สรุปความสำคัญ

21 ธ.ค. 2563 ประชาชนราว 200 คน ไปให้กำลังใจนักกิจกรรมและประชาชน 8 ราย ในวันที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 จากกรณี #ม็อบ29พฤศจิกา หน้ากรมทหารราบที่ 11 โดยตั้งขบวนแห่ขันหมากเดินไปส่งผู้ได้รับหมายที่หน้า สน.บางเขน ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมแสดงดนตรี และปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง รณรงค์ยกเลิกมาตรา 112

หลังวันดังกล่าว รองผู้กำกับสืบสวน สน.บางเขน ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และชินวัตร จันทร์กระจ่าง ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนั้น ด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ซ้ำอีกคดี โดยกล่าวหาว่าคำปราศรัยของทั้งสามที่หน้า สน.บางเขน ซึ่งหยิบยกเนื้อหาคำปราศรัยในประเด็น “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดี ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระราชอํานาจของกษัตริย์ และพาดพิงให้ร้ายกษัตริย์

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    • อานนท์ นำภา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

21 ธ.ค. 2563 เวลาประมาณ 10.30 น. ก่อน 8 ผู้ได้รับหมายเรียกเดินทางไปรับทราบข้อหา มีประชาชนราว 200 คนมาให้กำลังใจ พร้อมตั้งขบวนแห่ขันหมากส่งตัวผู้ได้รับหมายเรียกไปที่หน้า สน.บางเขน จากนั้นมีการปราศรัยถึงความไม่เป็นธรรมของมาตรา 112 และการถูกดำเนินคดี รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกกฎหมายดังกล่าว โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีและนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจเพื่อน รวมทั้งมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศขอให้ยกเลิกการชุมนุม โดยให้เหตุผลว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าภายใน 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม, การชุมนุมกีดขวางสถานที่ราชการหรือสน.บางเขน, ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/24264 และ https://www.mobdatathailand.org/case-file/1608635940493/)

22 มี.ค. 2564 ที่ สน. บางเขน “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง เดินทางไปรับทราบข้อหา หลังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการปราศรัยหน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 โดยชินวัตรเดินทางไปพร้อมกับนักกิจกรรมอีก 2 คน คือ "ตี้" วรรณวลี ธรรมสัตยา และพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ซึ่งได้รับหมายเรียกจากกิจกรรมเดียวกันในข้อหาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาชินวัตรว่า การชุมนุมและปราศรัยหน้า สน.บางเขน ในวันดังกล่าว เป็นความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐ, ร่วมกันฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

ชินวัตรให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวชินวัตร เนื่องจากมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

27 เม.ย. 2564 เวลา 10.30 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี รองผู้กํากับการ (สอบสวน) สน.บางเขน เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหากับพริษฐ์และอานนท์ผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีทนายความ และผู้ไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังด้วย โดยได้แจ้งข้อกล่าวเพนกวินและอานนท์ รวม 5 ข้อหา เช่นเดียวกับชินวัตร อานนท์และพริษฐ์ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมหน้า สน.บางเขน เพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรม ที่เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 นี้ พ.ต.ท.อนันต์ วรสาตร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.บางเขน ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรมรวม 7 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, วรรณวลี ธรรมสัตยา และพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ โดย 5 ราย เป็นผู้ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าวและถูกดำเนินคดีอีกคดี ได้แก่ อานนท์, พริษฐ์, พรหมศร, ชินวัตร และพิมพ์สิริ

โดยเฉพาะอานนท์, พริษฐ์ และชินวัตร ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ซ้ำอีกคดี จากการหยิบยกเนื้อหาคำปราศรัยในประเด็น “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดี 112 และต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนั้น ส่วนภาณุพงศ์, พรหมศร, วรรณวลี และพิมพ์สิริ ถูกดำเนินคดีใน 4 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และอื่นๆ

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.บางเขน ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 และบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 27 เม.ย. 2564)

ภูมิหลัง

  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. รุ่น 2, ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จ.นนทบุรี
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์