ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ. 2992/2564
แดง อ. 2679/2565

ผู้กล่าวหา
  • สุรภพ จันทร์เปล่ง กระทรวงดิจิตอลฯ (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ. 2992/2564
แดง อ. 2679/2565
ผู้กล่าวหา
  • สุรภพ จันทร์เปล่ง กระทรวงดิจิตอลฯ

ความสำคัญของคดี

อัปสร (นามสมมติ) หญิงข้ามเพศ (transwoman) อายุ 22 ปี ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 หลังสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. กล่าวหาว่าอัปสร "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" โดยการแชร์โพสต์ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 และสมาชิกราชวงศ์ โดยไม่ได้เขียนข้อความใดๆ ประกอบโพสต์ที่แชร์

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่าการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้เงินภาษีของประชาชนในลักษณะดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

กิตติวัฒน์ จิตวิริยาวัฒน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายคำฟ้อง ระบุว่า

ขณะเกิดเหตุคดีนี้ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ด้วยการแชร์โพสต์ซึ่งเป็นสาธารณะของบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Pavin Chachavalpongpun” โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาพาดพิงรัชกาลที่ 10 และสมาชิกราชวงศ์ว่า กำลังทำประชาสัมพันธ์แข่งกับกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นการที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ออกงานรำ เจ้าคุณพระสินีนาฏฯ ซื้อสินค้ามูลนิธิสายใจไทย สนับสนุนโครงการหลวง ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องล้าสมัย และได้เปรียบเทียบกับราชนิกูลในต่างประเทศที่เข้าร่วมงานกิจกรรมสังคมที่สนับสนุนประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน อย่างเช่นเจ้าหญิงไดอาน่าที่เลือกทำประเด็นอย่างการดูแลผู้ไร้ที่อยู่อาศัย หรือเยาวชนที่ติดยาเสพติด

ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นโพสต์เข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงให้พระบรมวงศานุวงศ์ออกมาทำสงครามกับประชาชน แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน และทำให้เข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 เข้ามาแทรกแซงการเมือง

อีกทั้งยังมีการใช้คำจาบจ้วง ใช้สรรพนามเรียกไม่เหมาะสม โดยใช้คำว่า “อีง่าว” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นทางภาคเหนือ คนทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ แปลว่า “โง่” เป็นคำหมิ่นเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และมีเจตนามุ่งหมายให้ประชาชนเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง และไม่เทิดทูนพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2992/2564 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) อัปสรเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา

    ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนเคยออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 15 มี.ค. 2564 ให้อัปสรมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 29 มี.ค. 2564 เวลา 13.30 น. ที่ บก.ปอท. แต่ก่อนถึงเวลานัดประมาณ 2 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนได้โทรขอเลื่อนนัดกับอัปสร พร้อมแจ้งกับทนายความว่าจะส่งหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อนัดหมายอีกครั้ง และจะออกเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1

    ต่อมา อัปสรได้รับหมายเรียกลงวันที่ 5 เม.ย. 2564 ให้ไปรับทราบข้อหาอีกครั้ง แต่กลับเป็นหมายเรียกครั้งที่ 2 ทั้งที่ครั้งก่อน พนักงานสอบสวนเป็นผู้เลื่อนนัดหมายเอง เพราะติดภารกิจ

    ร.ต.อ. ฐานันดร สาสูงเนิน รองสารวัตร (สอบสวน) ปรก.ฯ กก3 บก.ปอท. บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 เวลา 08.54 น. ผู้ต้องหาได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวแชร์ข้อความจากโพสต์ของ “Pavin Chachavalpongpun” ซึ่งโพสต์ดังกล่าวได้ปรากฏข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 และสมาชิกราชวงศ์

    พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    อัปสรให้การปฎิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 19 พ.ค. 2564 โดยปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฏตัวต่อพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 19 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28520)
  • พนักงานสอบสวนส่งตัวอัปสรพร้อมสำนวนการสอบสวน ให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 29 พ.ย. 2564
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาลอาญา ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาต กำหนดหลักประกันเป็นเงิน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกับความผิดตามฟ้องซ้ำอีก หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล ทั้งนี้ ศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ม.ค. 2565 เวลา 13.30 น.

    จากการพูดคุยกับอัปสรในภายหลัง เธอได้เล่าว่า ตอนแรกที่เธอโดนคดีนี้ เธอรู้สึกตกใจมาก พอลองสอบถามไปยังตำรวจ พบว่าเป็นเหตุจากการแชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กเก่าของเธอ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว และไม่ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมใดๆ เพียงแต่แชร์โพสต์เท่านั้น โดยในวันที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง สิ่งที่เธอหวาดกลัวที่สุดนั่นก็คือการต้องเข้าเรือนจำชาย ซึ่งขัดกันกับเพศสภาพของเธอ

    “หนูห่วงเรื่องนี้มาก ตอนที่อยู่ในห้องเวรชี้ก็รู้สึกตกใจ ต้องอยู่ตั้งแต่ 11 โมง จนถึงเย็น อยู่ในห้องนั้นคนเดียว ไม่มีเพื่อน ถึงจะได้ประกันออกมา อย่างไรก็ยังมีคดีติดตัว”

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2992/2564 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38430)
  • ผู้รับมอบฉันทะทนายจําเลยนําคําร้องขอเลื่อนคดีของทนายจําเลยยื่นต่อศาล เนื่องจากทนายจําเลยติดว่าความที่ศาลแขวงสระบุรีซึ่งนัดไว้ก่อนแล้ว ไม่สามารถเดินทางมาทําหน้าที่ได้

    ด้านจําเลยแถลงว่า ยังไม่ได้ปรึกษากับทนายจําเลยว่าจะให้การอย่างไร จึงขอเลื่อนคดีเช่นกัน โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคําให้การจําเลย ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 7 มี.ค. 2565 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2992/2564 ลงวันที่ 31 ม.ค. 2565)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังภายหลังมีทนายความแล้ว จําเลยให้การปฏิเสธตามคําให้การจําเลยฉบับลงวันที่วันนี้

    โจทก์แถลงประสงค์อ้างพยานเอกสารและภาพถ่ายรวม 6 ฉบับ ทนายจําเลยแถลงว่า ไม่มีพยานเอกสารหรือวัตถุพยานที่จะอ้างส่งในชั้นนี้ โจทก์และทนายจําเลยแถลงร่วมกันว่า ไม่มีข้อเท็จจริงที่รับกันได้

    โจทก์แถลงว่า ประสงค์จะสืบพยานบุคคล 6 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, ประชาชนที่เห็นข้อความ
    และภาพตามฟ้อง, นักวิชาการด้านกฎหมาย 2 ปาก, ตํารวจที่สืบสวนคดี และพนักงานสอบสวน ใช้เวลาสืบไม่เกิน 1 นัดครึ่ง

    จําเลยและทนายจําเลยแถลงถึงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จําเลยไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อความตามฟ้อง โดยเฟซบุ๊กตามฟ้องนั้นเป็นเฟซบุ๊กเก่าของจําเลย จําเลยไม่ได้ใช้นานแล้ว จําเลยประสงค์ที่จะสืบพยานบุคคล 3 ปาก ได้แก่ ตัวจําเลย, นักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการด้านกฎหมาย ใช้เวลาสืบครึ่งนัด โดยกำหนดนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2992/2564 ลงวันที่ 7 มี.ค. 2565)

  • ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฎิเสธและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ศาลให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยรายงานต่อศาลภายใน 15 วัน ประกอบการพิจารณาก่อนมีคำพิพากษา และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.ย. 2565 เวลา 10.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2992/2564 ลงวันที่ 30 ส.ค. 2565)
  • เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาที่ 915 คณะผู้พิพากษาออกพิจารณาคดี และได้อ่านรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยได้ความว่า ไม่พบประวัติว่าจำเลยเคยกระทำผิดมาก่อน แต่การกระทำของจำเลยไม่สมควร พฤติการณ์คดีเป็นเรื่องร้ายแรง พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อศาลว่า วิธีการคุมประพฤติไม่น่าจะเหมาะสมและใช้ได้ผลสำหรับจำเลยรายนี้

    จากนั้นศาลได้อ่านคำพิพากษา มีรายละเอียดโดยสรุปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2)(3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด จำคุก 4 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี

    พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว จำเลยกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 3 ปี กับให้คุมความประพฤติจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ภายในกำหนด 2 ปี

    ลงนามคำพิพากษาโดย อนุพงศ์ โพร้งประภา และนาถชนก เพชรศรี

    สำหรับ “อัปสร” หญิงข้ามเพศ (Transwoman) วัย 23 ปี เริ่มหันมาสนใจประเด็นทางการเมืองชัดเจนขึ้นเมื่อช่วงปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอได้ไปทำงานเป็นพนักงานที่ร้านค้าแห่งหนึ่งภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีโอกาสได้ฟังคำปราศรัยของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวมถึงทัศนะทางการเมืองจากกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นในมหาวิทยาลัย

    เธอยอมรับว่าติดตามข่าวสารทางการเมืองและแชร์ข่าวดังกล่าวอยู่เสมอ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายหลังเมื่อถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ สิ่งที่เธอหวาดกลัวที่สุดนั่นก็คือการต้องเข้าเรือนจำชาย ซึ่งขัดกันกับเพศสภาพของเธอ

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2992/2564 คดีหมายเลขดำที่ อ. 2679/2565 ลงวันที่ 26 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48816)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อัปสร (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อัปสร (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. อนุพงศ์ โพร้งประภา
  2. นาถชนก เพชรศรี

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 26-09-2022

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์