ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ดำ อ. 1671/2564

ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ. 1671/2564
ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ.

ความสำคัญของคดี

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม กล่าวปราศรัยย้ำถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาอีกครั้ง ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พ็อตเตอร์2 ที่หอศิลปฯ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ครั้งแรกหลังจากที่เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เพียง 70 วัน

หลังการปราศรัยไม่ถึง 1 สัปดาห์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ออกหมายจับอานนท์ในข้อหา ม.112 โดยมีนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ.ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่าง เข้าแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน จากนั้นอานนท์ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเลยตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนกระทั่งชั้นพิจารณา แม้จะมีการยื่นประกันหลายต่อหลายครั้ง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พีระพงษ์ พานิชสุข พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 บรรยายฟ้องระบุว่า

ก่อนเกิดเหตุวันที่ 2 ส.ค. 2564 จําเลยได้ลงประกาศเชิญชวนประชาชนทั่วไปผ่านบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ชื่อ “อานนท์ นําภา” มีข้อความว่า “ครบ 1 ปี แฮรี่พอตเตอร์ แต่ลอร์ดโวลเดอมอร์ยังอยู่ มาร่วมฟังปราศรัยการเมืองแบบตรงไปตรงมากันอีกครั้งครับ 16.00 น. หน้าหอศิลป์ กทม. แยกปทุมวัน” พร้อมด้วยภาพประชาสัมพันธ์ซึ่งปรากฏข้อความว่า “ลอร์ดโวลเดอมอร์ ยังไม่ตาย เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน วันที่ 7 ส.ค. 2564 เวลา 16.00 – 19.00 น. ณ ลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ” อันเป็นการเชิญชวน หรือนัดหมายให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลเพื่อชุมนุมทางการเมือง โดยจําเลยได้ตั้งค่าประกาศดังกล่าวไว้เป็นสาธารณะ (Public) เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงประกาศดังกล่าว

1. ต่อมา วันที่ 3 ส.ค. 2564 จำเลยกับพวกอีก 27 คน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แยกดำเนินคดีในศาลแขวงแล้ว ได้ร่วมกันกระทำความผิด กล่าวคือ จําเลยกับพวกรวม 7 คน เป็นผู้ร่วมกันจัดกิจกรรม จําเลยกับพวกรวม 7 คนนี้ยังได้ร่วมกันกับพวกอีก 21 คน รวมจํานวนทั้งสิ้น 28 คน ชุมนุม ทํากิจกรรม หรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด ภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามคําสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ผกก.สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ แจ้งให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยกับพวกไม่ยุติการชุมนุม ทั้งยังทำการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

2. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ และผู้ใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ตลอดจนจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือให้เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและพลเมืองหรือปวงชนชาวไทยต่างมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดํารงอยู่คู่ประเทศชาติตลอดไป

นอกจากนี้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันซึ่งเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนไทยทั้งชาติและเป็นสถาบันหลักของชาติที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะพระประมุขของชาติ อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ผู้ใดจะนําสถาบันพระมหากษัตริย์มาล้อเลียนมิได้ คนไทยทุกคนต่างล้วนสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ รวมถึงการกล่าวถึงพระนามของพระมหากษัตริย์ต้องแสดงออกด้วยความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีอันเป็นสิ่งที่คนไทยโดยทั่วไปพึงปฏิบัติสั่งสมกันตลอดมา

กลุ่มจำเลยกับพวก ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยสลับสับเปลี่ยนกันไปตามลําดับ โดยพูดผ่านไมโครโฟนที่เชื่อมต่อกับลําโพง แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ บนเวทีปราศรัยชั่วคราวที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียง อยู่บริเวณส่วนตอนท้ายกระบะบรรทุกของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล

โดยในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยได้กล่าวปราศรัยให้ประชาชนราว 400 คน ที่มาร่วมชุมนุม, ประชาชนทั่วไปที่สัญจรไปมาใกล้เคียว และประชาชนที่รับชมการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก มีข้อความสำคัญว่า

"เราเปลี่ยนวิธีคิดของกษัตริย์จากเดิมเป็นเจ้าชีวิต เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เราก็เปลี่ยนความคิดกลายเป็นคนเท่ากัน มึงกูเท่ากัน …หนึ่งปีหลังจากนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้มีการตอบโต้พวกเราอย่างรุนแรงเช่นกัน …. เราเรียกร้องให้ในหลวงเสด็จกลับมาอยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องไปอยู่เยอรมัน สุดท้ายท่านก็กลับมา แต่ไม่ได้กลับมาเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีการระดมคนใส่เสื้อเหลืองมาเข้าเฝ้ามาให้กําลังใจมาวัดกันว่าใครเยอะกว่ากัน ท่านหน้าแตกไปครั้งหนึ่งแล้ว คือ คนมาแค่หยิบมือ ไม่เป็นไร ท่านก็ยังไปต่อ … สุดท้ายหน้าแตกเป็นครั้งที่สอง น้องมัธยมชูสามนิ้วกันหมด...”

ข้อความดังกล่าว กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีความหมายแสดงว่า พระองค์ทรงมิได้ดํารงตนอยู่เหนือการต่อสู้ขับเคลื่อนทางการเมือง ทรงอยู่เบื้องหลัง สั่งการ หรือสนับสนุนให้ภาครัฐ และประชาชนอีกกลุ่มซึ่งไม่ได้มีทัศนคติทางการเมืองตรงกันกับกลุ่มของจําเลย เข้าตอบโต้ต่อสู้กับกลุ่มของจําเลยอย่างรุนแรง อันเป็นการเสื่อมเสียอย่างมากต่อพระเกียรติ และภาพลักษณ์ของพระองค์

“...การชุมนุมของพวกเราได้ถูกตีแผ่ออกไปทั่วโลกถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ … เราพูดถึงการที่กษัตริย์โอนเอาทรัพย์สินของหลวงไปเป็นของตัวเอง ทําให้พวกเราโดนคดีหลายคน สถาบันก็ยังอยู่เหมือนเดิม คือ ยังไม่ยอมปรับตัว...”

“...คุณจุลเจิมจะกล้าพิพากษาไหมว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่เคยโอนเอาทรัพย์สินของสาธารณะไปเป็นของตัวเอง หุ้นไทยพาณิชย์ เป็นต้น…”

“...พวกเขาตอบโต้สิ่งที่สถาบันกษัตริย์ทํากับประชาชน... หนึ่งปีผ่านไปนอกจากเราจะไม่ได้รับคําตอบว่าท่านจะยอมปรับตัวหรือไม่ แต่เรากลับถูกตอบโต้อีกหลายอย่าง… ในหลวงท่านยังไม่ได้มีท่าทีที่จะหยุดพฤติการณ์ที่เราเรียกร้องให้ท่านหยุด ยังมีการถ่ายโอนทรัพย์สินเดิมเป็นของพวกเราที่ใช้ร่วมกันไปอยู่ในการครอบครองของตัวเอง… ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ลานพระบรมรูปทรงม้า หลายคนที่รักศรัทธาก็ไปกราบไหว้ ไปทํากิจกรรม ไปชุมนุม ตอนนี้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ล้อมรั้วเป็นของตัวเองแล้ว… ไม่รวมถึงรัฐสภาเดิม สวนสัตว์ หรือแม้แต่สนามม้านางเลิ้ง ตอนนี้ก็มีการปรับปรุงไปเป็นของตัวเอง…”

ข้อความดังกล่าว กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความหมายแสดงว่า พระองค์ทรงมีพฤติกรรมไม่ชอบในทางทรัพย์สิน หรือมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนพระองค์เป็นสําคัญ กล่าวคือ พฤติการณ์การถ่ายโอนเอาทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันไปเป็นของพระองค์แต่เพียงผู้เดียวในทํานองการยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นของหลวงของแผ่นดิน อันเป็นการเสื่อมเสียอย่างมากต่อพระเกียรติและภาพลักษณ์ของพระองค์

“ไอ้ประยุทธ์มันเชื่อว่ามันห้อยพระดี ที่ชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวันที่มันสาบานตน เข้ารับหน้าที่ สาบานไม่ครบ ก็มีการชูรูปชูข้อความของในหลวงรัชกาลที่ 10 บอกว่านี่กูมีแบ็ค เพราะอะไร การมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ …ถ้าบริษัทสยามไบโอไซน์ ไม่ใช่คนที่ถือหุ้นใหญ่ ชื่อ วชิราลงกรณ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาเงินภาษีเราไปอุดหนุนไหม …ถ้าบริษัทนั้นไม่ใช่ของกษัตริย์ ทําไมประยุทธ์ไม่นําวัคซีนดีๆ มาฉีดให้พวกเราทุกคน เหตุผลเดียวก็คือ มันกลัววัคซีนของกษัตริย์ขายไม่ได้

“ถ้ามีการนําวัคซีน mRNA Pfizer ก็ดี Moderna ก็ดีเข้ามา มาฉีดให้พวกเรา มาฉีดป้องกันให้พวกเรา แล้วพวกเราหาย พวกเราไม่เป็นโควิด วัคซีนของกษัตริย์ก็ขายไม่ได้ เรื่องมันมีอยู่แค่นี้จริงๆ ...ขอแค่ว่าให้มีซีนให้สถาบันกษัตริย์มาโปรยวัคซีนเมตตาให้พวกเรา เขาคิดแค่นั้น…”

ข้อความดังกล่าว กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้อยคําหรือข้อความดังกล่าวมีความหมายแสดงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้น ทรงมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับรัฐบาล หรือมุ่งใส่พระทัยในผลประโยชน์โดยมิชอบในทางทรัพย์สินส่วนพระองค์ ร่วมกันกับรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงภายในประเทศ โดยมิได้ใส่พระทัยในความเป็นอยู่ที่ยากลําบากหรือการเจ็บป่วยล้มตายของประชาชน แม้เป็นการกล่าวในลักษณะว่าร้ายโดยเจาะจงแก่นายกรัฐมนตรี แต่ด้วยการกล่าวถึงเหตุผลประกอบต่างๆ แล้ว การกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเพียงลักษณะของการใช้สํานวนโวหารเพื่อให้บรรลุความประสงค์แท้จริงในการใส่ความพระมหากษัตริย์ของจําเลยเท่านั้น อันเป็นการเสื่อมเสียอย่างมากต่อพระเกียรติ และภาพลักษณ์ของพระองค์

ทั้งนี้ การกล่าวปราศรัยอันปรากฏถ้อยคําและข้อความที่กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะการใส่ความ และยืนยันข้อเท็จจริงของจําเลยข้างต้นนั้น เป็นการใช้เสรีภาพในทางใดๆ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือปวงชนชาวไทยที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

เป็นเหตุให้นพดล พรหมภาสิต ประชาชนซึ่งติดตามสถานการณ์การชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊ก และผู้เข้าร่วมชุมนุม หรือประชาชนโดยทั่วไป เมื่อได้รับฟังแล้วอาจเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในบรรดาพฤติกรรมซึ่งจําเลยกล่าวหาองค์พระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรง หรือเสื่อมความเคารพศรัทธา หรือดูหมิ่น ดูแคลนในพระจริยวัตรและพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ได้ อันเป็นการกล่าวให้ร้าย ใส่ความ กล่าวหา จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือมุ่งหมายที่จะทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยนั้นเสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ทําให้ประชาชนชาวไทยเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญให้ดํารงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดกล่าวหา หรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1671/2564 ลงวันที่ 14 ต.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 18.00 น. อานนท์เดินทางเข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน หลังทราบว่าถูกออกหมายจับการปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาชน หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา

    เมื่อเดินทางไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ออกเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 มีสมชาย พฤกษ์ชัยกุล เป็นผู้พิพากษาที่ออกหมาย ระบุ 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยในหมายจับไม่มีการติ๊กเหตุแห่งการออกหมายแต่อย่างใด

    จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกจับกุม โดยระบุว่าอานนท์ ผู้ถูกออกหมายจับ ได้ประสานงานจะเข้าทำการมอบตัวเองที่ สน.ปทุมวัน การดำเนินการเกิดขึ้นภายใต้การสั่งการของ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 6 โดยมีชุดจับกุม ได้แก่ ตำรวจกองกำกับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล นำโดย พ.ต.ท.นิติกรณ์ ระวัง และตำรวจจากฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน นำโดย พ.ต.อ.เอกภพ ลิขิตธนสมบัติ

    เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้นำตัวอานนท์ส่ง พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์ สารวัตร (สอบสวน) สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่อานนท์ โดยมีทนายความและผู้ไว้วางใจร่วมด้วย

    พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า ก่อนเกิดเหตุ นายนพดล พรหมภาสิต ผู้กล่าวหาได้พบว่า เฟซบุ๊กชื่อ “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group – DRG” โพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมครบรอบ 1 ปี กิจกรรม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” โดยได้ทำการนัดหมายในวันที่ 3 ส.ค. 2564 เวลา 16.00 น. ที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ

    ต่อมาในวันที่ 3 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 15.30 น. บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ได้มีรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงและอุปกรณ์เวทีในการปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งมีกลุ่มผู้เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณดังกล่าวประมาณ 200 คน โดยไม่มีมาตรการในการป้องกันโรคติดต่อ

    จากนั้นเวลาประมาณ 17.34 - 18.09 น. อานนท์ได้ขึ้นพูดปราศรัยกับประชาชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม อันมีเจตนาทำให้พระมหากษัตริย์ด้อยค่า เสื่อมพระเกียรติ โดยปราศรัยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม

    พนักงานสอบสวนยังได้ยกเนื้อหาคำปราศรัยทั้งหมด 5 ช่วงตอนขึ้นมากล่าวหา โดยมีทั้งส่วนที่กล่าวทบทวนถึงสถานการณ์ในปี 2563 ข้อเรียกร้องให้เสด็จกลับจากเยอรมนีมายังประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ที่กษัตริย์โอนทรัพย์สินของแผ่นดินไปเป็นของส่วนพระองค์ และยังไม่ยอมปรับตัว กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการถือหุ้นในบริษัทสยามไบโอไซน์ของรัชกาลที่ 10

    นพดล พรหมภาสิต เห็นว่าข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จึงได้มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดําเนินคดีกับอานนท์ นําภา

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่ออานนท์ 3 ข้อหาหลัก ได้แก่

    1. “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    2. ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 มาตรา 9 (2) ฉบับที่ 15 ข้อ 3 “ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมในสถานที่แออัด ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด” และฉบับที่ 30 ข้อ 4 (1) “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจํานวนมากกว่าห้าคนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”

    3. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

    พนักงานสอบสวนยังแจ้งข้อหาเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม โดยอ้างถึงประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทํากิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 9) ข้อ 3 “ห้ามร่วมกันชุมนุม หรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” และตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ข้อ 7 “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่าห้าคน”

    อานนท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไปภายใน 30 วัน หลังเสร็จกระบวนการอานนท์ยังถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ปทุมวัน และตำรวจจะดำเนินการยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ต่อไป

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม, บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 9 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33255)
  • แม้ว่าตำรวจได้แจ้งข้อหาและทำการสอบสวนอานนท์เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2564 แต่ยังควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจปทุมวันตามอำนาจควบคุมตัว 48 ชั่วโมงโดยไม่ได้นำตัวไปขออำนาจฝากขังในวันที่ 10 ส.ค. 2564

    อานนท์จึงได้ยื่นประกันตัวในชั้นตำรวจ ด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 200,000 บาท แต่ พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภากาญจน์ ปฏิบัติราชการแทน ผกก.สน.ปทุมวัน ไม่อนุญาตให้ประกัน ให้เห็นผลว่า เนื่องจากอานนท์เป็นแกนนําและเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง โดยทุกครั้งที่เคลื่อนไหวมักจะกระทําผิดกฎหมาย และมีแนวโน้มจะจับกลุ่มรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อไปอีก

    ประกอบกับปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นรื่อยๆ อีกทั้งได้ประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะ กลับไปรวมกลุ่มทําผิดกฎหมาย หรือกระทําการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ มั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด และอาจจะทําให้ไปก่อความเสียหาย อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น ทําให้เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน

    (อ้างอิง: หนังสือแจ้งผลการขอปล่อยตัวชั่วคราว สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 10 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33356)
  • พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขังอานนท์ โดยส่งคำร้องขอฝากขังทางระบบอิเล็คทรอนิคในช่วงเช้า มีใจความโดยสรุปว่า

    เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 17.34 – 18.09 น. ที่ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ มีกิจกรรมการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน” ในระหว่างดำเนินกิจกรรมการชุมนุมดังกล่าว ผู้ต้องหาได้แสดงถ้อยคำอันมีเจตนาเพื่อทำให้พระมหากษัตริย์ด้อยค่า เสื่อมพระเกียรติ โดยกล่าวคำปราศรัยอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 10 ต่อประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ผ่านเครื่องขยายเสียงบนรถยนต์กระบะ ต่อมาหลังเกิดเหตุ ผู้กล่าวหาได้เข้าร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ดำเนินคดี

    ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รับตัวผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 20.15 น. และควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ทำการสอบสวนโดยตลอด จะครบ 48 ชั่วโมง ในวันที่ 11 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 20.15 น.

    แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนปากคำพยานอีก 10 ปาก และรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา มีกำหนด 12 วัน ตั้งเเต่วันที่ 11 – 22 ส.ค. 2564

    ท้ายคำร้องขอฝากขังพนักงานสอบสวนระบุว่า หากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอประกันตัวพนักงานสอบสวนขอคัดค้าน เนื่องจากผู้ต้องหาจะไปทำการก่อเหตุอันตรายประการอื่น

    ซึ่งตามเนื้อหาในการปราศรัยของผู้ต้องหา จากบันทึกการถอดเทปกลุ่มผู้ชุมนุมกิจกรรมเสกคาถาแฮรี่พอตเตอร์ วันที่ 3 ส.ค. 2564 (เอกสารจำนวน 7 แผ่น) เป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของประชาชนไทยในลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อันเป็นการกระทำที่มิบังควรอย่างยิ่ง ในฐานะประชาชนชาวไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภารคนหนึ่ง ถือเป็นการกระทำความผิดอันร้ายแรง

    อีกทั้งผู้ต้องหามีความรู้ด้านกฎหมายและประกอบอาชีพทนายความ ยิ่งต้องเข้าใจว่าการกระทำของตนเองเป็นการลบลู่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์อันเป็นความผิด นอกจากนี้ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ได้ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด หากปล่อยชั่วคราวจะสามารถกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก โดยไม่ได้รับการพิจารณาโทษ และจะยิ่งเป็นเยี่ยงอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม กระทบถึงพระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์

    ทั้งยังเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขของศาลอาญาในคดีหมายเลขดำที่ อ.287/2564 (คดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) ที่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหานี้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาไม่ไปกระทำกิจกรรมที่กระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดที่รุนแรงจนไม่อาจวางใจได้

    ในการคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ พนักงานสอบสวนยังระบุถึงความพร้อมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า

    “หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครซึ่งจะรับตัวผู้ต้องหาไปทำการคุมขัง มีมาตรการและขั้นตอนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยเรือนจำมีประสานกับสำนักงานสาธารณสุขพื้นที่ เพื่อตรวจสอบมาตรฐานในการเตรียมรองรับกรณีมีผู้ติดเชื้อได้ทันที, มีการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ศบค.) ประจำเรือนจำ, มีการคัดกรองและตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดในผู้ต้องขัง

    หากพบเชื้อให้ X-ray ปอดทุกรายรวมถึงให้ยาและรักษาให้เร็ว เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง, มีการใส่คลอรีนผสมในน้ำสำหรับอาบของผู้ต้องขัง, กรณีผู้ต้องขังป่วยมีการแจ้งให้ญาติทราบเป็นการเฉพาะรายทางโทรศัพท์หรือช่องทางอื่นอีกด้วย”

    รวมทั้งเชื่อว่าถ้าผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วก็จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1(3)

    เวลา 11.10 น. ศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอฝากขัง หลังทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังและขอให้ศาลเบิกตัวอานนท์ไปสอบถาม โดยพนักงานสอบสวนได้ควบคุมอานนท์ไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อทำการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ในเวลาประมาณ 11.43 น.

    12.15 น. ศาลได้ไต่สวนด้วยระบบคอนเฟอเรนซ์ (ไม่ออกนั่งในห้องพิจารณา) เสร็จสิ้น โดยมีการไต่สวนพนักงานสอบสวน 1 ปาก และผู้ต้องหา 1 ปาก

    ++“อานนท์” คัดค้านฝากขัง เหตุเกินจำเป็น สร้างภาระ และกระทบต่ออาชีพทนายความ++

    พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์ พนักงานสอบสวนผู้ร้อง เบิกความต่อศาลถึงเหตุที่ขอฝากขังอานนท์ตามคำร้อง จากนั้นได้ตอบคำถามค้านของทนายผู้ต้องหาโดยสรุปว่า คดีนี้ผู้ต้องหามามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ไม่ได้ถูกจับ โดยพยานไม่ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรงและมีอัตราโทษสูง

    ในส่วนพยานบุคคลที่พยานอ้างว่ายังสอบไม่เสร็จ 10 ปาก ส่วนหนึ่งเป็นตำรวจ ส่วนหนึ่งเป็นบุคคลที่ได้ยินได้ฟังการปราศรัย และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของสำนักงานเขต ซึ่งหากศาลไม่รับฝากขังหรือปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหามีโอกาสไปข่มขู่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐานได้ อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนระบุว่า พยานภายนอกที่ฟังปราศรัย 4-5 ปากนั้น อยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบว่าพยานดังกล่าวจะเป็นใคร และรับว่า มีพยานวัตถุเป็นคลิปภาพ คลิปเสียง และบันทึกการถอดเทปในการปราศรัยของผู้ต้องหาไว้แล้ว

    พ.ต.ต.เวียงแก้ว ยังตอบทนายความว่า แม้จะมีการสอบสวนไว้แล้วแต่ยังมีบางประเด็นที่อาจสอบสวนเพิ่มเติม แต่เมื่อทนายถามว่า คดีนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่ก็ระบุต่อไปว่า หากไม่รับคำร้องฝากขังหรือปล่อยตัวผู้ต้องหาไป จะกระทบต่อการสอบสวน เนื่องจากผู้ต้องหาแจ้งถิ่นที่อยู่และภูมิลำเนาเพียงจังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีอุปสรรคต่อการออกหมายเรียก เพื่อนำตัวมาส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ

    ทั้งนี้ ในระหว่างที่ พ.ต.ต.เวียงแก้ว เบิกความตอบทนายผู้ต้องหา คณะพนักงานสอบสวนในคดีพยายามจะเข้ามาตอบคำถามเพิ่มเติมในบางประเด็นแทนด้วย

    ต่อมา อานนท์เบิกความตอบทนายว่า ตนประกอบอาชีพทนายความ และเป็นสามัญสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง นอกจากที่อยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดแล้ว ยังมีที่อยู่ในเขตจตุจักร ซึ่งเป็นที่ทำงาน ตนยังมีคดีอยู่ที่ศาลนี้หลายคดี ที่ผ่านมามาศาลตามหมายเรียกทุกครั้ง ไม่เคยมีประวัติการหลบหนีคดีมาก่อน

    ทั้งนี้ คำร้องคัดค้านการฝากขังที่ยื่นต่อศาลยังระบุว่า พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นที่จะยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา เนื่องจาก

    1. ผู้ต้องหาไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานก็อยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น และผู้ต้องหาเองก็ไม่มีพฤติการณ์กระทําความผิดที่เป็นอาชญากรก่อให้เกิดภยันตรายต่อผู้อื่นและสังคม จึงไม่จําเป็นต้องเอาตัวผู้ต้องหาไว้ในอํานาจของศาลแต่อย่างใด

    2. ผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทําความผิด ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทําความผิด อีกทั้งการถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่าผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์จะต้องหลบหนี หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานแต่ประการใด

    อนึ่ง ตามมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญ 2560 การควบคุมผู้ต้องหาให้กระทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้น หากผู้ต้องหาถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนย่อมเป็นการคุมขังที่เกินจำเป็น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังสร้างภาระและกระทบต่อการประกอบอาชีพทนายความของผู้ต้องหา ทั้งยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากปรากฏภายหลังว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีความผิด ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอันมิอาจเยียวยาโดยวิธีการอื่นใดได้

    เวลา 14.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ เป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 11 – 22 ส.ค. 2564 ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนมีเหตุฝากขังผู้ต้องหาเพราะการสอบสวนไม่แล้วเสร็จ ประกอบกับพนักงานสอบสวนเบิกความว่า ผู้ต้องหาจะไปข่มขู่หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานที่เป็นบุคคลภายนอกผู้ฟังปราศรัย แม้ผู้ต้องหายื่นคัดค้านการฝากขัง แต่มีเหตุสมควรตามคำร้อง อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา โดยกำชับพนักงานสอบสวนให้รีบสอบสวนพยานบุคคล

    ++ยื่นประกันชี้ ศาลนี้เคยให้ประกันจำเลยคดี 112 แล้วหลายราย การไม่ให้ประกันอาจเป็นเหตุให้อานนท์มีอันตรายถึงชีวิตจากเหตุติดโควิดในเรือนจำ++

    ต่อมา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ประกันมูลค่า 200,000 บาท ระบุเหตุผลดังนี้

    1. ตามฐานความผิดในคดีนี้ ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยมาหลายคดี อาทิ สิรภพ พึ่งพุ่มพุทธ และชูเกียรติ แสงวงค์ ในคดี #ม็อบ18 พ.ย. (คดีหมายเลขดําที่ อ.841/2564), พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 5 คน ในคดีแต่งชุดครอปท็อปเดินสยามพารากอน (คดีหมายเลขดําที่ อ.1189/2564), จตุพร แซ่อึง ในคดีเดินแฟชั่นโชว์ที่สีลม (คดีหมายเลขดําที่ อ.1265/2564), ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กับพวกรวม 12 คน ในคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน (คดีหมายเลขดําที่ อ.1297/2564) ผู้ต้องหาจึงขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย

    2. พฤติการณ์ที่กล่าวหาในคดีนี้ มีเพียงผู้ต้องหาเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่รับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การคุมขังตัวผู้ต้องหาไว้เป็นการกระทําที่เกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจําเป็น ผู้ต้องหาได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนด้วยตัวเอง และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน เนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหามิได้เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา ผู้ต้องหาประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน เพราะเชื่อมั่นว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรมได้

    3. ผู้ต้องหามีภูมิลําเนาเป็นหลักแหล่งแน่นอน และโดยปกติผู้ต้องหาจะต้องเดินทางมาศาลเป็นประจํา เพื่อว่าความให้กับลูกความ จึงสามารถติดตามผู้ต้องหาได้โดยง่าย อีกทั้งผู้ต้องหาไม่มีความสามารถที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทําความผิดอาชญากรรมหรือต้องโทษในคดีอาญาใด ๆ มาก่อน จึงไม่อาจไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้

    4. คําร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวน ไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใด ๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแม้แต่น้อย จึงขอให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคําร้องโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด บุคคลใดมิได้กระทําความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของผู้ต้องหา หากพบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือมีแนวโน้มจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงเป็นฐานรองรับการใช้ดุลพินิจ ซึ่งผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ดังกล่าว

    5. ขณะนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และยังไม่สามารถคลี่คลายลงได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวมากที่สุดสถานที่หนึ่ง คือ เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะต้องถูกคุมขังในเรือนจําดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ทั้งนี้ผู้ต้องหาเคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการถูกคุมขังในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับสิทธิการปล่อยชั่วคราวมาแล้ว ผู้ต้องหาจึงศาลให้รักษาชีวิตของผู้ต้องหาในครั้งนี้ไว้ด้วย

    เวลา 16.40 น. อาคม รุ่งแจ้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ระหว่างสอบสวน ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงและพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก และมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลอาญาด้วย จึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

    หลังมีคำสั่ง เจ้าหน้าที่นำตัวอานนท์ขึ้นรถผู้ต้องขังออกไปในทันที ทั้งนี้ อานนท์จะต้องถูกกักตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางก่อนเป็นเวลา 14 วัน หากยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะถูกย้ายไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป

    ก่อนหน้านี้ อานนท์เพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังได้รับอิสรภาพเพียง 70 วัน อานนท์ต้องถูกคุมขังในเรือนจำอีกครั้ง ในข้อกล่าวหา 112 เช่นเดิม จากการปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ครั้งแรกหลังได้รับการประกันตัว แม้คดีจะอยู่เพียงชั้นสอบสวน

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขัง, คำร้องคัดค้านฝากขัง, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 11 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33356)
  • เวลา 10.00 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขอประกันตัวอานนท์เป็นครั้งที่ 2 วางหลักทรัพย์ประกันมูลค่า 200,000 บาท และระบุเหตุผลดังนี้

    1. ตามที่ศาลได้มีสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง แต่ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยหลายคดีในฐานความผิดเดียวกัน อาทิ สิรภพ พึ่งพุ่มพุทธ และชูเกียรติ แสงวงค์ ในคดี #ม็อบ18 พ.ย., พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 5 คน ในคดีแต่งชุดครอปท็อปเดินสยามพารากอน, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กับพวกรวม 12 คน ในคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน จึงขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย

    2. ตามที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จากเหตุที่พนักงานสอบสวนคัดค้านว่าผู้ต้องหาจะไปข่มขู่หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานที่เป็นบุคคลภายนอกนั้น ผู้ต้องหาประกอบอาชีพทนายความ เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา ไม่เคยมีประวัติหรือพฤติการณ์ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน อีกทั้งหลักฐานในคดีนี้ก็อยู่ในครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้ว อีกทั้งผู้ต้องหาไม่มีทางรู้ได้ว่าพยานบุคคลในคดีนี้เป็นบุคคลใดบ้าง

    3. ตามที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จากเหตุที่อ้างว่า ผู้ต้องหาฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญานั้น คำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่แนบท้ายมากับคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนเป็นเพียงการกล่าวอ้างของโจทก์ฝ่ายเดียว โดยที่ศาลได้นัดหมายไต่สวนการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวในวันที่ 7 ก.ย. 2564 ซึ่งในระหว่างนี้ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งว่าผู้ต้องหาได้ทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขแต่อย่างใด

    4. ผู้ต้องหามีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งแน่นอน โดยปกติผู้ต้องหาจะเดินทางมาศาลเป็นประจำ เนื่องจากผู้ต้องหาประกอบอาชีพทนายความ จึงสามารถติดต่อได้โดยง่าย อีกทั้งผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล หรือความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษคดีอาญาใดๆ มาก่อน

    5. ผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Right) ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่ชาวเมืองกวางจูมอบให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ

    6. ตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาแม้แต่น้อย

    7. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ยังพบอีกว่า “เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” เป็นสถานที่การระบาดดังกล่าวมากที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีลักษณะแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ซึ่งขณะนี้ผู้ต้องหาได้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาแล้วเป็นเวลา 8 วัน อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตจากการเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด-19 อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผู้ต้องหาเคยติดเชื้อโรคดังกล่าวนี้จากการถูกคุมขังในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว การป่วยครั้งนั้นทำให้ปอดของผู้ต้องหามีความผิดปกติ พบว่ามีอาการเหนื่อยหอบง่าย มีภาวะที่เสี่ยงต่อโรค “ลองโควิด” (LONG COVID) ซึ่งเป็นอาการเรื้อรังของโรคโควิด-19 อีกทั้งในตอนนี้มีผู้ต้องหาทางการเมืองที่ศาลจังหวัดธัญบุรีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นได้ติดเชื้อโควิดแล้วจำนวน 3 ราย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, พรหมศร วีระธรรมจารี และสิริชัย นาถึง

    เวลา 15.00 น. อาคม นิตยากรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ โดยให้เหตุผลว่า ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 เหตุตามคำร้องที่อ้างเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณียังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง

    จากคำสั่งของศาลในวันนี้ ทำให้อานนท์จะยังคงถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางต่อไป ตามมาตรการกักตัวป้องกันโควิดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 18 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33655)
  • พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์ครั้งที่ 2 เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. - 3 ก.ย. 2564 โดยระบุเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนปากคำพยานอีก 10 ปาก รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา และเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บังคับบัญชา

    ด้านทนายความของอานนท์ได้ยื่นคําร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 2 ของพนักงานสอบสวน เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจําเป็นที่จะยื่นคําร้องขอออกหมายขังผู้ต้องต่อไป และการขังผู้ต้องหาต่อไปจะเป็นการขังไว้เกินกว่าความจําเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งยังขอให้ศาลไต่สวนคําร้องขอฝากขังดังกล่าว โดยให้ทนายความผู้ต้องหาได้ซักถามพนักงานสอบสวนเพื่อประกอบการไต่สวนด้วย

    11.00 น. ศาลทำการไต่สวนคำร้อง โดยเบิกตัวอานนท์ผ่านคอนเฟอเรนซ์ไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์ พนักงานสอบสวนได้แถลงถึงเหตุผลในการขอฝากขังตามคำร้อง นอกจากนี้ยังระบุว่า คดีนี้อัตราโทษสูง เป็นคดีที่น่าสนใจของประชาชน และด้วยสภาวะของโรคระบาดโควิด-19 ถ้าปล่อยตัวผู้ต้องหาออกไป จะไปกระทําผิดคดีในลักษณะอย่างเดียวกันนี้อีก เป็นการกระทบเกียรติของพระมหากษัตริย์ จึงขอให้ศาลขังผู้ต้องหาไว้ พร้อมทั้งคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว

    พ.ต.ต.เวียงแก้ว ตอบคำถามของทนายผู้ต้องหาว่า อานนท์ถูกคุมขังมาเป็นเวลา 10 วันแล้ว ที่ผ่านมาทำการสอบพยานได้ 2 ปาก เหลือพยานอีก 8 ปาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอนามัย โดยพยานไม่มั่นใจว่าจะสามารถสอบให้แล้วเสร็จได้ในนัดหน้า ทั้งยังไม่มีรายชื่อของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะทําการสอบสวนดังกล่าว

    พ.ต.ต.เวียงแก้ว รับว่า เจตนาในการขอฝากขังไม่ได้เกี่ยวกับการสอบสวน แต่เพื่อไม่ให้อานนท์ออกไปกระทํากิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นความผิดต่อกฎหมาย และผู้ต้องหาอาจไปกระทําความผิดซ้ำ

    จากนั้น อานนท์ได้แถลงยืนยันว่า การดําเนินกิจกรรมตามที่ถูกกล่าวหา เป็นการใช้เสรีภาพด้วยความเคารพ อยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยอย่างมั่นคง การแสดงออกทางการเมืองจึงเป็นไปด้วยความตรงไปตรงมา หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ยินดีที่จะงดเว้นการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างการพิจารณาคดีจนคดีถึงที่สุด

    หลังการไต่สวน สุชาดา เมธาบุตร อดุลย์ธีรกิจ ผู้พิพากษามีคําสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ครั้งที่ 2 ต่อไปอีกได้ 12 วัน เนื่องจากเห็นว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่ให้พนักงานสอบสวนส่งรายชื่อพยานทั้ง 8 ปากต่อศาลในการฝากขังผู้ต้องหาครั้งต่อไป และกําชับให้เร่งทําการสอบสวนพยานปากดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2, คำร้องคัดค้านคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 20 ส.ค. 2564)
  • เวลา 14.10 น. ทนายความได้เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขอประกันตัวอานนท์ครั้งที่ 3 วางหลักทรัพย์ประกันมูลค่า 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน และระบุเหตุผลดังนี้

    1. เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังจำเลย ครั้งที่ 2 โดยระบุเหตุผลว่า “ยังทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานไม่เสร็จสิ้น” เหตุผลดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา อีกทั้งพบว่า พยานบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและยังสอบสวนไม่เสร็จนั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้มีรายชื่อของพยานที่จะสอบสวนมาแสดงให้ทราบ จึงเห็นได้ว่าการขอฝากขังผู้ต้องหาไม่ได้เป็นไป “เพื่อการสอบสวน” จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะคุมขังผู้ต้องหาไว้ให้กระทบกับเสรีภาพในชีวิตของผู้ต้องหาต่อไป

    2. ขอให้ศาลพิจารณาคำร้องโดยยึดหลัก “ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” และก่อนจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าจำเลยได้ทำผิด จะปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้

    3. พนักงานสอบสวนเคยได้กล่าวถึงเหตุผลในการขอฝากขังผู้ต้องหาว่า “เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาออกไปทำกิจกรรมทางการเมือง” ซึ่งเหตุผลดังกล่าวไม่สามารถใช้เป็นเหตุในการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวนได้ โดยเหตุผลในการควบคุมตัวผู้ต้องหาต้องปรากฏว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี, มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน โดยผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีแต่อย่างใด

    4. ผู้ต้องหาไม่ได้มีการกระทำการที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญาในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และศาลยังไม่มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดังกล่าว ดังนั้นการที่ศาลมีคำสั่งว่า “ผู้ต้องหากระทำการที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญา” จึงเป็นคำสั่งที่ผิดหลงจากข้อเท็จจริง

    5. สถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุดที่หนึ่ง คือ “เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” ซึ่งผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวมาแล้วเป็นเวลา 15 วัน สถานที่คุมขังดังกล่าวมีลักษณะแออัด มีผู้ต้องขังจำนวนมาก อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตจากการเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ต้องหาเคยติดเชื้อโควิด-19 จากการถูกคุมขังในเรือนจำดังกล่าวโดยไม่ได้รับสิทธิการปล่อยชั่วคราวมาแล้ว จากการติดเชื้อครั้งที่แล้วทำให้ปอดของผู้ต้องหาได้รับความเสียหาย ทำให้มีอาการเหนื่อยหอบง่ายผิดปกติ

    ต่อมา เวลา 14.25 น. บัญญัติ ตังกบดี รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์ พิเคราะห์ว่า เหตุผลตามคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่ยื่นต่อศาลในวันนี้ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลลงวันที่ 11 ส.ค. 2564 ทำให้อานนท์ต้องถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางต่อไป หลังถูกคุมขังมาเป็นเวลา 15 วันแล้ว

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 25 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34043)
  • ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสืบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังอานนท์ครั้งที่ 3 ขณะที่ทนายความได้ยื่นคําร้องคัดค้าน และขอให้ศาลไต่สวนคําร้องขอฝากขังดังกล่าว

    เวลา 11.00 น. ศาลเบิกตัวอานนท์ผ่านคอนเฟอเรนซ์ไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เบิกความว่า ยังเหลือพยานต้องสอบปากคำอีก 5 ปาก พยานลำดับที่ 1 – 4 ประกอบด้วย 1. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ 2. ตรีดาว อภัยวงศ์ 3. คมสัน โพธิ์คง 4. กันตเมธส์ จโนภาส ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จะต้องเป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำปราศรัยของอานนท์ ซึ่งได้มีการถอดเทปไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ให้พยานดู ส่วนพยานปากสุดท้าย กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาจะทำหน้าที่แปลความหมายถ้อยคำของอานนท์

    ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนตอบทนายผู้ต้องหาว่า การปล่อยอานนท์ชั่วคราวจะไม่เป็นปัญหาต่อการสอบสวน

    ทางด้านอานนท์ได้แถลงว่า คำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมาย เนื่องจากตนเป็นผู้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีอาชีพเป็นทนายความและมีภารกิจที่ต้องไปว่าความ ประกอบกับช่วงเวลานี้มีการระบาดของเชื้อโควิดภายในเรือนจำอย่างกว้างขวาง จึงขอคัดค้านการฝากขังและขอให้ศาลโปรดพิจารณายกคำร้องของพนักงานสอบสวน

    ต่อมาในเวลา 12.30 น. ตระการ สุรมณี ผู้พิพากษา มีคำสั่งอนุญาตฝากขังอานนท์ต่ออีก 7 วัน โดยระบุว่า “พิเคราะห์เหตุตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 คำให้การผู้ร้อง และคำคัดค้านของผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าเมื่อผู้ร้องยืนยันว่าพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องสอบสวนพยานอีก 5 ปาก และเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บังคับบัญชาอันเป็นกรณีการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นและมีความจำเป็นที่จะต้องฝากขังเพื่อทำการสอบสวนต่อไป กรณีจึงมีเหตุจำเป็น แต่เนื่องจากผู้ต้องหาถูกคุมขังมาโดยตลอดเพื่อให้การสอบสวนแล้วเสร็จโดยเร็ว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้อีก 7 วัน กำชับผู้ร้องให้เร่งรัดการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว”

    หลังศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทนายอานนท์ ครั้งที่ 4 ต่อมาในเวลา 16.25 น. อาคม นิตยากรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่า “ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว 3 ครั้ง พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องของผู้ต้องหาที่ยื่นมาวันนี้แล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3, คำร้องคัดค้านคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 3 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34532)
  • เวลา 14.00 น. พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นผู้มายื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังอานนท์ครั้งที่ 4 ในวันนี้ เบิกความต่อศาลว่า คดีนี้คณะพนักงานสอบสวนยังต้องสอบพยานอีกหลายปาก จึงขอให้ศาลอนุญาตฝากขังอานนท์ต่อไปอีก 12 วัน ระหว่างวันที่ 11-22 ก.ย. 2564 โดยพยานที่จะสอบปากคำเพิ่มเติม ประกอบด้วย ประชาชน 4 คน ซึ่งเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ ประกอบด้วย 1. อําภา สุดรัมย์ 2. พัชรี หงส์พรม 3. จิราพร ต่ำว่าองค์ 4. กัญจ์บงกจ เมฆาประพัฒน์สกุล ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี 1 ราย และสอบปากคำเพิ่มเติมตำรวจสันติบาล 3 นาย ได้แก่ พ.ต.ท.คชภพ คงสมบูรณ์, พ.ต.ท.วิบูลย์ นนทะแสง และ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ อังกนะ จากนั้นจะนำเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อสั่งคดี

    พนักงานสอบสวนตอบศาลถามว่า ที่ต้องสอบพยานที่เป็นประชาชนทั้ง 4 คนดังกล่าว เนื่องจากตำรวจเห็นทั้งสี่ในกล้องที่ถ่ายทอดสด และเห็นว่าทั้งสี่อยู่ในเหตุการณ์ตลอดเวลา พนักงานสอบสวนยังตอบศาลว่า พยาน 5 ปาก ที่ขอเวลาสอบสวนคราวก่อน ได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่แน่ชัดว่าการสอบพยานจะเสร็จสิ้นพอที่จะฟ้องได้ เนื่องจากต้องรอความเห็นของคณะทำงานและผู้บังคับบัญชา

    14.10 น. ทนายความผู้ต้องหาได้ซักถามพนักงานสอบสวนเรื่องพยานที่เพิ่มเข้ามา โดยพนักงานสอบสวนรับว่าพยานชุดใหม่ เป็นพยานที่เพิ่มเข้ามาหลังการขอฝากขังครั้งที่ 3 โดยคดีนี้เป็นคดีที่มีความสลับซับซ้อนจึงต้องหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม

    ทนายความได้ถามว่า พยานทั้งสี่ที่บอกว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้น จะถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ หรือไม่ เพราะไปร่วมชุมนุม พนักงานสอบสวนตอบว่าไม่ถูกดำเนินคดี เพราะเพียงแต่ผ่านไปและมีการใส่หน้ากากป้องกัน มีการนั่งเว้นระยะห่าง โดยทางตำรวจจะเน้นดำเนินคดีเฉพาะแกนนำ

    พนักงานสอบสวนตอบทนายความของอานนท์อีกว่า การสอบพยานอีก 8 ปาก จะเป็นการให้พยานทั้ง 8 อ่านคำถอดเทปของอานนท์ และดูภาพถ่ายเพื่อยืนยัน โดยจำนวนพยานทั้งหมดถูกระบุมาโดยคณะทำงาน

    14.25 น. อานนท์เบิกความ โดยกล่าวว่า “ผมคิดว่าวันนี้ศาลคงมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง แต่ผมอยากเรียนว่าการที่ผมขึ้นปราศรัย มันก็ชัดอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องให้พยานยืนยันอะไรอีก จากคำร้องขอฝากขัง ก็คือขังผมเพื่อให้ตำรวจทำให้งานเสร็จ ซึ่งมันฟังดูตลก ซึ่งในคดีนี้ถึงศาลจะยกคำร้องไม่รับฝากขัง ตำรวจก็ทำงานได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขังผม อันที่จริงผมไม่ได้ออกไปด้วยซ้ำเพราะมีหมายขังอยู่ที่ศาลอาญาอีกคดี"

    “ผมอยากเห็นคำสั่งที่ยึดหลักกฎหมายของศาล จริงๆ ตำรวจควรสอบสวนให้เสร็จก่อนมาออกหมายจับผมด้วยซ้ำ อยากให้ศาลยืนในหลักคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา”

    15.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ครั้งที่ 4 อีก 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 ก.ย. 2564 ระบุว่า

    พิเคราะห์เหตุตามคําร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 คําร้องคัดค้านและคําให้การของผู้ร้องแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องยืนยันว่ามีเหตุจําเป็นที่จะต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 8 ปาก เพื่อให้สํานวนการสอบสวนมีความสมบูรณ์ คําให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จ จึงขออนุญาตฝากขังผู้ต้องหาอีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับผู้ต้องหาแม้ว่าจะคัดค้านการสอบสวน แต่ไม่มีการยืนยันว่าพนักงานสอบสวนได้ดําเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว กรณีมีเหตุจําเป็น จึงอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังผู้ต้องหาได้อีกครั้ง แต่เนื่องจากผู้ต้องหาถูกคุมขังมาโดยตลอด ดังนั้นเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ 7 วัน

    อนึ่งตามคําร้องคัดค้านว่า ผู้ต้องหาไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาถูกคุมขังต่อไปย่อมจะเป็นการคุมขังที่เกินจําเป็นนั้น เห็นว่า การที่ผู้ต้องหาจะต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่เป็นคนละเหตุกับการที่พนักงานสอบสวนขอฝากขังผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและยังคงติดใจในเรื่องดังกล่าว ผู้ต้องหาสามารถอุทธรณ์คําสั่งต่อศาลอุทธรณ์หรือผู้ต้องหาจะยื่นคําร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวใหม่ก็ได้ กําชับพนักงานสอบสวนให้ดําเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จ

    ภายหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ ครั้งที่ 5 ในเวลา 15.30 น. บัญญัติ ตังกบดี รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอีกเป็นครั้งที่ 5 “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุตามคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหายังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ซึ่งลงวันที่ 11 ส.ค. 2564 จึงมีมติยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4, คำร้องคัดค้านคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 10 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34840)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยครั้งนี้เป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งครั้งแรกนับตั้งแต่อานนท์ถูกคุมขังเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ก่อนหน้านี้ ทนายความยื่นประกันรวม 5 ครั้ง และศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตตลอดมา

    คำร้องอุทธรณ์ระบุเนื้อหาโดยสรุปว่า

    1. พนักงานสอบสวนเคยเบิกความไว้หลายครั้งว่าการปล่อยผู้ต้องหาไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน

    คดีนี้พนักงานสอบสวนได้เบิกความตอบทนายความผู้ต้องหาซักค้านในการขอฝากขังครั้งที่ 2 ว่า “เจตนาในการฝากขังก็เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาออกไปกระทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งข้าฯเห็นว่าเป็นความผิดต่อกฎหมาย” และยังเบิกความว่า “การขอฝากขังนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอบสวน แต่เนื่องจากผู้ต้องหาอาจไปกระทำความผิดซ้ำ”

    พนักงานสอบสวนยังได้เบิกความตอบทนายความผู้ต้องหาซักค้านในการขอฝากขังครั้งที่ 3 “หากไม่ขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวนพยานที่เหลือ ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาในการสอบสวนแต่อย่างใด”

    และในการฝากขังครั้งที่ 4 ได้เบิกความต่อศาลว่า พยานทั้ง 8 ปากที่พนักงานสอบสวนยังสอบไม่แล้วเสร็จนั้น เป็นพยานผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการถอดเทปถ้อยคำปราศรัยของผู้ตองหา ซึ่งเป็นการให้ความเห็นจากเอกสารที่ถอดเทปไว้แล้วนั้น แม้ศาลไม่ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนก็สามารถทำการสอบสวนต่อไปได้ “การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน”

    เหตุผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน ซึ่งเหตุผลหลักในการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวนนั้นต้องปรากฏว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีขอฝากขังผู้ต้องหานั้นไม่ได้เป็นไป “เพื่อการสอบสวน แต่เป็นไปเพื่อความสะดวกเท่านั้น”

    2. ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

    ตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ผ่านมาของพนักงานสอบสวนไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแม้แต่น้อย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของผู้ต้องหา

    หากพบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะหลบหนี ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงเป็นฐานรองรับการใช้ดุลพินิจ เช่น ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพล มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนหรือไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามนัด หรือมีพฤติการณ์ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร มีแนวโน้มจะไปก่ออันตรายประการอื่นอย่างไร

    3. เคยมีการอนุญาตปล่อยตัวในคดีลักษณะนี้มาก่อน

    ตามฐานความผิดในคดีนี้ ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยมาหลายคดี อาทิ สิรภพ พึ่งพุ่มพุทธ และชูเกียรติ แสงวงค์ ในคดี #ม็อบ18 พ.ย., พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 5 คน ในคดีแต่งชุดครอปท็อปเดินสยามพารากอน, จตุพร แซ่อึง ในคดีเดินแฟชั่นโชว์ที่สีลม, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กับพวกรวม 12 คน ในคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน

    ผู้ต้องหาจึงขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย

    4. ผู้ต้องหาไม่สามารถไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน เนื่องจากอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวน

    ผู้ต้องหาประกอบอาชีพทนายความ แม้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจากพนักงานสอบสวนจำนวนหลายคดี แต่เมื่อศาลอนุญาตการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ไม่เคยมีประวัติหรือพฤติการณ์ใดๆ ว่าผู้ต้องหาไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือไปข่มขู่พยานบุคคลของพนักงานสอบสวน คดีนี้บันทึกภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว การปราศรัยและบันทึกถอดเทปคำปราศรัยของผู้ต้องหาก็อยู่ในการครอบครองของพนักงานสอบสวน อีกทั้งพยานบุคคลในคดีนี้จะเป็นบุคคลใดบ้างนั้นเป็นเรื่องในสำนวนสอบสวนที่ผู้ต้องหาไม่มีทางรู้ได้

    ทั้งนี้หากศาลเห็นควร สามารถออกข้อกำหนดหรือเงื่อนไขบังคับให้ผู้ต้องหาไม่ไปก่ออันตรายประการอื่นได้ และหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาขอรับรองว่าผู้ต้องหาจะไม่ไปก่ออันตรายประการอื่น หรือจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับคดีนี้

    5. ผู้ต้องหายังไม่เคยถูกตัดสินว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว

    ผู้ต้องหาไม่ได้มีการกระทำการที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 287/2564 (คดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) ของศาลอาญา อีกทั้งศาลอาญายังไม่มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้แต่อย่างใด

    เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ศาลอาญาได้กำหนดวันนัดเพื่อทำการไต่สวนคำร้องเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้รับสำเนาเอกสารขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อให้จำเลยได้นำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนสู้คดีอย่างเต็มที่ ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้เลื่อนวันนัดพิจารณาไต่คำร้องเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวออกไปในวันที่ 3 พ.ย. 2564

    ดังนั้นการที่ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องฝากขังครั้งที่ 1 ว่า ผู้ต้องหากระทำการที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญานั้น จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะศาลอาญายังไม่ได้มีคำสั่งว่าผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวแต่ประการใด

    6. เชื้อโควิด-19 กำลังระบาดในเรือนจำและผู้ต้องหาเคยติดเชื้อมาแล้ว

    ขณะนี้ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังพบว่าสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวมากที่สุดสถานที่หนึ่ง คือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ต้องหาได้รับการควบคุมตัวในเรือนจำมาแล้วเป็นเวลา 30 กว่าวัน สถานที่คุมขังผู้ต้องหานั้นมีลักษณะแออัด มีผู้ต้องหาที่ถูกขังเป็นจำนวนมาก อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะต้องถูกคุมขังต่อในเรือนจำดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ต้องหา เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกครั้งหนึ่ง

    ทั้งนี้ ผู้ต้องหาเคยติดเชื้อโควิด จากการถูกคุมขังในสถานที่ดังกล่าว โดยไม่ได้รับสิทธิการปล่อยชั่วคราวมาแล้ว จากการติดเชื้อครั้งที่แล้ว ทำให้ปอดของผู้ต้องหาผิดปกติ เหนื่อยหอบง่าย ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางซึ่งเป็นที่ควบขังผู้ต้องหานั้น ในห้องที่ขังมีเพื่อนผู้ต้องหาที่ถูกขังอยู่ด้วยจำนวน 12 คน ปรากฏว่าเพื่อนผู้ต้องขังทั้งหมดได้ติดเชื้อโควิด-19 และส่งตัวไปรับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เหลือเพียงผู้ต้องหาคนเดียวที่ยังไม่ติดเชื้อ แต่ต้องกักตัวและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ดังนั้นแล้วผู้ต้องจึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับเชื้อจากเรือนจำอีกครั้ง

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 13 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35000)
  • ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์ของอานนท์ ที่อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชอบแล้ว

    “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง ประกอบกับการกระทำที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหายังคงมีลักษณะที่เป็นการขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่มิบังควร แม้ผู้ต้องหาเคยอ้างว่าการกระทำตามที่ถูกกล่าวหานั้น ผู้ต้องหามีสิทธิกระทำได้โดยชอบและเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายก็ตาม แต่การใช้สิทธิใดๆ จะต้องไม่เกินล้ำขอบเขตของกฎหมายจนกลายเป็นว่าก่อให้เกิด หรืออาจจะก่อให้เกิดความเสียหายโดยรวม"

    “นอกจากนี้แล้ว เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 ผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอาญาในคดีที่มีลักษณะข้อหาเป็นอย่างเดียวกัน โดยผู้ต้องหาสมัครใจที่จะทำตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด กล่าวคือจะไม่กระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีดังกล่าวผู้ต้องหามีที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกอบอาชีพทนายความเช่นเดียวกับผู้ต้องหาเป็นผู้กำกับดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวของศาล แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ต้องหากลับไม่กระทำตามเงื่อนไขที่เป็นดั่งคำมั่นที่ให้ไว้ต่อศาล จนเป็นเหตุให้ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดังกล่าว"

    “อีกทั้งในสภาวการณ์ที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 อยู่ในขณะนี้ ผู้ต้องหากลับกระทำการเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้นำให้มีการรวมกลุ่มของบุคคล อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายความวุ่นวาย รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าว"

    “เมื่อพิจารณาคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนแล้ว ยังปรากฏว่าผู้ต้องหายังคงมีความเคลื่อนไหวในสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีการโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุและชักชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในหลายแห่งหลายท้องที่ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง รวมไปถึงการชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบอีกด้วย"

    “นอกจากนั้นยังปรากฏว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมตามหมายจับ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี กรณีสมควรรอฟังการสอบสวนในคดีก่อน คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง”

    คำสั่งข้างต้นไม่ได้ลงชื่อผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีเพียงลายเซ็นและตราประทับของศาลอุทธรณ์

    ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าคำสั่งของศาลยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากอานนท์ยังไม่เคยถูกศาลอาญาสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แต่อย่างใด แต่มีการเลื่อนนัดไต่สวนไปในวันที่ 3 พ.ย. 2564

    อานนท์ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางมาแล้ว 34 วัน โดยไม่สามารถออกจากห้องขังได้ตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นเมื่อต้องขึ้นศาลผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์​และคุยโทรศัพท์กับทนายความที่มาตีเยี่ยม ทั้งนี้เพื่อนร่วมห้องของอานนท์ติดโควิดไปแล้วจำนวน 12 คน จาก 13 คน ซึ่งถูกขังอยู่รวมกัน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 14 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35000)
  • วานนี้ (16 ก.ย. 2564) พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์เป็นครั้งที่ 5 โดยอ้างว่า การฝากขังครั้งที่ 4 จะครบกำหนด 12 วัน ในที่ 17 ก.ย. นี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน สรุปสำนวนเสร็จสิ้น และได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้กับคณะกรรมการของกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อพิจารณาและมีความเห็นทางคดีแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสรุปความเห็นทางคดี พนักงานสอบสวนจึงได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 - 29 ก.ย. 2564

    ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังดังกล่าวต่อศาล โดยระบุว่า ไม่มีเหตุจำเป็นตามกฎหมายที่ต้องขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนอีกต่อไป และขอให้ศาลไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวน ศาลจึงได้นัดไต่สวนในวันนี้ เวลา 13.00 น. แต่เมื่อถึงเวลานัด ศาลได้รับแจ้งว่าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เกิดระบบไฟฟ้าขัดข้องขึ้นมากระทันหัน ศาลจึงได้รอให้เจ้าหน้าของเรือนจำทำการแก้ไข

    15.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณา โดยมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้อง และให้รอฟังคำสั่ง เนื่องจากไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องหามาร่วมการไต่สวน ผ่านระบบการประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถไต่สวนคำร้องได้

    ต่อมา เวลาประมาณ 16.10 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์เป็นครั้งที่ 5 เนื่องจากเห็นว่าเหตุผลตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นเหตุจำเป็นที่จะขังผู้ต้องหาต่อไป แต่เนื่องจากผู้ต้องหาถูกขังในระหว่างสอบสวนมาโดยตลอด จึงอนุญาตให้ขังได้เพียง 7 วันเท่านั้น และกำชับให้ผู้ร้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยรวดเร็วต่อไป

    หลังมีคำสั่งนี้ อานนท์จะยังคงถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษต่อไปอีกเป็นเวลา 7 วันจนถึงวันที่ 24 ก.ย. 2564 โดยจนถึงขณะนี้ อานนท์ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำมาแล้ว 38 วัน ก่อนหน้านี้ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวนทุกครั้ง แต่ศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังต่อไปและไม่ให้ประกันตัวทุกครั้งเช่นกัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 5, คำร้องคัดค้านคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 5 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 16 ก.ย. 2564, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35246)
  • วานนี้ (22 ก.ย. 2564) พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์เป็นครั้งที่ 6 ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยอ้างว่าการฝากขังครั้งที่ 5 จะครบกำหนด 7 วัน ในวันที่ 24 ก.ย. นี้ ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ส่งสำนวนสอบสวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564

    และเนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุดได้กำหนดแนวทางในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้ว่า “ให้สำนักงานอัยการที่รับสำนวนคดีมาตรา 112 จัดส่งหลักฐานต่างๆ ในคดีไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาทันที”

    ปัจจุบันพนักงานอัยการได้รายงานคดีนี้ไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 และขณะนี้อยู่ในระหว่างรอฟังคำสั่งจากคณะทำงานของอัยการสูงสุด ด้วยเหตุผลดังกล่าว พนักงานอัยการจึงได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์ต่อไปอีก เป็นเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. ไปจนถึงวันที่ 6 ต.ค. 2564

    ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังดังกล่าวเวลา พร้อมทั้งขอให้ศาลไต่สวน

    ++อานนท์แถลง ‘เกินจำเป็นหากสั่งฝากขังต่อ-ละเมิดสิทธิผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญ’ ++

    เวลา 11.30 น. การไต่สวนคำร้องขอฝากขังเริ่มต้นขึ้น โดยอานนท์ได้เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ ถ่ายทอดสัญญาณมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    ทนายความได้ซักถามพนักงานอัยการว่า ‘หากไม่คุมขังผู้ต้องหาไว้ในเรือนจำ พนักงานอัยการก็สามารถตามตัวมาฟ้องได้ ใช่หรือไม่’

    ด้านพนักงานอัยการได้ตอบว่า ‘หากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขัง และปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเฉพาะคดีนี้ เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งให้ฟ้องคดี พนักงานอัยการก็จะให้พนักงานสอบสวนตามตัวผู้ต้องหามาเพื่อการฟ้องคดีต่อไปได้’

    ด้านอานนท์แถลงว่า คดีนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฝากขังตนเองอีก เนื่องจากการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว โดยที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและทำความเห็นไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการได้ส่งสำนวนสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดแล้ว ซึ่งระเบียบการพิจารณาของอัยการสูงสุดเป็นระเบียบภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด การขังตนเองไว้ต่อไปเป็นการเกินความจำเป็น และกระทบต่อสิทธิผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 24 ที่ว่า ‘การควบคุมตัวผู้ต้องหาให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น’ จึงขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานอัยการในครั้งนี้ด้วย

    ต่อมา เวลา 13.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ เป็นครั้งที่ 6 ต่อไปอีก 7 วัน โดยมีรายละเอียดในคำสั่ง ดังนี้

    “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนทำความเห็นทางคดีและส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว แต่คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ กรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อการพิจารณาสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ จึงอนุญาตให้ฝากขังต่อไปอีก 7 วัน”

    ++ทนายยื่นประกันทันที แต่ศาลไม่ให้ประกัน ชี้ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์++

    หลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอานนท์อีกครั้งทันที เป็นการยื่นประกันครั้งที่ 6 ในคดีนี้ โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด มูลค่า 200,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลประกอบว่า ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานอัยการ เหลือเพียงการนำเสนอสำนวนให้อัยการสูงสุด ซึ่งเป็นระเบียบธุรการภายในของสำนักงานอัยการ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับผู้ต้องหา

    อีกทั้งคดีนี้พนักงานอัยการได้เบิกความตอบทนายความผู้ต้องหาว่า “คดีนี้พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน จนเสร็จสิ้นแล้ว ทําความเห็นทางคดีและส่งสํานวนมายังพนักงานอัยการแล้ว ผู้ต้องหาจึงไม่มีโอกาสที่จะไปเกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานอื่น และไม่สามารถที่จะไปแทรกแซงการทําความเห็นสั่งคดีของพนักงานอัยการได้ หากศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอฝากขังในวันนี้อัยการสูงสุดก็สามารถมีคําสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องคดีได้” กรณีดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ อันเป็นการยืนยันว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไปในระหว่างรอฟังผลการพิจารณาสํานวนคดีก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการสั่งคดีของพนักงานอัยการในคดีนี้ เพราะฉะนั้นการขังผู้ต้องหาไว้ต่อไปทั้งที่การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วย่อมเป็นการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินกว่าความจําเป็น

    ต่อมา เวลา 15.10 น. บัญญัติ ตังกบดี รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ โดยระบุว่า “พิเคราะห์คําร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้วเห็นว่า เหตุผลตามคำร้องดังกล่าวไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์ (ฉบับลงวันที่ 14 ก.ย. 2564) ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 6, คำร้องคัดค้านคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 6 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 22 ก.ย. 2564, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 23 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35522)
  • นัดไต่สวนคำร้องขอฝากขังอานนท์ครั้งที่ 7 หลังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 ขอฝากขังอานนท์ในคดีนี้ต่อไปอีก 12 วัน และทนายความได้ยื่นคัดค้าน ศาลจึงได้นัดไต่สวนคำร้องในวันนี้

    ++อานนท์แถลง “ขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจให้เป็นธรรม” หลังอัยการยื่นขอฝากขัง 12 วัน เหตุต้องตีกลับสำนวนไปเพิ่มเติมพยานหลักฐานอีก++

    เวลา 10.40 น. การไต่สวนคำร้องขอฝากขังเริ่มต้นขึ้น โดยอานนท์ได้เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ ถ่ายทอดสัญญาณมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    พนักงานอัยการได้แถลงว่า หลังได้จัดส่งสำนวนและหลักฐานต่างๆ ในคดีไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 คณะทำงานของอัยการสูงสุดมีหนังสือลงวันที่ 28 ก.ย. 2564 เห็นว่า อานนท์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนในฐานความผิดอื่นๆ ให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดีตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

    โดยเมื่อพยานตรวจพิจารณาสํานวนการสอบสวนแล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติการณ์ในการกระทําความผิดของผู้ต้องหาในความผิดบางข้อหาให้ถูกต้องและครบถ้วน จึงมีคําสั่งให้ดําเนินการสอบสวนเพิ่มเติมและแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาบางข้อหา ตลอดจนรวบรวมพยานเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายในวันที่ 12 ต.ค. 2564

    จากเหตุผลดังกล่าว พยานจึงได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์ต่อไปอีก 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2-13 ต.ค. 64

    อัยการแถลงเพิ่มเติมว่า ในส่วนความผิดในข้อกล่าวหาอื่นๆ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการทำคดีเพื่อป้องกันความผิดพลาด บกพร่อง และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงได้ตีกลับสำนวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ดังนี้

    1. ให้แจ้งข้อกล่าวหากับอานนท์เพิ่มเติมในฐานความผิด ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
    2. ให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ครบถ้วน
    3. ให้รวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นพยานบุคคลให้ครบถ้วน

    อัยการยังได้แถลงทิ้งท้ายว่า การพิจารณาสั่งคดีของอัยการนั้นเป็นไปเพื่อความจำเป็นตามกฎหมายทุกประการ และเป็นไปเพื่อความรวดเร็วในการสั่งฟ้อง

    ต่อมา อัยการได้เบิกความตอบทนายความผู้ต้องหาซักถามว่า การเสนอสำนวนคดีให้พิจารณาเป็นระเบียบการทำงานภายในไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับผู้ต้องหา อีกทั้งการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและการสั่งฟ้องผู้ต้องหาสามารถทำได้ แม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังในครั้งนี้ รวมทั้งหากศาลให้ประกันผู้ต้องหา อัยการก็ไม่ได้เกรงว่าผู้ต้องหาจะออกมาใช้เสรีภาพทางการเมือง

    สุดท้าย อานนท์แถลงต่อศาลว่า “ขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจให้เป็นธรรม”

    หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนคำร้อง ศาลได้นัดฟังคำสั่งในเวลา 14.00 น. ทนายความได้ร้องขอต่อศาลเพื่อพูดคุยกับอานนท์เป็นการส่วนตัว และศาลได้ให้อนุญาต อานนท์เล่าว่า ขณะนี้ตนเองอยู่ในแดน 3 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งต้องอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ภายในห้องขังเดียวกัน รวม 40 คนได้

    ต่อมา เวลา 14.00 น. สุวิทย์ พิพัฒน์ชัยพงศ์ ผู้พิพากษาที่ทำการไต่สวน มีคำสั่งให้ฝากขังอานนท์ครั้งที่ 7 เป็นเวลา 7 วัน โดยได้ระบุรายละเอียดในคำสั่ง ดังนี้ “เห็นว่า แม้ผู้ต้องหาจะคัดค้านว่าพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนสอบสวนและความเห็นให้พนักงานอัยการแล้ว แต่พนักงานอัยการก็มีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควร ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคสอง (ก) เมื่อไม่ปรากฏว่าการสอบสวนเพิ่มเติมได้ดำเนินการแล้วเสร็จในวันนี้ กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นให้ขังผู้ต้องหาต่อไป อนุญาตให้ฝากขังต่อไปอีก 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2564”

    หลังทราบผลการฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอานนท์ครั้งที่ 7 โดยขอวางหลักประกันมูลค่า 300,000 บาท และอ้างเหตุผลประกอบเกี่ยวกับการที่พนักงานอัยการได้แถลงในการไต่สวนคำร้องขอฝากขังในวันนี้ ว่าสามารถแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหาได้ แม้ศาลจะปล่อยตัวไปก็ตาม และการเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณานั้น เป็นระเบียบธุรการภายในของสำนักงานอัยการไม่ได้เกี่ยวข้องผู้ต้องหา

    ขณะเดียวกัน ทนายความยังได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอานนท์ ในคดี “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ครั้งที่ 1” ต่อศาลอาญา รัชดาฯ อีกคดีหนึ่งด้วย เนื่องจากเป็นคดีที่เขาถูกศาลออกหมายขัง และยังไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณา

    ต่อมาในเวลาประมาณ 16.40 น. มนัส ภักดิ์ภูวดล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ โดยได้ระบุว่า “พิเคราะห์แล้วว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

    เวลา 17.40 น. นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์เช่นกัน โดยอ้างว่าในคำร้องที่ยื่นต่อศาลนั้น ลายมือและสีน้ำหมึกของผู้มอบฉันทะซึ่งเป็นทนายความผู้ยื่นทำเรื่องขอประกัน แตกต่างจากของผู้รับมอบฉันทะให้ฟังคำสั่งศาลในวันนี้

    โดยได้ระบุคำสั่งว่า “กรณีลายมือและสีหมึกในส่วนของผู้รับมอบฉันทะ แตกต่างจากสำนวนของผู้มอบฉันทะ โดยผู้มอบฉันทะไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ จึงไม่อาจเชื่อได้ว่ามีผู้รับมอบฉันทะจริง”

    จากคำสั่งให้ฝากขังของศาลอาญากรุงเทพใต้ และคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลทั้งสองแห่งในวันนี้ ทำให้อานนท์จะยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปอีก รวมระยะเวลาถูกคุมขังมาแล้วกว่า 52 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 7, คำร้องคัดค้านคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 7 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 30 ก.ย. 2564, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 1 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35948)
  • พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับอานนท์ในคดีนี้ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 ตามที่พนักงานอัยการมีคำสั่ง โดยอานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564)
  • หลังวานนี้ (7 ต.ค. 2564) พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์ครั้งที่ 8 ในคดีนี้ต่อไปอีก 12 วัน และทนายความได้ยื่นคัดค้าน ศาลจึงได้นัดไต่สวนคำร้องในวันนี้

    ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ธีร์รัฐ บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ นำภา เป็นครั้งที่ 8 ระบุว่า พิเคราะห์คำคัดค้านและพยานหลักฐานที่ศาลไต่สวนโดยตลอดแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุจำเป็นที่ศาลจะสั่งขังผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 87 วรรค 7 ตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 8 หรือไม่ ผู้ร้องและพนักงานสอบสวนเบิกความสอดรับกันว่า มีเหตุจำเป็นเนื่องจากผู้ร้องสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือสั่งให้สอบเพิ่มเติม ลงวันที่ 30 ก.ย. 2564 หลายประเด็น

    ที่สำคัญคือการตรวจสอบและขอข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์จาก ปอท. ซึ่งยังไม่ได้รับผลการตรวจสอบ ทั้งที่พนักงานสอบสวนได้มีหนังสือทวงถามไป 2 ครั้งแล้ว แต่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบปากคำเพิ่มเติม และแจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติกรรมการกระทำความผิดแก่ผู้ต้องหาตามคำสั่งของผู้ร้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ต้องหายืนยันว่า พนักงานสอบสวนได้มาสอบปากคำเพิ่มเติมแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 และหากศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนและอัยการก็สามารถดำเนินคดีต่อไปได้

    เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 87 วรรค 7 วางหลักเกณฑ์ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งขังผู้ต้องหาระหว่างการฝากขังครบ 48 วันแล้ว ศาลจะสั่งขังผู้ต้องหาต่อไปได้ก็ต่อเมื่ออัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเสร็จสิ้นเป็นที่พอใจแก่ศาล พนักงานอัยการได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนตั้งแต่ 20 ก.ย. 2564 แล้ว แต่พนักงานอัยการสั่งให้สอบเพิ่มเติมหลังจากนั้น

    การสอบเพิ่มเติมเป็นไปอย่างล่าช้ามากทั้งที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว ในส่วนของการตรวจสอบและขอข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์จาก ปอท. นั้น ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงถึงการเร่งรัดเพื่อให้ได้ข้อมูลมาโดยเร็ว อย่างไรก็ดีการสอบปากคำและแจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหา แม้จะเพิ่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันนัดไต่สวนเพียงหนึ่งวัน แต่ก็ถือว่าการสอบสวนเพิ่มเติมมีความคืบหน้าอยู่บ้าง

    ถือว่ามีเหตุจำเป็นที่ศาลอาจสั่งขังผู้ต้องหาต่อในระยะเวลาเพียงเท่าที่การสอบสวนจะแล้วเสร็จ และอัยการมีคำสั่งทางคดีได้ เห็นควรให้โอกาสผู้ร้องอีกสักครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้าย จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 8 ได้อีก 7 วัน ระหว่างวันที่ 9-15 ต.ค. 2564 กำชับพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการให้เร่งรัดดำเนินการให้สำนวนสอบสวนแล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะพฤติการณ์แห่งคดีไม่ยุ่งยากซับซ้อน

    ทำให้อานนท์จะยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปอีก รวมระยะเวลาถูกคุมขังมาแล้ว 59 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 8, คำร้องคัดค้านคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 8 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 7 ก.ย. 2564, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 8 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36423
  • ทนายความเข้ายื่นประกันตัวอานนท์เป็นครั้งที่ 8 วางหลักประกันมูลค่า 300,000 บาท ระบุเหตุผลดังนี้

    1. คดีนี้พนักงานสอบสวนได้เข้าไปแจ้งข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาแล้ว และผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนแล้ว เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 แม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังหรือปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไป พนักงานสอบสวนก็สามารถรวบรวมพยานหลักฐานให้แก่พนักงานอัยการได้

    2. พนักงานอัยการผู้ร้องเบิกความตอบทนายความผู้ต้องหาซักถามว่าแม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังหรือปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไปพนักงานอัยการสามารถสรุปสำนวนทำความเห็นทางคดีได้ และผู้ต้องหาไม่สามารถแทรกแซงการสรุปสำนวนคดีได้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่อันเป็นการยืนยันว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไปก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการสั่งคดีของพนักงานอัยการในคดีนี้

    การขังผู้ต้องหาไว้ต่อไปทั้งที่อัยการสูงสุดได้มีความเห็นทางคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่อ้างเป็นหลักในการขอฝากขังเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมเป็นการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินกว่าความจำเป็นอันเป็นการขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพแห่งรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

    3. การขังผู้ต้องหาต่อไปไว้ระหว่างการสรุปสำนวนทางคดีของพนักงานอัยการนั้นเป็นการขังเกินความจำเป็น กระทบเสรีภาพและหน้าที่การงานของผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก ผู้ต้องหามีอาชีพทนายความ ในเดือนตุลาคม 2564 มีนัดที่ต้องว่าความแก้ต่างในคดีหมายเลขดำที่ อ.649/2562 (คนอยากเลือกตั้ง ARMY57) ในวันที่ 19,20 และวันที่ 26 – 29 ต.ค. 2564 ในคดีนี้ผู้ต้องหาเป็นทั้งทนายความและจำเลยจำต้องปรึกษาคดีกับลูกความและปรึกษาคดีกับทนายความ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสืบพยานจำเลย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเพื่อให้ผู้ต้องหาได้ทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในคดีดังกล่าว

    4. หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะเกิดภาระเกินความจำเป็นแก่ผู้ต้องหาเพราะการเบิกตัวออกศาลจะต้องกักตัวทุกครั้งที่กลับเข้าเรือนจำ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

    อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “พิเคราะห์คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง” โดยคำสั่งมีเพียงลายเซ็นลงนาม แต่ไม่มีการลงชื่อผู้พิพากษากำกับไว้

    ทนายความได้สอบถามถึงสาเหตุ พบว่าเป็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการเผยแพร่ชื่อผู้พิพากษา โดยยกตัวอย่างการเผยแพร่ชื่อผู้พิพากษาที่ทำคำสั่งอนุญาตฝากขังเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

    ทำให้อานนท์จะยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปอีก รวมระยะเวลาถูกคุมขังมาแล้ว 62 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 8 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36423)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้มีความเห็นสั่งฟ้องอานนท์ นำภา และยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในขณะที่อานนท์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยอัยการไม่ได้เบิกตัวอานนท์มาศาล ทั้งนี้ อัยการได้ฟ้องอานนท์รวม 4 ข้อหา ได้แก่

    1. “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

    2. ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 มาตรา 9 ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ข้อ 3, ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2564 ข้อ 4, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 3 ส.ค. 2564 ข้อ 3 และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 10 ก.ค. 2564 ข้อ 7

    3. ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

    4. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

    ทั้งนี้ พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดี และนอกจากจะขอให้ศาลลงโทษอานนท์ในฐานความผิดทั้งสี่แล้ว ยังขอให้ศาลริบเครื่องเสียงที่ใช้ในการชุมนุมวันที่ 3 ส.ค. 2564 ด้วย

    คดีนี้ พนักงานสอบสวนและอัยการใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานเพียง 2 เดือนเศษ และตลอดระยะเวลาดังกล่าวอานนท์ไม่เคยได้รับการประกันตัว

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1671/2564 ลงวันที่ 14 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38737)
  • ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดคุ้มครองสิทธิ โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวอานนท์มาที่ศาล หลังจากตลอดการไต่สวนคัดค้านฝากขังในชั้นสอบสวนกระทำผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์รวม 7 ครั้ง

    เวลา 13.00 น. แม่ น้องสาว และหลานของอานนท์ พร้อมทนายความ เดินทางมาที่ศาล โดยอานนท์ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำตั้งแต่ช่วงเที่ยง อย่างไรก็ตาม ณ ห้องคุ้มครองสิทธิ ทนายความและญาติไม่ได้รับอนุญาตให้เดินเข้าไปด้านใน และต้องรอคอยกว่า 1 ชั่วโมง

    จนเวลาล่วงไปถึง 14.30 น. ทนายความและญาติจึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั่งในห้องดังกล่าว หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พร้อม รปภ. ราว 7-8 คน ได้ควบคุมตัวอานนท์ขึ้นมาบริเวณห้องคุ้มครองสิทธิ

    ขณะที่อานนท์กำลังจะเข้าไปทักทายกับญาติพี่น้อง ผู้พิพากษาได้เรียกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาและแจ้งให้นำตัวอานนท์ไปควบคุมไว้ที่ห้องเวรชี้ โดยแจ้งว่าในนัดวันนี้จะไม่มีการเบิกตัวอานนท์ขึ้นมาบนห้อง แต่จะทำการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

    เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความงุนงงให้ญาติและทนายความเป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวอานนท์ขึ้นมาโดยปกติแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างจัดหาที่นั่งในห้องคุ้มครองสิทธิ แม้จะล่าช้าไปจากเวลานัด

    เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้เข้าห้ามอานนท์ ไม่ให้พูดคุยกับใคร และพยายามจะคุมตัวไปที่ห้องเวรชี้ทันที ทำให้ทนายความต้องพูดคุยกับผู้พิพากษา เพื่อขออนุญาตพูดคุยกับอานนท์ในเรื่องคดีความ โดยผู้พิพากษาอนุญาตให้เฉพาะทนายความได้พูดคุยที่ห้องเวรชี้ เป็นเวลา 15 นาที และกำชับว่าทุกคนต้องขึ้นมายังห้องคุ้มครองสิทธิ

    ภายหลังครบกำหนดเวลา 15 นาที ได้มีการเตือนให้ทนายความกลับมาที่ห้องคุ้มครองสิทธิอีกครั้ง แต่ทนายความแถลงยืนยันว่าอานนท์ประสงค์ให้มีทนายความอยู่ด้วยในระหว่างกระบวนการ เพื่อปรึกษาหารือในเรื่องการต่อสู้คดี

    เวลา 15.15 น. ธีร์รัฐ บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อธิบายคำฟ้องและข้อหาที่ถูกฟ้อง รวมถึงแจ้งสิทธิของจำเลยให้อานนท์ทราบผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีการสอบถามว่าจะสู้คดีอย่างไร จะรับสารภาพหรือไม่ โดยอานนท์ปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา

    ศาลได้ถามเหตุผลที่ปฎิเสธ อานนท์แถลงว่าในส่วนข้อหามาตรา 112 ตนไม่ทราบว่าอัยการฟ้องมาในเนื้อหาอย่างไร จำเป็นต้องตรวจสอบคำปราศรัยที่ถูกถอดเทปออกมาก่อน แต่ตนไม่สามารถตรวจสอบได้ในขณะนี้เพราะถูกคุมขังอยู่ ส่วนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ตนมั่นใจว่างานดังกล่าวไม่ได้จัดในพื้นที่แออัดและมีการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ในส่วนของ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เนื่องจากตนไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เปรียบเสมือนักร้องที่แค่ประกวดร้องเพลง จึงไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดดังกล่าว

    อานนท์ยังได้สอบถามผู้พิพากษาถึงเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งไม่อนุญาตประกันตัว เนื่องจากตนยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐ การให้เหตุผลว่าเกรงจะกระทำผิดซ้ำนี้ แปลว่ารัฐไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้หรืออย่างไร ผู้พิพากษาตอบว่า สิ่งนี้เป็นคนละส่วนกัน และยินดีอย่างยิ่งที่จะชี้แจง โดยขอบคุณที่สอบถามเรื่องดังกล่าว

    ผู้พิพากษาเริ่มต้นอธิบายว่า อำนาจการปล่อยตัวชั่วคราวไม่ได้อยู่ที่ตน ศาลไม่ใช่พวกของใครคนใดคนหนึ่ง หากสิ่งที่ทุกคนทำไม่เป็นความผิดตามข้อกฎหมาย ตำรวจ อัยการ ศาล ก็คงเอาผิดไ่ม่ได้ แต่เมื่อมีตัวบทกฎหมายอยู่ก็ต้องบังคับใช้ เมื่อมีการสั่งฟ้องมา ศาลก็ต้องดำเนินการไปโดยยังไม่ได้บอกว่าผิดหรือไม่ผิดเพราะขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะพิสูจน์ความจริง เนื่องจากยังไม่มีการสืบพยานเกิดขึ้น

    ศาลอธิบายว่า การวางเงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำ ไม่ได้หมายความว่าจำเลยกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาว่าผิด โดยการวางเงื่อนไข เป็นข้อตกลงที่ศาลกับจำเลยทำร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่และไม่ได้เป็นกฎหมาย หากข้อตกลงใดทำไม่ได้ อาจมีการเสนอขอเปลี่ยนข้อตกลง แต่การกระทำผิดข้อตกลง จนไม่ได้ประกันตัว ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับการประกันตัว แต่ถือว่าจำเลยสละสิทธิ์ สละข้อตกลงโดยสมัครใจ ที่จะไม่ได้รับการประกันตัว หรือถูกถอนประกันเพราะกระทำผิดเงื่อนไข

    อานนท์แถลงว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น สมมติว่าตนทราบว่าศาลมีความเห็นทางการเมืองอย่างไร ตนก็แค่ยอมรับเงื่อนไขที่สอดคล้องกับความเห็นทางการเมืองของศาล เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็ย่อมได้ แต่นั่นไม่ใช่ความสมัครใจแต่อย่างใด

    ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการคุ้มครองสิทธิ ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีในวันที่ 13 ธ.ค. 2564 เวลา 9.00 น.

    ++อานนท์เขียนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุ “ในนัดคุ้มครองสิทธิ สิทธิที่มีค่าที่สุดคือการได้ประกันตัว”++

    จากนั้น อานนท์ได้ขอแบบฟอร์มคำร้องเพื่อเขียนคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วยตนเอง โดยมีเนื้อหาว่า

    1. ในวันนัดคุ้มครองสิทธิของจำเลย สิทธิที่มีคุณค่ามากที่สุดคือ การได้รับการประกันตัวเพื่อออกไปแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี หากศาลประสงค์จะคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ขอศาลได้โปรดมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาด้วย

    2. ในการยื่นขอประกัน หลายครั้งที่ศาลมีคำสั่งว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง” จำเลยประสงค์ขอศาลได้โปรดบอกเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นแก่จำเลย เพื่อที่จำเลยจะได้ไปขวนขวายเหตุนั้นมาเพื่อให้ศาลพิจารณา

    ทั้งนี้ เหตุที่ศาลขังจำเลยดังที่ศาลเคยสั่งไว้ก็ปราศจากข้อเท็จจริง เช่น ที่ศาลบอกว่าโทษสูง ในขณะคดีที่ฆ่าคนตาย ศาลก็ยังให้ประกัน หรือหากเกรงจะหลบหนี หรือหากเกรงจำเลยจะไปกระทำผิดซ้ำ จำเลยขอเรียนต่อศาลว่า การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพในทางการเมือง หากศาลมองว่า การใช้เสรีภาพในทางการเมืองเป็นความผิดในรัฐประชาธิปไตย ก็จะเป็นเรื่องประหลาด ขอศาลได้โปรดพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย

    3. ในการทำคำสั่งครั้งที่แล้ว ศาลที่สั่งโดยเพียงแค่ลงลายมือชื่อไม่บอกชื่อจริงและนามสกุล จำเลยเห็นว่าเป็นการทำคำสั่งโดยไม่ชอบ หากศาลเห็นว่ามีคำสั่งโดยชอบแล้ว ศาลก็ควรบอกชื่อสกุลจริงเพื่อที่จำเลยจะได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย เช่น การตั้งข้อรังเกียจ หรือการใช้สิทธิตรวจสอบทางกฎหมายอื่นได้ และในทางสังคมจะได้จารึกเป็นประวัติศาสตร์ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาว่าใครมีบทบาทอย่างไร ในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน เช่น หากชนรุ่นหลังเห็นว่าศาลสั่งมีเหตุผล ชนรุ่นหลังจะได้ยกย่องสรรเสริญ แต่หากในทางกลับกัน หากชนรุ่นหลังเห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดจะได้สาปแช่งประณามจำเลยไปชั่วลูกชั่วหลาน ในการทำคำสั่งครั้งนี้ของศาลได้โปรดระบุชื่อจริง นามสกุลจริงด้วย

    4. จำเลยประสงค์เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งได้ยกร่างไว้แล้ว คือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ….

    (1) พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ…”

    (2) ให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    (3) ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ซึ่งหากมีการเสนอต่อรัฐสภา เชื่อว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และประชาชนย่อมเห็นชอบ เพราะในวันนี้เราเห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า มีการใช้กฎหมายนี้เพื่อริดรอนเสรีภาพ กลั่นแกล้ง ผู้เห็นต่างทางการเมือง

    (4) จำเลยขอศาลได้โปรดพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้จำเลยออกไปแสวงหาพยานหลักฐาน และให้จำเลยได้ออกไปล่ารายชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ตามครรลองประชาธิปไตยด้วย

    เวลา 16.00 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมาเวลา 17.10 น. มนัส ภักดิ์ภูวดล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้อง โดยพิเคราะห์แล้วไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

    ทั้งนี้การยื่นประกันดังกล่าวของอานนท์ เป็นการยื่นเป็นครั้งที่ 9 โดยอานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 71 วัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1671/2564 ลงวันที่ 20 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36878)
  • นัดพร้อมเพื่อสอบคําให้การและตรวจพยานหลักฐาน อานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาล ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้อานนท์ฟังอีกครั้ง อานนท์แถลงขอให้การปฏิเสธทุกประการ

    ทนายจําเลยแถลงว่า เนื่องจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายความในคดีนี้ แต่เนื่องจากคดีนี้มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวพันเป็นจํานวนมาก และจําเลยถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ มาโดยตลอด ทําให้จําเลยไม่มีโอกาสได้ปรึกษาหารือกับทนายความเป็นการส่วนตัว เพื่อกําหนดแนวทางการต่อสู้คดี ไม่สามารถตรวจสอบดูพยานเอกสารภาพถ่ายและพยานวัตถุได้ด้วยตัวเอง จึงขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปอีกสักนัด โจทก์แถลงไม่คัดค้าน

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 21 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1671/2564 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2564)
  • หลังจากเย็นวันที่ 22 ก.พ. 2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์และ "เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ ใน 12 คดี โดยวางเงินประกันรวม 2,070,000 บาท ในวันนี้ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ในอีก 2 คดี คือ คดีนี้ และคดีสาดสีหน้า สตช. เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 และขอปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวินในคดี #ใครๆก็ใส่ครอปท็อปเดินพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563

    ในเวลา 16.15 น. ที่ประชุมคณะผู้บริหารของศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของอานนท์ทั้งสองคดี โดยในคดีนี้ให้เหตุผลว่า “ที่ประชุมคณะผู้บริหารของศาลอาญากรุงเทพใต้ร่วมกันพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยแล้วเห็นว่า ตามคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยที่อ้างว่า มีภารกิจต้องดูแลครอบครัวและต้องทำงานนั้น เห็นว่า เหตุที่ขอปล่อยตัวเป็นเหตุทั่วๆ ไป ไม่ใช่เหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงมีคำสั่งไม่อนุญาต ยกคำร้อง”

    ทำให้อานนท์ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วรวมทั้งสิ้น 197 วัน และยื่นประกันคดีนี้มาแล้ว 10 ครั้ง ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1671/2564 ลงวันที่ 23 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40716)
  • นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ใน 2 คดีที่ยังมีหมายขัง หลังจากที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน

    คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ครั้งนี้ อธิบายเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการเพื่อให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ใช้ดุลพินิจให้ประกันอานนท์ ดังนี้

    คดีนี้จําเลยยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแรก ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาต ให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง และพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก มีการฝ่าฝืนเงื่อนไขของศาลอาญาด้วย จึงเห็นควรให้ยกคําร้อง” หลังจากนั้นจําเลยก็ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้ง ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิม”

    เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า “ปราศรัยด้วยถ้อยคำมิบังควร กระทำผิดเงื่อนไขของศาลอาญาจนถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากให้ประกันตัวจะก่อให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าจะหลบหนี จึงไม่ให้ประกัน”

    เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ด้วยเหตุผลหลายประการ ศาลอาญากรุงเทพใต้โดยที่ประชุมผู้บริหารศาล ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า “ที่จำเลยอ้างว่ามีภารกิจต้องดูแลครอบครัวและต้องทำงานนั้น เห็นว่าเหตุที่ขอปล่อยตัวเป็นเหตุทั่ว ๆ ไปไม่ใช่เหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์”

    กล่าวโดยสรุปเหตุผลที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยอ้างจากคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้น จึงมีประเด็นตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยอ้างเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 อยู่ 2 ประการ ได้แก่ 1.หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไปก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นหรือไม่ 2.จำเลยจะหลบหนีหรือไม่

    จำเลยจึงขอแสดงเหตุผลให้ศาลเชื่อมั่นว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์ใดอันจะไปก่อให้เกิดภยันตรายประการอื่น และจำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีแต่อย่างใด ดังนี้

    1. พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวโดยข้ออ้างที่ผิดพลาดจากข้อเท็จจริง
    นับตั้งแต่จําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดําที่ อ.287/2564 (คดี19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) จําเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาลอาญาได้กําหนดเงื่อนไขว่า “ห้ามกระทําการใดอันเป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” จําเลยก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอาญามาโดยตลอด ไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด ข้ออ้างของพนักงานสอบสวนในคดีนี้ที่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นการอ้างที่ผิดพลาดจากข้อเท็จจริง ทําให้ศาลในคดีนี้ใช้ดุลพินิจที่คลาดเคลื่อน

    2. จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด
    จําเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด นับตั้งแต่จําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จําเลยได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล ตามกําหนดนัดในทุกคดี ไม่เคยผิดนัด ไม่เคยหลบหนีมาก่อน แม้กระทั่งในคดีนี้ที่จําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิด จําเลยก็เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตํารวจนครบาลปทุมวันด้วยตนเองไม่เคยคิดที่จะหลบหนี เพราะจําเลยมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง

    อีกทั้ง จําเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอาญา ศาลอาญาก็กําหนดเงื่อนไขให้ติด EM ห้ามจําเลยออกนอกเคหสถานในเวลาที่จํากัด ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ดังนั้น ย่อมเป็นหลักประกันได้ว่าเมื่อได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยย่อมไม่หลบหนีอย่างแน่นอน

    3. จำเลยถูกคุมขังมาเป็นเวลา 6 เดือนเศษ โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ ให้เห็นถึงความผิดของจําเลย
    นับจนถึงวันนี้จําเลยถูกคุมขังไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีจนถึงวันนี้นับเป็นเวลาเกินกว่า 6 เดือนเศษแล้ว ซึ่งในคดีนี้พยานโจทก์และพยานจําเลยมีจํานวนมากยังไม่อาจกําหนดได้ว่าจะสามารถพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นเมื่อใด และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ ให้เห็นถึงความผิดของจําเลย จําเลยจึงมีความประสงค์ที่จะขอให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยไปในระหว่างพิจารณาคดีนี้ เพื่อให้จําเลยได้ออกไปแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรมต่อไป

    4. จำเลยเป็นทนายความซึ่งมีคดีที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมาก
    จําเลยประกอบวิชาชีพเป็นทนายความ ส่วนหนึ่งจําเลยเป็นทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รับว่าความให้แก่ผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญาเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุมจํานวนหลายคดี ซึ่งมีนัดสืบพยานเกือบตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมา หลายคดีต้องถูกเลื่อนคดีมาด้วยเหตุที่จําเลยถูกคุมขังอยู่

    5. จําเลยคนอื่นที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดในลักษณะเดียวกันถูกปล่อยตัวทั้งหมดแล้ว
    จําเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะเดียวกันกับที่จําเลยถูกกล่าวหาในคดีนี้ ทั้งของศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ และของศาลอื่น ๆ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ ล้วนได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้วทั้งสิ้น

    ปัจจุบันคงเหลือเพียงจําเลยเท่านั้นที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ คดีของจําเลยที่ศาลอาญาก็ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในทุกคดีแล้ว หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยในคดีนี้ จําเลยก็จะได้ออกไปประกอบวิชาชีพ ทํามาหาเลี้ยงครอบครัว และแสวงหาพยานหลักฐานต่าง ๆ มาต่อสู้คดีตามกฎหมายได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรมต่อไป

    6. เสนอเงื่อนไขประกันตัวเช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่นที่ศาลอนุญาตให้ประกันแล้ว
    จำเลยขอเสนอเงื่อนไขว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไม่กระทำการใดอันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ยินยอมอยู่ในเคหะสถานตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ติดต่อธุรกิจสำคัญ ไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล หรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล ยินยอมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) และหากศาลกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ ประการใด จำเลยยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลทุกประการ รวมทั้งการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีระยะเวลาที่จำกัด

    ++ศาลยังยืนยันอานนท์เคยผิดเงื่อนไขประกัน แต่ให้โอกาสปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาล 3 เดือน++

    ในเวลา 16.15 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ทั้ง 2 คดี ระบุว่า คณะผู้บริหารของศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ร่วมกันพิจารณาคําร้องขอปล่อยชั่วคราวและเอกสาร ประกอบแล้ว มีคําสั่งดังนี้

    “เห็นว่าแม้จําเลยเคยปฏิบัติผิดเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วครั้งหนึ่ง จนจําเลยต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําจนถึงปัจจุบัน การที่จําเลยยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ โดยอ้างเหตุผลและสมัครใจเสนอเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราวมาหลายข้อว่า จําเลยจะไม่กระทําการใดอันทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะไม่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัดนั้น การที่จําเลยเสนอเงื่อนไขมาจึงน่าเชื่อว่าเงื่อนไขดังกล่าวน่าจะควบคุมพฤติกรรมของจําเลยได้ว่า หากปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยจะไม่ไปก่อภัยอันตรายหรือก่อความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยตัวชั่วคราวอีก

    ดังนี้ จึงเห็นควรให้โอกาสจําเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาลสักช่วงเวลาหนึ่ง มีกําหนด 3 เดือน (ครบกําหนดวันที่ 28 พฤษภาคม 2565) ตีราคาหลักประกัน 200,000 บาท (ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2) และ 100,000 บาท (ม็อบ18พฤศจิกา)

    ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีกําหนดเวลา เห็นควรกําหนดเงื่อนไข ดังนี้

    1. ห้ามจําเลยทํากิจกรรมหรือกระทําการใดๆ ที่อันจะทําให้เกิดความเสื่อมเสียหรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันศาลในทุกด้าน
    2. ห้ามจําเลยกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
    3. ห้ามจําเลยโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือชักชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    4. ห้ามจําเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 19.00 – 06.00 น. ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล
    5. ห้ามจําเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
    6. ให้จําเลยมารายงานตัวต่อศาลทุกๆ 30 วัน นับแต่วันที่ปล่อยตัวชั่วคราว
    7. ให้จําเลยติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM เพื่อจํากัดระยะเวลาเดินทาง
    อนึ่ง หากอานนท์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคําสั่งเปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนคําสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวอันมีเวลาจํากัด และเมื่อครบกําหนดปล่อยตัวชั่วคราวให้อานนท์มารายงานตัวต่อศาล และให้ผู้ประกันส่งตัวอานนท์ต่อศาลในวันที่ 28 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น.

    ซึ่งการกําหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัตินั้น เป็นการกําหนดตามที่นรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความ เสนอต่อศาลและอานนท์ นําภา ยินยอมที่จะปฏิบัติตามโดยสมัครใจ ทั้งนี้ เมื่อครบกําหนด 3 เดือน อานนท์ นําภา ต้องถูกกักขัง ณ ทัณฑสถานบําบัดพิเศษกลาง เว้นแต่จะมีการยื่นคําร้องขอปล่อยชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง

    จากคำสั่งดังกล่าว หลังวางหลักประกันเป็นเงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์แล้ว ทำให้อานนท์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำ หลังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดีโดยเฉพาะในคดีม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ซึ่งศาลนี้ไม่ให้ประกันตัวตั้งแต่ชั้นฝากขังในวันที่ 11 ส.ค. 2564 รวม 202 วัน หรือเกือบ 7 เดือน

    อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ต้องขังในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งยังไม่ได้การประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีอีกอย่างน้อย 5 คน โดยทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตรา 112

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1671/2564 ลงวันที่ 28 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40815)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์