สรุปความสำคัญ

นรินทร์ (สงวนนามสกุล) ถูก ปอท.ดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเพจหรือมีความเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊ก “กูKult” และได้ทำการตัดต่อรูปภาพ รวมถึงข้อความอันมีลักษณะเนื้อหาต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จำนวน 12 โพสต์ ในช่วงวันที่ 25 มิ.ย. – 11 ก.ย. 2563 อย่างไรก็ตาม รูปภาพและข้อความที่ถูกกล่าวหานั้นมีเนื้อหาในเชิงล้อเลียนเสียดสี และหลายโพสต์เป็นการล้อเลียนอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

คดีนี้จึงเป็นอีกกรณีที่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมตีความและบังคับใช้มาตรา 112 ไปอย่างกว้างขวาง จนเกินเลยตัวบทของกฎหมาย และกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศให้การรับรอง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นรินทร์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นรินทร์พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. บรรยายพฤติการณ์คดีว่า จากการสืบสวนน่าเชื่อว่า นรินทร์ เป็นผู้ดูแลหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กเพจ “กูKult” และมีการนําข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยได้โพสต์รูปภาพและข้อความอันมีลักษณะเนื้อหาต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศจํานวน 12 โพสต์ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. – 11 ก.ย. 2563

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานรินทร์รวม 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5) ประกอบมาตรา 14(3)

นรินทร์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวนรินทร์ไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

อย่างไรก็ตาม รูปภาพและข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ามีลักษณะเนื้อหาต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศจํานวน 12 โพสต์ จนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 นั้น พบว่า มีเนื้อหาในเชิงล้อเลียนเสียดสี และหลายโพสต์เป็นการล้อเลียนอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ที่เขาถูกดำเนินคดี โดยถูกกล่าวหาว่า มีความเกี่ยวข้องกับเพจ “กูkult” ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563 นรินทร์ถูกตำรวจเข้าจับกุมที่บ้านพัก พร้อมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ, แท็บเลท และคอมพิวเตอร์ นำตัวมาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กูkult” โพสต์ข้อความเสียดสีอดีตกษัตริย์จำนวน 3 โพสต์ ในปี 2562

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่า ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูปภาพของรัชกาลที่ 10 ที่ตั้งไว้บริเวณประตูทางเข้าของศาลฎีกาในระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อ 19 ก.ย. 2563 ที่สนามหลวง

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27283)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นรินทร์ (สงวนนามสกุล)
    นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเมื่อเดือนกันยายน 2563 ในคดีแรก นรินทร์เปิดเผยว่า มักมีบุคคลนิรนามมาสังเกตการณ์อยู่บริเวณบ้านของเขาอยู่หลายครั้ง มีการบันทึกภาพและวีดิโอบริเวณบ้าน ทั้งยังมีเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลภายนอกติดต่อมาหาเขาอยู่บ่อยครั้ง โดยไม่ทราบแน่ชัดถึงวัตถุประสงค์ของบุคคลเหล่านั้น สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับเขาและครอบครัว

    (อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/30640)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์