สรุปความสำคัญ

3 ส.ค. 2564 มีการจัดกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์2 ที่หอศิลปฯ กรุงเทพฯ ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมได้ปราศรัยถึงประเด็นปัญหาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยเป็นครั้งแรก ก่อนจะนำไปสู่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ครั้งนี้อานนท์กล่าวปราศรัยย้ำถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาอีกครั้ง และภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็ออกหมายจับอานนท์ในข้อหา ม.112 โดยมีนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ.ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่าง เข้าแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน และแม้อานนท์จะเดินทางเข้ามอบตัวในทันที ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่กลับไม่ได้รับการประกันตัวเลยตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนกระทั่งชั้นพิจารณา แม้จะมีการยื่นประกันหลายต่อหลายครั้ง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อานนท์ นำภา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

3 ส.ค. 2564 ที่ลานหน้าหอศิลปฯ กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรม 'เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน' ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งครั้งนั้นอานนท์ นำภา ได้เริ่มปราศรัยในที่สาธารณะถึงประเด็นปัญหาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยเป็นครั้งแรก ก่อนจะนำไปสู่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ครั้งนี้ อานนท์ปราศรัยย้ำถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาอีกครั้ง พร้อมทั้งย้ำ 3 ข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหวของประชาชนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ไล่ประยุทธ์, แก้ รธน. และปฏิรูปสถาบันสถาบันกษัตริย์ ซึ่งต้องเรียกร้องไปพร้อมๆ กัน ด้วยสันติวิธีเพดานสูงสุด ยืนยันว่า แค่ต้องการแก้ไขระบอบให้ดีขึ้น ขอฝ่ายปฏิกิริยา อย่าเสนอ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ เพราะมันจะมีตัวเลือกที่ 3 คือ ‘สาธารณรัฐ’ (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2021/08/94277)

ต่อมา วันที่ 9 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม ทราบว่าตนถูกออกหมายจับจากการปราศรัยในวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา จึงเดินทางเข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน

หลังเดินทางไปถึง สน.ปทุมวัน เวลา 19.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการแสดงหมายจับต่ออานนท์ พร้อมกับแจ้งข้อหาและสิทธิของผู้ต้องหา โดยพบว่าเป็นหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ออกเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 มีสมชาย พฤกษ์ชัยกุล เป็นผู้พิพากษาที่ออกหมาย ระบุ 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยในหมายจับไม่มีการติ๊กเหตุแห่งการออกหมายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในการแจ้งพฤติการณ์แห่งคดี ปรากฏชื่อ นพดล พรหมภาสิต เป็นผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีอานนท์

พนักงานสอบสวนยังแจ้งข้อหาเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม โดยอ้างถึงประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 9) ข้อ 3 และประกาศกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 36)

อานนท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไปภายใน 30 วัน

หลังเสร็จกระบวนการสอบปากคำในคืนนั้นอานนท์ยังถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ปทุมวัน รวม 2 คืน โดยอ้างอำนาจการควบคุมตัว 48 ชม.ของพนักงานสอบสวน และปฏิเสธให้ประกันในชั้นนี้ ก่อนถูกนำตัวไปยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 11 ส.ค. 2564 โดยหลังศาลรับฝากขัง แม้อานนท์จะคัดค้าน อธิบกีศาลอาญากรุงเทพใต้ยังปฏิเสธให้ประกันตัวในระหว่างสอบสวน ทำให้อานนท์ถูกควบคุมตัวไปกักตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางในทันที

สำหรับนพดล พรหมภาสิต เป็นผู้กล่าวหานักกิจกรรมทางการเมืองในคดีมาตรา 112 คดีของอานนท์นี้ เป็นคดีที่ 5 เป็นอย่างน้อยแล้ว ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้กล่าวหาทั้งพริษฐ์ ชิวารักษ์, ปิยรัฐ จงเทพ และชลธิชา แจ้งเร็ว ในคดีที่ บก.ปอท. อีกด้วย

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม, บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 9 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33255)

ภูมิหลัง

  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์