สรุปความสำคัญ

นรินทร์ (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูปของรัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่สนามหลวง และถูกดำเนินคดีข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุดังกล่าว นรินทร์ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ในชั้นสอบสวนนรินทร์ไม่ได้ถูกควบคุมตัว และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยวางเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโดเป็นหลักประกัน

คดีนี้เป็นอีกกรณีที่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมตีความและบังคับใช้มาตรา 112 ไปอย่างกว้างขวาง จนกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศให้การรับรอง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นรินทร์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 ธ.ค. 2563 เวลา 13.00 น. ที่ สน.ชนะสงคราม นรินทร์เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ตามหมายเรียกผู้ต้องหา จากเหตุที่ถูกกล่าวหาว่า ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูปภาพของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ในระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อ 19 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง

รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม แจ้งพฤติการณ์ให้นรินทร์ทราบโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ขณะมีการจัดกิจกรรม “19กันยาทวงคืนอํานาจราษฎร” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กล่าวหา ได้ทราบเหตุจากเจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวนว่า เมื่อเวลา 19.00 น. มีบุคคลนําสติกเกอร์คําว่า “กูkult” ไปติดบริเวณพระพักตร์ตรงพระเนตรทั้งสองข้างของพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ที่ตั้งไว้ที่บริเวณประตูทางเข้าของศาลฎีกา จากการสืบสวนเชื่อว่านรินทร์เป็นผู้นำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติด จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับนรินทร์ตามกฎหมาย

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นรินทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัว โดยไม่ได้ควบคุมตัวไว้

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24341)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นรินทร์ (สงวนนามสกุล)
    นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเมื่อเดือนกันยายน 2563 ในคดีแรก นรินทร์เปิดเผยว่า มักมีบุคคลนิรนามมาสังเกตการณ์อยู่บริเวณบ้านของเขาอยู่หลายครั้ง มีการบันทึกภาพและวีดิโอบริเวณบ้าน ทั้งยังมีเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลภายนอกติดต่อมาหาเขาอยู่บ่อยครั้ง โดยไม่ทราบแน่ชัดถึงวัตถุประสงค์ของบุคคลเหล่านั้น สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับเขาและครอบครัว

    (อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/30640)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์