สรุปความสำคัญ

ศุภกร ขุนชิต, อลิสา บินดุส๊ะ และชมพูนุท (สงวนนามสกุล) 3 นักศึกษาและนักกิจกรรม “ราษฎรใต้” ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ยุยงปลุกปั่น และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการตระเวนถ่ายภาพบริเวณต่าง ๆ ในจังหวัดพัทลุง และโพสต์ภาพพร้อมข้อความประกอบจำนวนหลายภาพในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” เมื่อเดือน พ.ย. 2563 แม้ภาพและข้อความไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดดังกล่าว ทั้งนี้ทั้งสามถูกออกหมายจับโดยไม่เคยถูกออกหมายเรียกมาก่อน แต่ได้การประกันตัวทั้งชั้นสอบสวนและพิจารณาคดี

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมให้การกระทำหลายอย่างเป็นความผิดเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย และใช้เป็นเครืองมือปิดกั้นการแสดงออกโดยสงบของประชาชน นอกจากนั้นคดีในข้อหาดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจมีแนวโน้มที่จะขอออกหมายจับโดยปกปิดข้อเท็จจริงต่อศาล และศาลก็ไม่มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยการตรวจสอบพยานหลักของตำรวจอีกด้วย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ศุภกร ขุนชิต
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • อลิสา บินดุส๊ะ
    • ชมพูนุท (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว

พฤติการณ์การละเมิด

23 พ.ย. 2564 เวลา 13.30 น. หลังศุภกร ขุนชิต นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เดินทางไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นเข็มที่ 2 ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แล้วเสร็จ และเดินออกมาถึงลานจอดรถหน้าอาคารศูนย์กีฬา ได้มีชายนอกเครื่องแบบคนหนึ่งติดตามมาร้องเรียก ศุภกรคิดว่าเป็นชาวบ้านจะมาสอบถามข้อมูล จึงเดินเข้าไปหา กลับพบว่ามีชายนอกเครื่องแบบอีก 3-4 คน รุมกันออกมาล้อมเขา พร้อมแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดพัทลุง ลงวันที่ 13 ส.ค. 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

จากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกไม่ต่ำกว่า 7-8 นาย ออกมาจากรถ เข้ามาล้อมเขาเพิ่ม บางนายห้อยป้ายเป็นตำรวจ ศุภกรระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขั้นทำให้เขารู้สึกตกใจ เพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน เขายังไม่เคยได้รับหมายเรียกใดๆ มาก่อนหน้านี้ จึงได้ขอตำรวจนั่งลงตั้งสติก่อน พร้อมขอติดต่อทนายความและเพื่อน ซึ่งตำรวจอนุญาต แต่ไม่อนุญาตให้นั่งรอทนายความเดินทางมาที่มหาวิทยาลัย เพราะจะนำตัวไปที่ สภ.คอหงส์ จังหวัดสงขลา เพื่อทำบันทึกจับกุมทันที

ระหว่างการถูกควบคุมตัว ศุภกรยังพยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมถึงมีหมายจับเลย เขาไม่เคยได้หมายเรียกมาก่อน ตำรวจชุดจับกุมรับว่าไม่ทราบ ศุภกรยังระบุว่าเมื่อเดือนก่อนหน้านี้ คือเดือนตุลาคม เขาเพิ่งเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่ ที่ สภ.คอหงส์ แต่หมายจับออกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงไม่จับกุมเขาทันที กลับมารอจับในตอนนี้ ตำรวจได้ระบุว่าเขาก็เพิ่งทราบเรื่อง

หลังเจ้าหน้าที่จัดทำบันทึกจับกุมที่ สภ.คอหงส์ โดยมีทนายความติดตามไป ศุภกรพบว่ามีการระบุรายชื่อตำรวจชุดจับกุมจากหลายหน่วยงานรวม 22 นาย ทั้งตำรวจสันติบาล กก.5 บก.ส.1, ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติดตำรวจภูธรสงขลา, ตำรวจจากภูธรจังหวัดพัทลุง และ สภ.เมืองพัทลุง โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ติดตามตัวศุภกรซึ่งขับรถจักรยานยนต์เข้าไปภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าหน้าที่ได้เฝ้ารอกระทั่งเขาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เรียบร้อย จึงได้เข้าแสดงตัว และแสดงหมายจับ

จากนั้น ตำรวจได้พาตัวศุภกร เดินทางไปยัง สภ.เมืองพัทลุง ที่เป็นสถานีตำรวจเจ้าของคดี แต่ยังไม่ได้มีการสอบปากคำใดๆ เนื่องจากพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีไม่อยู่ เขาจึงถูกคุมขังในห้องขังของสถานีตำรวจ เป็นเวลา 1 คืน

ในช่วงวันที่ 24 พ.ย. 2564 หลังพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาใน 3 ข้อกล่าวหาตามหมายจับ โดยศุภกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังศุภกรต่อศาลจังหวัดพัทลุง ศาลอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ประกันตัวศุภกร โดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการของ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหลักประกัน ตีราคาประกันวงเงิน 150,000 บาท

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สภ.เมืองพัทลุง ลงวันที่ 23 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38275)

26 พ.ย. 2564 ที่ สภ.เมืองพัทลุง อลิสา บินดุส๊ะ สมาชิกกลุ่มนักกฎหมายอาสา “Law Long Beach” และชมพูนุท (สงวนนามสกุล) นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทราบว่าได้ถูกออกหมายจับในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้เดินทางเข้ามอบตัว ก่อนถูกตำรวจส่งขอฝากขัง และศาลให้ประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งอาจารย์เช่นกัน

(อ้างอิง: บันทึกมอบตัว สภ.เมืองพัทลุง ลงวันที่ 26 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38363)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์