สรุปความสำคัญ

นักกิจกรรม "ราษฎร" 7 ราย ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, "รุ้ง" ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, จิรฐิตา (สงวนนามสกุล) และคริษฐ์ (สงวนนามสกุล) นักเรียนชั้น ม.6 ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอีกหลายข้อหา หลังร่วมชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 และขึ้นปราศรัยวิจารณ์คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ หลังตัดสินให้ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ กรณีอยู่บ้านพักทหาร รวมถึงข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีประชาชนเป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี

หลังอัยการยื่นฟ้อง ศาลอาญาไม่ให้ประกันอานนท์, พริษฐ์, ภาณุพงศ์ และปนัสยา ระหว่างพิจารณาคดี อ้างเหตุว่าพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ประกอบกับจำเลยถูกดำเนินคดีซ้ำกันหลายคดี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เชื่อว่าจะก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือหลบหนี ก่อนให้ประกันปนัสยาอย่างจำกัดเวลา และมีเงื่อนไขหลายข้อ เพื่อให้ไปสอบและเรียนต่อในภาคเรียนสุดท้าย

เป็นอีกกรณีที่สะท้อนปัญหาสำคัญของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ทำให้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกลุ่มคนที่เห็นต่างทางการเมืองอย่างกว้างขวางเช่นในปัจจุบัน รวมถึงการขยายการตีความไปจนทำให้การวิจารณ์อดีตกษัตริย์ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ด้วย แม้ว่าไม่ใช่บุคคลที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    • อานนท์ นำภา
    • ภาณุพงศ์ จาดนอก
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • น.ส.จิรฐิตา ธรรมรักษ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • คริษฐ์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

2 ธ.ค. 2563 การชุมนุม #2ธันวาคมไปห้าแยกลาดพร้าว หรือ #ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชาออกไป มีขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองของกองทัพบกและได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่อง

กลุ่มราษฎร นัดหมายชุมนุมครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ไปที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ในเวลา 16.00 น. และประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 00.00 น. ตลอดการชุมนุมมีเวทีปราศรัยหลักบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งมีแกนนำผัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย ซึ่งเน้นปราศรัยสถาบันตุลาการ รวมไปถึงเน้นย้ำประเด็นปฎิรูปสถาบันกษัตริย์

บนเวทีปราศรัย ยังมีกิจกรรมจำลองบัลลังก์ศาลรัฐธรรมนูญ กิจกรรมพิธีกรรม แจกกล้วยลิง - ทุบศาลพระภูมิที่ทำจากปูน รวมถึงกิจกรรมเผากระดาษใบหน้า 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและฉีกตำรารัฐศาสตร์ของ 1 ในตุลาการ บนเวทีปราศรัย

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนการนัดหมายชุมนุม วันที่ 2 ธันวาคม 2563 จากหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เวลา 14.00 น. มาที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ศาลมีคำสั่งกำหนดบุคคลให้เฉพาะผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้รับมอบอำนาจ หรือผู้รับมอบฉันทะ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นอยู่ในห้องพิจารณาคดี และออกประกาศเรื่องอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 กองร้อย สับเปลี่ยนเวรกันดูแลความสงบเรียบร้อยรอบศูนย์ราชการ เพื่อรักษาความปลอดภัย

(อ้างอิง: https://www.mobdatathailand.org/case-file/1607075233798/)

22 ธ.ค. 2563 หลังนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และภาณุพงศ์ จาดนอก เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ที่ สน.พหลโยธิน คณะพนักงานสอบสวนยังแจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งสี่ในคดีของ สน.พหลโยธิน อีก 1 คดี จากการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 โดยไม่ได้ออกหมายเรียกมาก่อน อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมทั้งสี่ยินยอมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อความสะดวกของทุกฝ่าย

พนักงานสอบสวนแจ้งผู้ต้องหาทั้งสี่ถึงกระทำที่ถูกกล่าวหาว่า ผู้ต้องหาได้ร่วมกันชักชวนคนมาร่วมชุมนุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 ในประเด็นเกี่ยวกับการมุ่งทำลายสถาบันหลักของชาติ โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งสี่รวม 8 ข้อหา นอกจากข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ยังมีข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอีก 6 ข้อหา ได้แก่ ไม่แจ้งการชุมนุม, มั่วสุมก่อความวุ่นวาย, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิก, กีดขวางทางสาธารณะ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นักกิจกรรมทั้งสี่ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวไป

ในคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งสิ้น 7 ราย โดยมี “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และจิรฐิตา (สงวนนามสกุล) ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง อีกทั้งพนักงานสอบสวนยังดำเนินคดีคริษฐ์ (สงวนนามสกุล) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุ 18 ปี สมาชิกกลุ่ม “คะน้าราดซอส”​ เพิ่มอีก 1 ราย หลังธีรยุทธ​ สุวรรณเกษร ประชาชน เข้าแจ้งความกล่าวโทษ

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.พหลโยธิน ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24348)

ภูมิหลัง

  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. รุ่น 2, ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จ.นนทบุรี
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
  • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
    กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์