ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.3976/2566

ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.อ.ชยกฤต จันหา รอง สว.กก.2 บก.ส.2 (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.3976/2566
ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.อ.ชยกฤต จันหา รอง สว.กก.2 บก.ส.2

ความสำคัญของคดี

นรินทร์ (สงวนนามสกุล) ติวเตอร์วัย 31 ปี ถูก ปอท.ดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเพจหรือมีความเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊ก “กูKult” และได้ทำการตัดต่อรูปภาพ รวมถึงข้อความอันมีลักษณะเนื้อหาต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จำนวน 12 โพสต์ ในช่วงวันที่ 25 มิ.ย. – 15 ก.ย. 2563 อย่างไรก็ตาม รูปภาพและข้อความที่ถูกกล่าวหานั้นมีเนื้อหาในเชิงล้อเลียนเสียดสี และหลายโพสต์เป็นการล้อเลียนอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

นรินทร์ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 2 และเป็นอีกกรณีที่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมตีความและบังคับใช้มาตรา 112 ไปอย่างกว้างขวาง จนเกินเลยตัวบทของกฎหมาย และกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศให้การรับรอง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ภูรีพัชร์ แสงแก้ว พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ในช่วงวันที่ 25 มิ.ย. – 15 ก.ย. 2563 จำเลยได้ซึ่งใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กว่า “กูKult” ได้โพสต์ภาพประกอบข้อความ ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยเป็นภาพของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ในลักษณะที่มีการตัดต่อล้อเลียน

ภาพประกอบข้อความดังกล่าวเป็นการมุ่งทำลาย ดูหมิ่น ด้วยการใช้ภาพและข้อความหยาบคายด้วยความไม่เคารพต่อต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ อันเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3976/2566 ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นรินทร์พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบ 2 ข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    เหตุถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเพจหรือมีความเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “กูKult” และได้ทำการตัดต่อรูปภาพ รวมถึงข้อความอันมีลักษณะเนื้อหาต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จำนวน 12 โพสต์

    พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ สารวัตร (สอบสวน) และ ร.ต.ท.หญิง รัฐฐานันท์ คชนันท์ รองสารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. ได้บรรยายพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 ร.ต.อ.ชยกฤต จันหา ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. เพื่อร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ หรือเจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “กูKult” หรือ “@GuKultredemption”

    จากการสืบสวนน่าเชื่อว่า นรินทร์ เป็นผู้ดูแลหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีการนําข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยได้โพสต์รูปภาพและข้อความอันมีลักษณะเนื้อหาต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศจํานวน 12 โพสต์ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. – 11 ก.ย. 2563

    พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานรินทร์รวม 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5) ประกอบมาตรา 14(3)

    นรินทร์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นอกจากนี้ นรินทร์ยังปฏิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาอีกด้วย

    หลังการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวนรินทร์ไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

    อย่างไรก็ตาม รูปภาพและข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ามีลักษณะเนื้อหาต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศจํานวน 12 โพสต์ จนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 นั้น พบว่า มีเนื้อหาในเชิงล้อเลียนเสียดสี และหลายโพสต์เป็นการล้อเลียนอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

    คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ที่เขาถูกดำเนินคดี โดยถูกกล่าวหาว่า มีความเกี่ยวข้องกับเพจ “กูkult” ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563 นรินทร์ถูกตำรวจเข้าจับกุมที่บ้านพัก พร้อมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ, แท็บเลท และคอมพิวเตอร์ นำตัวมาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กูkult” โพสต์ข้อความเสียดสีอดีตกษัตริย์จำนวน 3 โพสต์ ในปี 2562

    ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่า ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูปภาพของรัชกาลที่ 10 ที่ตั้งไว้บริเวณประตูทางเข้าของศาลฎีกาในระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อ 19 ก.ย. 2563 ที่สนามหลวง

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27283)
  • เวลา 11.00 น. ที่ บก.ปอท. นรินทร์เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามหมายเรียกลงวันที่ 9 มิ.ย. 2564 พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ และ ร.ต.ท.หญิง รัฐฐานนท์ คชนนท์ พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่า นรินทร์ได้ “นำเข้าสู่ระบบด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    ทำให้คดีนี้นรินทร์ถูกแจ้งข้อกล่าวหารวม 3 ข้อหา คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) และมาตรา 14(5)

    นรินทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดิม และได้รับการปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ สำหรับคดีนี้ พนักงานสอบสวนแจ้งว่า จะสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการภายใน 1 สัปดาห์ หลังการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันนี้ แต่ยังไม่กำหนดวันนัดหมายส่งสำนวนให้กับอัยการ

    ก่อนเดินทางเข้ารับทราบข้อหาเพิ่มเติม นรินทร์เผยว่าการเดินทางมาในวันนี้ ทำให้เขาต้องเลื่อนนัดสอนพิเศษในช่วงเย็นนี้ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้าว่า กระบวนการจะใช้เวลานานหรือไม่ หรือเขาจะถูกนำตัวไปฝากขังหรือไม่ ทำให้เขาต้องเสียโอกาสในการทำงาน

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30857)
  • นรินทร์เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามนัดส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการ ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่าคดีอาญา 9 อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 27 ต.ค. 2564 เวลา 09.30 น.
  • อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปวันที่ 16 พ.ย. 2564
  • อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปวันที่ 16 ธ.ค. 2564
  • อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปวันที่ 11 ม.ค. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดฟังคำสั่งไปวันที่ 3 ก.พ. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดฟังคำสั่งไปวันที่ 1 มี.ค. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดฟังคำสั่งไปวันที่ 28 มี.ค. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดฟังคำสั่งไปวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 09.30 น.
  • นรินทร์เดินทางไปที่ศาลอาญา รัชดาฯ หลังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 แจ้งว่ามีคำสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และนัดหมายเขามาส่งฟ้องต่อศาลในวันนี้

    เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่นรินทร์ต้องเดินทางไปรายงานตัวกับอัยการทุกเดือน กระทั่งอัยการมีคำสั่งฟ้องในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ในที่สุด

    สำหรับคำฟ้องที่ยื่นต่อศาล พนักงานอัยการบรรยายเนื้อหาโดยสรุปว่า ในช่วงวันที่ 25 มิ.ย. – 15 ก.ย. 2563 จำเลยได้ซึ่งใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กว่า “กูKult” ได้โพสต์ภาพประกอบข้อความ ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยเป็นภาพของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ในลักษณะที่มีการตัดต่อล้อเลียน

    อัยการผู้บรรยายฟ้องระบุว่า ภาพประกอบข้อความดังกล่าวเป็นการมุ่งทำลาย ดูหมิ่น ด้วยการใช้ภาพและข้อความหยาบคายด้วยความไม่เคารพต่อต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ อันเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

    ท้ายคำฟ้อง อัยการได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา อ้างเหตุว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เกรงว่าจำเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก

    อัยการยังขอให้ศาลนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีติดสติกเกอร์ กูKult ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศาลฎีกาพิจารณา หลังอัยการยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษายกฟ้องของศาลอุทธรณ์

    ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ภาพและข้อความจำนวน 12 โพสต์ ที่ถูกกล่าวหาว่า มีลักษณะหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 นั้น พบว่า จำนวน 5 โพสต์ เป็นภาพและข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นอดีตกษัตริย์ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

    ภายหลังศาลรับฟ้องในช่วงสาย และนายประกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนรินทร์ระหว่างพิจารณาคดี โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เจ้าหน้าที่งานประกันได้แจ้งให้เพิ่มหลักประกันเป็น 180,000 บาท เนื่องจากนรินทร์มีคดี 112 ที่ศาลนี้อีกคดีซึ่งได้รับการปล่อยตัว แต่คดียังอยู่ระหว่างฎีกา

    อย่างไรก็ตาม เกือบ 17.00 น. ศิริพร กาญจนสูตร ผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งให้เพิ่มหลักประกันเป็นเงินสด 300,000 บาท ก่อนอนุญาตให้ประกันนรินทร์ในที่สุด โดยไม่กำหนดเงื่อนไขประกันใด ๆ เพิ่มเติม นัดตรวจพยานหลักฐาน 20 พ.ค. 2567 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3976/2566 ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/62592)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นรินทร์ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นรินทร์ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์