ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • กีดขวางทางสาธารณะ (มาตรา 385)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.3081/2564
แดง อ.1111/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผกก.สน.สําราญราษฎร์ กับพวก (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • กีดขวางทางสาธารณะ (มาตรา 385)

หมายเลขคดี

ดำ อ.3081/2564
แดง อ.1111/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผกก.สน.สําราญราษฎร์ กับพวก

ความสำคัญของคดี

"แอมป์" ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมกลุ่ม "ราษฎร" และบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากคำปราศรัยที่ขอให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ใน #ม็อบ13กุมภา หรือ กิจกรรมนับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรซึ่งถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร นอกจากข้อหาตามมาตรา 112 แล้วณวรรษยังถูกดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุมอีกหลายข้อหา

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

กชพรพรรณ วณิชยาชัยสิริ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 บรรยายฟ้องมีใจความว่า จําเลยกับพวกซึ่งพนักงานสอบสวนได้แยกสํานวนการสอบสวนไปดําเนินการอีกส่วนหนึ่งแล้ว ได้ร่วมกันกระทําความต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 เป็นเวลาที่ประกาศและข้อกําหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลบังคับใช้ จําเลยกับพวก 8 ราย ได้แก่ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, อรรถพล บัวพัฒน์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ธนาธร วิทยเบญจางค์, ณัฏฐธิดา มีวังปลา และเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ ได้ร่วมกันนํารถยนต์บรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงใช้เป็นเวทีปราศรัย และมีการนําผ้าสีแดงยาวประมาณ 30 เมตร มาปูบนพื้นผิวถนนให้กลุ่มผู้ชุมนุมเขียนข้อความและนําไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันเป็นการร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ เป็นเหตุให้รถยนต์และประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ถนนสัญจรไปมาได้ตามปกติ และเป็นการร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

จากนั้นได้ร่วมกันชุมนุมจัดทํากิจกรรม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอํานาจให้ประชาชน” ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการยกเลิกความกฎหมายอาญา มาตรา 112 และให้นายกรัฐมนตรีลาออก โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรค อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

2. ขณะที่ทำกิจกรรมดังกล่าว จําเลยได้หมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยต่อประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง มีเนื้อหาเรียกร้องให้รัชกาลที่ 10 ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และทวงถามเรื่องการใช้เงินภาษีของประชาชน อันไม่ใช่การกระทําภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เป็นการหมิ่นประมาทใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ให้เสื่อมเสีย ทําให้ประชาชนที่หลงเชื่อข้อความที่จําเลยได้พูดปราศรัยเสื่อมศรัทธาต่อพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

3. จําเลยกับพวกได้ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงประกาศโฆษณาสั่งการให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมขึ้นไปยังบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นําต้นไม้ที่วางประดับรอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ออกไป ทําให้กิ่งก้านต้นไม้ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ได้ฉีกขาดหักเสียหาย จํานวน 8 รายการ รวมราคา 5,968,000 บาท

4. ในการที่จําเลยกับพวกร่วมกันปราศรัย แสดงความคิดเห็นต่อประชาชนที่มารวมกลุ่มชุมนุมทางการเมือง จำเลยได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3081/2564 ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ณวรรษเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ที่สถานีตำรวจนครบาลสําราญราษฎร์ พร้อมเพื่อนนักกิจกรรมอีก 6 คน ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ตี้-พะเยา” วรรณวลี ธรรมสัตยา, ชนินทร์ วงษ์ศรี และเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “แหวน”​ ณัฏฐธิดา มีวังปลา, ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศีกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหมดได้รับหมายเรียกจาก #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งจัดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564

    ร.ต.ท. รณกร วัฒนกุล รองสารวัตร (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาให้ทั้งเจ็ดทราบ ดังนี้

    เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ต้องหาได้เข้าร่วมการชุมนุม และมีการขึ้นปราศรัยบนเวทีปราศรัยหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการนำผ้าแดงขนาดใหญ่ลงไปปูพื้นถนนผิวการจราจร เพื่อร่วมกันเขียนข้อความ และกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากลงไปทำกิจกรรมบนถนน มีการปิดเส้นทางการจราจรโดยไม่รับอนุญาต

    ต่อมา ภาณุพงศ์ จาดนอก และณวรรษ ได้ร่วมกันปราศรัยและสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ที่วางประดับรอบอนุสาวรีย์ฯ ซึ่ง ปนัสยา และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ ทำให้ต้นไม้ในความดูแลของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย มูลค่า 5,968,000 บาท และณวรรษยังได้กล่าว 2 ข้อความ เรียกร้องให้กษัตริย์รัชกาลที่ 10 อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งข้อความดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

    รวมถึงมีการตั้งสิ่งกีดขวางการจราจร เจ้าหน้าที่ได้พยายามแจ้งและประกาศเตือนให้เลิกกระทำ แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก จากนั้นเวลาประมาณ 20.30 น. ได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมมุ่งหน้าไปยังศาลหลักเมือง ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมกันชุมนุม อาจเป็นต้นเหตุให้โรคแพร่ระบาด ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งเจ็ด 5 ข้อหา ได้แก่

    1. ฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมกันชุมนุมหรือจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    2. พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) ร่วมกันดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
    3. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรฯ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
    4. พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 39 ร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
    5. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

    และได้แจ้งข้อหาณวรรษอีก 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 358 ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยณวรรษจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 5 เม.ย. 2564 และเขียนข้อความว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมไม่ขอเดชะ นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา” ในช่องลงลายมือชื่อท้ายบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวณวรรษไว้ และนัดส่งตัวให้อัยการในวันที่ 9 เม.ย. 2564 ที่สำนักอัยการสูงสุด รัชดา

    อนึ่ง ณวรรษเผยว่า ในหมายเรียกผู้ต้องหาไม่ได้ระบุข้อหาตามมาตรา 112 แต่เมื่อมาถึง สน. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหานี้เพิ่มด้วย

    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า บรรยากาศการรับทราบข้อกล่าวหาวันนี้ มีการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ ล้อมรั้วเหล็ก และตั้งจุดคัดกรอง และให้บุคคลภายนอกแลกบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรผู้ติดต่อ และมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบประมาณ 4-5 นาย ตรึงกำลังอยู่บริเวณหน้า สน. นอกจากนี้ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเก็บภาพขณะที่ณวรรษเดินเข้า สน. และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนั่งอยู่ในห้องสอบสวนตลอดกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา

    สำหรับ ณวรรษ คดีนี้ถือเป็นคดีมาตรา 112 ที่ 3 แล้ว ก่อนหน้านี้ เขาถูกดำเนินคดีจากการอ่านแถลงการณ์ในการชุมนุม #ม็อบ26ตุลา หน้าสถานทูตเยอรมนี และการปราศรัยในชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.สำราญราษฎร์ ลงวันที่ 4 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26561)
  • ผู้รับมอบอำนาจณวรรษยื่นหนังสือขอเลื่อนนัดส่งตัวอัยการเป็นวันที่ 20 เม.ย. 2564 เวลา 10.00 น.
  • ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ณวรรษเดินทางไปตามนัดส่งตัวให้อัยการ พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 25 พ.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
  • ณวรรษเดินทางไปฟังคำสั่งอัยการ อัยการมีคำสั่งเลื่อนนัดไปในวันที่ 29 มิ.ย. 2564 เวลา 10.00 น.
  • ณวรรษเดินทางไปฟังคำสั่งอัยการ แต่อัยการมีคำสั่งเลื่อนนัด
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 มีคำสั่งฟ้องคดีณวรรษ และยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ใน 6 ข้อหา ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันติดตั้งหรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะโดยมิได้รับอนุญาต และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

    ท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการนอกจากขอให้ศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจําเลยตามกฎหมายแล้ว ยังขอให้ศาลริบของกลางเป็นผ้าสีแดงยาวประมาณ 30 เมตร ด้วย แต่ไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว

    ต่อมาเวลา 17.08 น. หลังศาลรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3081/2564 ทนายความได้ยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นใด พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 ก.พ. 2565 เวลา 9.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3081/2564 ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38721)


  • ทนายจําเลยยื่นคําร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากเพิ่งได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นทนายความจําเลยในคดีนี้ ประกอบกับโจทก์เพิ่งยื่นเอกสารเข้ามา จึงขอตรวจสอบรายละเอียด โจทก์ไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดพร้อมสอบคําให้การ และตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 มี.ค. 2565 เวลา 13.30 น. โดยในนัดหน้าให้โจทก์และจําเลยจัดทําคําแถลงสรุปพยาน รายละเอียดที่จะต้องสืบพยาน จัดกลุ่มพยานที่เกี่ยวข้องกัน และให้ทนายจําเลยทําคําแถลงแนวทางต่อสู้คดีของจําเลยส่งต่อศาล

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3081/2564 ลงวันที่ 14 ก.พ. 2565)
  • นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 16 มี.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยวันนที่ 17 มี.ค. 2566
  • วันแรกของนัดสืบพยาน แอมป์ตัดสินใจถอนคำให้การเดิม เปลี่ยนเป็นให้การเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา อัยการแถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลยรายงานต่อศาล ก่อนนัดฟังรายงานการสืบเสาะฯและฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 เม.ย. 2566 เวลา 09.00 น.
  • หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 903 แอมป์เดินทางมาศาลเพียงคนเดียว มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มาร่วมฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย

    เมื่อเข้าไปในห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์นำรายงานการสืบเสาะจากพนักงานคุมประพฤติมาให้จำเลยอ่านเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยในรายงานได้บรรยายถึงประวัติและการกระทำความผิดของจำเลย และสุดท้ายพนักงานคุมประพฤติได้ให้ความเห็นว่า เพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบ การคุมประพฤติอาจไม่เหมาะสม

    เวลา 12.10 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาใส่กุญแจมือจำเลย ก่อนศาลจะอ่านคำพิพากษา ใจความโดยสรุปว่า

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 358, มาตรา 385, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

    ข้อหาตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ส่วนในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มาตรา 358, มาตรา 385 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด คือ ฐานทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท

    ข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท (อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายฯ มีข้อสังเกตว่าในข้อหานี้ กฎหมายได้ระวางโทษปรับไว้เพียงไม่เกิน 200 บาทเท่านั้น)

    จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน และปรับ 1,500 บาท เนื่องจากจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกันหลายคดี จึงไม่รอการลงโทษ

    หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ศาลได้กล่าวกับจำเลยว่าหากยื่นคำร้องขอประกันตัว ศาลจะส่งให้ศาลสูงเป็นผู้พิจารณา เจ้าหน้าที่ศาลจึงได้เข้ามาควบคุมตัวจำเลยไปไว้ยังห้องขังใต้ถุนศาลระหว่างรอคำสั่งศาล

    เวลา 16.57 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยให้วางหลักประกันตัว 100,000 บาท เท่ากับหลักประกันเดิมที่เคยวางในประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี หากผิดสัญญาประกันให้ยึดหลักประกัน หลักทรัพย์ดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    ทั้งนี้ แอมป์ถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 4 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีแรกที่มีคำพิพากษาในศาลชั้นต้น และเมื่อรวมกับคดีร่วมชุมนุมอื่นๆ ทำให้เขาถูกกล่าวหาไปแล้วรวม 18 คดี แต่ยังไม่มีคำพิพากษาคดีใดที่ศาลเห็นว่ามีความผิดและลงโทษจำคุกมาก่อน

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3081/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1111/2566 ลงวันที่ 26 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55544)
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 608 นอกจากณวรรษ มีประชาชน สื่ออิสระ และเพื่อนของณวรรษเดินทางมาให้กำลังใจและร่วมสังเกตการณ์คดี ต่อมาศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สามารถสรุปได้ดังนี้

    เห็นว่า ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของสุจริตชนที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง

    ลำพังจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเจ็บป่วย เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัว ไม่มีเหตุผลที่จะให้โอกาสปรับตัวโดยรอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษ เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพความผิดและยังไม่เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก

    ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เดิมศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 1,000 บาท เป็นการลงโทษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์สามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เป็นความผิดพินัย ให้ปรับเป็นพินัยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ 200 บาท

    นอกจากนี้ โจทก์ขอให้ริบของกลางเป็นผ้าสีแดงยาว 30 เมตร ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งว่าริบหรือไม่ เรื่องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์สามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จึงให้ริบผ้าสีแดงยาว 30 เมตร ซึ่งเป็นของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

    กล่าวโดยสรุปคือ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในความผิดตามมาตรา 112, ทำให้เสียทรัพย์, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ ตามมาตรา 385 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จำคุก 1 ปี 7 เดือน และปรับ 1,000 บาท ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ พิพากษาแก้เป็นปรับพินัย 200 บาท รวมจำคุก 1 ปี 7 เดือน และปรับ 1,200 บาท ริบผ้าสีแดงของกลาง

    ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษาอุทธรณ์ ได้แก่ ทวีศักดิ์ จันทร์วีระเสถียร, ณเรศ ทรงประกอบ และ วิรัตน์ กาญจนเลขา

    หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ศาลได้เข้ามาควบคุมตัวจำเลยไปไว้ยังห้องขังใต้ถุนศาล ขณะทนายความยื่นคำร้องขอประกันระหว่างฎีกา

    ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันให้ศาลฎีกาพิจารณา ทำให้ณวรรษถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำสั่งศาลฎีกาว่าจะให้ประกันหรือไม่

    และทำให้ผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มจำนวนเป็นอย่างน้อย 34 คน โดยเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 23 คน ในจำนวน 34 คน ยังเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ถึง 25 คน

    ทั้งนี้ ณวรรษถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 6 คดี โดยปัจจุบันคดีนี้เป็นคดีแรกและคดีเดียวที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/71619)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ศรีรัตน์ คงเพชร
  2. มนตรี สาโรช

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 26-04-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ทวีศักดิ์ จันทร์วีระเสถียร
  2. ณเรศ ทรงประกอบ
  3. วิรัตน์ กาญจนเลขา

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 09-12-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์