สรุปความสำคัญ

เบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมายจับในข้อหา “หมิ่นประมาทมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่าง #ม็อบ10สิงหา ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยเบนจาไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีนี้มาก่อน ภายหลังถูกจับกุม ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างสอบสวน แม้เบนจาจะยกเหตุผลความจำเป็นในการไปเรียนและสอบ ทำให้เบนจาตัดสินใจดรอปเรียนในภาคการศึกษานั้น และแม้จะมีการยื่นประกันอีกหลายครั้งก็เบนจาก็ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

กระทั่งการยื่นประกันในครั้งที่ 7 ศาลจึงให้ประกันโดยจำกัดระยะเวลาถึงเพียงสิ้นสุดการสอบภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 22 พ.ค. 2565 พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขหลายประการ อาทิ ห้ามร่วมกิจกรรมที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์และก่อความวุ่นวาย ห้ามออกจากบ้านตั้งแต่ 18.00-06.00 น. รวมทั้งให้ติด EM ด้วย โดยเบนจาได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังถึง 99 วัน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เบนจา อะปัญ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

10 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายคาร์ม็อบ #ม็อบ10สิงหา หรือ #คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช ที่แยกราชประสงค์ ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปที่ซิโน-ไทย ทาวเวอร์, บ้านของธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอาคารคิง พาวเวอร์ ก่อนที่จะยุติกิจกรรมในเวลา 17.06 น.

เมื่อขบวนเคลื่อนไปถึงหน้าอาคารซิโนไทย เบนจา อะปัญ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้อ่านแถลงการณ์ประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 ยืนยันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งนี้ ระหว่างการชุมนุมยังพบเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบเลขทะเบียนรถยนต์ของรถที่จอดอยู่บริเวณนัดหมายของกิจกรรมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ชุดควบคุมฝูงชนได้ตั้งแนวที่แยกดินแดง ฝั่งถนนวิภาวดี และเกิดการเผชิญหน้าผู้ชุมนุมบางส่วนที่เคลื่อนขบวนผ่านบริเวณดังกล่าว ก่อน คฝ.จะเริ่มใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ทำกิจกรรมอยู่หน้าตึกคิงพาวเวอร์ และรถปราศรัยหลักประกาศยุติกิจกรรม

ภายหลังจากที่แกนนำประกาศเลิกการชุมนุมในช่วง 17.00 น. แต่ยังมีผู้ชุมนุมบางกลุ่มที่ยังคงเผชิญหน้ากับ คฝ.ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง จนกระทั่งหลังเคอร์ฟิว โดยมีรายงานการจับกุมผู้ชุมนุมในจุดต่างๆ อย่างน้อย 47 ราย

(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/33371 และ https://prachatai.com/journal/2021/08/94404)

7 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 16.00 น. หลังเบนจา อะปัญ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ลุมพินี ตามหมายเรียกคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.ทองหล่อ ได้เข้าแสดงหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ 441/2564 ลงวันที่ 3 ก.ย. 2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทมหากษัตริย์” และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มี พ.ต.ต.ภิชาภัช ศรีคำขวัญ สารวัตรสอบสวน สน.ทองหล่อ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย และมีนายพีระศักดิ์ ใจเสงี่ยม เป็นผู้พิพากษาที่ออกหมาย

ต่อมา ทราบว่าเป็นกรณีจากการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่าง #ม็อบ10สิงหา ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีนี้มาก่อน แต่ได้ทราบว่ามีการออกหมายจับ และมีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าจับกุมเป็นระยะ

ในคดีนี้พบว่ามีนายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 โดยกล่าวหาจากเนื้อหาคำปราศรัย และเนื้อหาในแถลงการณ์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 เรื่อง ประกาศเป้าหมาย “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา” และการเมืองหลังระบบประยุทธ์

หลังถูกแสดงหมายจับ เบนจาได้แสดงออกอารยะขัดขืน โดยนั่งอยู่กับที่หน้า สน.ลุมพินี และทนายความได้เข้าเจรจาให้เจ้าหน้าที่ทำบันทึกจับกุม อย่างไรก็ตาม หลังรออยู่พักหนึ่ง ทางตำรวจได้ให้เจ้าหน้าที่หญิง เข้าอุ้มเบนจาขึ้นรถไป สน.ทองหล่อ เจ้าของคดี

ในชั้นจับกุม เบนจาได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อีกทั้งปฎิเสธไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม เช่นเดียวกับในชั้นสอบสวน ที่ให้การปฏิเสธ หลังสอบปากคำเสร็จ พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวเบนจาในชั้นสอบสวน โดยควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทองหล่อ 1 คืน และนำตัวไปยื่นฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันรุ่งขึ้น ก่อนศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่ให้ประกันตัว ทำให้เบนจาถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.ทองหล่อ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36285)

ภูมิหลัง

  • เบนจา อะปัญ
    สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผันตัวจากเยาวชนที่สนใจในประเด็นเรื่องสิทธิและการเมืองตั้งแต่สมัยอยู่ในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สู่การเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวเมื่อเริ่มต้นก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

    (อ่านเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/24286)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์