ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
- หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ. 717/2564
ผู้กล่าวหา
- พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผกก.สน.ชนะสงคราม (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
- หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
หมายเลขคดี
ดำ อ. 717/2564
ผู้กล่าวหา
- พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผกก.สน.ชนะสงคราม
ความสำคัญของคดี
นรินทร์ (สงวนนามสกุล) ติวเตอร์วัย 31 ปี ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูปของรัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่สนามหลวง และถูกดำเนินคดีข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุดังกล่าว นรินทร์ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ในชั้นสอบสวนนรินทร์ไม่ได้ถูกควบคุมตัว และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยวางเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโดเป็นหลักประกัน
คดีนี้เป็นอีกกรณีที่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมตีความและบังคับใช้มาตรา 112 ไปอย่างกว้างขวาง จนกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศให้การรับรอง
คดีนี้เป็นอีกกรณีที่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมตีความและบังคับใช้มาตรา 112 ไปอย่างกว้างขวาง จนกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศให้การรับรอง
พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี
ธีรารัตน์ บุตรโพธิ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 บรรยายคำฟ้องระบุว่า
ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 2 และมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ตามลำดับ
ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลากลางคืน จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการนําสติกเกอร์ มีอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คําว่า “กูkult” ไปติดไว้ที่บริเวณพระพักตร์ตรงพระเนตรทั้งสองข้างของพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อันเป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 717/2564 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2564)
ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 2 และมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ตามลำดับ
ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลากลางคืน จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการนําสติกเกอร์ มีอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คําว่า “กูkult” ไปติดไว้ที่บริเวณพระพักตร์ตรงพระเนตรทั้งสองข้างของพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อันเป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 717/2564 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2564)
ความคืบหน้าของคดี
-
วันที่: 22-12-2020นัด: แจ้งข้อกล่าวหาเวลา 13.00 น. ที่ สน.ชนะสงคราม นรินทร์เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ตามหมายเรียกผู้ต้องหา จากเหตุที่ถูกกล่าวหาว่า ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูปภาพของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ในระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อ 19 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง โดยวันนี้มีกลุ่ม #FreeArts พร้อมประชาชนมาให้กำลังใจที่หน้า สน.
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นรินทร์เคยถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมที่บ้านพักตามหมายจับในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ซึ่งได้เผยแพร่ข้อความเสียดสีสถาบันกษัตริย์จำนวน 3 โพสต์ โดยเขาถูกควบคุมตัวระหว่างการสอบสวนอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง และกองบังคับปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นเวลา 2 วัน ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 100,000 บาท เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563
สำหรับคดีติดสติกเกอร์นี้ พ.ต.ท.โชคอํานวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม แจ้งพฤติการณ์ให้นรินทร์ทราบโดยสรุปว่า
พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กล่าวหา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตํารวจทุกฝ่ายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้ออกเดินทางไปสังเกตการณ์ สืบสวนหาข่าวเรื่อยมา และพบกลุ่มมวลชนรวมตัวกันจัดกิจกรรมที่ใช้ชื่อเรียกว่า “19กันยาทวงคืนอํานาจราษฎร” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง
ในวันเดียวกัน เวลา 19.00 น. ทราบเหตุจากเจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวนว่า มีบุคคลนําสติกเกอร์มีอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คําว่า “กูkult” ไปติดบริเวณพระพักตร์ตรงพระเนตรทั้งสองข้างของพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ที่ตั้งไว้ที่บริเวณประตูทางเข้าของศาลฎีกา จึงออกทําการสืบสวนติดตามหาตัวบุคคลที่นําสติกเกอร์ดังกล่าวไปติด
จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เชื่อว่านรินทร์เป็นผู้นำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติด ผู้กล่าวหาจึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับนรินทร์ตามกฎหมาย
พนักงานสอบสวนเห็นว่า การกระทำของนรินทร์ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำมิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน หรือกระทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์
ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นรินทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นหนังสือและยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง โดยปฏิเสธลงลายมือชื่อในท้ายบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกประจำวัน จากนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ โดยจะนัดวันส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการอีกครั้ง
(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24341) -
วันที่: 22-01-2021นัด: ส่งตัวให้อัยการนรินทร์เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามที่มีหมายเรียกนัดส่งตัวให้อัยการในวันนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 รับสำนวนสอบสวนและตัวผู้ต้องหาไว้และกำหนดวันนัดฟังคำสั่งอัยการวันที่ 2 ก.พ. 2564 เวลา 10.00 น.
-
วันที่: 02-02-2021นัด: ฟังคำสั่งอัยการอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งออกไปเป็นวันที่ 4 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น. เนื่องจากต้องส่งสำนวนคดีให้แก่อัยการสูงสุดพิจารณา
-
วันที่: 04-03-2021นัด: ฟังคำสั่งอัยการอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งออกไปเป็นวันที่ 25 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
-
วันที่: 25-03-2021นัด: ฟังคำสั่งอัยการ (ฟ้อง)เวลา 10.00 น. ธีรารัตน์ บุตรโพธิ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 นำตัวนรินทร์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา รัชดา ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังนรินทร์เข้าฟังคำสั่งอัยการตามนัด และอัยการมีคำสั่งฟ้อง
หลังศาลรับฟ้อง และตำรวจศาลนำตัวนรินทร์ไปควบคุมตัวที่ห้องเวรชี้ ทนายจำเลยพร้อมครอบครัวได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด เป็นหลักประกัน และมีพี่ชายของนรินทร์เป็นนายประกัน
คำฟ้องของอัยการระบุว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 จําเลยได้หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ด้วยการนําสติกเกอร์คำว่า “กูkult” ไปติดไว้ที่บริเวณพระพักตร์ตรงพระเนตรทั้งสองข้างของพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 อันเป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
พนักงานอัยการได้คัดค้านการให้ประกันตัว โดยอ้างว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”
ต่อมา เวลา 15.00 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนรินทร์ระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้วงเงิน 100,000 บาท เป็นหลักประกัน ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วไม่มีข้อเท็จจริงอันควรสงสัยว่าจำเลยจะหลบหนีหรือก่อเหตุร้ายอื่น นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 3 พ.ค. 2564
คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่อัยการยื่นฟ้องนรินทร์ในข้อหามาตรา 112 หลังเขาถูกดำเนินคดีที่สืบเนื่องกับเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” รวม 3 คดี เป็นคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 1 คดี โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กูkult” โพสต์ข้อความเสียดสีอดีตกษัตริย์จำนวน 3 โพสต์ ในปี 2562 ล่าสุดเป็นคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งนรินทร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กูkult” โพสต์ข้อความและรูปตัดต่อที่มีลักษณะต่อต้านสถาบันกษัตริย์ 12 โพสต์ ในปี 2563 เพิ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 717/2564 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27505) -
วันที่: 03-05-2021นัด: สอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้ว นรินทร์ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ตามคําให้การที่ยื่นต่อศาลฉบับลงวันที่วันนี้
อัยการแถลงขอส่งพยานเอกสารรวม 24 ฉบับ มีพยานบุคคลที่จะสืบ รวม 17 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา ตำรวจที่สืบสวนหาข่าว 6 ปาก พยานที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับความผิดคดีนี้ 6 ปาก เจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบเฟซบุ๊ก 2 ปาก และพนักงานสอบสวนคดีนี้ 2 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 4 นัด ด้านจําเลยแถลงประสงค์สืบพยานรวม 4 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 1 นัดครึ่ง
นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 22-25 ก.พ. 2565 และสืบพยานจำเลยวันที่ 1-2 มี.ค. 2565
(อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.717/2564 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2564) -
วันที่: 22-02-2022นัด: สืบพยานโจทก์นัดสืบพยานโจทก์วันแรก โจทก์นำพยานเข้าเบิกความได้ 4 ปาก ระหว่างสืบพยาน โจทก์อ้างส่งวัตถุพยาน 1 ชิ้น ทนายจําเลยแถลงคัดค้าน เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นํามาให้ฝ่ายจําเลยตรวจในชั้นตรวจพยานหลักฐาน
ประเด็นในการต่อสู้คดีนี้ นอกจากนรินทร์จะต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้ติดสติกเกอร์ตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประเด็นคือการตีความตัวบทกฎหมายว่า การกระทำดังกล่าวสามารถตีความว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 ได้หรือไม่ หากศาลตีความว่าเป็นความผิดแล้ว จะส่งผลให้ในอนาคตกฎหมายข้อนี้จะถูกนำไปบังคับใช้อย่างกว้างขวาง การกระทำต่อรูปภาพกษัตริย์ในลักษณะเดียวกันก็อาจถูกตัดสินว่าผิดตามมาตรา 112 ได้ อาทิ การขีดเขียนข้อความลงบนธนบัตรที่มีภาพกษัตริย์ การขีดเขียนข้อความลงบนปฏิทินที่มีภาพกษัตริย์ ฯลฯ
++พยานโจทก์ปากที่ 1: พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร++
พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กล่าวหาในคดีนี้เบิกความว่า เมื่อปี 2563 รับราชการในตำแหน่ง ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม มีหน้าที่ทำคดีอาญา
ในวันที่ 9 ก.ย. 2563 ทราบข่าวว่าจะมีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดูแลของ สน.ชนะสงคราม พยานจึงได้สั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาจัดตั้งทีมเพื่อเฝ้าติดตามการชุมนุม โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายตัวรอบพื้นที่ชุมนุมและเริ่มปฏิบัติการระหว่างมีการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 19-20 ก.ย. 2563 จนกระทั่งการชุมนุมยุติลง
ในวันและเวลาเกิดเหตุ วันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลา 19.00 น. พยานติดตามดูภาพบรรยากาศการชุมนุมผ่านไลฟ์เฟซบุ๊ก และเห็นว่าภาพ ร.10 ที่ติดตั้งอยู่บริเวณประตูที่ 1 ของศาลฎีกาถูกสติกเกอร์คำว่า “กูkult” แปะคาดอยู่ที่บริเวณดวงตา ร.10 ทั้งสองข้าง พยานจึงได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาลงพื้นที่ไปเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อตามหาตัวผู้ก่อเหตุ ได้แก่ ภาพกล้องวงจรปิด และสอบถามพยานในที่เกิดเหตุ
พยานเบิกความต่ออีกว่า ต่อมาในวันที่ 20 ก.ย. 2563 พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ (พยานโจทก์ปากที่ 2) ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ในตำแหน่งสารวัตรสืบสวน ที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งกับพยานว่าได้พูดคุยกับผู้ก่อเหตุติดสติกเกอร์ดังกล่าว ชื่อว่า “นรินทร์” ที่ทราบเพราะว่านรินทร์ได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับตนว่าถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ จำนวน 4-5 คน ติดตามและพยายามอุ้มหายระหว่างอยู่ในการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 ซึ่งนรินทร์คาดว่ากลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวน่าจะเป็นตำรวจ โดยนรินทร์เป็นผู้ให้การด้วยตัวเองถึงสาเหตุของการถูกติดตามครั้งนั้นว่า น่าจะเกิดมาจากการที่ตนไปติดสติกเกอร์ “กูkult” ลงบนรูป ร.10 ที่หน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 หลังทราบข้อมูลดังกล่าว พ.ต.ท.นพโรจน์ จึงได้มาแจ้งให้พยานรับทราบ
พยานเบิกความต่อว่า พยานสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งนำโดย พ.ต.ท.นพโรจน์ ทำการสืบสวนและติดตามผู้กระทำผิด โดยตรวจสอบจากภาพกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บริเวณแนวทางเดินหน้าศาลฎีกา หลังตรวจสอบพบภาพผู้ก่อเหตุมีลักษณะการแต่งกาย สวมเสื้อสีขาว ใส่กางเกงขายาวสีอ่อน สวมหมวกมีปีกรอบสีอ่อน ส่วนลักษณะอื่นๆ จำไม่ได้
อัยการได้นำเอกสารซึ่งมีข้อความที่นรินทร์เขียนและเซ็นลงชื่อยอมรับไว้ให้พยานดู พยานเบิกความว่า เอกสารนี้ทำโดย พ.ต.ท.นพโรจน์ เรียกว่า “รายงานชุดสืบสวน” อัยการยังนำภาพรูป ร.10 มีสติกเกอร์แปะอยู่ที่ดวงตา และภาพจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุมาถามพยาน พร้อมกับอ้างส่งต่อศาล
ด้านทนายจำเลยพยายามคัดค้าน เนื่องจากคดีนี้ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานไปแล้ว แต่วันนี้ฝ่ายโจทก์กลับนำพยานหลักฐานชุดใหม่เข้าเบิกความและยื่นต่อศาล ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสได้ดูและเสียโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่กระนั้นศาลก็ได้รับไว้พร้อมบอกว่า “มีเหตุผลหรือไม่ไว้ค่อยว่ากัน”
>>ทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยได้ถามค้านถึงที่อยู่ของพยานในวันและเวลาเกิดเหตุ รวมถึงถามว่า ทำไมจึงต้องรอเวลานานถึง 3 เดือนจากวันที่เกิดเหตุแล้วถึงได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับนรินทร์
พยานยังไม่ทันเบิกความ ศาลก็ชิงพูดขึ้นว่า “พยานอาจจะไม่รู้ ต้องรอถามพยานอีกปากหนึ่ง” เมื่อทนายจำเลยถามต่อโดยให้พยานดูรูปภาพสัญลักษณ์ “กูKult” แล้วถามว่ารู้จักไหม พยานตอบว่า “ไม่” แต่ศาลก็ไม่ได้บันทึกเพราะมองว่าไม่มีประโยชน์ต่อการสืบพยานคดีนี้
ทนายจำเลยจะถามต่อว่า พยานทราบรายละเอียดเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุหรือไม่ แต่ศาลก็ท้วงว่า “ให้รอถามพยานอีกปากหนึ่ง เพราะพยานคนนี้เป็นผู้ที่ได้รับแจ้งมาอีกต่อหนึ่ง” ทนายจำเลยถามอีกว่า “พยานทราบไหมว่าศาลอื่นตัดสินว่าการกระทำเช่นเดียวกับนรินทร์ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้เสียทรัพย์ ไม่ใช่การกระทำผิดตามมาตรา 112” ศาลก็ตำหนิว่า “ไม่ต้องเอาความเห็นจากศาลอื่นมา” โดยพยานได้ตอบว่า “ได้ศึกษาจากสำนวนคดีอื่นๆ แล้ว ขณะที่เขียนสำนวนฟ้องคดีนี้”
ทนายจำเลยพยายามพูดให้ศาลฟังว่า การกระทำตามที่โจทก์ฟ้องเข้าข่ายทำให้ทรัพย์สินเสียหายเท่านั้น แต่ศาลตอบกลับว่า “คดีนี้ฟ้องด้วยข้อหา 112 ไม่ใช่ทรัพย์สินเสียหาย” พร้อมกับมีคำสั่งให้ทนายจำเลยสืบพยานโดยเน้นข้อเท็จจริง ทนายจำเลยจึงถาม พ.ต.อ.วรศักดิ์ ต่อว่า “สติกเกอร์ถูกติดอยู่บนรูป ร.10 นานไหม” ซึ่งศาลก็ตำหนิอีกว่า คำถามนี้ไม่สำคัญและไม่บันทึกให้ เพราะศาลมองว่าการหมิ่นคือการหมิ่น จะนานกี่นาทีก็คือการหมิ่น ทำให้บรรยากาศภายในห้องพิจารณาเริ่มตึงเครียดมากขึ้น
ทนายจำเลยถามว่า “เมื่อนรินทร์ไปแจ้งความว่ามีคนติดตาม พยานได้สืบสวนต่อหรือไม่” ศาลได้บอกกับพยานว่า “ไม่ต้องอธิบาย”
ทนายจำเลยถามว่า “มีข้อกฎหมายบังคับเรื่องการปฏิบัติต่อรูปกษัตริย์หรือไม่” ศาลก็ตำหนิว่า “สิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริงที่รู้ได้โดยทั่วไปว่า ไม่มี ไม่ต้องถาม”
ทนายจำเลยพยายามถามอีก แต่ศาลก็แย้งว่า ที่ทนายจำเลยถามค้านพยานปากนี้เป็นการเสียเวลา เพราะปากนี้เป็นผู้ที่ฟังคำบอกเล่ามา ไม่มีน้ำหนัก เพราะหลายอย่างศาลเห็นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องถามเพื่อให้ศาลบันทึก ก่อนถามทนายจำเลยว่า “ไม่เชื่อว่าศาลอ่านเอกสารหรืออย่างไร แล้วทนายเชื่อว่าการที่ทนายถามเพื่อให้พยานยืนยันเช่นนี้แล้วศาลจะเชื่อหรือ” ทั้งนี้ศาลยืนยันว่าตนเองทำงานอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกำชับว่าพยานปากนี้ไม่ใช่พยานปากเอกให้ทนายจำเลยกระชับหน่อย
++พยานโจทก์ปากที่ 2: พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์++
พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่เป็นสารวัตรสืบสวน สน.ดินแดง พยานเบิกความว่า เมื่อปี 2563 ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่เป็นสารวัตรสืบสวน สน.ชนะสงคราม มีหน้าที่แสวงหาตัวผู้ต้องหาในคดีอาญา
ในวันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 พยานได้ไปหาข่าวในที่ชุมนุม เพราะมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าชุดสืบสวนหาข่าว โดยได้ทำการแฝงตัวเข้าไปปะปนกับผู้ชุมนุมตั้งแต่การชุมนุมเริ่มขึ้นจนกระทั่งยุติ ต่อมาในวันเดียวกัน เวลา 19.00 น. พยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่ามีผู้ก่อเหตุนำสติกเกอร์ไปติดที่ดวงตาของรูป ร.10 ที่ตั้งอยู่ที่ประตูที่ 1 ของศาลฎีกา เมื่อได้รับแจ้งแล้วพยานก็รีบทำการหาสืบสวนข่าวทันที
พ.ต.ท.นพโรจน์ เบิกความต่อว่า ร.ต.ต.นคร คงกลิ่น ซึ่งเป็นสายตรวจประจำอยู่ในบริเวณเกิดเหตุรายงานว่า มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ไม่สามารถถ่ายภาพผู้ก่อเหตุไว้ได้ แต่หลังเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมรายหนึ่งขึ้นไปแกะสติกเกอร์ดังกล่าวออก ซึ่ง ร.ต.ต.นคร ถ่ายภาพไว้ได้ ทราบว่าคนนั้นมีชื่อว่า ฉัตรมงคล วัลลี เป็นการ์ดของผู้ชุมนุมและสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
พยานเบิกความต่อว่า ได้สั่งการให้หาข่าวด้วยวิธีการสอบถาม และตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่อยู่บริเวณหน้าประตู 1 ของศาลฎีกา โดยตรวจสอบตั้งแต่ในวันที่เกิดเหตุ เพราะกล้องวงจรปิดของ กทม. เชื่อมต่อโดยตรงมายังห้องสืบสวนของ สน.ชนะสงคราม หลังตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า ในวันเกิดเหตุผู้กระทำความผิดแต่งกายด้วยเสื้อสีขาว กางเกงสีอ่อน
ศาลถามพยานว่า เหตุที่มีคนติดตามนรินทร์เกิดขึ้นที่ใดและอย่างไร พยานตอบว่า นรินทร์เดินทางไปเเจ้งความเรื่องถูกกลุ่มบุคคลคล้ายตำรวจติดตามระหว่างการชุมนุม โดยนรินทร์ได้รับว่า ตนเองเป็นผู้ติดสติกเกอร์ “กูkult” ที่รูป ร.10 ซึ่งพยานเป็นคนพิมพ์บันทึกที่นรินทร์ลงนามยอมรับ และนรินทร์ให้การเพิ่มเติมว่าสาเหตุที่ติดสติกเกอร์ เพราะมีความรู้สึกร่วมกับกิจกรรมและเป็นความคึกคะนองในขณะนั้น
>>ทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยพยายามถามค้านพยานโจทก์ปากนี้อยู่หลายคำถาม เช่น รายงานการสืบสวนไม่มีลายเซ็นของ พ.ต.ท.นพโรจน์ อีกทั้งไม่มีวันที่จัดทำ ไม่ตรงตามแบบฟอร์มที่ควรจะเป็นของเอกสารรายงานการสืบสวน อีกทั้งไม่มีตราหน่วยงานต้นสังกัด โดยพยานตอบว่า ข้อมูลดังกล่าวที่ทนายจำเลยถามนั้นจะเห็นได้เมื่อย้อนกลับไปดูเอกสารต้นฉบับ ส่วนที่ทนายจำเลยยกมาถามเป็นเพียงรายงานการสืบสวนที่ใช้รายงานผู้บังคับบัญชาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ศาลไม่บันทึกคำเบิกความของ พ.ต.ท.นพโรจน์ ที่ตอบทนายจำเลยและตำหนิทนายจำเลยว่า “เป็นการถามที่ไม่ตรงประเด็น” ก่อนย้ำให้ทนายจำเลยถามแต่ข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุ ไม่ให้ถามความเห็นพยาน
ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ สติกเกอร์ยังมีอยู่หรือไม่ พยานตอบว่า ให้ไปถามฉัตรมงคล วัลลี ซึ่งเป็นคนที่ดึงสติกเกอร์ออก เพราะเมื่อไปถึงตำรวจไม่พบสติกเกอร์ติดอยู่แล้ว
ทนายจำเลยถามอีกว่า มีการตรวจ DNA ในที่เกิดเหตุไหม พยานตอบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของตนเองที่เป็นพนักงานสืบสวน ทนายจำเลยถามต่อว่า แล้วหลังเกิดเหตุ หน่วยงานอื่นๆ ปฏิบัติการเพื่อสืบสวนหาตัวผู้ก่อเหตุอย่างไรบ้าง ซึ่งพยานตอบว่า “ไม่ทราบเพราะทุกฝ่ายต่างปกปิดฐานะกัน” จากนั้นทนายจำเลยก็พยายามถามเรื่องแนวทางการปฏิบัติตนต่อปฏิทินที่มีรูปกษัตริย์และราชวงศ์ ซึ่งศาลตำหนิว่า “เป็นคนละเรื่องกัน ในทัศนะของศาลมองว่า ปฏิทินที่มีรูปกษัตริย์ไม่เท่ากับพระบรมสาทิสลักษณ์”
ทนายจำเลยพยายามถามพยานต่อในเรื่องดังกล่าวว่า พยานดำเนินการอย่างไรกับปฏิทินที่เป็นรูปกษัตริย์หรือราชวงศ์ เช่น มีการแสดงความเคารพหรือนำไปทิ้งหรือไม่เมื่อขึ้นปีใหม่ แต่ศาลก็ท้วงขึ้นว่า ให้เลิกถามอะไรที่ไม่เข้าประเด็น
ทนายจำเลยจึงถาม พ.ต.ท.นพโรจน์ ว่า ในวันที่เกิดเหตุ พยานมีการสอบถามคนอื่นๆ ในที่เกิดเหตุบ้างหรือไม่ มีการตรวจหาของกลางจากตัวนรินทร์ไหม พยานตอบว่า ไม่ ทนายจำเลยถามอีกว่า การติดสติกเกอร์ถือเป็นการผิด พ.ร.บ. ความสะอาดฯ ใช่ไหม ศาลก็ตำหนิอีกว่าเป็นคำถามที่ไม่ตรงประเด็น ทนายจำเลยจึงแย้งว่า ไม่ว่าจะถามอะไรศาลก็ไม่บันทึกให้ ศาลกล่าวว่า ให้ทนายจำเลยสืบเอาข้อเท็จจริงไม่ใช่ข้อคิดเห็น แม้ทนายจำเลยจะบอกว่าสิ่งที่ถามก็เพื่อไปสู่ข้อเท็จจริง แต่ศาลก็ไม่รับฟังพร้อมกับกล่าวว่าจะยุติการสืบพยาน
ทนายจำเลยจึงถามพยานถึงความเสียหายของรูป ร.10 ซึ่งศาลก็ท้วงว่ามีรายงานอยู่ในคำฟ้องแล้ว และบอกให้ทนายจำเลยยุติการถามค้านพยานโจทก์ปากนี้
++พยานโจทก์ปากที่ 3: พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี++
พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุในปี 2563 ตนปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ในกองกำกับการสืบสวนสอบสวน ทำคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและการเคลื่อนไหวทางการเมือง
วันเกิดเหตุ พยานได้เดินทางไปหาข่าวที่บริเวณจุดเกิดเหตุ เมื่อไปถึงพบเจอกับผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ที่บริเวณหน้าประตู 1 ของศาลฎีกา แต่เมื่อไปถึงสติกเกอร์ที่ได้รับแจ้งว่าถูกติดคาดตาที่รูปของ ร.10 ได้หลุดออกไปแล้ว พยานจึงได้สั่งให้ศูนย์ควบคุมสั่งการ (CCOC) ตรวจสอบย้อนหลังจากภาพกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ
พยานเบิกความถึงเรื่องเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ว่ามีการโพสต์ข้อความและภาพตัดต่อเพื่อด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และบอกว่านรินทร์ จำเลยในคดีนี้คือแอดมินของเพจ “กูkult”
>>ทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยพยายามถามว่า “พยานเห็นด้วยไหมกับการปฏิรูปสถาบันจะเท่ากับการทำให้สถาบันกษัตริย์ดีขึ้น” แต่ถูกศาลตำหนิและบอกให้ถามใหม่ในประเด็นอื่น แต่ทนายจำเลยหมดคำถาม และอัยการก็ไม่ถามติง
++พยานโจทก์ปากที่ 4: พ.ต.ต.ครรชิต สีหะรอด++
พ.ต.ต.ครรชิต สีหะรอด กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 เป็นผู้ร่วมสืบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า ตนเองมีหน้าที่สืบสวนผู้กระทำความผิดต่อสถาบันกษัตริย์ และเป็นผู้ทราบว่าเมื่อปี 2562 นรินทร์เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อด้อยค่าสถาบันกษัตริย์
พยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานยืนอยู่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา และได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่ามีเหตุการณ์ผู้นำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติดที่รูป ร.10 ที่ติดตั้งอยู่ที่ประตู 1 ของศาลฎีกา พยานจึงประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลให้ติดต่อไปที่ศูนย์ควบคุมสั่งการ (CCOC) เพื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่เกิดเหตุ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องได้ส่งคลิปวิดีโอเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดที่จับภาพผู้ก่อเหตุติดสติกเกอร์ดังกล่าวเข้าไปในกลุ่มไลน์ (Line) ของตำรวจนครบาล
พยานยังได้เบิกความเรื่องภาพถ่ายของนรินทร์ขณะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4-5 นาย ติดตามระหว่างการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายไว้ได้โดย ด.ต.สกุล บุญแต่ง เนื่องจากขณะนั้น ด.ต.สกุลก็ได้ติดตามนรินทร์อยู่เช่นกัน แต่เมื่อเห็นว่ามีผู้อื่นติดตามอยู่ด้วยจึงได้ถอยออกมา และได้ถ่ายภาพตามที่ได้นำส่งศาลเป็นพยานเอกสาร โดยภาพที่ถ่ายได้นั้นเป็นภาพขณะที่นรินทร์กำลังเดินอยู่บนถนนตะนาวมุ่งหน้าไปทางถนนข้าวสาร
>>ทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยนำพยานเอกสารของโจทก์มาสอบถาม พ.ต.ต.ครรชิต ว่า เป็นโพสต์จากเพจ “กูkult” ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่ศาลไม่บันทึก ทนายจำเลยถามต่อว่า ปอท. จัดทำเอกสารมาว่าจากการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” พบว่าไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กส่วนตัวของนรินทร์เลย แต่ศาลก็ไม่บันทึกอีก ระบุว่าไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นเรื่องนอกฟ้อง
ทนายจำเลยจึงถามอีกว่า คดีอื่นๆ ของนรินทร์ที่เกี่ยวข้องกับ “กูkult” พนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาล และพยานเองก็ไม่เคยถูกเชิญไปเป็นพยานใช่หรือไม่ ประเด็นนี้ศาลก็ไม่บันทึก โดยบอกว่าไม่เกี่ยวกับเจตนาหรือสิ่งที่จะบอกว่านรินทร์ไม่ได้เป็นคนติดสติกเกอร์ ทนายจำเลยจึงถามถึงเหตุผลว่า ทำไมพยานจึงระบุในรายงานการสืบสวนว่า นรินทร์เป็นแอดมินเพจ “กูkult” แต่พยานตอบไม่ได้ ทนายจำเลยจึงถามอีกว่า ในเอกสารของกองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 ก็ไม่ได้ระบุว่านรินทร์คือ แอดมินเพจ “กูkult”
>>อัยการถามติง
อัยการถาม พ.ต.ต.ครรชิต ว่า ตามรายงานการสืบสวนระบุว่า นรินทร์มีเฟซบุ๊กหลายอัน และหนึ่งในนั้นคือ เพจ กูkult ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
หลังเสร็จการสืบพยานในวันนี้ ศาลแสดงความไม่เห็นด้วยที่ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยจะนำพยานซึ่งเป็นนักวิชาการเข้าเบิกความด้วย โดยศาลได้นำประเด็นนี้ไปปรึกษากับผู้บริหารศาล ก่อนมีคำสั่งให้ตัดพยานที่เป็นนักวิชาการออกทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากพยานดังกล่าวจะให้ความเห็นเกี่ยวกับความหมายของคําว่า “กูKult” ซึ่งไม่ใช่ประเด็นแห่งคดี และความเห็นของนักวิชาการเป็นเพียงความเห็นของบุคคลหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จึงมิใช่พยานที่จําเป็นต่อการวินิจฉัยคดี
แม้ทนายจำเลยได้คัดค้านว่า ขอให้ศาลรับฟังก่อน เพราะคดีนี้เป็นเรื่องของศิลปะ และอยู่ในความสนใจของสังคมทั้งในและนอกประเทศ แต่ศาลก็แย้งว่าให้ดูเฉพาะประเทศเรา อย่าเอาไปเทียบกัน และยืนยันหนักแน่นว่าไม่ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานนักวิชาการเข้าเบิกความ นอกจากนี้ ศาลยังพูดอีกด้วยว่าตลอดกระบวนทำงานของศาลมีผู้เฝ้าติดตามดูอยู่ตลอดเวลา
(อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 717/2564 ลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40940)
-
วันที่: 23-02-2022นัด: สืบพยานโจทก์++พยานโจทก์ปากที่ 5: พ.ต.ต.สมพงษ์ เกตุระติ++
พ.ต.ต.สมพงษ์ เกตุระติ สารวัตรกองกำกับการข่าว เบิกความว่า รับราชการที่กองวิเคราะห์ข่าวมาตั้งแต่ปี 2562 เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลา 22.00 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่กองกำกับการข่าว มีหน้าที่สืบสวนและทำตามคำสั่งของผู้บัญชาการ ได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาตัวนรินทร์ ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูป ร.10 หน้าศาลฎีกา
โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 เวลา 08.00 น. พยานได้รับข้อมูลว่านรินทร์อยู่ในการชุมนุมที่สนามหลวง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ไปตามหาตัวแล้วไม่พบแต่อย่างใด ต่อมาเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ออกตามหาตัวนรินทร์ในการชุมนุมอีกครั้ง ขณะกำลังกระจายกำลังค้นหาอยู่ที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบกับชายที่มีลักษณะรูปร่างและการแต่งกายคล้ายนรินทร์ตามที่ได้รับแจ้ง โดยขณะนั้นชายคนดังกล่าวกำลังยืนรอไฟจราจรเพื่อข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นหอสมุดกรุงเทพฯ
ต่อมาชายคนดังกล่าวเดินข้ามไปฝั่งหอสมุดกรุงเทพฯ และมุ่งหน้าไปถนนข้าวสาร ตำรวจจำนวน 4-5 นาย จึงได้เดินติดตามไปในระยะสายตา จากนั้นชายคนดังกล่าวได้หยุดซื้อขนมที่ร้านขายของแห่งหนึ่ง จากการสังเกตคาดว่าชายคนดังกล่าวน่าจะทราบแล้วว่ามีผู้เดินติดตามและพยายามหลบเลี่ยงจนหกล้มที่บริเวณร้านหนังสือใกล้กับร้านขายขนมที่หยุดซื้อก่อนหน้า
เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นดังนั้นจึงได้รีบเข้าไปแสดงตัวและแสดงบัตรประจำตัวให้ชายคนดังกล่าวทราบ ตำรวจยังได้สอบถามอีกว่า ได้รับบาดเจ็บหรือไม่และต้องการให้เรียกรถพยาบาลหรือไม่ แต่ชายคนกล่าวตอบปฏิเสธ จากนั้นตำรวจพยายามสอบถามตัวตนของชายคนดังกล่าว ก่อนชายต้องสงสัยยอมรับว่า ตนเองคือนรินทร์ จากนั้นมีเพื่อนของนรินทร์เดินมารับตัว ก่อนเดินกลับเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม
พยานจึงได้จัดทำรายงานการสืบสวนส่งผู้บังคับบัญชา โดยมีภาพนรินทร์ขณะยืนรอไฟจราจรเพื่อข้ามฝั่งถนน และภาพนรินทร์ขณะล้มลงบริเวณหน้าร้านหนังสือ หลังจากนั้นพยานได้รับเอกสารทะเบียนราษฎรของนรินทร์จากกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล และได้รับทราบว่านรินทร์คือผู้ก่อเหตุปืนขึ้นซุ้มภาพ ร.10 ที่ด้านหน้าศาลฎีกาและทำการติดสติกเกอร์ “กูkult” ลงบนภาพ ร.10 ดังกล่าว โดยหลังจัดทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชาแล้วเสร็จ พยานก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในคดีนี้อีก
++พยานโจทก์ปากที่ 6: ร.ต.อ.(หญิง) ณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์++
ร.ต.อ.(หญิง) ณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. เบิกความว่า เมื่อปี 2563 พยานเคยทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่นรินทร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” และโพสต์ภาพและข้อความในลักษณะเสียดสีและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 รวม 4 โพสต์
พยานเบิกความว่า ในคดีดังกล่าว ปอท. ได้ติดตามสืบสวนหาตัวแอดมินของเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “กูkult” พบว่า ในช่วงเวลาขณะนั้นเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการเปิดขายสินค้าเป็นเสื้อยืด “กูkult” เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท.จึงได้ทำการสั่งซื้อสินค้าดังกล่าว และพบว่าบัญชีสำหรับรับเงินค่าสินค้าดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลย จากการตรวจสอบบัญชีดังกล่าวพบอีกว่า มีการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มที่ด้านหน้าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ย่านบางโพ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจสอบภาพวงจรปิดที่หน้าร้านสะดวกซื้อดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีลักษณะการแต่งกายและรูปพรรณสัณฐานตรงกับจำเลย
พยานจึงเบิกความสรุปว่าจากข้อมูลดังกล่าวในคดีที่ตนทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนจึงเชื่อได้ว่า นรินทร์เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กที่มีการโพสต์ภาพและข้อความในลักษณะโจมตีสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง
++พยานโจทก์ปากที่ 7: ร.ต.อ.จิรวัชรากร พุ่มอ่ำ++
ร.ต.อ.จิรวัชรากร พุ่มอ่ำ รอง สว.สส.สน.บางบอน เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานทำหน้าที่อยู่ในฝ่ายสืบสวนประจำจุดในการชุมนุมที่สนามหลวง โดยปฏิบัติการประจำจุดอยู่ที่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา ขณะเกิดเหตุมีผู้นำสติกเกอร์ขึ้นไปติดที่รูป ร.10 พยานไม่ได้เห็นตัวผู้ก่อเหตุแต่อย่างใด แต่ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าว มีผู้ชุมนุมในบริเวณนั้นเข้ามามุงดู พร้อมกับพูดในทำนองว่า “ใครเป็นคนทำ” จากนั้นไม่นานมีการ์ดผู้ชุมนุม 2 คน เดินเข้ามาพูดกับกลุ่มผู้ชุมนุมในบริเวณนั้นว่า ให้แยกย้าย ก่อนการ์ดผู้ชุมนุมรายหนึ่งจะปืนขึ้นแท่นรูป ร.10 และดึงสติกเกอร์ “กูkult” ที่ติดอยู่บนรูป ร.10 ออก
++พยานโจทก์ปากที่ 8: ร.ต.ต.นคร คงกลิ่น++
ร.ต.ต.นคร คงกลิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ชนะสงคราม เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 นรินทร์ จำเลยในคดีนี้ได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์กับ พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ พนักงานสอบสวนที่ สน.ชนะสงคราม เนื่องจากถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ติดตามและคุกคามระหว่างชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง ตลอดกระบวนการที่นรินทร์ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน พยานนั่งอยู่ในห้องเดียวกันนั้นด้วย โดยนรินทร์ให้การว่า สาเหตุที่ถูกชายฉกรรณ์คล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามคุกคามระหว่างชุมนุม น่าจะเกิดมาจากการที่นรินทร์ไปติดสติกเกอร์ลงบนรูป ร.10 และนรินทร์ได้ลงลายมือชื่อรับรองคำให้การดังกล่าวด้วย
พยานยังเบิกความว่า เป็นผู้ทำพยานเอกสารรวม 3 แผ่น ซึ่งเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดขณะมีผู้นำสติกเกอร์ไปติดลงบนภาพของ ร.10 ที่ติดตั้งด้านหน้าศาลฎีกา โดยเอกสารทั้ง 3 แผ่นนั้น นรินทร์ได้ลงลายมือชื่อรับรองว่า เป็นบุคคลในภาพที่ติดสติกเกอร์โลโก้ “กูkult” บนพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 ด้านหน้าศาลฎีกา เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลา 19.00 น.
ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายของการสืบพยานวันที่ 2 นี้ ศาลได้สั่งห้ามจดบันทึกรายละเอียดภายในห้องพิจารณาคดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นผู้ที่เข้าสังเกตการณ์คดีสามารถจดบันทึกได้ตามปกติ โดยไม่ถูกห้ามปรามแต่อย่างใด
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40940) -
วันที่: 24-02-2022นัด: สืบพยานโจทก์++พยานโจทก์ปากที่ 9: พ.ต.ต.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล++
พ.ต.ต.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล พนักงานสอบสวน บก.ปอท. เข้าเบิกความในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการกระทำความผิดและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เบิกความว่า พยานมีหน้าที่ตรวจสอบความเชื่อมโยงของบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของนรินทร์กับเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” โดยผลการตรวจสอบพบว่า บัญชีเฟซบุ๊กทั้งสองดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัวของนรินทร์ก็ไม่ได้พบว่านรินทร์ได้เดินทางไปร่วมการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุในคดีนี้
++พยานโจทก์ปากที่ 10: พ.ต.อ. นิตย์ น้อยนา++
พ.ต.อ.นิตย์ น้อยนา เข้าเบิกความในฐานะพนักงานสอบสวนร่วมในคดีนี้ โดยได้ทำการสอบสวนเพื่อขอความเห็นในฐานะประชาชนจาก พรพัฒน์ ชุนชฎาธาร นักข่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แต่ศาลได้กล่าวว่า พยานปากนี้ไม่มีน้ำหนักและไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดี เนื่องจากพรพัฒน์นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคดีหรือมีความรู้เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างถ่องแท้ โดยศาลแนะนำว่าหากอัยการโจทก์จะนำพยานในลักษณะนี้เข้าเบิกความ พยานควรไปขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของไทยที่ทำงานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง มีความเกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ยกตัวอย่างเช่น ข้าหลวงสนองพระโอษฐ์ เป็นต้น
++พยานโจทก์ปากที่ 11: พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์++
พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ เข้าเบิกความในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า พยานเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ และมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ก่อนส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการ แต่พยานไม่รับรองรายงานการสืบสวนที่นรินทร์เซ็นรับว่าได้ติดสติกเกอร์ลงบนรูป ร.10 เนื่องจากพยานไม่ได้ร่วมรับรู้และเห็นขณะที่นรินทร์ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว
โจทก์แถลงหมดพยาน นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 1 มี.ค. 2565 ตามที่นัดไว้เดิม
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40940) -
วันที่: 01-03-2022นัด: สืบพยานจำเลยเดิมทนายจำเลยได้ยื่นบัญชีพยานจำเลยรวม 4 ปาก ได้แก่ จำเลยซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน, ผศ.ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.อิสระ ชูศรี อาจารย์สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
แต่เมื่อศาลมีคำสั่งให้ตัดพยานที่เป็นนักวิชาการออกทั้งหมด ทำให้เหลือพยานจำเลยที่จะเข้าเบิกความเพียง 1 ปาก คือ ตัวจำเลยที่อ้างตนเป็นพยาน
แต่ในภายหลังนรินทร์เห็นว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม จึงตัดสินใจไม่เข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเองในวันนี้ ทำให้คดีเสร็จการพิจารณา ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น. หรืออีก 3 วันหลังเสร็จการสืบพยาน
++นรินทร์ชวนจับตาคำพิพากษาคดี ชี้ไม่อยากให้มวลชนยึดที่ตัวบุคคล พร้อมตั้งคำถามศาลนัดตัดสินหลังสืบพยานเสร็จ 3 วัน เพราะร่างคำพิพากษาไว้ตั้งแต่ยังสืบพยานไม่เสร็จหรือไม่++
นอกจากคดีนี้แล้ว นรินทร์ยังเคยถูกดำเนินคดีจากการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “กูkult” แล้วรวมถึง 3 คดีด้วยกัน โดยอีก 2 คดี นรินทร์ถูก บก.ปอท.กล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ที่มีการโพสต์ภาพและข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์ โดย 1 ใน 2 คดีถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม ม.112 อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ทั้งสองคดีดังกล่าวพนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาลแต่อย่างใด
หลังการสืบพยานเสร็จสิ้นลง และศาลนัดฟังคำพิพากษาหลังจากนั้นเพียง 3 วัน นรินทร์ได้เปิดเผยความรู้สึกของตนเองว่า รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ตลอดกระบวนการสืบพยานตนรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นกลางของกระบวนการยุติธรรม และตั้งคำถามต่อการที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาในเวลาที่รวดเร็วเพียงนี้ว่า ศาลมีธงคำตัดสินในใจและร่างคำพิพากษารอไว้แล้วตั้งแต่การสืบพยานยังไม่จบลงหรือไม่
นรินทร์ยังได้กล่าวถึงคดีนี้ว่า รู้สึกไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมขบวนการเคลื่อนไหวด้วยกันเอง นรินทร์ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะ 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ อย่างแรกในช่วงนี้มีข่าวที่น่าสนใจกว่าคดีนี้อีกหลายอย่าง ข่าวการสูญเสียบุคคลในวงการบันเทิงหรือข่าวความขัดแย้งของคู่ประเทศในโลกตะวันตก และอย่างที่สองอาจเป็นไปได้ว่า เป็นเพราะเขาปกปิดตัวตนและไม่เคยเปิดเผยเรื่องส่วนตัวกับแหล่งข่าวที่ใดเลยหรือไม่ จึงทำให้คนไม่สนใจคดีนี้เท่าที่ควรจะเป็น โดยนรินทร์ได้เล่าถึงเหตุผลที่ปกปิดตัวตนว่า อยากให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นไปอย่างไม่ยึดติดกับตัวบุคคล
พร้อมกันนี้เขาได้เชิญชวนให้ทุกคนร่วมติดตามคำพิพากษาของศาลในวันที่ 4 มี.ค. 2565 นี้ และตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า เหตุใดคนส่วนใหญ่ถึงยินดีที่จะเสี่ยงกับการเล่น “หวย” หรือสิ่งที่มีความผันผวนสูงอย่าง “คริปโต” แต่กลับกันทำไมอีกหลายคนไม่ยินดีที่จะเสี่ยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ปล่อยให้คนแค่ไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่มออกมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ ทั้งๆ ที่ผลประโยชน์ที่ได้คือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเราทุกคนเอง
เมื่อถามถึงความกังวลต่อการนัดฟังคำพิพากษาในคดี นรินทร์เล่าว่า ตนเองก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีภาระหน้าที่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวและใช้หนี้ โดยตอนนี้ตนมีหนี้ กยศ.ก้อนใหญ่ที่ยังใช้ไม่หมดอยู่ ปัจจุบันทำงานรับจ้างอิสระ หากศาลพิพากษาลงโทษให้จำคุกจริง ก็คงต้องเสียเวลาชีวิตไปหลายปีโดยเปล่าประโยชน์ และเมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำคงต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ทั้งหมดเพียงลำพัง
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40940) -
วันที่: 04-03-2022นัด: ฟังคำพิพากษาเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 710 มีผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์การประมาณ 15 คน ในนี้มีพี่ชายของนรินทร์ รวมถึง “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และเบนจา อะปัญ นักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เดินทางเข้าร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจนรินทร์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ศาลไม่อนุญาตให้จดบันทึกคำพิพากษาเช่นเดียวกับการสืบพยานในคดีนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า เกรงว่าหากจดบันทึกไปแล้วจะได้ใจความไม่ครบถ้วน ให้รอคัดถ่ายเอกสารคำพิพากษาจากเจ้าหน้าที่เลยจะดีกว่า
เวลา 09.10 น. ไกษร ไชยวงษ์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี อ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ดังนี้ คดีนี้โจทก์นำสืบพยานเป็นตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อมาเวลา 19.00 น. ปรากฏภาพสติกเกอร์ “กูkult” ที่พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าประตู 1 ของศาลฎีกา โดยสติกเกอร์ติดที่บริเวณพระเนตร ตำรวจทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิด เห็นรูปพรรณสัณฐานการแต่งตัวของผู้ติดสติกเกอร์ทั้งสีของเสื้อและกางเกง และเห็นว่าบุคคลดังกล่าวสวมหมวกปีกไม่กว้างนักและสวมหน้ากากอนามัยสีชมพู เบื้องต้นตำรวจเชื่อว่าผู้ก่อเหตุยังอยู่ในพื้นที่ชุมนุม
วันถัดมาตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมพบจำเลย ซึ่งมีรูปพรรณสัณฐานและการแต่งกายตรงกับผู้ก่อเหตุตามที่ได้รับแจ้งขณะยืนรอข้ามถนนที่แยกคอกวัวจากฝั่งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไปยังถนนตะนาว ตำรวจจึงสะกดรอยตามไป จำเลยเดินหลบเลี่ยงจนล้มลง ตำรวจจึงเข้าแสดงตัว พร้อมเสนอความช่วยเหลือ แต่จำเลยปฏิเสธ จากนั้นจำเลยได้แสดงตัวโดยบอกชื่อและนามสกุลว่าชื่อนรินทร์
ในวันเดียวกัน เวลา 13.00 น. จำเลยเข้าร้องทุกข์ต่อตำรวจ สน.ชนะสงคราม ว่าถูกคุกคามในที่ชุมนุมจนล้มลง จำเลยได้บอกถึงสาเหตุของการถูกคุกคามว่า อาจเป็นเพราะไปก่อเหตุติดสติกเกอร์ที่พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ตำรวจจึงให้จำเลยดูภาพวงจรปิดขณะจำเลยก่อเหตุติดสติกเกอร์ จำเลยได้ยอมรับว่าผู้ก่อเหตุในภาพวงจรปิดดังกล่าวคือจำเลยเอง ตำรวจจึงได้พิมพ์ภาพกล้องวงจรปิดดังกล่าวออกมาและจำเลยได้ลงชื่อยอมรับว่าคือผู้ก่อเหตุติดสติกเกอร์ไว้ในเอกสารดังกล่าว
ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่นำสติกเกอร์ไปติดที่พระบรมสาทิสลักษณ์ที่ดวงพระเนตรของรัชกาลที่ 10 นั้นเป็นการแสดงว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ เป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะไม่ได้เป็นการกระทำต่อตัวกษัตริย์โดยตรง แต่ก็แปลความหมายได้ในลักษณะเดียวกัน
จึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี แต่การไปร้องทุกข์ต่อตำรวจ สน.ชนะสงคราม ของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ให้ลดโทษจำคุก 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
หลังอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งต่อจำเลยและทนายจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาในระยะเวลา 1 เดือน จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้สวมกุญแจมือนรินทร์และควบคุมตัวไปยังห้องคุมขังใต้ถุนศาลอาญา ขณะเดียวกันทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวนรินทร์โดยขอใช้หลักทรัพย์ประกันเดิม เป็นหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนดา ตอร์ปิโด
เวลา 10.58 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนรินทร์โดยใช้หลักทรัพย์และสัญญาประกันตัวเดิม โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ
จากนั้น เวลา 11.05 น. นรินทร์ได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังใต้ถุนศาลอาญา โดยมีมวลชนประมาณ 20-30 คน คอยรอต้อนรับและให้กำลังใจ พร้อมมีประชาชนหลายคนสวมใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์ “กูkult” มาร่วมด้วย
หลังจากนี้ ทนายความจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อไป
(อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.717/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.517/2565 ลงวันที่ 4 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40987) -
วันที่: 01-08-2022นัด: จำเลยยื่นอุทธรณ์จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญา โดยสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้
1. พยานโจทก์ทุกปากที่เบิกความในคดีนี้ ล้วนแต่แล้วแต่เป็นพยานบอกเล่า มิได้มีพยานปากใดเป็นประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์และยืนยันได้ว่า จำเลยเป็นผู้ปีนขึ้นไปติดสติกเกอร์ พยานผู้กล่าวหาคือ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ก็ได้เบิกความรับว่าขณะเกิดเหตุมิได้อยู่ที่เกิดเหตุบริเวณศาลฎีกาแต่อย่างใด ภาพถ่ายผู้ก่อเหตุก็ไม่สามารถดูได้ว่าเป็นใคร ไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นจำเลยหรือไม่ การกล่าวหาว่าบุคคลดังกล่าวเป็นจำเลยเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น พยานหลักฐานยังมิได้ปรากฏภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหวที่ยืนยันใบหน้าผู้กระทำว่าเป็นจำเลย การสันนิษฐานจากการแต่งกายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่าผู้ก่อเหตุเป็นจำเลยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ คดีนี้ยังปรากฏว่า พ.ต.อ.วรศักดิ์ ผู้กล่าวหาเพิ่งจะมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับจำเลยหลังจากที่เกิดเหตุมาแล้วเป็นระยะเวลาถึง 3 เดือน มิได้มีการจับกุมดำเนินคดีกับจำเลยทันทีตามที่กล่าวอ้าง
2. จำเลยโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ระบุถึงคำเบิกความของ พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล เจ้าพนักงานตำรวจจาก บก.ปอท.ว่า เฟซบุ๊กชื่อ “กูkult” มีการเคลื่อนไหวในลักษณะต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจากตามคำเบิกความของพยานปากดังกล่าวมิได้รับรองหรือยืนยันในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบ ยังไม่พบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับเฟซบุ๊กเพจ “กูkult” อย่างไร
3. ส่วนที่ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำตามฟ้องเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น จำเลยเห็นว่าสิ่งที่ศาลชั้นต้นบรรยายมิใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นความรู้สึกทางอัตวิสัย ไม่มีพยานหลักฐานชัดแจ้งว่าการติดสติกเกอร์บนพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ เป็นการแสดงความยิ่งใหญ่เหนือกว่าอย่างไร เนื่องจากโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นได้ว่า ข้อความ “กูkult” มีความหมายว่าอย่างไร หรือมีความยิ่งใหญ่อย่างไร
การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้นั้นจะต้องเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งดำรงพระชนม์ชีพขณะเกิดเหตุ ลำพังการติดสติกเกอร์บนพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นได้
การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม แต่มิใช่การทำผิดกฎหมาย การตีความว่าการติดสติกเกอร์บนพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ เป็นการดูหมิ่นจึงเป็นการตีความขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างเกินสมควรขัดต่อหลักการบังคับใช้กฎหมายอาญาที่ต้องบังคับใช้โดยตีความอย่างเคร่งครัด
(อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.717/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.517/2565 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/55680) -
วันที่: 02-05-2023นัด: ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ที่ห้องพิจารณา 709 มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีประมาณ 10 คน หนึ่งในจำนวนดังกล่าวมีพี่ชายของนรินทร์ รวมถึงกลุ่มนักกิจกรรม และเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เดินทางเข้าร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
จนกระทั่งเวลา 09.30 น. ผู้พิพากษาศาลอาญาได้เริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 27 ม.ค. 2566 โดยสรุประบุว่า จากพยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยใส่เสื้อยืดสีขาว มีลายหน้าอกเป็นวงกลมสีแดงและตัวอักษรสีน้ำเงินภาษาอังกฤษคาดกลาง แตกต่างจากสติกเกอร์ของเสื้อคนร้ายในภาพถ่าย อันเป็นการแตกต่างจากคนร้ายตามภาพถ่ายก่อนและขณะเกิดเหตุกับบุคคลที่โจทก์อ้างว่าพบในตอนเช้า ทั้งที่เป็นเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกัน
ทั้งไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ว่า จำเลยกับบุคคลที่พยานโจทก์ตรวจพบก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง จะมีที่พักอาศัยและเปลี่ยนเสื้อผ้าในบริเวณที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ซึ่งสรุปได้ว่าบ้านทั้งสองไม่ได้อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่จำเลยจะสามารถกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้า และกลับมาบริเวณที่เกิดเหตุและสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามอีกในเวลาต่อเนื่องกันดังกล่าวได้
และไม่ปรากฏว่ามีการตรวจยึดเสื้อผ้าที่คนร้ายใส่ในตอนเกิดเหตุของคดีนี้ จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใส่เสื้อผ้าดังกล่าว
ข้อเท็จจริงของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า บุคคลที่เจ้าพนักงานตำรวจพบในตอนเช้าหลังวันเกิดเหตุและจำเลยมีการแต่งกายเหมือนกับคนร้ายตามที่พยานโจทก์เบิกความ
นอกจากนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยรับว่าเป็นผู้กระทำความผิด หลังเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สน.ชนะสงคราม ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยและมีพิรุธ ทั้งมิได้มีการดำเนินคดีแก่จำเลยทันทีที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้ตามเอกสารดังกล่าว ทั้งที่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และจำเลยได้ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาคดีของศาลมาตลอด เมื่อจำเลยแต่งกายแตกต่างจากคนร้าย มิได้เหมือนกับคำเบิกความของพยานโจทก์ คำรับของจำเลยดังกล่าวจึงขัดต่อข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็น
กรณีมีเหตุแห่งความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ อีกทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ พยานแวดล้อมก็มีพิรุธสงสัยว่า จำเลยจะเป็นคนร้ายจริงหรือไม่ จึงยังไม่อาจรับฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด เห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 วรรคสอง อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องพิจารณาอุทธรณ์ประการอื่น พิพากษากลับเป็นว่าให้ยกฟ้อง
ลงนามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดย สันต์ชัย ล้อมณีนพรัตน์, ฐิตยาภา เจริญเหรียญ และพัฒนา ศิลปอนันต์
ต่อมาเวลา 10.05 น. หลังอ่านคำพิพากษา ผู้มาให้กำลังใจต่างเข้าไปแสดงความยินดีกับนรินทร์ และผู้ช่วยทนายความได้ยื่นเรื่องขอคืนเงินประกันตัวนรินทร์ จำนวน 100,000 บาท เพื่อนำส่งคืนให้กองทุนดา ตอร์ปิโด ต่อไป
อนึ่ง คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด โดยโจทก์และจำเลยมีสิทธิฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาในระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันฟังคำพิพากษา
ด้านคดีของนรินทร์ที่เกี่ยวข้องกับ “กูkult” ยังเหลืออีก 2 คดี ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นอัยการ โดยเป็นคดีซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากถูกกล่าวว่าเป็นแอดมินเฟจเฟซบุ๊ก “กูkult” ส่วนอีกคดีเป็นข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องแต่อย่างใด
(อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.717/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.517/2565 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55680)
สถานะ การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ผลการพิพากษา
ชั้นสอบสวน
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นรินทร์ (สงวนนามสกุล)
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ศาลชั้นต้น
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นรินทร์ (สงวนนามสกุล)
ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
- ไกษร ไชยวงษ์
- อังคณา นวลละออง
ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ :
04-03-2022
ศาลอุทธรณ์
ผู้ถูกดำเนินคดี :
นรินทร์ (สงวนนามสกุล)
ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
- สันต์ชัย ล้อมณีนพรัตน์
- ฐิตยาภา เจริญเหรียญ
- พัฒนา ศิลปอนันต์
ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ :
02-05-2023
แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์