สรุปความสำคัญ

อัปสร (นามสมมติ) ผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman) อายุ 22 ปี ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 หลังสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. กล่าวหาว่าอัปสร "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" โดยการแชร์โพสต์ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 และสมาชิกราชวงศ์ โดยไม่ได้เขียนข้อความใดๆ ประกอบโพสต์ที่แชร์

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่าการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้เงินภาษีของประชาชนในลักษณะดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อัปสร (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

19 เม.ย. 2564 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) อัปสรเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา

ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนเคยออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 15 มี.ค. 2564 ให้อัปสรมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 29 มี.ค. 2564 เวลา 13.30 น. ที่ บก.ปอท. แต่ก่อนถึงเวลานัดประมาณ 2 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนได้โทรขอเลื่อนนัดกับอัปสร พร้อมแจ้งกับทนายความว่าจะส่งหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อนัดหมายอีกครั้ง และจะออกเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1

ต่อมา อัปสรได้รับหมายเรียกลงวันที่ 5 เม.ย. 2564 ให้ไปรับทราบข้อหาอีกครั้ง แต่กลับเป็นหมายเรียกครั้งที่ 2 ทั้งที่ครั้งก่อน พนักงานสอบสวนเป็นผู้เลื่อนนัดหมายเอง เพราะติดภารกิจ

พนักงานสอบสวนแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บรรยายพฤติการณ์โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ผู้ต้องหาได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวแชร์ข้อความจากโพสต์ของ “Pavin Chachavalpongpun” ซึ่งโพสต์ดังกล่าวได้ปรากฏข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 และสมาชิกราชวงศ์

อัปสรให้การปฎิเสธ จากนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฏตัวต่อพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 19 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28520)

ภูมิหลัง

  • อัปสร (นามสมมติ)
    เริ่มหันมาสนใจประเด็นทางการเมืองเมื่อช่วงปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอได้ไปทำงานเป็นพนักงานที่ร้านค้าแห่งหนึ่งภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีโอกาสได้ฟังคำปราศรัยของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวมถึงทัศนะทางการเมืองจากกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นในมหาวิทยาลัย

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์