สรุปความสำคัญ

ภัคภิญญา (สงวนนามสกุล) บรรณารักษ์ชาวกรุงเทพฯ วัย 31 ปี ถูกดำเนินคดีในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์ในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวน 6 โพสต์ ในช่วงเดือน พ.ย. 2563 - เม.ย. 2564 โดยปรากฏชื่อ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ติวเตอร์ใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นผู้กล่าวหา

ภัคภิญญาต้องเดินทางจากภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ไปต่อสู้คดีไกลถึง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปตามนัดของตำรวจและศาลหลายครั้ง ครั้งละเกือบหมื่นบาท

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น โดยเฉพาะกลั่นแกล้งให้ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ห่างไกล

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ภัคภิญญา (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

15 ต.ค. 2564 ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ภัคภิญญา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี บรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยปรากฏชื่อ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้

ว่าที่ พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี สารวัตร (สอบสวน) สภ.สุไหงโก-ลก แจ้งข้อกล่าวหาแก่ภัคภิญญา โดยมีทนายความเข้าร่วม ระบุพฤติการณ์ในคดีว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 22.30 น. พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งได้แชร์ข้อความและเขียนข้อความประกอบในทํานองก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์ จำนวน 6 โพสต์ ซึ่งเมื่อเห็นและอ่านข้อความที่เฟซบุ๊กดังกล่าวนำมาลงในระบบคอมพิวเตอร์และเขียนข้อความต่อท้ายรวมกันแล้ว ทําให้เข้าใจว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เมื่อตรวจสอบพบว่าเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมีภัคภิญญาเป็นเจ้าของบัญชี จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีที่ สภ.สุไหงโก-ลก

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวไปตรวจสอบยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวยังเปิดใช้งานอยู่

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาภัคภิญญาใน 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ภัคภิญญาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังภัคภิญญาผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นคดีที่อัตราโทษสูงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี แม้ผู้ต้องหาจะเดินทางมาพบตามหมายเรียกก็ตาม จากนั้นทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันภัคภิญญา ด้วยวงเงินประกันจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมา ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวภัคภิญญาตามคำร้อง โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 150,000 บาท

หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ภัคภิญญาเปิดเผยว่า การเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในครั้งนี้ หมดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักและค่าเดินทาง รวมแล้วประมาณ 6,000 บาท เธอกล่าวว่า แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่ก็รู้สึกเสียดายที่ต้องควักออกมาจ่ายกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องแบบนี้ อีกทั้งยังรู้สึกเสียดายเวลา 2 วันที่ต้องลางานมา โดยคิดว่าน่าจะเอาเวลานี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้

“ไม่มีใครควรเจอกับเรื่องแบบนี้อีก เหมือนเขากลั่นแกล้งเรา กฎหมายข้อนี้มันมีช่องโหว่เยอะมากเลย มันเป็นกฎหมายที่ตีความได้กว้างมาก และมีช่องโหว่ไว้ใช้กลั่นแกล้ง”

นอกจากนี้เธอยังกังวลว่า หากผู้บังคับบัญชาที่เธอทำงานเป็นบรรณารักษ์อยู่ทราบเรื่องนี้ เธออาจจะถูกเรียกตัวไปตักเตือน หรือร้ายแรงที่สุดอาจมีคำสั่งให้เธอออกจากงานก็เป็นได้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังระบุว่า พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เป็นผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาตามมาตรา 112 ต่อประชาชนอีกอย่างน้อย 20 ราย ที่สถานีตำรวจนี้ ในจำนวนนี้รวมถึงคดีของ “วารี” สาวพนักงานรับจ้างอิสระในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก ก่อนหน้าภัคภิญญาเพียง 1 วัน ทำให้พวกเธอได้มีโอกาสพบเจอและพูดคุยให้กำลังใจกันก่อนที่วารีจะเดินทางกลับ

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองสุไหงโก-ลก ลงวันที่ 15 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36666)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์