ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2483/2564

ผู้กล่าวหา
  • กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2483/2564
ผู้กล่าวหา
  • กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ความสำคัญของคดี

“เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล) ผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman) พนักงานบริษัทวัย 24 ปี ถูกกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแจ้งความ บก.ปอท.ให้ดำเนินคดี จากกรณีที่เธอโพสต์แสดงความคิดบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ต่อว่าคนที่เตือนไม่ให้พูดถึงรัชกาลที่ 10 เรเน่ต่อสูคดีโดยยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามที่ถูกกล่าวหา

กรณีนี้สะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 คือ เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้สามารถถูกกลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาอีกด้วย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สลาวรรณ ภูริสัตย์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายคำฟ้อง ใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 จําเลยได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลย ตั้งค่าเป็นสาธารณะ และในขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” นั้น

ทําให้ประชาชนทั่วไปพบเห็นข้อความดังกล่าวแล้วทราบว่า เป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และกล่าวหาว่ารัชกาลที่ 10 เป็นฆาตกร อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง จึงเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2483/2564 ลงงวันที่ 6 ต.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บัญชาการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้เข้าแสดงหมายค้นของศาลอาญา และเข้าตรวจค้นบ้านพักของ “เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล) ก่อนตรวจยึดอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ

    จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวพุทธพงศ์ขึ้นรถกระบะของตำรวจไปที่ บก.ปอท. โดยไม่มีการแสดงหมายเรียกหรือหมายจับ อ้างว่าจะพาพุทธพงศ์ไปลงลายมือชื่อในเอกสารเท่านั้น และหากแล้วเสร็จจะปล่อยตัว

    แต่เมื่อถึง บก.ปอท. พุทธพงศ์นำตัวไปซักถามที่ห้องสอบสวน โดยตำรวจไม่อนุญาตให้เขาติดต่อญาติหรือทนายความ เจ้าหน้าที่ยังนำเอกสารมาให้ลงลายมือชื่อ โดยพุทธพงศ์ได้ลงลายมือชื่อไปด้วยอาการหวาดกลัวและตื่นตระหนก

    หลังการซักถาม พนักงานสอบสวนกลับแจ้งพุทธพงศ์ว่า จะแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันนั้น แม้ตอนแรกระบุว่า จะนำตัวมาเพื่อซักถามข้อมูลเท่านั้น เมื่อปรึกษากับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเพิ่งได้รับแจ้งเหตุและเดินทางไปถึง บก.ปอท. ทนายความจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้พุทธพงศ์มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 18 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/27143)
  • พุทธพงศ์เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก พ.ต.ต. คมสัน ทุติยานนท์ รองสารวัตร (สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. และ ร.ต.ท.หญิง ปวริศา ศรีกาญจนากาศ รองสารวัตร (สอบสวน) กก.1 บก.ปอท. บรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า จากการตรวจสอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งพูดถึงรัชกาลที่ 10 จึงมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหา

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาพุทธพงศ์จำนวน 2 ข้อหา ได้แก่

    1. “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
    2. “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    พุทธพงศ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายหลังภายใน 30 วัน

    ทั้งนี้พุทธพงศ์ได้ให้การเพิ่มเติมว่า ในวันที่พนักงานชุดตรวจค้น ได้แสดงหมายค้นของศาลอาญาและเข้าตรวจค้นบ้านพัก โดยไม่แสดงหมายจับนั้น ตนถูกเจ้าหน้าที่จูงใจให้เดินทางมาที่ ปอท. เพื่อเซ็นเอกสารต่าง ๆ หลังจากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสารแล้วเสร็จ ทนายความจึงเข้าพบภายหลัง ตนจึงได้ปรึกษากับทนาย และประสงค์นัดหมายมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 18 มี.ค. 2564

    ก่อนรับทราบข้อหา พุทธพงศ์เผยว่า ตนมีความกังวล หากตนถูกจับเข้าเรือนจำ อาจอยู่ไม่ได้ เนื่องจากเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman) ด้านญาติพุทธพงศ์เกรงจะเหมือนกรณี “ฟ้า-พรหมศร” ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน แม้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

    หลังเสร็จกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวพุทธพงศ์ไป โดยไม่ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฏต่อหน้าพนักงานสอบสวนแล้ว ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.1 บก.ปอท. ลงวันที่ 18 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27143)
  • พนักงานสอบสวนนัดหมายพุทธพงศ์เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม พุทธพงศ์ยืนยันให้การปฏิเสธเช่นเดิม พนักงานสอบสวนยังได้คืนคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดไปในวันที่เข้าค้นบ้าน คงยึดไว้เพียงโทรศัพท์มือถือ
  • พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวพุทธพงศ์พร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 พนักงานอัยการรับตัวไว้แล้วนัดฟังคำสั่งวันที่ 6 ก.ย. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนไปวันที่ 6 ต.ค. 2564
  • พุทธพงศ์เดินทางไปฟังคำสั่งอัยการตามนัดหมาย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 มีคำสั่งฟ้องคดี และนำตัวพุทธพงศ์ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    สลาวรรณ ภูริสัตย์ พนักงานอัยการ บรรยายคำฟ้อง ใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 จําเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลย ทําให้ประชาชนทั่วไปพบเห็นข้อความดังกล่าวแล้วทราบว่า เป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และกล่าวหาว่ารัชกาลที่ 10 เป็นฆาตกร อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง จึงเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

    ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี โดยขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

    หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยมีประกันในวงเงิน 90,000 บาท มีเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 15 พ.ย. 2564 เวลา 13:30 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2483/2564 ลงงวันที่ 6 ต.ค. 2564)
  • ศาลอาญานัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน พนักงานอัยการโจทก์ จําเลย และทนายจําเลยมาศาล

    หลังศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้ฟัง จําเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อหา ด้านโจทก์แถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคลทั้งสิ้น 7 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่รัฐ 5 รายที่เกี่ยวข้อง และประชาชน 2 ราย โดยเป็นอาจารย์ประจําคณะนิติศาสตร์ที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่จําเลยโพสต์ และประชาชนผู้อ่านข้อความจำเลย

    ส่วนจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า ตนเป็นผู้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามข้อกล่าวหา โดยฝั่งจำเลยประสงค์จะขอนำสืบพยาน 2 ปาก คือ ตัวจําเลย และคณบดีคณะนิติศาสตร์ หรือผู้แทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อชี้แจงเรื่องเจตนาของตน โดยจะขอใช้เวลาสืบพยานจำเลยครึ่งนัด

    ศาลจึงกำหนดนัดสืบพยานจำนวน 2 นัด โดยเป็นของฝ่ายโจทก์ 1 นัดครึ่ง และจำเลยครึ่งนัด ในวันที่ 4-5 ต.ค. 2565

    เรเน่เล่าย้อนถึงความรู้สึกในวันนั้นว่า ไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เธอมองว่ากฎหมายนี้รุนแรงต่อชีวิตคนๆ หนึ่งมาก ทั้งตอนนั้นยังมีความรู้สึกกลัว เพราะไม่รู้ว่าคดีความจะไปจบที่ตรงไหน

    ในช่วงแรกของคดีความ ทำให้เธอต้องลาออกจากงานที่เคยทำ แม้ทางบริษัทจะยังสนับสนุนเธออยู่ก็ตาม แต่เธอรู้สึกว่าตัวเธอเองอาจจะเป็นปัญหาหรือตัวถ่วงให้กับบริษัทที่เธอทำอยู่

    แต่ในความโหดร้าย ก็ยังแฝงความโชคดีอยู่บาง คนรอบข้างเธอทั้ง ครอบครัว และเพื่อนฝูงเข้าใจและไม่ต่อว่าในสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมยังบอกอีกว่า “การที่เธอถูกดำเนินคดีไม่ใช่ความผิดเธอ หากแต่เป็นของคนที่ใช้กฎหมายมารังแกผู้อื่น”

    แม้จะถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 เธอยังคงติดตามข่าวสารทางการเมืองอยู่ตลอด เพียงแต่ในครั้งต่อๆ มา เธอไม่ได้แสดงความเห็นผ่านทางแพลตฟอร์มสาธารณะมากนัก มีเพียงการพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนรอบข้างเท่านั้น

    เธอเล่าว่า ตามปกติที่ทุกครั้งที่มาศาลจะรู้สึกเครียด คิดมาก และนอนไม่หลับทุกครั้ง ทั้งยังกังวล และหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองจะถูกตัดสินและโยนเข้าห้องคุมขังในเรือนจำหรือไม่

    แต่ในวันนี้เธอพอจะสามารถสลัดความกลัวและความกังวลเหล่านั้นไปได้ อีกทั้งนัดในครั้งต่อไปคือเดือนตุลาคมปีหน้า ทำให้เธอรู้สึกได้มีเวลาใช้ชีวิตมากขึ้น

    ทั้งนี้ เธอยกคงยืนยันว่า กฎหมายมาตรา 112 ควรถูกยกเลิก เนื่องจากโทษนั้นหนักเกินไป จนสามารถตัดโอกาสชีวิตของคนๆ หนึ่งได้ และไม่ควรมีใครถูกรังแกด้วยกฎหมายนี้ แม้ท้ายที่สุดไม่อาจยกเลิกกฎหมายนี้ เธอก็หวังว่ามันควรจะสามารถปรับแก้ให้เป็นคดีความทางแพ่ง โดยให้ผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทนั้นมาสู้คดีด้วยตัวเอง และเธอเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ต้องสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เขาและเราควรปรับตัวเข้าหากัน

    เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า “ยังอยากสู้ต่อที่นี่จนถึงลมหายใจสุดท้าย แต่ก็ไม่อยากเข้าเรือนจำ”

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/37812)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์