สรุปความสำคัญ

“มีมี่” นักกิจกรรมเยาวชน และสมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ถูกกล่าวหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะและการจราจร จากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ25ตุลา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2563 บริเวณแยกราชประสงค์

การชุมนุมดังกล่าว มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 6 ราย โดย 5 ราย ไม่ใช่เยาวชน ถูกแยกดำเนินคดีในศาลแขวง ในครั้งแรก “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ถูกออกหมายเรียกด้วย ภายหลังพบว่าเข้าใจผิด และดำเนินคดีกับ “มีมี่” แทน

การดำเนินคดีกับเยาวชนเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเด็กตามพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้ต่อประชาคมโลก อีกทั้งการดำเนินคดีเพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมที่ใช้ทรัพยากรจากภาษีประชาชนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • มีมี่ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

25 ต.ค. 2563 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ผู้ชุมนุมในนาม ‘ราษฎร’ รวมตัวกันเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง หลังจาก จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ประกาศนัดชุมนุมภายหลังจากได้รับการประกันตัวจากคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ตอบรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎรที่ต้องการให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายในเวลา 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 2563 ที่มีการยื่นหนังสือลาออกที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

ก่อนเวลานัดหมาย จตุภัทร์เปิดเผยว่าการชุมนุมในวันนี้จะเป็นลักษณะไร้แกนนำหรือเวทีปราศรัยหลัก แต่จะใช้โทรโข่งกระจายไปตามจุดต่างๆ ทำให้มีกลุ่มปราศรัยเล็กๆ หลากหลายกลุ่มและหลากหลายกิจกรรม

ขณะที่เวลา 16.29 น. ตำรวจ สน.ลุมพินี ได้นำคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ เรื่อง ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ มาแจ้งให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบ โดยในคำสั่งดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ. การชุมนุมฯ เนื่องจากไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า จึงให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในเวลา 17.00 น.

19.54 น. มวลชนร่วมกันเปิดแฟลชจากมือถือ โดยระบุว่าแสงไฟเปรียบเหมือนชัยชนะของประชาชน ก่อนที่เวลา 20.29 น. ผู้ชุมนุมจะร่วมกันร้องเพลง ‘เราและนาย’ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบและการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ในอดีต เช่น 6 ตุลา และการเสียชีวิตของมวลชนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์

(อ้างอิง: https://www.mobdatathailand.org/case-file/1603644467697/)

13 ม.ค. 2564 มีมี่ พร้อมกับผู้ปกครองและทนายความ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา หลังได้รับหมายเรียกของ สน.ลุมพินี ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนระบุว่า ได้รับมอบหมายจากผู้กำกับ สน.ลุมพินีให้แจ้งความดำเนินคดีกับจตุภัทร์และพวก รวม 6 คน ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อรรถพล บัวพัฒน์, ธานี สะสม, ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แต่ต่อมา
ได้สืบสวนเพิ่มเติมกรณีมีหญิงไทยผมยาวมัดผม ใส่เสื้อยืดสีดำ สะพายกระเป๋าเป้ ขึ้นปราศรัยบนรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง เรื่องการบริหารงานของรัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์, การดำเนินคดีกับแกนนำอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย, กระบวนการยุติธรรมที่เป็นสองมาตรฐาน ไม่ใช่ น.ส.ภัสราวลี แต่คือ มีมี่ จึงได้ดำเนินคดีกับเธอ

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหาต่อ “มีมี่” ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 “ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า” และฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ข้อ 1 และข้อ 5 มีมี่ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปฏิเสธลงลายมือชื่อและเขียนข้อความว่า “ไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ” ในช่องสำหรับลงลายมือชื่อ

หลังรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวไป โดยไม่ได้นำตัวมีมี่ไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัว

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ลุมพินี ลงวันที่ 13 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25051)

ภูมิหลัง

  • มีมี่ (นามสมมติ)
    นักกิจกรรมกลุ่มเฟมมินิสต์ปลดแอก

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์