนวนมาก
ด้านใน สน.นางเลิ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้ผู้ปกครอง ผู้ไว้วางใจ และที่ปรึกษากฎหมาย รวมถึงผู้สังเกตการณ์จาก Amnesty International ประเทศไทย เข้าร่วมกระบวนการในห้องสอบสวนได้
ก่อนเริ่มกระบวนการโดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า การสอบสวนในวันนี้จะทำโดยพนักงานสอบสวนกับเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ ส่วนพนักงานอัยการไม่สะดวกมาเข้าร่วม หลังวานนี้เจ้าหน้าที่ได้ส่งหนังสือขอให้อัยการมาร่วมการสอบสวนแล้ว แต่ที่ปรึกษากฎหมายและผู้ปกครองขอให้ประสานอัยการมาร่วมสอบปากคำ พร้อมกับสหวิชาชีพอื่นๆ
พนักงานสอบสวนจึงได้ประสานไปที่อัยการอีกครั้ง ก่อนแจ้งที่ปรึกษากฎหมายของสายน้ำว่า อธิบดีอัยการมีคำสั่งให้ยกเว้นการสอบปากคำเยาวชนในช่วงสถานการณ์โควิด ยกเว้นมีเหตุเร่งด่วน ซึ่งหากอัยการจะมาร่วมสอบสวนในวันนี้จะสามารถมาได้เวลา 13.00 น. ทำให้ผู้ปกครองตัดสินใจไม่ขอให้มีอัยการเข้าร่วมด้วย เกรงว่ากระบวนการสอบสวนล่าช้าไปจนถึงช่วงบ่าย ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการขอประกันตัวในชั้นศาล
ในชั้นนี้จึงขอให้มีแค่ที่ปรึกษากฎหมาย ผู้ปกครอง และนักจิตวิทยา อยู่ร่วมในการแจ้งข้อกล่าวหา และสอบคำให้การ
++พฤติการณ์แห่งคดีและข้อกล่าวหา++
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกการจับกุมก่อนเริ่มกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การ ระบุว่า เวลา 09.45 น. สายน้ำพร้อมผู้ปกครองได้เดินทางมาที่ สน. นางเลิ้ง เพื่อมอบตัวและรับทราบข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ซึ่งประกอบด้วย พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี รอง ผกก.สส.สน.นางเลิ้ง และ ร.ต.อ.ทองธาดา การะเกด จึงได้แสดงหมายจับของศาลเยาวชนฯ
จากนั้นได้แจ้งให้สายน้ำทราบว่า ได้กระทำความผิดรวม 4 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์”, มาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์”, มาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์”, ฝ่าฝืนข้อกําหนดและประกาศออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
โดยระบุพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งการจับกุมว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. กลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth ได้จัดกิจกรรม “ทวงคืนประเทศไทย ขับไล่ปรสิต” ได้นัดหมายรวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมาได้มีการเคลื่อนมวลชนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทําเนียบรัฐบาล และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดควบคุมฝูงชน ที่บริเวณก่อนถึงแยกพาณิชยการ ถนนพิษณุโลก และต่อมาทางกลุ่มได้ยุติการชุมนุมเวลา 18.25 น.
หลังการยุติการชุมนุม พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 บริเวณข้างตู้เอทีเอ็ม ธนาคารกรุงเทพ หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอออกแบบและแฟชั่น มีการแปะข้อความว่า “CANCEL LAW 112” ทับที่บริเวณพระพักตร์ และมีสีสเปรย์สีดําพ่นทับพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยคําด่า พบกระดาษแปะไว้ที่บนพระบรมฉายาลักษณ์เขียนด้วยลายมือ ข้อความว่า “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” และพบร่องรอยไฟไหม้ผ้าสีเหลืองที่ใช้ประดับพระบรมฉายาลักษณ์
จากการสืบสวนพยานหลักฐานเชื่อว่า ผู้ถูกจับเป็นผู้กระทําความผิดดังกล่าว จึงได้ยื่นคําร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อขอออกหมายจับตามข้อหาดังกล่าวข้างต้น
หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จ พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ โดยสายน้ำให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอให้การเพิ่มเติมว่า เมื่อตนได้ทราบว่าพนักงานสอบสวนจะดำเนินคดี ก็มาพบพนักงานสอบสวนโดยทันที และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน
12.00 น. เสร็จสิ้นกระบวนการสอบสวนในชั้นสอบสวน เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวสายน้ำไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อตรวจสอบการจับ และขออำนาจควบคุมตัว โดยมีที่ปรึกษากฏหมายและผู้ไว้วางใจติดตามไปในรถคันเดียวกันด้วย
ขณะเดินออกจาก สน.นางเลิ้ง เพื่อขึ้นรถตำรวจไปศาลเยาวชนฯ สายน้ำได้ชูสามนิ้วเหนือหัวพร้อมกล่าวประโยคว่า “เขาเป็นบุคคลสาธารณะ ผมต้องพูดถึงเขาได้ ผมต้องการให้ยกเลิก 112 ครับ”
++ให้ประกันในชั้นสอบสวน++
เวลา 15.30 น. หลังพนักงานสอบสวนนำตัวสายน้ำไปให้ศาลตรวจสอบการจับกุม และยื่นคำร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน ศาลได้ตรวจสอบการจับกุม โดยสอบถามพนักงานสอบสวนและสายน้ำ ซึ่งได้แถลงว่าได้ดำเนินการจับกุมโดยชอบ สายน้ำยังได้แถลงต่อศาลเพิ่มเติมว่า ได้มามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน
ต่อมาศาลมีคำสั่งว่า การจับกุมสายน้ำเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และอนุญาตให้ควบคุมตัวสายน้ำตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ ก่อนให้ประกันในวงเงินประกัน 20,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ และนัดสายน้ำไปพบพนักงานคุมประพฤติที่สถานพินิจธนบุรีในวันที่ 2 ส.ค. 2564 นัดรายงานตัวที่งานรับฟ้องของศาลในวันที่ 7 ก.ย. 2564
หลังครอบครัวสายน้ำวางเงินสด 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน สายน้ำพร้อมครอบครัว ผู้ไว้วางใจ และที่ปรึกษากฎหมาย จึงเดินทางกลับออกจากศาลเยาวชนฯ
(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.นางเลิ้ง ลงวันที่ 24 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32688) -
วันที่: 07-09-2021นัด: รายงานตัวต่อศาลสายน้ำพร้อมผู้ปกครองรายงานตัวงานรับฟ้อง ศาลนัดรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 15 พ.ย. 2564 เวลา 8.30 น.
-
วันที่: 20-10-2021นัด: ยื่นฟ้องพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสายน้ำต่อศาลเยาวชนฯ รวม 4 ข้อหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์, วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217, 358 และฝ่าฝืนข้อกําหนดและประกาศออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกันตัว โดยขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล
ในการยื่นฟ้อง อัยการไม่ได้นัดหมายสายน้ำไปศาล เพราะศาลปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นฝากขัง สายน้ำจึงอยู่ในอำนาจการควบคุมตัวของศาลแล้ว และอัยการฟ้องทันในกำหนด ซึ่งกำหนดครบผัดฟ้องครั้งสุดท้าย (ครั้งที่ 4) ตามที่กำหมายเยาวชนกำหนดในวันที่ 21 ต.ค. 2564
หลังศาลรับฟ้อง นัดสอบคำให้การในวันที่ 15 พ.ย. 2564 เวลา 08.30 น.
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.238/2564 ลงวันที่ 20 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37191) -
วันที่: 15-11-2021นัด: สอบถามสายน้ำยืนยันให้การปฏิเสธ
-
วันที่: 01-02-2022นัด: ตรวจพยานหลักฐานโจทก์แถลงมีพยานที่ประสงค์จะสืบ 24 ปาก ในจำนวนนี้เป็นพยานความเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ 14 ปาก จำเลยรับพยานปากเจ้าหน้าที่ผู้ทำบันทึกจับกุมวันที่จำเลยเข้ามอบตัว โจทก์จึงแถลงขอนำสืบพยาน 23 ปาก จำนวน 6 นัด ในวันที่ 26 ส.ค., 1, 2, 14, 15 และ 16 ก.ย. 2565
ส่วนที่ปรึกษากฎหมายของจำเลย (ทนายความ) แถลงขอนำสืบพยานฝ่ายจำเลยรวม 8 ปาก ศาลอนุญาตให้จำเลยใช้เวลาสืบจำนวน จำนวน 3 นัด ในวันที่ 28, 29 และ 30 ก.ย. 2565
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40159) -
วันที่: 26-08-2022นัด: สืบพยานโจทก์การพิจารณาคดีนี้ เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีที่ 13 พนักงานอัยการโจทก์ได้นำพยานโจทก์รวม 15 ปาก เข้าเบิกความ อาทิ ผู้กล่าวหา, พนักงานสอบสวน, นักวิชาการ และสมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ด้านที่ปรึกษากฎหมายของจำเลย นำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ สายน้ำ และผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดยในการพิจารณาคดี นอกจากจำเลย ผู้ปกครอง และที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) แล้ว ศาลไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าร่วมฟังการพิจารณา
การสืบพยานโดยรวม ฝ่ายโจทก์ได้เบิกความกล่าวถึงการพบพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ถูกพ่นสีสเปรย์และแปะกระดาษข้อความว่า “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” และ “CANCEL LAW 112” เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
ทางด้านจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำการพ่นสีสเปรย์และแปะกระดาษข้อความดังกล่าว และข้อความที่ฟ้องก็ไม่ได้เป็นข้อความที่ผิดกฎหมาย ประชาชนทั่วไปสามารถพูดหรือเขียนได้ ตลอดจนจำเลยไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มเยาวชนปลดแอก เพียงแค่เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น
++ตำรวจสืบสวนผู้กล่าวหา ระบุผู้กระทำมีลักษณะเดียวกับ “สายน้ำ” แม้ไม่มีหลักฐานชี้ชัด
พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ ตรงเที่ยง กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุตนได้ลงพื้นที่พร้อมผู้ใต้บังคับบัญชาและตำรวจนอกเครื่องแบบทั้งหมดประมาณ 80 นาย ซึ่งทำหน้าที่ทั้งติดตามสืบสวนและหาข่าว เฝ้าระวังกลุ่มบุคคล ป้องกันเหตุร้ายในพื้นที่ชุมนุม
พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ เบิกความว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย เพราะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะนั้น
หลังการชุมนุมเสร็จสิ้นประมาณ 24.00-01.00 น. พยานได้ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบว่าพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้มีร่องรอยการถูกเผา และเขียนข้อความว่า “CANCEL LAW 112” และ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” ที่บริเวณข้างตู้เอทีเอ็มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถนนนครสวรรค์ จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการหมิ่นประมาท หมิ่นพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 10
จากการสืบสวนทางโซเชียลพบว่า เฟซบุ๊ก “ปราชญ์ สามสี” มีการโพสต์รูปภาพคนร้ายสวมใส่เสื้อและกางเกงสีดำ และสวมเสื้อเกาะอ่อน สวมหมวก พร้อมระบุชื่อว่าเป็น “นายสายน้ำ” และพบว่าจำเลยเคยโพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดียในวันที่ 16 ก.ค. 2564 ว่า “18 นี้เจอกัน” พร้อมลงรูปภาพอุปกรณ์การชุมนุม รวมถึงมีภาพของจำเลยที่ผู้ใต้บังคับบัญชาถ่ายไว้ได้ในสถานที่ชุมนุมบริเวณถนนพิษณุโลกและแยกผ่านฟ้าลีลาศ 2 ภาพ จึงเชื่อว่าคนร้ายน่าจะเป็นจำเลย
พยานไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย ไม่ได้รู้จักกับจำเลยเป็นการส่วนตัว แต่เนื่องจากพยานอยู่ฝ่ายความมั่นคง จึงมีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับนักกิจกรรมทางการเมือง และสายน้ำก็อยู่ในฐานข้อมูลดังกล่าว
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ เบิกความโดยสรุปว่า ตนเรียนจบจากโรงเรียนตำรวจ และเรียนจบด้านกฎหมายกับรัฐประศาสนศาสตร์ พยานทราบว่าการชุมนุมและการเสนอแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่การชุมนุมดังกล่าวจะต้องไม่ผิดกฎหมาย
เนื่องจากพยานเป็นข้าราชการและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานจึงไม่สามารถเห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ได้ ในส่วนของคำว่า “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” กับ “CANCEL LAW 112” ไม่ได้เป็นคำที่ผิดกฎหมาย แต่ต้องพิจารณาจากบริบท พยานรับว่า หากดูจากหลักฐานรูปภาพ คำว่า “CANCEL LAW 112” นั้นแปะอยู่บนรูปก่อนหน้านั้นแล้ว
ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยถามว่า การที่พยานเห็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 ถูกขีดเขียน พยานมีความรู้สึกอย่างไร และทำให้ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ลดน้อยลงหรือไม่ พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ เบิกความว่า รู้สึกเป็นการกระทำที่ไม่สมควรและไม่ขอตอบคำถามดังกล่าว
ทั้งนี้ พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ ไม่ได้เป็นผู้รวบรวมรูปจากเพจ “ปราชญ์ สามสี” ไม่ได้ส่งรูปไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นภาพที่ถูกตัดต่อขึ้นหรือไม่ และเบิกความว่า ไม่มีรูปภาพเหตุการณ์ที่เห็นใบหน้าของจำเลยขณะกระทำความผิดตามฟ้อง แต่อาศัยพยานหลักฐานอื่นประกอบ
พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ เบิกความรับว่า พระบรมฉายาลักษณ์ตั้งอยู่ด้านนอกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก มีความเป็นไปได้ที่ผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นอาจจะเข้าไปใช้กระดาษติดทับหรือใช้สีสเปรย์พ่น หรือวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ทั้งในวันเกิดเหตุมีผู้ร่วมชุมนุมและการ์ด สวมใส่เสื้อเกราะอ่อน ใส่หมวกกันน็อค และสะพายกระเป๋าหลายคน ซึ่งเสื้อเกราะอ่อน หมวกกันน็อค และกระเป๋าสะพายเป็นสินค้าที่สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาด ทั้งนี้ ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยยังคงรูปเดิม ไม่ได้รับความเสียหาย มีเพียงขอบผ้าประดับที่ได้รับการเผาไหม้บางส่วน
พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ ไม่ทราบว่า กิจกรรมส่วนมากที่จำเลยทำเป็นการเรียกร้องวัคซีน เช่น ไปขอวัคซีน จากองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฉีดให้นักเรียน เพื่อให้กลับไปเรียนหนังสือต่อได้
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54866) -
วันที่: 01-09-2022นัด: สืบพยานโจทก์++อธิบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร-กองงานบริหารบุคคล เข้าแจ้งความกรณีทรัพย์สินเสียหาย ตีมูลค่า 3,000 บาท
มธุรส เวียงสีมา คณบดีคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ผู้เป็นตัวแทนแจ้งความ กรณีทรัพย์สินมหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ แต่เจ้าหน้าที่ รปภ. ของมหาวิทยาลัยได้ไลน์มาแจ้งให้พยานทราบว่า พบพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ถูกเผา ความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้แก่ พานพุ่ม ผ้าประดับ และธง หายไป พยานไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดดังกล่าว แต่ได้แจ้งทางมหาวิทยาลัยแล้วไปแจ้งความดำเนินคดีต่อที่ สน.นางเลิ้ง
พยานไม่รู้จักจำเลยมาก่อน แต่ทราบว่า “สายน้ำ” เป็นผู้กระทำผิด เพราะมีการแชร์ข้อมูลข่าวสารในกลุ่มไลน์ พยานได้ไปให้การกับทางพนักงานสอบสวนในวันที่ 20 ก.ค. 2564 หลังเกิดเหตุในคดีนี้ โดยเห็นว่าข้อความดังกล่าวมีคำไม่สุภาพ เป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม ไม่เหมาะสม และข้อความ “CANCEL LAW 112” หมายถึงน่าจะเจตนาต่อต้านกฎหมาย 112
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของมหาวิทยาลัย และทางมหาวิทยาลัยได้ให้พยานไปเป็นตัวแทนเพื่อแจ้งความ เฉพาะข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย 112
มธุรสเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ แต่ในระหว่างนั้นพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่า ผ้าประดับที่ติดเพลิงไหม้จะมีคนมาดับเพลิงหรือไม่ ในส่วนของพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทางมหาวิทยาลัยเก็บเอาไว้ ไม่ได้ใช้ ส่วนผ้าประดับได้ส่งมอบเป็นของกลาง
ด้าน วุฒิชัย ศรีรางวัล กองบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เบิกความว่า ตนเป็นผู้รับมอบอำนาจจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยให้มาดำเนินการแจ้งความผู้กระทำผิด ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีการฉีดพ่นคำหยาบ รวมทั้งผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ และพานพุ่มถูกเผาไหม้ ได้รับความเสียหาย พยานเลยเข้าแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง โดยค่าเสียหายคิดเป็นเงินประมาณ 3,000 บาท
ก่อนหน้านี้ ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ได้ส่งหนังสือมาทางมหาวิทยาลัยว่า มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในวิทยาเขต ทางอธิการบดีจึงได้มอบหมายให้พยานไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และรวบรวมรูปภาพความเสียหายของคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น
พยานไม่เคยรู้จัก หรือมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย เหตุที่ทราบว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด เพราะพนักงานสอบสวนเป็นคนบอกให้พยานทราบ
วุฒิชัยตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้านว่า จากภาพหลักฐานพยานพบว่า ผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์มีเพียงรอยไหม้บางส่วน และพระบรมฉายาลักษณ์ก็ไม่ได้ถูกเผาไหม้ แต่คณะสิ่งทอเป็นผู้เก็บรักษา พยานไม่ทราบว่าอะซิโตนหรือน้ำยาล้างเล็บจะสามารถล้างสเปรย์ได้
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54866) -
วันที่: 02-09-2022นัด: สืบพยานโจทก์++ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ระบุตรวจไม่พบคราบน้ำมัน-วัตถุไวไฟบนเนื้อผ้า
ร.ต.ท.หญิงณัฐชยา สิงหมารศรี เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ สังกัดกองพิสูจน์หลักฐานกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความว่า ตนจบการศึกษาปริญญาโท คณะนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีหน้าที่เป็นผู้เก็บหลักฐานในวันเกิดเหตุในคดีนี้
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 พยานได้รับรายงานจากตำรวจ สน.นางเลิ้ง ว่าประมาณช่วงเย็น มีการชุมนุมในบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พร้อมกับมีการพ่นสีเสปรย์บนรูปภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 และมีรอยเผาไหม้ตรงเนื้อผ้าประดับ
พยานได้ไปเก็บหลักฐานหลังการชุมนุมเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง โดยพยานกับพวกรวม 6 คนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ถ่ายรูปและเก็บพยานวัตถุเอาไว้ พยานพบว่ารูปภาพถูกพ่นสีสเปรย์ และถูกติดสติกเกอร์ “CANCEL LAW 112” จึงได้รวบรวมไว้เป็นหลักฐาน
ร.ต.ท.หญิงณัฐชยา ตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้านโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุ ตนไม่ได้เป็นคนเก็บหลักฐานผ้าประดับที่มีรอยไหม้ดังกล่าว แต่เป็นพนักงานสอบสวนเก็บไป ทั้งนี้ พยานได้แนะนำวิธีการเก็บพิสูจน์หลักฐานแก่พนักงานสอบสวนไปด้วย
พยานรับว่าในระหว่างการชุมนุมวันนั้น พบว่ามีการพ่นสีสเปรย์หลายแห่งและหลายสี แต่พยานไม่ได้อยู่ในระหว่างการชุมนุมและในสถานที่เกิดเหตุ จึงไม่ทราบว่ามีผู้ร่วมกระทำหลายคนหรือไม่
ร.ต.อ.ธีรวัฒน์ อึ้งสิทธิพูนพร เจ้าหน้าที่พิสูจน์วัตถุพยาน จากกองพิสูจน์หลักฐานกลางเช่นกัน เบิกความว่า ตนเป็นผู้ตรวจสอบเนื้อผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ในคดีนี้ แล้วพบว่า ไม่มีเชื้อเพลิงเผาไหม้หรือสารวัตถุไวไฟ แต่จากการตรวจสอบทางกายภาพแล้ว พบว่าเนื้อผ้ามีการเผาไหม้ มีรอยดำ เขม่าควัน กลิ่นไหม้ และการหดตัวของเนื้อผ้าดังกล่าว นอกจากนี้เนื้อผ้ามีคุณสมบัติติดไฟหมด และมีอัตราการเผาไหม้ใกล้เคียงกัน แต่สภาพหลังถูกเผานั้นแตกต่างกัน
ร.ต.อ.ธีรวัฒน์ เบิกความอีกว่า ตนได้รับผ้าประดับมาจากพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นหลักฐานที่กองพิสูจน์หลักฐานเก็บมา แล้วส่งให้พนักงานสอบสวน ก่อนส่งมาให้พยานตรวจอีกที
สาเหตุที่พยานไม่สามารถตรวจพบเชื้อเพลิงเผาไหม้ได้ อาจเกิดจากน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงนั้นระเหยขึ้นไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่พบร่องรอยน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟ
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายถามค้าน ร.ต.อ.ธีรวัฒน์ เบิกความว่า ตนได้รับหนังสือจากพนักงานสอบสวนให้ช่วยตรวจสอบผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งตามปกติแล้ว หากเป็นการเผาไหม้จากเหตุไฟฟ้าลัดวงจร หน่วยเก็บหลักฐานจะตัองส่งสายไฟมาให้ตรวจสอบด้วย แต่คดีนี้ ไม่ได้มีการส่งมาให้ตรวจสอบแต่อย่างใด
ทั้งนี้ พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า เนื้อผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวเป็นเนื้อผ้าประเภทใด เนื่องจากพนักงานสอบสวน ไม่ได้ขอให้พยานตรวจสอบ แต่หากให้พยานตรวจสอบก็สามารถทราบได้ อย่างไรก็ตาม พยานไม่ขอยืนยันว่า การเผาไหม้ผ้าประดับดังกล่าวอาจจะเกิดจากการที่ไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่ แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว สามารถเกิดการเผาไหม้ได้ หากมีความร้อนมากพอ
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54866)
-
วันที่: 14-09-2022นัด: สืบพยานโจทก์++พยานความเห็น 3 ปาก เห็นร่วมกันว่าถ้อยคำไม่เป็นความผิด แต่ไม่ควรไปขีดเขียนบนพระบรมฉายาลักษณ์ ถือเป็นการหมิ่นเกียรติ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย
พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญ สังกัดกองทัพเรือ เบิกความว่า เคยรับราชการที่หอสมุดแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ในกองทัพเรือ มีหน้าที่อบรมศีลธรรมในกองทัพเรือ ปัจจุบันเกษียณแล้ว
พยานทราบว่า เมื่อปี 2563-2564 มีกลุ่มนักศึกษาออกมาเรียกร้องการปฎิรูปสถาบันฯ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และยกเลิกมาตรา 112 ทั้งนี้ พล.ร.ต.ทองย้อย ทราบว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองกษัตริย์ ซึ่งพยานไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก 112 เนื่องจากในฐานะประชาชนคนทั่วไปไม่ได้รับผลกระทบอะไร และสุจริตชนก็ไม่เดือดร้อนกับมาตรา 112
เกี่ยวกับคดีนี้ พยานถูกเรียกมาเป็นพยานความเห็นที่ สน.นางเลิ้ง โดยพนักงานสอบสวนได้ให้ดูภาพหลักฐาน ซึ่งเป็นภาพที่มีการพ่นสีสเปรย์คำหยาบคาย และติดข้อความ “CANCEL LAW 112” “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา”
พล.ร.ต.ทองย้อย ให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนไปว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นที่สักการะเทิดทูนของประชาชนทั่วไป ดังนั้นแล้วรูปภาพของในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงไม่ควรจะนำสิ่งใดไปขีดเขียน การกระทำดังกล่าวถือเป็นการดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม ไม่สมควรกระทำ
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความโดยสรุปว่า แม้จะเห็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 ถูกพ่นสเปรย์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และติดข้อความ “CANCEL LAW 112” แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความจงรักภักดีของพยานลดน้อยลง
พยานเคยไปให้การในชั้นตำรวจมาแล้ว 6-7 คดี แต่ไม่เคยแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินคดีกับใครมาก่อน
เกี่ยวกับผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ พยานเบิกความว่า ผ้าประดับก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ผู้ใดที่กระทำการเผาผ้าดังกล่าว มีความตั้งใจจะทำให้รูปในหลวงรัชกาลที่ 10 ถูกเผาไหม้ไปด้วย พยานเห็นว่ามีเจตนาไม่สุจริต
ต่อมา พล.ร.ต.ทองย้อย ตอบอัยการโจทก์ถามติงว่า แม้ความจงรักภักดีของพยานจะไม่ลดน้อยลง แต่การกระทำของจำเลยล้วนส่งเจตนาให้ผู้คนคล้อยตาม ให้มองว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นคนไม่ดี โดยส่วนตัวพยานเป็นคนรุ่นเก่า มีสถาบันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะถูกชักจูงได้ง่าย
ทั้งนี้ ประโยค “CANCEL LAW 112” และอื่นๆ สามารถพูดได้ แต่สำหรับภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พยานเห็นว่าไม่ควรจะมีอะไรมาขีดเขียนบนภาพ เพราะเป็นการไม่สมควร ถือเป็นการหมิ่นพระเกียรติ คำเหล่านี้หากไปเขียนที่อื่นย่อมไม่เป็นไร
ด้านว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ทนายความของกลุ่มไทยภักดี เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้พยานถูกพนักงานสอบสวนเชิญมาให้ความเห็น
เมื่อช่วงเวลาประมาณเดือน ก.ค 2564 พยานได้ติดตามข่าวสารภายในกลุ่มเครือข่ายของพยาน ก่อนทราบว่ามีการกระทำอันไม่บังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยดูจากพฤติการณ์ทั้งหมดของจำเลย พยานเห็นว่า เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีการพ่นคำไม่สุภาพบนพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเห็นแล้วนำไปเลียนแบบได้
นอกจากนี้พยานยังเห็นว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ สื่อว่า จำเลยต้องการจะทำร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่เนื่องจากกระทำต่อพระองค์โดยตรงไม่ได้ จึงต้องกระทำผ่านรูปภาพแทน
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความตอบว่า เป็นทนายความมา 20 ปี ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญกับศาลยุติธรรม พยานไม่เคยทำงานศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112
พยานรับว่า มักติดตามข่าวสารในกลุ่มเครือข่ายซึ่งมีแนวคิดในลักษณะเดียวกัน โดยตนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจุดมุ่งหมายปกป้องสถาบันกษัตริย์ ไม่ให้มีการยกเลิกมาตรา 112 พยานเบิกความอีกว่าคนทั่วไปยังมีกฎหมายฟ้องหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ก็ต้องมีกฎหมายคุ้มครองเช่นกัน
พยานเคยไปให้การเป็นพยานในคดีมาตรา 112 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 คดี และยังทำหน้าที่เป็นทนายความของกลุ่มไทยภักดี โดยเคยไปเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับอีกหลายคน
เกี่ยวกับถ้อยความทั้งหมด พยานมองว่าเป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย แม้ลำพังตัวข้อความจะไม่เป็นความผิดบุคคลทั่วไปไม่สามารถพูดได้ แต่การนำข้อความเหล่านี้ไปแปะบนพระบรมฉายาลักษณ์ ถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ไม่สมควรที่จะมีสิ่งใดบนพระบรมฉายาลักษณ์
ที่ปรึกษากฎหมายถามค้านต่ออีกว่า หากนำสติกเกอร์ ‘เรารักในหลวง’ หรือแปะหัวใจบนพระบรมฉายาลักษณ์จะถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ พยานตอบว่า ผิด ยืนยันว่าไม่สมควรที่จะนำอะไรไปแปะบนพระบรมฉายาลักษณ์ นอกจากนี้คำถามดังกล่าวเป็นเพียงเหตุการณ์สมมติ
พยานยืนยันว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า จำเลยอาฆาตมาดร้าย ไม่พอใจต่อบุคคล จึงเลือกไปกระทำต่อตัวรูปภาพ ทั้งนี้ พยานรับว่าเมื่อเห็นภาพดังกล่าวแล้ว ไม่ได้ทำให้ความจงรักภักดีของพยานลดน้อยลงแต่อย่างใด แต่สำหรับเยาวชนคนอื่นเมื่อเห็นแล้ว อาจสามารถนำไปเลียนแบบได้
พยานความเห็นอีกปาก คือ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เบิกความว่า พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และสำหรับพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ผู้ใดจะกระทำการไม่บังควรบนพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ได้
ณฐพรเห็นว่า การกระทำของจำเลยในคดีนี้ เป็นการหมิ่นพระเกียรติ ทำให้เสื่อมค่า ด้อยค่า เจตนาจะล้มล้างสถาบันฯ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ การเผาผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ส่อเจตนาที่ต้องการจะเผาพระบรมฉายาลักษณ์
ส่วนที่พยานถูกเรียกมาเป็นพยานในคดีนี้ เพราะว่าเคยไปเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยผู้เคลื่อนไหวล้มล้างการปกครองฯ มาก่อน พนักงานสอบสวนจึงเห็นว่าพยานมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง จึงเรียกมาเป็นพยาน
ณฐพรตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้านว่า เดิมเป็นนักกฎหมาย และเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานในรัฐวิสหากิจและเอกชนหลายแห่ง รวมถึงเคยเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ
พยานติดตามการเมืองมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน พยานทราบว่า การชุมนุมในปี 2563-2564 มีข้อเรียกร้องในการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยานเห็นว่าการออกมาเรียกร้องขับไล่นายกฯ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่ไปลิดรอนสิทธิของผู้อื่น
เกี่ยวกับคดีนี้ พยานทราบว่าผู้กระทำผิดคือสายน้ำ เนื่องจากพยานเคยได้ส่งหนังสือขอข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งพยานเองก็มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “เครือข่ายล้มล้างการปกครอง” ด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลดังกล่าวมีทั้งรูป ชื่อ และพฤติการณ์ของกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายดังกล่าว
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54866) -
วันที่: 15-09-2022นัด: สืบพยานโจทก์++สมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ทุกปากเบิกความเห็น “สายน้ำ” กระทำผิดจากไลฟ์สด จึงรวมตัวร่วมให้การ
อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ แกนนำกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน เบิกความว่าตนจบการศึกษาระดับชั้น ปวส. ช่างกลปทุมวัน ในวันเกิดเหตุ พยานติดตามข่าวสารไลฟ์สดในเฟซบุ๊กเพจ “คณะราษฎร” พยานพบว่า มีการชุมนุมเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกและปฎิรูปสถาบันฯ
พยานดูไลฟ์สดประมาณบ่ายโมงที่บ้านของตน พบว่าการชุมนุมดังกล่าวมีการกระจุกตัว จนกลายเป็นสถานที่แออัด และยังพบเห็นว่ามีผู้กระทำผิด รูปพรรณสันฐานคล้าย “สายน้ำ” สวมชุดดำและเครื่องปกปิดใบหน้า กำลังกระทำการเผาพระบรมฉายาลักษณ์และพ่นสีสเปรย์ สาเหตุที่พยานจำได้ว่าเป็น “สายน้ำ” เพราะว่าพยานเคยเห็นสายน้ำในกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์บนถนนสีลม
อัครวุธมองว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามมาตรา 112 ผู้กระทำผิดได้ขีดฆ่าคำว่า “ทรงพระเจริญ” บนฐานที่ตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งหมายถึงไม่ต้องการให้มีคำนี้อยู่ และการพ่นคำไม่สุภาพถือเป็นการดูหมิ่น ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมความเคารพ รวมถึงการแปะคำว่า “CANCEL LAW 112” ก็มีเจตนาล้มล้างสถาบันฯ
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน อัครวุธเบิกความตอบว่า ตนเป็นกรรมการกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน มีหน้าที่ปกป้องสถาบันและทำงานจิตอาสา
พยานรับว่า ตนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ เพียงแต่ดูเหตุการณ์ในไลฟ์สดเท่านั้น พร้อมกับมีเพื่อนของพยานนั่งดูอยู่ด้วยกันหลายคน ก่อนที่ตนจะถูกว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ทนายความของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เรียกไปให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 15 ก.ย. 2564 โดยมีทนายความอยู่ด้วย
ที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นเอกสารรายงานข่าวของมติชนที่ระบุว่า กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ทำร้ายผู้ชุมนุมที่มีความคิดปฎิรูปสถาบันฯ ทำร้ายสื่ออิสระ และทำร้ายนักศึกษา ให้พยานดู แล้วถามว่าเป็นกลุ่มของพยานใช่หรือไม่ อัครวุธตอบว่า ทราบว่ามีข่าวดังกล่าว แต่นั่นไม่ใช่กลุ่มของตน และพยานไม่ได้ร้องเรียนต่อสำนักข่าวดังกล่าวว่า เป็นการรายงานข่าวที่ผิดพลาด เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่
อัครวุธรับว่า เคยมีการกล่าวพาดพิงถึงจำเลยและพ่อของจำเลยในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเป็นผู้ต้องหา ซึ่งอาจจะทำให้จำเลยเสียหายได้ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด และจำเลยยังไม่ได้รับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ทั้งนี้อัครวุธรับว่า ตนเคยเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเกี่ยวกับการชุมนุมมาก่อนเช่นกัน
ในประเด็นเกี่ยวกับถ้อยคำ อัครวุธเบิกความเห็นว่า ถ้อยคำ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” และ “CANCEL LAW112” ดังกล่าวไม่เป็นความผิด สามารถพูดได้ทั่วไป แต่ไม่สมควรที่จะไปขีดเขียนบนพระบรมฉายาลักษณ์
ที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามว่า หากพ่นสีสเปรย์คำว่า “เรารักในหลวง” หรือ “ทรงพระเจริญ” บนพระบรมฉายาลักษณ์ จะผิดมาตรา 112 หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่สมควรที่จะไปทำอะไรกับพระบรมฉายาลักษณ์ แต่การกระทำจะเข้าข่ายผิดมาตรา 112 หรือไม่ ต้องอาศัยการตีความ
พยานรับว่า ไม่ได้แคปภาพถ่ายจากไลฟ์สดขณะที่อ้างว่าจำเลยกำลังกระทำผิดไว้ เนื่องจากไม่ได้คิดว่าตนจะถูกเรียกมาเป็นพยานในคดีนี้ ทั้งนี้พยานไม่ได้ให้การเรื่องเห็นเหตุการณ์การชุมนุม เพราะว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ถาม ถามแต่เรื่องความเห็นเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่
พยานรับว่าหากพิจารณาการพ่นสีสเปรย์บนพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว ไม่ได้ทำให้ความจงรักภักดีของพยานลดน้อยลง แต่หากคนที่ไม่รู้ เช่น ชาวต่างชาติ อาจทำให้พระมหากษัตริย์ไทยถูกมองว่าไม่ดี
เอกสิทธิ์ จันทร์เทพ สมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันอีกราย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 พยานนั่งดูไลฟ์สดกับแฟนผ่านช่องยูทูบ ซึ่งกลุ่มที่มาชุมนุมกันดังกล่าวมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ด้วย
พยานได้ดูไลฟ์สดผ่านมือถือในช่วงเวลาบ่าย พบว่าบุคคลที่น่าจะเป็นจำเลยในคดีนี้ยืนหันหลัง และกำลังพ่นสีสเปรย์บนพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมกับเตรียมจุดไฟเผา การกระทำดังกล่าว พยานเห็นว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายเชิงสัญลักษณ์ การกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์เท่ากับเป็นการกระทำต่อตัวบุคคล การกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำร้ายจิตใจประชาชนชาวไทย ก่อนที่พยานจะไปให้การกับพนักงานสอบสวน
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน เอกสิทธิ์เบิกความตอบว่า ในระหว่างที่นั่งดูไลฟ์สดอยู่ ตนได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ในกลุ่มไลน์ซึ่งมีอุดมการณ์เดียวกัน พยานได้ไปให้การด้วยตัวเอง ไม่ได้ถูกชักชวนหรือยั่วยุแต่อย่างใด
พยานรับว่า ในที่เกิดเหตุมีบุคคลหลายคนที่ใส่เสื้อสีดำและสวมหน้ากากอนามัย มีลักษณะเช่นเดียวกับผู้กระทำผิด พยานไม่ได้อยู่ที่เกิดเหตุ รวมถึงพยานไม่เคยเห็นตัว “สายน้ำ” จริงๆ หรือพบเจอตัวจริง แต่ในทางกลุ่มไลน์ที่เป็นเครือข่ายของพยานชี้ว่าเป็น “สายน้ำ”
ทั้งนี้เอกสิทธิ์เบิกความว่า เมื่อพบเห็นการกระทำดังกล่าวแล้ว ไม่ได้ทำให้ความจงรักภักดีน้อยลง แต่กระทบต่อความรู้สึกพยาน
เอกสิทธิ์รับว่าได้ถูกพนักงานสอบสวนเรียกไปให้การ โดยตนกับเพื่อนได้ให้การในลักษณะเดียวกัน โดยให้การอยู่ในห้องเดียวกันและเนื้อหาคล้ายกัน
ด้านสิทธิเดช หมัดโซ๊ะ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุพยานได้ดูไลฟ์สดทางเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการชุมนุม พบเห็นผู้กระทำความผิดเอากระดาษไปแปะ พ่นสี และเผารูป พยานจำรูปพรรณสัณฐานของสายน้ำได้ เนื่องจากสายน้ำเป็นนักกิจกรรมที่เห็นหน้าเห็นตาบ่อย และในระหว่างที่กำลังกระทำ ผู้กระทำได้เปิดหน้ากากอนามัยบางส่วน เผยให้เห็นใบหน้า
เนื่องจากพยานเป็นคนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน การกระทำของจำเลยในความเห็นของพยานจึงถือว่า หมิ่นเกียรติ ดูหมิ่น สถาบันพระมหากษัตริย์ มีเจตนายกเลิก 112 พร้อมกับทำให้องค์พระมหากษัตริย์เสื่อมพระเกียรติ
พยานรู้สึกรับไม่ได้กับการกระทำของจำเลย จึงรวมตัวกันไปที่บ้านของอัครวุธและนั่งดูไลฟ์สดด้วยกัน หลังจากนั้นก็ประชุมปรึกษากันว่าจะไปให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 15 ก.ย. 2564 พร้อมกับเพื่อนๆ ของพยานอีกจำนวนหนึ่ง
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความตอบว่า ไม่ได้ไปที่เกิดเหตุ เพียงแต่ดูเหตุการณ์ผ่านไลฟ์สด โดยร้บว่าในที่เกิดเหตุมีการพ่นสีสเปรย์หลายจุด รวมถึงมีผู้ร่วมชุมนุมหลายคนก็แต่งกายชุดดำ
สิทธิเดชรับว่าวันที่ไปให้การกับตำรวจนั้น มีเนื้อหาแค่ในเรื่องความคิดเห็น ไม่ได้ให้การเรื่องพบเห็นจำเลยในวันเกิดเหตุ เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบถามพยานในประเด็นดังกล่าว ทั้งพยานได้ให้การในลักษณะเดียวกันกับพยานคนอื่นๆ ที่นั่งอยู่ในห้องสอบสวนเดียวกัน
นอกจากนี้ในวันให้การ เพื่อนของพยานได้ส่งมอบภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่คาดว่าเป็นจำเลยให้กับพนักงานสอบสวน พร้อมกับลงลายมือชื่อเอาไว้ แต่ทั้งนี้พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนมอบภาพให้ เพราะพยานมีเพื่อนหลายคน
ในส่วนของถ้อยคำ พยานเห็นว่า คำว่า “CANCEL LAW112” และ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” สามารถพูดได้ ไม่เป็นความผิด ส่วนหากมีกรณีที่มีการพ่นสีสเปรย์คำว่า ‘ทรงพระเจริญ’ และ ‘เรารักในหลวง’ ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ พยานคิดว่า คำเหล่านี้เป็นคำที่ดี ย่อมไม่ผิดมาตรา 112
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54866)
-
วันที่: 16-09-2022นัด: สืบพยานโจทก์++คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง แม้กล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุเสียหาย ระบุตัวผู้กระทำผิดไม่ได้
พ.ต.ท.โสธร สำเนียง รองผู้กำกับสอบสวน สน.นางเลิ้ง เป็นหนึ่งในคณะทำงานสอบสวนคดีนี้ เบิกความว่า หลังยุติการชุมนุมในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 20.00 น. พยานได้ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมกับหน่วยเก็บหลักฐาน พยานพบเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ถูกขีดเขียน และผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ถูกเผาไหม้
เกี่ยวกับขั้นตอนการเก็บหลักฐาน พยานได้รับมอบของกลางจากเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ก่อนที่จะส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง จากการตรวจสอบผ้าประดับ ไม่พบเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟแต่อย่างใด
หลังพยานได้รับหลักฐานจากพนักงานสืบสวนที่เป็นผู้กล่าวหาแล้ว พยานได้ร้องขอออกหมายจับจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลย 4 ข้อกล่าวหา โดยจำเลยได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.โสธร เบิกความตอบโดยสรุปว่า ตนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุระหว่างการชุมนุม หลังจากทราบว่ามีการชุมนุม ทาง สน.นางเลิ้ง ได้จัดเตรียมกำลังเพื่อรับมือการชุมนุมดังกล่าว
เกี่ยวกับข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ต.ท.โสธรเบิกความโดยสรุปว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่เปิดโล่งกว้าง ไม่แออัด มีผู้ชุมนุมมากกว่า 80 คน พยานรับว่า การสวมหน้ากากอนามัยสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้ แต่ไม่ได้ป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยทางตำรวจก็ไม่ได้แจ้งกระทรวงสาธารณสุขให้มาคัดกรองหรือตรวจสอบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดหรือไม่
เกี่ยวกับตัวผู้กระทำผิด พยานได้รับหลักฐานจากพนักงานสอบสวนว่า ในรายงานการสืบสวนไม่ปรากฏคลิปวิดีโอขณะจำเลยกระทำผิด พยานไม่ได้ขอภาพกล้องวงจรปิดในบริเวณสถานที่เกิดเหตุมาตรวจสอบ รวมถึงไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และข้อมูลส่วนบุคคลของเพจ “ปราชญ์ สามสี” พยานรับว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีผู้ชุมนุมหลายคน เดินผ่านไปผ่านมา
ที่ปรึกษากฎหมายถามค้านต่อว่า หากแปะคำว่า “รัก” หรือ “ทรงพระเจริญ” บนพระบรมฉายาลักษณ์จะเป็นความผิดหรือไม่ พยานตอบว่า เป็นความผิด เมื่อถามต่อว่าเป็นการกระทำมิบังควรเฉยๆ หรือผิดมาตรา 112 พยานตอบว่า ในกรณีนี้ตนมีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้ว
เกี่ยวกับผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกไฟไหม้ พยานไม่ทราบว่าไฟดับเองหรือมีผู้มาดับไฟ อาจเป็นไปได้ทั้งสองทาง ทั้งนี้พยานไม่แน่ใจว่าได้ส่งตรวจลายนิ้วมือ หรือ DNA บนผ้าประดับ และตรวจสอบเปรียบเทียบลายนิ้วมือของผู้กระทำความผิด แต่ในรายงานสืบสวนไม่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว
พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย อดีตพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เบิกความว่าตนได้รับการแต่งตั้งร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ โดยพยานได้ลงไปยังพื้นที่เกิดเหตุหลังการชุมนุมยุติลงแล้ว ระหว่างการชุมนุมมีพฤติการณ์วุ่นวายไม่เรียบร้อย และเป็นการชุมนุมที่แออัด ประชาชนบางส่วนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ในการสืบสวนจากภาพของเฟซบุ๊กเพจชื่อ “ปราชญ์ สามสี” พบว่า “สายน้ำ” จำเลยในคดีนี้ กำลังอยู่ในลักษณะที่จะพ่นสีสเปรย์ตามข้อกล่าวหา
พ.ต.ท.อธิชย์ ได้เป็นผู้ส่งวัตถุพยานไปตรวจสอบ พบว่ามีลายนิ้วมืออยู่บนหลักฐาน แต่พยานไม่ได้นำไปตรวจสอบเปรียบเทียบลายนิ้วมือ จึงยังไม่ทราบตัวผู้กระทำผิดชัดเจน พยานได้สอบคำให้การพยานความคิดเห็นจากหลากหลายวิชาชีพ และได้ทำการสอบสวนจำเลย โดยจำเลยให้การปฎิเสธ
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.อธิชย์ เบิกความรับว่า เกี่ยวกับคดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานพบเห็นเหตุการณ์ รูปที่นำมากล่าวหาจำเลยนั้น พยานนำมาจากเพจ “ปราชญ์ สามสี” ซึ่งพยานไม่เคยออกหมายเรียกผู้ดูแลเพจมาสอบสวนว่า รูปดังกล่าวถ่ายได้จากที่ไหน อย่างไร และใครเป็นผู้ถ่าย
ทั้งนี้ สาเหตุที่พยานไม่มีภาพขณะเกิดเหตุจากที่อื่นๆ เนื่องจากกล้องวงจรปิดในบริเวณนั้นถูกทำให้เสียหาย ถูกปัดมุมกล้อง ทำให้ไม่สามารถบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ได้ และแม้พยานได้ส่งวัตถุพยานไปตรวจสอบ แต่ทางกองพิสูจน์หลักฐานไม่ได้ส่งผลตรวจมาให้ว่าลายนิ้วมือที่ปรากฏดังกล่าวเป็นของผู้ใด
ในเรื่องประเด็นการชุมนุม จากการสืบสวนสายน้ำไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม แต่การจัดการชุมนุมให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 นั้นเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้จัดกิจกรรม และพยานยังรับว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมขณะเกิดเหตุหลายคนสวมใส่หน้ากากอนามัย และกิจกรรมอยู่ในสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก
พ.ต.อ.ภูมิยศ เหล็กกล้า รองผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในขณะเกิดเหตุพยานเป็นพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง และเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้อยู่ในสถานที่ดังกล่าว แต่พยานได้รับรายงานจากฝ่ายสืบสวนว่ามีผู้กระทำผิดคือสายน้ำ ส่วนตัวพยานมีหน้าที่สอบปากคำพยานที่เรียกมาให้การเพิ่มเติม
พยานได้สอบปากคำพยานจากหลายกลุ่มสาขาวิชาชีพ โดยมีประชาชนทั่วไป ทนายความ นักภาษาศาสตร์ และพนักงานสืบสวน
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน พ.ต.อ.ภูมิยศ เบิกความตอบว่า หลักเกณฑ์ในการเลือกพยานมาสอบคำให้การ พยานเลือกจากผู้ประกอบอาชีพที่หลากหลายและเป็นประชาชนพลเมืองไทย ไม่ได้เลือกจากบุคคลที่มีแนวคิดปกป้องสถาบันฯ เป็นหลักแต่อย่างใด
พ.ต.อ.ภูมิยศ ไม่ทราบว่า พยานที่เรียกมาแต่ละบุคคลจะมีความคิดเห็นอย่างไร หรือแนวคิดทางการเมืองเป็นอย่างไร พยานยืนยันว่า ไม่ได้เรียกบุคคลที่มีแนวคิดปกป้องสถาบันฯ มาสอบคำให้การเพื่อปรักปรำจำเลย อย่างไรก็ตาม พยานไม่ได้เรียกบุคคลที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง อย่างเช่น “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” มาสอบปากคำ เนื่องจากวันที่มาให้การ จำเลยให้การปฎิเสธและไม่ได้ร้องขอให้สอบคำให้การพยานคนใด
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ภูมิยศ รับว่าตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การสืบสวนสอบสวนพยาน จะต้องทำแยกห้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการชักจูงหรือพูดกันเป็นหมู่คณะ
++“นักร้อง” ศรีสุวรรณ จรรยา เข้าแจ้งความสายน้ำ เบิกความว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการและอุปนายกขององค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผู้ร่วมกล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ตนมาแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 เนื่องจากพบเห็นการกระทำผิดของจำเลยตามสื่อโซเชียลมีเดีย พบว่า มีการพ่นสีเป็นคำหยาบคายและเผาพระบรมฉายาลักษณ์
พยานเห็นว่า พฤติการณ์การชุมนุมของจำเลยนั้น เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเกิดขึ้นระหว่างมีโรคระบาด และการชุมนุมก็ไม่ได้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย พยานได้สืบข่าวจากโซเชียลมีเดีย และพบว่า ชายผู้กระทำผิดรูปพรรณคล้ายสายน้ำ รวมถึงในสื่อโซเชียลมีเดียได้ยืนยันว่า ผู้กระทำผิดดังกล่าวคือสายน้ำ เมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม จึงได้มาแจ้งความดำเนินคดีนี้
ช่วงที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน ศรีสุวรรณเบิกความตอบว่า หน้าที่ขององค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ คือปกป้องรัฐธรรมนูญ หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะมาตราไหน พยานก็จะติดตาม รวมไปถึงตรวจสอบการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติทุกระดับให้เกิดความเป็นกลาง บริสุทธิ์ ยุติธรรม เสมอภาค ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
สมาชิกกลุ่มของพยานมีจำนวนประมาณ 10 คน เรื่องการดำเนินการแจ้งคดี 112 กับสายน้ำ พยานได้ดำเนินการในฐานะองค์กร แต่ไม่ได้มีการปรึกษาหรือนำเรื่องเข้าวาระการประชุมกับคนอื่นๆ เนื่องจากแต่ละคนมีอำนาจตัดสินใจ สามารถดำเนินการเองได้ แต่จะมีผลผูกพันกับคนทั้งองค์กร ทั้งนี้ องค์กรของพยานไม่ได้รับเงินบริจาค แต่เป็นการใช้เงินส่วนตัวออกเอง
พยานไม่รู้จักจำเลยเป็นการส่วนตัว ไม่ทราบว่าจำเลยเคลื่อนไหวในการเรียกร้องวัคซีน ในส่วนของการเรียกร้องการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพนั้น พยานเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ชอบธรรม แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการชุมนุม
ศรีสุวรรณเบิกความว่า ตนเคยไปฟ้องมาตรา 112 กับบุคคลหลายราย ในขณะเดียวกันก็เคยถูกร้องเรียนว่า กล่าวหาเท็จทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย แต่คดีก็ยังไม่ถึงที่สุดเช่นกัน
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54866) -
วันที่: 23-12-2022นัด: สืบพยานจำเลย++“สายน้ำ” รับว่าไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกเพื่อเรียกร้องวัคซีน แต่ไม่ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหา
“สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชนอายุ 19 ปี ซึ่งถูกตำรวจ สน.ยานนาวา แจ้งระงับการออกพาสปอร์ต ส่งผลให้ไม่สามารถศึกษาต่อต่างประเทศได้
เกี่ยวกับคดีนี้ ในวันเกิดเหตุสายน้ำเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก ไม่รู้ว่าใครเป็นแกนนำและใครเป็นแอดมินของเพจเยาวชนปลดแอก ซึ่งโพสต์เชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมวันที่ 18 ก.ค. 2564
สายน้ำเบิกความว่า จำเลยตระหนักว่าขณะนั้นมีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด จำเลยจึงได้ป้องกันตัวเองโดยการสวมหน้ากากอนามัย ในที่ชุมนุมก็มีมาตรการป้องกันโรค มีซุ้มพ่นแอลกอฮอล์ มีคนคอยบีบเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัย และบอกให้เว้นระยะห่างไว้ ส่วนสาเหตุที่ออกไปชุมนุมเพราะตอนนั้นเห็นว่า รัฐบาลมีการจัดสรรวัคซีนได้ไม่เหมาะสม ขาดแคลน และล้มเหลวในการบริหารจัดการประเทศ
สายน้ำไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประมาณ 14.00 น. พบว่า มีรถหลายคันมาร่วมชุมนุม มีการกล่าวปราศรัย ผู้ชุมนุมมีการฉีดพ่นสีสเปรย์บนถนน แล้วเคลื่อนตัวไปที่แยกผ่านฟ้า โดยสายน้ำได้ร่วมเดินขบวนไปตามเส้นทางดังกล่าว
เมื่อเดินไปถึงแยกผ่านฟ้า ได้พบว่ามีการล้อมรั้วเหล็กอยู่ก่อนแล้ว และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุม เกิดการปะทะกันและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำเลยถูกแก๊สน้ำตาจนเกิดอาการแพ้ แสบตา หายใจไม่ออก จนต้องใช้ผ้าชุบน้ำเกลือเช็ดหน้า ปิดจมูกปิดปาก
ต่อมา แกนนำได้ประกาศว่าจะเคลื่อนขบวนไปถนนนครสวรรค์ แต่จำเลยตัดสินใจไม่ไปต่อ และออกมาจากบริเวณนั้น มุ่งหน้ากลับถึงบ้านประมาณ 17.00 น.
สาเหตุที่จำเลยออกมาเรียกร้องชุมนุมประท้วงคือ อยากให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนที่ดีมีคุณภาพ ให้เด็กและเยาวชนได้ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ ให้ทุกคนได้ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ออกมาเรียกร้องเรื่อยๆ แม้จะต้องถูกดำเนินคดีก็ตาม
ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน สายน้ำเบิกความตอบโดยสรุปว่า หลังชุมนุมเสร็จตนได้นั่งวินมอเตอร์ไซค์กลับมาบ้าน แต่ไม่ได้ให้วินมอเตอร์ไซค์มาเป็นพยานเบิกความ เพราะจำเลยจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนขับ และในระหว่างที่อยู่ในม็อบ ก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่าสายน้ำอยูในการชุมนุมจริง เพราะไม่มีพยานบุคคลอยู่ด้วย
++ผู้จัดการ iLaw ชี้ รูปภาพจากเพจ ‘ปราชญ์ สามสี’ ไม่น่าเชื่อถือ มีการปล่อยเฟคนิวส์ให้ร้ายผู้เห็นต่างทางการเมืองบ่อยครั้ง
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายและประชาชน (iLaw) เป็นองค์กรทําหน้าที่เกี่ยวกับการติดตามและบันทึกข้อมูลการดําเนินคดีและการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงจัดทำเว็บไซต์ Mob Data Thailand เก็บข้อมูลการใช้เสรีภาพการชุมนุมในประเทศไทย
ในวันเกิดเหตุ พยานและเจ้าหน้าที่รวม 5 ราย ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์ เห็นว่า ในการชุมนุมดังกล่าวมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ตัวอย่างเช่น ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย มีผู้ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ มีการนำอุโมงค์ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโควิดเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม โดยพยานลงพื้นที่อยู่บริเวณแยกเทวกรรม ก่อนทราบว่าที่แยกนางเลิ้งสถานการณ์ไม่ค่อยปลอดภัย เพราะมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม พยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่เห็นสายน้ำในวันดังกล่าวแต่อย่างใด
ยิ่งชีพเบิกความว่า สาเหตุที่ประชาชนออกมาชุมนุมกันครั้งนี้ เพราะเรียกร้องต่อการบริหารจัดการโควิดที่ล้มเหลว และต้องการให้จัดหาวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาในประเทศให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยิ่งชีพเบิกความถึง UN General Comment ลงวันที่ 17 ก.ค. 2563 ออกโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) มติที่ 44/20 เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งวางหลักการหลายอย่างไว้คุ้มครองการชุมนุมทั้งในสถานการณ์ปกติ สถานการณ์พิเศษ และสถานการณ์โรคระบาด ระบุว่า ไม่ควรใช้โรคระบาดมาจำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยเบ็ดเสร็จ
นอกจากนี้ ยิ่งชีพเบิกความว่า ในกรณีของเพจ “ปราชญ์ สามสี” พบว่ามีการปล่อยเฟคนิวส์โจมตี iLaw อยู่หลายครั้ง รวมถึงมีการเชื่อมโยงว่า ม็อบราษฎรได้รับการสนับสนุนจากเงินต่างชาติ รวมทั้งได้ยกตัวอย่างการเผยแพร่ข่าวปลอมจากเพจดังกล่าวอีกหลายกรณี
ยิ่งชีพเบิกความว่า ตนและทีมงานโต้กลับด้วยการฟ้องร้องต่อกองทัพบกและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงขณะนั้นในสภาก็มีการอภิปรายเรื่องการสอดส่องจากรัฐบาล โดยเพจ “ปราชญ์ สามสี” ก็เป็นหนึ่งในเพจที่สะท้อนถึงการสอดแนมและโจมตีผู้ที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมือง
ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน ยิ่งชีพเบิกความตอบว่า ไม่ได้รู้จักสายน้ำเป็นการส่วนตัวมาก่อน แค่เคยเห็นหน้า ในส่วนเอกสาร UN General Comment พยานรับว่าเป็นกติการะหว่างประเทศ ไม่ได้มีสภาพบังคับ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้ในขณะนั้น มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย
.
หลังสืบพยานเสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 มี.ค. 2566 เวลา 10.00 น.
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54866) -
วันที่: 30-03-2023นัด: ฟังคำพิพากษาบรรยากาศที่ห้องพิจารณา 13 เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล 7-8 นาย มาเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย โดย “สายน้ำ” แม่และน้องชาย พร้อมทนายความได้ทยอยเข้ารออยู่ในห้องพิจารณา นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และผู้ที่มาให้กำลังใจรออยู่ด้านนอก
เวลา 10.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ก่อนอ่านคำพิพากษา “สายน้ำ” ได้ยื่นคำร้องประสงค์ขอให้บุคคลภายนอกร่วมเข้าฟังคำพิพากษาจำนวนหนึ่ง ด้านศาลชี้แจงว่า ตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าฟังคำพิพากษา ขอให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปรอด้านนอก
พร้อมกันนี้ศาลชี้แจงว่า ศาลตัดสินคดีนี้อย่างเป็นธรรม ใช้ดุลยพินิจอย่างอิสระ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือศาล และตลอดการพิจารณาคดีก็ให้ความเป็นธรรมกับจำเลยตลอด ต่อให้มีบุคคลภายนอกหรือไม่มีเข้าร่วมฟังคำพิพากษา ก็ไม่ได้ทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด
เมื่อ “สายน้ำ” ได้รับฟังเช่นนั้น จึงลุกขึ้นยืนแถลงต่อศาล ยืนยันจะขอให้เพื่อนที่เดินทางมาร่วมให้กำลังใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษา พร้อมแสดง “อารยะขัดขืน” ด้วยการลงไปนั่งบนพื้นกลางห้องพิจารณาแล้วหันหลังให้ผู้พิพากษา โดยยืนยันว่า หากศาลไม่อนุญาตให้เพื่อนเข้าฟังก็จะขอนั่งหันหลัง ไม่ให้ศาลเห็นใบหน้าเช่นนี้ต่อไป ตลอดการฟังคำพิพากษา
เมื่อศาลเห็นพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลย ศาลก็ได้ชี้แจงกับสายน้ำว่า การกระทำดังกล่าวไม่เรียบร้อยเหมาะสม ไม่เคยมีใครนั่งฟังคำพิพากษาในลักษณะนี้มาก่อน จึงขอให้สายน้ำปรึกษาหารือกับที่ปรึกษากฎหมายให้ดีก่อน แต่จำเลยก็ยืนยันที่จะแสดงอารยะขัดขืนต่อไป ทำให้ศาลต้องขอเวลาปรึกษากับองค์คณะผู้พิพากษา
เวลา 11.12 น. ศาลกลับมานั่งพิจารณาอีกครั้ง พร้อมกับชี้แจงว่า เนื่องจากห้องพิจารณาคับแคบ ศาลจึงจะอนุญาตให้ประชาชนบางส่วนเข้ามาร่วมฟัง แต่จะต้องเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ และให้เจ้าหน้าที่ศาลยืนยันตัวบุคคลที่มาร่วมเข้าฟังคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด
จากนั้น ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์ ที่เป็นรูปภาพชายชุดดำกำลังทำอากัปกิริยาพ่นสีและจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นภาพที่เห็นเพียงด้านหลัง ไม่เห็นหน้าตา หรือด้านหน้าอย่างชัดเจน แม้รูปพรรณสัณฐานและเสื้อผ้าจะคล้ายกับจำเลยที่เข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวก็ตาม อีกทั้งในวันดังกล่าวก็มีผู้ชุมนุมหลายคนที่แต่งกายในลักษณะเดียวกัน จึงไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้แน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่
ที่สำคัญภาพหลักฐานดังกล่าว เป็นภาพมาจากเพจเฟซบุ๊ก “ปราชญ์ สามสี” ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้มีการนำตัวผู้โพสต์ภาพดังกล่าวมาสอบสวนให้การ จึงมีเหตุให้สงสัยว่า ข้อมูลภาพดังกล่าวถูกต้องและน่าเชื่อถือหรือไม่
นอกจากนี้ในส่วนคำให้การของพยานความเห็นของโจทก์จากกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ เห็นว่า พยานโจทก์กลุ่มนี้ประสงค์จะเข้ามาให้การกับพนักงานสอบสวนตั้งแต่แรก และคำให้การในชั้นศาลที่เบิกความว่า ดูภาพเหตุการณ์ที่ถ่ายทอดสดการชุมนุม เห็นหน้าจำเลยตอนเปิดผ้าปิดปากออก เป็นการให้การเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งไม่ได้ปรากฏไว้ในคำให้การเดิมตั้งแต่ชั้นสอบสวนแต่อย่างใด จึงทำให้ยังมีเหตุเคลือบแคลงสงสัยต่อคำให้การดังกล่าว
ในประเด็นเรื่องการตรวจสอบวัตถุพยาน ศาลรับฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานได้เก็บกระดาษ “CANCEL LAW 112” กับฝากระป๋องสีสเปรย์ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุไปเพื่อตรวจพิสูจน์ แม้จะมีการเก็บหลักฐานดังกล่าวไปตรวจลายนิ้วมือ แต่ไม่ได้มีการตรวจเทียบเคียงว่าใช่ลายนิ้วมือของจำเลยจริงหรือไม่ อีกทั้งคำให้การของพนักงานสอบสวนก็เบิกความสับสน ไม่อยู่ในร่องในรอย ไม่แน่ใจว่าได้ส่งตรวจเทียบเคียงหรือไม่ จึงไม่สามารถรับฟังได้
คดีจึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีความผิดจริงหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2
ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากพยานหลักฐานพบว่า จำเลยไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกในวันเกิดเหตุจริง และในขณะนั้นมีการออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพบว่า จำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และมีพฤติกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากขณะเกิดเหตุ จำเลยอายุ 17 ปี จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง ลงโทษปรับ 6,000 บาท และเนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษปรับ เหลือ 4,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
.
ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกในศาลเยาวชนฯ ซึ่งจำเลยต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้ ก่อนหน้านี้ศาลมีคำพิพากษาใน 2 คดี ของ “เพชร ธนกร” กรณีปราศรัยในการชุมนุมวันที่ 6 ธ.ค. 2563 ที่วงเวียนใหญ่ และการชุมนุมวันที่ 10 ก.ย. 2563 ที่ท่าน้ำนนทบุรี โดยวินิจฉัยว่ามีความผิดในทั้งสองคดี และอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54982)
สถานะ การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ผลการพิพากษา
ชั้นสอบสวน
ผู้ถูกดำเนินคดี :
สายน้ำ (นามสมมติ)
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ศาลชั้นต้น
ผู้ถูกดำเนินคดี :
สายน้ำ (นามสมมติ)
ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ :
30-03-2023
แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์