สรุปความสำคัญ

“ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่ม "ราษฎร" ถูกนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) แจ้งความดำเนินคดี กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ชลธิชาโพสต์จดหมายถึงรัชกาลที่ 10 ในกิจกรรม #ราษฎรสาส์น มีเนื้อหาวิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยนพดลกล่าวหาว่า มีข้อความซึ่งหมิ่นประมาท ดูหมิ่นกษัตริย์ฯ และเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทั้งนี้ กิจกรรม #ราษฎรสาส์น ซึ่งจัดโดยกลุ่มประชาชนปลดแอก ได้เชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ โดยมีนักกิจกรรมร่วมเขียนจดหมายยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ภายหลังกิจกรรมมีแกนนำ "ราษฎร" ถึง 5 ราย ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยมีประชาชนที่เห็นต่างในประเด็นดังกล่าวเป็นผู้เข้าแจ้งความ

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งกลุ่มคนที่เห็นต่าง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ชลธิชา แจ้งเร็ว
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

8 พ.ย. 2563 มีการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเขียนจดหมายถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หรือ "ราษฎรสาส์น" เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยจะมีการเดินขบวนไปยื่นหนังสือถึงกษัตริย์ด้วย

ก่อนถึงเวลานัดหมาย นักกิจกรรมหสายคนต่างพากันโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ขณะที่ผู้มาร่วมชุมนุมก็เขียนจดหมายถึงกษัตริย์อย่างคึกคัก แม้หลายคนไม่มั่นใจว่าจดหมายจะไปถึงปลายทาง แต่พวกเขายังยืนยันถึงเหตุผลความจำเป็นในการร่วมส่ง "ราษฎรสาส์น" ในวันนี้

จากนั้นประมาณ 17.50 น. ผู้จัดการชุมนุมประกาศว่าจะเคลื่อนขบวนไปที่สำนักพระราชวัง ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังเพื่อนำจดหมายที่ประชาชนเขียนไปส่ง เมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงบริเวณหน้าศาลฎีกา ต้องเผชิญกับแนวกั้นของตำรวจและรถเมล์ที่ตำรวจนำมาจอดเพื่อกีดขวาง รวมทั้งรถฉีดน้ำแรงดันสูง ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามจะฝ่าแนวกั้นตำรวจเพื่อเดินทางต่อไปยังสำนักพระราชวังนั้นเอง ตำรวจได้เริ่มฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ฝูงชน จนผู้ชุมนุมต้องวิ่งหลบหนี และตะโกนด่าตำรวจ

อย่างไรก็ตามการฉีดน้ำเกิดขึ้นในเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ตำรวจจะประกาศว่าจะมีการเจรจา และจะไม่มีการฉีดน้ำอีกต่อไป เวลาประมาณ 20.00 น. ผู้ชุมนุมได้พยายามเคลื่อนรถประจำทางออกเพื่อเปิดทาง และสามารถนำตู้ไปรษณีย์จำลอง 4 อัน ไปตั้งไว้บริเวณหน้าศาลหลักเมืองได้ จากนั้นแกนนำจึงอ่านแถลงการณ์และประกาศให้ผู้ชุมนุมนำจดหมายที่ตัวเองเขียนขึ้นมาหย่อนในตู้ไปรษณีย์จำลอง ก่อนแยกย้ายกันกลับ

ภายหลังการชุมนุม พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้นำตู้ไปรษณีย์ของกลุ่มผู้ชุมนุมไปเก็บไว้ที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อนำไปประกอบการสอบสวน

(อ้างอิง: https://www.bbc.com/thai/thailand-54863898 และ https://prachatai.com/journal/2020/11/90362)

25 ม.ค. 2564 ชลธิชา แจ้งเร็ว พร้อมทนายความ เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายเรียก ซึ่งมีนพดล พรหมภาสิต เป็นผู้กล่าวหา จากกรณีการโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า การโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ดังกล่าว เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหากล่าวหา ใส่ความรัชกาลที่ 10 ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ชลธิชาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวชลธิชา ไม่ได้ควบคุมตัวไว้

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 25 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25530)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์