สรุปความสำคัญ

#ม็อบ13กุมภา หรือ กิจกรรมนับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรซึ่งถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และเคลื่อนขบวนไปทำกิจกรรมหน้าประตูศาลหลักเมือง นอกจากหลังยุติการชุมนุม ชุดควบคุมฝูงชนจะเข้าสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ชุมนุมรวม 11 ราย แล้ว ตำรวจยังได้ออกหมายเรียกแกนนำอีก 9 ราย ดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีณวรรษเพียงคนเดียว ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากคำปราศรัยที่ขอให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

13 ก.พ. 2564 กลุ่ม "ราษฎร" จัดการชุมนุม 'นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน' บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งนี้ ก่อนการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตั้งจุดคัดกรองก่อนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการตรวจค้นสิ่งของของผู้ที่เดินผ่านพื้นที่การชุมนุม และการตรวจค้นรถมอเตอร์ไซค์ที่เข้าไปในพื้นที่

หลังจากผู้จัดการชุมนุมได้ติดตั้งเครื่องเสียงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าเจรจาขอให้นำรถขนเครื่องเสียงออกจากพื้นที่การชุมนุม และมีการประกาศผ่านรถขยายเสียงขอตำรวจด้วยว่า การชุมนุมครั้งนี้เข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ทางผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุมต่อไป โดยมีการสวมหน้ากากอนามัย

เวลา 17.30 น. ผู้ชุมนุมราษฎรทำการรื้อกระถางต้นไม้บนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นได้นำป้ายผ้าสีแดงซึ่งผู้ชุมนุมได้ร่วมกันเขียนข้อความเรียกร้องต่อรัฐบาล เช่น ต่อต้านการรัฐประหาร, ยกเลิกมาตรา 112 นำไปคลุมอนุสาวรีย์ฯ ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังศาลหลักเมืองเพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่เมื่อถึงหน้าศาลฎีกา ได้ถูกตำรวจวางแนวขวางไว้

เวลา 19.48 น. "ครูใหญ่" อรรถพล บัวพัฒน์ ปราศรัย ว่าจากการเจรจา ตำรวจยอมยุติการใช้เสียง ยอมให้รื้อรั้วลวดหนามที่จะเป็นอันตรายกับผู้ชุมนุม และปิดไฟแรงสูงที่สาดใส่ผู้ชุมนุม ตัวแทนผู้ชุมนุม 4 คน เข้าไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลหลักเมือง และประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 20.30 น.

อย่างไรก็ตามหลังตัวแทนผู้ชุมนุมประกาศยุติและเคลื่อนรถเครื่องเสียงพร้อมพาผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนยังคงอยู่ที่หน้าศาลฎีกา บางส่วนอยู่ภายในสนามหลวง และมีการขว้างปาสิ่งของ จากนั้นตำรวจได้เคลื่อนรถฉีดน้ำ และเคลื่อนกำลังเข้าสลายผู้ชุมนุมที่ยังอยู่ถนนหน้าศาลฎีกา และจับกุมผู้ชุมนุมรวมถึงประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น โดยมีรายงานข่าวถึงการใช้กำลังเข้าจับกุมอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานว่า ผู้ชุมนุม-พยาบาลอาสา-คนไร้บ้าน ถูกจับกุมอย่างน้อย 11 คน (https://tlhr2014.com/archives/25897)

นอกจากนั้น วันที่ 19 ก.พ. 2564 พนักงานสอบสวน สน.สําราญราษฎร์ ยังได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรม "ราษฎร" เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากกิจกรรมดังกล่าวถึง 9 ราย

4 มี.ค. 2564 "แอมป์" ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา พร้อมเพื่อนนักกิจกรรมอีก 6 คน ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ตี้-พะเยา” วรรณวลี ธรรมสัตยา, ชนินทร์ วงษ์ศรี และเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “แหวน”​ ณัฏฐธิดา มีวังปลา, ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศีกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.สําราญราษฎร์ ตามหมายเรียก

ร.ต.ท. รณกร วัฒนกุล รองสารวัตร (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งเจ็ด 5 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมกันชุมนุมหรือจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ร่วมกันดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

และได้แจ้งข้อหาณวรรษอีก 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โดยในหมายเรียกผู้ต้องหาของณวรรษไม่ได้ระบุข้อหาตามมาตรา 112

ณวรรษให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเขียนข้อความว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมไม่ขอเดชะ นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา” ในช่องลงลายมือชื่อท้ายบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวณวรรษไว้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า บรรยากาศการรับทราบข้อกล่าวหาวันนี้ มีการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ ล้อมรั้วเหล็ก และตั้งจุดคัดกรอง และให้บุคคลภายนอกแลกบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรผู้ติดต่อ และมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบประมาณ 4-5 นาย ตรึงกำลังอยู่บริเวณหน้า สน. นอกจากนี้ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเก็บภาพขณะที่ณวรรษเดินเข้า สน. และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนั่งอยู่ในห้องสอบสวนตลอดกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา

สำหรับ ณวรรษ คดีนี้ถือเป็นคดีมาตรา 112 ที่ 3 แล้ว ก่อนหน้านี้ เขาถูกดำเนินคดีจากการอ่านแถลงการณ์ในการชุมนุม #ม็อบ26ตุลา หน้าสถานทูตเยอรมนี และการปราศรัยในชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.สำราญราษฎร์ ลงวันที่ 4 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26561)

ภูมิหลัง

  • ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา
    เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. โดยค่อนข้างเอนเอียงไปกับ กปปส. แต่ด้วยความที่ที่บ้านมีช่องเคเบิ้ลของทั้งเสื้อแดง ทั้งเสื้อเหลือง ทำให้ณวรรษเริ่มตั้งคำถาม

    ต้นปี 2563 ที่ณวรรษเพิ่งเรียนจบ กำลังรอรับปริญญา ได้รู้จักนักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ เข้าร่วมกลุ่มตลาดหลวง (Royalist Marketplace) ในเฟซบุ๊ก จนชัดเจนกับตัวเองว่าจะอยู่ฝั่งไหน เวลาผ่านไป 2 ปี ณวรรษเปลี่ยนมาสนใจการเมืองขนาดที่กลายเป็นทุกอย่างในชีวิต มองโลกด้วยมุมมองของคนที่เป็นผู้ใหญ่ เข้าใจว่าหลายอย่างในประเทศมันถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางการเมือง

    (อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/40629)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์