ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
ดำ อ.1974/2564
แดง อ.1925/2566

ผู้กล่าวหา
  • จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1974/2564
แดง อ.1925/2566
ผู้กล่าวหา
  • จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน

ความสำคัญของคดี

เบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมายจับในข้อหา “หมิ่นประมาทมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่าง #ม็อบ10สิงหา ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยเบนจาไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีนี้มาก่อน ภายหลังถูกจับกุม ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างสอบสวน แม้เบนจาจะยกเหตุผลความจำเป็นในการไปเรียนและสอบ ทำให้เบนจาตัดสินใจดรอปเรียนในภาคการศึกษานั้น และแม้จะมีการยื่นประกันอีกหลายครั้งก็เบนจาก็ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

กระทั่งการยื่นประกันในครั้งที่ 7 ศาลจึงให้ประกันโดยจำกัดระยะเวลาถึงเพียงสิ้นสุดการสอบภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 22 พ.ค. 2565 พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขหลายประการ อาทิ ห้ามร่วมกิจกรรมที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์และก่อความวุ่นวาย ห้ามออกจากบ้านตั้งแต่ 18.00-06.00 น. รวมทั้งให้ติด EM ด้วย โดยเบนจาได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังถึง 99 วัน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

1. เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 จำเลยกับพวกอีก 6 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมคาร์ม็อบที่บริเวณหน้าอาคาร ซิโน – ไทย ทาวเวอร์ โดยเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5 คน และเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19

2. ในการชุมนุมดังกล่าวจำเลยได้อ่านแถลงการณ์ “ประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 ประกาศเป้าหมาย ‘นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา’ และการเมืองหลังระบบประยุทธ์” โดยได้ยกข้อความใน 2 ส่วนขึ้นมา อันเกี่ยวกับความตกต่ำในรัฐบาลระบอบทรราช เนื่องจากการแสวงผลประโยชน์ในองคาพยพโดย “นายทุน ขุนศึก ศักดินา” และการตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชน มิใช่ชนชั้นศักดินา

ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ และเป็นการให้ร้ายจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์เสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1974/2564 ลงวันที่ 3 ธ.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 16.00 น. หลังเบนจา อะปัญ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ลุมพินี ตามหมายเรียกคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.ทองหล่อ ได้เข้าแสดงหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ 441/2564 ลงวันที่ 3 ก.ย. 2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทมหากษัตริย์” และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มี พ.ต.ต.ภิชาภัช ศรีคำขวัญ สารวัตรสอบสวน สน.ทองหล่อ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย และมีนายพีระศักดิ์ ใจเสงี่ยม เป็นผู้พิพากษาที่ออกหมาย

    ต่อมา ทราบว่าเป็นกรณีจากการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่าง #ม็อบ10สิงหา ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีนี้มาก่อน แต่ได้ทราบว่ามีการออกหมายจับ และมีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าจับกุมเป็นระยะ

    ในคดีนี้พบว่ามีนายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 โดยกล่าวหาจากเนื้อหาคำปราศรัย และเนื้อหาในแถลงการณ์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 เรื่อง ประกาศเป้าหมาย “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา” และการเมืองหลังระบบประยุทธ์

    หลังถูกแสดงหมายจับ เบนจาได้แสดงออกอารยะขัดขืน โดยนั่งอยู่กับที่หน้า สน.ลุมพินี และทนายความได้เข้าเจรจาให้เจ้าหน้าที่ทำบันทึกจับกุม อย่างไรก็ตาม หลังรออยู่พักหนึ่ง ทางตำรวจได้ให้เจ้าหน้าที่หญิง เข้าอุ้มเบนจาขึ้นรถไป สน.ทองหล่อ เจ้าของคดี

    ในบันทึกจับกุมบรรยายว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย เจ้าพนักงานตำรวจ สน.ทองหล่อ รวม 5 นาย โดยปฎิบัติงานภายใต้การอำนวยการจับกุมของ พ.ต.อ.ดวงโชติ สุวรรณจรัส ผู้กำกับการ และ พ.ต.ท.ณัฐกิตติ์ จอกโคกสูง รองผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ

    เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ทองหล่อ อ้างว่า ได้ทราบว่าเบนจา บุคคลตามหมายจับ จะเดินทางเข้ามา ที่ สน.ลุมพินี จึงได้รอสังเกตการณ์ จนกระทั่งพบเบนจา อยู่บริเวณหน้า สน.ลุมพินี จึงแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ทำการจับกุม

    ในชั้นจับกุม เบนจาได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อีกทั้งปฎิเสธไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม เช่นเดียวกับในชั้นสอบสวน ที่ให้การปฏิเสธ และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารภายในวันที่ 5 พ.ย. 2564

    หลังสอบปากคำเสร็จ พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวเบนจาในชั้นสอบสวน และได้ยื่นคำร้องขอฝากขังเบนจาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่ไม่ทัน เนื่องจากได้หมดเวลาทำการของศาลแล้ว ทำให้เบนจาถูกควบคุมตัวไว้ในห้องไกล่เกลี่ยที่ สน.ทองหล่อ 1 คืน เพื่อยื่นฝากขังใหม่ในวันรุ่งขึ้น

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.ทองหล่อ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36285)
  • พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้ยื่นขอฝากขังเบนจาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้งยังคัดค้านการให้ประกันตัว ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ฝากขังตามคำขอเป็นระยะเวลา 12 วัน

    จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และเวลาประมาณ 14.00 น. เนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเบนจา ให้เหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงประกอบกับพฤติการณ์ตามคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาได้ก่อเหตุเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผู้ต้องหาเคยถูกฟ้องที่ศาลนี้มาแล้ว อีกทั้งพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา ศาลจึงเห็นควรไม่อนุญาต

    ต่อมา 15.15 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่ให้ประกันตัวเบนจาต่อศาลอุทธรณ์ โดยระบุ 2 เหตุผลดังต่อไปนี้

    1. ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (SIIT) โดยผู้ต้องหายังต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานต่างๆ และสอบไล่ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย หากไม่ได้ประกันย่อมส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษา

    2. คดีของผู้ต้องหายังอยู่ระหว่างการสอบสวน และยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด ผู้ต้องหาจึงขอให้ศาลอุทธรณ์ปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่

    ทั้งนี้ ทนายความได้ขอคัดถ่ายคำร้องขอฝากขังของเบนจาต่อเจ้าหน้าที่ศาล แต่ไม่สามารถขอได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าสามารถเลือกได้เพียงอย่างเดียว ระหว่างขอคัดถ่ายคำร้องขอฝากขัง หรือจะอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้น ทนายความจึงเลือกที่จะอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน เพื่อให้ผู้ต้องหาได้เข้าถึงสิทธิการประกันตัว ก่อนที่เบนจาจะถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

    เบนจาได้ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 รวมทั้งสิ้น 6 คดี แล้ว จากจำนวนคดีการเมืองรวม 19 คดีที่เธอถูกกล่าวหา โดยทุกคดียังไม่เคยมีคำพิพากษาของศาลว่ามีความผิด นอกจากนี้ เบนจายังเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาตามมาตรา 112 รายล่าสุดที่ไม่ได้ประกันตัวจากทั้งหมด 5 คน (พริษฐ์, อานนท์, ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์)

    (อ้างอิง: คำร้องขอประกันตัว และคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 8 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36285)
  • เวลาประมาณ 14.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ลงวันที่วันนี้ ใจความว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหานั้นมีอัตราโทษสูง อีกทั้งผู้ต้องหาได้กระทำความผิดในลักษณะคล้ายเดิมโดยการปราศรัยอันมีถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งผู้ต้องหาได้เคยรับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในข้อหาดังกล่าว และมีเงื่อนไขว่าห้ามมิให้กระทำการใดที่ให้เป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเข้ากิจกรรมใดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งหากอนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น และก่อให้เกิดความเสียหาย และเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ยกคำร้อง

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 9 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36285)
  • เวลาประมาณ 10.30 น. พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขอฝากขังเบนจาเป็นครั้งที่ 2 เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 20-31 ต.ค. 2564 อ้างเหตุต้องสอบพยานอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ โดยศาลได้เบิกตัวเบนจาทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อสอบถาม ก่อนอนุญาตให้ฝากขังตามคำขอของพนักงานสอบสวน

    “หนูคัดค้านที่ตำรวจขอฝากขังต่อศาลแล้ว แต่ศาลก็ยังให้ฝากขังต่อ ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุ มีแค่ไม่ให้ออก”

    เบนจากล่าวกับทนายทันทีที่เริ่มเยี่ยมผ่านทางออนไลน์ เธอบอกว่าตำรวจอ้างว่าต้องสอบพยานเพิ่มเติม ศาลก็ถามว่าเป็นพยานปากไหน ตำรวจก็ตอบประมาณว่าถอดคำปราศรัยและวิเคราะห์ว่าหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งเธอก็ตั้งคำถามว่ากระบวนการนี้ก็เป็นการตีความไปเองของตำรวจหรือคนอื่นที่กล่าวหาเธอแทนผู้ที่ถูกกล่าวถึงหรือไม่

    “หนูก็คิดว่าตำรวจก็สอบพยานไปสิเกี่ยวอะไรกับหนู หนูก็ใช้สิทธิคัดค้านการฝากขัง แต่ก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย เพราะว่าศาลก็บอกว่าต้องรับเรื่องจากตำรวจไว้อยู่ดี หนูคัดค้านแล้วศาลก็บอกว่าให้ทนายทำคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวคู่ขนานไป หนูก็คิดและมีคำถามว่าแล้วหนูคัดค้านได้จริงๆ หรือ”

    เบนจาพรั่งพรูถึงความรู้สึกที่ไม่ยุติธรรม “มันไม่แฟร์เลย เหตุผลแค่ว่าตำรวจจะสอบพยานเพิ่มแล้วมันเกี่ยวอะไรกับหนู ยังสอบไม่เสร็จ ก็สอบไปสิ เกี่ยวอะไรกับหนู เหตุผลไม่สมเหตุสมผล” จนเธอกล่าวว่าเหมือนตั้งใจขัง ตั้งใจไม่ให้ได้ออกอีก เบนจาบอกว่า “นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้หนูเจ็บปวดใจ”

    แม้ทนายจะไม่เห็นใบหน้าทั้งหมดของเบนจาเนื่องจากใส่หน้ากากและเฟสชิวด์ แววตาของเบนจาที่เจ็บปวดกลับพุ่งทะยานฉายให้เห็นเป็นที่ชัดเจน

    ทนายความได้อ่านข้อความที่มีเพื่อนอาจารย์และประชาชนฝากส่งถึงเธอ เบนจาค่อยดูมีแววตาผ่อนคลายลงจากความรู้สึกที่เธออธิบายให้ทนายฟังตั้งแต่เริ่มการสนทนา ถึงความรู้สึกคับข้องใจของกระบวนการฝากขังและการคัดค้านฝากขัง ที่เบนจาย้ำว่ากระบวนการอยุติธรรมเล่นงานเธออย่างเดียวในขณะที่เธอไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อต้องอยู่ในคุก “กระบวนการคือตั้งใจขัง ไม่ให้ออก”

    ทนายอ่านข้อความทั้งหมดอย่างรวดเร็วแข่งกับเวลาให้เธอฟังจนจบ เธอฝากขอบคุณทุกคนมากๆ และถามว่าข้อความเหล่านี้ส่งมาทางไหน เธออยากเก็บไว้และหวังว่าจะได้อ่านเมื่อได้รับอิสรภาพ ทนายจึงบอกว่าจะพยายามรวบรวมเก็บไว้ให้

    นอกจากนั้น ทนายบอกกับเบนจาว่าได้ทำเรื่องขอส่งหนังสือที่เธออยากอ่านให้ 8 เล่ม ได้แก่ “หิมาลัยในความทรงจำ”, “รหัสลับลาสต์ซัปเปอร์”, “ยัญพิธีเชือดแพะ”, “ความรักของวัลยา”, “ไฮเวย์สู่ขอบฟ้า” , “เด็กดีของประเทศไร้อนาคต”, “สามัญสำนึก” และ “ปีศาจ” เบนจามีแววตาดีใจและตื่นเต้น ทนายต้องรีบบอกว่ายังไม่รู้ว่าทางผู้บัญชาการทัณฑสถานจะอนุญาตให้ส่งเข้าไปได้ไหม ต้องติดตามเรื่องต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 19 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36778)
  • เวลาประมาณ 09.00 น. ทนายความและธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางไปยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเบนจา ในคดีมาตรา 112 ทั้งสองคดี ทั้งคดีการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ซึ่งเป็นการยื่นครั้งที่ 2 และคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563

    สำหรับคดีนี้มีธนาธรเป็นนายประกัน โดยนำเงินสดของตนเองวางเป็นหลักทรัพย์ประกัน มูลค่า 200,000 บาท ระบุเหตุผลโดยสรุปดังนี้

    1. จากคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลนี้และศาลอุทธรณ์ ที่ระบุว่า “คดีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง” นั้น มิได้เป็นเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด อีกทั้ง ศาลนี้ได้เคยอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในฐานความผิดมาตรา 112 กรณีจึงมิได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีมีอัตราโทษสูง ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด

    2. ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีมาตั้งแต่ต้นจนถูกจับกุมในคดีนี้ ในคดีอื่นๆ ผู้ต้องหาก็ไปพบพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตามนัดหมายทุกนัด มิได้หลบเลี่ยงหรือหลบหนีแต่อย่างใด ผู้ต้องหาเป็นเพียงนักศึกษาและบุคคลธรรมดา มิได้เป็นผู้มีอิทธิพล ผู้ต้องหายังมีภาระหน้าที่ต้องศึกษาเล่าเรียนตามกําหนดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงสามารถติดตามตัวผู้ต้องหาได้โดยง่าย และประกอบกับผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

    3. การคุมขังผู้ต้องหาไว้เป็นการกระทําที่เกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจําเป็นแก่กรณี ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน เนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหามิได้เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด อีกทั้งคดีของผู้ต้องหามีหนทางจะต่อสู้คดีได้ ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และผู้ต้องหาประสงค์จะนําพยานบุคคลและพยานเอกสารเป็นหลักฐานเพื่อนําเสนอต่อศาลประกอบการต่อสู้คดี

    4. ตามคําร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2 ของพนักงานสอบสวนนั้น ไม่ปรากฎเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแม้แต่น้อย

    5. ปัจจุบันผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 มีกําหนดที่จะต้องสอบไล่ปลายภาคการศึกษารวม 6 รายวิชาด้วยกัน หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของผู้ต้องหา โดยไม่อาจเยียวยาด้วยหนทางอื่นได้

    6. ผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิด ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด

    7. ขณะนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 ในเรือนจําทั่วประเทศ หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะต้องถูกคุมขังในเรือนจําดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ต้องหาเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค จากการถูกคุมขังในสถานที่แออัด

    อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 12.35 น. มนัส ภักดิ์ภูวดล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเบนจา ระบุว่า “พิเคราะห์คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว เห็นว่าเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเดิม จึงให้ยกคำร้อง”

    ปัจจุบัน เบนจาได้ถูกคุมขังมาแล้ว 14 วัน และคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ทำให้เบนจาจะต้องถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 21 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36868)
  • ร.ต.ท.หญิง ธิดา เดชวุฒิกุล พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้เข้ายื่นคำร้องขอฝากขังเบนจาเป็นครั้งที่ 3 เป็นระยะเวลาอีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 - 12 พ.ย. 2564 โดยระบุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และรอการเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อมีความเห็นทางคดี เนื่องจากคดีนี้ได้ตั้งเป็นคณะทำงาน

    ก่อนหน้านั้น ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 3 นี้ และขอให้มีการไต่สวนคำร้องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แม้วิริยะ วัชรนพวิภา ผู้พิพากษาจะมีคำสั่งให้ไต่สวน แต่ยังคงมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเบนจาเป็นครั้งที่ 3 ต่อไป แต่กำหนดระยะเวลาฝากขัง 8 วัน เนื่องจากไม่มีพยานต้องสอบสวนแล้ว เป็นเพียงขั้นตอนการเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชา

    จากนั้นทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเบนจา เป็นครั้งที่ 3 โดยยืนยันว่าจากการไต่สวนได้ข้อเท็จจริงว่าการสอบสวนพยานหลักฐานในคดีนี้เสร็จสิ้นแล้ว ไม่ต้องสอบพยานบุคคลใดๆ เพิ่มเติมอีก อยู่ระหว่างการเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาเท่านั้น การขังผู้ต้องหาไว้ จึงเป็นการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินกว่าความจำเป็น และเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ต้องหา อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสาม และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาตามมาตรา 25 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย

    ทั้งตามคำร้องและคำเบิกความของพนักงานสอบสวน ก็ไม่ปรากฏข้อคัดค้านว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นนี้ จะมีเหตุให้เชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีแต่อย่างใด

    จนเวลา 14.10 น. เนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเบนจา โดยระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ามีการกล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ไม่บังควร ประกอบกับผู้ต้องหาเคยฝ่าฝืนเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว ว่าจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กรณีมีเหตุเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น กรณีจึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”

    ปัจจุบัน เบนจาได้ถูกคุมขังมาแล้ว 22 วัน และคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ทำให้เบนจาจะต้องถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณาและคำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 29 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37137)
  • ร.ต.ท.หญิง ธิดา เดชวุฒิกุล พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้เข้ายื่นคำร้องขอฝากขังเบนจาเป็นครั้งที่ 4 ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังดังกล่าว และขอให้ไต่สวนพนักงานสอบสวน

    ที่ห้องพิจารณา 403 เวลา 9.30 น. ศาลออกพิจารณาไต่สวนคำร้องขอฝากขัง โดยพนักงานสอบสวนเบิกความอ้างเหตุการขอฝากขังครั้งที่ 4 ว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากอยู่ระหว่างการเสนอสํานวนให้หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนพิจารณามีความเห็นในทางคดี โดยหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนให้ทําการสอบสวนพยานเพิ่มเติม 1 ปาก เป็นพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ยังไม่สามารถระบุตัวตนที่แน่นอนได้ จึงขอให้ศาลขังผู้ต้องหานี้ไว้ระหว่างสอบสวนต่อไปอีก 12 วัน

    ด้านเบนจาได้แถลงคัดค้านว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกคุมขัง อีกทั้งผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือยุ่งเหยิงกับการสอบสวนพยานของพนักงานสอบสวน การฝากขังต่ออีก 12 วัน จึงถือว่าเกินความจำเป็น

    ส่วนทนายผู้ต้องหาได้แถลงคัดค้านเพิ่มเติมว่า พยานที่ต้องสอบเพิ่มเติมซึ่งพนักงานสอบสวนอ้างนั้น ไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร นอกจากนี้ตามคำร้องฝากขังครั้งที่ 3 พนักงานสอบสอนได้ให้เหตุผลเพียงว่าอยู่ระหว่างการเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อมีความเห็นทางคดีเท่านั้น โดยไม่ได้มีการสอบพยานเพิ่มเติมอีก

    ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเบนจาต่อ “พิเคราะห์คําร้องประกอบกับคําคัดค้านของฝ่ายผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าแม้คดีนี้ผู้ร้องจะอ้างเพิ่มเติมว่าจะต้องทําการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกจํานวน 1 ปาก แต่เมื่อพิจารณาคําร้องดังกล่าว ประกอบคําคัดค้านของฝ่ายผู้ต้องหาแล้ว เห็นสมควรอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้อีกเพียง 7 วัน นับแต่วันที่ 9 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป โดยศาลได้กำชับผู้ร้องแล้วว่าให้เร่งรัดการสอบสวนคดีนี้โดยเร็ว”

    ++ศาลไม่อนุญาตให้ประกันครั้งที่ 4 ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม++

    หลังศาลมีคำสั่งให้ฝากขัง ในช่วงบ่าย ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเบนจาเป็นครั้งที่ 4 โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ระบุเหตุผลว่า ทั้งตามคำร้องและคำเบิกความของพนักงานสอบสวน ไม่ได้ปรากฏข้อคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นนี้แต่อย่างใด

    ประมาณ 15.30 น. เนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเบนจา ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลโดยชัดแจ้งไว้แล้วอย่างละเอียด ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”

    ปัจจุบัน เบนจาได้ถูกคุมขังมาแล้ว 32 วัน และคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ทำให้เบนจาจะต้องถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 8 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37556)
  • ร.ต.ต.ภิชาภัช ศรีคำขวัญ พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้เข้ายื่นคำร้องขอฝากขังเบนจาเป็นครั้งที่ 5 ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังดังกล่าว ความว่า ตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 การควบคุมผู้ต้องหาให้กระทําได้เท่าที่จําเป็นเท่านั้น ซึ่งจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2564 อีกทั้งพนักงานสอบสวนไม่มีเหตุสุดวิสัยหรือความจําเป็นที่จะยื่นคําร้องต่อศาลให้ออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ได้ หากผู้ต้องหาต้องถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนต่อไป ย่อมจะเป็นการคุมขังที่เกินจําเป็น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังสร้างภาระแก่ผู้ต้องหาเป็นอย่างยิ่ง

    นอกจากนี้คำร้องคัดค้านยังขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวนเพื่อชี้แจงเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่น โดยให้แสดงพยานหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการไต่สวนของศาลด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 อีกทั้งยังขอให้เบิกตัวผู้ต้องหามาศาลเพื่อปรึกษาคดีกับทนาย และแถลงที่เหตุผลที่ไม่ควรให้ฝากขังต่อศาลด้วยตัวเอง

    ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวน และให้เบิกตัวเบนจามาศาล พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ เบิกความถึงเหตุจำเป็นในการขอฝากขังครั้งที่ 5 ว่า พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ทว่าสำนวนยังอยู่ในการพิจารณาของกองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือหัวหน้าพนักงานสอบสวน ว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับกับความมั่นคงในราชอาณาจักร จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ

    นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนเบิกความว่า หากศาลไม่รับฝากขังต่ออาจส่งผลกระทบและอุปสรรคในการสอบสวนของพนักงานสอบสวน เช่น ไม่สามารถตามตัวผู้ต้องหามาสอบปากคำได้ หากหัวหน้าพนักงานสอบสวนมีประเด็นที่ต้องการจะสอบสวนเพิ่ม อีกทั้งในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ได้มีการยื่นคำให้การเพิ่มเติมแต่อย่างใด รวมไปถึงผู้ต้องหามีมวลชนเยอะ เกรงว่าจะมีความยากลำบากในการพาตัวไปสอบสวน

    ด้านเบนจาได้แถลงคัดค้านว่า ในการถูกดําเนินคดีทุกคดี ตนไปตามกําหนดนัดของพนักงานสอบสวนทุกนัด หากไม่มีเหตุขัดข้อง และหากมีเหตุจําเป็น ตนจะแจ้งขอเลื่อนนัดต่อพนักงานสอบสวนทุกครั้งโดยไม่เคยหลบหนี และในการขอฝากขังครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 4 เหตุกล่าวอ้างขอฝากขังของพนักงานสอบสวนที่ระบุว่ามีเหตุจําเป็นนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการที่เกี่ยวกับตัวผู้ต้องหาแต่อย่างใด

    ทั้งในคดีนี้ ตนไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนแต่อย่างใด แต่ได้รับทราบจากทนายความว่าได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่าได้มีหมายเรียกไปยังผู้ต้องหา จึงได้ขอเลื่อนนัดออกไป เนื่องจากมีเหตุจําเป็นต้องกักตัวอันเกิดเนื่องสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้เลื่อนนัด และยังไปขอออกหมายจับ การปฏิบัติดังกล่าวของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ

    ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเบนจาต่อ ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องส่งสำนวนให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณาในการฟ้องคดีดังกล่าว ศาลจึงเห็นสมควรอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้อีกเพียง 7 วัน โดยศาลได้กำชับผู้ร้องแล้วว่าให้เร่งรัดการสอบสวนคดีนี้โดยเร็ว

    ปัจจุบัน เบนจาถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้ว 39 วัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณาและคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 5 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 15 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37823)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังเบนจาเป็นครั้งที่ 6 อีก 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. - 4 ธ.ค. 2564 อ้างเหตุการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น อยู่ระหว่างเสนอสํานวนให้ผู้บังคับบัญชาระดับกองบัญชาการตํารวจนครบาลลงนาม ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังอีกเช่นกัน ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอฝากขัง และเบิกตัวเบนจามาศาล

    ร.ต.ต.ภิชาภัช พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี เบิกความว่า คดีนี้อยู่ระหว่างการกลั่นกรองรอบสุดท้ายก่อนเสนอสํานวนให้ผู้บัญชาการ การระดับรองบัญชาการตํารวจนครบาลมีคําสั่งทางคดีเพื่อพิจารณา เนื่องจากเป็นคดีที่มีความสําคัญและมีอัตราโทษสูงจึงต้องให้ระยะเวลาพิจารณาอย่าระเอียดรอบครอบ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 7 วัน

    จากนั้นพนักงานสอบสวนตอบที่ทนายผู้ต้องหาซักถามว่า การประชุมของผู้บังคับบัญชาในคดีนี้จะเรียกพนักงานสอบสวนเข้าไปชี้แจงด้วย และตามคําร้องขอฝากขังครั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา

    อย่างไรก็ตาม หลังการไต่สวน องค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเบนจาต่ออีก 7 วัน ระบุในคำสั่งว่า
    พิเคราะห์เหตุตามคําร้องขอฝากขังครั้งที่ 6 คําให้การของผู้ร้องและคําร้องคัดค้านของผู้ต้องหาและทนายความของผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่า เมื่อผู้ร้องยืนยันว่ามีเหตุจําเป็นที่จะต้องเสนอสํานวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาระดับกองบัญชาการตํารวจนครบาลลงนามซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อทําการฟ้องคดี อันถือเป็นกรณีที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และมีความจําเป็นที่จะต้องฝากขังผู้ต้องหาเพื่อทําการสอบสวนต่อไป จึงอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังผู้ต้องหาได้อีก 7 วัน อนึ่ง ตามคําร้องคัดค้านว่า ผู้ต้องหาไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว หากผู้ต้องหาถูกคุมขังต่อไปย่อมจะเป็นการคุมขังที่เกินจําเป็นนั้น เห็นว่า การที่ผู้ต้องหาจะต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ เป็นคนละเหตุกับการที่พนักงานสอบสวนขอฝากขังผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและยังคงติดใจในเรื่องดังกล่าว ผู้ต้องหาสามารถอุทธรณ์คําสั่งต่อศาลอุทธรณ์หรือผู้ต้องหาจะยื่นคําร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ก็ได้

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณาและคำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 22 พ.ย. 2564)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเบนจาเป็นครั้งที่ 5 โดยใช้หลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ ระบุเหตุผลว่า

    1. จากการไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 6 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การสอบสวนในคดีนี้เสร็จสิ้นแล้ว ไม่ต้องสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มอีก อยู่ระหว่างการเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณามีความเห็นทางคดี เท่านั้น ผู้ต้องหาเห็นว่าการขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างการรอผู้บัญชาบัญชาทำความเห็นทางคดีนั้นเป็นการขังผู้ต้องหาไว้เกินกว่าเหตุจำเป็นและเพิ่มภาระแก่ผู้ต้องหา อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 29 วรรค 3 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 25 วรรค 3 อีกด้วย อีกทั้งคำร้องและคำเบิกความของพนักงานสอบสวนไม่ปรากฏข้อคัดค้านหากผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราว

    2. ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีภารกิจในการเรียนและการสอบในช่วงเดือนธันวาคม 2564

    ประมาณ 16.00 น. สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งให้ผู้ต้องหาแสดงหลักฐานที่มหาวิทยาลัยรับรองว่าผู้ต้องหาจะเข้าสอบตามคำร้องนี้มาแสดงก่อนจึงจะพิจารณาต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 26 พ.ย. 2564)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังเบนจาเป็นครั้งที่ 7 อีก 12 วัน หลังไต่สวนคำร้องดังกล่าว ศาลยังคงมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเบนจาต่ออีก 7 วัน

    วันเดียวกันนี้ ทนายความได้ยื่นเอกสารรับรองสถานภาพนักศึกษาของเบนจาตามที่ศาลมีคำสั่งต่อคำร้องขอประกันตัวเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมา เนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอีกว่า ให้ผู้ต้องหานำหลักฐานเกี่ยวกับตารางสอบที่ผู้ต้องหามีสิทธิสอบโดยให้มหาวิทยาลัยรับรองว่าผู้ต้องหาได้ลงทะเบียนและมีสิทธิสอบมาแสดงให้ชัดเจนก่อนจึงจะพิจารณาต่อไป
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเบนจาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1974/2564 และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 ม.ค. 2565

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1974/2564 ลงวันที่ 3 ธ.ค. 2564)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเบนจาในคดีนี้และคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 โดยในคดีนี้เป็นการยื่นประกันเป็นครั้งที่ 6

    ต่อมาเวลา 16.13 น. เนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองคดี โดยให้เหตุผลคล้ายกัน คำสั่งไม่ให้ประกันในคดีนี้ระบุว่า

    พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ข้อหาที่จำเลยถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง การกระทำที่จำเลยถูกกล่าวหามีลักษณะเป็นการกล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำอันมิบังควร ประกอบกับจำเลยเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีที่มีข้อหาเป็นอย่างเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขการปล่อยตัวมิให้กระทำการให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น กรณีจึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    ปัจจุบันเธอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางมานานกว่า 60 วันแล้ว

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1974/2564 ลงวันที่ 7 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38628)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเบนจาในคดีนี้ พร้อมทั้งคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ระบุว่าคดีนี้ศาลเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยเนื่องจากเกรงว่าจะไปก่อเหตุร้ายภยันตรายประการอื่น อย่างไรก็ดีการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นการใช้อำนาจของรัฐเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาซนซึ่งศาลจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการก่อเหตุร้ายกับสิทธิเสรีภาพของจำเลยโดยไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

    ดังนั้น การที่จำเลยมีภาระเรื่องเรียนที่จะต้องเสียหายจากการคุมขัง จึงเป็นเหตุที่สามารถได้รับการพิจารณา โดยพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน

    สำหรับคดีนี้จำเลยเป็นนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 จำเลยได้ลงทะเบียนเรียนทั้งหมดจำนวน 3 วิชา และมีภาระหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานในรายวิชา และเข้าสอบตามที่คณะและมหาวิทยาลัยกำหนด อีกทั้งจำเลยเรียนในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ในการเรียนการสอน ไม่สามารถเรียนภายในเรือนจำได้

    สำหรับรายวิชา “กลศาสตร์ของแข็ง 1” นั้น เป็นรายวิชาบังคับด้านวิศวกรรมเครื่องกล (หลักสูตรนานาชาติ) หมวดวิชาบังคับ จำเป็นต้องเข้าฟังการบรรยาย 45 ชั่วโมง การฝึกปฏิบัติ 15 ชั่วโมง และการศึกษาด้วยตัวเองจำนวน 75 ชั่วโมง และยังจำเป็นต้องมีการวัดผลด้วยการสอบกลางภาคและสอบปลายภาคอีกด้วย

    หากจำเลยต้องถูกคุมขังไว้ โดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะไม่สามารถไปศึกษาต่อตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้ อันจะทำให้จำเลยไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษาของจำเลยและอนาคตของจำเลยอย่างร้ายแรง

    คำร้องระบุว่าจำเลยยินยอมยอมรับเงื่อนไขในการประกันตัวต่างๆ ทั้งจะไม่ทำกิจกรรมหรือก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, จะไม่เข้าชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, จะอยู่ในเคหสถานตลอดเวลาเว้นแต่มีเหตุจำเป็น, ยินยอมให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือหากศาลจะกำหนดเงื่อนไขอื่นใด ก็พร้อมจะปฏิบัติตามเงื่อนไข และพร้อมจะให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล

    ต่อมา เวลา 16.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้กำหนดนัดฟังคำสั่งขอประกันตัวดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (14 ม.ค. 65) ในเวลา 14.00 น.

    ขณะเดียวกันที่ศาลอาญา ทนายความยังได้เข้ายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเบนจา ในอีกคดีหนึ่งที่เธอถูกออกหมายขัง ได้แก่ คดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีชุมนุมหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 หลังเธอถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุดของข้อหานี้ และคดียังอยู่ระหว่างรออุทธรณ์คำพิพากษา

    ต่อมา ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเบนจา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัว 50,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ทำให้เธอยังเหลือหมายขังรวมในอีกสองคดีข้างต้น โดยถูกถูกคุมขังมารวมเป็นระยะเวลา 98 วันแล้ว

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1974/2564 ลงวันที่ 13 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/39555)
  • เวลา 14.15 น. สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเบนจาทั้งสองคดีที่ยื่นประกันวานนี้ โดยมีวงเงินประกันคดีละ 100,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ระบุว่า พิเคราะห์แล้ว ตามคําร้องประกอบคําร้องขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวของจําเลย ระบุว่า จําเลยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จําเลยลงทะเบียนเรียน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จํานวน 3 วิชา ตามหนังสือรับรองการเป็นนักศึกษา มีภาระต้องเข้าเรียน จัดทํารายงานรายวิชาและเข้าสอบตามที่คณะและมหาวิทยาลัยกําหนดและจําเป็นต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ในการเรียนการสอนไม่สามารถเรียนภายในเรือนจําได้ ทั้งยังต้องมีการวัดผลด้วยการสอบกลางภาคและสอบปลายภาคด้วย

    หากจําเลยต้องถูกคุมขังจะไม่สามารถศึกษาต่อตามที่มหาวิทยาลัยกําหนด อันจะทําให้จําเลยไม่สามารถสําเร็จการศึกษาได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษาและอนาคตของจําเลย โดยจําเลยยินยอมที่จะไม่ทํากิจกรรมหรือก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะไม่เข้าร่วมชุมนุม ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ยินยอมให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ และกําหนดเงื่อนไขใดๆ ที่ศาลกําหนด โดยพร้อมจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

    จําเลยขอให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้รับรอง และกํากับดูแลให้จําเลยปฏิบัติตามคําสั่งศาล ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร จันทรสุข ยินยอมที่จะเป็นผู้กํากับดูแล

    เมื่อพิจารณาถึงเหตุจําเป็นตามคําร้องของจําเลยแล้ว เห็นว่าหากจําเลยต้องถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีย่อมต้องมีผลกระทบต่อการศึกษาของจําเลย อาจถึงขั้นไม่สามารถสําเร็จการศึกษาได้ เมื่อจําเลยยินยอมปฏิบัติตามคําสั่งและเงื่อนไขของศาลทุกประการ จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยระหว่างพิจารณา โดยตีราคาประกัน 100,000 บาท ยึดหลักประกันและทําสัญญาประกัน โดยกําหนดเงื่อนไข ข้อห้ามและในช่วงเวลาจํากัด เพื่อมิให้จําเลยมีโอกาสไปกระทําการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกับคดีนี้อีก โดยให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลย มีผลตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 22 พ.ค. 2565 และให้ผู้ประกันหรือผู้กํากับดูแลนำตัวจําเลยมาส่งศาลภายในวันที่ 23 พ.ค. 2565 เวลา 12.00 น.

    1. ห้ามจำเลยทํากิจกรรมหรือก่อเหตุที่จะกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
    2. ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18.00 – 6.00 น. เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปเรียนและไปสอบ หรือเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล และให้จําเลยกลับเคหสถานทันที เมื่อปฏิบัติภารกิจในเหตุจําเป็นเสร็จสิ้น
    4. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
    5. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)
    6. ตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร จันทรสุข เป็นผู้กํากับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคําสั่งศาล

    ทั้งนี้ ให้จําเลยมารายงานตัวต่อศาล เพื่อสอบถามเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อห้ามที่ศาลกําหนดในการปล่อยตัวชั่วคราว ในวันที่ 15 มี.ค. 2565 เวลา 10.00 น.

    เบนจาได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางในช่วงค่ำ รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังทั้งสิ้น 99 วัน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1974/2564 ลงวันที่ 14 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/39573)
  • เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 28 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้วถามคําให้การ เบนจาให้การปฏิเสธตามคําให้การที่ยื่นต่อศาลฉบับลงวันที่วันนี้

    โจทก์แถลงว่า ประสงค์จะอ้างพยานเอกสารรวม 22 ฉบับ วัตถุพยาน 3 รายการ และติดใจสืบพยานบุคคลรวม 11 ปาก ทนายจําเลยแถลงว่า จะสืบพยานบุคคล 11 ปาก พยานบางอันดับซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนิติบุคคล จําเลยจะขอออกหมายเรียกเฉพาะผู้ถือหุ้นบุคคลสําคัญมาเบิกความต่อไป และจําเลยส่งพยานเอกสารรวม 3 ฉบับ ศาลพิจารณาแล้วให้กําหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ 3 นัด และสืบพยานจําเลย 2 นัด โดยกำหนดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 5-7 ก.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 8 และ 12 ก.ย. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1974/2564 ลงวันที่ 28 มี.ค. 2565)
  • อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 6 ปาก ในระหว่างวันที่ 5 – 7 ก.ย. 2566 และจำเลยอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความต่อสู้ด้วยตนเองในนัดสืบพยานวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2566

    โจทก์นำสืบว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19 และมีการมั่วสุมกันมากเกินกว่า 5 คน โดยจำเลยกับพวกได้ทำการปราศรัยอ่านประกาศของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีเจตนาว่าร้ายกษัตริย์ว่าเป็นผู้หมกหมุ่นในการแสวงหาอำนาจกับบริวาร ทหารผู้บังคับบัญชาระดับสูง และข้าราชการระดับสูง ไม่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร ไม่ใส่ใจในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร

    ส่วนด้านจำเลยต่อสู้ว่า ประกาศทั้งหมดที่ปราศรัยมีเจตนาเดียวเท่านั้นคือต้องการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มีข้อเรียกร้องใดที่ต้องการเรียกร้องต่อพระมหากษัตริย์แม้แต่ข้อเดียว

    ++ผู้กล่าวหายอมรับว่าเป็นผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองกับจำเลยจึงเข้าแจ้งมาตรา 112

    มะลิวัลย์ หวาดน้อย อาชีพรับจ้าง ผู้กล่าวหา เบิกความว่า พยานเป็นสมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) เข้าร่วมตั้งแต่ปี 2563 โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนหรือสมัครสมาชิก เพียงแค่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ก็สามารถเข้าร่วมกับกลุ่มได้แล้ว กลุ่มมี อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นหัวหน้า ซึ่งจะจัดกิจกรรมแจ้งความคดีมาตรา 112 อยู่บ่อยครั้ง และหากมีใครแจ้งเบาะแสเข้ามา ทางกลุ่มก็จะไปดำเนินการแจ้งความตามที่ได้รับรายงานจากบนเฟซบุ๊กและไลน์ของกลุ่ม

    พยานเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีจำเลยในคดีนี้ที่ สน.ทองหล่อ เนื่องจากในวันที่ 11 ส.ค. 2564 พยานได้ไปทำธุระบริเวณย่านอโศก และได้เล่นโทรศัพท์ ก่อนจะได้เห็นคลิปของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พยานดูคลิปแล้วเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112

    ทั้งนี้ มะลิวัลย์ได้พบเห็นคลิปเหตุการณ์การชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยมีจำเลยขึ้นปราศรัยที่หลังรถบรรทุกซึ่งจอดอยู่บริเวณหน้าตึกซิโน – ไทย ในเวลาประมาณ 14.00 – 16.00 น. ในคลิปดังกล่าวมีแกนนำหลายคนขึ้นอ่านแถลงการณ์และปราศรัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 มีผลประโยชน์กับกลุ่มนายทุน

    จากนั้นพยานได้ปรึกษากับสมาชิกกลุ่ม ศปปส. และไปร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ โดยนำคลิปวิดีโอ และภาพถ่ายซึ่งบันทึกลงแผ่นซีดี พร้อมทั้งบันทึกคำปราศรัยของจำเลย ซึ่งพยานเป็นคนถอดเทปด้วยตนเอง มอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ด้วย

    มะลิวัลย์ตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า กลุ่ม ศปปส. ไม่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิหรือกลุ่มใด ๆ ทางกฎหมาย พยานไม่สามารถระบุจำนวนสมาชิกของกลุ่มได้ แต่ทราบว่ามีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ และไม่ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนในระบบของกลุ่มแต่อย่างใด

    พยานยอมรับด้วยว่า กลุ่ม ศปปส. เคยเข้าให้การและแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนในข้อหาตามมาตรา 112 มาแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 20 – 30 คดี ปิยกุล วงษ์สิงห์ พยานที่จะมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ศปปส. และรู้จักกับพยานมาก่อน

    พยานกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกัน โดยแตกต่างกันในข้อเรียกร้องทางการเมือง เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 1, 2, 6 และ 50 จะกำหนดไว้ว่าอย่างไร พยานไม่ขอตอบ เนื่องจากเกรงว่าจะคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้

    เหตุที่พยานเข้าแจ้งความในคดีนี้ เนื่องจากจำเลยกล่าวเรื่องไม่จริง และกล่าวหาว่าประเทศไทยตกต่ำเพราะการบริหารราชการแผ่นดินของทรราช โดยมีกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นการใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ว่าเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง นายทุน

    อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า คำปราศรัยของจำเลยไม่ได้มีเนื้อหาตามที่พยานเบิกความ เป็นการตีความของพยานเอง และหากอ่านคำปราศรัยทั้งหมด จะพบว่ามุ่งวิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่ได้ทำได้ดีเท่ากับประเทศอื่น ๆ ไม่ได้มุ่งหมายถึงรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด

    ระหว่างนั้นสมาชิกของกลุ่ม ศปปส. ยกมือขึ้นพูดกับศาลว่า ทนายจำเลยกำลังคุกคามพยานโจทก์อยู่ ทนายจำเลยจึงถามว่า เขาทำสิ่งใดที่เป็นพฤติกรรมคุกคาม ในเมื่อเพียงแค่ยืนเท้าแขนกับคอกพยานเท่านั้น และไม่ได้ใช้วาจาหรือท่าทีใดที่เป็นการคุกคามพยานโจทก์ ศาลกล่าวขึ้นว่า ขอให้ทุกคนที่อยู่ในห้องพิจารณาอยู่ในความสงบ ศาลดูอยู่ตลอด ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์คุกคามเกิดขึ้นจริง ศาลจะเป็นคนควบคุมเอง

    มะลิวัลย์ตอบทนายจำเลยถามค้านต่อว่า พยานไม่ทราบว่า การที่กลุ่มแนวร่วมฯ จัดการชุมนุมและเคลื่อนขบวนไปที่บริเวณหน้าตึกของบริษัทซิโน – ไทย ก็เนื่องมาจากว่าเจ้าของบริษัทดังกล่าวคืออนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น

    และพยานก็ไม่ทราบว่า ในขณะที่อนุทินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จนมีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก และทำให้มีประชาชนรวมตัวกันไปประท้วงเพื่อร้องเรียนเรื่องการบริหารจัดการควบคุมโรคระบาดดังกล่าว

    ทั้งนี้ ศาลได้โต้แย้งกับทนายว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของคดี ขอให้ทนายถามให้เกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 แต่ทนายแถลงว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญของคดี และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2564 ขึ้น นอกจากนี้ในบันทึกการถอดเทปที่มะลิวัลย์ได้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวน ก็เป็นเพียงการถอดเทปแค่ส่วนเดียวเท่านั้น หากไปดูถ้อยคำปราศรัยทั้งหมดของจำเลยจะพบว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อจะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเท่านั้นเอง

    จำเลยได้ยกมือแถลงต่อศาลด้วยว่า จำเลยไม่สบายใจที่สมาชิกกลุ่ม ศปปส. ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีในวันนี้เดินเข้าออกห้องพิจารณาตลอดเวลา เนื่องจากพยานโจทก์ปากถัดไปกำลังรออยู่ที่หน้าห้องพิจารณา และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ศปปส. การที่บุคคลดังกล่าวเดินเข้าออกแบบนี้ เกรงว่าจะไม่เป็นผลดีต่อการสืบพยานของจำเลยเอง และเกรงว่าบุคคลที่เดินเข้าออกจะนำคำถามค้านไปเตรียมให้กับพยานโจทก์ปากถัดไปได้รับรู้ไว้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับการต่อสู้คดีของจำเลย

    ทั้งนี้ สมาชิกคนดังกล่าวได้ตอบศาลว่า เขาจะเพียงแค่เดินไปเข้าห้องน้ำเท่านั้น ซึ่งจำเลยโต้ว่าหากจะออกไปในครั้งนี้ ก็ขอให้ออกไปเลยได้หรือไม่ เพราะในคดีอื่น ๆ สมาชิกกลุ่ม ศปปส. ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี มักจะเดินเข้าออกห้องพิจารณา เพื่อไปพูดคุยเตรียมคำถามให้กับพยานโจทก์ที่กำลังรออยู่หน้าห้องพิจารณา จำเลยขอยืนยันว่า กลุ่มดังกล่าวเคยทำพฤติกรรมแบบนี้มาก่อนแล้ว โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 คดีอื่น ๆ ที่เบนจาก็เป็นหนึ่งในจำเลย

    ศาลอนุญาตให้สมาชิกคนดังกล่าวเดินออกไปเข้าห้องน้ำได้ และกำชับกับทุกคนในห้องพิจารณาว่า ขอให้อยู่ความสงบ แต่สมาชิกอีกคนหนึ่งยกมือแถลงกับศาลว่าตลอดการพิจารณาคดีนี้ เขาเห็นจำเลยเล่นโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา จำเลยได้ลุกขึ้นแถลงตอบกับศาลว่า ตัวเองเพียงแค่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจดบันทึกการต่อสู้คดีนี้เท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อเล่นโซเชียลหรือทำสิ่งอื่นใด ซึ่งศาลได้ตอบอนุญาตให้จำเลยใช้ในการจดบันทึกการสืบพยานได้ และบอกกับผู้สังเกตการณ์คดีจากกลุ่ม ศปปส. ว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้ผิดอะไร

    ทนายได้ถามคำถามสุดท้ายกับพยานปากนี้ว่า ในวันที่ไปแจ้งความกล่าวโทษกับจำเลยในคดีนี้ พยานยอมรับได้หรือไม่ว่าไม่ได้ฟังคำปราศรัยของจำเลยทั้งหมด ฟังเพียงแค่ช่วงเดียวที่มีการเอ่ยพระนามของรัชกาลที่ 10 เท่านั้น พยานตอบว่า ใช่

    ++อีกหนึ่งผู้กล่าวหาชี้ว่า ประกาศของกลุ่มแนวร่วมฯ เป็นการพาดพิงกษัตริย์ แต่ยอมรับว่าที่จำเลยพูดไม่มีข้อเรียกร้องกล่าวถึงกษัตริย์เลย

    ปิยกุล วงษ์สิงห์ อาชีพรับจ้าง อยู่ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ เบิกความว่า เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. เป็นปีที่ 3 แล้ว กลุ่มตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะ เนื่องจากว่าในปี 2563 มีการพูดล่วงเกิน จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์มากมาย จึงทำให้กลุ่มของพยานก่อตั้งขึ้น

    พยานเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เนื่องจากไปทำธุระกับมะลิวัลย์แถวอโศก และได้เล่นโซเชียลจนไปเจอคลิปวิดีโอของกลุ่มผู้ชุมนุมจากเพจราษฎร คลิปดังกล่าวเป็นการปราศรัยของจำเลยในคดีนี้ แต่พยานไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน เคยเห็นเพียงในสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น

    คำปราศรัยของจำเลยกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 10 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีน พยานเห็นว่าเป็นการพาดพิง ด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และก่อนมาแจ้งความพยานก็ได้นำเรื่องเข้าปรึกษากับกลุ่ม ศปปส. ก่อนที่จะดำเนินการแจ้งความแล้ว

    ปิยกุลตอบทนายจำเลยถามค้านในเวลาต่อมาโดยรับว่า คำให้การของพยานในชั้นสอบสวนเหมือนกับคำให้การของมะลิวัลย์ พยานได้ดูคลิปเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่จำเลยปราศรัยในเวลาประมาณ 14.00 – 15.00 น. โดยพยานได้ดูที่จำเลยปราศรัยทั้งหมด

    คำปราศรัยทั้งหมดของจำเลยไม่ได้พูดถึงกษัตริย์เพียงคนเดียว แต่กล่าวถึงรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ด้วย และเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับวัคซีนโควิด ไม่ได้มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60958)
  • ++สารวัตรสืบสวน สน.ทองหล่อ เบิกความยอมรับว่าเนื้อหาการปราศรัยมุ่งเน้นข้อเรียกร้องวัคซีนโควิดและการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

    พ.ต.ท.อัครพล ธนธรรม สารวัตรสืบสวน สน.ทองหล่อ เบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้หาข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยได้ทราบวันนัดหมายการชุมนุมผ่านเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดกำลังเฝ้าระวังการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ตลอดจนแยกอโศก

    พยานได้รับรายงานว่า ขบวนคาร์ม็อบของกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามาในพื้นที่ของ สน.ทองหล่อ ในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. โดยพยานได้พบเห็นรถจักรยานยนต์ และรถยนต์จำนวนมาก จึงได้ทำการปิดถนนตั้งแต่หน้าอาคารซิโน – ไทย จนถึงแยกอโศก ในบริเวณดังกล่าวมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยฉีดสเปรย์ใส่หุ่นไล่กาเพื่อแสดงออกเชิงการเมือง

    ที่หน้าอาคารซิโน – ไทย พยานเห็นจำเลยขึ้นพูดปราศรัยที่หลังรถกระบะ โดยมีการแจกใบปลิวข้อความที่จำเลยพูดให้กับผู้ชุมนุมที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งคำปราศรัยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น พร้อมทั้งมีการกล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย

    พยานได้บันทึกภาพการชุมนุม ส่วนคลิปวิดีโอการปราศรัยพยานได้มาจากเพจสำนักข่าวราษฎร และนำมาถอดเทปว่าแกนนำหรือนักกิจกรรมปราศรัยอะไรบ้าง โดยมี ส.ต.ท.ศิรวัฒน์ ศรีมาด ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานเป็นผู้ถอดเทป

    จากนั้นพยานจัดทำรายงานการสืบสวน โดยภาพหลักฐานต่าง ๆ นำมาจากเพจสำนักข่าวราษฎรและเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมด้วย และนอกจากกลุ่มแนวร่วมฯ แล้ว ในการชุมนุมครั้งนี้ได้มีกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกเข้าร่วมทำกิจกรรมตุ๊กตาไล่ฝนที่บริเวณหน้าอาคารซิโน – ไทย ด้วย

    เนื้อหาของการปราศรัยในวันชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยโจมตีไปที่การจัดการวัคซีนโควิด – 19 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น เหตุผลที่ขบวนของผู้ชุมนุมไปหยุดอยู่ที่อาคารซิโน – ไทย เนื่องจากอาคารดังกล่าวเป็นธุรกิจครอบครัวของรัฐมนตรีสาธารณสุข

    พ.ต.ท.อัครพล ตอบทนายจำเลยถามค้านต่อมาว่า มีการประกาศนัดหมายชุมนุมในเพจเฟซบุ๊ก ไม่ใช่เฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย และคนที่ขึ้นปราศรัยในวันชุมนุมก็มีหลายคน ไม่ได้มีแค่จำเลยเพียงคนเดียว ทั้งบริเวณพื้นที่การชุมนุมก็เป็นพื้นที่เปิดโล่ง คนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมชุมนุมส่วนใหญ่ก็สวมใหญ่หน้ากากอนามัย

    การชุมนุมในวันดังกล่าวจะมีผู้ใดติดเชื้อโควิด – 19 หรือไม่ พยานไม่ทราบ และไม่ได้รับรายงานในเรื่องนี้ ซึ่งรูปแบบการชุมนุมเป็นคาร์ม็อบ ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะเคลื่อนตัวโดยอยู่บนรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ของตนเอง ไม่ได้ใกล้ชิดกัน และเมื่อทำกิจกรรมเสร็จสิ้นก็จะแยกย้ายไม่มีความวุ่นวาย

    ++เจษฎ์ นักวิชาการ เห็นว่าจำเลยมุ่งหมายกล่าวหา ร.10 โดยเฉพาะเรื่องการหาผลประโยชน์กับกลุ่มศักดินา

    เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น เบิกความว่า ตนเป็นอาจารย์สอนกฎหมายมา 23 ปีแล้ว วิชาที่สอนได้แก่ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งทั่วไป กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

    เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้เรียกให้พยานไปให้ความเห็นทางกฎหมาย โดยให้พยานฟังคลิปเสียง และดูข้อความที่จำเลยปราศรัย พยานดูแล้วเห็นว่า โครงสร้างของข้อความที่จำเลยปราศรัย เป็นลักษณะเดียวกับประกาศฉบับที่ 1 ของคณะราษฎรเมื่อปี 2475

    ประกาศฉบับดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการปกครองบ้านเมืองมุ่งหวังโจมตีรัชกาลที่ 7 ซึ่งทางคณะราษฎรได้เคยออกมายอมรับว่าได้มีการล่วงเกินรัชกาลที่ 7 ในขณะเดียวกันการปราศรัยของจำเลยก็เป็นการกล่าวที่กระทบต่อรัชกาลที่ 10 ในลักษณะเดียวกัน

    อีกทั้งในคำปราศรัยของจำเลยมีการกล่าวถึงนายทุน ขุนศึก ศักดินา ซึ่งเมื่อมีการพูดถึงศักดินา พยานอธิบายตามความเข้าใจว่า บนยอดของศักดินาก็คือกษัตริย์ ซึ่งประโยคที่พยานเห็นว่าสำคัญและเข้าข่ายหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 คือประโยคที่กล่าวว่า เหตุแห่งความตกต่ำทั้งหมดนั้น เป็นเพราะรัฐบาลทรราชอันมีประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    นอกจากนี้ พยานยังเห็นว่า ในท้ายคำปราศรัยได้มีการพยายามขมวดปม โดยกล่าวว่า ทรราชทั้งหลายจงออกไปจากประเทศนี้ และประชาชนจะกลับมาเป็นใหญ่ ไม่เป็นฝุ่นใต้ตีนใครอีกต่อไป และปิดท้ายด้วยประโยคว่า ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

    จากนั้น เจษฎ์ตอบทนายจำเลยถามค้านโดยรับว่า พยานไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานศาลยุติธรรม นอกจากนั้น พยานเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่กฎหมายอาญา ไม่มีงานวิจัยที่เป็นผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และมาตรา 112 แต่เคยมีผลงานในวารสารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Bangkok Post เรื่องมาตรา 112 ทั้งยังเคยมีประสบการณ์ไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับมาตราดังกล่าวที่ประเทศฮ่องกง และไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักของกลุ่มผู้ชุมนุม

    พยานเคยไปให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนมาแล้วหลายคดี จำไม่ได้ว่ากี่คดีแล้ว มีบางคดีที่พยานมีความเห็นว่า ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112

    เกี่ยวกับประกาศคณะราษฎร 2475 ฉบับที่ 1 ในขณะประกาศนั้นอยู่ในช่วงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ปัจจุบันเป็นระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม พยานเห็นว่า ประกาศของคณะราษฎร 2475 กับของกลุ่มแนวร่วมฯ มีความคาบเกี่ยวกัน

    ทนายจำเลยขอให้พยานอธิบายถึงความคาบเกี่ยวของประกาศทั้งสองฉบับ พยานตอบว่า ที่มีการกล่าวถึงขุนศึกและศักดินา พยานเห็นว่า ในชนชั้นศักดินาจะมีหลายรูปแบบ แต่ทุกที่ไม่ว่าที่ไหนในโลกกษัตริย์จะถือเป็นชนชั้นที่สูงที่สุด

    ทนายจำเลยถามต่อว่า ศักดินามีกี่ชั้นพัน ยศ และปัจจุบันในประเทศไทย สังคมยังมีศักดินาอยู่หรือไม่ พยานตอบว่า ทุกที่มีศักดินา แต่เราไม่ยอมรับว่ามันมีแทรกอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘ศักดินาใหม่’ คือการเทียบโครงสร้างสังคมเดิม

    ทนายจึงถามอีกว่า ตามความเข้าใจของพยาน ศักดินาใหม่ หมายถึง นายกฯ หรือคนใหญ่คนโตได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ทั้งนี้ พยานเคยให้การในชั้นสอบสวนว่า การชุมนุมในคดีนี้ไม่มีข้อเรียกร้องใดที่เรียกร้องถึงสถาบันกษัตริย์

    พยานเห็นว่าการทำรัฐประหารไม่เป็นทรราช

    ต่อมา เจษฎ์ตอบอัยการถามติงว่า ก่อนที่จะไปให้ความเห็นในฐานะพยาน พยานต้องทำการศึกษาเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และต้องอ่านย้อนไปนานมาก เพราะคำว่า ‘lèse-majesté’ ไม่มีแล้วในโลกนี้ ดังนั้น เมื่อพูดถึงมาตรา 112 จะต้องพูดถึงกฎหมายการหมิ่นประมาท ซึ่งต้องไปเทียบกับกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป และที่ต้องไปอยู่ในหมวดความมั่นคง ก็เป็นเพราะกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ เวลาพูดถึงควรจะต้องมีความระมัดระวัง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60958)
  • ++นายทหารบำนาญเห็นว่าคำปราศรัยไม่ควรเอ่ยชื่อ ร.10 แม้แถลงส่วนใหญ่วิจารณ์รัฐบาล

    พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย ปัจจุบันเป็นนายทหารบำนาญ เบิกความว่า พยานมีความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษาบาลี และถูกตำรวจเรียกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้

    ในเรื่องของสถาบันกษัตริย์ พยานมีความรู้พื้นฐานเทียบเท่ากับประชาชนทั่ว ๆ ไป ส่วนที่มาเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ได้ เนื่องจากว่าพยานรับราชการเป็นทหารเรือที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มาอย่างยาวนาน และมีความใกล้ชิดมากกว่าคนทั่วไป

    เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้นำแถลงการณ์ของจำเลยมาให้พยานได้อ่าน และแสดงความคิดเห็นว่ารู้สึกอย่างไร พยานก็ได้ลงความเห็นไว้ว่าหากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และนักการเมือง คนทั่วไปย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลเหล่านั้นได้

    แต่ในแถลงการณ์ พยานเห็นว่ามีข้อความที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และเป็นการกล่าวถึงที่ไม่ถูกต้อง เข้าข่ายหมิ่นประมาทประมุขในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงเห็นว่าข้อความตามฟ้องเป็นความผิดตามมาตรา 112 และจำเลยไม่ควรพูดแบบนี้

    ทั้งนี้ พยานได้ยกตัวอย่างประโยคในแถลงการณ์ของจำเลยที่เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อความในทำนองว่า การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมาจากการตัดสินใจของประชาชน ไม่ใช่การตัดสินใจของกษัตริย์ ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยพูดให้คนเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

    ต่อมา พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ต้องทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

    อย่างไรก็ตาม หากจำเลยต้องการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบเรื่องการเมือง

    รัฐบาลที่มาจากวิธีการอื่นใดที่ไม่ใช่การเลือกตั้งของประชาชน ล้วนไม่ใช่รัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

    พยานไม่ทราบถึงบริบทและเจตจำนงของการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 และจำไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมอะไร แต่เห็นว่าไม่ควรเอ่ยคำปราศรัยตามฟ้อง ก่อนจะยอมรับกับทนายจำเลยว่า การชุมนุมดังกล่าวและแถลงการณ์ของจำเลยที่อ่านในที่ชุมนุม เป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทั้งหมด ไม่ได้มีส่วนใดที่เรียกร้องต่อพระมหากษัตริย์

    พยานรับใช้และใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 แต่ไม่เคยได้ยินพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ที่ว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์สามารถทำได้

    ++พนักงานสอบสวน รับว่าไม่ทราบเรื่องหลักเกณฑ์คัดเลือกพยานโจทก์ในคดีนี้

    พ.ต.ต.ภิชาภัช ศรีคำขวัญ สารวัตรสอบสวน สน.ทองหล่อ เบิกความว่า พยานเป็นพนักงานสอบสวนที่สอบปากคำ มะลิวัลย์ หวาดน้อย ผู้แจ้งความร้องทุกข์ แต่ไม่ได้เป็นคนรับแจ้งความ คนที่รับแจ้งความคือ พ.ต.ท.ศุภชัย หาญคำหล้า ซึ่งในการดำเนินคดีนี้ พยานได้รวบรวมหลักฐานเป็นแถลงการณ์ที่จำเลยปราศรัย เมื่อดูแล้วเห็นว่าเข้าข่ายตามมาตรา 112 ก็ได้ทำรายงานส่งให้ผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาก็ได้ลงความเห็นว่าเป็นการกระทำผิดตามมาตราดังกล่าว

    พยานจึงดำเนินการออกหมายเรียกจำเลยมาเข้าพบ แต่จำเลยไม่ได้มาตามหมายเรียก จึงได้มีการออกหมายจับ และสามารถดำเนินการจับกุมตัวจำเลยได้เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    พ.ต.ต.ภิชาภัช ยอมรับกับทนายจำเลยว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีสำคัญ ซึ่งตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนพิเศษขึ้นมาเพื่อทำสำนวนคดีนี้โดยเฉพาะ ส่วนการสั่งฟ้องจะอยู่ในการพิจารณาของผู้บังคับบัญชา

    การพิจารณาว่าจะต้องไปสอบปากคำผู้ใดเป็นพยานบ้างเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการและผู้บังคับบัญชา พยานไม่ทราบว่ามีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกอย่างไร อาจเป็นการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนที่เห็นว่า กลุ่มพยานโจทก์เหล่านี้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญจึงได้เรียกมาเป็นพยาน และในตอนที่มีการคัดเลือกพยานโจทก์ พยานก็ไม่ทราบว่ามีรายชื่อมาให้คัดเลือกกันกี่คน เพราะไม่ได้เข้าร่วมประชุมคัดเลือกด้วย

    พยานยอมรับว่าได้เห็นประวัติของเจษฎ์แล้ว และทราบว่าเจษฎ์ไม่ได้จบหรือเชี่ยวชาญในสาขากฎหมายอาญา แต่พยานก็ไม่ได้เรียกสอบปากคำบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญกฎหมายอาญาคนอื่นแต่อย่างใด เห็นว่าเพียงตำแหน่งคณบดีของเจษฎ์ก็เพียงพอแล้วสำหรับการให้ข้อมูลในคดีนี้

    พยานไม่ได้สอบปากคำบุคคลอื่นเพิ่มเติมอีกแล้วนอกจากปากผู้กล่าวหา และยอมรับว่าคำให้การของสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ที่ให้การกับพนักงานสอบสวนเหมือนกันทุกประการ ส่วนเรื่องพื้นที่การชุมนุมบริเวณตึกซิโน – ไทย จะมีใครเป็นเจ้าของอาคาร พยานไม่ทราบ และก็ไม่ทราบด้วยว่า ในการชุมนุมมีความเสี่ยงแพร่โรคระบาดหรือไม่ เนื่องจากพยานไม่ได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไว้

    ++จำเลยยืนยันเจตนาเพื่อต้องเรียกร้องวัคซีนให้ประชาชน ขอให้รัฐบาลเห็นหัวประชาชนบ้างเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเรียกร้องใดถึงกษัตริย์อย่างที่ถูกกล่าวหา

    เบนจา อะปัญ เข้าเบิกความในฐานะพยานจำเลย ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    เบนจาเบิกความว่า จำเลยทราบว่ากลุ่ม ศปสส. เป็นกลุ่มเกี่ยวกับปกป้องสถาบันฯ มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน และมักจะเข้าแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนหลาย ๆ คน ส่วนตัวจำเลยไม่เคยมีเหตุกระทบกระทั่งกับกลุ่ม ศปปส. มาก่อน แต่เคยเห็นกลุ่มเพื่อนกับคนอื่น ๆ ทะเลาะกับกลุ่มดังกล่าวอยู่บ้าง ในช่วงเดือนตุลาคม 2563

    จำเลยทราบว่า พยานโจทก์ปากเจษฎ์ มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกับจำเลย เนื่องจากพยานคนดังกล่าวเคยออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า การรัฐประหารของประยุทธ์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ซึ่งจำเลยมีความคิดเห็นว่าการรัฐประหารคือการล้มล้างการปกครองที่แท้จริง

    การชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2564 จัดขึ้นในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จริง แต่ประเทศไทยในขณะนั้นก็มีการบริหารจัดการวัคซีนที่ย่ำแย่ ซึ่งเป็นการบริหารงานของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น จึงเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ไปประท้วงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าอาคารซิโน – ไทย เพราะเป็นบริษัทของเครือญาติอนุทิน อย่างไรก็ตาม กลุ่มของจำเลยไม่ได้ประท้วงเรียกร้องแค่กับอนุทิน แต่เรียกร้องถึงคณะรัฐบาลทั้งหมดในขณะนั้น

    เบนจาอธิบายการอ่านประกาศในการชุมนุมดังกล่าวว่า เป็นการเรียกร้องเรื่องวัคซีน และการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลประยุทธ์ หากได้ฟังและอ่านทั้งหมด จะเห็นจุดประสงค์ของการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโควิด

    ข้อความ “เหตุแห่งความตกต่ำ” จำเลยพูดถึงรัฐบาลประยุทธ์ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ และคำพูดที่ว่า ไม่ได้บริหารราชการแผ่นดินเหมือนที่ประเทศอื่น ๆ ทำ ก็ไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง

    และที่มีคำว่า รัฐบาลประยุทธ์คือทรราช ภายใต้กษัตริย์เป็นประมุข จำเลยไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการกล่าวถึง “ระบอบ” ซึ่งเป็นการพูดถึง Constitutional Monarchy ประโยคดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาที่จะว่าร้ายรัชกาลที่ 10 และเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่มีอยู่ในเนื้อหาแถลงการณ์ ก็ไม่ได้กล่าวขึ้นมาลอย ๆ แต่เป็นการพูดตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 และ 3

    ส่วนข้อความที่กล่าวถึงการเลือกรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีย่อมต้องไม่มาจากการเลือกของกษัตริย์ จำเลยอธิบายว่า ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็ต้องมาจากการคัดสรรของประชาชน ไม่ใช่กษัตริย์อยู่แล้ว และต้องไม่ใช่ที่มาจากการรัฐประหารด้วย

    ส่วนที่ได้กล่าวว่า ‘เช่น’ ก็เป็นการยกตัวอย่างเพียงเท่านั้น ซึ่งการรัฐประหารของประยุทธ์ ก็ไม่ใช่วิถีทางของประชาธิปไตย เพราะเป็นการยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชนมา

    จำเลยเบิกความยืนยันว่า ข้อเรียกร้องทั้งหมดในแถลงการณ์ไม่มีข้อใดที่เรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์ และจำเลยได้ทราบว่าในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้เคยตรัสว่า พระมหากษัตริย์ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทั้งทรงได้ตรัสอีกว่ายิ่งใช้มาตรา 112 ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์มากเท่านั้น

    จำเลยยืนยันอีกว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุมีลักษณะเป็นคาร์ม็อบที่ทุกคนจะเข้าร่วมโดยการใช้ยานพาหนะส่วนตัว และตอนที่จำเลยอยู่ท้ายรถกะบะ ก็ได้ใส่หน้ากากอนามัยมิดชิด ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็ใส่หน้ากากอนามัย ตั้งแต่เริ่มกิจกรรมจนจบ ไม่มีผู้ชุมนุมสร้างความวุ่นวายใด ๆ และจากที่จำเลยทราบก็ไม่มีรายงานว่ามีคนติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้
    .
    เสร็จการสืบพยาน ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 30 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60958)
  • เวลา 09.30 น. มีสื่อมวลชนหลายสำนักข่าวติดตามสังเกตการณ์อยู่รอบบริเวณรั้วศาล โดยมีประชาชน นักวิชาการ และเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาร่วมให้กำลังใจและสังเกตการณ์คดีเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล”, “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” สื่อมวลชนอิสระ และ “พวงทอง ภวัครพันธุ์” นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    เวลา 10.20 น. เบนจาเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี 402 พร้อมกับเพื่อน ๆ โดยศาลได้เรียกให้เบนจาแสดงตัวก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา ศาลได้ถามกับเบนจาว่า อยากกลับไปเรียนหรือไม่ ซึ่งเบนจาตอบว่า ก็ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาในวันนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

    ศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษามีใจความสำคัญระบุว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และคำเบิกความของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวมีการเตรียมการ วางแผน โดยกลุ่มของจำเลยได้ทำการเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมผ่านเพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อแสดงจุดมุ่งหมายกดดันและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ให้ทบทวนการบริหารงานของตนเอง

    และจากการเบิกความของจำเลยรับฟังได้ว่า จำเลยและพวกได้รวมตัวกันประกาศเชิญชวน ทำแถลงการณ์และคำปราศรัยแจกจ่ายให้กับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณพื้นที่ชุมนุม โดยไม่มีการอธิบายถึงสิ่งที่แจกจ่ายออกไป การกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม

    และแม้ว่าจำเลยจะเบิกความถึงลักษณะการชุมนุมที่เป็นในรูปแบบคาร์ม็อบ ซึ่งไม่ได้สร้างความวุ่นวายหรือเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19 แต่จำเลยก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ในการชุมนุมมีมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างไร และจำเลยย่อมรู้ดีว่า ในการชุมนุมจะมีกลุ่มคนจำนวนมากเข้าร่วมชุมนุม แม้จำเลยจะเบิกความว่า ผู้ชุมนุมได้แสดงความรับผิดชอบโดยใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างแล้ว แต่จำเลยไม่สามารถควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ กิจกรรมดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19

    ทั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์คำปราศรัยของจำเลยตามฟ้อง รับฟังได้จากพยานโจทก์ซึ่งเบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า คำปราศรัยของจำเลยเป็นการพูดด้อยค่า และดูหมิ่นกษัตริย์ โดยมีเจตนาพูดถึงรัชกาลที่ 10 โดยตรง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    และมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ อีกทั้งในมาตรา 50 ยังได้บัญญัติกำหนดหน้าที่ของชนชาวไทยที่ต้องพิทักษ์และธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดความมั่นคงยังได้บัญญัติข้อกฎหมายพิเศษเพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ไว้ในมาตรา 112 ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า รัชกาลที่ 10 ดำรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ประชาชนจะต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ การกระทำของจำเลยเป็นสิ่งมิบังควร

    ในส่วนที่จำเลยได้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ตามฟ้อง ศาลเห็นว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์ แม้จำเลยจะเบิกความว่า คำปราศรัยมุ่งหมายเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยไม่ได้มีข้อเรียกร้องใดที่กล่าวถึงพระมหาษัตริย์โดยตรง แต่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลย่อมสามารถทำได้โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อหรือมีถ้อยคำที่มุ่งหมายถึงรัชกาลที่ 10 จำเลยไม่มีเหตุให้ต้องใช้สถาบันกษัตริย์มาเปรียบเทียบเพื่อให้กษัตริย์เสื่อมเสียและทำให้ประชาชนเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงไม่ใส่ใจราษฎร หมกมุ่นแต่การแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจกับกลุ่มมหาเศรษฐีและข้าราชการชั้นสูง

    เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว การกระทำของจำเลยมีความผิดตามฟ้อง เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ในความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ในข้อหาตามมาตรา 112 คงจำคุก 2 ปี และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท

    พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ เห็นว่า จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุเพียง 21 ปีเศษ เชื่อว่า กระทำไปโดยขาดวุฒิภาวะ และอยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

    ทั้งนี้ ในส่วนของค่าปรับนั้น เนื่องจากเบนจาถูกขังในระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีเป็นเวลา 99 วันแล้ว แต่เมื่อศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษจำคุก จึงให้หักค่าชดเชยการถูกขังชำระแทนค่าปรับ วันละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 49,500 บาท เกินกว่าค่าปรับในคดีจำนวน 8,000 บาท ทำให้เบนจาไม่ต้องชำระค่าปรับอีก

    อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ทำให้ตั้งข้อสงสัยต่อดุลพินิจของศาลที่ไม่อนุญาตให้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างการต่อสู้คดีว่า ไม่ได้สัดส่วนและเกินกว่าที่จำเป็นหรือไม่ เพราะหากในที่สุดศาลไม่ได้มีคำพิพากษาจำคุกเช่นในคดีนี้ แต่จำเลยถูกขังไปในระหว่างการต่อสู้คดี และได้รับผลกระทบต่อการศึกษาหรือหน้าที่การงานไปแล้ว กระบวนการยุติธรรมจะชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดแล้วได้หรือไม่

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61065)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เบนจา อะปัญ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เบนจา อะปัญ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 30-10-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์