ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2804/2564
แดง อ.56/2567

ผู้กล่าวหา
  • แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธาน ศชอ. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2804/2564
แดง อ.56/2567
ผู้กล่าวหา
  • แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธาน ศชอ.

ความสำคัญของคดี

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำ “ราษฎร” ถูก แน่งน้อย อัศวกิตติกร แกนนำกลุ่ม ศชอ. ซึ่งเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ เข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. ได้ให้ดําเนินคดีฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 กับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นคดีที่พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก และไม่ได้ขอฝากขังอานนท์ในชั้นสอบสวน

อานนท์ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ยืนยันว่าการโพสต์ข้อความทั้งสามไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาดังนี้

ระหว่างวันที่ 1-5 ม.ค. 2564 จําเลยซึ่งเป็นเจ้าของเพจเฟชบุ๊ก ชื่อบัญชี “อานนท์ นําภา” มีผู้ติดตามจํานวน 227,286 คน เปิดเป็นสาธารณะ ได้นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยการโพสต์ข้อความว่า

“เสื่อมศรัทธาในระบอบกษัตริย์จะเป็นความผิดได้ยังไง คือต่อให้ดี-เลว ขนาดไหนก็ต้องรักต้องศรัทธางั้นหรือ? ผมว่าคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องนี้ รุ่นเก่าที่พอมีสติปัญญาก็คงไม่เชื่อเช่นกัน หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว”

“ตํารวจบอกว่าการทําให้คนเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์เป็นความผิด 112 ถ้าผมบอกว่า “กษัตริย์คนนี้ทําตัวขัดกับหลักการประชาธิปไตย เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย” แบบนี้คนใดได้ยินได้ฟังย่อมเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์อย่างแน่นอน แต่ ! แบบนี้ ผมควรมีโทษจําคุก 3-15 ปีหรือ? สังคมไม่ควรสยบยอมให้ 112 มาปิดปากการพูดถึงกษัตริย์ในแง่ไม่ดี ถ้าเรื่องนั้นเป็นความจริง และเป็นเรื่องสาธารณะคนย่อมสามารถพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์ได้ และด่าได้ด้วย การยืนตัวตรงพูดความจริงคือสิ่งที่ต้องเป็นไป ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เข้าใจตรงกัน !!” และ

“ฝ่ายที่ออกมาต่อต้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี่เขาไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเราจริง ๆ หรือเป็นเพราะพอเป็นความคิดของฝ่ายเราเขาก็จะไม่เอาด้วยทุกเรื่อง ถ้าเรารณรงค์ให้คนสวมหน้ากากป้องกันโควิด พวกเขาจะรณรงค์สวนให้คนไม่ใส่หน้ากากมั้ย ? ผมว่าแทบเป็นข้อยุติแล้วว่าสถาบันกษัตริย์กําลังมีปัญหาและสร้างปัญหาหลายอย่างในสังคม อย่างน้อยก็น่าจะเห็นการใช้ชีวิตของคนในสถาบันกษัตริย์ที่ใช้เงินของรัฐอย่างสุรุ่ยสุร่าย (ลองนึกภาพดูว่าถ้านายกหรือข้าราชการคนใดไปพัก ไปเช่าที่พักที่ทํางานอยู่เยอรมัน แล้วบินไปกลับ ขนคนไปรับใช้ที่นั่น แบบนี้สังคมจะยอมรับได้มั้ย ?) แต่ฝ่ายนั้นก็ยังหลับหูหลับตาเชียร์ และคอยเล่นงานคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อยู่ ปีนี้เราต้องทํางานให้หนักขึ้น ทั้งข้อมูลและเนื้อหาของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นปัญหาในตอนนี้ ปีนี้ช่วยๆ กันนะครับ เพื่อการเปลี่ยนแปลง เชื่อมั่นและศรัทธา อานนท์ นําภา 3 มกราคม 2564”

ซึ่งข้อความทั้งหมดดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ทําให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ เสื่อมเสียชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ทั้งยังเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศไทยและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยการโพสต์ของจําเลยดังกล่าว ทําให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้ามากดไลค์ 1.2-1.3 หมื่นคน มีผู้แสดงความคิดเห็น 317-544 คน และมีผู้แชร์ 361-544 ครั้ง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 ลงวันที่ 12 พ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 13.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) อานนท์ นำภา เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 17 พ.ค. 2564 ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ซึ่งมีแน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นผู้กล่าวหา

    พนักงานสอบสวน พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ สารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.บูรฉัตร ฉัตรประยูร รอง สารวัตร (สอบสวน) ปรก.กก.3 บก.ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่อานนท์ดังนี้

    เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 แน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้กล่าวหา ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ นําภา” หลังเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2563 ผู้กล่าวหาได้ตรวจพบบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ 3 ข้อความ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

    ข้อความแรก โพสต์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 “เสื่อมศรัทธาในระบอบกษัตริย์จะเป็นความผิดได้ยังไง คือต่อให้ดี เลว ขนาดไหนก็ต้องรักต้องศรัทธางั้นหรือ ? ผมว่าคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องนี้ รุ่นเก่าที่พอมีสติปัญญาก็คงไม่เชื่อเช่นกัน หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว”

    ข้อความที่สองโพสต์ในวันที่ 1 ม.ค. 2564 เช่นกัน “ตํารวจบอกว่าการทําให้คนเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์เป็นความผิด 112 ถ้าผมบอกว่า “กษัตริย์คนนี้ทําตัวขัด กับหลักการประชาธิปไตย เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย" แบบนี้คนใดได้ยินได้ฟังย่อมเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์อย่างแน่นอน แต่ !! แบบนี้ ผมควรมีโทษจําคุก 3 – 15 ปี หรือ ? สังคมไม่ควรสยบยอมให้ 112 มาปิดปากการพูดถึงกษัตริย์ในแง่ไม่ดี ถ้าเรื่องนั้นเป็นความจริง และเป็นเรื่องสาธารณะ คนย่อมสามารถพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์ได้ และด่าได้ด้วย การยืนตัวตรงพูดความจริงคือสิ่งที่ต้องเป็นไป ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เข้าใจตรงกัน !!”

    ข้อความที่สามโพสต์เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2564 “ฝ่ายที่ออกมาต่อต้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี้เขาไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเราจริงๆ หรือเป็นเพราะพอเป็นความคิดของฝ่ายเราเขาก็จะไม่เอาด้วยทุกเรื่อง ถ้าเรารณรงค์ให้คนสวมหน้ากากป้องกันโควิด พวกเขาจะรณรงค์สวนให้คนไม่ใส่หน้ากากมั้ย ? ผมว่าแทบจะเป็นข้อยุติแล้วว่าสถาบันกษัตริย์กําลังมีปัญหาและสร้างปัญหาหลายอย่างในสังคม อย่างน้อยก็น่าจะเห็นการใช้ชีวิตของคนในสถาบันกษัตริย์ที่ใช้เงินของรัฐอย่างสุรุ่ยสุร่าย (ลองนึก ภาพดูว่าถ้านายกหรือข้าราชการคนใดไปพักไปเช่าที่พักที่ทํางานอยู่เยอรมัน แล้วบินไปกลับ ขนคนไปรับใช้ที่นั่น แบบนี้สังคมจะยอมรับได้มั้ย ?) แต่ฝ่ายนั้นก็ยังหลับหูหลับตาเชียร์ และคอยเล่นงานคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อยู่ ปีนี้เราต้องทํางานให้หนักขึ้น ทั้งข้อมูลและเนื้อหาของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นปัญหาในตอนนี้ ปีนี้ ช่วยๆ กันนะครับ เพื่อการเปลี่ยนแปลง เชื่อมั่นและศรัทธา อานนท์ นําภา 3 มกราคม 2564”

    จากการสืบสวนพบว่าอานนท์เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่ออานนท์ ได้แก่ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3)

    อานนท์ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา อีกทั้งให้การเพิ่มเติมว่า ทั้ง 3 โพสต์ดังกล่าวผู้ต้องหาเป็นผู้โพสต์จริง แต่ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาทแต่อย่างใด เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 ก.ค. 2564

    หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับทราบข้อหา พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวอานนท์ไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้

    ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ได้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1 นาย เดินมาส่งอานนท์จาก บก.ปอท. ถึงบริเวณหน้าตึกของศูนย์ราชการ อาคาร B อ้างเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ต้องหา

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31234)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 มีคำสั่งฟ้องอานนท์ และยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยไม่ได้นำตัวอานนท์มาศาลพร้อมฟ้อง เนื่องจากอานนท์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีอื่นของศาลอาญาเช่นกัน 2 คดี และศาลอาญากรุงเทพใต้อีก 1 คดี จึงถือว่าอานนท์อยู่ในอำนาจศาลแล้ว

    ท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ระหว่างพิจารณาคดี

    หลังศาลรับฟ้องได้นัดสอบคำให้การในวันที่ 15 พ.ย. 2564 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 ลงวันที่ 12 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37803)
  • อานนท์ถูกนำตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่ศาล โดยไม่ได้แจ้งทนายความ ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้อานนท์ฟัง ก่อนถามคำให้การ อานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 20 ธ.ค. 2564 เวลา 09.00 น. โดยในวันนี้ทนายความยังไม่ได้ยื่นประกันตัว ทำให้อานนท์ถูกคุมขังตามหมายขังของศาลในคดีมาตรา 112 ระหว่างการพิจารณาคดี เป็นคดีที่ 4

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/37803)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งแรก ศาลมีคำสั่งไต่สวนคำร้องในวันที่ 17 ธ.ค. 2564
  • นัดไต่สวนคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำราษฎร ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุมต่างๆ

    บรรยากาศในศาลอาญาช่วงเช้ามีการตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และมีบัตรชั่วคราวสำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมฟังการไต่สวน ส่วนที่ห้องพิจารณา 704 เจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้เก็บเครื่องมือสื่อสารเหมือนที่ผ่านมา ทั้งยังให้ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าร่วมฟังการไต่สวนครั้งนี้ได้ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

    เวลา 09.50 น.เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ราว 8 นาย คุมตัวนักกิจกรรมทั้งสี่ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาลอ่อน สวมหน้ากากอนามัยเข้าห้องพิจารณา ครอบครัวและประชาชนที่มาให้กำลังใจต่างทยอยเข้าไปสวมกอดและทักทาย ในช่วงเวลาที่การพิจารณาคดียังไม่เริ่ม

    เวลา 11.20 น. อานนท์ นำภา เข้าเบิกความว่า ตนจบเนติบัณฑิตรุ่น 62 ประกอบอาชีพทนายความมา 13 ปี ในคดีนี้ตนถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างถูกคุมขังครั้งก่อน ตนได้ติดโควิดในเรือนจำเมื่อช่วงกลางปี และปัจจุบันยังมีอาการ Long COVID (อาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19) ทำให้เหนื่อยง่าย

    กอปรกับการที่ตนประกอบอาชีพทนาย การทำหน้าที่ว่าความในคดีต่างๆ ทำได้ลำบาก เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ หลายคดีต้องเลื่อนการพิจารณา ทั้งที่เดิมในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ตนเป็นจำเลย ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมามีพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องขอเพิกถอนประกัน เนื่องจากเห็นว่าผิดเงื่อนไข ที่ตนเข้าร่วมชุมนุมทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ก่อนศาลสั่งให้มีการไต่สวนและยกคำร้องโจทก์ไป โดยวินิจฉัยว่าตนไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไข

    เหตุที่ตนไม่ได้ประกัน หลังยื่นขอประกันหลายครั้ง เนื่องจากศาลให้เหตุผลว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำ หากแต่ก่อนหน้านั้น ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การกระทำที่ถูกร้องให้เพิกถอนประกันนั้นไม่ได้เป็นการกระทำผิดเงื่อนไข

    สำหรับคดีที่ถูกฟ้องใหม่ เป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนการไต่สวนถอนประกัน และหลังจากที่ไต่สวนเสร็จแล้ว ตนถูกเพิ่มเงื่อนไขอีก 2 ข้อ คือ ห้ามออกจากเคหสถาน 24 ชั่วโมง และให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) แต่ยังไม่ได้ปฎิบัติตาม เนื่องจากถูกขังตามหมายขังคดีอื่นๆ

    ก่อนศาลถามว่า เคยถูกไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลไหม อานนท์ตอบไม่เคย

    เวลา 14.45 น. ภายหลังเสร็จการไต่สวนศาลกล่าวว่า จะต้องนำข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไปพิจารณาในที่ประชุมของศาล เนื่องจากไม่อยากให้การสั่งปล่อยหรือไม่ปล่อยเป็นการสั่งโดยผู้พิพากษาคนเดียว พร้อมทั้งย้ำว่า อย่าเข้าใจว่าการให้โอกาสไต่สวนในครั้งนี้จะเป็นเหตุให้ปล่อยตัวได้ทันที การอ้างว่าจะต้องกลับไปเรียนหรือกลับไปทำงานไม่ใช่เหตุที่จะนำไปสู่การปล่อยตัว ไม่เช่นนั้นทุกคนที่ถูกขังอยู่ก็คงอ้างได้

    นอกจากนี้ศาลยังกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่ว่าจำเลยแถลงยอมรับเงื่อนไขแล้วศาลจะต้องปล่อยตัวเท่านั้น การเสนอเงื่อนไขไม่ใช่เหตุปล่อยตัวอย่างเดียว ศาลจะต้องพิจารณาที่การกระทำ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้ปล่อย จึงจะอนุญาตปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะสั่งอย่างไร สังคมก็จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสั่งนั้น ศาลจึงต้องให้โอกาสในการเรียกมาไต่สวน

    จากนั้นศาลได้ถามพนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ว่า จะคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ก่อนกล่าวว่าอันที่จริงอัยการได้แถลงคัดค้านไว้แล้วก่อนจะมีการไต่สวน อัยการแถลงว่า จะต้องคัดค้านเนื่องจากคดีทั้งหมดเป็นคดีที่มีโทษสูง หากปล่อยตัวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

    ต่อมา คณะพนักงานอัยการราว 15 คน ได้ปรึกษากันอีกครั้ง ก่อนจะแถลงว่าไม่สามารถแถลงคัดค้านภายในวันนี้ได้ เนื่องจากจำเลยแต่ละคนมีหลายคดี จึงขอทำคำแถลงเป็นเอกสารมายื่นภายในสัปดาห์หน้าซึ่งอาจจะเป็นวันพุธที่ 22 ธ.ค. 2564

    อานนท์ได้ขอแถลงต่อศาลว่า ตนรู้สึกว่าขั้นตอนการไต่สวนค่อนข้างแปลก เนื่องจากเปิดให้มีการไต่สวนแล้ว ยังจะเปิดให้มีการแถลงคัดค้านหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนอีก ซึ่งตนกังวลว่าหากอัยการทำคำแถลงมาแล้วปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ ฝ่ายจำเลยก็จะไม่ได้โต้แย้ง จะเป็นเสมือนการตอกฝาโลงตนหรือไม่ จึงขอท้วงติงไว้

    ศาลกล่าวตอบอานนท์ว่า จำเลยอย่าบังคับศาลมากเกินไป ศาลได้ย่นย่อการพิจารณาให้สั้นลงโดยไม่ได้เรียกพนักงานสอบสวนแต่ละคดีมาไต่สวน หรืออานนท์อยากจะให้มีการสืบพยานอีกซัก 2-3 นัด ซึ่งมันก็อาจจะช้าออกไปอีก อานนท์จึงกล่าวว่า การพูดอย่างนี้ก็เหมือนเอาคนที่ถูกคุมขังอยู่เป็นตัวประกัน เพราะเวลาของคนข้างนอกกับคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้เท่ากัน

    หลังศาลและจำเลยโต้เถียงเหตุผลกันอยู่ราวครึ่งชั่วโมง ศาลจึงกล่าวสรุปว่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายเต็มที่ โดยโจทก์ได้ยืนยันว่าจะไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ การทำหนังสือคัดค้านเป็นเพียงการคัดค้านตามปกติ ส่วนฝ่ายจำเลยก็สามารถทำคำแถลงคล้ายกับการทำคำแถลงปิดคดีได้เช่นกันหากประสงค์จะทำ

    ให้พนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 และนัดฟังคำสั่งว่าศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ในวันที่ 24 ธ.ค. 2564 ในเวลา 13.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/38980)

  • อานนท์ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่เสมียนทนายจําเลยยื่นคําร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากทนายจําเลยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงต้องกักตัวไม่อาจมาศาลในวันนี้ได้ โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดสอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐานและกําหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 14 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2564)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ อานนท์ นำภา ในคดีการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่มีหมายขังทั้งหมดของศาลอาญา ในส่วนของอานนท์รวมแล้ว 9 คดี รวมทั้งคดีนี้ด้วย

    สำหรับคดีของศาลอาญาข้างต้น อานนท์เคยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และศาลเคยให้มีการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาก็ยังยืนกรานไม่ให้ประกัน ‘เพนกวิน-อานนท์-ไมค์-ไผ่’ ในครั้งนั้น อ้างเหตุว่า “เกรงว่าจะกระทำผิดซ้ำ”

    การยื่นประกันในครั้งล่าสุดนี้ อานนท์ได้ระบุในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในทุกคดีของทุกศาลเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมาว่า จะไม่กระทําการใดๆ ให้สถาบันกษัตริย์เกิดความเสื่อมเสีย ไม่ทํากิจกรรมใดที่จะทําให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ไม่เดินทางออกนอกประเทศ และพร้อมที่จะเดินทางมาศาลตามที่มีการนัดหมายทุกครั้ง รวมถึงยินยอมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ทั้งยังมีคำร้องเพิ่มเติมเข้ามาว่า

    1. นับจนถึงวันนี้จําเลยถูกคุมขังไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีเกินกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งในคดีนี้พยานโจทก์และพยานจําเลยมีจํานวนมาก ยังไม่อาจกําหนดได้ว่าจะสามารถพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นเมื่อใด และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ ในการสืบพยานโจทก์ที่ผ่านมาให้เห็นถึงความผิดของจําเลย
    2. ในคดีหมายเลขดําที่ อ.287/2564 ของศาลอาญา (คดี 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) ซึ่งมีจําเลยคนอื่น ๆ ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดร่วมกันกับจําเลยทั้งสองนี้ ศาลก็ได้มีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยในคดีนี้จํานวนหลายคน เช่น ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล, จตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน บุญภัทรรักษา, ภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก โดยศาลได้กําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้จําเลยปฏิบัติตาม ก็ปรากฏว่าจําเลยเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้เคร่งครัดทุกประการ และไม่ได้ผิดเงื่อนไขของศาลเลย ซึ่งจําเลยทั้งสองก็ขอยืนยันว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ เหมือนดังเช่นจําเลยคนอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อนหน้านี้

    เวลา 16.30 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดของศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์และเพนกวินในทุกคดี ระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีโดยรวมแล้ว กรณีเห็นควรให้โอกาสจําเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาลสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณามีกําหนดเวลา 3 เดือน (ครบกําหนดวันที่ 22 พ.ค. 2565) กําหนดเงื่อนไข

    1. ห้ามทํากิจกรรมหรือกระทําการใด ๆ อันจะทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทําการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
    2. ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM
    4. ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น. เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปศึกษาเล่าเรียน ไปสถานีตํารวจ สํานักงานอัยการ หรือศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาล
    5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
    หากจําเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมคําสั่งเดิมตามพฤติการณ์ของจําเลยที่เปลี่ยนไป ตามความเหมาะสมและความร้ายแรงของพฤติการณ์ต่อไป นอกจากนี้ กรณีครบกําหนดการปล่อยชั่วคราวโดยมีกําหนดระยะเวลาแล้ว หากจําเลยไม่มีพฤติการณ์ที่ผิดเงื่อนไข ศาลจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิมต่อไป

    อย่างไรก็ตาม อานนท์ซึ่งถูกขังมาแล้ว 196 วัน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เนื่องจากศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงยืนยันไม่ให้ประกันในอีก 2 คดี

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 ลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40716)
  • เวลา 10.00 น. ศาลเริ่มต้นพิจารณาคดี อานนท์ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยอัยการและทนายจำเลยแถลงร่วมกันว่าไม่สามารถรับข้อเท็จจริงในคดีได้

    โจทก์แถลงขอสืบพยานจำนวน 7 ปาก โดยมี แน่งน้อย อัศวกิตติกร จากศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นพยานปากแรก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยาน จํานวน 1 นัดครึ่ง

    ขณะที่ฝ่ายจำเลยขอสืบพยาน 23 ปาก โดยพยานอันดับ 1 คือตัวอานนท์ นำภา ส่วนพยานลำดับที่ 2-9 เป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย รัฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และประวัติศาสตร์

    จำเลยยังได้อ้างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, เลขาธิการสำนักพระราชวัง, ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เป็นพยานเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ในคดี

    ศาลได้ติงว่ามีความเป็นไปได้ที่พยานจำเลยในกลุ่มนี้อาจจะไม่สะดวกมาเป็นพยาน แต่ศาลจะไม่ตัดพยานของจำเลยและได้แนะนำว่าให้เพิ่มคำว่าผู้แทนลงในบัญชีพยาน เนื่องจากหากว่าบุคคลดังกล่าวไม่สะดวกมาเองอาจจะส่งตัวแทนมาได้

    นอกจากนี้ยังมีการขอให้ศาลออกหมายเรียกเจ้าหน้าที่กงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิค, เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิส ประจำประเทศไทย, เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งศาลกล่าวว่าบุคคลเหล่านี้มีเอกสิทธิ์ทางการทูต ไม่สามารถออกหมายเรียกได้ แต่หากจําเลยประสงค์จะสืบพยานดังกล่าว ให้ทําคําร้องเพื่อให้สํานักงานศาลมีหนังสือแจ้งไปยังบุคคลดังกล่าว

    นอกจากพยานบุคคลแล้ว ทนายความยังได้ยื่นพยานเอกสารและภาพเคลื่อนไหวจำนวน 67 รายการ เป็นพยานหลักฐาน รวมแล้วศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยให้จำนวน 4 นัดครึ่ง

    ต่อมา คู่ความได้ตกลงวันนัดสืบพยานที่ศูนย์หน้าบัลลังก์ เป็นวันที่ 6-7, 11-14 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 ลงวันที่ 14 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41365)
  • นัดสืบพยานนัดแรกซึ่งศาลเลื่อนจากที่นัดไว้เดิมโดยไม่ได้สอบถามวันว่างของคู่ความ อานนท์เดินทางมาศาลพร้อมกับทนายความ โดยทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่าขอเลื่อนคดีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากศาลยังไม่ได้ออกหมายเรียกเอกสารสำคัญที่ระบุในบัญชีพยานของจำเลย ซึ่งต้องใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ เอกสารสำคัญดังกล่าวคือ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และงบประมาณของสถาบันกษัตริย์

    อย่างไรก็ตาม ศาลให้สืบพยานไปก่อน โดยให้พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามโจทก์ไป และทนายจำเลยค่อยซักค้านในประเด็นดังกล่าวภายหลัง แต่ทนายจำเลยแย้งว่า เนื่องจากผู้กล่าวหาได้ไปแจ้งความคดีนี้ โดยบอกว่าเป็นการบิดเบือน ใส่ร้าย และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทางจำเลยต้องการพิสูจน์ว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันกษัตริย์ จึงจำเป็นต้องมีเอกสารมาหักล้างผู้กล่าวหา จะให้สืบพยานโจทก์ไปก่อน ถามค้านทีหลังไม่ได้

    ศาลระบุว่า เนื่องจากจำเลยไม่ได้ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารมาตั้งแต่วันนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่มาขอวันนี้ มันจะไม่เป็นไปตามกระบวนการพิจารณา ด้านทนายจำเลยชี้แจงว่า ขณะที่มีนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยติดคุกอยู่ ไม่สามารถออกมาจากเรือนจำเพื่อขอหมายเรียกได้ ซึ่งหากศาลจะออกหมายเรียกภายในวันนี้ก็สามารถทำได้

    อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าว เพราะเห็นว่าจำเลยควรขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารตั้งแต่วันนัดตรวจพยานหลักฐานแล้ว รวมทั้งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีออกไป โดยให้ดำเนินการสืบพยานต่อไปตามที่นัดไว้ ทั้งนี้ ศาลย้ำว่า “ศาลทำไปตามหน้าที่และกระบวนการยุติธรรม”

    สำหรับบรรยากาศการสืบพยานคดีนี้ มีญาติ ประชาชน องค์กรสิทธิมนุษยชน นักข่าว เจ้าหน้าที่สถานทูตจากสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และเยอรมัน มาสังเกตการณ์คดี โดยการพิจารณาคดีเป็นไปโดยเปิดเผย ประชาชนทุกคนสามารถเข้าฟังได้

    ทั้งนี้ โจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 6 ปาก ประกอบด้วย แน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้กล่าวหา, นักวิชาการและประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านโพสต์รวม 4 ปาก และพนักงานสอบสวน อีก 1 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลย นำพยานขึ้นเบิกความ 4 ปาก ได้แก่ อานนท์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา, สถาบันกษัตริย์ และการบังคับใช้มาตรา 112

    อัยการโจทก์พยายามนำสืบว่า การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจใส่ร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แม้จำเลยไม่ได้มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าพาดพิงถึงบุคคลใด แต่มีนัยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ติชมอย่างสุจริตตามรัฐธรรมนูญ

    ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลยคือ โพสต์ทั้งสามของจำเลยกล่าวถึงคนในกระบวนการยุติธรรมที่บังคับใช้มาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้เจาะจงกล่าวถึงกษัตริย์องค์ใด โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 เพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง, บทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ซึ่งขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมไปถึงเรื่องการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์
    .
    ++ผู้กล่าวหา ประธาน ศชอ. เบิกความ โพสต์ของอานนท์ด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ - กล่าวร้ายรัชกาลที่ 10 แต่รับว่า ไม่ทราบว่า สิ่งที่โพสต์เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่

    แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธาน ศชอ. ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 พยานกำลังเปิดเฟซบุ๊กและอ่านข่าวการเมือง ก่อนจะเห็นฟีดเฟซบุ๊กเด้งบัญชี “อานนท์ นำภา” ขึ้นมา พยานจึงได้เข้าไปอ่านแล้วรู้สึกตกใจมาก เนื่องจากบรรยายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มีการด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และกล่าวร้ายองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานในฐานะที่เป็นคนไทยรู้สึกรับไม่ได้

    พยานเห็นว่า ข้อความ “เสื่อมศรัทธาในระบอบกษัตริย์จะเป็นความผิดได้ยังไง คือต่อให้ดี เลว ขนาดไหนก็ต้องรักต้องศรัทธางั้นหรือ ? ผม ว่าคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องนี้ รุ่นเก่าที่พอมีสติปัญญาก็คงไม่เชื่อเช่นกัน หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว” หมายถึงรัชกาลที่ 10 เพราะรัชกาลที่ 9 สวรรคตไปแล้ว

    โพสต์ดังกล่าวมีคนกดถูกใจเป็นหมื่นคน แสดงให้เห็นว่าคนที่เข้ามาอ่านเชื่อในสิ่งที่อานนท์เขียน และมีการแชร์เกินหลักร้อย เป็นการเผยแพร่ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นแบบที่อานนท์พูดไว้ ทั้งมีคนมาแสดงความคิดเห็นในด้านลบ จูงใจให้เชื่อตามที่จำเลยโพสต์ ตั้งค่าการเผยแพร่เป็นสาธารณะ

    ต่อมา วันเดียวกันตอนค่ำ พยานพบอีกโพสต์ (ข้อความที่ 2) พยานเห็นว่า คำว่า “กษัตริย์” หมายถึง รัชกาลที่ 10 ประโยคที่บอกว่า “กษัตริย์ทำตัวขัดหลักประชาธิปไตย…” เป็นการกล่าวหาว่า กษัตริย์เป็นคนขี้โกง ฉ้อราษฎร์บังหลวง เบียดบังเอาเงินของประเทศไปใช้ คนที่เข้าไปกดไลค์โพสต์น่าจะมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันกับจำเลย จำนวนแชร์โพสต์หลักหมื่น ตั้งค่าเป็นสาธารณะ มีการแสดงความเห็นในลักษณะประณามพฤติกรรมของรัชกาลที่ 10

    นอกจากนี้ พยานยังพบข้อความที่ 3 อีกในวันเดียวกัน ตั้งค่าเผยแพร่เป็นสาธารณะ มีคนกดถูกใจหลักหมื่น มีการแสดงความคิดเห็นด้านลบต่อสถาบันกษัตริย์ พยานอ่านแล้วเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 พยานรู้สึกแปลกใจ ไม่เข้าใจในความคิดของอานนท์ เพราะพยานเป็นคนไทย เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ และมาตรา 112 ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน ทำไมอานนท์จึงโพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าวซึ่งส่งผลให้ประชาชนเกลียดชังสถาบันกษัตริย์อย่างมาก

    พยานย้ำว่า ถ้าเราอยู่กันเฉย ๆ ไม่ทำอะไร ก็คงไม่โดนมาตรา 112 พยานรู้สึกโกรธและเสียใจเพราะว่าต้นตระกูลมาจากจีน ได้อาศัยพระบรมโพธิสมภาร ดูแลอย่างดี

    พยานเห็นว่า ข้อความทั้งสามส่งผลเสีย ทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกเกลียดชัง จึงเข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. ทั้งนี้ เฟซบุ๊กของอานนท์มีผู้ติดตามประมาณ 100,000 คน ส่วนตัวไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

    @ตอบทนายจำเลยถามค้าน

    ผู้กล่าวหารับว่า เคยเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) มาก่อน แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. (ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) แต่อย่างใด

    พยานตอบทนายจำเลยรับอีกว่า เคยไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาคัดค้านการที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ส่งตัวเพนกวิน ผู้ต้องหา 112 ไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ พยานไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก รวมถึงไม่เห็นด้วยกับอานนท์ นำภา

    พยานยังเคยไปแจ้งความที่ ปอท. ให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน แต่ไม่ถึง 1,000 คน ที่มีการลงข่าวว่าพยานไปแจ้งความกว่า 1,000 คนนั้น เป็นเพียงการสร้างคอนเทนต์ข่าว

    แน่งน้อยเบิกความตอบคำถามค้านต่อว่า ไม่ทราบว่า รัชกาลที่ 10 สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติไปแล้วหรือไม่ แต่สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากจะแก้ไขกฎหมาย จะต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา

    พยานทราบว่า ใน ปี 2559 หลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำทูลเกล้าให้ในหลวงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ทราบว่า ในหลวงได้สั่งให้แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์หรือไม่ พยานไม่ทราบด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการแก้ไขไปจากฉบับที่ลงประชามติหรือไม่ และในสมัยรัชกาลที่ 9 เคยมีรับสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

    แน่งน้อยรับกับทนายจำเลยว่าไม่ทราบว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และไม่ทราบว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้วมีการแก้ไขเป็น จะมีการตั้งผู้สำเร็จราชการฯ หรือไม่ตั้งก็ได้

    นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่า งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์มีจํานวนเท่าใด แม้เรื่องดังกล่าวสามารถค้นหาได้ทางอินเตอร์เน็ต

    พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 เคยไปประเทศเยอรมนี แต่ไม่ทราบว่า ประทับที่ใด เมื่อไหร่ กับบุคคลใด ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เนื่องจากพยานไม่จําเป็นต้องไปสอดรู้สอดเห็น

    อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า ไม่ทราบว่า ภายหลังปี 2560 มีการโอนหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ฯ และปูนซีเมนต์ไทยไปเป็นของรัชกาลที่ 10 ไม่ทราบด้วยว่า การโอนหุ้นลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 หรือไม่ และสิ่งที่จําเลยโพสต์เป็นความจริงหรือไม่

    พยานไม่ทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 9 เคยมีการโอนกําลังพลของกองทัพไปสังกัดหน่วยราชการส่วนพระองค์หรือไม่ แต่ทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 10 มีการออกพระราชกําหนดโอนกําลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ ซึ่งในต่างประเทศที่มีการใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะมีการโอนกําลังพลไปเป็นข้าราชการในหน่วยราชการในพระองค์หรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ แต่ในความเห็นของพยานการโอนกําลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์สามารถทําได้

    พยานยังตอบทนายจำเลยว่า ไม่ทราบจํานวนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 และไม่ทราบว่ามีการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 ไปเป็นของรัชกาลที่ 10 ไม่ทราบด้วยว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ และหากมีการเปลี่ยนรัชกาล ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะตกทอดอย่างไร รวมถึงในสมัยรัชกาลที่ 9 ลานพระบรมรูปทรงม้า วัดพระแก้ว สนามหลวง และสวนสัตว์เขาดิน เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือไม่

    นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่า ขณะรัชกาลที่ 10 ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศไทยมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ และขณะประทับที่ประเทศเยอรมนีมีการใช้พระราชอํานาจหรือไม่ รวมถึงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีอภิปรายเรื่องที่พระองค์ใช้พระราชอํานาจในขณะประทับที่ประเทศเยอรมนี

    พยานเห็นว่าคําว่า พระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ไม่รวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ไม่ทราบว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่

    ++นักวิชาการนิติศาสตร์ชี้ โพสต์ทั้งสามเป็นการกล่าวหาลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐาน เข้าองค์ประกอบหมิ่นประมาทกษัตริย์ แม้เป็นการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยรวม - ม.112 ไม่ระบุถึงสถาบันกษัตริย์

    คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เบิกความว่า ตนจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท นิติศาสตร์ กฎหมายมหาชนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย เชี่ยวชาญกฎหมายการปกครองพิเศษ และเคยสอนหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคง เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนเรียกพยานไปให้ความเห็น

    สำหรับข้อความแรก พยานรู้สึกว่า เนื้อหาไม่ได้ระบุว่ากล่าวถึงใคร แต่เดาว่าเป็นรัชกาลที่ 10 ส่วนข้อความที่ 2 สื่อถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันว่ามีการนำทรัพย์สินประเทศไปใช้ส่วนตัว มีความประพฤติที่เสื่อมเสีย

    และข้อความที่ 3 พยานเห็นว่า จำเลยพูดถึงสถาบันกษัตริย์และองคาพยพทั้งหมด โดยคำว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารที่อยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์ แต่พยานอ่านแล้ว เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 พระองค์เดียว

    คมสันเบิกความอีกว่า ในความเห็นของพยาน การแสดงความคิดเห็นวิจารณ์พระมหากษัตริย์สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่ไม่ทำให้กษัตริย์เสียหาย การกล่าวหาลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานนั้นทำไม่ได้ ซึ่งในโพสต์ตามฟ้องก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานมาแสดง หากประชาชนทั่วไปพบเห็น ย่อมอาจทำให้เกิดความเสียหายและความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ พยานจึงเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท

    @ตอบทนายจำเลยถามค้าน

    คมสันเบิกความตอบทนายจำเลยว่า โพสต์ที่ 3 เป็นการโพสต์คนละวันกับ 2 โพสต์แรก ระหว่างโพสต์ทั้งสามจำเลยจะมีการโพสต์อีกหรือไม่ พยานไม่ทราบ และในทั้งสามโพสต์จำเลยพูดถึงสถาบันกษัตริย์โดยรวม ไม่ได้มีการกล่าวเจาะจงว่าเป็นรัชกาลที่ 10 แต่พยานอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ว่า ตั้งใจสื่อถึงรัชกาลที่ 10

    พยานเห็นว่า กษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ แม้ในมาตรา 112 ไม่ได้ระบุถึง สถาบันกษัตริย์

    พยานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม และพยานเคยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง ไม่ได้ทำเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

    พยานเคยขึ้นปราศรัยในเวที กปปส. ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้รู้จักอานนท์เป็นการส่วนตัว แต่รู้จักว่าเป็นแกนนำกลุ่มราษฎรตามบทสัมภาษณ์ในสื่อ ซึ่งพยานไม่เห็นด้วยกับอานนท์เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    พยานเคยไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112 กว่า 40 คดี โดยครึ่งหนึ่งพยานให้การว่า เข้าข่ายผิดมาตรา 112 ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่า ทำไมพนักงานสอบสวนถึงเลือกตนให้เป็นพยาน

    คมสันตอบทนายจำเลยอีกว่า เคยฟังพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ซึ่งกล่าวว่า กษัตริย์ถูกวิจารณ์ได้ และไม่ควรใช้มาตรา 112 พร่ำเพรื่อ เพราะจะทำให้กษัตริย์เดือดร้อน ซึ่งหากเรื่องที่พูดเป็นความจริงและเป็นประโยชน์สาธารณะก็ย่อมพูดได้ และไม่เป็นความผิด

    พยานเห็นว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้วเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติร่วมกันของกษัตรย์และประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่อาจขัดแย้งกับ หยุด แสงอุทัย, ไพโรจน์ ชัยนาม และมีชัย ฤชุพันธุ์ พยานเห็นว่า กษัตริย์อาจท้วงติงให้แก้ไขได้ ซึ่งเป็นประเพณีการปกครอง แม้ไม่ได้ระบุในรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นประเทศอังกฤษ กษัตริย์สามารถใช้อำนาจ veto รัฐธรรมนูญได้

    พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญปี 2557 มีการแก้ไขมากกว่า 4 ครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามกระแสรับสั่ง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ไม่เคยมีการสั่งในลักษณะนี้มาก่อน

    พยานทราบว่า ในรัชกาลที่ 10 มีการออก พ.ร.ก.โอนกำลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ แต่ไม่ทราบว่า เคยมีประเทศไหนทำในลักษณะนี้

    พยานทราบว่า ปี 2560 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ กำหนดให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายรวมถึงวัดพระแก้ว สนามหลวง โดยพระมหากษัตริย์สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ “ตามพระราชอัธยาศัย” ทั้งนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่เคยมีการออกกฎหมายในลักษณะนี้มาก่อน

    พยานไม่ทราบว่า ส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้เปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์หลังประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วหรือไม่ จะต้องมีหลักฐานมายืนยัน ทั้งนี้ พยานไม่เคยทราบข่าวเรื่องการโอนหุ้นไทยพาณิชย์และปูนซีเมนต์ไทยแต่อย่างใด

    พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 เคยไปประทับที่ประเทศเยอรมนี แต่ไม่ทราบว่า ประทับที่ใด นำข้าราชการบริพารไปด้วยหรือไม่ ใช้งบประมาณส่วนพระองค์หรือภาษี

    พยานไม่ทราบว่า ขณะรัชกาลที่ 10 ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศไทยมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ และเคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีอภิปรายเรื่องที่พระองค์ใช้พระราชอํานาจนอกราชอาณาจักร ซึ่งตามหลักการ กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจนอกราชอาณาจักรได้ แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้การสื่อสารข้ามแดนได้ การจะรู้ว่ามีการใช้อำนาจนอกพระราชอาณาจักรหรือไม่ ต้องมีหลักฐานมายืนยัน

    พยานไม่ทราบด้วยว่า สถาบันกษัตริย์ใช้งบประมาณปีละเท่าไหร่ และจำนวนดังกล่าวจะมากหรือน้อย แต่ละคนมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ต้องมีรายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วย หากใช้อย่างเหมาะสมก็ถือว่าไม่มาก

    ทนายจำเลยถามว่า หากจำเลยนำหลักฐานเกี่ยวกับข้อความที่โพสต์มาแสดง ความเห็นของพยานที่ว่า จำเลยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เปลี่ยน เพราะขณะโพสต์ไม่มีหลักฐาน เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ซึ่งกระทบสิทธิส่วนบุคคล แม้คดีหมิ่นประมาทจะต้องพิสูจน์กันในชั้นศาล

    พยานระบุว่า ตนไม่ได้มีหน้าที่พิสูจน์ว่า ที่จำเลยโพสต์เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ แค่ดูข้อความว่า หมิ่นประมาทหรือไม่ โดยในชั้นสอบสวนพยานเห็นว่าข้อความดังกล่าวเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

    @ตอบอัยการถามติง

    คมสันเบิกความตอบอัยการว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุถึงสถาบันกษัตริย์ แต่เจตนารมย์ของกฎหมายคือปกป้องสถาบันกษัตริย์ และข้อความก็สื่อถึงกษัตริย์ในนัยยะที่เข้าใจได้

    พยานเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นทำได้แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 ลงวันที่ 20 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/63182)
  • ++อาจารย์กฎหมายมหาชนเบิกความ ‘สถาบันกษัตริย์’ หมายถึงกษัตริย์ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ โพสต์ทั้งสามจึงเจตนาหมายถึง ร.10 แต่รับว่า ร.10 เคยประกาศให้สมาชิกราชวงศ์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์

    กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ด้านกฎหมาย เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้เชิญพยานไปดูโพสต์ข้อความของอานนท์และให้ความเห็น

    พยานเห็นว่า ข้อความแรกมีการกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์ที่ไม่ดี ข้อความที่ 2 เป็นการใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความรู้สึกไม่ดีว่ากษัตริย์เอาภาษีไปใช้ที่เยอรมัน และข้อความที่ 3 คำว่า “สถาบันกษัตริย์” หมายถึงกษัตริย์ที่กำลังดำรงตำแหน่ง

    บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ หรือประชาชนทั่วไป และมาตรา 112 ก็คุ้มครอง 4 ตำแหน่ง ได้แก่ กษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประชาชนสามารถพูดถึงได้ แต่ต้องดูเจตนาและข้อความที่โพสต์ว่าทำให้เสื่อมเสียหรือไม่

    @ตอบทนายจำเลยถามค้าน

    กิตติพงศ์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของพยานเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

    พยานเคยไปให้การในคดีมาตรา 112 มาทั้งหมด 30 คดี โดยมีความเห็นว่า เข้าข่ายผิดมาตรา 112 เกือบทุกคดี

    พยานเคยไปเป็นพยานให้การในคดี 112 ของ ทิวากร วิถีตน ที่ศาลจังหวัดลำปาง กรณีใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันแล้ว” ทิวากรใส่ชุดดังกล่าวแล้วถูกจับกุมดำเนินคดี แต่พยานไม่ทราบว่าเหตุดังกล่าวเป็นมูลเหตุให้อานนท์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่พยานทราบว่า คดีทิวากรดังกล่าวมีการยกฟ้องมาตรา 112 ไป

    พยานทราบจากข่าวสารที่ปรากฏทั่วไปว่า ในสมัยรัชกาลที่ 10 มีการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ไม่ได้มีการปิดบัง เมื่อกฎหมายเปลี่ยนก็มีการโอนทรัพย์สินตามกฎหมาย

    พยานเห็นว่า เรื่องการไปประทับที่ประเทศเยอรมนี เป็นเรื่องส่วนพระองค์ แต่ไม่ทราบว่า พระองค์ใช้งบประมาณส่วนพระองค์หรือภาษีประชาชน

    ในความเห็นของพยาน คำว่า “สถาบันกษัตริย์” เป็นการกล่าวถึงตำแหน่งประมุข ซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์เดียว ส่วน ราชวงศ์ จะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ต้องดูในหลายๆ นัยยะ ไม่สามารถจำกัดคำนิยามได้ ทั้งต้องดูพฤติการณ์ประกอบว่าสื่อถึงอะไร และ องคมนตรี เป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ ​

    อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า รัชกาลที่ 10 เคยประกาศว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ แม้ทูลกระหม่อมหญิงจะสละฐานนันดรแล้ว แต่ยังเป็นสมาชิกราชวงศ์ และคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้มีการให้คำจำกัดความไว้อย่างชัดเจน

    กิตติพงศ์รับว่า เคยเขียนบทความไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งเป็นความเห็นทางวิชาการ และพยานไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม รวมถึงไม่เคยตีพิมพ์วารสารระดับประเทศและบทความในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับมาตรา 112

    มีนักวิชาการหลายคนที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับมาตรา 112 เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112

    สาเหตุที่พนักงานสอบสวนเชิญพยานไปให้การที่ บก.ปอท. ในคดีมาตรา 112 เพราะมาตรา 112 อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชน

    ++สมาชิกกลุ่ม ศปปส. เห็นว่า ถ้อยคำที่อานนท์โพสต์ด้อยค่า ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ร.10 โดยพยานไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

    นพคุณ ทองถิ่น สมาชิก ศปปส. เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้พยานกับกลุ่ม ศปปส. ได้ไปยื่นหนังสือกับกระทรวงดิจิตัลฯ ให้กวดขันการโพสต์หมิ่นประมาทในสื่อโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่เอาโพสต์ข้อความของอานนท์มาให้พยานอ่านและให้ความเห็น พยานไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยใด แต่ได้ไปให้ความเห็นต่อโพสต์ดังกล่าวในฐานะประชาชนกับคณะพนักงานสอบสวน

    พยานเห็นว่า โพสต์แรกสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ว่ากดหัวประชาชนโดยใช้มาตรา 112 หากใครได้อ่านจะรู้สึกว่า รัชกาลที่ 10 ไม่น่าเคารพศรัทธา

    โพสต์ที่ 2 สื่อว่า รัชกาลที่ 10 ใช้เงินภาษีประชาชน เป็นการกล่าวหาด้อยค่าสถาบันกษัตริย์โดยไม่มีหลักฐานข้อมูลมายืนยัน หากใครอ่านจะรู้สึกว่า รัชกาลที่ 10 ไม่น่าศรัทธา สร้างปัญหาให้กับประชาชนและประเทศชาติ และโพสต์ที่ 3 โดยรวมสื่อถึงรัชกาลที่ 10 เมื่อได้อ่านทั้งสามข้อความแล้วจะเข้าใจว่า กษัตริย์ใช้ภาษีประชาชนไปทำเรื่องส่วนตัว

    พยานมองว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้นทำได้ แต่ไม่ควรด้อยค่า

    @ตอบทนายจำเลยถามค้าน

    นพคุณเบิกความตอบทนายจำเลยว่า สมาชิก ศปปส.มีหลายคน แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิหรือสมาคมตามกฎหมาย

    พยานไม่ได้เกลียดชังอานนท์ นำภา แต่ยอมรับว่า กลุ่ม ศปปส. เคยขอให้ศาลเพิกถอนประกันอานนท์ ทั้งยังเคยตั้งเวทีคู่ขนานกับอานนท์แล้วมีการกระทบกระทั่งกัน แต่พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว

    พยานทราบข่าวว่า รัชกาลที่ 10 มีพระเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112 แต่ไม่ทราบว่า ช่วงปี 2560-2563 มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีประชาชนหรือไม่ และไม่ทราบว่า ในช่วงดังกล่าว มีสมาชิก ศปปส. ไปแจ้งความที่ บก.ปอท. แต่ บก.ปอท.ไม่รับแจ้ง

    พยานไม่ได้สนใจการเมือง ไม่ทราบว่า รัชกาลที่ 10 มีรับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้วหรือไม่ ไม่ทราบด้วยว่า ในสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มีการโอนกำลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์หรือไม่

    นอกจากนี้ พยานไม่ทราบเรื่องการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ และไม่เห็นหลักฐานในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ หากสถาบันกษัตริย์ทำไม่ถูกต้อง พยานก็ไม่สนับสนุน แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้นพยานไม่ทราบ ที่อานนท์โพสต์ก็ไม่มีหลักฐาน หากโพสต์โดยไม่มีหลักฐานก็ถือเป็นการกล่าวหา

    พยานไม่ทราบเรื่องการโอนหุ้น การประทับที่เยอรมัน รวมถึงงบประมาณที่รัชกาลที่ 10 ในแต่ละปีด้วย

    ในความเห็นของพยาน คำว่า “สถาบันกษัตริย์” ครอบคลุมถึงพระบรมวงศานุวงศ์และอดีตกษัตริย์ด้วย

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/63182)
  • ++ประชาชนทั่วไปให้ความเห็น พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งสูง ไม่ควรแสดงความคิดเห็นละเมิด แต่รับว่าโพสต์ของอานนท์ไม่มีข้อความระบุถึง ร.10

    พัลลภา เขียนทอง ประชาชนทั่วไป เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้ไปทำธุระที่ บก.ปอท. ก่อนมีตำรวจเรียกไปให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความ โดยไม่ได้มีหมายเรียกพยานแต่อย่างใด

    เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้พยานดูข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กรวม 3 ข้อความ พยานอ่านแล้วเห็นว่า ไม่ได้มีหลักฐานใด ๆ มาแสดงว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง และพระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งที่สูง ประชาชนทั่วไปไม่ควรละเมิด

    พยานไม่เคยพบเห็นหรือรู้จักคนที่โพสต์ข้อความดังกล่าว

    @ตอบทนายจำเลยถามค้าน

    พยานเคยถูกออกหมายจับกรณีไม่มาเป็นพยานในคดีมาตรา 112 ของ ภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เหตุที่พยานไม่มาเบิกความเป็นพยานเนื่องจากป่วย และไม่เคยได้รับหมายเรียก

    พยายเคยไปเป็นพยานคดี 112 ทั้งหมด 2 คดี ได้แก่ คดีของภาณุพงศ์และคดีนี้

    พยานไม่ทราบว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่พยานมองว่า ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับกษัตริย์

    สำหรับข้อความแรกพยานอ่านแล้วพบว่า ไม่มีข้อความใดกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 กล่าวถึงเพียงระบอบกษัตริย์ ซึ่งพยานเข้าใจว่าหมายถึง พระมหากษัตริย์ ประเทศชาติ ประชาชน และกฎหมาย จึงไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล อีกทั้งมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม

    เมื่อพยานอ่านข้อความทั้งสามโพสต์แล้วเข้าใจว่าหมายถึง รัชกาลที่ 10

    พยานเข้าใจว่า ระบอบกษัตริย์มีความหมายเดียวกับสถาบันกษัตริย์ โดยสถาบันกษัตริย์หมายรวมถึงพระราชินี อดีตพระมหากษัตริย์ อดีตพระราชินี และอดีตรัชทายาท แต่ไม่รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ และหากพูดถึงระบอบกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 10 ย่อมหมายถึง ในหลวงรัชกาลที่ 10

    ทนายจำเลยถามว่า หากพบคำว่า ระบอบกษัตริย์ในหนังสือต่าง ๆ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 จะหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ใช่หรือไม่ พยานไม่ตอบ

    พยานมองว่า โพสต์ทั้งสามของจำเลยไม่เหมาะสม มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาพูดกัน

    พยานรับว่า ในการให้การกับพนักงานสอบสวน พยานไม่ได้มอบหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่า โพสต์ของจำเลยเป็นความจริงหรือไม่

    พยานทราบว่า ในปี 2560 รัฐบาลประยุทธ์ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ให้โอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ทราบรายละเอียด และเห็นว่า ข้อความว่า เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตน ไม่น่าจะเหมาะสม อย่างไรก็ตาม พยานไม่ทราบว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการพูดโดยอ้างอิงกับกฎหมายหรือไม่

    พยานยังทราบว่า หลังออกพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว มีการโอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยพยานเข้าใจว่า เป็นการโอนเพื่อให้เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ทราบว่าเรื่องการเสียภาษีมีระบุอยู่ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ หรือไม่ และในรัชสมัยก่อนหน้านี้มีการออกกฎหมายในลักษณะนี้หรือไม่

    พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 เคยไปประทับที่เยอรมัน แต่ไม่ทราบว่า ใช้งบประมาณแผ่นดินเท่าไหร่

    พยานไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณกองทัพไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ ไม่ทราบด้วยว่า เคยมีประเทศใดออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว หรือในรัชสมัยก่อนหน้านี้มีการออกกฎหมายในลักษณะนี้หรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบว่า การออกกฎหมายเช่นนี้ถือเป็นการขัดหลักการในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

    ตามความเข้าใจของพยาน หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ต้องผ่านรัฐสภา ทั้งนี้ พยานไม่เคยเห็นข่าวที่ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 รับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติแล้ว หากข่าวดังกล่าวเป็นจริงก็ถือเป็นการขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

    ++พนักงานสอบสวนระบุ คณะ พงส.มีความเห็นสั่งฟ้อง ม.112 แต่รับว่า โพสต์ของจำเลยไม่ได้กล่าวเจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด

    ร.ต.อ.บูรฉัตร ฉัตรประยูร ขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 แน่งน้อยได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ นำภา” ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 พยานจึงรายงานผู้บังคับบัญชา ต่อมา ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งพยานให้เป็นหนึ่งในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน

    จากนั้นพยานได้ให้ฝ่ายสืบสวนไปตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ อานนท์ นำภา และพบว่าเป็นบัญชีของอานนท์จริง ชั้นสอบสวน จำเลยจะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากการตรวจสอบของกองทะเบียนประวัติอาชญากรรมพบว่า จำเลยมีประวัติถูกดำเนินคดีหลายคดี

    หลังสอบปากคำพยานหลายปาก คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้สรุปความเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    @ตอบทนายจำเลยถามค้าน

    ร.ต.อ.บูรฉัตร เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ผู้บังคับบัญชาให้พยานสอบปากคำ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ และคมสัน โพธ์คง ไว้เป็นพยาน อย่างไรก็ตาม พยานไม่ได้สอบปากคำพยานทั้งสองในประเด็นว่า มีผลงานวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 หรือไม่ ในส่วนของนพคุณ ทองถิ่น และพัลลภา เขียนทอง เคยมาแจ้งความคดีซื้อของออนไลน์ พยานจึงออกหมายเรียกมาให้การเป็นพยาน โดยไม่ได้มีหลักเกณฑ์ในการเลือกพยานแต่อย่างใด

    พยานรับว่า ตนและคณะพนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจสอบว่า ข้อความที่อานนท์โพสต์เป็นความจริงหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้ออกหมายเรียกพยานเอกสารต่าง ๆ มาเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ พยานเพียงแต่สอบปากคำพยานหลายคนที่ให้การเป็นความเห็น และคณะพนักงานสอบสวนเห็นว่า พยานหลักฐานเพียงพอแล้ว

    นอกจากนี้ พยานไม่ได้สอบในประเด็นว่า ระบอบกษัตริย์มีความหมายอย่างไร แต่ตามความเข้าใจของพยาน ระบอบกษัตริย์กับพระมหากษัตริย์แยกออกจากกัน สถาบันกษัตริย์กับพระมหากษัตริย์ก็แยกออกจากกันเช่นกัน และพยานเห็นว่า กษัตริย์อยู่ในฐานะที่ละเมิดไม่ได้ ไม่สมควรกล่าวหาให้เสื่อมเสีย

    พยานอ่านโพสต์ที่ 1 แล้วพบว่า มีคำว่า ระบอบกษัตริย์ มีลักษณะเป็นการตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น ส่วนโพสต์ที่ 2 มีลักษณะยกตัวอย่างและเปรียบเทียบ และโพสต์ที่ 3 เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่มีข้อความกล่าวถึงกษัตริย์ และไม่ได้เจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด มีลักษณะตั้งคำถามและแสดงทัศนะของผู้เขียน

    พยานรับด้วยว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหา พยานไม่ได้ระบุว่า ข้อความไหนมีลักษณะดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายอย่างไร

    @ตอบอัยการโจทก์ถามติง

    ร.ต.อ.บูรฉัตร ตอบโตทก์ว่า สาเหตุที่สอบกิตติพงศ์และคมสันเป็นพยานความเห็น เพราะทั้งสองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย

    ในความเข้าใจของพยาน คำว่า ระบอบกษัตริย์ ประกอบคำให้การของพยานต่าง ๆ หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และทั้งสามโพสต์ พยานอ่านแล้วเข้าใจว่าสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/63182)
  • ++“อานนท์” เบิกความ โพสต์วิจารณ์คนในกระบวนการยุติธรรม-สถาบันกษัตริย์โดยรวม เพื่อให้อยู่ในหลักการประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข

    อานนท์เบิกความต่อสู้คดีในฐานะพยานจำเลย โดยเกริ่นว่า ก่อนหน้าที่จะโพสต์ทั้งสามข้อความดังกล่าว ในปี 2563 มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เขาจึงได้โพสต์ข้อความทั้งสาม โดยเจาะจงไปยังกลุ่มคนที่ไม่ปรับตัวต่อความปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ หากคนที่อ่านโพสต์แล้วไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ย่อมเห็นด้วยว่าสิ่งที่โพสต์เป็นความจริง ส่วนบางคนไม่ไปหาข้อเท็จจริงก็ด่าทอ หรืออ่านแล้วไปหาข้อเท็จจริงแต่รับไม่ได้ และใช้ศักยภาพตนเองปิดปากไม่ให้คนอื่นพูดความจริง เช่น คนที่แจ้งความ เจ้าหน้าที่รัฐ อีกกลุ่มคือกลุ่มที่บกพร่องทางสามัญสำนึก ซึ่งจะมีลักษณะปฏิเสธข้อมูลใหม่ที่จะลบล้างความเชื่อเดิม

    ก่อนพยานจะโพสต์ข้อความตามฟ้อง ทิวากร วิถีตน ได้สกรีนเสื้อและโพสต์ข้อความ ‘เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว’ และถูกดำเนินคดี พยานเห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากความศรัทธาเป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้ ต่อมาคดีนี้ศาลได้ยกฟ้อง เห็นว่า มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ ไม่รวมถึงสถาบันกษัตริย์ และระบอบกษัตริย์

    ในโพสต์ที่หนึ่ง พยานตั้งคำถามไปยังจิตสำนึกของผู้อ่าน ข้อความที่ระบุว่า “หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว” พยานหมายถึง บุคคลในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่รัชกาลที่ 10 ถ้าพยานจะวิจารณ์ในหลวงก็จะวิจารณ์ตรง ๆ โดยระบุชื่อไปเลย แต่ข้อความในโพสต์ที่ 1 พยานวิจารณ์พวกเราที่อยู่ในห้องนี้ ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ที่เป็นคนเอามาตรา 112 มาใช้

    สำหรับโพสต์ที่ 2 อานนท์เบิกความว่า เหตุที่โพสต์เนื่องจากพยานเห็นว่า สถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการเมืองในหลาย ๆ ครั้ง ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกษัตริย์จะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

    อานนท์ระบุว่า เขาเห็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ขยับออกห่างจากประชาธิปไตย เช่น หลังรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเรื่องตุลาการภิวัฒน์ นำไปสู่การใช้อำนาจตุลาการยุบพรรคไทยรักไทย และอีกหลายพรรค, บทบาทขององคมนตรีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พูดเรื่อง ‘เจ้าของม้า’ เปรียบทหารเป็นม้า ส่วนรัฐบาลเป็นจ๊อกกี้ แต่เจ้าของม้าคือ ชาติและกษัตริย์ ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 2549 ซึ่งหลังรัฐประหารก็มีองคมนตรีมาเป็นนายกฯ

    นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ รวมถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ และวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 รับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ 2557 แต่ต่อมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็สั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2557 เพื่อให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วได้ โดยพบว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 และ 16 มีการแก้ไขไปจากร่างรัฐธรรมนูญ

    ส่วนข้อความว่า “เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง” นั้น มาจากแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 7 คำว่า เบียดบัง เป็นภาษากฎหมาย หมายถึง การครอบครอง เอามา เขาไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงผู้ใด หรือกษัตริย์องค์ใด ก่อนหน้านี้ รัชกาลที่ 7 ก็เคยถูกกระทรวงการคลังฟ้อง ในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็มีการนำเงินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน 200 ล้านบาท มอบให้พระวรชายา (ยศขณะนั้น) ศรีรัศมิ์

    แต่ที่คนอ่านแล้วเข้าใจว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงรัชกาลที่ 10 ก็เนื่องจากมีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยให้นำสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และให้กษัตริย์ดำเนินการกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามอัธยาศัย อันทำให้ทรัพย์สินส่วนของราชบัลลังก์ซึ่งจะตกทอดไปยังกษัตริย์องค์ต่อไป เช่น ลานพระบรมรูปทรงม้า สวนสัตว์ดุสิต ไม่มีเหลืออยู่

    นอกจากนี้ หลังออก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ก็มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นและทรัพย์สินอื่น ๆ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ห้ามมิให้ฟ้องร้ององค์พระมหากษัตริย์ แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ถือครองทรัพย์สินก็อาจถูกฟ้องร้องในทางแพ่งได้ กระทบต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ

    อีกทั้งยังมีการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณไปเป็นของหน่วยราชการในพระองค์ ซึ่งอานนท์เห็นว่า ขัดหลักการประชาธิปไตย กำลังทหารในระบอบประชาธิปไตยควรอยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐบาล
    ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดเป็นที่มาของข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    อานนท์เบิกความย้ำว่า เขาเป็นคนกลางเก่ากลางใหม่ เข้าใจทั้งคนที่อายุมากและคนรุ่นใหม่ว่า คิดอะไร เชื่ออย่างไร ซึ่งมีความต่างกัน เขาเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ และจำเป็นต้องพูดกัน เขาจึงโพสต์ข้อความทั้งสามโพสต์เพื่อให้คนตระหนักรู้ถึงปัญหาของระบอบที่เป็นอยู่ นำไปสู่การหาทางออกและแก้ไขปัญหา ถ้าทุกคนเข้าใจว่ามันมีปัญหา จะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ อย่างน้อยต้องมีการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นให้กลับไปเป็นเหมือนสมัยรัชกาลที่ 9

    @ตอบอัยการถามค้าน

    อานนท์ตอบคำถามอัยการว่า ขณะที่โพสต์ข้อความตามฟ้อง ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงครองราชย์อยู่ และตามหลักการ พระมหากษัตริย์มิอาจกระทำความผิด (The King can do no wrong) ซึ่งบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ ในการดำเนินการทุกอย่างของกษัตริย์จะต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการ

    อัยการถามว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และมีนายกฯ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า ในหลวงไม่ได้มีการยับยั้ง แต่ท่านจะไม่ลงพระปรมาภิไธยก็ได้

    อัยการถามอีกว่า พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกแก้ไขหลังผ่านการลงประชามติแล้ว ก็ล้วนผ่านการพิจารณาของสภา และมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการถูกต้องตามกฎหมายทั้งสิ้นใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า เราไม่ได้พูดว่ามันผิดกฎหมาย แต่มันขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    ++ผู้จัดการ iLaw ชี้การบังคับใช้ ม.112 ผกผันตามสถานการณ์การเมือง ส่งผลให้ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัว-ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์

    ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ตนสำเร็จการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณทิต ตลอดเวลาที่ทำงาน iLaw ได้ติดตามการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงมาตรา 112

    จากการติดตามมากว่า 10 ปี พบว่า มีการใช้มาตรา 112 เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมือง เช่น ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 มีการบังคับใช้เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยยะสำคัญ, ช่วงปี 2561-2563 ไม่มีการบังคับใช้ ต่อมา ในเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลายแห่ง เช่น TPBS ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 โดยช่วงแรกหลังจากที่ให้สัมภาษณ์ก็ไม่มีการบังคับใช้จริง

    อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีว่า จะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง และในวันรุ่งขึ้นก็เริ่มมีการออกหมายเรียกไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม จากที่พยานติดตามรวบรวมข้อมูล ในช่วงปี 2563-2565 มีผู้ถูกออกหมายเรียกและถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มากกว่า 280 คน เป็นสถิติที่สูงสุดในประวัติศาสตร์

    พยานได้ดูข้อความที่จำเลยโพสต์ 3 ข้อความแล้ว เห็นว่า เนื้อหาไม่ได้มุ่งหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือให้ร้ายสถาบันกษัตริย์หรือสมาชิกในสถาบันกษัตริย์โดยตรง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองในขณะนั้น เช่น โพสต์ที่ 1 ขณะนั้นมีประชาชนชื่อ ทิวากร วิถีตน ถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะใส่เสื้อที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว” พยานจึงเข้าใจว่า จำเลยโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจที่ดำเนินคดีทิวากร

    ส่วนโพสต์ที่ 2 มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจและอัตราโทษของมาตรา 112 และโพสต์ที่ 3 มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์คนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมในขณะนั้น

    @ตอบอัยการถามค้าน

    ยิ่งชีพเบิกความตอบอัยการว่า พยานเคยกล่าวปราศรัยในเวที ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112 ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 และในกิจกรรม #ยืนหยุดขัง112ชั่วโมง ตรงทางเชื่อม MBK เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566

    พยานไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า เหตุที่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่รุนแรง

    สำหรับโพสต์ทั้งสาม ยิ่งชีพเบิกความว่า โพสต์แรกไม่มีข้อความตรง ๆ ที่กล่าวถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนข้อความว่า ระบอบกษัตริย์ พยานเข้าใจว่า ประกอบด้วยกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวัง พยานไม่ทราบว่า หากมีคำเฉพาะคำว่า กษัตริย์ จะสื่อความหมายถึงกษัตริย์พระองค์ใด

    ในส่วนโพสต์ที่ 2 ข้อความ “กษัตริย์คนนี้ทำตัวขัดหลักประชาธิปไตย…” พยานไม่ทราบว่า สื่อถึงกษัตริย์พระองค์ใด พยานเข้าใจว่า เป็นการยกประโยคตัวอย่าง การวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ที่จะเข้าข่ายมาตรา 112 จึงต้องยกตัวอย่างเช่นนั้น ซึ่งพยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด

    สุดท้ายโพสต์ที่ 3 ที่มีคำว่า สถาบันกษัตริย์ พยานเห็นว่า มีความหมายกว้าง ซึ่งรวมถึงองค์มนตรี คนทำงานในสำนักราชวัง และข้าราชบริพารคนอื่น ๆ ด้วย ส่วนข้อความว่า “ที่ทำงานอยู่เยอรมัน” ขณะนั้นในสังคมมีความเห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมัน พยานไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่เมื่ออ่านข้อความโดยรวมแล้วมีลักษณะเป็นการกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี หรือข้าราชการที่อยู่ประเทศเยอรมัน

    @ตอบทนายจำเลยถามติง

    ยิ่งชีพเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เหตุที่พยานต้องขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 เนื่องจากมาตรา 112 มีปัญหา ก่อนปี 2519 มาตรา 112 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ พอปี 2519 คณะรัฐประหารก็แก้โทษจำคุกเป็น 3-15 ปี ก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2478 มาตรา 112 มีข้อยกเว้นว่า หากแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นความผิด

    นอกจากนี้ มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างเช่นปี 2553 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก หลังรัฐประหารปี 2557 รวมถึงปัจจุบันก็มีการใช้มาตรา 112 อย่างหนัก ในลักษณะเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ

    รัชกาลที่ 9 เคยมีรับสั่งว่า การใช้มาตรา 112 ไม่ดีกับสถาบันกษัติรย์ แม้ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะมีรับสั่งไม่ให้ใช้ แต่ประยุทธ์ก็ได้มีการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันกษัตรย์ห่างเหินกัน และประชาชนตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวต่อมาตรา 112

    สิ่งที่ระบุในแถลงการณ์นายกฯ ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากก่อนออกแถลงการณ์มีการสลายการชุมนุม และประชาชนไม่พอใจที่สภาลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชน จึงชุมนุมต่อเนื่องที่แยกราชประสงค์ เป็นเหตุให้นายกฯ ออกแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

    ข้อความทั้งสามโพสต์เป็นการพูดถึงระบอบกษัตริย์เป็นภาพรวม ไม่ได้เจาะจงบุคคลใด

    ++บก.ฟ้าเดียวกันระบุ โพสต์ของ “อานนท์” ชี้ถึงความผิดปกติของการออกกฎหมาย เป็นการรักษาหลักการประชาธิปไตย และทำหน้าที่ของประชาชน

    ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานเคยทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยเรื่องกฎหมาย ประวัติศาสตร์ และสถาบันกษัตริย์ มากว่า 20 ปี

    สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ประมาณ 50 เล่ม ตัวอย่างเช่น หนังสือ “พระพรหมช่วยอำนวยให้ชุ่มฉ่ำ” เป็นเรื่องจัดการพระราชทรัพย์ของกษัตริย์ ตีพิมพ์ ปี 2557 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับโพสต์ที่ 2 โดยกล่าวถึงตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกษัตริย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สิน ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กษัตริย์ไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้ตามพระราชประสงค์ รัฐบาลจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันกษัตริย์ ดังที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์กล่าวว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง’

    ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย รัชกาลที่ 7 เคยถูกกระทรวงการคลังฟ้องในคดี “ยึดพระราชทรัพย์” ให้โอนทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่โอนไปโดยมิชอบกลับคืนมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

    ต่อมา ในปี 2560 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ตรา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นการยกเลิกอำนาจบริหารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแลเอง เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นชื่อของรัชกาลที่ 10 จึงเป็นเหตุให้อานนท์โพสต์เรื่องดังกล่าว

    ในส่วนข้อความในโพสต์ที่ 1 พยานเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 10 อีกทั้งยังถูกต้องตามตรรกะแล้ว เพราะมันเป็นความผิดปกติและขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่นายกรัฐมนตรีออกกฎหมายให้โอนทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของรัชกาลที่ 10 โดยตรง หากวิญญูชนพบเห็นก็ต้องแสดงออก ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนที่พึงกระทำ

    สำหรับโพสต์ที่ 2 พยานเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่มีลักษณะกล่าวด้วยความปรารถนาดี

    ส่วนโพสต์ที่ 3 พยานอ่านแล้วเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะดูหมิ่น แสดงความอาฆาดมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่เป็นลักษณะของการเปรียบเปรยและยกตัวอย่าง เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำรงอยู่ได้

    ธนาพลเบิกความว่า คำว่า “สถาบันกษัตริย์” มีความหมายทั้งกว้างและแคบ ไม่ได้มีคำเฉพาะเจาะจง และในพจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถานก็ไม่ได้ระบุความหมายไว้

    ส่วนคำว่า “ระบอบกษัตริย์” มีความหมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น องคมนตรี สำนักราชเลขาธิการ

    @ตอบอัยการโจทก์ถามค้าน

    เมื่อปี 2549 พยานเคยถูกแจ้งความในข้อหาตามมาตรา 112 ที่ สน.สำราญราษฎร์ แต่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าผิด และนี่เป็นปัญหามาตรา 112 ที่ใครก็สามารถถูกดำเนินคดีได้

    นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2565 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถูกค้นเกี่ยวกับหนังสือสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ที่เป็นคำปราศรัยของจำเลย อย่างไรก็ตาม พยานไม่เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าว

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/63182)
  • ++นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ชี้ สามโพสต์เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง - การใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคล

    อิสระ ชูศรี อาจารย์สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาภาษาศาสตร์ และเป็นอาจารย์สาขาวิชาภาษาศาสตร์มาเป็นเวลาประมาณ 13 ปี

    พยานเห็นว่า โพสต์ที่ 1 มีลักษณะตั้งคำถาม ในตอนท้ายมีลักษณะเป็นประโยคบอกเล่าที่เป็นคำตอบของคำถามข้างต้น และเมื่ออ่านข้อความโดยรวม ไม่ได้กล่าวเจาะจงถึงบุคคลใด สังเกตได้จากคำว่า ระบอบ มีลักษณะเป็นคำถามเกี่ยวกับระบอบการปกครอง

    ข้อความในโพสต์ที่ 2 มีลักษณะเป็นการยกตัวอย่าง ซึ่งเป็นประโยคเงื่อนไข และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับโทษของการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจำเลยเห็นว่าไม่ควรมีโทษจำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี ในตอนท้ายมีลักษณะแสดงความเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถทำได้โดยไม่มีโทษ เมื่ออ่านโดยรวมมีลักษณะเป็นการเรียกร้องสิทธิในการวิพากษ์พิจารณ์ และยกตัวอย่าง โดยไม่ได้เจาะจงถึงตัวบุคคล

    สำหรับโพสต์ที่ 3 มีทั้งประโยคบอกเล่าที่กล่าวถึงความขัดแย้งทางความคิดและยกตัวอย่าง การวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงข้อความที่กล่าวถึงฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปด้วยกัน

    ข้อความทั้งสามโพสต์โดยรวมเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองในปัจจุบัน การเรียกร้องสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้โพสต์เจาะจงตัวบุคคล การวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่มีลักษณะเจาะจงตัวบุคคลเช่นกัน

    @ตอบอัยการถามค้าน

    อิสระเบิกความตอบอัยการว่า พยานเห็นว่า ข้อความในโพสต์ที่ 2 “กษัตริย์คนนี้ทำตัวขัดหลักประชาธิปไตย…” ไม่ได้มีลักษณะเจาะจงตัวบุคคล ในการตีความทางภาษา ตามหลักวิชาการจะใช้กับข้อความที่กำกวม ซึ่งสามารถตีความได้หลายแบบ แต่เมื่อตีความแล้วก็ต้องเลือกความหมายใดความหมายหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับข้อความ ไม่ใช่เลือกตีความตามความคิดเห็นส่วนตัว
    .
    คดีเสร็จการพิจารณา ทนายจำเลยขอยื่นแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 30 วัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/63182)
  • ช่วงเช้าวันนี้ อานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อมาฟังคำพิพากษา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวมาที่ห้องพิจารณา 902 โดยในห้องพิจารณาได้มีผู้ที่มาให้กำลังใจอานนท์เป็นจำนวนมาก ญาติ สื่อมวลชน รวมไปถึงผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    เวลา 09.20 น. ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษา สรุปใจความได้ว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากที่เข้านำสืบเบิกความในทำนองเดียวกันว่า โพสต์ทั้งสามตามฟ้องมีลักษณะใส่ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้ผู้พบเห็นข้อความดังกล่าวรู้สึกไม่ดีและดูหมิ่นเกลียดชังรัชกาลที่ 10 โดยมีการใส่ร้ายว่า พระองค์ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายที่ต่างประเทศ เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของพระองค์ อันเป็นการหมิ่นประมาท อาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    แม้ในโพสต์จะใช้คำว่า “ระบอบกษัตริย์” และ “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้มีการเจาะจงถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้ว จะเข้าใจได้ว่าสื่อถึงรัชกาลที่ 10 นอกจากนี้ การที่จำเลยขอออกหมายเรียกเอกสารสำคัญอย่าง ตารางการเดินทางเข้าออกประเทศของรัชกาลที่ 10 ระบุในบัญชีพยานจำเลย เห็นว่า หากจำเลยไม่ได้มุ่งหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 แล้ว เหตุใดถึงต้องอ้างหลักฐานดังกล่าวมาในบัญชีพยานจำเลย อีกทั้งจำเลยยังเบิกความอ้างว่า ต้องการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 ให้กลับไปเป็นเหมือนในรัชกาลที่ 9 จึงเป็นการตอกย้ำยืนยันว่า ทั้งสามข้อความกล่าวถึงรัชกาลที่ 10

    พยานหลักฐานโจทก์มีความแน่นหนาและปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้หมิ่นประมาทในหลวงรัชกาลที่ 10 พร้อมกับมีจุดประสงค์ให้ประชาชนที่เห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจผิดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง และทรงใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งเป็นความความเท็จ จาบจ้วงล่วงเกิน ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี และให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีที่พิพากษาไปก่อนหน้านี้

    ทั้งนี้ ศาลได้กำชับกับผู้ที่มานั่งฟังการพิพากษาว่า ขอให้สื่อมวลชนเผยแพร่คำพิพากษาอย่างระมัดระวัง เพราะว่าบางถ้อยศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว

    คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ของอานนท์ที่ศาลมีคำพิพากษา ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกอานนท์ 4 ปี ในคดีจากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยอานนท์ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์เรื่อยมา ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงวันนี้ (17 ม.ค. 2567) เป็นเวลา 114 วันแล้ว และหากนับโทษจำคุกในคดีนี้และคดี #ม็อบ14ตุลา ต่อกันตามคำพิพากษา อานนท์มีโทษจำคุกจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) รวม 8 ปีแล้ว

    ทั้งนี้ อานนท์ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการปราศรัยและโพสต์ข้อความในช่วงปี 63-64 รวมทั้งสิ้น 14 คดี โดยยังเหลือคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล 11 คดี และอยู่ในชั้นอัยการอีก 1 คดี

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.56/2567 ลงวันที่ 17 ม.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/63262)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันอานนท์ต่อศาลอาญา ในคดีมาตรา 112 สองคดี ได้แก่ คดีนี้และคดีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยในคดีนี้เป็นการยื่นประกันระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งแรก วางเงินประกัน 300,000 บาท ระบุเหตุผลดังนี้

    ++จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ศาลเคยอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศและกลับมาต่อสู้คดีต่อ

    จำเลยยืนยันว่าได้ต่อสู้คดีมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา และไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

    อีกทั้งศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา จำเลยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า หากจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยจะไปก่อเหตุพยันอันตรายประการอื่นหรือหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งศาลนี้และศาลอาญากรุงเทพใต้ก็เคยให้จำเลยเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อร่วมงานรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwangju Prize for Human Rights) ในระหว่างวันที่ 12-22 พ.ค. 2566 เมื่อจำเลยเดินทางกลับมายังประเทศไทยตามกำหนดก็ได้มารายงานตัวต่อศาล ไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด

    กรณีนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงยืนยันและรับรองพฤติกรรมได้ว่าอานนท์ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี คดีนี้ยังไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใด ๆ ของจำเลยที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยแม้แต่น้อย

    ++ศาลเคยให้ประกันในคดี ม.112 คดีอื่นที่มีอัตราโทษใกล้เคียงกัน

    คำร้องยังระบุถึงคดีอื่น ๆ ที่จำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ได้แก่ คดี “รักชนก ศรีนอก” ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 6 ปี และเป็นฐานความผิดเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ ศาลอาญาก็ยังอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ศาลจึงควรมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์เช่นเดียวกันด้วย

    คำร้องขอประกันตัวยังระบุ ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจำเลย

    คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 เพื่อให้จำเลยได้รับการประกันตัวและออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่

    นอกจากนี้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Right-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี จะต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าวว่าด้วยเรื่องทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้นการใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้จำเลยได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นไปตามหลักความชอบธรรม และได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีและสากล

    ++‘อานนท์’ มีภาระทางครอบครัวและในฐานะทนายความ

    ในส่วนสุดท้าย คำร้องระบุถึงการที่อานนท์มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดตามได้โดยง่าย การคุมขังตัวไว้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจำเป็นแก่กรณี และจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากอานนท์ประกอบวิชาชีพเป็นทนายความให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนถึง 38 คดีในหลายศาล ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

    หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้จำเลยและลูกความในแต่ละคดีได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในการประกอบวิชาชีพทนายความนั้น มีความจำเป็นต้องจัดเตรียมพยานหลักฐาน วางแผนแนวทางการต่อสู้คดีร่วมกับลูกความ ตลอดจนการทำงานเอกสารและเดินทางไปศาลในนัดต่าง ๆ การที่จำเลยถูกคุมขังไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคดีที่จำเลยเป็นทนายความอยู่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความของจำเลย

    นอกจากนี้อานนท์ยังมีบุตรผู้เยาว์วัยจำนวน 2 คนที่จำเลยต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู คือบุตรสาวอายุ 7 ปี และบุตรชายซึ่งเป็นทารกอายุเพียง 1 ปีเศษ และมีบิดามารดาซึ่งอยู่ในวัยชราที่จำเลยต้องส่งเสียเลี้ยงดู
    .
    อย่างไรก็ตาม หลังรับคำร้อง ศาลอาญาได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ก่อนเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์ โดยระบุในคำสั่งว่า การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และนับโทษต่อ หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.56/2567 ลงวันที่ 16 ก.พ. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/64893)
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ได้ส่งคำร้องเรียน (communication) กรณีการดำเนินคดี อานนท์ นำภา ภายใต้ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไปยังกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN Special Procedures) ได้แก่

    1.คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention)
    2.ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการสมาคม (Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association)
    3.ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น (Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) และ
    4.ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the situation of human rights defenders)

    โดยคำร้องได้รายงานกลไกพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติถึงการที่ศาลอาญาได้พิพากษาว่าอานนท์มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และตัดสินลงโทษจำคุก อานนท์ นำภา 4 ปี ในคดีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอีก 4 ปี ในคดีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564 รวมโทษจำคุก 8 ปี โดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์เรื่อยมา ปัจจุบัน อานนท์ยังถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อีก 12 คดี

    ในคำร้องที่ส่งถึงผู้รายงานพิเศษ ฯ ระบุว่า การบังคับใช้และดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาเป็นระยะเวลายาวนานทั้งในระดับภาคประชาสังคม และตามการเฝ้าสังเกตสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกขององค์การสหประชาชาติ แต่กระนั้นเองภาครัฐของไทยยังคงมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นได้จากการตั้งข้อหา ฟ้องร้อง และกักขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประชาชนโดยทั่วไป

    ในคำร้องเรียนถึงคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ศูนย์ทนายฯ ได้ระบุว่า การลงโทษจำคุกและคุมขังอานนท์นั้นเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ (arbitrary detention) อันเนื่องมาจากเหตุผล 4 ประการ

    1.ขาดฐานทางกฎหมายมารองรับ (lack of legal basis):

    คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการวางหลักไว้ว่า การควบคุมตัวบุคคลในทุกกรณีต้องมีฐานกฎหมาย (legal basis) มารองรับ และกฎหมายดังกล่าวต้องสอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย (principle of legality) กล่าวคือ ต้องมีนิยามและขอบเขตที่ชัดเจน

    คำร้องเรียนยืนยันว่า มาตรา 112 ขัดและแย้งกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาของศาลไม่มีความชัดเจนว่าการแสดงออกใดบ้างเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ศาลไม่เคยวางหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนสำหรับขอบเขตของความผิดดังกล่าว บุคคลทั่วไปจึงไม่สามารถรู้ได้ถึงเส้นแบ่งระหว่างการแสดงออกเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่กฎหมายอนุญาตและไม่อนุญาต

    ข้อโต้แย้งดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของคณะทำงานฯ เกี่ยวกับมาตรา 112 ที่มีมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2566 รวมทั้งสิ้น 10 ความเห็น ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นมาอย่างต่อเนื่องว่า มาตรา 112 มีความคลุมเครือและกว้างจนเกินไป ไม่ได้มีการนิยามชัดเจนว่าการแสดงออกใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการให้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตัดสินว่าการกระทำใดผิดหรือไม่ผิดมากจนเกินไป

    2.ละเมิดสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก (right to freedom of expression):

    การลงโทษจำคุกและคุมขังอานนท์จากการปราศรัยในการชุมนุมและการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ค เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้ถูกรับรองไว้ในข้อ 19(2) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี เสรีภาพในการแสดงออกครอบคลุมไปถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะ และการถกเถียงอภิปรายในประเด็นสิทธิมนุษยชน

    ถึงแม้ว่า ข้อ 19(3) ของ ICCPR อนุญาตให้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้ในบางกรณี แต่ต้องไม่ขัดกับหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน และต้องถูกบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น หรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน สาธารณสุข หรือศีลธรรม

    ศูนย์ทนายฯ และ The Observatory มีความเห็นว่า หากพิจารณาความเห็นทั่วไปที่ 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) โทษจำคุกรวม 8 ปี ของอานนท์ขัดกับหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน อีกทั้งภาครัฐไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าการแสดงออกโดยสันติวิธีของอานนท์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศอย่างไร

    3.ละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (right to fair trial):

    คณะทำงานฯ ได้อธิบายในประเด็นของการควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาคดีไว้ว่า ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลตามความจำเป็นและความสมเหตุสมผล โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ทั้งหมด และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการป้องกันการหลบหนี การแทรกแซงพยานหลักฐาน และการกระทำผิดซ้ำ ไม่ควรเป็นไปตามคำสั่งที่อยู่บนฐานของอัตราโทษอันน่าจะเกิดขึ้นกับบุคคลดังกล่าว ศาลต้องพิจารณามาตรการอื่นแทนการควบคุมตัวระหว่างการรอพิจารณาคดี เช่น การให้ประกันตัว หรือมาตรการอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการคุมขังตัวบุคคลโดยไม่มีความจำเป็นในกรณีดังกล่าว

    การคุมขังอานนท์ในระหว่างพิจารณาคดีทั้งสองคดีเป็นระยะเวลากว่า 139 วัน โดยอ้างถึงความหนักเบาแห่งข้อหาและอัตราโทษนั้น เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลที่ถูกรับรองไว้ตามข้อ 9(3) ของ ICCPR ที่ได้วางหลักการมิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี อีกทั้งการกระทำตามข้อเท็จจริงของคดี อันได้แก่ การปราศรัยในการชุมนุมและการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ค ยังเป็นการกระทำที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19(2) ของ ICCPR ฉะนั้นแล้วการที่ศาลออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยอ้างถึงการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ จึงเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิของบุคคลในระหว่างรอการพิจารณาคดี

    การตัดสินโทษจำคุกในความผิดในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ต่ออานนท์ในทั้งสองคดีนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 9(1) ของ ICCPR ซึ่งวางหลักไว้ว่า บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย อีกทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุสำคัญสำหรับการจับกุมหรือคุมขังจะต้องถูกกำหนดไว้ในกฎหมายโดยละเอียด เพื่อป้องกันการตีความหรือการปรับใช้กฎหมายที่กว้างเกินไปหรือโดยพลการ

    ถึงแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว อานนท์ นำภา โดยให้เหตุผลว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งเป็นเหตุที่จะไม่ให้ประกันภายใต้ มาตรา 108/1(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ศาลไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงอันจะทำให้เชื่อได้ว่าอานนท์จะไม่มีพฤติการณ์หลบหนี กล่าวคือ อานนท์ยังมีภาระงานในฐานะทนายความที่ต้องรับผิดชอบอีกกว่า 13 คดี รวมถึงยังมีพันธะทางครอบครัวที่ต้องดูแลบุตรทั้ง 2 คน จึงถือได้ว่าเป็นการตีความและบังคับใช้มาตรา 108/1(1) ที่กว้างเกินไปหรือโดยพลการ

    นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าการดำเนินการในการเริ่มพิจารณาคดีในคดีแรกและคดีที่สองนั้นยังกินระยะเวลาไปกว่า 916 วัน และ 667 วันตามลำดับ หลังจากที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาภายใต้มาตรา 112 ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็นอันขัดกับพันธกรณีตามตามข้อ 14(3)(c) ของ ICCPR

    4.เป็นการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของความคิดเห็นทางการเมืองและในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (discrimination on the basis of political opinion and status as a human rights defender):

    คณะทำงานฯ วางหลักไว้ว่า การคุมขังบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองเป็นการเลือกปฏิบัติโดยมิชอบรูปแบบหนึ่ง ให้ถือว่าการคุมขังดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ เนื่องจากขัดกับหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย และความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมายตามข้อ 2 และข้อ 7 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 2(1) และข้อ 26 ของ ICCPR

    การลิดรอนเสรีภาพของอานนท์เป็นการคุมขังที่มีเหตุมาจากความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองของอานนท์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และการบังคับใช้มาตรา 112 และมีเหตุมาจากการที่อานนท์เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อันจะเห็นได้จากที่อานนท์ได้มีส่วนในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง รวมถึงยังได้ออกมาเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในประเด็นของการบังคับใช้มาตรา 112 และนโยบายของรัฐบาลอันเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ทำให้อานนท์ถูกเพ่งเล็งจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางฝั่งผู้มีอำนาจมองว่าอาจเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์และรัฐบาล

    ++ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยจากกรณีคำพิพากษาคดี ม. 112 ของ อานนท์ นำภา

    ในคำร้องฉบับนี้ได้ขอให้กลไกพิเศษของ UN เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย รวมถึงองค์กรตุลาการ ดังต่อไปนี้

    1.ให้ยุติการดำเนินคดี การจับกุม และปล่อยตัวผู้ต้องขังตามมาตรา 112 ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนโดยทั่วไป และคุ้มครองบุคคลจากการถูกดำเนินคดีโดยมิชอบ จากการที่บุคคลดังกล่าวใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นการประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพให้สอดคล้องกับ ข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

    2.ให้ประกันสิทธิการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมสำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการได้รับการประกันตัว

    3.ให้ตีความกฎหมายภายใน ในลักษณะที่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมไปถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

    4.ให้มีการทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกการลงโทษทางอาญา และป้องกันไม่ให้บุคคลใดสามารถกล่าวโทษต่อบุคคลอื่นได้ตามอำเภอใจ

    5.ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกลไกทางด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/66066)
  • ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติได้แสดงความกังวลในประเด็นการดำเนินคดีต่ออานนท์ นำภา ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ทั้งหมด 2 คดี รวมเป็นโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี จากการตั้งคำถามเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งรวมไปถึงการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เผยแพร่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการกลับคำพิพากษา และยุติการดำเนินคดีที่เหลือทั้งหมดของอานนท์ นำภา และผู้ถูกดำเนินตามมาตรา 112 รวมถึงการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และเน้นย้ำข้อเรียกร้องที่มีมาอย่างยาวนานให้รัฐบาลไทย “ยกเลิก” (repeal) มาตรา 112 เพื่อให้ประมวลกฎหมายอาญาของไทยเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน

    อานนท์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนับตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 หลังศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ในคดีมาตรา 112 คดีแรก และขณะนี้ยังถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อีก 12 คดี ยิ่งไปกว่านั้นอานนท์ยังถูกร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ เพื่อให้มีการพิจารณาถอดถอนใบอนุญาตว่าความ โดยคำร้องเรียนกล่าวหาอานนท์ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เนื่องจากปราศรัยในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติยังได้แสดงความคิดเห็น โดยมีใจความว่า:

    1. การลงโทษจำคุกและการดำเนินคดีซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่ออานนท์ นำภา นั้น ไม่ได้สัดส่วนโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังแสดงถึงความน่ากังวลต่อการปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้เห็นต่างคนอื่น ๆ

    2. การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ นั้น สร้างความตื่นตระหนกเป็นระยะเวลาหลายปี และคณะทำงานกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังรัฐบาลไทยแล้วหลายฉบับ เพื่อแสดงถึงความกังวลในประเด็นดังกล่าว

    3. การลงโทษหนักต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบนั้นไม่สอดคล้องกับพันธกรณีในทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยพึงปฏิบัติตาม การกระทำเช่นว่ายังเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงภาคประชาสังคม

    4. การวิพากษ์วิจารณ์และการปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อการสนับสนุนทางด้านสิทธิมนุษยชน ควรได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมในสังคมประชาธิปไตย

    5. ทนายความมีสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและจะต้องไม่ถูกลิดรอนสิทธิในการประกอบวิชาชีพ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/65905)
  • ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอาญา ที่พิพากษาจำคุก 4 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112
  • ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ซึ่งอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีจำนวน 16 ราย ได้แก่ อานนท์, ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, มงคล, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, ไพฑูรย์, สุขสันต์, อุกฤษฏ์, วีรภาพ, จิรวัฒน์, ณัฐนนท์, ทานตะวัน, อัฐสิษฎ และสิรภพ

    การยื่นประกันตัวครั้งดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีของการทำรัฐประหาร ที่นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บรรดาองค์กรทางกฎหมายได้นิรโทษกรรมให้กับคณะผู้ทำรัฐประหารที่ทำลายระบบนิติรัฐของประเทศ

    ในโอกาสนี้ ผู้ต้องขังจำนวน 16 ราย จึงประสงค์ที่จะยื่นประกันตัว เพื่อตอกย้ำว่ายังมีคนที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวขั้นพื้นฐาน และเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเพื่อนผู้ต้องขังที่เพิ่งเสียชีวิตไปอย่างไม่มีวันกลับอย่าง ‘บุ้ง เนติพร’

    คำร้องขอประกันในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในคดีนี้ เสนอหลักประกันจำนวน 300,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลสำคัญถึงหลักการที่จำเลยมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ซึ่งบัญญัติรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29

    การที่จำเลยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและต้องถูกคุมขังในระหว่างการต่อสู้คดีทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด ถือเป็นการลงโทษจำเลยเสมือนว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดไปแล้ว แม้ภายหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องจำเลย ก็มิอาจบรรเทาผลร้ายเกินสมควรที่เกิดขึ้นกับจำเลย และครอบครัวในระหว่างถูกคุมขังได้ ดังเช่นในอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับจำเลยทั้งสี่และครอบครัวในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2536 รวมถึงในกรณีเนติพร เสน่ห์สังคม ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างที่อยู่ในความควบคุมตัวของรัฐในระหว่างการพิสูจน์ความรับผิดทางกฎหมาย เป็นผลร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นโดยไม่มีหนทางที่จะบรรเทาผลร้ายได้แต่อย่างใด

    หลังทนายยื่นคำร้อง ศาลอาญาได้ส่งคำร้องขอประกันอานนท์ในคดีนี้ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ 2 วันต่อมา คือวันที่ 24 พ.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์ โดยระบุในคำสั่งว่า

    “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และนับโทษต่อ อีกทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.56/2567 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/67671)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอประกันอานนท์ในคดีนี้อีกเป็นครั้งที่ 3 เสนอหลักประกันจำนวน 300,000 บาท พร้อมทั้งระบุว่า มีเหตุผลและข้อเท็จจริงใหม่อันจะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยได้ กล่าวคือ

    จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งคดีนี้จำเลยมีประเด็นต่อสู้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้

    นอกจากนี้ จำเลยประกอบวิชาชีพเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนหลายคดีในหลายศาล รวมถึงศาลนี้ด้วย ซึ่งในขณะนี้ศาลมีคำส่ังไม่เบิกตัวจำเลยมาปฏิบัติหน้าที่ทนายความในคดีหมายเลขดำที่ อ.1486/2566 การไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันจึงกระทบต่อการทำหน้าที่ทนายความของจำเลยและเกิดความเสียหายแก่ลูกความอย่างยิ่ง

    หลังรับคำร้องขอประกัน ศาลอาญาได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา จากนั้นวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์ โดยระบุในคำสั่งว่า

    “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำที่จำเลยถูกฟ้องสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และให้นับโทษต่อ ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.56/2567 ลงวันที่ 31 พ.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/67671)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันอานนท์ระหว่างอุทธรณ์ของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา มีใจความสำคัญว่า

    1. ในคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหามาโดยตลอด เนื่องจากมิได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งคดีนี้มีประเด็นต่อสู้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้

    การกระทำที่จำเลยถูกฟ้องเป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์จริงหรือไม่ มิใช่เหตุที่ศาลอุทธรณ์ต้องนำมาพิจารณาในการสั่งให้ประกันหรือไม่ให้ประกันตัว เพราะตามมาตรา 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นมีเพียงห้าเหตุเท่านั้น

    การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาถึงเนื้อหาแห่งคดีและเชื่อตามคำฟ้องโจทก์แล้วว่า การกระทำของจำเลยสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งที่ยังมิได้ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ซึ่งขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ​ พ.ศ.​ 2560 จำเลยต้องการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่คำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวทำให้ความหมายของระบอบห่างไกลจากประชาธิปไตย หรือทำให้ประชาธิปไตยแยกห่างจากสถาบันกษัตริย์ จำเลยจึงขอความเป็นธรรมในการวินิจฉัยต่อศาลฎีกา

    ประเด็นที่ 2 จำเลยประกอบอาชีพทนายความสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิและเสรีภาพจากการแสดงออกทางการเมืองหลายคดี ซึ่งขณะนี้ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่เบิกตัวจำเลยมาปฏิบัติหน้าที่ทนายความในคดีของ “ต้นไผ่” อีกทั้งจำเลยมีที่อยู่แน่นอน สามารถติดตามได้โดยง่าย การคุมขังไว้เป็นการกระทำเกินแก่เหตุและความจำเป็น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ทนายความของจำเลยและเกิดความเสียหายของลูกความเป็นอย่างยิ่ง

    ประเด็นที่ 3 ศาลอาญาเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณา จำเลยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว และไม่เคยถูกเพิกถอนประกันตัวในคดีนี้แม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งศาลเคยอนุญาตให้จำเลยเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้เพื่อรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชน และกลับมาประเทศไทยรายงานตัวต่อศาลตามกำหนดนัด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหากจำเลยได้รับการประกันตัวแล้วจะไปก่อเหตุหรือหลบหนีแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยมีบุตรผู้เยาว์จำนวน 2 คน และมีบิดามารดาซึ่งอยู่ในวัยชราที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดูด้วย

    ประเด็นที่ 4 จำเลยยังไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด อีกทั้งการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นมิได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอให้เชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี หากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยวสิทธิมนุษยชนแล้ว การใช้ดุลพินิจคำสั่งให้จำเลยได้รับการประกันตัว จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึงได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีและสากล จะเป็นผลดีอย่างประเทศไทยเพราะเป็นการบังคับใช้กฎหมายภายในที่เป็นไปตามหลักสากล

    .

    ต่อมาในวันที่ 15 มิ.ย. 2567 ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ระบุว่า ‘พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี กรณีเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี และให้นับโทษต่อ หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง’

    ผลของคำสั่งศาลฎีกาในวันนี้ ทำให้อานนท์ยังคงถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.56/2567 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/68094)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอประกันอานนท์ระหว่างอุทธรณ์ในคดีนี้ต่อศาลอาญาเป็นครั้งที่ 4 โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 500,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลโดยสรุปว่า ภรรยาของจำเลยต้องรับภาระหนักในการดูแลบุตร 2 คน เพียงคนเดียว และเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2567 บุตรคนเล็กวัย 1 ปีเศษ ประสบอุบัติเหตุจากเตารีด อันเป็นผลมาจากจำเลยไม่ได้รับการประกันตัว หากได้รับการประกันตัว จำเลยตั้งใจจะไปดูแลบุตรทั้งสองคนร่วมกันกับภรรยา

    นอกจากนั้นจำเลยยังประกอบอาชีพเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิและเสรีภาพจากการแสดงออกทางการเมืองหลายคดีในหลายศาล การที่จำเลยไม่ได้รับการประกันตัวจึงส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ทนายความของจำเลยและเกิดความเสียหายของลูกความเป็นอย่างยิ่ง

    คดีของจำเลยยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด จำเลยจึงยังไม่ถูกเพิกถอนสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจำเลยในระหว่างสอบสวนและระหว่างการพิจารณาคดี โดยจำเลยไม่เคยทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว และไม่เคยถูกถอนประกันจากคดีนี้เลยซักครั้ง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า หากจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือจะหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งศาลนี้ยังเคยอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ไปร่วมงานรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ประเทศเกาหลีใต้ และจำเลยก็เดินทางกลับมารายงานตัวต่อศาลตามนัด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันและรับรองว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

    หลังทนายความยื่นขอประกัน วันเดียวกันนั้นศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ การลงลายมือชื่อในคำร้องประกอบการปล่อยชั่วคราวไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เรือนจำรับรองลายมือชื่อ ทั้งในคำร้องนี้ก็มีชื่อเฉพาะของผู้ขอประกันโดยไม่มีชื่อของจำเลย นอกจากนี้ผู้ขอประกันลงชื่อในคำร้องเป็นผู้เรียงโดยไม่ปรากฏว่าเป็นทนายความ ซึ่งศาลได้ให้เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกผู้ขอประกันแล้วตามรายงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีการมาติดต่อหรือแสดงตนเพื่อให้ศาลสอบถามเกี่ยวกับลายมือชื่อตามข้อกล่าวข้างต้น จึงไม่รับคำร้อง

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.56/2567 ลงวันที่ 10 ก.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/68666)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ธันชกร สิงห์ลอ
  2. ขวัญชาย บุรพเจตนา
  3. ปุณณพัฒน์ มหาลี้ตระกูล

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 17-01-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์