สรุปความสำคัญ

“เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล) ผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman) พนักงานบริษัทวัย 24 ปี ถูกกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแจ้งความ บก.ปอท.ให้ดำเนินคดี จากกรณีที่เธอโพสต์แสดงความคิดบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ต่อว่าคนที่เตือนไม่ให้พูดถึงรัชกาลที่ 10 เรเน่ต่อสูคดีโดยยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามที่ถูกกล่าวหา

กรณีนี้สะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 คือ เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้สามารถถูกกลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาอีกด้วย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • “เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • “เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

9 มี.ค. 2564 เวลา 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บัญชาการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้เข้าแสดงหมายค้นของศาลอาญา และเข้าตรวจค้นบ้านพักของ “เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล) ก่อนตรวจยึดอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวพุทธพงศ์ขึ้นรถกระบะของตำรวจไปที่ บก.ปอท. โดยไม่มีการแสดงหมายเรียกหรือหมายจับ อ้างว่าจะพาพุทธพงศ์ไปลงลายมือชื่อในเอกสารเท่านั้น และหากแล้วเสร็จจะปล่อยตัว

แต่เมื่อถึง บก.ปอท. พุทธพงศ์นำตัวไปซักถามที่ห้องสอบสวน โดยตำรวจไม่อนุญาตให้เขาติดต่อญาติหรือทนายความ เจ้าหน้าที่ยังนำเอกสารมาให้ลงลายมือชื่อ โดยพุทธพงศ์ได้ลงลายมือชื่อไปด้วยอาการหวาดกลัวและตื่นตระหนก

หลังการซักถาม พนักงานสอบสวนกลับแจ้งพุทธพงศ์ว่า จะแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันนั้น แม้ตอนแรกระบุว่า จะนำตัวมาเพื่อซักถามข้อมูลเท่านั้น เมื่อปรึกษากับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเพิ่งได้รับแจ้งเหตุและเดินทางไปถึง บก.ปอท. ทนายความจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้พุทธพงศ์มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 18 มี.ค. 2564

18 มี.ค. 2564 พุทธพงศ์เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. บรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า จากการตรวจสอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งพูดถึงรัชกาลที่ 10 จึงมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหา

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาพุทธพงศ์ว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) พุทธพงศ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ทั้งนี้พุทธพงศ์ได้ให้การเพิ่มเติมว่า ในวันที่พนักงานชุดตรวจค้น ได้แสดงหมายค้นของศาลอาญาและเข้าตรวจค้นบ้านพัก โดยไม่แสดงหมายจับนั้น ตนถูกเจ้าหน้าที่จูงใจให้เดินทางมาที่ ปอท. เพื่อเซ็นเอกสารต่าง ๆ หลังจากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสารแล้วเสร็จ ทนายความจึงเข้าพบภายหลัง ตนจึงได้ปรึกษากับทนาย และประสงค์นัดหมายมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 18 มี.ค. 2564

ก่อนรับทราบข้อหา พุทธพงศ์เผยว่า ตนมีความกังวล หากตนถูกจับเข้าเรือนจำ อาจอยู่ไม่ได้ เนื่องจากเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman) ด้านญาติพุทธพงศ์เกรงจะเหมือนกรณี “ฟ้า-พรหมศร” ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน แม้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

หลังเสร็จกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวพุทธพงศ์ไป โดยไม่ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฏต่อหน้าพนักงานสอบสวนแล้ว ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.1 บก.ปอท. ลงวันที่ 18 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27143)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • “เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล)
    ในช่วงแรกของคดีความ ทำให้เธอต้องลาออกจากงานที่เคยทำ แม้ทางบริษัทจะยังสนับสนุนเธออยู่ก็ตาม แต่เธอรู้สึกว่าตัวเธอเองอาจจะเป็นปัญหาหรือตัวถ่วงให้กับบริษัทที่เธอทำอยู่

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์