สรุปความสำคัญ

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำ “ราษฎร” ถูก แน่งน้อย อัศวกิตติกร แกนนำกลุ่ม ศชอ. ซึ่งเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ เข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. ได้ให้ดําเนินคดีฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 กับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

อานนท์ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ยืนยันว่าการโพสต์ข้อความทั้งสามไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย



ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อานนท์ นำภา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

23 มิ.ย. 2564 เวลา 13.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) อานนท์ นำภา เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 17 พ.ค. 2564 ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ซึ่งมีแน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นผู้กล่าวหา

พนักงานสอบสวน พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ สารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.บูรฉัตร ฉัตรประยูร รอง สารวัตร (สอบสวน) ปรก.กก.3 บก.ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่อานนท์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 แน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้กล่าวหา ได้ตรวจพบบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ นําภา” โพสต์ 3 ข้อความ ในวันที่ 1 และ 3 ม.ค. 2564 มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 ในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

จากการสืบสวนพบว่าอานนท์เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่ออานนท์ ได้แก่ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

อานนท์ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวอานนท์ไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31234)

ภูมิหลัง

  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์