ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.595/2565

ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.595/2565
ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ.

ความสำคัญของคดี

“ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่ม "ราษฎร" ถูกนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) แจ้งความดำเนินคดี กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ชลธิชาโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ ในกิจกรรม #ราษฎรสาส์น มีเนื้อหาวิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยนพดลกล่าวหาว่า มีข้อความซึ่งหมิ่นประมาท ดูหมิ่นกษัตริย์ฯ และเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทั้งนี้ กิจกรรม #ราษฎรสาส์น ซึ่งจัดโดยกลุ่มประชาชนปลดแอก ได้เชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ โดยมีนักกิจกรรมร่วมเขียนจดหมายยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ภายหลังกิจกรรมมีแกนนำ "ราษฎร" ถึง 5 ราย ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยมีประชาชนที่เห็นต่างในประเด็นดังกล่าวเป็นผู้เข้าแจ้งความ

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งกลุ่มคนที่เห็นต่าง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สัณห์สิทธิ์ ยุทธภัณฑ์บริการ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 จําเลยซึ่งใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กว่า “Chonticha Kate Jangrew” ได้โพสต์ข้อความข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” โดยได้แสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ในประเด็นต่างๆ เช่น การไปพักอาศัยในต่างประเทศ การโอนอัตรากําลังพลและงบประมาณไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ การใช้จ่ายงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ที่ฟุ่มเฟือย และการเลื่อนยศตำแหน่งให้กับข้าราชการและพลเรือน เป็นต้น

โพสต์ดังกล่าวยังได้มีการเขียนข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่ประชาชนผู้คิดต่างหรือเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลับถูกดําเนินคดี คุมขัง ถูกคุกคาม ถูกทําร้าย และต้องลี้ภัย โดยกล่าวว่า หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมการเมืองที่ถูกทางการไทยมองว่าเป็น “พวกล้มเจ้า” ที่ถูกอุ้มหายและพบ 2 ศพ นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้กษัตริย์รับฟังเสียงของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงเชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมกิจกรรม #ราษฎรสาส์น ใน #ม็อบ8พฤศจิกา วันที่ 8 พ.ย. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกด้วย

ข้อความดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งประชาชนทั่วไปที่พบเห็นภาพและข้อความดังกล่าวเข้าใจความหมายได้ว่า พระองค์ไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ดูแลประชาชน บิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนเกิดความกลัวต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้เข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ใช้ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกพ้องคณะรัฐประหาร กระทําการรัฐประหาร แล้วสืบทอดอํานาจ เพื่อยึดอํานาจจากประชาชน

อัยการยังระบุอีกว่าข้อความดังกล่าวทำให้ประชาชนเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ทรงเบียดเบียนทรัพยากรของประเทศที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของราษฏรไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย พระมหากษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน เข้ามาแทรกแซงการเมืองและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหายของบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธาในพระองค์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.595/2565 ลงวันที่ 15 มี.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ชลธิชาพร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายเรียก ออกโดย พ.ต.อ.ทองศูนย์ อุ่นวงค์ รองผู้บังคับการ บก.ปอท. ลงวันที่ 18 ม.ค. 2564 โดยมีนพดล พรหมภาสิต เป็นผู้กล่าวหา จากกรณีการโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563

    พ.ต.ต.หญิง สุธัญดา เอมเอก และ ร.ต.อ.กรกฏ ศรนิกร พนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 บก.ปอท. แจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 นพดล พรหมภาสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Chonticha Kate Jangrew” ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพ ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกัน เป็นจดหมายถึงกษัตริย์ไทย

    ผู้กล่าวหาเห็นว่าโพสต์ดังกล่าวมีข้อความซึ่งหมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์ฯ ดังนี้

    1. “การใช้จ่ายงบประมาณที่สุรุยสุร่ายในขณะที่ราษฎรกําลังอดอยากยากแค้น การรวบเอาทรัพย์สินที่เป็นของส่วนรวมมาอยู่ในมือของตัวเอง และการที่ท่านมักจะปรนเปรอคนที่โปรดปรานด้วยลาภยศต่างๆ ซึ่งการกระทําเหล่านี้ ก็มักเป็นการเบียดเบียนเอาทรัพยากรของประเทศที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของราษฎรไปใช้อยู่เสมอ ในขณะที่ประชาชนผู้คิดต่างหรือเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลับถูกดําเนินคดี กุมขัง ถูกคุกคาม ถูกทําร้าย และต้องลี้ภัยออกจากบ้านเกิดเมืองนอน”

    2. “เมื่อกษัตริย์ทรงยืนอยู่ท่ามกลางเสียงเยินยอสรรเสริญได้ฉันใด ท่านก็ควรจะกล้าหาญยืนอยู่ท่ามกลางเสียงโห่ร้องไม่พอใจของราษฎรได้ฉันนั้น ....... และวันนี้ มันถึงเวลาแล้วที่ท่านจะต้องกล้าหาญ รับฟังเสียงของพวกเรา และยอมให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”

    พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหากล่าวหา ใส่ความรัชกาลที่ 10 มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และจากการสืบสวนน่าเชื่อว่าชลธิชาเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ชลธิชาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน แต่พนักงานสอบสวนแจ้งว่าคณะทำงานที่ปรึกษากฎหมายของ บก.ปอท. มีคำสั่งให้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 15 วัน โดยไม่ได้นำคำสั่งฉบับดังกล่าวมาแสดง อ้างว่าเป็นคำสั่งภายใน อย่างไรก็ตาม ทนายความยืนยันส่งคำให้การภายในวันที่ 24 ก.พ. 2564

    หลังพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวัน พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวชลธิชา ไม่ได้ควบคุมตัวไว้ และจะนัดหมายส่งตัวให้อัยการต่อไป

    วันเดียวกันนี้ "ไมค์" ภาณุพงศ์ จาดนอก นักกิจกรรมอีกรายก็เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากการโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม "ราษฎรสาส์น" เช่นเดียวกัน โดยมีแน่งน้อย อัศวกิตติกร อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งจังหวัดพิษณุโลกของพรรครวมพลังประชาชาติไทย และประธาน ศชอ.เป็นผู้แจ้งความให้ดำเนินคดี

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 25 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25530)
  • ผู้รับมอบอำนาจเข้ายื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวน มีเนื้อหายืนยันว่า การกระทําของผู้ต้องหาไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย และไม่มีถ้อยคําใดที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ รวมทั้งไม่ได้เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร กล่าวคือ

    1. ผู้ต้องหาในฐานะราษฎรผู้เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริงจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง และความสถิตสถาพรของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย และเพื่อกระตุ้นเตือนต่อรัฐบาลให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของประชาชนในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระตุ้นเตือนต่อบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ใช้ความรุนแรงในการคุกคามและทําร้ายต่อประชาชน

    นับตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช.ได้มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองเนื่องจากถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นจํานวนมาก และทางรัฐบาลได้ตีตราบุคคลที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าเป็นพวกล้มเจ้า และต่อมากลุ่มบุคคลดังกล่าวถูกอุ้มหาย 7 ราย ถูกฆาตกรรม 2 ราย ซึ่งเป็นความน่ากลัวของบุคคลผู้คลั่งในลัทธิกษัตริย์นิยมจนล้นเกิน ถึงขนาดที่ต้องกําจัดผู้ที่ถูกตีตราว่าเป็นพวกล้มเจ้า ซึ่งการกระทําเช่นนี้ขัดต่อกฎหมาย เป็นอาชญากรรมอย่างร้ายแรง และขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

    ดังนั้น เจตนาของผู้ต้องหาคือกระตุ้นเตือนต่อบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้ความรุนแรงในการคุกคามและทําร้ายต่อประชาชนในรูปแบบการทําร้ายร่างกาย บังคับสูญหาย และการฆาตกรรม ผู้ต้องหามิได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์

    2. นับตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช.จนถึงปัจจุบัน ได้ตรากฎหมายหลายฉบับที่ขยายพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์จนเกินไปกว่ารูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และแตกต่างจากพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนอย่างมาก ทั้ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และ พ.ร.ก.โอนอัตรากําลังพลและงบประมาณฯ พ.ศ. 2562 ย่อมส่งผลเป็นที่คลางแคลงใจต่อประชาชน

    3. นอกจากนี้นับตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช.จนถึงปัจจุบัน ได้มีการเพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมากอย่างมีนัยยะสําคัญ ผู้ต้องหาเห็นว่า การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของหน่วยงานของรัฐรวมถึงส่วนราชการในพระองค์ ต้องเปิดแผยรายรับ รายจ่าย และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ คํานึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ และที่สําคัญต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยข้อมูลในส่วนนี้เป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานราชการ

    ดังนั้น จึงขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการออกหมายเรียกพยานเอกสารเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ที่กําหนดให้ พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ดังนี้

    1) ออกหมายเรียกพยานเอกสารไปยังสํานักงบประมาณ สํานักนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน

    2) ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานเอกสารไปยังสํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบถามถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่รัฐสภาอนุมัติประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจํา พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน

    3) ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานเอกสารไปยังสํานักงานองคมนตรี สํานักพระราชวัง และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ เพื่อสอบถามถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดถึงการจัดสรรงบประมาณ การใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละประเภท และงบประมาณคงเหลือของแต่ละประเภท ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน

    (อ้างอิง: คำให้การเพิ่มเติม คดีอาญาที่ 18/2564 กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 24 ก.พ. 2564)
  • พนักงานสอบสวน บก.ปอท.ได้โทรศัพท์นัดหมายให้ชลธิชาไปพบ เพื่อส่งตัวพร้อมสํานวนการสอบสวนต่อพนักงานอัยการ แต่เนื่องจากชลธิชาติดภารกิจที่ได้นัดหมายไว้ก่อนล่วงหน้า จึงส่งหนังสือเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการ ไปเป็นวันที่ 29 พ.ย. 2564 เวลา 10.00 น.
  • ชลธิชาเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ตามนัดหมาย อัยการรับตัวแล้วนัดฟังคำสั่งวันที่ 27 ธ.ค. 2564

    พร้อมกันนี้ชลธิชาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมอัยการ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 112 และไม่เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง โดยพนักงานสอบสวนปรับใช้ข้อกฎหมายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

    นอกจากนี้ ชลธิชายังขอให้อัยการมีคําสั่งให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสอบสวนพยานบุคคล ได้แก่ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตกุล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ในประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

    (อ้างอิง: หนังสือขอความเป็นธรรมอัยการ ลงวันที่ 29 พ.ย. 2564)
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง นัดฟังคำสั่งครั้งต่อไปวันที่ 28 ม.ค. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนฟังคำสั่งไปวันที่ 28 ก.พ. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนฟังคำสั่งไปวันที่ 15 มี.ค. 2565
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 มีคำสั่งฟ้องชลธิชา ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และนำตัวไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญา โดยไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา

    หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชลธิชาระหว่างพิจารณาคดี

    ต่อมา พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในวงเงินประกัน 90,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ แต่ให้ติด EM ติดตามตัว พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว 4 ข้อ ได้แก่

    1. ห้ามกระทำกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา
    2. ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
    3. ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น.
    4. ให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน

    นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

    น่าสังเกตว่าคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรก ที่ชลธิชาถูกฟ้องต่อศาล โดยเธอไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และยังไม่เคยถูกยื่นขอฝากขังมาก่อน แต่ศาลกลับกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวใกล้เคียงกับแกนนำหลายคนที่ได้รับการประกันตัวก่อนหน้านี้

    นอกจากคดีนี้ ชลธิชายังถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 อีก 1 คดี ได้แก่ คดีปราศรัยใน #ม็อบ11กันยา รวมตัวเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา บริเวณหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ระหว่างรอผลประกันตัวแกนนำคดีชุมนุมหน้า ตชด. เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.595/2565 ลงวันที่ 15 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41425)
  • เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดไต่สวนข้อเท็จจริง สืบเนื่องมากจากเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2565 ชลธิชาได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการเข้าพบรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 รวมทั้งเงื่อนไขการประกันตัวที่ละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชน

    ที่ห้องพิจารณา 812 เวลา 13.30 น. ชลธิชา พร้อมทนายความ และประชาชนผู้มาให้กำลังใจจำนวนหนึ่งได้ทยอยมาถึงห้องพิจารณาคดี นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส ตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) และ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล มาเข้าร่วมสังเกตการณ์อีกด้วย

    ต่อมา เวลา 14.00 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยก่อนเริ่มไต่สวน ศาลแจ้งผู้เข้าฟังว่าไม่อนุญาตให้บันทึกภาพและเสียง หากฝ่าฝืนจะตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาล พร้อมกับแจ้งว่า วันนี้ไม่ได้จะมีการไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด เพียงแต่เรียกจำเลยมาสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

    จากนั้น ศาลได้ขานชื่อผู้เป็นนายประกันในคดีของชลธิชา แต่ทนายแจ้งว่านายประกันติดธุระไม่สามารถเดินทางมาในวันนี้ได้ ศาลจึงกล่าวว่าในนัดหน้าให้นัดนายประกันมาด้วย

    ศาลได้สอบถามชลธิชาต่อว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ที่นายประกันจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยได้ทราบเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ชลธิชาตอบว่า ทราบแล้ว แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขบางประการที่ศาลกําหนดไว้ ซึ่งในประเด็นนี้ศาลระบุว่า หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขการประกันตัวก็ขอให้อุทธรณ์ต่อศาล โดยศาลจะพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผล และให้ความเมตตาเห็นอกเห็นใจต่อจำเลย

    หลังศาลถามจนแน่ใจแล้วว่า จำเลยทราบเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว ศาลจึงได้เริ่มอ่านคำพูดของจำเลยที่ปรากฏตามเอกสารหลักฐานที่รวบรวมมา พร้อมถามจำเลยว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ หลังซักถามได้เพียงครู่เดียว ทนายจำเลยได้ขอเอกสารหลักฐานดังกล่าวมา เพื่อขอตรวจสอบร่วมกับจำเลย

    ภายหลังตรวจสอบเอกสาร ทนายจำเลยรับว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความจริง จำเลยได้ให้สัมภาษณ์เรื่องเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวจริง แต่สำหรับข้อความในเว็บไซต์ ไทยโพสต์ ที่พาดหัวว่า “ศาลคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง” นั้นเป็นถ้อยคำที่สำนักข่าวพาดหัวขึ้นเอง จำเลยไม่ได้กล่าวข้อความเช่นนั้น ศาลจึงกล่าวว่า หากจำเลยไม่ได้เป็นผู้เขียนข้อความ ศาลก็จะเรียกสำนักข่าวมาสอบถาม และอาจมีการฟ้องร้องดำเนินคดีภายหลัง

    ต่อมา ศาลเปิดหลักฐานคลิปเสียงของชลธิชาที่แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 หลังฟังคลิปเสียงดังกล่าวแล้ว จำเลยและทนายจำเลยปรึกษาร่วมกันอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนชี้แจงต่อศาลว่าจะเขียนคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ ซึ่งศาลอนุญาต

    จากนั้นศาลได้อ่านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่นายประกันยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565

    ประเด็นแรก ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยระบุว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ จึงขอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว การปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีตามคําแนะนําของประธานศาลฎีกา โดยกําหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของจําเลย เช่น การให้ใช้อุปกรณ์ EM เพื่อจำกัดการเดินทางของจำเลย และให้จำเลยรายงานตัวต่อศาลทางโทรศัทพ์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น” ศาลเห็นว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าว นายประกันของจำเลยเป็นผู้เสนอเงื่อนไขให้จำเลยติดกำไล EM ศาลจึงทำตามที่นายประกันร้องขอ ไม่ได้เป็นคำสั่งที่มาจากศาลแต่อย่างใด

    ชลธิชาได้ชี้แจงต่อศาลว่า ในวันดังกล่าวหลังจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ตนได้ยื่นคำแถลงคัดค้านการติด EM โดยระบุว่า จะขอวางหลักทรัพย์ในการปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่ม แต่ศาลได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวไป

    ศาลได้โต้แย้งว่า ในวันนั้นศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที พร้อมกับระบุว่า หากจำเลยไม่ยอมรับเงื่อนไขการติด EM ก็ให้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ และขอให้จำเลยทำไปตามกระบวนการ ไม่จำเป็นต้องนำเรื่องไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่า ศาลรังแกจำเลยและเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการ “ดูหมิ่นศาล”

    ประเด็นที่สอง การแถลงข่าวของจำเลยที่พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 ศาลพบว่ามีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนบางประการ โดยจำเลยได้แถลงข่าวว่า “ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำ และจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ตามหลักรัฐธรรมนูญ ”

    ศาลจึงได้ชี้แจงว่าเงื่อนไขที่ถูกคือ “ห้ามจำเลยกระทำกิจกรรมในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา” พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ‘ศาลไม่ได้บอกว่าจำเลยกระทำผิด แต่ห้ามจำเลยกระทำในลักษณะเดียวกันอีก ที่สั่งว่าห้ามกระทำในลักษณะเดียวกันและให้ประกันโดยมีเงื่อนไข ก็เพราะไม่ต้องการให้เกิดคดีอีก’

    เกี่ยวกับประเด็นนี้ ทนายความชี้แจงต่อศาลว่า เนื่องจากผู้ต้องหาทางการเมืองมีความเห็นที่แตกต่างจากรัฐ การใช้คำว่า ‘ห้ามกระทำในลักษณะนี้’ จึงมีเส้นกั้นบางๆ ที่หมิ่นเหม่ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งและคุกคามจำเลย พร้อมกันนี้ ชลธิชาได้อธิบายต่อศาลว่า ตนเพียงตั้งข้อสังเกตว่าเงื่อนไขดังกล่าวมีความคลุมเครือ และยากต่อการตีความว่าการกระทำใดเข้าข่ายการฝ่าฝืนเงื่อนไขบ้าง

    ส่วนเรื่องเงื่อนไขที่ให้อยู่ในเคหสถานตามเวลาที่กำหนดนั้น ศาลกล่าวว่าจำเลยแถลงข่าวผิดพลาด โดยจำเลยแถลงว่า “ห้ามออกนอกเคหสถานเวลา 05.00 – 20.00 น.” โดยศาลแย้งว่าเงื่อนไขที่ถูกคือ “ห้ามออกนอกเคหสถานเวลา 20.00 – 05.00 น.” ซึ่งในประเด็นนี้ ชลธิชาชี้ยอมรับว่ากล่าวช่วงเวลาสลับกันและขออภัยต่อศาล

    จากนั้น ศาลได้เสนอให้จำเลยแถลงข่าวต่อสาธารณะเพื่อแก้ไขข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยทนายจําเลยและจําเลยแจ้งว่าจะแถลงข้อผิดพลาดดังกล่าวภายใน 3 วัน รวมทั้งทนายความจะทำคำแถลงมายื่นต่อศาลภายใน 15 วัน

    หลังเสร็จการไต่สวน ศาลได้พร้อมหรือนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 19 เม.ย. 2565 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.595/2565 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41840)
  • ที่ห้องพิจารณา 801 เวลา 13.10 น. ชลธิชาและทนายความเดินทางมาในนัดไต่สวนเงื่อนไขประกัน โดยมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์อีกทั้งหมด 11 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่จาก iLaw, เจ้าหน้าที่จากสถานทูตเยอรมนี ลักเซมเบิร์ก และเดนมาร์ก รวม 4 คน และประชาชนทั่วไปอีก 6 คน

    เวลา 13.59 น. ศาลออกพิจารณาพร้อมชี้แจงในประเด็นการเรียกมาศาลเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2565 หลังจากแจ้งให้ทราบ 3 วัน ว่า การเรียกครั้งนั้นไม่ใช่การไต่สวนถอนประกันตัว แต่เป็นการเรียกมาชี้แจงให้จำเลยทราบว่า จำเลยทำผิดเงื่อนไขหรือให้ข้อมูลผิด ไม่ใช่การมัดมือชก

    อีกทั้งได้ชี้แจงในประเด็น การกำหนดเงื่อนไขให้ได้สัดส่วน ว่าทั้งโลกนี้ ศาลเป็นผู้กำหนดสัดส่วนใดๆ ทั้งหมด กล่าวคือ ศาลเป็นผู้พิจารณาว่าสัดส่วนใดเหมาะหรือไม่เหมาะสม ถ้าศาลชั้นต้นตัดสินมาแล้วไม่พอใจ ให้จำเลยยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป และการสั่งเงื่อนไขเป็นไปตามที่นายประกันขอไว้แล้ว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า การที่ศาลให้ประกันพร้อมเงื่อนไขนั้น เป็นไปตามท้ายคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ที่ระบุว่า “จึงขอให้ศาลโปรดพิจารณาปล่อยจำเลยตามแนวปฏิบัติดังกล่าว” โดยศาลพิจารณาเงื่อนไขการปล่อยตัวจากคดีอื่นๆ ที่ชลธิชาถูกกล่าวหาด้วย การใส่ EM จึงเห็นว่าเหมาะสมแล้ว

    หลังจากนั้นผู้พิพากษาและชลธิชา ก็ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงเรื่องของการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว โดยชลธิชาได้ถามต่อศาลว่า ตกลงแล้วเงื่อนไขการห้ามจำเลยกระทำความผิดซ้ำท่านหมายความว่าอย่างไร แปลว่าการกระทำของตนที่ถูกนำมาฟ้องเป็นคดีและยังไม่สิ้นสุดนั้น ถูกมองว่าเป็นความผิดไปแล้วหรือไม่ ศาลได้ชี้แจงว่าไม่ใช่เช่นนั้น โดยได้พยายามยกตัวอย่างความผิดฐานลักทรัพย์ว่า ก็เหมือนกับการห้ามไม่ให้ไปทำอีก ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขประกันตัว

    แต่ชลธิชาก็ได้แสดงความเห็นต่อศาลว่า คดีของเธอ เป็นคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่คดีอาชญากรรมและคดีที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม ทำให้เธอตั้งคำถามว่า การกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ แปลว่า ห้ามเธอแสดงความคิดเห็นทางเฟซบุ๊กไปเลยหรือไม่ ศาลได้ตอบว่าไม่ขอให้ความเห็น แต่ศาลจะไม่เพิกถอนประกันในทันทีและจะมีการไต่สวนความผิดก่อนทุกครั้ง

    ชลธิชาได้แถลงต่อศาลด้วยว่า ต้องการให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไข พร้อมระบุอีกว่า ปัจจุบันที่ยังไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งการปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมเงื่อนไข เพราะว่าต้องการให้มีการไต่สวนถอนประกันในวันนี้ให้เสร็จก่อน

    พร้อมแถลงเพิ่มเติมว่า ศาลไม่ควรกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำความผิดซ้ำ เนื่องจากคดีของตนเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ใช่คดีที่เป็นความผิดในตนเอง การกำหนดเงื่อนไขควรต้องคำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพ และให้สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมถึงการที่ศาลระบุเงื่อนไขไม่ชัดเจนดังกล่าว อาจทำให้จำเลยถูกกลั่นแกล้งจากการที่ตำรวจหรืออัยการยื่นคำร้องขอถอนประกันต่อศาลได้

    ต่อมา ศาลให้จำเลยแถลงเรื่องขอยกเลิกเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00 น. ถึง 05.00 น. ของวันถัดไป แลให้รายงานตัวต่อศาลทุก 15 วัน ในช่วงเวลา 3 เดือน พร้อมระบุว่าศาลไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และศาลอยู่ตรงกลาง โดยไม่มีรัฐบาลหรือใครที่จะมาสั่งศาลได้ โดยทุกวันนี้มีแต่คนมาบอกว่า “สงสารเด็ก” และขอให้ปล่อยเถอะๆ แต่เนื่องจาก “กฎหมายเขียนไว้แบบนี้” ศาลก็ต้องทำตามกฎหมาย

    ชลธิชาจึงแถลงเหตุผลต่อศาลว่า เงื่อนไขที่ศาลห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานและรายงานตัวต่อศาล ทำให้จำเลยไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งยกเลิกเงื่อนไขประกันทั้ง 2 ข้อดังกล่าว แต่ไม่ยกเลิกคำสั่งให้ติด EM โดยให้เหตุผลต่อทนายว่า การติด EM นั้นมีระยะเวลาของการติด คำสั่งมีผลอยู่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจะปลดให้ ไม่ใช่หลังจากที่ศาลเพิ่งออกคำสั่งไปแล้วจะขอถอนการติด EM เลย

    ก่อนการไต่สวนถอนประกันในวันนี้จะสิ้นสุดลง ศาลได้ตักเตือนว่า ศาลและผู้บริหารทุกคนถูกคุกคามจากโพสต์สาธารณะและข่าวที่มีการระบุถึงชื่อผู้พิพากษา ทำให้ผู้พิพากษาคนนั้นเป็นเป้าโจมตีของสาธารณชน ทำให้ชื่อผู้พิพากษาและครอบครัวเกิดความเสียหาย ทั้งนี้ศาลได้มีแนวทางในการจัดการ ในกรณีที่ทนายความเป็นคนโพสต์ จะแจ้งสภาทนายความให้ทราบ ส่วนถ้าประชาชนเป็นคนทำ ทางสำนักงานของศาล จะดำเนินคดี

    หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนในวันนี้ ชลธิชาได้เดินออกจากห้องพิจารณา พร้อมกล่าวว่ากับบรรดาผู้ที่มาให้กำลังใจ ตัวแทนสถานทูต และทนายความว่า “ไม่มีสิทธิและเสรีภาพที่ได้มาโดยปราศจากการต่อสู้”

    หลังจากการไต่สวนถอนประกันในวันนี้ ถึงแม้ว่าชลธิชา จะไม่ถูกถอนประกันและได้ยกเลิก 2 เงื่อนไข แต่การติด EM ก็ยังคงสร้างผลกระทบต่อชลธิชา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเทคนิคด้านการชาร์ตแบต ปัญหาด้านสุขอนามัยข้อเท้าที่ต้องเสียเงินดูแลมากขึ้น และการจำกัดพื้นที่การใช้ชีวิต เป็นต้น

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.595/2565 ลงวันที่ 19 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42667)
  • หลังตรวจพยานหลักฐาน ทนายจำเลยได้ยื่นคําร้องแถลงข้อเท็จจริงกรณีไม่สามารถนัดสืบพยานต่อเนื่องตามเกณฑ์กลางที่ศาลกําหนด โดยชี้แจงกำหนดนัดศาลในคดีอื่นที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว พร้อมระบุหมายเลขคดีดำ ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 20-22, 26-29 มี.ค. 2567 ตามที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยมีวันว่างตรงกัน
  • บรรยากาศช่วงเช้าที่ห้องพิจารณา 901 ชลธิชา และผู้รับมอบฉันทะจากทนายความ ได้เดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีตั้งแต่ก่อนเวลา 09.00 น. นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองจากสถานทูตเยอรมนี มาเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย และ นพดล พรหมภาสิต ผู้กล่าวหา ได้นำสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) จำนวนหนึ่งมาร่วมเข้าฟังการพิจารณาคดีด้วย

    ++อธิบดีศาลอาญาฯ ไม่รับคำร้องเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา “ลูกเกด” แถลงปฎิเสธไม่รับกระบวนการฯ

    เวลา 09.35 น. เจ้าหน้าที่แจ้งให้ย้ายไปที่ห้อง 905 แทน หลังเปลี่ยนห้องพิจารณาคดีแล้ว ศาลได้ออกนั่งพิจารณาคดีเมื่อเวลา 10.40 น.

    ก่อนเริ่มการสืบพยาน ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดี เนื่องจากทนายจำเลยติดว่าความที่ศาลอื่น ที่สำคัญในนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 มิ.ย. 2565 คู่ความได้ตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานในคดีนี้เป็นวันที่ 20-22, 26-29 มี.ค. 2567 ต่อมา อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้กำหนดวันนัดสืบพยานใหม่ และกำหนดวันนัดใหม่เอง ไม่ได้ถามวันว่างของคู่ความ โดยให้นัดสืบพยานระหว่างวันที่ 1-2, 6 มิ.ย. และ 8-11 ส.ค. 2566

    ซึ่งในวันที่ศาลกำหนดใหม่นี้ ทนายจำเลยติดสืบพยานที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งได้กำหนดนัดหมายไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว และได้แจ้งต่อศาลไปแล้วในคำร้องตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 2565 อีกทั้งจำเลยก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อในการกำหนดวันนัดสืบพยานใหม่นี้ด้วยแต่อย่างใด จึงขอให้ศาลเลื่อนการพิจารณาคดีนี้ออกไปก่อน

    อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี แม้โจทก์จะไม่คัดค้านการเลื่อนคดี เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานโจทก์มาพร้อมสืบแล้ว และอ้างว่าจำเลยไม่ได้คัดค้านในประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่ที่ศาลกำหนดนัดหมายใหม่ ดังนั้น ศาลจึงจะให้สืบพยานไปก่อนโดยไม่มีทนายความ และให้ทนายจำเลยมาถามค้านต่อในช่วงบ่ายหากเป็นไปได้

    ศาลยังชี้แจงอีกว่าในทางกฎหมายมี พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 อยู่ ซึ่งศาลฎีกาเป็นผู้ออกระเบียบ จึงจำเป็นต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

    ชลธิชาและผู้รับมอบฉันทะแย้งว่า ก่อนหน้านี้ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องแสดงข้อเท็จจริงต่อศาลพร้อมระบุหมายเลขคดีเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ว่าติดนัดว่าความที่ศาลไหนบ้างและเป็นคดีอะไร การที่ศาลจะให้สืบพยานโดยไม่มีทนายความ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมของจำเลย

    ศาลย้ำว่าไม่ได้มีอคติส่วนตัวหรือไม่ชอบจำเลยแต่อย่างใด เพียงแต่ทำตามหลักข้อบังคับโดยใช้ดุลพินิจในฐานะที่เป็นเจ้าของสำนวนคดี หากจำเลยเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถใช้สิทธิร้องอุทธรณ์ได้

    ด้านชลธิชาลุกขึ้นแถลงกับศาลว่าจะขอพูดคุยกับอธิบดีหรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาโดยตรง ซึ่งทราบมาว่าเป็นผู้กำหนดให้เลื่อนมาสืบคดีนี้เร็วขึ้น ด้านผู้พิพากษาจึงให้เจ้าหน้าที่ติดต่อประสานกับอธิบดีหรือรองอธิบดีฯ ว่าจะพูดคุยกับจำเลยหรือไม่

    เวลา 11.35 น. ผู้พิพากษาแจ้งว่าอธิบดีและรองอธิบดีฯ ปฎิเสธที่จะพบจำเลย โดยระบุว่า ขอให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนใช้ดุลพินิจเองได้ ผู้พิพากษาจึงจะให้มีการสืบพยานภายในวันนี้ให้ครบ แต่หากจำเลยเห็นว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม ก็สามารถแถลงต่อศาลได้เช่นกัน

    ชลธิชาจึงแถลงขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา เพราะการที่ศาลใช้ดุลพินิจว่าไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีนั้นไม่เป็นธรรม ทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    ในประเด็นนี้ศาลเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย จึงอนุญาตให้จำเลยเขียนคำร้องขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา และพักการพิจารณาคดีไว้ก่อน

    ต่อมาเวลา 13.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาอีกครั้ง พร้อมแจ้งว่า หลังพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้วอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งว่า “กรณีไม่มีเหตุที่จะคัดค้านและเปลี่ยนแปลงองค์คณะผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้ยกคำร้อง”

    ชลธิชาจึงลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่าจะไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดี และจะไม่ยินยอมลงชื่อในคำเบิกความ รวมทั้งรายงานกระบวนการพิจารณาทั้งหมด

    “ดิฉันผิดหวังมาก คาดหวังว่าศาลจะยืนอยู่อย่างสง่างาม และให้ความยุติธรรมกับประชาชน อยากจะสืบพยานก็สืบไป แต่ดิฉันจะไม่รับกระบวนการ เพราะมันไม่มีความยุติธรรม”

    “มันไม่ได้พังแค่ศาล แต่จะพังทั้งองคาพยพ หวังว่าท่านจะมีจิตสำนึกในเรื่องนี้” ชลธิชาประกาศกร้าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษา พร้อมน้ำตา

    อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงยืนยันให้เริ่มการสืบพยานโจทก์ต่อไป โดยอัยการนำพยานโจทก์ 4 ปากเข้าเบิกความในวันนี้ ได้แก่ นพดล พรหมภาสิต, ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่ม ศปปส., ประชาชนทั่วไปที่มาให้ความเห็นต่อข้อความ และกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    การสืบพยานซึ่งมีการบันทึกคำเบิกความเป็นวีดิโอดำเนินไปต่อหน้าชลธิชา โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ในกระบวนการด้วยแต่อย่างใด โดยศาลได้แจ้งให้ชลธิชาสามารถใช้สิทธิถามค้านด้วยตนเองได้ แต่ชลธิชายืนยันปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้น

    หลังพยานโจทก์ 4 ปาก เบิกความเสร็จ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปในวันที่ 2 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.595/2565 ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56474)
  • นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 2 ช่วงเช้า ชลธิชากับว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยมีการเรียกร้องให้สอบสวนองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ และดำเนินการทางวินัย กรณีพิจารณาคดีละเมิดสิทธิจำเลยในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้รับหนังสือไว้แล้วแจ้งว่า จะดำเนินการส่งเรื่องไปที่ กต. และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

    สำหรับบรรยากาศการพิจารณาคดีที่ห้อง 905 วันนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีเป็นจำนวนมาก ทั้งสื่อมวลชน ทีมงานพรรคก้าวไกล ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และประชาชนที่มาให้กำลังใจชลธิชา จนเต็มห้องพิจารณา

    เวลา 10.31 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี พร้อมถามว่าจำเลยไม่มีทนายความมาใช่หรือไม่ ด้านชลธิชาชี้แจงกับศาลว่า ตนไม่มีทนายความและจะขอเลื่อนการพิจารณาคดีนี้ออกไป พร้อมกันนี้ตนจะขอยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    หลังได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี เนื่องจากได้วินิจฉัยโดยชัดแจ้งแล้วในการพิจารณาคดีเมื่อวานว่า คดีนี้จำเลยได้แต่งตั้งทนายความ 2 คน ศาลเห็นว่าทนายความทั้งสองมีสิทธิเท่าเทียมกัน แม้ทนายความคนใดคนหนึ่งจะไม่ว่าง ทนายอีกคนก็สามารถว่าความแทนได้ ศาลจึงไม่มีเหตุให้เลื่อนคดี คำสั่งนั้นชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว

    ในส่วนที่จําเลยอ้างว่า ทนายความอีกคนหนึ่งที่แต่งตั้งเข้ามาเป็นทนายความในการไต่สวนคําร้องถอนประกัน เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2565 จากกรณีที่จำเลยเผยแพร่เงื่อนไขการประกันตัวคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงนั้น ไม่ได้เป็นทนายความในชั้นพิจารณาคดี และทนายความคนดังกล่าวไม่ได้เข้าร่วมกําหนดนัดสืบพยานและไม่มีการส่งหมายแจ้งกําหนดวันนัดสืบพยานใหม่ให้ทราบแต่อย่างใด จึงถือว่า ทนายจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นทนายความก็ติดว่าความที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เช่นเดียวกันกับทนายอีกคน

    ในประเด็นนี้ ศาลชี้แจงว่าแม้จะเป็นการแต่งทนายคนที่สองเพื่อไต่สวนถอนประกัน แต่จำเลยไม่ได้อธิบายหรือชี้แจงเรื่องดังกล่าวตั้งแต่แรก ดังนั้นศาลจะถือว่า ทนายคนที่สองที่แต่งเข้าไปจะมีอำนาจและสิทธิในการดำเนินการต่างๆ ตลอดกระบวนการพิจารณาคดีได้

    แม้ทนายความคนที่สองจะไม่ได้รับหมายกำหนดวันนัดสืบพยานใหม่ แต่ทนายความที่รับผิดชอบในคดีนี้ตั้งแต่ต้นรวมถึงจำเลยได้รับหมายกำหนดนัดสืบพยานดังกล่าวแล้ว และการที่อ้างว่าทนายจำเลยคนที่สองติดสืบพยานที่ศาลอาญากรุงเทพใต้นั้น ก็ไม่ได้มีหลักฐานมารับรองแต่อย่างใด กรณีไม่มีเหตุให้ยกเลิกวันนัด ให้ยกคำร้อง

    ต่อมา ศาลได้ชี้แจงกับจำเลยว่าเนื่องจากคดีนี้ละเอียดอ่อน ศาลจึงจะให้สิทธิจำเลยถามค้านทั้งพยานโจทก์ของวันนี้และกลุ่มพยานโจทก์เมื่อวานด้วยตนเอง

    ด้านชลธิชาแถลงยืนยันเหมือนเดิมว่า จะไม่รับกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยชี้แจงว่าเบื้องต้นทนายจำเลยได้มีการแจ้งตั้งแต่วันนัดตรวจพยานหลักฐานไปแล้วว่าไม่สามารถมาสืบพยานในช่วงเวลานี้ ที่ศาลนี้ได้ เนื่องจากติดว่าความคดีอื่น

    “หากศาลยืนยันจะสืบก็สืบไปโดยไม่มีทนายอยู่ด้วย กฎหมายมาตรา 112 เป็นคดีอาญา ตามหลักแล้วต้องมีทนายความอยู่ด้วย ถ้าท่านจะสืบก็เอาเลย กระบวนการยุติธรรมจะพังก็พังไป” ชลธิชาแถลงต่อศาล

    อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงยืนยันให้เริ่มการสืบพยานโจทก์ต่อไป พร้อมกับแจ้งว่า ศาลไม่ได้มีอคติกับจำเลย จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้และให้ใช้สิทธิให้เต็มที่ ศาลเพียงแต่ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ก่อนให้อัยการนำพยานโจทก์ 3 ปาก เข้าเบิกความ ได้แก่ คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการนิติศาสตร์, พ.ต.ต.หญิงสุธัญดา เอมเอก และ พ.ต.ต.ประยุทธ สอนสวาท คณะพนักงานสอบสวน

    หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี อัยการแถลงหมดพยานโจทก์ ศาลได้นัดสืบพยานจำเลยต่อไปในวันที่ 6 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.595/2565 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56491)
  • ที่ห้องพิจารณา 905 มีประชาชนจำนวนหนึ่งมาร่วมให้กำลังใจชลธิชา และมีเจ้าหน้าที่สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี

    เวลา 11.00 น. ศาลออกนั่งพิจาณาคดี ก่อนเริ่มการสืบพยานศาลได้อ่านคำร้องที่ทางจำเลยยื่นเข้ามาว่า ในคดีนี้ทนายจำเลยทั้งสองติดว่าความที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีอื่น จึงไม่สามารถมาตามนัดหมายได้ อีกทั้งวันนี้เป็นการสืบพยานจำเลยไม่สามารถสืบพยานได้โดยไม่มีทนายความ จึงขอให้เลื่อนคดีออกไปพร้อมกับกำหนดวันนัดหมายใหม่

    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากการตรวจสอบในระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม ปรากฏว่า ทนายจำเลยทั้งสองติดว่าความในคดีมาตรา 112 กรณีทำกิจกรรมสวมครอบท็อปเดินสยามพารากอน ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ในช่วงเวลาดังกล่าวจริง ซึ่งเป็นคดีที่นัดไว้ก่อนแล้ว กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะให้เลื่อนนัดวันนี้ได้ รวมทั้งนัดในวันที่ 8-10 ส.ค. 2566 ซึ่งทนายความจำเลยมีนัดคดีที่ศาลอาญาตลิ่งชัน แต่การสืบพยานจำเลยในวันที่ 11 ส.ค. 2566 ตามที่นัดไว้ใหม่ ไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยทั้งสองมีเหตุขัดข้องแต่อย่างใด จึงให้คงนัดตามเดิมไว้

    ทั้งนี้ ในส่วนที่จำเลยขอให้ออกหมายเรียกพยานโจทก์มาเบิกความใหม่นั้น ศาลเห็นว่า การพิจารณาคดีในวันที่ 1-2 มิ.ย. เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่อนุญาตให้พยานโจทก์มาเบิกความใหม่ แต่จะอนุญาตให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์เหล่านั้นทั้งหมด โดยศาลอ้างว่า หลักฐานที่ทนายจำเลยทั้งสองติดว่าความในคดีนี้เพิ่งปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวน จึงไม่มีเหตุให้พยานโจทก์มาเบิกความใหม่

    ด้านชลธิชาแถลงต่อศาลยืนยันว่า หลักฐานทุกอย่างได้ปรากฏตามสำนวนตั้งแต่สืบพยานวันแรก โดยแจ้งทุกอย่างไปแล้ว เหตุใดแจ้งไปแล้ว ศาลยังนัดสืบพยานในวันดังกล่าว ตนไม่ได้มีเจตนาจะเลื่อนคดี เพียงแค่ต้องการยืนยันในหลักการเท่านั้น เพราะถ้ามันเกิดข้อผิดพลาดในคดีของเรา ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคดีอื่น

    ต่อมา ศาลได้ระบุในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ให้ออกหมายเรียกพยานโจทก์ทั้งหมด 4 ปาก มาให้ฝ่ายจำเลยถามค้านใหม่ในนัดวันที่ 11 ส.ค. 2566

    ทั้งนี้ ศาลได้แจ้งกับผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ศาลได้บันทึกการพิจารณาคดีเป็นระบบวิดีโอ ซึ่งสามารถยื่นคำร้องขอดูบันทึกสืบพยานและนำไปศึกษาเพื่อใช้ถามค้านในนัดต่อไปได้

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.595/2565 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56561)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชลธิชา แจ้งเร็ว

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชลธิชา แจ้งเร็ว

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์